fbpx
ศึกชั่วชีวิตของนักคิดผู้รู้แจ้ง (ทั้งคู่)

ศึกชั่วชีวิตของนักคิดผู้รู้แจ้ง (ทั้งคู่)

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

1

 

ทั้งวอลแตร์ (1694-1778) และฌอง ฌาค รุสโซ (1712-1778) ถือได้ว่าเป็นนักคิดตัวยงของยุค Enlightenment แห่งยุโรป ทั้งคู่โจมตีระบอบการปกครองแบบฟิวดัล ซึ่งตอนนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ครอบงำยุโรป (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) อย่างหนัก

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกจองจำก่อนจะถูกประหารหลังปฏิวัติฝรั่งเศส มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ถึงกับรำพึงว่า เป็นไอ้เจ้านักคิดสองคนนี้ (คือวอลแตร์และรุสโซ) นี่แหละ ที่ ‘ทำลายฝรั่งเศส’ ลงอย่างยับเยิน

ฟังแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่าวอลแตร์ (เจ้าของหนังสืออย่าง ‘ก็องดิด’) และรุสโซ (เจ้าของหนังสืออย่าง ‘สัญญาประชาคม’ และ ‘อีมิล’) จะต้องเป็นคนที่คิดเห็นเหมือนกัน และสนิทสนมกลมเกลียวกันแน่ๆ ยิ่งถ้ามองจากสายตาคนรุ่นหลัง ทั้งคู่ต้องเป็น ‘สหาย’ กันแน่ๆ

แต่ไม่เลย — ที่จริงแล้วผู้ที่เป็นต้นธารความคิดจนกระทั่งก่อให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมาทั้งสองคนนี้ แทบเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่ง และอาจถึงขั้นเป็น ‘ศัตรู’ กันด้วยซ้ำ

ไม่ใช่แค่ศัตรูทางความคิดเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการเป็นศัตรูในระดับ ‘ขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว’ ออกมาประจานกันเลยทีเดียว

ทำไม ‘นักคิด’ ระดับ ‘เปลี่ยนโลก’ ขนาดนั้น – ถึงได้ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง?

เกิดอะไรขึ้น?

 

2

 

ความขัดแย้งของนักคิดสองคนนี้มีความเป็นมาที่ซับซ้อนย้อนแย้งหลายเรื่องด้วยกัน

ถ้าพูดกันแบบดูดีมีหลักการ ก็ต้องบอกว่าตัววอลแตร์นั้นเน้นไปที่เรื่องของ ‘เหตุผล’ (reason) เป็นหลัก ในขณะที่รุสโซจะเน้นเรื่อง ‘อารมณ์’ (emotion) ซึ่งไม่ได้แปลว่ารุสโซบอกว่าไม่ต้องมีเหตุผลนะครับ เพียงแต่รุสโซเห็นว่า การใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียวโดยละเลยเรื่องของอารมณ์ เพื่อต่อต้านกับความอยุติธรรม คือวิธีการที่มีความ sterile หรือขาดแคลนมิติอื่นๆ มากเกินไป และจะไม่ประสบความสำเร็จ

วอลแตร์ชื่นชมในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาก เขาประณามความเชื่อแบบไสยศาสตร์ที่ครอบงำคริสตศาสนา (โดยเฉพาะในฐานะ ‘องค์กร’ ทางศาสนา ที่มีการหาประโยชน์เข้าตัวผู้มีอำนาจ เช่นการขายใบล้างบาป ฯลฯ) เขาเชื่อในสิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ เชื่อในการใช้เหตุผล ดังนั้นองค์กรทางศาสนาที่ไม่ได้ใช้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือโปรเตสแตนท์ (ในสมัยนั้น) จึงถูกเขาโจมตีทั้งหมด เรื่องอัศจรรย์ต่างๆ ที่พวกพระพยายามสร้างขึ้นมาเป็นเรื่องเล่าในศาสนา วอลแตร์นำมาล้อเลียนหมด เขาเห็นว่าเป็นเรื่องหลอกลวง จริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เขาเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพูดอย่างจริงจัง

ส่วนรุสโซเชื่อตรงข้ามกับโธมัส ฮ็อบส์ เขาเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่ได้เลวร้ายอะไร เมื่อมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเลวร้าย เขาจึงเชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และเป็นคนต้นคิดคำว่า noble savage หรือที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า ‘คนเถื่อนใจธรรม’ อะไรทำนองนั้น

คนหนึ่งที่น่าจะสรุปความงานเขียนของวอลแตร์กับรุสโซได้ดี ก็คืออเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen) ซึ่งเป็นนักเขียนรัสเซียรุ่นหลัง เขาตั้งข้อสังเกตว่า งานเขียนของวอลแตร์ซึ่งเต็มไปด้วยตัวตน (เขาใช้คำว่า egoist) น้ัน เป็นงานเพื่อการปลดปล่อยหรือ liberation ในขณะที่งานของรุสโซซึ่งเป็นงานที่มีความน่ารัก (เขาใช้คำว่า loving) จะมีเป้าหมายมุ่งไปที่เรื่องของภราดรภาพหรือ brotherhood มากกว่า

ถ้ามองแบบนี้ ก็อาจพูดได้ว่า วอลแตร์คือเสรีภาพ ส่วนรุสโซคือความเสมอภาคและภราดรภาพ ซึ่งทั้งสามอย่างคือเสาหลักของประชาธิไตยแบบฝรั่งเศสนั่นเอง

รุสโซนั้นอ่อนวัยกว่าวอลแตร์ ตอนเขาเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ วอลแตร์ถือว่าเป็นนักเขียนดังที่มีชื่อเสียงแล้ว รุสโซเป็นผู้เขียนจดหมายไปหาวอลแตร์ก่อนเพื่อแนะนำตัวเอง เขาเขียนไปหาในปี 1745 ซึ่งวอลแตร์ก็เขียนตอบมาอย่างสุภาพดี แต่ความไม่ลงรอยกันน่าจะเกิดขึ้นเมื่อรุสโซส่งหนังสือเล่มใหม่ไปให้วอลแตร์อ่าน

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Discourse on Inequality (จริงๆ คือ Discourse on the Origin and Basis of Inequality Among Men) หรือวาทกรรมว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งรุสโซเสนอว่า ความไม่เท่าเทียมและทรัพย์สินส่วนบุคคลคือที่มาของความสิ้นหวังทั้งปวงของมนุษย์ ความไม่เท่าเทียมทำให้มนุษย์ตกต่ำ ดังนั้น วิธีเดียวที่ควรทำก็คือการ ‘หวนคืน’ กลับสู่สภาวะธรรมชาติ

ถ้ามองในยุคปัจจุบัน งานเขียนชิ้นนี้ของรุสโซฟังดูไม่เห็นมีอะไรแปลกประหลาดน่าตื่นเต้นเลย แต่ย้อนกลับไปในปารีสยุคศตวรรษที่ 18 กลับถูกมองว่านี่คืองานที่กำลังบอกว่าให้มนุษย์ ‘ย้อนยุค’ กลับไปอยู่แบบสัตว์ ซึ่งก็เท่ากับการโจมตีความศิวิไลซ์นั่นเอง

แล้วอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าวอลแตร์หลงรักชื่นชมในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็คือความศิวิไลซ์อย่างหนึ่ง ดังนั้น เขาจึงเขียนจดหมายตอบกลับมาหารุสโซโดยบอกว่า

เมอร์ซิเยอร์ ฉันได้รับหนังสือเล่มใหม่ของเธอที่ต่อต้านมนุษย์แล้ว…ไม่เคยเห็นใครใช้ความชาญฉลาดเพื่อทำให้พวกเรากลายเป็นสัตว์ป่าได้มากเท่านี้ การอ่านหนังสือของเธอทำให้เรารู้สึกเหมือนคลานสี่ขา อย่างไรก็ตาม ฉันเลิกคลานมาหกสิบปีแล้ว จึงโชคร้ายที่ฉันคิดว่าคงกลับไปคลานอีกไม่ได้ ฉันขอทิ้งการคลานแบบสัตว์ไว้ให้คนที่ควรค่ากับมันมากกว่าฉันหรือเธอก็แล้วกัน” (จดหมายถึงรุสโซ 30 สิงหาคม 1755)

นี่คือคำตอบที่เหน็บแนมแกมประชดเจ็บแสบอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่วอลแตร์เริ่มให้ความสนใจกับเพื่อนนักคิดนักเขียนรุ่นน้องอย่างรุสโซ น่าเสียดายที่มันเป็นความสนใจในแง่ลบ

มีผู้ไปค้นคว้าห้องสมุดของวอลแตร์ พบว่าในห้องสมุดนั้นมีหนังสือเล่มก่อนหน้าของรุสโซอยู่ด้วย (คือ Discourse on Art) แต่เหมือนวอลแตร์จะไม่สนใจเล่มนี้เท่าไหร่ เพราะไม่มีการขีดเขียนทำโน้ตอะไรไว้ในนั้น ทว่าในหนังสือ Discourse on Inequality กลับเต็มไปด้วยร่องรอยต่างๆ แถมยังมีงานเขียนอื่นๆ ที่วิพากษ์งานชิ้นนี้อีกหลายเล่ม

ความขัดแย้งทางความคิดของทั้งคู่ทวีขึ้นไปอีก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมืองลิสบอนของโปรตุเกส โดยผู้เสียชีวิตจำนวนมากอยู่ในโบสถ์ ต้องบอกก่อนว่า แม้วอลแตร์จะโจมตีองค์กรทางศาสนา แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เชื่อในพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงสั่นสะเทือนเขามาก เพราะมันเหมือนพระเจ้าไม่ดูดำดูดีอะไรกับมนุษย์เลย

สุดท้าย วอลแตร์จึงเขียนบทกวีชื่อ Poem on the Lisbon Disaster ขึ้นมาเพื่อระบายความรู้สึกนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นโอกาสให้รุสโซตอบกลับ โดยรุสโซเขียนจดหมายชื่อ Letter on Providence โต้แย้งว่าการจะไปสงสัยว่าพระเจ้ามีเมตตาหรือไม่มีนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องไร้เหตุผล มนุษย์ควรจะโทษโชคร้ายของตัวเองมากกว่า เพราะการอยู่ในเมืองอย่างหนาแน่น และการหนีภัยไปอยู่ในโบสถ์อย่างแออัด มันคือการ ‘เลือก’ ของมนุษย์เอง ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าวอลแตร์จะไม่พอใจ มีคนวิเคราะห์ว่า วอลแตร์ตอบโต้ประเด็นนี้ไว้ในงานเขียนเลื่องชื่อของตัวเองอย่าง ‘ก็องดิด’ ด้วย แต่ก็ไม่ใช่การเขียนตอบโต้โดยตรง

เรื่องราวความขัดแย้งเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยก้ำกึ่งกัน เหตุการณ์ในลิสบอนเกิดในปี 1755 ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี วอลแตร์ย้ายไปพำนักอยู่ที่เมืองเจนีวา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของรุสโซ ประเด็นก็คือในยุคนั้นมีการถกเถียงเรื่องการแสดงละคร ซึ่งตามความเชื่อของโปรเตสแตนท์สายที่เรียกว่า Calvanism (ตามแนวคิดของ John Calvin) การแสดงละครหรือ Theater เป็นเรื่องที่ไม่พึงทำในที่สาธารณะ เพราะอาจส่งผลทางศีลธรรม ทำให้ผู้คนมีศีลธรรมเสื่อมลงได้ และเมืองอย่างเจนีวา (รวมถึงตัวรุสโซเอง) ก็เชื่อถือยึดมั่นในแนวคิดนี้อย่างเคร่งครัดด้วย

แต่ก็อย่างที่บอกอีกนั่นแหละ ว่าวอลแตร์เป็นพวกต่อต้านองค์กรทางศาสนา ไม่ว่าจะคาทอลิกหรือโปรเตสแตนท์ พอไปอยู่เจนีวา เขาจึงจัดการแสดงละครต่างๆ (โดยเฉพาะละครที่เขาเขียนขึ้น) ในแบบเปิดสู่สาธารณะ ทั้งยังพยายามเรียกร้องต่อทางการให้ยอมรับการแสดงแบบสาธารณะในเมืองด้วย

เรื่องนี้ทำให้รุสโซโกรธมาก เขาจึงเขียนจดหมายประณามการแสดงละครในที่สาธารณะออกมา เพราะรุสโซเห็นว่าจะทำให้เกิดความเสื่อมทางศีลธรรมกับผู้คนในวงกว้าง เรื่องนี้ทำให้วอลแตร์รำคาญถึงขนาดที่เขียนจดหมายไปหาเพื่อนนักปรัชญาหลายคน บอกว่าที่รุสโซวิจารณ์แบบนั้นไม่ใช่อะไรหรอก เป็นเพราะรุสโซเขียนเป็นแต่บทละครห่วยๆ เท่านั้นแหละ แถมยังเรียกรุสโซด้วยว่าเป็นคนบ้า

รุสโซจึงเขียนจดหมายมาหาวอลแตร์ เป็นคล้ายๆ จดหมายตัดขาด

ความตอนหนึ่งจดหมายนี้เขียนว่า I don’t like you, monsieur โดยอธิบายว่าวอลแตร์ได้ทำลายเจนีวา และทำให้คนเจนีวาตัดขาดจากรุสโซ ทำให้รุสโซทนอาศัยอยู่ในเมืองบ้านเกิดตัวเองไม่ได้ และบีบให้รุสโซต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น โดยมีข้อความสรุปอีกว่า In short, I hate you พูดสั้นๆ ผมเกลียดคุณ

หลังจดหมายฉบับนี้ นักคิดนักเขียนทั้งคู่ก็เป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผย

ที่อาจทำให้วอลแตร์สาแก่ใจที่สุด ก็คือรุสโซมีงานเขียนอย่าง Emile ซึ่งเป็นงานเขียนที่พูดถึงวิธีเลี้ยงดูเด็กให้โตขึ้นมาเป็นคนที่มีเหตุผล แต่หนังสือเล่มนี้กลับถูก ‘แบน’ จากองค์กรศาสนาด้วยเหตุผลที่ตลกมากๆ เพราะหนังสือเล่มนี้บอกว่าคนเราควรมีสิทธิเลือกนับถือศาสนาอะไรก็ได้ เพราะทุกศาสนานั้นเท่าเทียมกันหมด ซึ่งทำให้คริสตจักรยอมรับไม่ได้ เพราะพระเจ้าต้องมีหนึ่งเดียวเท่านั้น และพระเจ้าในศาสนาคริสต์ย่อมยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าอื่นๆ ทั้งปวง ศาสนาคริสต์จึงไม่อาจ ‘เท่า’ กับศาสนาอื่นได้

ที่จริงยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เช่น รุสโซให้ตัวละครที่ออกมาปกป้องศาสนาใน ‘อีมิล’ เป็นพระที่มีพื้นเพเป็นชาวนา และออกมาปฏิเสธเรื่องบาปกำเนิด ดังนั้น เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว หนังสืออย่าง ‘อีมิล’ จึงกลายเป็นหนังสือที่ถูกแบนทั้งในเจนีวาและเมืองเบิร์น ทำให้รุสโซต้องตระเวนหาที่อยู่ราวกับไม่มีแผ่นดินจะอาศัย

จริงๆ แล้ว ตอนแรกวอลแตร์ก็เยาะเย้ยอีมิล บอกว่าเป็นหนังสือที่ยืดยาดน่าเบื่อ ตัวละครไม่น่าสนใจอะไรเลย แต่พอรุสโซลำบากมากเข้า เขาก็เขียนจดหมายไปหารุสโซ บอกว่าให้มาอยู่กับเขาก็ได้ มีคนวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะวอลแตร์ไม่ชอบองค์กรทางศาสนา จึงทนไม่ได้เมื่อเห็นรุสโซถูกรังแก (แต่ก็มีคนบอกอีกเช่นกันว่าอาจเป็นกับดักลวงอะไรสักอย่าง) อย่างไรก็ตาม รุสโซไม่ตอบจดหมายวอลแตร์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะทำให้วอลแตร์แค้นเคือง เพราะคล้ายยื่นไมตรีไปให้แล้วไม่ได้รับตอบ

หลังจากนั้น มีเรื่องเลวร้ายที่สุดในความสัมพันธ์ของวอลแตร์กับรุสโซเกิดขึ้น คือการที่วอลแตร์ออกมาเปิดเผย (หรือจริงๆ ก็คือ ‘แฉ’) ว่า รุสโซเคยมีลูกถึงห้าคน แล้วเขาทิ้งลูกทั้งห้านั้นไว้ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทั้งที่เรื่อง ‘อีมิล’ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิธีเลี้ยงดูเด็กให้ดีแท้ๆ แต่พอมีลูกจริงๆ เข้า รุสโซกลับไม่ดูดำดูดีลูกของตัวเองเลย รุสโซออกมาตอบโต้ว่าเขาไม่เคยทิ้งลูกไว้หน้าประตูสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าใดๆ ซึ่งต่อมาก็มีการค้นพบว่าเขาไม่ได้ทิ้งจริงๆ เพราะลูกของเขาทั้งหมดเกิดในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าโดยตรงเลย

เรื่องนี้ทำให้เราเห็น ‘ด้านมืด’ ของนักคิดแห่งยุคแสงสว่าง ไม่ว่าจะเป็นวอลแตร์หรือรุสโซได้เป็นอย่างดี

ที่น่าแปลกก็คือ สุดท้ายแล้ว ทั้งคู่เสียชีวิตในปีเดียวกัน วอลแตร์ตายในเดือนพฤษภาคม 1778 รุสโซตายตามไปในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

ทิ้งไว้แต่ตำนานจดจารว่า — นักคิดที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งยุคสมัย ผู้เป็นต้นธารกระแสความคิดที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส คือสองนักคิดที่ทะเลาะเบาะแว้งและเป็นปรปักษ์กันมาจนตลอดชีวิต

ชวนให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า — หรือชะรอยนักคิดสาย ‘ก้าวหน้า’ จะต้องเป็นเช่นนี้…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save