fbpx

“ในวันที่เราพึ่งตัวเองไม่ไหว ก็อยากให้รัฐเป็นที่พึ่ง” เสียงจากแรงงานนอกระบบผู้ถูกมองข้ามถึงว่าที่รัฐบาล

นโยบายแรงงาน เป็นหนึ่งในนโยบายที่สาธารณชนให้ความสนใจมากที่สุดในสนามเลือกตั้ง 2566 นี้ พิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดและสงครามที่ถูกซ้ำเติมด้วยการขาดการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพจากรัฐ กดทับชีวิตผู้ใช้แรงงานไทยไม่ให้ได้ลืมตาอ้าปาก สถานการณ์แย่ยิ่งกว่าในกลุ่ม ‘แรงงานนอกระบบ’ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากการทำงานและขาดหลักประกันในชีวิต วิกฤตซ้อนวิฤต ฉายภาพให้เห็นว่าชีวิตของแรงงานนอกระบบนั้นเปราะบางเพียงใด แม้จะเรียกได้ว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่เคยเป็นอิสระจากความขัดสนและยังล่องหนในนโยบายรัฐไทย

การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 37.7 ล้านคน พบว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบ 19.6 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าแรงงานในระบบ นั่นหมายความว่าแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไม่มีสวัสดิการทางสังคมรองรับ ตั้งแต่ชาวนา แม่ค้า-พ่อค้ารถเข็น วินมอเตอร์ไซค์ ช่างซ่อมเบ็ดเตล็ด ฯลฯ ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ทำให้ชีวิตประจำวันของคนทุกระดับชั้นหมุนไปข้างหน้าได้ แต่กลับได้รับค่าตอบแทนสวนทางกับราคาข้าวของที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการศึกษาของ TDRI ชี้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 7,500 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะในมหานครกรุงเทพฯ เมืองที่แรงงานหลักล้านต้องเข้ามายัดทะนานกันอาศัย แลกความสะดวกสบายให้อยู่ได้ในเชิงเศรษฐกิจ

101 พูดคุยกับแรงงานนอกระบบ 4 อาชีพ 4 ช่วงวัย ถึงชีวิตอัน ‘ขัดสน เปราะบาง ไร้หลักประกัน’ ของการเป็นแรงงานนอกระบบ ในโอกาสที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา พวกเขาเหล่านี้อยากสะท้อนอะไรไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ไล่เรียงตั้งแต่ ‘หนึ่ง’ first jobber ฟรีแลนซ์กราฟิก ผู้ฝันจะเห็นสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง, ‘เสก’ (นามสมมติ) นักดนตรีจากเกาะพะงันที่อยากให้รัฐสนับสนุนทุกความฝันของประชาชน, ‘แดง’ (นามสมมติ) แม่บ้านที่ทำงานหนักเพราะไม่หวังพึ่งรัฐในตอนแก่ตัว และ ‘ป้าแจ่ม’ (นามสมมติ) หมอนวดผู้อยากให้รัฐเป็นที่พึ่งในวันชราภาพ ในวันที่แรงงานนอกระบบยังถูกมองข้าม เรื่องราวของพวกเขาย้ำเตือนว่ารัฐอย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หนึ่ง-เมธัส แก้วดำ (23 ปี) – กราฟิกดีไซเนอร์

“เราเป็นคนเชียงใหม่ เข้ามาเรียนนิเทศฯ ที่กรุงเทพฯ หลังเรียนจบก็เป็นฟรีแลนซ์มาหนึ่งปีกว่า หลักๆ เราเป็นผู้ช่วยศิลปินและทำงานคอลลาจ (collage) แล้วก็ไม่ได้ทำแค่นี้นะ เราขายของ เป็นบาร์เทนเดอร์ หมอดู แล้วก็ทำงานพาร์ตไทม์อื่นๆ เพิ่มด้วย ฟรีแลนซ์มันทำงานเดียวไม่ได้หรอก โดยเฉพาะงานกราฟิก รับงานชิ้นเดียวไม่พอจ่ายค่ากายภาพหลังให้เราแน่ๆ เราต้องทำงานอื่นเพิ่มด้วยเพื่อจ่ายค่ากายภาพหลังกับซื้อประกันสุขภาพ สำหรับเรา ทุกงานกราฟิกที่รับมาต้องสามารถจ่ายค่าช็อตไฟฟ้าที่หลังให้เราได้ ตอนคิดราคาแต่ละงานเราคิดเผื่อค่าพวกนี้ด้วย เพราะเราไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม พูดง่ายๆ คือเราทำงานหาเงินเพื่อมาเตรียมรักษาตัวเองจากการทำงานอีกที”

“เราเคยทำงานประจำ แต่ทำได้ประมาณ 2 อาทิตย์ก็ไม่ไหวแล้ว เหมือนจะตายเลยกับการตื่นมา อยู่หน้าคอมพ์แล้วนั่งทำภาพไปเรื่อยๆ ตอนเราจะออกจากงานประจำ ตำแหน่งกราฟิกดีไซน์ เราก็หวังดี อยากหาคนมาแทนให้เขา แต่ประหลาดมากพอเราถามเพื่อนสายกราฟิก ไม่มีใครอยากทำงานประจำเลย ทุกคนบอกว่ากราฟิกทำเป็นงานประจำไม่ได้ พอเป็นงานที่ใช้ภาพ มันใช้หัวหนักมาก burn out ง่ายมาก อีกอย่างการทำงานกราฟิกในประเทศนี้ไม่คุ้มค่าตัวหรอก การทำงานกราฟิกต้องอยู่หน้าคอมพ์ท่าเดียวเป็นเวลานาน ส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวแน่ๆ เราค่อนข้างกังวลเรื่องนั้น ถ้าเราจะต้องแลกสุขภาพขนาดนั้นมันก็ควรได้ค่าตอบแทนที่มารักษาตรงนี้ได้”

“พอมาเป็นฟรีแลนซ์ พูดเลยว่ารายได้ไม่พอหรอก ค่ากิน ค่าอยู่ในกรุงเทพไม่ใช่น้อย เรายังอยู่หอเดียวกับสมัยมหา’ ลัยเพราะค่าเช่าถูก ทุกวันนี้มีใช้แบบเดือนชนเดือนก็ถือว่าดีแล้ว งานฟรีแลนซ์มันขึ้นๆ ลงๆ สูง อีกอย่างคือเราไม่อยากลดราคาให้ใคร เพราะเป็นการกดราคาตลาด เรารู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญมากกับแรงงานคนอื่นในวงการนี้ เราไม่อยากไปกดราคาเด็กที่เพิ่งเข้ามา เพราะเราก็เคยอยู่จุดที่โดนกดราคามาก่อน รู้ดีว่ามันไม่แฟร์ ประเทศนี้มีปัญหาตรงที่ทุกคนมองธุรกิจเป็นการลดต้นทุนมากกว่าการเพิ่มกำไร นานๆ ทีเราจะเจอคนที่ไม่กดราคา”

“การหาเสียงเลือกตั้งช่วงนี้ เราสนใจนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนะ แต่ขณะเดียวกันเรามองว่ามันเป็นเรื่องที่พูดหลังจากนี้ก็ได้ถ้าสวัสดิการดี สิ่งที่เราสนใจมากที่สุดตอนนี้คือเรื่องสหภาพแรงงาน เราว่ามันสำคัญ เพราะเหตุผลที่ค่าแรงไม่ขึ้น แรงงานไม่มีสวัสดิการ แน่นอนส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐ อีกส่วนใหญ่ๆ คือเราไม่เข้าใจถึงอำนาจของเรามากพอในการเป็นฟรีแลนซ์ ถ้าเรามีสหภาพฟรีแลนซ์ หรือย่อยมาเป็นสหภาพฟรีแลนซ์กราฟิก เรารู้สึกว่าเราพูดถึงเรื่องพวกนี้ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราก็ทำงานไม่ต่างกับพนักงานประจำ”

“การมีสหภาพจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเข้าสู่วงการฟรีแลนซ์ ปัญหาแรกที่ทุกคนเจอคือไม่รู้จะกำหนดราคางานยังไง ดังนั้นเลยคิดแบบต่ำที่สุด เพราะมันไม่มีพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยน ร่วมกันกำหนดราคาไง เราเลยต้องยอมกดตัวเองให้มีงานทำ พอทำมาได้สักพักก็อาจจะมีกรณีที่โดนนายจ้างเบี้ยวค่ามัดจำหรือไม่จ่ายค่างานเลย เขาจะบอกว่าก็ไปฟ้องเอาสิ โอ้โห สมมติหนึ่งงานเราได้ 20,000 บาท เอามาจ้างทนายก็หมดแล้ว ไม่นับว่ามีเรื่องที่นายจ้างกดดันให้เราทำงานเกินเวลาหรือโทรตามงานตอนเที่ยงคืน บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันแบบนี้ สหภาพแรงงานจะช่วยปิดช่องโหว่ได้”

“ฝากถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้ผลักดันการจัดตั้งสหภาพแรงงานนอกระบบในทุกๆ อาชีพเลย เวลาหาเสียงว่าพวกเราทุกคนเท่ากัน ก็ขอให้เป็นพวกเราทุกคนจริงๆ ไม่ใช่พวกเราเพียงหยิบมือ ที่หมายถึงนายทุนหรือชนชั้นกลางในเมือง แรงงานในประเทศนี้ยังไร้สวัสดิการ-ไร้หลักประกันหลายล้านคน ช่วยเอื้อมมือหาพวกเขาให้ทั่วถึงด้วย เรามีความหวังนะที่เห็นหลายพรรคพูดถึงแรงงานนอกระบบ พูดถึงสหภาพแรงงาน ถ้าได้เข้าสภาแล้วก็อย่าลืมอุดมการณ์และคำสัญญาเหล่านี้ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงด้วย”

“อยากส่งเสียงไปถึงพี่น้องแรงงานทุกคนด้วยว่าการต่อสู้ของเรามันยิ่งใหญ่มาก คงไม่ได้ใช้เวลา 1-2 ปีแล้วจะสำเร็จ แต่เมื่อไหร่ที่เรารวมกัน ผลักดันข้อเรียกร้องให้มันดำเนินไปด้วยกัน เราจะได้ในสิ่งที่ต้องการแน่นอน ดังนั้นอย่ามองข้ามสหภาพแรงงาน อย่ามองมองว่าตัวเองสู้อยู่คนเดียว เชื่อว่าถ้าเราสร้างอำนาจต่อรองให้แข็งแกร่ง เราจะหายใจหายคอได้ดีขึ้นแน่นอน”

เสก (นามสมมติ, 32 ปี) – นักดนตรี

“ผมเรียนจบ ปวส. ทำงานประจำได้ไม่นานก็ออกเพราะไม่ชอบชีวิตแบบนั้น ผมชอบเล่นดนตรีมาโดยตลอด เพิ่งมาอยู่เกาะพะงันแล้วทำเป็นอาชีพได้ประมาณ 4 ปี แต่ไม่ได้เล่นดนตรีอย่างเดียว เพราะงานไม่ได้มีมาเรื่อยๆ ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องทำอาชีพเดียวแล้วจะพอกินพอใช้ ทำเพราะเป็นสิ่งที่ชอบ เต็มใจที่จะทำ ผมทำงานอย่างอื่นด้วย เป็นเด็กบาร์ เป็นคนสวน รับจ้างเขียนแบบก่อสร้าง ล่าสุดก็เพิ่งไปลองคุมงานก่อสร้างมา น้อยคนนะครับจะทำอาชีพนักดนตรีอย่างเดียวแล้วอยู่ได้”

“ผมใช้เงินเก็บทั้งชีวิตมาเปิดคาเฟ่ที่เกาะ เปิดแล้วก็เจอโควิดพอดี แต่ตอนนั้นไม่สนมาตรการอะไรแล้ว เราเปิดร้านเหมือนเดิม ถึงจะไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ยังมีกลุ่มเพื่อนในเกาะที่แวะเวียนมาอุดหนุนพอให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ พอโควิดเริ่มซา คนมาเที่ยวเยอะขึ้น แต่ผมก็เปิดๆ ปิดๆ ร้านอยู่ดี เพราะต้องสลับไปทำงานอย่างอื่นเพื่อหาเงิน บัตรคนจนหรือเงินช่วยเหลือผมก็ไม่เคยได้ ทุกวันนี้ก็อยู่รอดได้ด้วยตัวเองทั้งนั้น”

“บอกตามตรงว่าไม่เคยคิดถึงชีวิตในระยะยาวขนาดนั้น เอาแค่มีชีวิตรอดไปวันๆ ให้ได้ก่อน ผมว่าผมใช้ชีวิตเพื่อตามหาจิตวิญญาณนะ ชอบเล่นดนตรีก็เลยมาเป็นนักดนตรี แต่ลึกๆ ก็คิดแหละว่าแก่ตัวไปเราจะอยู่ยังไง ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้รัฐสนับสนุนความฝันของประชาชน ไม่ต้องมากังวลว่าถ้าเลือกทำสิ่งที่ชอบแล้วจะไม่มีกิน”

“ผมติดตามการเมืองอยู่บ้าง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ เพราะมันสำคัญกับการใช้ชีวิตของประชาชน ผมสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ ด้วยความที่เป็นแรงงานอิสระ และทำอาชีพที่คนว่ากันว่าไส้แห้งแบบนี้ มันจะดีมากถ้ารัฐสร้างฟูกไว้รองรับประชาชนให้ลองถูกลองผิดตามสิ่งที่ตัวเองฝัน ผมว่าคนไทยมีศักยภาพ มีความสามารถ แต่หลายคนปลดปล่อยศักยภาพหรือทำสิ่งที่ตัวเองชอบไม่ได้เพราะไม่กล้าเสี่ยง”

“สังคมที่เจริญแล้วเขาไม่มาจำแนกคนด้วยวุฒิการศึกษาหรอก ถ้าไม่ได้เรียนสูงก็ไม่มีสิทธิจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหรอ? ผมอยากให้รัฐมีนโยบายที่ช่วยประชาชนวางแผนการเงิน โดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพอิสระ มักจะโดนมองข้ามเสมอ เช่น ถ้าอยากเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากไหน ควรจะเริ่มยังไง ไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นไหน เรียนจบอะไรมา ประชาชนทุกคนมีสิทธิจะเข้าถึงข้อมูลพวกนี้นะ ไม่ใช่ว่าคุณเรียนมาน้อยก็อยู่แบบยอมจำนนไปซะ หรือถ้าทำอาชีพอิสระก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในทางที่ตัวเองเลือกสิ ไม่มีใครอยากอยู่ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง แถมรัฐยังไม่เหลียวแลหรอก”

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นทันตา หรือได้เห็นในสมัยผม แต่รุ่นถัดจากนี้ รุ่นลูก หลานเราควรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ ถ้าสวัสดิการดีคงไม่มีคำว่าทำอาชีพนั้นนี้แล้วไส้แห้ง”

แดง (นามสมมติ, 47 ปี) – แม่บ้าน

“พี่เป็นคนโคราช พอเรียนจบ ปวส. ก็ทำอยู่หลายอาชีพ ทำงานประจำล่าสุดคืองานธุรการเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นเงินเดือน 8,000 บาท ต้องเลี้ยงลูกและดูแลแม่ด้วย ไหนจะค่ากิน ค่าเช่าบ้าน มันไม่พอหรอก กรุงเทพไม่เคยมีอะไรถูกอยู่แล้ว พอออกจากงานประจำก็ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เพิ่งมาเป็นแม่บ้านในแอปฯ ตอนปี 2562 เป็นแม่บ้านรายได้ดีกว่า ถ้าขยันรับงานเงินก็เข้าเยอะ แต่ก็ไม่พอใช้อยู่ดี ยิ่งตอนเจอโควิด อาชีพเรากระทบมาก เพราะขึ้นคอนโด-เข้าหมู่บ้านไปทำความสะอาดให้ลูกค้าไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้ามาเลย รอดมาได้เพราะอาศัยยืมเงินจากคนรู้จักมาหมุนก่อน ตอนนั้นรู้เลยว่าอะไรๆ มันไม่แน่นอน”

“พอรับงานผ่านแอปฯ จนลูกบ้านคุ้นเคยกับเรา เชื่อฝีมือเรา เขาก็จะจ้างเราโดยตรงแบบไม่ผ่านแอปฯ ถ้าจ้างผ่านแอปฯ จะโดนหักไป 15% เลยนะ ยังไม่รวมภาษีที่ลูกบ้านและเราต้องจ่ายอีก เงินไม่ได้เหลือเยอะมาก หลังๆ มาก็เลยรับงานเองดีกว่า ราคาที่กำหนดเองเรารวมค่าอุปกรณ์กับค่าน้ำมันมอเตอร์ไซค์หมดแล้ว เราไม่เคยจะกดราคาตัวเองนะ เราทำงานเหนื่อยๆ ก็อยากได้ค่าตอบแทนที่มันคุ้ม”

“พองานเราอยู่ตัวแล้วก็แบ่งงานให้เพื่อนๆ น้องๆ ที่รู้จักกันบ้าง บางคนโดนพักงานจากแอปฯ เพราะลูกค้ากดรีวิวให้ดาวเดียว มีคนรู้จักพี่ พอทำงานเสร็จลูกค้าก็ชมว่าเรียบร้อยดี พอกลับบ้านไป มาเจอว่าลูกค้ากดให้ดาวเดียว แจ้งแอดมินเขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ อะไรแบบนี้มีให้เห็นบ่อยมาก มีแต่เราที่ช่วยกันเองนี่แหละ พี่โชคดีที่เจอลูกค้าใจดีตลอด แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเจอแบบพี่นะ”

“วางแผนไว้ว่าจะทำอาชีพนี้อีกสักสิบปี ในตอนนี้ที่ร่างกายยังทำไหวอยู่ก็เลยรับงานมากที่สุดเท่าที่จะรับได้ อย่างพี่เองหนึ่งวันรับได้เต็มที่ก็สามงาน ในหนึ่งอาทิตย์พี่จะหาวันพักให้ตัวเองหนึ่งวัน เพราะทำงานบ้านนานๆ บางทีบ้านหลังใหญ่เราต้องขัดพื้น ต้องออกแรงเยอะ บางทีก็อยู่ท่าเดียวนานๆ มันมีผลกับสุขภาพอยู่แล้ว แต่ที่ต้องรับงานถี่ๆ ขนาดนี้เพราะเราต้องเก็บเงินไว้เลี้ยงตัวเองตอนแก่ เราไม่ได้มีบำเหน็จบำนาญแบบคนทำงานในระบบไง อีกอย่างเราไม่อยากคาดหวังว่าลูกจะต้องเลี้ยง สมัยนี้เงินเดือน ป.ตรีหมื่นห้ามันจะไปพออะไร เรายังเลี้ยงแม่ตัวเองแทบไม่ไหวเลย ก็ไม่อยากคาดหวังว่าลูกต้องส่งเงินให้”

“ให้คาดหวังจากรัฐบาลยิ่งแล้วใหญ่ นโยบายช่วยเหลือประชาชนทุกวันนี้ไม่ได้เข้าใจสภาพความเป็นจริงเลย อย่างแม่พี่ได้เงินผู้สูงอายุ 700 บาทต่อเดือน ใช้ซื้อข้าวสารหนึ่งกระสอบก็หมดไปสี่ร้อยแล้ว เหลือสามร้อยจะกินอะไรได้ล่ะ หรือนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มันก็ไม่ได้ฟรีจริง ลูกพี่เรียนโรงเรียนรัฐแต่ก็ยังต้องจ่ายค่าเทอม 5,000 บาท ไหนจะค่าชุดนักเรียน อย่างชุดลูกเสือ ซื้อครบเซ็ตหมดไปพันกว่าบาทเลยนะ นึกดูแล้วตอนนี้มีแต่บัตรทองนี่แหละที่ยังช่วยได้อยู่ ประกันสังคมมาตรา 40 ที่คนทำงานอิสระสมัครได้พี่ก็ไม่ได้สมัคร เพราะคิดว่าสิทธิประโยชน์ไม่คุ้ม”

“โครงการบัตรคนจนพี่ก็สมัครนะ แต่ไม่ได้ เพราะเงินเข้าบัญชีเรื่อยๆ แต่ความเป็นจริง เข้ามาแล้วมันก็ออก พี่มีค่าใช้จ่ายสารพัดในแต่ละเดือน ต้องดูแลครอบครัวอีก 4 คน พี่ไม่รู้นะว่าคำว่าจนของเขามันเป็นแบบไหน แต่ชีวิตแรงงานอิสระแบบพี่มันอยู่กับความไม่แน่นอนในทุกทาง วันดีคืนดีมีโรคระบาดมาอีก ทำงานไม่ได้ ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าเงินเก็บที่มีอยู่มันจะพอให้รอดไปอีกหนไหม”

“เลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ บอกตรงๆ พี่ไม่คาดหวังความเปลี่ยนแปลงเลย จะหาเสียงไว้กี่นโยบาย พอได้เข้าสภา มันเกิดขึ้นจริงกี่นโยบายเชียว ยิ่งเราอยู่นอกระบบ รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจขนาดนั้น ไม่เคยมีใครมาถาม มาสำรวจว่าเราขาดอะไร ค่าแรงพอค่าใช้จ่ายไหม แล้วคิดดูว่ายังมีคนแย่กว่าเราอีกเท่าไหร่ คนหาเช้ากินค่ำนี่เคยอยู่ในสายตารัฐไหม นโยบายแรงงานควรมองให้ไกลกว่าตัวแรงงานคนเดียว คนเราทำงานเพื่อดูแลคนที่เรารักทั้งนั้น พี่รู้ว่าประเทศเรามีหลายปัญหาสะสม คงแก้ไม่ได้ในวันสองวันหรอก อย่างน้อยก็มาคลุกคลีกับคนทำงานแบบเราดูบ้างแล้วจะรู้ว่าชีวิตจริงมันเป็นยังไง”

ป้าแจ่ม (นามสมมติ, 71 ปี) – หมอนวด

“ป้าเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ตอนอายุ 20 กว่าๆ สามีเสีย ต้องเลี้ยงลูก 4 คนตัวคนเดียว ตัวเองก็จบแค่ ป.4 ไม่รู้จะไปทำอะไรได้ เลยเลือกไปเรียนนวดแผนไทยที่วัดปรินายกฯ ป้าเป็นหมอนวดอิสระมาโดยตลอด ไม่เคยทำอยู่ตามร้าน อาศัยคนบอกปากต่อปาก ตอนนี้อายุ 71 ปีก็ยังทำอยู่ เพราะต้องหาเลี้ยงตัวเอง ช่วยดูแลหลานด้วย”

“หมอนวดมันเป็นอาชีพต้องคำสาป ถ้าหยุดรับงานเมื่อไหร่ก็ไม่มีกิน ป้าอายุ 71 ปีแล้วก็ยังแต่งหน้าทาปากตลอดนะเวลาออกไปนวด พยายามทำตัวให้สดใสแล้วก็รักษาสุขภาพอยู่ตลอด จะได้ทำงานได้ แต่ร่างกายมันก็ไปตามวัย เดือนก่อนเพิ่งล้มมาด้วย แล้วเดี๋ยวนี้เดินเหินลำบาก ขึ้นรถเมล์ไม่ค่อยได้แล้วเพราะมันสูง ก็ต้องนั่งแท็กซี่ไป ถ้าต้องไปนวดไกลก็คิด 500-800 บาท แต่ก็มีหลายคนที่ไม่คิดแพงเพราะเราอยากช่วย มีคนหนึ่งเป็นอัมพฤกษ์ ป้าไม่คิดเงินเลย รวมๆ เงินที่ได้หักลบค่าเดินทางก็เหลือไม่มากหรอก แต่ดีกว่าไม่มีเลย”

“แล้วอยู่กรุงเทพฯ นะ ค่ากิน ค่าอยู่มันแพงมาก หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ ป้าไปๆ มาๆ ระหว่างอ่างทอง (บ้านสามี) กับกรุงเทพฯ เพราะอยู่กรุงเทพฯ ตลอดไม่ไหว อยู่บ้านนอกยังพอได้ปลูกผักกิน บางทีก็กินอาหารแบ่งมาจากวัด แต่จะไม่มากรุงเทพฯ เลยก็ไม่ได้ เพราะลูกค้าเราอยู่ที่นี่ แต่ป้าก็ปรับตัวอยู่นะ ตอนนี้ให้หลานช่วยทำป้ายติดหน้าหมู่บ้านที่อ่างทองว่ารับนวดน้ำมัน ถ้ามีคนมานวดเยอะขึ้นก็คงไม่เข้ากรุงเทพฯ”

“ส่วนหนึ่งที่มากรุงเทพฯ บ่อยๆ ก็เพราะเป็นห่วงหลานด้วย บ้านที่เราคุยกันอยู่ก็มาขอแบ่งเขาเช่าห้อง หลานป้าเขาหาเงินส่งตัวเองเรียน บ้านเขาก็เช่าเอง ตอนนี้หลานเพิ่งจบ ปวส. ป้าก็สบายใจแล้วล่ะ ก่อนหน้านี้ป้าหาเงินมาได้ก็เอามาช่วยหลานนี่แหละ ส่วนลูกเราก็ไม่อยากรบกวนเขาหรอก ทุกคนก็ปากกัดตีนถีบเหมือนกัน ป้าส่งลูกเรียนได้จนจบ ม.3 เขาก็หางานทำ เงินเดือนก็แทบไม่พอใช้ ป้าไม่ได้เรียกร้องให้เขาส่งเงินมาหรอก เรายังพอหาได้ แล้วก็หามาช่วยเลี้ยงหลานด้วย อยากให้เขาได้เรียนสูงๆ”

“พูดถึงเบี้ยคนชรา ป้าได้ 700 บาทต่อเดือนเพราะอายุขึ้นเลขเจ็ดแล้ว เงินเท่านี้จ่ายได้แค่ค่าน้ำค่าไฟนะ ป้าเลยยังต้องเป็นหมอนวดอยู่ไง เพราะเราต้องกิน ต้องใช้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้ในจำนวนที่มันสมกับราคาของทุกวันนี้ ถามว่าป้ามีความสุขกับการเป็นหมอนวดไหม ป้ารักอาชีพนี้นะ เพราะได้ช่วยคนให้บรรเทาความเจ็บปวด ไม่งั้นไม่ทำมาสี่สิบกว่าปีหรอก แต่ด้วยเราอยู่วัยนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากพัก”

“ป้าเป็นเบาหวานกับความดัน ตอนนี้ก็ใช้สิทธิบัตรทองอยู่ที่อ่างทอง ต้องไปรับยา เจาะเลือดทุกสามเดือน ที่โรงพยาบาลดูแลดีนะ ตอนโควิดระบาด ติดไปหนึ่งรอบ ต้องอยู่โรงพยาบาลสองเดือนเลยเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ยังดีที่มีสิทธิบัตรทองแล้วเราไม่ต้องจ่ายค่ารักษา ป้ากินยาเยอะมากถ้าต้องจ่ายเองคงไม่มีเงินจ่ายแน่ๆ”

“รู้อยู่ว่าจะมีการเลือกตั้งเพราะได้ยินรถหาเสียง แต่ยังไม่มีใครมาหาถึงบ้านนะ (หัวเราะ) ป้าไม่ค่อยสนใจการเมืองหรอก ตั้งแต่เป็นสาวยันอายุปูนนี้ไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยน ใครได้เป็นของก็แพงเหมือนเดิม ไม่มีสมัยไหนเลยที่รู้สึกว่าหาเงินมาได้แล้วเหลือเก็บเยอะ หรือเพราะเราทำอาชีพที่มันไม่มั่นคงก็ไม่รู้นะ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ของทุกอย่างแพงมาก ซื้อผักมาทำอาหารให้หลานหนึ่งกำได้นิดเดียว แล้วแพงด้วย ถ้าแก้เรื่องนี้ได้จริงๆ ก็จะดีมาก

“ป้าเชื่อมาตลอดว่าชีวิตเราเองก็ต้องพึ่งตัวเอง ถือเป็นคติใช้ชีวิตเลย แต่ถ้ามันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจริงๆ พออยู่วัยนี้แล้วไม่รู้ว่าจะพึ่งตัวเองได้ถึงแค่ไหน ไปนวดทีก็พยายามแบ่งเงินมาเก็บสำรองไว้เผื่ออนาคต แต่ไม่รู้จะพอหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ วันที่พึ่งตัวเองไม่ไหว ก็อยากให้รัฐบาลเป็นที่พึ่งให้ได้มากกว่านี้ เริ่มจากเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุก่อนเลย ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เยอะมากมาย แต่ที่ได้ในปัจจุบันนี้ไม่รู้ว่าใครคิด อยากให้ ส.ส. หรือผู้มีอำนาจลองมาใช้ชีวิตด้วยเงินเท่านี้ดูสิ จะอยู่ได้กี่วัน ลงมาดูให้เห็นกับตาว่าประชาชนเขาอยู่กันยังไง ไม่ใช่คิดอะไรอยู่แต่ในห้องแอร์”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save