fbpx

บิลลี่-วรกร ฤทัยวาณิชกุล สิบปีให้หลังของคนทำหนังไทยฟอร์มเล็ก สู่หนึ่งในทีมงานหนังฮอลลีวูด

สิบปีก่อน ในขวบปีที่ 23 ของชีวิต บิลลี่-วรกร ฤทัยวาณิชกุล ทำหนังสารคดีเรื่องแรก Mother (2012) โปรเจ็กต์ก่อนเรียนจบที่สำรวจบาดแผลในครอบครัวตัวเองที่บาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และความฝันของตัวเองที่ต้องระหกระเหินท่ามกลางความไม่แน่นอนของบ้านเมือง

ห้าปีก่อนหน้า วรกรให้สัมภาษณ์กับ 101 ว่าด้วยเรื่องของของชีวิตและการเติบโต ในฐานะผู้บริหาร Hello Filmmaker โปรดักชันเฮาส์ชื่อดัง และในฐานะคนทำงานซึ่งเวียนว่ายอยู่ในอุตสาหกรรมหนังไทยกับความเปลี่ยนผ่านมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ชีวิต 

ในขวบปีที่ 33 ของวรกร เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเขาอีกครั้ง ในฐานะโปรดิวเซอร์ร่วมของ Thirteen Lives (2022) โปรเจ็กต์หนังฟอร์มใหญ่ที่กำกับโดย รอน โฮวาร์ด คนทำหนังที่เป็นที่รู้จักดีจาก A Beautiful Mind (2001), The Da Vinci Code (2006) ออกฉายทางช่องสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ Amazon Prime Video จับจ้องไปยังภารกิจกู้ภัยผู้ประสบภัย 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อสี่ปีที่ผ่านมา

หนนี้เราไม่เพียงแต่ชวนเขามาคุยเรื่องบทบาทหน้าที่และการทำงานในกองหนังฮอลลีวูด หากแต่เรายังอยากชวนเขาหวนกลับไปสำรวจบาดแผลที่มีส่วนในการสลักเสลา ตลอดจนการก้าวข้ามความเจ็บปวดในอดีตและห้วงเวลาของการผลิบานในปัจจุบัน

บิลลี่-วรกร ฤทัยวาณิชกุล

นี่เป็นครั้งแรกเลยไหมร่วมคุณได้ร่วมโปรดิวซ์ภาพยนตร์ฮอลลีวูด

ใช่ครับ เริ่มจากที่เราทำหนังเรื่อง Mother ซึ่งมีโอกาสได้ไปฉายเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เลยได้ขยายขอบเขตตัวเราเองเวลาไปร่วมงานเทศกาล ได้ไปเจอคนที่ทำงานระดับนานาชาติและได้สร้างเครือข่ายต่างๆ เวลาเขามีโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่น่าจะเข้ากับเรา เขาก็จะนึกถึงเรา 

ทีนี้ที่ผ่านมาเราไม่ได้กำกับหนังอย่างเดียวแต่เราทำหลายอย่าง เป็นตากล้อง ไปถ่ายสารคดีสั้น ทั้งหมดเปิดโอกาสให้เราได้เดินทางไปทั่วไทย จากนั้นก็ได้ไปสอนหนังสือที่จุฬาฯ และวิทยาลัยนานาชาติมหิดล เลยยิ่งฝึกทักษะเราในการทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ มันเลยหลอมให้เรามีทักษะบางอย่าง ประจวบเหมาะกับที่มีโปรเจ็กต์นี้ที่ต้องการคนที่เข้าใจวัฒนธรรมไทยพอสมควรและคุยกับเด็กๆ ได้พอดี ทั้งหมดเลยเหมือนเป็นจังหวะที่พาเรามาสู่โปรเจ็กต์นี้ได้

ที่สำคัญคือคุณเรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์เรื่อง ‘ฝนตกขึ้นฟ้า’ (2011) และมีหนังเรื่อง Apprentice (2016) ซึ่งเข้าสายประกวดสายรองที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ เขามีเครือข่ายกว้างขวางมากๆ ประกอบกับโปรเจ็กต์ Thirteen Lives เข้ามาพอดี เขาเลยนึกถึงเราซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในโปรเจ็กต์นี้

ในฐานะโปรดิวเซอร์ร่วม คุณมีส่วนช่วยดูแลเรื่องวัฒนธรรมไทยในหนังอย่างไร เช่น ภาษาเหนือ หรือความเชื่อทางล้านนาบางอย่าง

เราเคยเรียนที่เชียงใหม่หนึ่งปี เลยมีโอกาสมีเพื่อนเป็นคนเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน เลยเห็นว่าภาษาเหนือมันหลากหลายมากนะ ไม่ได้มีแค่สำเนียงเชียงใหม่อย่างเดียว อย่างเพื่อนคนแพร่พูดนี่ดูดุมากเลยนะ (หัวเราะ) เราเห็นความแตกต่างและพยายามฟังมาตลอดว่าแต่ละที่ต่างกันยังไง 

ช่วงนั้นเรามีโอกาสพาตัวเองไปเจอวัฒนธรรมทางล้านนา เลยคิดว่ามันเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำโปรเจ็กต์นี้ด้วย นอกจากเรื่องความหลากหลายของสำเนียงเหนือ เรายังเห็นเรื่องความเชื่อต่างๆ เพราะเขามีความเชื่อหลายสายมาก มีความเป็นพุทธ มีความเป็นพราหมณ์ หรือ animism เช่น ประเพณีไหว้ผีปู่ย่า ผีบรรพบุรุษ ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่ถ้าเราจะทำภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วต้องสร้างโลกที่อยู่ในอาณาเขตล้านนา เราก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย ซึ่งบางทีคนอื่นๆ ในโปรเจ็กต์นี้เขาอาจยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราก็ต้องแนะนำ อธิบายคอนเซ็ปต์เหล่านี้ให้พวกเขาฟัง เพราะมันก็เป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับพวกเขาด้วย และเรามีนักแสดงที่มาจากพื้นที่จริงๆ อย่างพี่คาเงะ (ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละคร B-Floor) ซึ่งเติบโตที่เชียงราย เขาจึงพูดสำเนียงเชียงรายได้ ทั้งยังเป็นนักแสดงละครเวทีที่มีประสบการณ์สูงมาก เขาจึงเข้าใจเรื่องภาษากาย ภาษาการแสดงออกต่างๆ ทั้งหมดเลย

รวมทั้งเรื่องบริบทต่างๆ อย่างประเด็นกลุ่มผู้ปกครองก็มีหลายคนที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ มาจากทางไทลื้อซึ่งรวมทั้งตัวโค้ชและตัวนักฟุตบอลหลายๆ คนในทีม เพิ่งมาได้สัญชาติกันหลังจากภารกิจช่วยเหลือเสร็จสิ้นไปแล้ว เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เลยคุยกับคุณรอน ผู้กำกับและพี่เรย์มอนด์ เราก็เห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะคนทำสื่อ ในฐานะคนเล่าเรื่อง เราก็อยากเอาเรื่องตรงนี้ใส่เข้ามาในหนังด้วย

ถ้าไปดูจากภาพข่าวเราก็จะเห็นผู้คนจากหลากหลายความเชื่อ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือชาวบ้าน ชาวเขามาจากกลุ่มที่มีวัฒนธรรมต่างกันเยอะมากๆ บางคนสวมชุดที่แสดงออกทางวัฒนธรรมของเขา มันจึงเห็นการปะทะสังสรรค์กันของความแตกต่างเหล่านี้ ซึ่งคุณรอนเขาก็สนใจนะ เพราะตั้งแต่การคุยกับคุณรอนครั้งแรกๆ ก็พบว่า จุดประสงค์ของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้คือการโชว์สปิริตการร่วมมือกันข้ามชาติ ข้ามศาสนา ข้ามความเชื่อ มนุษยชาติมารวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งที่ for a greater good เมื่อเห็นความหลากหลายนี้ เราเชื่อว่าคุณรอนก็คงเห็นว่านี่เป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่ยังไม่เคยมีใครเอามาเล่าหรือทำในภาพยนตร์ที่สเกลใหญ่ระดับโลกขนาดนี้มาก่อน

ซีนแรกที่เราเริ่มถ่ายทำคือฉากที่น้องๆ ติดอยู่ในโถง 9 หรือก็คือบริเวณที่น้องๆ เข้าไปติดและนักดำน้ำเข้าไปเจอ ท้าทายมาก ตอนที่คุณรอนติดต่อผมมา เขาโชว์คลิปที่นักดำน้ำตัวจริงถ่ายด้วยกล้องโกโปรตอนพวกเขาเข้าไปเจอเด็กๆ ในถ้ำ แล้วบอกผมว่า “เดี๋ยวเราจะทำสิ่งนี้กันนะบิลลี่!” ผมก็บอกว่า “ครับ ได้ครับ” (หัวเราะ) เราก็กดดันอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าเขาต้องการเซนส์ของความสมจริงสูงมากๆ อะไรในฉากที่ดูเป็นการแสดงก็จะผิดทันที หมายความว่าทุกอย่างต้องเป็นธรรมชาติสูงสุดจริงๆ

รอน ฮาเวิร์ดกับบิลลี่-วรกร (ภาพจาก วรกร ฤทัยวาณิชกุล)

แปลว่าต้องรับผิดชอบด้านนักแสดงด้วยหรือเปล่า

ซีนที่เรารับผิดชอบหลักๆ คือซีนที่ต้องถ่ายทำกับเด็กๆ เรามีส่วนร่วมตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง ตั้งแต่คัดเลือกแรกๆ เราร่วมมือกับโปรดักชันเฮาส์ Living Films Thailand ซึ่งเขาจะไปหานักแสดงเด็กในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย แล้วมาทำเวิร์กช็อปออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ขอให้น้องๆ เขาปรับสถานที่ของตัวเองให้ใกล้เคียงภาวะการติดถ้ำที่สุด เช่น ปิดไฟ เร่งแอร์ให้อากาศหนาวๆ แล้วต่อบทตอนที่นักดำน้ำเข้ามาเจอเด็กๆ กัน และมีช่วงที่เราจะอิมโพรไวซ์ด้วย เช่น ถามน้องว่า สมมติถ้าเราติดถ้ำจริงๆ มีอะไรที่อยากบอกคนข้างนอกบ้าง หรือถ้าจะถ่ายวิดีโอส่งออกไปให้คนข้างนอก จะถ่ายอะไร ถ่ายให้ใครดู หลายคนก็เปิดเผยมาก เล่าเรื่องส่วนตัวต่างๆ เราก็รู้สึกว่าในกระบวนการเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่นึกมาก่อนว่าเราจะทำได้จากโปรแกรม Zoom ฉะนั้น การได้ทดลองสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ประทับใจเหมือนกัน

การทำโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ขนาดนี้ ยิ่งทำในช่วงที่ท้าทายมากๆ อย่างโควิด-19 เราต้องผลักตัวเองให้ยอมรับวิธีการใหม่ๆ ได้ มันเป็นเรื่องสำคัญมากไม่อย่างนั้นโปรเจ็กต์เราจะไม่เดินหน้า 

ความที่น้องๆ เขาต้องแสดงเป็นทีมนักฟุตบอลด้วย ต้องมีความสนิทสนมกันพอสมควร เราก็ต้องหากิจกรรมที่ทำเป็นทีมได้ ซึ่งตอนนั้นน้องๆ ทุกคนเขาเล่น ROV กัน (ยิ้ม) เราก็เข้าไปดูน้องๆ เขาเล่นเกมนี้ด้วยกัน พอพ้นการกักตัว สิ่งนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไป เป็นกิจกรรมที่น้องๆ เขาทำด้วยกันได้ร่วมกับการทำเวิร์กช็อปแบบเห็นหน้าเห็นตา ได้ลองร่วมทำงานกับเหล่านักแสดงไทย มันก็เริ่มเพิ่มความสมจริงมากขึ้น แล้วเมื่อถึงเวลาถ่ายทำจริง มีนักแสดงระดับแถวหน้าอย่าง โคลิน ฟาร์เรลล์, วิกโก มอร์เตนเซน มาร่วมเข้าฉากด้วย เมื่อทำงานด้วยกันเสร็จพวกเขาก็มาชมนะว่า บิลลี่ ยูไปทำอะไรให้น้องๆ เนี่ย น้องนักแสดงเด็กแสดงดีกันมากเลย (หัวเราะ) 

หรือตัวละครโค้ชเอกที่ เจมส์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) แสดงซึ่งเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ต้องพูดภาษาเหนือสำเนียงเชียงราย พอดีกับที่น้องสมาร์ท (ธนาทัต ศรีตา รับบทเป็น อาร์ม หนึ่งในนักฟุตบอลที่ติดถ้ำ) เขาเติบโตที่เชียงรายและพูดสำเนียงเชียงรายได้ น้องเขาเลยเหมือนเป็นโค้ชเรื่องสำเนียงให้เจมส์ เราขอให้สมาร์ทอัดเสียงไดอะล็อกต่างๆ ให้เจมส์ไปฝึก เลียนแบบเสียง 

ตัวเจมส์ก็ทำการบ้านมาเพิ่มเติมด้วย เขารู้ว่าตัวโค้ชบวชเป็นพระมาก่อนหลายปี แขวนพระเครื่องซึ่งเจมส์ก็ไปหามา เอาติดจากกรุงเทพฯ มาที่กองถ่ายด้วย แล้วบอกผู้กำกับว่าขอแขวนพระเครื่องไว้ตอนเข้าฉากได้ไหม เพราะรู้สึกว่าทำแล้วจะเชื่อมติดกับตัวละครโค้ชมากกว่า ซึ่งคุณรอนก็โอเค แล้วเจมส์ก็ไปขอนอนวัดไทยที่ออสเตรเลียหนึ่งคืน 

บรรยากาศเวลาออกกองเป็นยังไง กระบวนการถ่ายทำของต่างชาติเหมือนไทยไหม

เราออกกองกันประมาณสามเดือน ถ่ายทำกันโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่หกวันต่อสัปดาห์

มันเป็นงานใหญ่มากนะ เราคงจินตนาการไม่ออกว่าถ้าเราต้องมาทำงานนี้เองไม่ว่าจะในฐานะอะไร จะมานั่งเซ็ตปากถ้ำ จัดแสงด้วยการเอาเครนมาทำดวงจันทร์ปลอมได้ไหม แล้วเรามีรถฝนเพราะทั้งเรื่องอยู่ในช่วงมรสุมหนัก เลยต้องมีรถเครนขนน้ำมาสักสามคัน ทำฝนตกโครมๆ ซึ่งก็ต้องมาดูเรื่องการขนส่งอีกว่า รถคันนี้ขนมาทำฝนได้กี่นาที เราถ่ายกันกี่เทค น้ำพอไหม 

รวมทั้งมันมีคิวเรื่องการถ่ายทำด้วย มันมีกฎหมาย 10 ชั่วโมง เช่น ถ่ายช็อตสุดท้ายของวันนี้ เลิกกองแล้วจะต้องนับเวลาอีก 10 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มการถ่ายทำวันต่อไป เพื่อที่จะได้ให้ทีมงานมีเวลาเดินทางกลับบ้านและพักผ่อน อันนี้อยู่ในกฎหมายของการทำงานเลย เวลาเราทำงานโปรดักชัน มันเป็นงานหนักหน่วงนะเพราะปัญหามาตลอดเวลาและเครียดนะ มันคือการที่เราต้องพร้อมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา ถ้าสมมติเราไม่มีเวลาในการพักผ่อน เติมพลังให้ตัวเองอย่างเพียงพอ มันก็เสี่ยงเยอะนะ 

การทำงานภาพยนตร์คือการทำงานกับเครื่องจักรนะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทีมเอามาใช้สร้างฉาก หรือการขับรถไปกลับระหว่างสถานที่ถ่ายทำ ถ้าทีมงานพักผ่อนไม่พอ เสี้ยวเวลานิดเดียวที่พวกเขาขับรถกลับบ้าน บางคนต้องขับขึ้นเขา มันก็อันตรายนะ ฉะนั้นนี่คือกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องทีมงานในการทำงานในออสเตรเลีย 

มันมีฉากที่คนมารวมตัวกันเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น แต่ละคนก็เดินออกมา มีนักแสดงสมทบเยอะมากราวๆ 500 คน ทุกคนต้องยืนปรบมือกลางสายฝน เราถ่ายทำกันในฤดูหนาวของออสเตรเลีย อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส เริ่มถ่ายกันหนึ่งทุ่ม ไปเสร็จตีสี่ คนยืนตากฝนกันประมาณ 8-9 ชั่วโมง 

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ตอนนั้นเราถ่ายในแทงค์น้ำที่เว็ตเป็นฉากถ้ำจำลอง พอถึงช่วงพักกอง คุณรอนก็ปรบมือ บอกว่าทุกคนเงียบหน่อย วันนี้เป็นวันที่สำคัญมากๆ ของคนสำคัญในกองถ่ายของเรา คือเป็นวันเกิดของคุณบิลลี่! (หัวเราะ) แล้วร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้เรา จากนั้นก็มีคนเอาเค้กเข้ามา ตอนนั้นเรารู้สึกโชคดีที่ได้มาอยู่ในพื้นที่ที่เขาให้เกียรติคนทำงาน โดยเฉพาะคุณรอนที่เป็นเหมือนหัวเรือใหญ่ของโปรเจ็กต์นี้ เลยรู้สึกดีใจและขอบคุณคุณรอนมากๆ ที่ให้เราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้

อีกเรื่องคือ เราเข้าใจว่าเป็นระเบียบของรัฐบาลออสเตรเลียด้วยนะว่า ถ้าเราจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เราต้องมีที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมด้วย เราเลยไปติดต่อเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน ให้มาร่วมโปรเจ็กต์ในฐานะที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อต่างๆ บางครั้งเราจะเห็นเจ้าอาวาสนั่งข้างมอนิเตอร์เพื่อดูว่าสิ่งที่อยู่ในหนังถูกต้องไหม 

หนังเรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะมาก เราต้องมาช่วยกันดูหน้ามอนิเตอร์ว่าเราเห็นอะไรแปลกๆ หลุดเข้ามาไหม อย่างพี่เรย์มอนด์เขาก็ช่วยเยอะโดยเฉพาะเรื่องดูนักแสดงเอ็กซ์ตรา เพราะเราต้องการคนมาเข้าฉากเยอะมาก บางฉากอาจถึง 500 คน และเราต้องคัดกรองว่าคนที่จะมาเข้าใกล้กล้อง เห็นหน้าชัดๆ นี้ต้องดูไทย หรือต้องเป็นประเทศเพื่อนบ้าน อย่างน้อยต้องดูอาเซียน ซึ่งพี่เรย์มอนด์เขาจะไวต่อเรื่องนี้มาก 

(ภาพจาก วรกร ฤทัยวาณิชกุล)

ประเด็นสวัสดิการในกองถ่ายภาพยนตร์ยังเป็นปัญหาที่ไทย มองประเด็นนี้อย่างไร

เรายังรวมตัวกันเพื่อพูดคุยต่อรองผลประโยชน์ของตัวเราเองไม่ได้ แม้จะเป็นการออกกองเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันขนาดนั้น เช่นแบ่งเป็นกลุ่มคนทำงานกองหนัง คนทำงานกองละคร แต่ละกลุ่มเขาก็มีแวดวงของตัวเอง มีขนบธรรมเนียมในการทำงานที่แตกต่างกัน เช่นกองละครเขาก็อาจจะคุ้นเคยกับการทำงานด้วยระบบ 16 ชั่วโมง คือวันหนึ่งถ่าย 16 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาเก็บของ เดินทางกลับบ้านแล้วนัดกองมาวันใหม่อีก บางทีมันก็ดูไม่ค่อยดีต่อสุขภาพและน่าจะอันตราย

แต่ถ้าเรามัวแต่ไปสนใจว่าเธอจะทำงานได้กี่ชั่วโมง อันนี้เราว่าไปโฟกัสผิดจุดเพราะสิ่งที่เราต้องคุยกันจริงๆ คือเวลาพักมากกว่า ฉะนั้น ถ้าเอาแนวคิดเรื่องการพัก 10 ชั่วโมงมาปรับใช้ เราว่าก็คงเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันนะ เราไม่ได้จับจ้องว่าคุณทำงานได้เท่าไหร่ แต่เราบอกว่า คุณควรนอนเท่าไหร่ (ยิ้ม) ซึ่งเราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตรงกันและควรจะต้องพูดคุยอย่างจริงจังได้แล้ว เพราะมันไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่คือครอบครัวของเรา คนที่เรารัก แล้วถ้าเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี เราจะไปดูแลคนรอบข้างได้อย่างไร

การที่กองถ่าย Thirteen Lives ถ่ายทำในออสเตรเลีย เห็นการผลักดันจากรัฐบาลเขาบ้างไหม ภาครัฐมีบทบาทอย่างไรอีก

หนังถ่ายทำที่ออสเตรเลีย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลควีนส์แลนด์ คือออสเตรเลียใช้ระบบมีรัฐบาลกลาง แต่ว่าแต่ละรัฐก็มีรัฐบาลเป็นของตัวเอง เช่น รัฐบาลควีนส์แลนด์ รัฐบาลวิกตอเรีย รัฐบาลนิวเซาต์เวลส์ โดยเขามี สกรีน ออสเตรเลีย (Screen Australia) เป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องภาพยนตร์จากส่วนกลาง ตามรัฐต่างๆ ก็จะมีองค์กรนี้แตกต่างกันไป เช่น สกรีนนิวเซาต์เวลส์ (Screen NSW), สกรีนควีนส์แลนด์ (Screen Queensland) เป็นต้น ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives ได้รับการสนับสนุนจากสกรีนควีนส์แลนด์ ตีเป็นเงินไทยตกประมาณ 290 ล้านบาท มาในรูปแบบของการยกเว้นภาษี สิ่งที่เขาคาดหวังจากนโยบายนี้คือผลประโยชน์สองทางหลักๆ ข้อแรกคือกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น การที่มีโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้เข้ามามันสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลแน่นอน ตอนนั้นเป็นยุคโควิด-19 หลายๆ ประเทศก็ถ่ายทำภาพยนตร์อะไรไม่ได้เลยด้วยข้อจำกัดจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ รวมทั้งอเมริกาด้วย นั่นจึงเป็นช่วงที่มีหนังฮอลลีวูดหลายเรื่องมากที่เข้ามาถ่ายทำในออสเตรเลีย Elvis (2022) ของ บาซ เลอห์แมนน์ เองก็เช่นกัน ตอนนี้ Mad Max (2023) ก็กำลังถ่ายทำอยู่ที่ซิดนีย์ คือความที่เป็นโลกภาษาอังกฤษด้วย เข้าใจว่าพวกเขาก็ติดต่อสื่อสารกันง่าย ไม่ต้องใช้ภาษาใหม่ 

ทีมงานของออสเตรเลียเองเมื่อมีโปรเจ็กต์แบบนี้เข้ามาเยอะก็นำมาสู่ข้อดีข้อที่สองคือ การพัฒนาทักษะ เมื่อมีโอกาสได้ทำงานกับทีมงานระดับโลก คนของเขาก็เก่งขึ้นนะ กลายเป็นทีมงานระดับโลกเหมือนกัน และสามารถต่อยอดไปสู่โปรเจ็กต์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมมีความยั่งยืนสูง เพราะตัวเขาเองก็มีกฎหมายที่ใช้ในการปกป้องทีมงานอยู่แล้วด้วย

ผมไปเจอสถิติหนึ่งบอกว่า การทำงานของกองถ่าย Thirteen Lives ส่งผลต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลียในแง่ที่ว่า เกิดการจ้างงาน 400 ตำแหน่ง มีการว่าจ้างงานธุรกิจท้องถิ่นซึ่งน่าจะรวมหลายๆ อย่างทั้งอุปกรณ์การถ่ายทำ การเซ็ตฉาก แม้กระทั่งอาหารของกองหรือบริษัทขนส่ง รวมๆ แล้วก็ประมาณ 300 บริษัท อันที่จริงเราก็เห็นนโยบายแบบนี้จากหน่วยงานของไทยเหมือนกัน เพียงแค่มันมีจุดแตกต่างกันอยู่บ้าง เพราะการส่งเสริมของหน่วยงานในไทยแบ่งออกเป็นหลายส่วน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ แต่ขณะที่หลายๆ ประเทศเขาใช้รูปแบบเอเยนต์ที่เป็นองค์กรของรัฐที่ทำงานแบบให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ไม่ว่าจะออกนโยบายอะไร บังคับใช้นโยบายอะไร ก็มาในรูปแบบของการทำที่เดียวจบ 

นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด เป็นโมเดลที่หลายๆ ที่เขาทำ ไม่ใช่แค่ที่ออสเตรเลียที่เดียว อย่างที่เกาหลีเขาก็มีองค์กรสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนต์และภาพยนตร์ในลักษณะนี้เหมือนกัน

กลับมาที่ตัวคุณบ้าง ปีนี้ครบรอบสิบปีของหนัง Mother แล้ว มองว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากวันนั้นไหม

ตอนนั้นเราอายุ 22-23 ยังมองอะไรไม่พ้นไปจากตัวเองเท่าไหร่ แต่พอได้ออกไปเจอโลก ได้ออกไปพูดคุยกับคนที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราเห็นโลกที่กว้างออกไปมากกว่าตัวเราเอง ตอนแรกๆ ที่ทำเรื่อง Mother เป็นเพราะเราอัดอั้นตันใจกับสภาพแวดล้อมของครอบครัวตัวเอง คือเขาก็ไม่ได้ผิดหรอก พ่อแม่เราเขาก็ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วในสถานการณ์ขณะนั้นแล้ว แต่ความที่เราก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องเจอกับชีวิตแบบนี้ด้วย ทำไมไม่โชคดีเหมือนคนอื่นบ้าง แต่หลังจากนั้น เราก็พบว่ามันเป็นวิธีคิดที่เราไม่ค่อยได้เอาตัวเองไปไหนเท่าไหร่ เลยเป็นแรงผลักดันให้เราออกค้นหาว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำได้และสิ่งที่เราอยากทำ มันจะมารวมกันได้อย่างไร 

เราค้นพบว่าจริงๆ แล้ว (คิด) นอกจากการเห็นความทุกข์ของตัวเอง การเห็นความทุกข์ของคนอื่นก็เป็นเรื่องสำคัญนะ ก่อนหน้านี้ เราจะคิดแต่ว่าทำไมเราต้องมาเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถส่งเสริมสิ่งที่เราอยากทำด้วย ทำไมคนอื่นเขาอยากทำอะไรก็ได้ทำเลย ง่ายจัง แต่เราต้องสู้เพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่อยาก เป็นมุมมองแบบเด็กๆ น่ะ 

อีกอย่างคือ ห้าปีมานี้ ผมได้พบชายคนหนึ่งที่มีจิตใจอ่อนโยนที่สุด เขาสอนให้ผมรู้จักความรัก และการดูแลรักษามันเอาไว้ ผมคิดได้ กลับมาตั้งใจพัฒนาความเป็นอยู่ของครอบครัว ก็เพราะได้ขัดเกลาตัวเองจากเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับเขา จนเกิดมุมมองต่อชีวิตที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิมมาก จากที่เห็นแต่ความทุกข์ของเรา โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ก็เรียนรู้ที่จะเห็นความทุกข์และบาดแผลของคนใกล้ตัวมากขึ้น อาสาแบ่งเบามันในวันที่เราทำได้ ไปถึงจุดหมายช้าลงบ้าง แต่ไปด้วยกันดีกว่าไปคนเดียว

ถึงที่สุด เมื่อกลับมาทบทวนแล้วเราก็พบว่าทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เราทำเพื่อเอาครอบครัวออกไปจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี เราทำเพราะอยากเห็นคนรอบข้างสบายขึ้น แม้กระทั่งในวันแย่ๆ ที่ทะเลาะกันหรือพูดไม่ดีใส่กัน แต่สิ่งเหล่านั้นก็มาจากเจตนาที่ดี จากเมื่อก่อน ความที่เราเป็นเด็ก เราก็จะคิดได้แค่ว่า เราบอกทางที่ดีกว่าไปแล้วก็ทำสิ แต่เราไม่เห็นว่าทำไมพวกเขาจึงคิดแบบนั้นแบบนี้ เขาเองก็มีความเจ็บปวดของเขา และพยายามในการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปสู่จุดที่ดีกว่าเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งคือเราเรียนรู้จากการทำงานกับผู้คนที่หลากหลายด้วย ไม่ว่าจะเรื่องวัฒนธรรม ภาษาหรือช่วงอายุ คือการเข้าใจคนมากขึ้นว่าพวกเขายืนอยู่ในจุดไหน แล้วเราต้องการจะสื่อสารอะไร ในฐานะนักสื่อสาร หากเราอยากให้เขาเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เราจะสื่อสารอย่างไร เราก็เอาสิ่งที่เราพบเห็นมาใช้กับตัวเอง กับบุคคลรอบข้างและคนในครอบครัว

ผมเรียนรู้เรื่องความอดทนและไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาจากครอบครัว ทั้งป๊า เรโกะ เบนจามิน และยูกิ พ่อและน้องทั้งสามคนของผม ผู้ไม่ทอดทิ้งกันไปไหน ทำทุกอย่างเพื่อรักษาครอบครัวไว้ให้ได้ในวันที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด เกียรติที่ได้มาผมขอยกให้พ่อ พี่น้อง แม่ผู้ล่วงลับ คนใกล้ตัว ครอบครัว มิตรสหาย และผู้สนับสนุนในทุกความพยายาม แม้จะฟังดูเป็นไปไม่ได้แค่ไหนก็ตาม

ฉะนั้น จากตอนนั้นมาจนถึงตอนนี้ เราก็ตัดสินใจเป็นผู้ดูแลครอบครัวอย่างภูมิใจ เมื่อก่อนนี้ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมเราต้องมารับผิดชอบชีวิตของคนอื่นด้วย แค่จะเอาตัวเองให้รอดก็ยากแล้ว เพราะเราเองก็มีความฝัน อยากทำโปรเจ็กต์ที่อยากทำ แต่พอมีโอกาสได้ทำสิ่งที่ว่าจริงๆ สิ่งที่เราอยากเห็นคือการที่ครอบครัวเรามีความสุข ถึงที่สุดเราอยากอยู่กับพ่อและน้องๆ เท่านั้นเอง (ยิ้ม)

ทีมงานจากภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives (ภาพจาก วรกร ฤทัยวาณิชกุล)

เห็นว่าตอนนี้คุณกำลังทำโปรเจ็กต์ใหม่อยู่ด้วย

เรามีโปรเจ็กต์ที่สืบเนื่องมาจากการได้รู้จักพี่ๆ เพื่อนๆ ชาวไทยในออสเตรเลีย มีคุณอรุณ เกษศรีรัตน์ กับคุณบิล ตั้งคำ ร่วมโปรดิวเซอร์และช่วยกำกับภาพโดยคุณโจชัวร์ วิชัยศร เราเรียกกันว่าโปรเจ็กต์ Cascade หมายถึงมวลน้ำที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เราจะทำเรื่องคนที่ตัดสินใจย้ายประเทศ มาด้วยความหวัง ความฝัน แต่แล้ววันหนึ่งกลับพบว่าชีวิตของตัวเองเหลืออยู่อีกไม่นาน อาจจะด้วยโรคร้าย โรคที่รักษาไม่ได้ เป็นต้น สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจว่าจะให้ที่ไหนเป็นที่ตายของตัวเอง ที่ไหนคือบ้านที่แท้จริงแน่ ที่ที่คนจากมาหรือที่ที่คุณกำลังอยู่และเป็นบ้านใหม่ของคุณ นี่คือคำถามตั้งต้นที่เรากำลังสำรวจร่วมกับเพื่อนๆ ทีมงานของเรา 

สิ่งที่พวกเราพยายามค้นหาคือ สุดท้ายเวลาที่เราอยู่ระหว่างความหมายของบ้าน และอยู่ระหว่างประเทศทั้งสองประเทศ ประเทศต่างๆ ยังสำคัญอยู่ไหม คุณใช้อะไรตัดสินใจการเลือกว่าที่ไหนยังเป็นบ้านของคุณ และเราเองก็ไม่ได้มีธงว่าเราอยากฟังหรืออยากได้ยินอะไร แต่อยากเห็นมากกว่าว่าตอนนี้เราอยู่ที่ออสเตรเลีย แล้วคนไทยในออสเตรเลียเขาคิดเห็นต่อสิ่งนี้อย่างไร ฉะนั้นเมื่อคำถามตั้งต้นเป็นเช่นนี้ เราก็จะได้คุยกับพี่ๆ ที่เรารู้จักผ่านทางวัดไทยพุทธารามเพิ่มเติม ทางวัดเองก็เป็นเหมือนศูนย์กลางทางจิตใจของผู้คนที่นี่ มีพิธีกรรมทางศาสนา งานบุญ หรือกระทั่งงานศพ 

การทำพิธีศพที่นี่ไม่ได้มีพิธีสวดสามวันเจ็ดวันแบบที่ไทย ไม่ยาวนานมาก เราโตมากับความเชื่อเรื่องการทำพิธีให้บุคคลที่จากไป มีเรื่องการส่งเขาไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่า มีการที่ผู้คนมารวมตัวกันสวดมนต์ ทำทานเพื่อให้บุคคลที่จากไปได้ไปสู่โลกใหม่อย่างสะดวกสบาย คอนเซ็ปต์เหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกตะวันตกไม่มี แล้วการที่เราได้เห็นสิ่งนี้ในชุมชนคนไทยที่นี่ ก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเรา ให้เราค้นหาสิ่งเหล่านี้ต่อไป

มองว่าตัวเองมาไกลจากเมื่อสิบปีก่อนไหม

(คิดนาน) พอมาคิดย้อนๆ ดู เราก็ทึ่งเหมือนกันที่ทำหนังมาสิบปีแล้ว จากหนังธีสิสเพื่อจบการศึกษา วันนี้เราเป็นนักศึกษาภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ได้เป็นโปรดิวเซอร์หนังฮอลลีวูด เรารู้สึกว่าถ้าสมมติมีใครรู้สึกอยากทำอะไรบางอย่างมากๆ แต่มีข้อจำกัด ขออย่าท้อเลย ลองหาวิธีในการทำสิ่งนั้นให้ได้ต่อไปเรื่อยๆ คุณไม่ต้องทำเป็นอาชีพก็ได้ ไม่ต้องทำร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีอาชีพที่สอง สามหรือสี่ก็ได้ แต่แค่ว่าให้รักษา ทำในสิ่งที่คุณรักเอาไว้ วันหนึ่งผมเชื่อว่ามันจะออกดอกออกผลและพาคุณไปสู่โปรเจ็กต์ที่คุณอาจไม่เคยคาดคิดก็ได้ว่าจะได้ทำ และผมในฐานะนักทำหนังไทย การได้ร่วมงานกับโปรเจ็กต์ Thirteen Lives ผมก็ได้เอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในไทย ของคนไทย ออกไปสู่สายตาของผู้คนทั่วโลก และไม่ได้เอาแค่เรื่องราว แต่เอาวัฒนธรรมและความเชื่อในส่วนที่อาจไม่ได้เห็นถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองที่สมจริงในภาพยนตร์ไทยบ่อยนัก ผมว่านี่เป็นโอกาสที่ดีในการที่นักทำหนังไทยจะได้ลองกลับมามองหาดูว่า ในประเทศเรายังมีเรื่องราวอะไรที่น่าเอามาเล่า เพื่อจะให้ผู้คนทั้งโลกมีโอกาสได้เห็น

ยิ่งตอนนี้แพล็ตฟอร์มสตรีมมิงก็เริ่มสนใจพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น มีหลายๆ ที่ที่ตั้งใจจะผลิตผลงานออริจินัลทั้งซีรีส์และภาพยนตร์ที่เป็นภาษาไทยมากขึ้น ผมว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่นักทำหนังไทยจะได้พัฒนาตัวเองและได้มีโอกาสในการทำงานกับทีมที่มาจากนานาชาติและมีมาตรฐานระดับโลกด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save