fbpx
วรพุทธิ์ ชัยนาม : นามนี้ยังอยู่อีกนาน ?

วรพุทธิ์ ชัยนาม : นามนี้ยังอยู่อีกนาน ?

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

 

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้พบเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หลังจากการจากไปของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ทั้งคู่ได้ปรารภกันว่าสุธาชัยเป็นคนสำคัญผู้จากเราไปก่อนเวลา แล้วเอนกก็ปรารภขึ้นว่า วรพุทธิ์ ชัยนาม ก็เป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่จากไปก่อนเวลาอันควร ซึ่งก็ผ่านมาเกือบ 4 ทศวรรษแล้ว

เมื่อ “ป๋อ” วรพุทธิ์ ชัยนาม จากโลกนี้ไปในปี 2523 ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์”) เขียนถึงป๋อว่า “ผู้ที่ใกล้ชิดและเพื่อนฝูงที่คุณป๋อมีอยู่มากเท่านั้นที่รู้และประเมินได้ว่า วงการทางปัญญาได้รับความกระทบกระเทือนเพียงไรจากการที่คุณป๋อต้องจากไปก่อนเวลาอันสมควร” และยังตั้งชื่อบทความไว้อาลัยว่า “วรพุทธิ์ ชัยนาม นามนี้ยังอยู่อีกนาน”

จนวันนี้ ถ้าไม่นับเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกับป๋อ กับคนที่เคยอ่านข้อเขียนของเขา มีใครอีกบ้างที่รู้จักเขา และชื่อของเขาจะยังอยู่ไปอีกนานจริงหรือ ?

 

วรพุทธิ์ ชัยนาม (3 มกราคม 2485 – 2 สิงหาคม 2523)

 

กำเนิด

 

ป๋อเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2485 เป็นบุตรคนสุดท้องของดิเรก และ ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม โดยพระยาอุภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) คุณปู่ของเขาเป็นคนตั้งชื่อให้ว่า “วรพุทธิ์”

ป๋อเกิดมาในเวลาที่คุณพ่อกำลังรับราชการอย่างสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เพียง 2 วันหลังเขาเกิด ดิเรกต้องเดินทางไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ป๋อจึงอยู่ที่บ้านของพระยารามราชเดช (ม.ร.ว.ปาล นพวงศ์) คุณตา และคุณหญิงเนย ผู้เป็นยาย

 

ถ่ายเมื่ออายุ 3 เดือนครึ่ง (16 เมษายน 2485)

 

วัยเด็กของป๋อจึงโตมากับคุณตาคุณยาย ซึ่งจะนำเขาสวดมนต์ก่อนนอน พร้อมทั้งเล่านิทานและเรื่องเก่าๆ ให้ฟัง ป๋อซาบซึ้งในศาสนธรรมจากท่านทั้งสองมาก ถึงขนาดเอ่ยปากจะบรรพชาสนองคุณคุณยายตั้งแต่อายุยังน้อย จนเมื่อคุณหญิงเนยจากไป ป๋อวัย 7 ขวบก็อาสาบวชหน้าไฟให้

พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศ ถึงกับเอ่ยว่า “เด็กเท่านี้มีความรู้สึกนึกคิดและพยายามขวนขวายจริงจังเช่นนี้ หาได้ยาก” นอกจากนี้ ม.ล.ปุ๋ย ยังเล่าว่า “แม่ไปในการบวชพระเณรที่ใด ลูกจะติดตามไปด้วยเสมอ” มิพักต้องกล่าวถึงการสืบสายสกุลฝ่ายแม่ของเขา จะทำให้ป๋อมี “หลวงตา” คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์)

 

[ภาพซ้าย] พระพรหมมุนี (ผิน) วัดบวรนิเวศ สามเณรวรพุทธิ์ และพระญาณดิลก (นพ) วัดธาตุทอง หน้าหีบศพคุณหญิงเนย รามราชเดช ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม [ภาพขวา] ภาพปกหนังสือที่สามเณรวรพุทธิ์พิมพ์อุทิศส่วนกุศลให้คุณยาย

การศึกษา

 

ป๋อชอบขีดเขียนมาแต่เด็ก และเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ เขาชอบอ่านวรรณคดีสำคัญอย่าง รามเกียรติ์ สามก๊ก ขุนช้างขุนแผน ให้คุณตาคุณยายฟัง  หาไม่ก็ให้ท่านอ่านให้ฟัง จนเมื่ออายุถึงเข้าโรงเรียนได้ เขาจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในปี 2493

ต่อมาเมื่อคุณพ่อของเขาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วรับเชิญไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษตามลำดับนั้น คุณพ่อได้พาป๋อไปเข้าเรียนที่อังกฤษ โดยป๋อขอตามไปเรียนเองเพราะเหตุพี่ๆ สามคนไปเรียนกันหมดแล้ว ม.ล.ปุ๋ย ย้อนความหลังไปว่าตามใจเขา แม้ตอนนั้นจะไม่อยากให้ไปก็ตาม เพราะ “อยากมีลูกคนสุดท้องเอาไว้เล่นชมเชยกันบ้าง”

โดยที่ต้องไม่ลืมว่า เวลานั้นฐานะทางการเงินของดิเรกไม่สู้จะอำนวยนัก แต่เขาก็ยอมลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก และขอแทรกเป็นเกร็ดไว้ตรงนี้ว่า เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยถามดิเรกว่าเหตุใดจึงรีบลาออกจากการเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นทูตอยู่ต่อไป ลูกๆ 3 คน ที่เรียนที่อังกฤษอยู่แล้ว ก็จะสามารถส่งเสียได้โดยไม่ลำบากนัก ป๋วยยังตั้งข้อสังเกตว่าฐานะของดิเรกไม่ใช่ผู้ร่ำรวย ไม่มีสมบัติทรัพย์สินเหลือล้นที่จะทำอะไรแบบไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง และเมื่อลาออกแล้วก็ไม่แจ้งชัดว่าเขาจะทำอะไรให้มีรายได้พอจะส่งเสียลูกๆ ให้ได้รับการศึกษาที่ดี ดิเรกตอบป๋วยด้วยข้อความสั้นๆ ว่า “สำคัญที่เกียรติ” และยอมกัดฟันลำบากในชีวิตเพื่อรักษาเกียรตินั้น ปฏิปทาอันแน่วแน่ของคุณพ่อ คงเป็นข้อคิดเตือนใจให้ป๋อได้ไม่น้อย

 

ที่ซานฟรานซิสโกกับคุณพ่อคุณแม่ ก่อนไปเรียนต่อที่อังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2496

 

ที่อังกฤษ ป๋อเข้าเรียนชั้น Preparatory School ที่ Street Court School มณฑล Surrey ในปี 2497 และเข้า Public School ที่ Canford School มณฑล Dorset ในปี 2499 โดยที่ดิเรกไม่ต้องการให้ลูกชายของเขาลืมกำพืดของตัวเอง จึงได้มอบหนังสือ สมบัติผู้ดี ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ให้ป๋อไว้อ่านก่อนที่คุณพ่อจะกลับเมืองไทยด้วย

ระหว่างเรียนที่โรงเรียน Canford ป๋อดูจะสนใจทางด้านศิลปะยิ่งกว่าในด้านวิชาการ ชอบเขียนรูปมากกว่าอ่านหรือเขียนหนังสือ และในระหว่างนี้เอง ดิเรกได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในปี 2502 ป๋อจึงได้ไปมาหาสู่กับคุณพ่อเป็นระยะ และคุณพ่อนี่เองที่อยากให้ป๋อเรียนในทางนิติศาสตร์แทนด้านศิลปะ เพราะเจ้าคุณอุภัยและตัวเขาล้วนจบเนติบัณฑิตมาทั้งคู่ ทั้งพี่ๆ 3 คนของเขาก็ไม่มีใครมาทางด้านนี้ ดิเรกอยากจะเห็นลูกคนสุดท้องเดินตามแนวทางของตน จึงขอให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งสนิทสนมอยู่กับป๋อไปเกลี้ยกล่อม

ตอนแรกป๋อเถียงว่า “Why does it have to be me?” เพราะรักทางศิลปะ ชอบเรียนทางครูมากกว่า แต่แล้วสุดท้ายเขาก็ยอมเรียนกฎหมายตามที่คุณพ่อต้องการ ป๋อจบเนติบัณฑิตอังกฤษจากสำนักวัดกลาง (Middle temple) ในปี 2507 สำนักเดียวกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

[ภาพซ้าย] เนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2507 [ภาพขวา] ถ่ายกับคุณพ่อ เนติบัณฑิตไทย
ในวันที่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษนั่นเอง ที่ป๋อเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนทุนส่วนตัวมาเป็นนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศ โดยต้องไปเรียนทางการทูตที่สหรัฐอเมริกาตามความประสงค์ของคุณพ่อและกระทรวง ในที่สุดจึงเข้าเรียนที่ Fletcher School of Law and Diplomacy มหาวิทยาลัย Tuffs เมืองบอสตัน เมื่อปี 2508

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เพื่อนร่วมสถานศึกษาของเขา เล่าว่า ทั้งๆ ที่ป๋อศึกษามาทางกฎหมาย แต่ตู้หนังสือที่เขาแนะนำให้ฉัตรทิพย์อ่านบ่อยที่สุด คือตู้ลัทธิเศรษฐกิจ จึงได้ทราบว่าป๋อสนใจเรื่องลัทธิเศรษฐกิจและศึกษาเรื่องนี้จากการอ่านหนังสือด้วยตนเอง

ป๋อเรียนที่นั่น 2 ปี จนได้รับปริญญา M.A. และ M.A.L.D. และเป็นที่รักของศาสตราจารย์ลีโอ โกรส ผู้มีชื่อเสียงด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเข้มงวดกวดขันกับลูกศิษย์มาก แต่ป๋อก็สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาของท่าน และได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องปรัชญาขององค์การระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชนจนได้รับยกย่องว่าเป็นเยี่ยม ศาสตราจารย์มีชื่อผู้นี้เสนอให้เขาเรียนต่อในระดับปริญญาเอก แต่ป๋อก็ปฏิเสธและกลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงที่มีงานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อของเขาพอดี

 

ภาพวาดฝีมือของป๋อ

 

รับราชการ

 

ป๋อเริ่มรับราชการในกองการประชุมระหว่างประเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศ โดยเป็นเลขานุการตรีและโทตามลำดับ และมีบทบาทในงานเกี่ยวกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้) จนปี 2514 ป๋อจึงออกไปรับราชการในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

จรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา ในช่วงนั้น พูดถึงป๋อว่า “เป็นข้าราชการหนุ่มที่มีสมรรถภาพสูงคนหนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้มีคุณสมบัติในทางวิชาการดีเด่นและเหมาะสมที่จะเป็นนักการทูตโดยแท้ ทั้งยังมีคุณลักษณะและนิสัยใจคอเป็นที่นิยมรักใคร่ของผู้ใหญ่ ผู้น้อย ตลอดจนมิตรสหายในวัยเดียวกัน”

ถึงปลายปี 2515 ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตที่อินโดนีเซีย แวะไปพักผ่อนที่ออสเตรีย ในฐานะที่ชอบพอกันมาก่อน จึงได้ชวนป๋อไปทำงานด้วย ทั้งๆ ที่ทางยุโรปสบายกว่าทางนี้เป็นไหนๆ แต่ป๋อก็ให้ความสำคัญกับงานยิ่งกว่าความสุขส่วนตัว อีกทั้งงานทางจาการ์ตายังได้บุกเบิกงานองค์การอาเซียน ซึ่งเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่เขาสนใจด้วย

ม.ร.ว.เกษมสโมสร ฉายให้เห็นภาพของป๋อว่า “อุปนิสัยนั้นฉุนเฉียวบ้างในฐานะที่เป็นคนหนุ่ม แต่มารยาทและจิตใจนั้นเป็นคนที่มีคุณธรรม ความรักใคร่ที่วรพุทธิ์ได้รับนั้นมิได้มาจากข้าพเจ้าผู้เดียว แต่จากเพื่อนร่วมงานทั้งไทยและเทศมากหลายด้วยกัน”

เขาอยู่ที่อินโดนีเซียได้ปีเศษ ถึงปี 2517 ก็กลับมารับราชการที่เมืองไทย เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยในประเทศนั้น โดยกลับมาเริ่มทำงานเป็นรักษาการหัวหน้ากองแอฟริกาและประเทศกลุ่มอาหรับ ต้นปี 2518 จึงได้เป็นหัวหน้ากองอเมริกา กรมการเมือง

สมัยที่ป๋อเป็นหัวหน้ากองนี้ สถานทูตอเมริกันรายงานความคิดเห็นของป๋อกลับไปกรุงวอชิงตัน โดยอ้างชื่อบ่อยครั้งเสียจน เฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยอุทานถามถึงว่าป๋อเป็นใคร

ตำแหน่งนี้เองที่เขาได้แสดงฝีมือให้ปรากฏแก่ตาโลก งานอันสำคัญของเขาการคือถอนฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทย ทั้งยังได้ช่วยงานของปลัดกระทรวงอีกด้วย ดังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเรื่องเรือมายาเกซ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนมาก เขาไม่เพียงดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น แต่ยังอาศัยสื่อมวลชนอีกแรงด้วย จนได้รับคำชมเชยเป็นพิเศษ ไม่เพียงจากผู้บังคับบัญชา แต่จากอุปทูตอเมริกาด้วย

ในช่วงเวลาที่ อานันท์ ปันยารชุน เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำงานร่วมกับป๋ออยู่เช่นกัน ดังเขากล่าวไว้ว่า “การทำงานในขณะนั้นเป็นระยะเวลาที่มีการปรับปรุงนโยบายต่างประเทศ … วรพุทธิ์เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยตรง ได้แสดงความสามารถ ความเฉลียวฉลาด และความแน่วแน่ตลอดมา ในบางครั้งที่เหตุการณ์ตึงเครียดหรือมีความสับสน วรพุทธิ์ก็มีอารมณ์ขัน และใช้วาทะศิลป์ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลงได้”

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋อได้รับผลกระทบจากการเมืองเป็นพิษไปด้วย เขาถูกย้ายไปเป็นเลขานุการเอก คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็ได้ใช้ความสามารถอยู่ไม่น้อย เนื่องจากต้องประชุมในหลายเรื่องหลายสาขา แม้ไม่มีความรู้มาก่อน เขาก็ศึกษาจนเชี่ยวชาญ และในการประชุมนานาชาติ เขาก็ได้แสดงออกจนผู้คนเห็นแวว ดังในการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสำนักข้าหลวงใหญ่เมื่อวันที่ 8–16 ตุลาคม 2522 ป๋อก็ได้รับหน้าที่ Rapporteur ต้องรายงานการประชุมอย่างเที่ยงตรง จนเป็นที่ยอมรับ

 

ที่อัมสเตอดัม พ.ศ. 2523

 

จนกลางปี 2523 ป๋อจึงกลับมารับราชการในกรุงเทพฯ โดยผู้ใหญ่ในกระทรวงกะการณ์กันไว้ว่าจะให้เขาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ แต่ติดอยู่ที่รองอธิบดีคนก่อนยังไม่ได้ย้ายไปรับราชการในต่างแดน ป๋อก็เข้าไปช่วยทำงานจนวาระสุดท้าย เมื่อรู้ชัดว่ามัจจุราชจะคร่าชีวิตป๋อไปจากโลกใบนี้ ผู้ใหญ่ในกระทรวงก็อุตส่าห์เลื่อนตำแหน่งให้ป๋อเป็นกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง โดยลงคำสั่งแต่งตั้งก่อนป๋อจากไปเพียง 2 วัน

พล.อ.อ. สิทธิ เสวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้น ตั้งข้อสังเกตให้เห็นความสามารถและความก้าวหน้าในราชการของป๋อว่า ป๋อได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วจนถึงระดับรองอธิบดี (ระดับ 9) ภายในเวลาเพียง 13 ปี “ด้วยความรู้ความสามารถ ตั้งใจปฏิบัติราชการด้วยความขยันขันแข็ง”

ป๋อเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเขา ดัง เตช บุนนาค กล่าวว่า “ป๋อเป็นเพื่อนที่เรารักที่สุดในกระทรวง และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในกระทรวงที่เรานับถือที่สุด” พร้อมให้รายละเอียดว่า

“ป๋อเป็นขวัญใจสำหรับเราในกระทรวง ป๋อไม่เคยวิ่งเต้นประจบประแจงใคร หรือตะเกียกตะกายทะเยอทะยานที่จะเป็นโน้นเป็นนี่ ป๋อไม่เคยเป็นพลอยพยักหรือเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้มีอำนาจไม่ว่าในยุคสมัยใด ตรงกันข้าม ป๋อทำงานอย่างมีหลักการและอุดมคติ พร้อมเสมอที่จะแสดงความคิดเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ถึงแม้ว่าผู้บังคับบัญชาบางคนจะไม่ยอมฟังความคิดเห็นของผู้อื่นก็ตาม แต่เมื่อมีการตัดสินแล้ว ป๋อก็จะปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด และจะอุทิศเวลาและความคิดให้แก่ราชการมากกว่าคนอื่น และเกินกว่าหน้าที่เสียด้วยซ้ำ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ ป๋อทำงานอย่างไม่เห็นแก่ตัว มีข้อมูลหรือความคิดใหม่อันใดก็จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ทำให้เราเป็นหนี้ความคิดป๋ออยู่เสมอ”

 

เนื่องในโอกาสเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักเมืองโลซานน์ เพื่อกราบบังคมลากลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2523 ในภาพป๋อ ถ่ายกับครอบครัวของเขา คือ กฤษณี (ภรรยา) และลูกสาว 2 คน คือ นฤดี (ปุย) และวรวรรณ (นุ่น)

 

ความคิดและข้อเขียน

 

ด้วยความที่รับราชการงานล้นมือ ทำให้ป๋อไม่ค่อยจะมีเวลาเขียนงานมากนัก แต่กระนั้น บทความจำนวนน้อยของเขาก็ล้วนคมคายและลึกซึ้ง

ดัง อรุณ ภาณุพงศ์ เล่าว่า “ขณะที่วรพุทธิ์ยังอยู่ในวัยยี่สิบเศษๆ เท่านั้น ผมได้รู้จักชื่อของวรพุทธิ์ครั้งแรกจากบทความที่วรพุทธิ์เขียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหนังสือที่ระลึกฉบับหนึ่ง มีการวิเคราะห์ การคาดการณ์ล่วงหน้า และการเสนอทางเลือกของการดำเนินนโยบายไว้อย่างน่าอ่าน ซึ่งสำหรับวัยนั้นได้แสดงออกให้เห็นถึงความสนใจและความคิดอ่านที่น่านิยม”

เวทีที่ตีพิมพ์บทความของเขา เช่น สามัคคีสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วิทยาสารปริทัศน์ จนทีหลังร่วมทุนกับเพื่อนๆ ออกจัตุรัส อย่างแหลมคม จนถูกสั่งปิด หลังจากออกได้เพียง 4 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีข้อเขียนภาษาอังกฤษใน Solidarity ด้วย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการคนที่ 2 แห่ง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นผู้ตั้งนามปากกา “ปรีชา อารยะ” ให้ป๋อ เพราะเรื่องที่เขาเขียนบทความไปตีพิมพ์นั้นก้าวหน้ากว่าที่ราชการไทยจะรับได้ สุชาติบอกว่าให้ชื่อนามปากกานี้เนื่องจากเห็นเขามีความคิดก้าวหน้าเรื่องความเสมอภาค โดยที่ในระยะแรกเขาใช้นามปากกาว่า “ปากกา” เขียนบทความในวารสารของสมาคมนักเรียนไทยในรัฐแมสซาชูเซตส์ ตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งในเรื่องนามปากกาเหล่านี้ ป๋อปิดไว้อย่างเป็นความลับ

ป๋อเคยเขียนประหนึ่งคำประกาศของตัวเองว่า “หากข้อเขียนของผมดูก้าวร้าวผิดวิสัยนักวิชาการ ผมยอมรับด้วยดีว่าผมไม่ได้เป็นนักวิชาการ ถ้าหากความก้าวร้าวของผมจะช่วยทำลายความโกหกมดเท็จ ความหลอกลวง ความอยุติธรรม และอุปสรรคต่างๆ ของความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ผมขอยืนยันว่า จะดุร้ายกว่าที่แล้วมา

มีเรื่องขำอยู่ว่า ตอนที่ Solidarity ของฟิลิปปินส์ออกฉบับพิเศษว่าด้วยเรื่องเมืองไทย ในปี 2513 ป๋อเขียนบทความที่ค่อนข้างแรง จึงใช้ชื่อ “ปรีชา อารยะ” เผอิญในปีต่อมาเขาได้รับเชิญให้เขียนวิจารณ์ Solidarity ฉบับพิเศษนี้ลงใน วารสารสยามสมาคม ในนาม “วรพุทธิ์ ชัยนาม” ป๋อก็วิจารณ์ข้อเขียนของ “ปรีชา อารยะ” อย่างมีอารมณ์ขัน

 

ณ บ้านพัก นครเจนีวา พ.ศ. 2522

 

ป๋อเป็นตัวของตัวเอง และแน่วแน่ในจุดยืนของตน คราวหนึ่ง ในปี 2507 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนวิจารณ์ The Devil’s Discus มุ่งโจมตี ปรีดี พนมยงค์ โดยทิ้งท้ายว่า

“ในตอนท้าย ผู้เขียน (Rayne Kruger) สรุปว่า ‘ในบรรดาคนหนุ่มในเมืองไทยปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัย ต่างก็พากันรู้สึกอัดอั้นตันใจที่ขาดโอกาสทางประชาธิปไตย สำหรับบุคคลเหล่านี้ ชื่อนายปรีดียังคงเป็นประดุจเสียงกังวาน อันเรียกร้องเสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม แม้เขาผู้นั้นจะถูกหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ก็ตาม’ ข้าพเจ้าถือตัวว่าเป็นบุคคลในกลุ่มนี้ และก็ยอมรับว่าต้องการ ‘เสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม’ แต่หาต้องการนายปรีดีไม่ ในกรณีนี้ข้าพเจ้ากล่าวได้ว่า ข้าพเจ้าพูดแทนคนรุ่นข้าพเจ้าเกือบทั้งหมด” [ต่อมาบทวิจารณ์นี้พิมพ์รวมเล่มในชื่อ ชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือต่างๆ ในปี 2512]

ป๋อ ในนาม “ปรีชา อารยะ” จึงเขียนบทความเรื่อง เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ลงใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2513 แล้วตอบโต้สุลักษณ์ว่า

แม้แต่ในหน้าหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอิสระ ในทางความคิดเห็น รวมทั้งมีบทบาทสำคัญเพาะปลูกความคิดในทางสร้างสรรค์ไว้มาก ก็ยังเคยมีผู้ที่อุตส่าห์ปฏิเสธที่จะรับว่าความคิดเห็นของนายปรีดีมีส่วนดีแม้แต่น้อยนิด ซ้ำยังได้ปฏิเสธไปในนามของบุคคลรุ่นหลังด้วย ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นบุคคลรุ่นหลังเหมือนกัน ก็ใคร่จะใช้สิทธิที่จะปฏิเสธข้อปฏิเสธที่มีคนใจบุญแถลงไปให้แล้ว ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่า การที่เราจะประณามหรือปฏิเสธอะไรลงไปนั้น ควรที่จะศึกษาหาความรู้ให้แน่ชัดเสียก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร ความดีที่มีอยู่ก็ควรจะรับไว้ ส่วนความชั่วหรือความไม่ดีที่มีปนอยู่ด้วย ในเมื่อเรามีสมองจะใช้ได้อิสระ เราก็ย่อมปฏิเสธมันไปได้ หากไม่รู้จักใช้สติปัญญาเลือกเฟ้นสิ่งใดควรปฏิเสธและสิ่งใดควรรับไว้ ก็เลิกคิดถึงอนาคตเสียดีกว่า ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรมคงจะสะดวกดีเหมือนกัน

ทั้งนี้ เพราะป๋อชื่นชมในขบวนการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยของไทย ตั้งแต่คณะ ร.ศ.130 คณะราษฎร และวีรชนเดือนตุลาคม 2516 นอกจากนี้ ป๋อยังยกย่องปรีดี พนมยงค์ และเชื่อว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีส่วนความคิดที่ก้าวหน้าเช่นกัน

 

ทุ่งหญ้าเทือกเขา Jura สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2522

 

ทางด้านวิชาการ ป๋อได้แสดงฝีมือไว้ในหนังสือชุดวรรณไวทยากร ที่สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดพิมพ์ในโอกาสที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระชนม์ครบ 80 ซึ่งคราวนั้น ผู้ที่จะได้รับเชิญมาเขียนในแต่ละสาขาต้องได้รับการโหวตจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น ป๋อเขียนเรื่อง “สันติภาพกับองค์การสหประชาชาติ” น่าเสียดายที่ช่วงปี 2518-19 ที่สมาคมฯ จะพิมพ์หนังสือชุดรักเมืองไทย ในวาระ 60 ปีของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ป๋อไม่อาจรับเชิญได้ เนื่องจากอุทิศเวลาทั้งหมดที่มีให้งานราชการไปแล้ว

ป๋อเคยเล่าให้ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ฟังว่า อยากจะเอาอย่างคุณพ่อในเรื่องของความขยัน แม้ท่านจะมีงานประจำอยู่มาก ท่านก็ยังใช้เวลาเขียนหนังสือหลายเล่ม เขียนบทความอีกมาก ไปปาฐกถาในที่ต่างๆ และบรรยายพิเศษอยู่ไม่ได้ขาด คุณป๋อต้องการเวลาจะเขียนหนังสือให้มาก แต่เวลาไม่ให้โอกาสแก่คุณป๋อเสียแล้ว

อนึ่ง แม้ในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ที่ป๋อทำงานที่กองซีโต้และมีบทความอันร้อนแรงในชื่อ “ปรีชา อารยะ” ออกมานั้น เขาทำงานราชการอย่างสามารถและแข็งขันจน เตช บุนนาค กล่าวว่า “หากเห็นวรพุทธิ์ทำงานสมัยนั้นแล้วก็ยิ่งต้องสรรเสริญเขาที่ยังมีกำลังและเวลาเหลือสำหรับงานเขียนส่วนตัว”

แม้กระนั้น ความเป็นพหูสูตของป๋อ ก็จุดประกายให้เพื่อนเขาได้ไม่ใช่น้อย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ศาสตราจารย์กิตติคุณผู้มีชื่อเสียงด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงป๋อว่าเขาเป็น “นักทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองชั้นเยี่ยม” และ “คุณป๋อทำให้ผมเปลี่ยนความสนใจจากเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเป็นลัทธิเศรษฐกิจการเมือง” ทั้งยังเล่าต่อไปด้วยว่า “เขาเป็นที่มาแห่งความคิดและแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของนักคิดไทยคนสำคัญ คือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี สุรพงษ์ ชัยนาม เป็นต้น”

สุรพงษ์ ชัยนาม ก็ได้เขียนไว้เองว่า “พี่ป๋อเป็นคนที่สอนให้ผมเข้าใจได้ดีว่า หากเราทำงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ตามกำลังสติปัญญาเท่าที่เรามี และถ้าคนอื่นเห็นความดีของเราก็ถือได้ว่าเราได้ทำถูกต้องแล้ว เป็นความก้าวหน้าในชีวิตที่เราได้สร้างด้วยตัวของเราเอง ไม่จำเป็นต้องขอร้องให้ใครมาเห็นดีด้วย”

และย้ำว่า “พี่ป๋อเป็นผู้ซึ่งได้ให้ผมเกิดความมั่นใจในตัวเอง ให้ผมเป็นคนกล้าพูดกล้าคิด และกล้าเขียนในสิ่งที่เป็นความจริง ให้เป็นคนที่มีความเคารพในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์โดยแท้”

ในแง่ความคิด ป๋อให้ความคิดฉัตรทิพย์เรื่องหนึ่งซึ่งเขาเห็นว่าสำคัญ คือ ในการศึกษาลัทธิและอุดมการณ์ทางการเมือง ควรศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมนั้นๆ โครงสร้างชนชั้น และประวัติของขบวนการเมืองนั้นๆ รวมถึงที่มาและประวัติพัฒนาการของความคิดด้วย จึงจะทำให้เข้าใจพลังและข้อจำกัดของแนวคิดและอุดมการณ์หนึ่งๆ ได้ ตัวอย่างเช่นแนวคิด Anarchism และ Marxism ในประวัติศาสตร์รัสเซีย

นอกจากนี้ ป๋อยังเคยบอกฉัตรทิพย์ว่า ระบบสังคมที่มนุษย์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (mutual aid) แทนการเอารัดเอาเปรียบขูดรีด เป็นสังคมในอุดมคติของเขา โดยอ้างอิงจากหนังสือ Mutual aid: A Factor of Evolution ของ Peter Kropotkin ซึ่งป๋อยังศึกษาถึงแนวคิดของสังคมนิยมมาร์กซ์ และอนาธิปัตย์นิยมด้วย

ดังเขาเคยเขียนในบทความ แด่อิสรภาพและหายนะ ว่า “สักวันหนึ่งข้างหน้าปัญญาอาจช่วยนำเราไปสู่อารยสังคมซึ่งคนจะรู้ จะเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน แทนที่จะแก่งแย่งกัน มีความรับผิดชอบต่อกัน โดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ของการบังคับ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแทนที่จะต้องพึ่งบารมีของผู้มีบุญแต่ถ่ายเดียว”

ฉัตรทิพย์สรุปถึงแนวคิดของป๋อว่า เขาต้องการให้ประเทศเป็นสังคมนิยมด้วยกระบวนการประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยใช้ระบบสังคมนิยมทางเศรษฐกิจให้มีการช่วยเหลือยิ่งกว่าจะเอาเปรียบกัน ในทางเกษตรกรรมใช้ระบบสหกรณ์ ทางอุตสาหกรรมใช้รัฐวิสาหกิจ

 

ความเป็นป๋อ

 

ป๋อเป็นคนกตัญญู ไพโรจน์ ชัยนาม คุณอาของเขา เล่าว่าป๋อ “มีความรักใคร่เชิดชูบิดามารดาอยู่เป็นนิจสิน แม้เมื่อหลายปีมาแล้วขณะที่คุณพ่อของหลานป่วยมาก และมองเห็นแล้วว่าชีวิตจะไม่รอดแน่ หลานก็ได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้พยาบาลอยู่อย่างใกล้ชิด … ไม่ยอมห่างเหินทอดทิ้งไป”

กับคุณแม่ เมื่อรับราชการที่เจนีวา ก็ได้ส่งตั๋วเรือบินมาให้คุณแม่ตามไปพักผ่อน ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เอาใจใส่คุณแม่เป็นอย่างดี เวลาเดินขึ้นเขาก็คอยพยุง ให้เกาะแขนทั้งขึ้นและลง วันที่หิมะตกก็จะพาคุณแม่พร้อมภรรยาและลูกทั้ง 2 ของเขาไปลุยหิมะเล่นกัน และเมื่ออยู่ที่กรุงเทพฯ ก็หมั่นไปค้างกับท่าน เวลาอยู่กับคุณแม่ก็จะทำตัวเป็นเด็ก ถึงกับนอนหน้าเตียงคุณแม่เลยทีเดียว

 

กับคุณแม่ ที่ Montreux สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกันยายน 2520

 

ป๋อมีจิตสำนึกต่อสังคม และมีความเป็นสุภาพบุรุษแม้กับเรื่องเล็กน้อย คราวหนึ่งเขาขับรถในถนนสายแคบๆ “เมื่อจะเลี้ยวถนนซอยทางซ้าย แต่รถทางนั้นแล่นมาไม่ได้ขาด แทนที่จะหยุดรอจังหวะที่จะเลี้ยว คุณป๋อขับรถเลยไปจนถึงที่อ้อมเลี้ยวกลับมาทางซ้ายแล้วจึงเลี้ยวเข้าถนนซอยที่ต้องการ แทนที่จะจอดแช่คอยจังหวะรถว่าง ซึ่งในขณะเดียวกันจะทำให้ขัดขวางการหลั่งไหลของรถอื่นแล่นตามมาในทางเดียวกัน”

ป๋อเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงมาก คราวหนึ่งได้รับเชิญจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาองค์การระหว่างประเทศในระดับปริญญาโท 1 ภาคการศึกษา และคณะจะเชิญให้สอนต่อ แต่เขาปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า เตรียมตัวมาไม่ดีพอ เลยไม่อยากสอน

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ยกย่องว่า ป๋อ เป็น “คนประเสริฐ ฉลาด ช่างคิด รักเพื่อนมนุษย์ มีชีวิตชีวา มีประสิทธิภาพ และสุภาพ … เป็นนักคิดคนสำคัญ ผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐ”

ส่วน สาโรจน์ ชวนะวิรัช สรุปสิ่งที่ป๋อเกลียดที่สุดในชีวิตว่าคือ “คนที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ว่าทางด้านจิตใจ ปัญญา หรือการกระทำ เขาไม่เคยรั้งรอหรือเกรงใจที่จะแสดงความเหยียดหยามดูถูกบุคคลประเภทนี้” และยังกล่าวว่าความเป็นไทยเป็นสิ่งที่ป๋อรักที่สุด นอกจากแม่ เมีย และลูก โดยอธิบายต่อว่า “เป็นคนที่รักความเป็นไทยด้วยสติปัญญา และด้วยเหตุผล”

ป๋อยังเป็นคนที่มีสัจจะ ทำในสิ่งที่พูด ที่คิด ที่ตั้งมั่นไว้ โดยไม่ละทิ้งอุดมการณ์และอุดมคติของตนที่มีมาแต่สมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา นี่เป็นข้อสังเกตของ กษิต ภิรมย์

ขณะที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวถึงป๋อว่า “เป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิตที่อุทิศตัวเพื่อความถูกต้องดีงาม และเพื่อประชาราษฎร์ส่วนใหญ่”

 

 

ส่งท้าย

 

เมื่อป๋อจากไปก่อนวัยอันควรในปี 2523 สุลักษณ์ปลงว่า “การสูญเสียวรพุทธิ์ไปในครั้งนี้ ประเทศชาติและมนุษยชาติได้สูญเสียบุรุษอาชาไนยไปผู้หนึ่งเลยทีเดียว คนอย่างนี้นานๆ จะเกิดมาสักทีหนึ่ง ที่น่าเศร้าก็ตรงที่เขาดีเกินไปที่จะอยู่กับเรานานกว่านี้”

เขาจากเราไปเกือบ 4 ทศวรรษแล้ว แต่ผลงานของเขายังคงอยู่ โดยเฉพาะก็บทความต่างๆ ของเขา เตช บุนนาค เคยกล่าวเมื่อมีการพิมพ์หนังสือรวมบทความของป๋อว่า “ในขณะที่เจ้าของอุดมคติล่วงลับไปแล้ว แต่อุดมคติของเขาก็ยังมีชีวิตอยู่”

วรพุทธิ์ ชัยนาม นามนี้จะยังอยู่ไปอีกนาน ถ้าพวกเราเข้าถึงอุดมคติของเขา และเห็นป๋อเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความใฝ่ฝันในสิ่งที่ดีงามของสังคม เป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ยืนหยัดอย่างอาจหาญในระบบราชการโดยไม่ถูกกลืนกินไปอย่างไร้ค่า ทั้งยังทำงานอย่างสามารถจนเป็นรักใคร่ของใครๆ

แต่น่าเสียดาย ที่ใครๆ ก็ไม่รู้จักป๋อเสียแล้ว

 

บรรณานุกรม

จดหมายจากฉัตรทิพย์ นาถสุภา ถึง กษิดิศ อนันทนาธร ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2560.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวรพุทธิ์ ชัยนาม ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพฯ วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523.

รวมปาฐกถาชุดล่าสุด. มูลนิธิโกมลคีมทอง และบริษัทศึกษิตสยาม จำกัด จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวรพุทธิ์ ชัยนาม ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพฯ วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.

ป๋วย อึ๊งภากรณ์. คนที่ผมรู้จัก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2559.

สมชาย สุวรรณศรี (บรรณาธิการ). รวมข้อเขียนของวรพุทธิ์ ชัยนาม. กรุงเทพฯ: ปาจารยสาร, 2524.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save