fbpx

“ยูเครนคือใจกลางสำคัญที่จะกำหนดประวัติศาสตร์ยุโรป” บทสนทนาในวันครบรอบ 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน กับ Volodymyr Yermolenko นักปรัชญายูเครน

“ยุโรปเคยอยู่กับไอเดียที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว’ (the end of history) แต่ตอนนี้ประวัติศาสตร์ได้หวนคืนกลับมาอีกครั้ง…”

เมื่อครั้นรัสเซียประกาศเปิดฉากบุกทำสงครามในแผ่นดินยูเครน นั่นคือชั่วขณะที่ประวัติศาสตร์หวนกลับคืนผ่านยูเครน และดำเนินเรื่องราวต่อไปในยูเครน

ในห้วงเวลาที่ยูเครนต่อสู้เพื่อมุ่งหน้าสู่อนาคตท่ามกลางความโหดร้ายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน ประวัติศาสตร์แบบไหนกำลังดำเนินอยู่ในยูเครนกันแน่?

ด้วยเลนส์แบบปรัชญาการเมือง นั่นทำให้การวิเคราะห์สงครามผ่านมุมมองของ Volodymyr Yermolenko ลงลึกไปถึงแก่นเนื้อของห้วงความคิดในสังคมยูเครน

ในวันครบรอบ 365 วันของการบุกโจมตียูเครน 101 สนทนากับ Volodymyr Yermolenko นักปรัชญา นักข่าว และนักเขียนชื่อดังชาวยูเครนผู้ดำรงตำแหน่งบรรณธิการบริหารแห่งเว็บไซต์ UkraineWorld ว่าด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ระหว่างการครอบงำ-ความรุนแรงและการปลดแอกที่หมุนเวียนกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในยูเครน

Valentyn Kuzan / Photo

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน จะเห็นว่ามีแนวอธิบายสาเหตุของสงครามอยู่หลายแบบทีเดียว แต่สำหรับคุณ คุณอธิบายสงครามครั้งนี้อย่างไร

สงครามครั้งนี้ถือเป็น ‘สงครามจักรวรรดิ’ (Imperial War) รัสเซียคือจักรวรรดิที่กำลังเข้าสู่ขั้นสุดท้ายก่อนจะล่มสลายแล้ว ผมมองว่านี่คือกระบวนการต่อไปของการ ‘สลายอำนาจจักรวรรดิ’ (de-imperialization) ของยุโรป

อย่างที่รู้กัน กระบวนการก่อร่างของยุโรปในปัจจุบันอย่างที่เราเห็นเป็นผลพวงจากรัฐจักรวรรดิ เริ่มตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ยุโรปผ่านกระบวนการสลายอำนาจจักรวรรดิมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การล่มสลายลงของจักรวรรดิฮับสบวร์ก จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิอังกฤษ ไปจนถึงจักรวรรดิฝรั่งเศส และตอนนี้รัสเซียคือจักรวรรดิสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในยุโรป

จริงๆ ในอดีต รัสเซียก็เคยผ่านกระบวนการสลายจักรวรรดิมาแล้ว อย่างตอนที่เสียโปแลนด์ ฟินแลนด์ไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จากนั้นจักรวรรดิรัสเซียก็เกิดใหม่อีกครั้งภายใต้สหภาพโซเวียต และพอสหภาพโซเวียตล่มสลายลงอีกในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ รัสเซียก็พยายามหวนคืนสู่การเป็นจักรวรรดิอีกครั้ง พยายามหาทางทวงพื้นที่อาณาเขตที่เคยตกอยู่ในอิทธิพลของสหภาพโซเวียตคืน เพราะฉะนั้น ความคิดและความตั้งใจของปูตินคือการรื้อฟื้นสหภาพโซเวียตกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่สหภาพโซเวียตครบรอบ 100 ปี แต่แน่นอนว่าปูตินล้มเหลวอย่างชัดเจน

แต่เพื่อการนั้น รัสเซียเลยต้องเอาชนะยูเครนให้ได้ สำหรับรัสเซีย ยูเครนเป็นประเทศที่สำคัญมาก ประเด็นคือยูเครนไม่ได้เป็นพื้นที่ที่รัสเซียมองว่าเป็นอาณานิคมทั่วๆ ไปที่แค่ต้องเข้าไปรุกรานและกำราบให้สยบจำยอมต่ออำนาจที่เหนือกว่าของรัสเซีย แต่ในมายาคติของรัสเซีย รัสเซียเชื่อว่าจุดกำเนิดของชาติรัสเซียและจักรวรรดิรัสเซียเริ่มที่คีฟในสมัยยุคกลางช่วงศตวรรษที่ 9-10 จนถึงศตวรรษที่ 13 คีฟเป็นเมืองที่เก่าแก่กว่ามอสโกหรือกระทั่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมากกว่า 1,000 ปี เพราะฉะนั้น ภายใต้มายาคติที่เชื่อว่าคีฟคือศูนย์กลางของจักรวรรดิรัสเซีย การสูญเสียคีฟไปทำให้จักรวรรดิรัสเซียเสมือนว่าปราศจาก ‘ต้นกำเนิด’ ปราศจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน และกลัวจะเป็นจักรวรรดิที่ ‘ไร้หัว’ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะกระบวนการสร้างรัฐชาติรัสเซียกว่าจะเริ่มจริงๆ คือช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยซ้ำ

แต่นี่ก็เป็นอุดมการณ์ที่รัสเซียเชื่อมาตลอด มันจึงตามมาด้วยความคิดมายาคติต่างๆ ตั้งแต่ที่บอกว่ายูเครนเป็นประเทศปลอม ยูเครนไม่มีอยู่จริง หรือจริงๆ แล้วคนยูเครนคือคนรัสเซีย แต่เป็นคนรัสเซียที่เลว เพราะฉะนั้นรัสเซียจะสามารถบุกเอาชนะพื้นที่ในยูเครนได้ และผู้คนที่อยู่ในยูเครนจะยินดีที่รัสเซียเข้ามายึดครองและออกมาต้อนรับกองทัพรัสเซียด้วยดอกไม้ อุดมการณ์เช่นนี้หรือที่ทิโมธี ชไนเดอร์ (Timothy Snyder) เรียกมันว่า “ความคิดแย่ๆ” (“bad ideas”) เลยนำมาสู่การบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่พวกเราในยูเครนเชื่อว่านี่จะเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้จักรวรรดิรัสเซียอ่อนแอลง หรืออาจจะนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียก็เป็นได้

หนึ่งในแนววิเคราะห์ที่ใช้อธิบายสงครามครั้งนี้กันมากคือภูมิรัฐศาสตร์ แต่อีกเลนส์ที่ถูกยกขึ้นมาคือ ‘ความคิด’ อย่างที่คุณใช้อธิบายและ ‘อัตลักษณ์ความเป็นชาติ’ ทำไมสองอย่างนี้ถึงสำคัญในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซีย

อย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือยูเครนและรัสเซียมีรากฐานความคิดทางการเมือง คุณค่าทางการเมือง และจินตนาการทางการเมืองที่ต่างกัน รัสเซียสร้างบนแนวคิดของรัฐที่มีอำนาจเป็นลำดับชั้น (hierarchical) ที่ต้องมีผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นซาร์ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ หรือประธานาธิบดีก็ตามแต่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นยุคสมัยไหน และที่เหลือเป็นเพียงผู้ตามที่คอยสนับสนุนเท่านั้น จะเห็นว่านี่เป็นความคิดทางการเมืองที่มีความเป็นราชาธิปไตยสูงมาก

ในขณะที่ความคิดทางการเมืองของยูเครนนั้นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง แนวคิดที่มีอิทธิพลขับเคลื่อนชีวิตทางการเมืองของยูเครนคือ plurality ธรรมชาติทางการเมืองยูเครนคือมีศูนย์กลางอำนาจหลายแห่ง (multi-centered) เป็นรัฐที่มีระดับการกระจายอำนาจสูง คุณไม่มีทางบอกได้ว่าคีฟหรือที่อื่นมีอำนาจหรือมีอิทธิพลมากกว่ากัน วัฒนธรรมทางการเมืองของยูเครนเลยเป็นแบบสาธารณรัฐนิยม มีความเป็นประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจทรราชย์มาตลอด หรือกระทั่งว่าแทบจะเป็นอนาธิปไตยด้วยซ้ำ

นี่เป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หรืออาจย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 17 หนึ่งในนั้นคือตำนานว่าด้วยคอสแซกส์ (Cossacks Myth) คอสแซกส์คือกลุ่มนักรบอิสระที่อยู่รอบๆ พรมแดนที่ราบยูเรเชียและคอยต่อสู้กับกลุ่มนอแมดที่ฝ่าเข้ามายังพรมแดนยูเครน ถ้าให้เทียบก็คงคล้ายๆ กับซามุไรในญี่ปุ่น ในหมู่นักรบคอสแซกส์จะอยู่ร่วมกันบนฐานของสัญญาประชาคมที่หัวหน้านักรบสัญญาว่าจะประกันสิทธิและเสรีภาพให้แก่เหล่านักรบ วิถีและวิธีคิดเช่นนี้แฝงฝังอยู่ในอัตลักษณ์ความเป็นชาติและธรรมเนียมทางการเมืองของยูเครนไปแล้ว และกำลังหวนคืนกลับมาอีกครั้งในสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ เหมือนกับว่าคนยูเครนกลับไปค้นพบความเป็นนักรบในตัวอีกครั้ง

ผมว่ามิติทางความคิดและคุณค่าทางการเมืองสำคัญกว่าภูมิรัฐศาสตร์นะ เพราะที่จริงแล้ว สิ่งที่รัสเซียหวาดกลัวที่สุดคือเสรีภาพ รัสเซียกลัวว่าเสรีภาพจะเบ่งบานในรัสเซียเหมือนอย่างที่เคยเบ่งบานในโปแลนด์จนนำไปสู่การประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซีย เพราะในช่วงศตวรรษที่ 19 พื้นที่ส่วนมากของโปแลนด์ในปัจจุบันเคยตกเป็นอาณานิคมของรัสเซีย พอโปแลนด์ประกาศเอกราชสำเร็จในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รัสเซียก็กลัวว่าการประกาศเอกราชในโปแลนด์จะจุดประกายให้ยูเครนปลดแอกจากรัสเซียเหมือนกัน แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง และรัสเซียเองก็กลัวว่าสักวันหนึ่งอุดมการณ์เหล่านี้จะงอกงามและไปปลุกกระแสขบวนการประชาธิปไตยในรัสเซียเสียเอง

เพราะฉะนั้น ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้มีบทบาทในสงครามครั้งนี้เท่าไหร่ คำถามคือรัสเซียจะต้องการยูเครนไปทำไม อย่างตอนนี้รัสเซียกำลังต่อสู้เพื่อเมืองเล็กๆ ทางตะวันออกในยูเครน ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์หรือยุทธศาสตร์อะไรเลย ทรัพยากรก็ไม่มี สมมติว่าถ้าที่นั่นมีน้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหิน ก็พอจะจินตนาการได้ว่าทำไมถึงยังบุกมาทำสงคราม แต่นี่ไม่ใช่ สงครามเกิดขึ้นเพราะความคิด เพราะรัสเซียหวาดกลัวว่าอุดมการณ์ชุดหนึ่งจะแทรกซึมไปบั่นทอนอุดมการณ์อำนาจนิยมและโครงสร้างทางการเมืองแบบมีลำดับชั้น

คุณเคยเขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ใน The Economist ว่า “เสรีภาพคือแกนหลักของอัตลักษณ์ความเป็นยูเครนในฐานะชาติทางการเมือง” เราเห็นเสรีภาพโลดแล่นในสงครามครั้งนี้อย่างไร

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ ชาวยูเครนยึดถือเสรีภาพเป็นคุณค่าหลัก ถ้าไปถามคนยูเครนว่าอะไรคือคุณค่าหลักสำหรับพวกเขา เขาหรือเธอจะตอบว่าเสรีภาพ ในทางสังคมวิทยาก็มีการยืนยันแล้ว

สำหรับคนยูเครน ผมคิดว่าเสรีภาพคือคุณค่าที่ต่อกรกับคุณค่าแบบรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับอำนาจและระเบียบที่มีจัดลำดับชั้นต่ำ-สูง เพราะฉะนั้น หากมองผ่านเลนส์ความคิด สงครามครั้งนี้คือสงครามประชาชนที่กำลังออกมาต่อกรกับรัฐที่กดขี่พวกเขาไว้

Yasuyoshi CHIBA / AFP / Photo

สำหรับคนยูเครน ผมคิดว่าเสรีภาพคือคุณค่าที่ต่อกรกับคุณค่าแบบรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับอำนาจและระเบียบที่มีจัดลำดับชั้นต่ำ-สูง เพราะฉะนั้น … สงครามครั้งนี้คือสงครามประชาชนที่กำลังออกมาต่อกรกับรัฐที่กดขี่พวกเขาไว้

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียคือหมุดหมายที่แท้จริงของการกำเนิดยูเครนในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าก่อนหน้านั้นกระบวนการสร้างชาติของยูเครนยังไม่ลุล่วงดี คุณมองอย่างไร

มันเป็นอะไรที่ย้อนแย้งเหมือนกันนะ เพราะผลลัพธ์จากการทำสงครามกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัสเซียต้องการ เพราะฉะนั้น ผมเลยมองรัสเซียว่าเป็นเหมือนอีดิปุสในโศกนาฏกรรมกรีกที่ตระหนักรู้โชคชะตาของตนเองและพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ชีวิตเดินไปตามเส้นทางที่โชคชะตากำหนดไว้ แต่ยิ่งพยายามหลีกเลี่ยง ก็ยิ่งเป็นไปตามโชคชะตา รัสเซียพยายามจะทำให้ยูเครนอ่อนแอและแพ้พ่าย แต่กลับกัน ยูเครนยิ่งแข็งแกร่ง รัสเซียพยายามจะขยายเขตอิทธิพลออกไป แต่นั่นกลับทำให้นาโตกลับมาอีกครั้งและผลักให้ฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจเข้าร่วมนาโต รัสเซียพยายามจะท้าทายพันธมิตร transatlantic แต่ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น

ถ้ามองในมุมนี้ก็ไม่ผิดถ้าจะบอกว่ารัสเซียมีส่วนช่วยให้ความเป็นชาติของยูเครนแข็งแกร่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียเป็นผู้สร้างนะ การสร้างชาติและการประกอบสร้างอัตลักษณ์ความเป็นยูเครนเป็นกระบวนการที่ดำเนินมาอยู่ตลอดแล้ว รัสเซียเพียงแค่มาเร่งกระบวนการเท่านั้น จะบอกว่าเป็นตัวเร่งขนานใหญ่ก็ว่าได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ถ้าเกิดว่าในปี 2014 ไม่มีสงครามดอนบาสเกิดขึ้น ความคิดของคนในเมืองที่แคลงใจกับความเป็นยูเครนมาหลายปี มีคนพูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่ และอยู่ในพื้นที่การรับรู้ข้อมูลจากฝั่งรัสเซียอย่างดนิโปร เคอร์ซอน โอเดสซาในทางภาคใต้ หรือเมืองอื่นๆ ทางภาคตะวันออกก็คงไม่เปลี่ยน แต่หลังจากเกิดสงครามดอนบาส หลายคนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองคือคนยูเครนมากขึ้น และเริ่มมีระยะห่างกับความเป็นรัสเซีย แน่นอนว่าสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็เป็นชนวนเร่งเหมือนกัน

ในหนังสือ Ukraine in Histories and Stories (2019) ที่คุณเป็นบรรณาธิการเล่ม ประโยคเริ่มต้นในบทนำเขียนไว้น่าสนใจมากว่า “ยูเครนยังคงเป็น ‘ดินแดนที่ยังไม่รู้จัก’ (Terra Incognita) และยังคงเป็นดินแดนที่ยังไม่รู้จักแม้กระทั่งสำหรับคนยูเครนเอง” เพราะอะไร

มีหลายเหตุผล เหตุผลแรกคือยูเครนถูกมองว่าเป็นทั้ง ‘ชายขอบของยุโรป’ และ ‘ชายขอบของรัสเซีย’ นั่นหมายความว่าความเป็นชายขอบของยูเครนทวีคูณเป็นสองเท่า และแน่นอนว่าปกติความสนใจมักจะมุ่งไปอยู่ศูนย์กลางและสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณศูนย์กลางอำนาจอยู่แล้ว ไม่มีใครสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบริเวณชายขอบ จนกระทั่งช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พรมแดนชายขอบเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น และนั่นทำให้ความสนใจต่อยูเครนค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ที่จริงแล้วยูเครนเป็นจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายครั้ง ในสมัยหนึ่ง ยูเครนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ความรุนแรงและความโหดร้ายที่เกิดบนแผ่นดินยูเครนนั้นมโหฬารมากในระดับที่ทิโมธี ชไนเดอร์อธิบายไว้ในหนังสือ Bloodlands ว่ามันเกินกว่าที่จะพูดถึงได้ เพราะฉะนั้น เรื่องราวเหล่านี้เลยมีแนวโน้มที่จะถูกลืม สมัยสหภาพโซเวียตก็มีนโยบายลืมอดีต ทำลายความทรงจำ คือคุณต้องลืมโฮโลคอสต์ คุณต้องลืมโฮโลโดมอร์ (Holodomor – การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครนด้วยการปล่อยให้หิวโหย ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสตาลินช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 – ผู้เขียน) โลกตะวันตกเองก็ลืมประวัติศาสตร์ฉากนี้ไปเหมือนกัน

ถ้ามองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยูเครน เบลารุส และโปแลนด์คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความโศกสลดและความอันตรายมากที่สุดเท่าที่จะมีได้ คุณไม่มีทางที่จะหลีกหนีไปจากความรุนแรงได้เลย เพราะฉะนั้น เราเลยเห็นการร้อยเรียงเรื่องราวโศกนาฏกรรมให้กลายเป็นคำเตือนทางประวัติศาสตร์ อย่างที่มีการเขียนประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ยิวขึ้นมา แต่ยูเครนไม่สามารถเขียนประวัติศาสตร์แบบนั้นได้ เพราะหลังจากนั้นยูเครนต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของสหภาพโซเวียต เพิ่งจะช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี่เองที่เราเริ่มกลับไปค้นพบเรื่องราวในอดีตอย่างโฮโลโดมอร์หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และในชั่วขณะเดียวกันที่เรากำลังค้นพบประวัติศาสตร์เหล่านั้น ยูเครนก็ต้องเผชิญกับสงครามครั้งใหม่ ซึ่งนำมาสู่อีกระลอกของความรุนแรงและความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอันมหาศาล

สงครามได้เปลี่ยน ‘ดินแดนที่ยังไม่รู้จัก’ ไปอย่างไรบ้างไหม 

แทนที่สงครามจะเปลี่ยนยูเครน ผมคิดว่าสงครามได้เปิดพื้นที่ให้เรื่องราวของยูเครนมีที่ทางมากขึ้น เป็นที่เข้าใจมากขึ้น และน่าสนใจมากขึ้นมากกว่า เพราะยูเครนเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะกันของหลากหลายอารยธรรม และอย่างที่ผมเล่าไปว่ายูเครนคือพื้นที่ที่มีการปะทะกันระหว่างหลายจักรวรรดิ มีการช่วงชิงอำนาจระหว่างจักรวรรดิ มีจักรวรรดิหนึ่งที่ต้องพ่ายแพ้ไปและมีอีกจักรวรรดิหนึ่งขึ้นมามีอำนาจแทน อย่างถ้าย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 จะเห็นว่ามีทั้งจักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิฮับส์บวร์ก จักรวรรดิออตโตมันที่ต่อสู้ช่วงชิงกัน และยูเครนก็คือผลจากการปะทะกันระหว่างจักรวรรดิ นั่นทำให้ยูเครนได้รับอิทธิพลจากหลากหลายทาง มีความทรงจำซ้อนทับหลายชั้น

อีกอย่างคือ สงครามได้เปิดพื้นที่ให้เราเห็นประวัติศาสตร์ชีวิตของผู้คนธรรมดา ถ้าคุณลองไปอ่านชีวประวัติของคนยูเครน อย่างชีวประวัติที่เขียนขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 20 จะเห็นว่ามันคือเรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านช่วง Executed Renaissance จากนั้นก็ต้องเผชิญกับการปกครองที่กดขี่ภายใต้สตาลิน ถูกส่งไปที่ค่ายกูลัก แล้วก็อาจจะเสียชีวิต หรือถ้ารอดชีวิตกลับมาก็อาจจะอพยพไปอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐฯ นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของอีกหลายๆ ชีวิตที่ผ่านช่วงเวลาและเรื่องราวที่ยากลำบากมา

ผมว่าเราต้องหันกลับมาคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยูเครน ก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์มักจะเขียนแต่เรื่องราวของจักรวรรดิ รัฐ หรือมหาอำนาจ แต่มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องบันทึกประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อนและหลากหลายของผู้คนที่พยายามเอาชีวิตรอดจากความรุนแรง ผมว่านี่คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์ยูเครนพยายามจะบอก

RONALDO SCHEMIDT / AFP / Photo

เมื่อสักครู่เราคุยกันเรื่องความเป็นยูเครน ในทางความคิดและคุณค่า ความเป็นยูเครนเกี่ยวพันกับความเป็นยุโรปแค่ไหนกันแน่

ความเป็นยูเครนสัมพันธ์กับความเป็นยุโรป แต่ไม่ใช่ยุโรปแบบที่เป็นมหาอำนาจจักรวรรดิหรือยุโรปแห่งสงคราม ความเป็นยูเครนสัมพันธ์กับความเป็นยุโรปที่เกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มากกว่า คือยุโรปแห่งการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Europe of self-determination) ยุโรปแห่งสิทธิมนุษยชน และยุโรปแห่งเสรีนิยม – ไม่มากก็น้อย

จริงๆ จะบอกว่าเส้นทางประวัติศาสตร์ของยูเครนย้อนแย้งก็ได้ เพราะเราอยู่กับชุดคุณค่าเหล่านี้ในขณะที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดิรัสเซีย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นจักรวรรดิเลยและไม่ได้ยึดถือคุณค่าหรือความคิดทางการเมืองอะไรที่จะกลายไปเป็นชาติจักรวรรดิได้ เหมือนกับว่าเราตกไปอยู่ผิดฝั่ง แต่แน่นอนว่าความเป็นยูเครนมีอะไรหลายอย่างร่วมกันกับยุโรปหลังจักรวรรดิ

ในทางกลับกัน ผมคิดว่ามุมมองที่มองว่ายูเครนเป็นเพียงแค่ชายขอบค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้คนยูเครนมองว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนอยู่ตอนนี้คือใจกลางสำคัญที่จะกำหนดประวัติศาสตร์ยุโรป นั่นหมายความว่าเส้นเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปกำลังดำเนินอยู่ในยูเครน ผมคิดว่าคนยุโรปหลายๆ คนก็มองแบบนี้เหมือนกัน อย่างน้อยก็ในหมู่คนที่ติดตามวิเคราะห์สงคราม

น่าสนใจมากที่คุณบอกแบบนี้

ก่อนหน้านี้ยุโรปอยู่กับไอเดียที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว’ (the end of history) แต่ตอนนี้ประวัติศาสตร์ได้หวนคืนกลับมาอีกครั้ง และหวนกลับคืนมาผ่านยูเครน

ในแง่หนึ่ง ยูเครนก็จุดประกายอะไรบางอย่างให้ยุโรปเหมือนกัน ในเซนส์ที่ว่ายุโรปยังสำคัญ ประชาธิปไตยยังเป็นสิ่งสำคัญ ยุโรปยังแข็งแกร่งและไม่ได้อ่อนแออย่างที่ยุโรปคิดก่อนหน้านั้น และคุณค่าแบบยุโรปที่ให้ความสำคัญกับสันติภาพ คุณค่าของเกียรติยศ (dignity) คุณค่าสิทธิมนุษยชนยังเป็นคุณค่าที่น่าถวิลหา และจะยังเป็นที่ถวิลหาต่อไปสำหรับผู้คนทั่วโลก เพราะมันไม่ใช่คุณค่าที่มาพร้อมกับการครอบงำและความรุนแรง

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนอยู่ตอนนี้คือใจกลางสำคัญที่จะกำหนดประวัติศาสตร์ยุโรป

ก่อนหน้านี้ยุโรปอยู่กับไอเดียที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว’ แต่ตอนนี้ประวัติศาสตร์ได้หวนคืนกลับมาอีกครั้ง และหวนกลับคืนมาผ่านยูเครน

หันกลับมามองรัสเซีย ดูเหมือนว่าระบอบปูตินจะยังคงมืดบอดต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมาและความจริงที่ว่ายูเครนคือประเทศเอกราช ทำไมรัสเซียยังคงตกหล่มอยู่ในอุดมการณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาและไม่สามารถสลัดภาพลวงตาออกไปได้

ปัญหาจริงๆ คือสงครามครั้งนี้มันไม่เมกเซนส์เลยใช่ไหม? แน่นอนว่ายูเครนต้องเผชิญต่อความเจ็บปวดและความสูญเสียอย่างมาก แต่ก็มีทหารรัสเซียเหมือนกันที่ต้องเสียชีวิตจากสงคราม ตอนนี้ยอดทหารฝ่ายรัสเซียที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 100,000 นาย นั่นหมายความว่ารัสเซียกำลังฆ่าประชาชนของตนเองด้วยการส่งไปตายที่แนวหน้าสนามรบ

ผมมองว่าวิธีคิดของรัสเซียผูกติดอยู่กับ cult of violence และที่ผ่านมารัสเซียตกอยู่ในความรู้สึกที่ว่า รัสเซียถูกโลกตะวันตกดูแคลน มองข้าม ซึ่งมันบ้าบอมาก เพราะรัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจที่ใครๆ ต่างก็มองข้ามไม่ได้และอยากจะมีความสัมพันธ์ด้วย

อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้เป็นผลจากการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต เพราะรัสเซียเชื่อว่าสหภาพโซเวียตล่มสลายลงจากทฤษฎีสมคบคิดของสหรัฐฯ และยุโรป ไม่ใช่เพราะว่าผุกร่อนจากปัญหาภายในสหภาพโซเวียตเอง เพราะฉะนั้น รัสเซียเลยพยายามจะเอาคืนยุโรปและสหรัฐฯ ด้วยวิธีการเดียวกัน เช่นผ่านสื่อหรือภาคประชาสังคม ฯลฯ และพยายามจะแสดงให้โลกเห็นว่า จริงๆ รัสเซียสามารถทำลายกฎเกณฑ์ที่รัสเซียไม่พอใจได้โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ

แรงจูงใจของรัสเซียจึงเป็นการสร้างความหวาดกลัว จะบอกว่านี่เป็นคุณลักษณะทั่วไปของเผด็จการ (despotism) ก็ว่าได้ ถ้าคุณอ่านทฤษฎีการเมืองคลาสสิกอย่างงานของมองเตสกิเออ จะเห็นว่ามีการนิยามมาเป็นเวลานานแล้วว่าเผด็จการปกครองและครองอำนาจด้วยความหวาดกลัว แผ่ความหวาดกลัวออกไปทั้งภายในและภายนอก และวิธีการเดียวที่จะสร้างความหวาดกลัวได้คือการก่อความรุนแรง ถ้าก่อความรุนแรงอันร้ายแรงได้ ทุกคนก็จะหวาดกลัว เพราะฉะนั้นรัสเซียเลยเชื่อว่าหากแสดงให้โลกเห็นว่ารัสเซียก่อความรุนแรงในยูเครนได้ร้ายแรงแค่ไหน ทั่วโลกจะหวาดกลัว เกรงกลัวรัสเซีย และจะไม่ดูแคลนรัสเซียอีกต่อไป แต่รัสเซียคิดผิด เพราะมีประเทศที่ต่อกรและต่อต้านกับความรุนแรงที่รัสเซียมอบให้ได้

อีกอย่างหนึ่งคือ สังคมรัสเซียมีประวัติศาสตร์ในการเพิกเฉยต่อความจริงมาอย่างยาวนาน อาจจะมีบางส่วนของสังคมรัสเซียที่เริ่มเห็นความเป็นจริงแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะใช้วิจารณญาณพิจารณาความเป็นจริง ไม่อยากจะพิจารณา หรือเพิกเฉยต่อความเป็นจริง กรณีที่เห็นได้ชัดคือเวลาที่คนยูเครนส่งภาพถ่ายหรือวิดีโอสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนไปให้ญาติที่รัสเซียดู ญาติจะตอบกลับมาว่ารูปภาพวิดีโอเหล่านี้เป็นของปลอมที่ผ่านการตัดต่อมาแล้ว นี่เป็นปัญหาเลย ผมว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ยากลำบากสำหรับมนุษยชาติแล้วที่ภาพถ่ายจริงถูกบอกปัดว่าเป็นของปลอม

หากอุดมการณ์จักรวรรดินิยมของรัสเซียคือเหตุที่ทำให้รัสเซียก่อสงครามและขยาย ‘โลกรัสเซีย’ ไปยังบริเวณเขตอิทธิพล หากจะหยุดรัสเซียไม่ให้ก้าวร้าวต่อไปในอนาคต ทางหนึ่งคืออาจจะต้องมีการสลายแนวคิดทางการเมืองเช่นนี้ในรัสเซีย คำถามคือ มันเป็นไปได้หรือเปล่า หรือว่าอุดมการณ์แบบนี้แฝงฝังอยู่ในสังคมรัสเซียจนไม่สามารถเปลี่ยนได้อีกต่อไป

ยอมรับตรงๆ ว่าตอบยากมาก ผมคิดว่าในวัฒนธรรมรัสเซียน่าจะต้องมีอะไรสักอย่างที่สามารถใช้เป็นฐานเพื่อเปิดหาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ปราศจากแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมได้ รัสเซียควรจะต้องหาความคิดทางการเมืองแบบอื่น ไม่ใช่แนวคิดที่มีอยู่แล้ว เพราะฐานความคิดทางการเมืองของรัสเซียที่มาจากวรรณกรรมคลาสสิกของ Dostoyevsky คือรากของแนวคิดจักรวรรดินิยมเลย รัสเซียต้องเปิดหาแนวเล่าประวัติศาสตร์หรือแนวเล่าเรื่องราวในสังคมใหม่ๆ ที่ไม่อิงกับมุมมองจักรวรรดินิยม เพราะเรื่องราวที่ผลิตซ้ำในสังคมรัสเซียมีแต่การชูจักวรรดินิยมหรือจินตภาพทางการเมืองที่รัสเซียเป็นผู้ครอบงำอำนาจในยุโรปตะวันออกและยูเรเชีย อีกอย่างหนึ่งคือ รัสเซียต้องคิดหาทางที่จะสลายความเป็นจักรรวรรดินิยมของตนเองให้ได้ ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนผ่านรัสเซียให้ไปสู่การเป็นรัฐชาติได้อย่างไร หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ทะเยอทะยานที่จะขยายอำนาจ

เราต้องบอกให้คนรัสเซียเข้าใจว่า จริงๆ แล้วจักรวรรดินิยมมีแต่จะเป็นผลร้ายต่อรัสเซียเอง เพราะจักรวรรดินิยมคิดแต่จะขยายอำนาจ และการขยายอำนาจเองไม่เป็นผลดีต่อพื้นที่นอกศูนย์กลางอำนาจเลย เพราะไม่มีใครสนใจจะพัฒนาเมืองเล็กๆ หมู่บ้านเล็กๆ มีแต่จะปล่อยให้จมปลักอยู่กับความยากจนข้นแค้น สงครามครั้งนี้เองก็ไม่เป็นผลดีต่อคนรัสเซียเลย เพราะสงครามก็ฆ่าคนรัสเซียอย่างไร้ความปราณีเหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแค่คนยูเครนเท่านั้น

การพ่ายแพ้สงครามจะเป็นผลดีต่อรัสเซียเอง เพราะประวัติศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่า รัสเซียจะปฏิรูปในช่วงเวลาหลังจากแพ้สงคราม อย่างในช่วงหลังสงครามไครเมีย สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น หรือสงครามในอัฟกานิสถาน การพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การปฏิรูปและการพัฒนาให้ชีวิตของพลเมืองดีขึ้น แต่ในสงครามที่รัสเซียชนะ อย่างมหาสงครามเหนือ (The Great Northern War) ต่อสวีเดนในศตวรรษที่ 18 สงครามนโปเลียน หรือสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเหล่านี้กลับกลืนกินรัสเซีย และทำให้ภายในรัสเซียตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน

สุดท้าย คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้มีความหมายอย่างไรต่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกเผชิญวิกฤตประชาธิปไตย

ผมคิดว่าเราต้องเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับองค์ประกอบความเป็นจักรวรรดินิยมที่ยังหลงเหลืออยู่ในประชาธิปไตยของโลกตะวันตกเอง อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสงครามอิรักในปี 2003 ชัดเจนมากว่านั่นคือสงครามจักรวรรดิ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทั่วโลกสามารถพูดคุยกันเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผย เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพูดเรื่องแบบนี้ในรัสเซีย

จริงๆ ผมว่าประชาธิปไตยนั้นแข็งแกร่ง และสามารถเอาชนะเผด็จการอำนาจนิยมได้ เพราะยูเครนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แก่นของประชาธิปไตยคือความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล ที่ปัจเจกบุคคลเข้าใจว่าพลังที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างนั้นขึ้นอยู่กับตนเอง แต่สังคมอำนาจนิยมผลิตสร้างพลเมืองที่ปราศจากความรับผิดชอบ โยนความรับผิดชอบไปให้ผู้นำเผด็จการ และทำตามแต่คำสั่งโดยที่ไม่ได้สนใจอะไรเลย เพราะฉะนั้นผมหวังว่าการต่อต้านของยูเครนจะเป็นแรงบันดาลใจให้ขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในโลกตะวันตกเท่านั้น และแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วชาติที่อ่อนแอกว่าก็สามารถเอาชนะ หรืออย่างน้อยก็ต่อต้าน ต้านทานชาติที่แข็งแกร่งกว่าได้

อีกอย่างหนึ่งคือ ผมคิดว่าตัวอย่างจากยูเครนบอกแก่ผู้คนทั่วโลกที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเสียง หรือรู้สึกว่าเสียงของตัวเองไม่ได้รับการรับฟังว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ คุณสามารถออกมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของคุณที่โลกยังไม่รู้ หรือเรื่องราวที่ไม่ได้ผลิตซ้ำเรื่องราวที่ไหลเวียนอยู่แล้วในโลกได้ หวังว่าเรื่องราวจากยูเครนจะจุดประกายให้ผู้คนออกมาเล่าเรื่องราวของตนเองและแสดงให้เห็นว่าตนเองแข็งแกร่งขนาดไหน

รัสเซียต้องคิดหาทางที่จะสลายความเป็นจักรรวรรดินิยมของตนเองให้ได้ ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนผ่านรัสเซียให้ไปสู่การเป็นรัฐชาติได้อย่างไร

Valentyn Kuzan / Photo

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save