fbpx
นับแต่นี้สตรีจะส่งเสียง : สำรวจชีวิตท่ามกลางความรุนแรงของผู้หญิงชายแดนใต้

นับแต่นี้สตรีจะส่งเสียง : สำรวจชีวิตท่ามกลางความรุนแรงของผู้หญิงชายแดนใต้

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

เมื่อเอ่ยถึง ‘ปัตตานี ยะลา นราธิวาส’ ที่ซึ่งไฟใต้ยังคงไม่ดับสิ้น คนมากมายรับฟังข่าวคราวในพื้นที่ราวกับเคยชิน และมีภาพจำต่อพื้นที่เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ภาพจำที่หลายคนเริ่มละความสนใจ เลือกที่จะปล่อยทิ้งไว้เช่นปัญหาที่ยากจะแก้

ในเศษเสี้ยวของภาพจำนี้ มีส่วนประกอบหนึ่งที่ผู้คนมองไม่ค่อยเห็นรวมอยู่ ส่วนประกอบที่เรียกว่า ‘ผู้หญิง’

ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนมีชีวิตอย่างลำบากเมื่อไฟใต้โหม และรุนแรงขึ้นหลังไฟลุกลาม ทั้งในแง่การดำรงชีวิต และปัญหาความรุนแรงที่พวกเธอต้องเจอ ใช่…นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร บนพื้นที่ที่เกิดความไม่สงบ และครอบไว้ด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ถูกตีความให้ชายเป็นใหญ่ หลายคนอาจชินชากับข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้หญิงกำลังลำบากและถูกใช้ความรุนแรง แต่การรับรู้นั้นแตกต่างจากการทำความเข้าใจ สกู๊ปชิ้นนี้จึงอาสาพาคุณไปสัมผัสชีวิตของผู้หญิงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เห็นทั้งการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด และการต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่พวกเธอเผชิญ

สมรสและภาระของสตรีในสามจังหวัดชายแดนใต้

ข้อความที่เขียนโดยผู้หญิงชายแดนภาคใต้ ถูกจัดแสดงในงาน Break The Silence
ข้อความที่เขียนโดยผู้หญิงชายแดนภาคใต้ ถูกจัดแสดงในงาน Break The Silence

เมื่อต้นเดือนมีนาคม ฉันมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดปัตตานีเพื่อเข้าร่วมงานรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในผู้หญิง การเดินทางครั้งนี้ที่ทำให้ฉันได้พบกับอามีเนาะห์ หะยีมะแซ ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา และ วีดะ อิแม เจ้าหน้าที่การเงิน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา หญิงสาวสองคนที่รับหน้าที่ดูแลหญิงต่างพื้นที่อย่างฉัน

ขณะพาฉันไปยังพื้นที่ชุมชนในจังหวัดปัตตานี ทั้งสองเล่าให้ฉันฟังว่าหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ผู้ชายหลายคนจำต้องอยู่กับบ้านเพื่อความปลอดภัย บางครอบครัวก็เสียสามีผู้เป็นเสาหลักของบ้านไป ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องรับหน้าที่แบกภาระครอบครัว ดูแลทั้งการเงิน และงานบ้าน โครงการ ‘วานีตา’ คำที่แปลว่า ‘ผู้หญิง’ ในภาษามลายูจึงเกิดขึ้น เริ่มต้นโดยเป็นโครงการที่อุปถัมภ์โดย Oxfam Thailand เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ดำเนินโดยผู้หญิง และค่อยๆ ขยับขยายจนปัจจุบันวานีตากลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินอย่างเข้มแข็งด้วยผู้หญิงในพื้นที่เอง

อะมีเนาะห์ และวีดะ พาฉันไปที่อำเภอยะหริ่ง บ้านขนาดเล็กแห่งหนึ่งถูกปรับเป็นโรงงานผลิตกล้วยหินอบแห้งเล็กๆ เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง ผู้หญิงที่รับภาระเลี้ยงครอบครัวจึงรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจ โดยดำเนินทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ในบ้านจึงเห็นหญิงตัวเล็กๆ หลายคนทำงานอย่างขะมักเขม้น ‘ก๊ะเมาะ’ เป็นหนึ่งในผู้หญิงเหล่านั้น

ก๊ะเมาะ หรือรอกีเย๊าะ ตาเล้ะ เป็นหญิงอิสลามรูปร่างเล็ก สูงเพียงแค่ไหล่ของผู้หญิงคนอื่นในกลุ่ม แววตาของเธอมักจะหลุบลงต่ำทันทีที่เห็นคนแปลกหน้าเข้าไปในโรงงานและจับจ้อง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นแววตาอันโศกเศร้าเมื่อเธอเริ่มเล่าชีวิตของเธอให้ฟัง

ก๊ะเมาะ รอกีเย๊าะ ตาเล้ะ
ก๊ะเมาะ รอกีเย๊าะ ตาเล้ะ

“พอแยกทางกับสามี ก็ต้องหาเลี้ยงลูก 5 คน” ก๊ะเมาะแยกทางกับสามีที่นอกใจเธอได้หลายปี และเริ่มหารายได้จากการเก็บไม้ป่าขายได้เงินเพียงวันละ 80 บาท ก่อนจะเข้าร่วมกลุ่มกล้วยอบแห้ง กลุ่มเศรษฐกิจผู้หญิง ที่จ่ายค่าแรงเธอวันละ 150 บาท ทั้งยังให้เงินโอทีในยามที่ทำล่วงเวลา และช่วยเธอในการเก็บออมเงินเป็นระบบสหกรณ์ชุมชน

เมื่อถามเธอว่าการรวมตัวกันของผู้หญิงเช่นนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธออย่างไร เธอสบตาฉันและพยักหน้าสองสามที น้ำตาของเธอค่อยๆ ไหล และหันไปพูดเป็นภาษามลายูกับอามีเนาะห์เพียงสั้นๆ

“ดีใจ” อะมีเนาะห์แปล

เฟาซียะ เด็งโด ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจกล้วยอบแห้ง ซึ่งเป็นคนดูแลก๊ะเมาะ อธิบายว่าหลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงไม่เข้าไปหางานในเมืองล่ะ รายได้จะดีกว่า แต่ในชุมชนอิสลาม ผู้หญิงยังต้องทำหน้าที่แม่และดูแลครอบครัว รวมถึงค่าเดินทางที่มีราคาแพง ค่าใช้จ่ายสูง สวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปัตตานี ปัญหาและภาระต่างๆ ทำให้การรวมตัวกันเพื่อทำผลิตภัณฑ์ขายกลายเป็นทางออกที่ดีกว่า

เฟาซียะเดินนำฉันไปบริเวณหน้าโรงงาน กลุ่มเด็กผู้ชายวัยรุ่นสองสามคนกำลังปอกลูกมะพร้าวอย่างแข็งขัน นอกจากดำเนินธุกิจกล้วยอบแห้ง คอยจัดการการเงินให้ผู้หญิงในโรงงานหลายคนแล้ว เฟาซียะยังดูแลเด็กและวัยรุ่นชายที่ต้องออกมาทำงานช่วยครอบครัวหาเงินด้วย

เฟาซียะส่งเสียงทักเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง พยายามเรียกให้เด็กน้อยพูดคุยกับฉัน แต่ก็ไม่เป็นผล เด็กชายจะสบตาแค่เพียงเฟาซียะที่เขาไว้ใจเท่านั้น เด็กชายอายุสิบต้นๆ ตัวเล็กเพียงแค่เอวของฉัน ทำงานปลอกมะพร้าวที่โรงงานกล้วยอบแห้ง เพื่อเลี้ยงดูแม่ที่กำลังท้องแก่ และน้องอีกหนึ่งคน

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เด็กชายได้ยินแต่ไม่เอ่ยตอบ ไม่ว่าเฟาซียะจะเค้นถามอย่างไร

“ทำไมต้องมาปอกมะพร้าว”

“ถ้าไม่ทำงาน น้องจะไม่ได้เรียน” เสียงเล็กๆ ของเด็กชายว่าเป็นภาษามลายู

เฟาซียะ เด็งโด ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจกล้วยอบแห้ง
เฟาซียะ เด็งโด ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจกล้วยอบแห้ง

เฟาซียะเล่าว่า โดยที่ไม่มีใครบังคับหรือร้องขอ ทุกครั้งหลังกลับจากโรงเรียน เด็กชายจะวิ่งมาที่ลานหน้าโรงงานและปอกมะพร้าว เพื่อหาเงินไปโรงเรียนและเป็นค่ากินอยู่ของครอบครัว เด็กและวัยรุ่นชายอีกหลายคนก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เฟาซียะหวังเพียงว่าธุรกิจของชุมชนที่ดำเนินด้วยกลุ่มผู้หญิงอย่างเธอนั้น จะสร้างรายได้ให้กระจายไปทั่วชุมชน เลี้ยงดูปากท้องของเด็ก วัยรุ่น และผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ยากลำบาก ขณะที่อะมีเนาะห์และวีดะรับหน้าที่ในการดูแลบัญชี ติดต่อกับองค์กรภายนอกเพื่อหาตลาดจำหน่ายสินค้าของกลุ่มชุมชน เช่น กลุ่มกล้วยอบแห้ง และอีกหลายกลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นมา ทุกกลุ่มต่างทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ด้วยความมุ่งมั่น และด้วยสถานการณ์ที่บังคับ เพื่อมีชีวิตในชายแดนใต้

กลุ่มผู้หญิงที่พยุงครอบครัว เยาวชน และผู้หญิงด้วยกันเองไว้

เป็นผู้หญิงมีสิทธิอะไร ?

นอกจากหน้าที่การงานแล้ว บทบาทในการเป็นคู่สมรสของผู้หญิงนั้น ก็ต้องเจอกับปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังในสังคม คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อะมีเนาะห์และวีดะยืนยันกับฉันว่าความรุนแรงในผู้หญิงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ ‘มาก’ และ ‘ง่าย’ ในพื้นที่

เมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ผู้หญิงจึงต้องออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น การออกมาทำงานนอกบ้านทำให้ผู้หญิงถูกตั้งคำถามว่า ออกไปแล้วปฏิบัติตัวดีหรือเปล่า เป็นแม่ที่ดี เป็นมุสลิมที่ดีไหม ในหลายครอบครัวเกิดความหึงหวง กลัวว่าหากออกไปแล้วผู้หญิงจะไปมีกิ๊กหรือทำตัวไม่ดี ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทางเพศ ที่ติดตามผู้หญิงไปตลอดเวลา

อามีเนาะห์ หะยีมะแซ ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา
อามีเนาะห์ หะยีมะแซ ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา

“ไม่กี่วันก่อน พี่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศก็ได้ยินเสียงคู่รักทะเลาะกันดังมาจากข้างนอก ผู้หญิงโวยวายเสียงดังอยู่นานเลย แต่พอผู้ชายเดินถึงตัวเท่านั้นแหละ ลงไม้ลงมือทันที”

ทั้งคู่เล่าว่าหลายครั้งที่เกิดความรุนแรง ผู้หญิงมักจะเลือกเก็บเงียบไว้ เพราะในสังคมอิสลามจะมองความรุนแรงเหล่านี้เป็นปัญหาภายในครอบครัว เป็นหน้าที่ที่คู่สมรสต้องประคับประครองครอบครัวให้ดี และแม้พวกเธอจะต้องการเลิกหรือหย่า หนทางก็ไม่ง่ายนัก วีดะกล่าวว่า

“ตามหลักศาสนา ถ้าผู้ชายเป็นฝ่ายบอกเลิกครบสามครั้ง จึงจะถือว่าเลิกกัน หย่ากันได้ แต่ผู้หญิงไม่ใช่ ต่อให้พูดสักร้อยครั้งก็ไม่มีผล…”

วีดะ อิแม เจ้าหน้าที่การเงิน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา
วีดะ อิแม เจ้าหน้าที่การเงิน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา

ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ มีความคิดที่ยึดโยงกับศาสนา ส่งผลให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างของผู้หญิง เป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เองตามลำพัง และยิ่งเมื่อยึดโยงกับกฏหมายครอบครัวของอิสลามด้วย ยิ่งทำให้เห็นว่าประเด็นผู้หญิงที่เผชิญกับความเจ็บปวดและความรุนแรงนั้น มีการเข้าถึงกลไกช่วยเหลืออย่างยากลำบาก เพราะข้อจำกัดทางศาสนาที่มักจะพึ่งพาผู้นำศาสนา (ซึ่งเป็นผู้ชาย) ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว เสียงของผู้หญิงจึงแผ่วเบามาก และหลายคนยอมปิดปากเงียบ

ในงาน ‘Break The Silence’ งานรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในผู้หญิงบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดขึ้นช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย มีทัพเสริมเป็นสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ ในงานมีนักวิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้หญิงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่มารวมตัวกันเพื่อส่งเสียงต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ ดร.ทวีลักษณ์ พลราชม นักวิชาการผู้คลุกคลีกับงานด้านผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัวพื้นที่ชายแดนใต้กว่าสิบปี ดร.ทวีลักษณ์ อธิบายสภาพของผู้หญิงและข้อจำกัดที่ผู้หญิงต้องเจอว่า ความรุนแรงสำหรับผู้หญิงมุสลิมแตกต่างจากความรุนแรงที่เจอกับผู้หญิงกลุ่มอื่น เพราะมีวิธีปฏิบัติที่เอาหลักการศาสนาอิสลามเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิต เรื่องของความรักจึงไม่ได้ประกอบไปด้วยของอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียว แต่จะมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

“หลักการหนึ่งซึ่งทำให้ผู้หญิงต้องทนอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมนี้คือ หลักการ ‘ตออัต’ หรือการที่ผู้หญิงต้องเชื่อฟัง ต้องตออัตต่อสามี เป็นหลักการที่ไม่มีขอบเขตและไม่ให้สิทธิผู้หญิงในการโต้แย้ง ผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามีหมดทุกอย่าง จะโต้แย้งได้ในบางกรณี เช่น เมื่อสามีไม่ปฏิบัติตามศาสนา เช่น ไม่ละหมาด ผู้หญิงจึงจะมีสิทธิตักเตือนสามี เมื่อสามีไม่เลี้ยงดู หรือมีภรรยาคนที่ 2 แล้วไม่ดูแล” ดร.ทวีลักษณ์กล่าว

ในการแต่งงานของศาสนาอิสลามนั้นจะมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสามีภรรยา ซึ่งข้อตกลงได้บรรจุเงื่อนไขสำหรับการหย่าเอาไว้ โดยผู้หญิงจะหย่ากับสามีได้ในสามกรณีคือ  1.ไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาเป็นเวลา 4 เดือน  2.สามีไม่ได้ให้ค่าเลี้ยงดู 4 เดือนเป็นต้นไป และ 3.การทำให้เจ็บช้ำน้ำใจหรือทำร้ายร่างกาย

ดร.ทวีลักษณ์ พลราชม
ดร.ทวีลักษณ์ พลราชม

แม้จะมีหลักการณ์เหล่านี้ แต่ ดร.ทวีลักษณ์ ชี้ให้เห็นช่องโหว่ว่า แม้ภรรยาจะทุกข์ใจจากการที่สามีมีภรรยาหลายคน แต่หากฝ่ายชายให้เงินหรือดูแลอย่างเท่าเทียม ผู้หญิงก็จะขาดสิทธิ์ในการหย่าทันที เพราะถือว่าไม่ได้ทำผิดข้อตกลง

นอกจากนี้ แม้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งจะเผชิญสถานการณ์ที่ตรงตามเงื่อนไข การดำเนินการหย่าก็เป็นขั้นตอนที่ขัดขวางอิสรภาพและสิทธิของผู้หญิงไม่น้อย โดยการที่ผู้หญิงจะหย่าได้นั้น จะต้องปรึกษาผู้นำศาสนา หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นเพศชายทั้งหมด และมักจะเลือกใช้วิธีไกล่เกลี่ยให้ผู้หญิงคืนดีกับสามี มากกว่าการให้หย่า เพราะเหตุนี้ แม้พวกเธอจะเลือกรักษาสิทธิของตัวเอง ก็อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเสมอไป

“ผู้หญิงหลายคนแม้รู้ว่าตัวเองน่าจะหย่าได้ ก็ไม่ไปที่กรรมการอิสลาม เพราะกรรมการอิสลามมีแต่ผู้ชาย ผู้ชายมักจะไกล่เกลี่ยว่า เห็นไหมเขาให้ภรรยาคนนี้หมื่นนึง เธอก็ได้หมื่นนึง เขาอยู่กับภรรยาอีกคนสามวัน แต่เธอได้ 4 วัน เป็นเมียหลวง ถ้าคุณมองความเท่าเทียมว่าเป็นเรื่องวัตถุ เป็นเรื่องรถ เป็นเรื่องบ้าน แล้วความรู้สึกของผู้หญิงล่ะ ใครจะดูแล ผู้หญิงไม่ต้องมีความรู้สึกหรอกหรือ”

นอกจากระบบของการหย่าที่เป็นไปอย่างยากลำบากแล้ว อีกเหตุผลที่ผู้หญิงในสังคมอิสลามไม่ต้องการหย่า คือค่านิยมที่ว่า ‘แม่หม้ายเป็นเรื่องน่าอายและบาป’

“สำหรับผู้หญิงบางคน จะรู้สึกว่าการเป็นแม่หม้าย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงบาป เพราะดูเหมือนว่าเราเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี หรือมีโอกาสจะสร้างความสนใจให้สามีคนอื่น สามีของเพื่อน เพราะฉะนั้นหลายคนก็เลยตัดสินใจว่าต้องมีร่มโพธิ์ร่มทอง เพื่อที่จะคุ้มกันว่าฉันไม่ได้เบียดบังสามีใคร ฉันมีของตัวเองแล้ว อันนี้ก็เป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าเราจะต้องอิงอยู่กับการมีใครสักคน หรือว่าอิงอยู่กับสภาพครอบครัวที่อาจจะมีความทุกข์ แต่ก็ไม่พูดออกมา” ดร.ทวิลักษณ์ กล่าวเสริม

เมื่อหลักการตออัตมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน ถูกรวมเข้ากับสิทธิการหย่าซึ่งอยู่ที่ผู้ชาย ผู้หญิงหลายคนรู้สึกอึดอัดกับสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ และมักจะจำยอมต่อสถานการณ์ แต่ปัญหาความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยไป จึงเป็นเหตุที่มาของการส่งเสียงดังครั้งแรกผ่าน ‘ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี’

ผู้หญิงส่งเสียง ผู้หญิงรับฟัง ร่วมกันสะท้อนเสียงไปถึงผู้ชาย

หญิงอิสลาม

 

ก่อนจะมีศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี เวลามีผู้หญิงมาร้องเรียนที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการจะออกไปเรียกผู้หญิงที่ผ่านไปผ่านมาในสำนักงาน ให้มาช่วยดูแผลหรือร่องรอยบนร่างกายของผู้หญิงที่มาร้องเรียนให้ สืบเนื่องมาจากไม่มีผู้หญิงคอยทำงานในสำนักงานเลย

แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ที่ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีก่อเกิดขึ้น

ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส สำนักงานที่เต็มไปด้วยคณะกรรมการผู้ชาย ศูนย์ปรึกษานี้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีผู้หญิงนั่งทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา ทำหน้าที่ดูแลกรณีที่ผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงให้คำปรึกษาแก้ผู้หญิงที่ต้องการเตรียมพร้อมก่อนแต่งงาน ต้องการความเป็นธรรมในครอบครัว สินสมรส มรดก รวมถึงสิทธิสตรีตามหลักกฏหมายไทยและอิสลาม นอกจากนี้ยังสามารถนำเคสของผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทางกฏหมาย หน่วยงานรัฐ สหวิชาชีพหรือองค์กรเอกชน เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการเยียวยาด้วย

ศูนย์บริการให้คำปรึกษานี้ จะเพิ่มทักษะความสามารถให้กับ ‘ก๊ะ’ (ภาษามลายูแปลว่า พี่สาว/น้องสาว) ที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้หญิงในชุมชน ให้สามารถรับฟัง ดูแลเคสของผู้หญิง จดบันทึกข้อมูล รวมถึงติดตามการดำเนินเรื่องทางกฏหมาย ไปจนถึงผลลัพธ์หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วได้อย่างถูกวิธี

เมื่อศูนย์ปรึกษาตั้งขึ้นในปี 2561 ในช่วงแรกศูนย์ไม่มีแม้แต่ห้องทำงาน เป็นเพียงโต๊ะที่ตั้งบนทางเดินแคบๆ ในสำนักงานเท่านั้น ปัจจุบันหลังจากทำงานมาครบหนึ่งปี ศูนย์ปรึกษาได้บันทึกสถิติว่าภายในปี 2561 มีผู้หญิงเข้ามาร้องเรียนเรื่องความรุนแรงถึง 301 เคส โดยศูนย์ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันและขยายสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการได้ห้องทำงานในสำนักงาน และพร้อมกับที่ผู้หญิงในชุมชนจำนวนมากเลือกเดินเข้ามา ทำลายความเงียบ บอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอ

รอชิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ หนึ่งในก๊ะที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาเพื่อผู้หญิงในชุมชน เล่าว่า “เราเจอว่าผู้หญิงที่มีปัญหาครอบครัว เขาจะไม่ไปที่หน่วยงานราชการ แต่เลือกที่จะไปใช้บริการสำนักงานอิสลาม ซึ่งจะมีฝ่ายไกล่เกลี่ย ทำงานภายใต้กฎหมายอิสลาม แต่ในความเป็นจริง ความรุนแรงมันเกี่ยวข้องกับหลักการทางกฎหมาย จะต้องมีพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง หรือกฎหมายอาญา เราจึงคิดว่าการให้ผู้หญิงมาให้คำปรึกษา ทั้งในแง่ของจิตใจและในแง่กฎหมาย ทั้งกฎหมายอิสลามและกฎหมายทั่วไป จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ดี”

รอชิดะห์เล่าว่าปีแรกของการทำงาน ต้องเจอกับบบรรยากาศที่กดดันมาก และรู้สึกว่าคณะกรรมการไม่ค่อยสนใจปัญหาของผู้หญิงที่มาขอความช่วยเหลือ การบริการก็ยังไม่มีระบบระเบียบ เป็นการทำตามความเห็นของคณะกรรมการมากกว่า ปัจจุบันศูนย์ที่ปรึกษาจึงสร้างระบบระเบียบเป็นขั้นตอน คือผู้หญิงจะต้องมาแจ้งและได้รับการกลั่นกรองเคสเบื้องต้น และไปพบคณะกรรมการที่มีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัย มีการเรียกผู้ชายมาเพื่อถามว่าสิ่งที่ภรรยาคุณเล่าเป็นความจริงไหม หากผู้ชายบอกว่าผู้หญิงพูดถูก ก็จะมีการกล่าวตักเตือนผู้ชาย ถ้าผู้ชายยังไม่ปรับปรุงตัว ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าผู้หญิงต้องการแยกกันอยู่ แต่หน้าที่ของก๊ะก็ยังไม่สิ้นสุดอยู่แค่นั้น

“ต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ในการแยกกันอยู่ จึงจะออกหนังสือสิ้นสุดการสมรสได้ แต่ถึงแม้กระบวนการฟ้องหย่าจะสำเร็จ ผู้หญิงได้เป็นอิสระ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบลง บางทีผู้ชายยังมาข่มขู่ผู้หญิงอยู่ ซึ่งศูนย์ก็จะทำหน้าที่ในการติดตามต่อว่าผู้ชายยังมาระรานไหม ถ้าเขายังมาระราน เราก็จะใช้ขบวนการกฎหมายคุ้มครอง

“เรายังพบอีกว่า เคสส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องรายได้ ยิ่งเคสที่อยู่ภายใต้การดูแลจากเงินเดือนของสามี เวลาแยกทางกัน เราก็จะพยายามให้เขามีเงินเป็นทุน ได้เลี้ยงตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าถ้าผู้หญิงมีรายได้ และสามารถดูแลตัวเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาผู้ชาย นี่เป็นการช่วยเหลือที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ ไม่จำเป็นต้องไปเผชิญกับความทุกข์ยาก ความรุนแรงที่เกิดซ้ำๆ นี่คือเป้าหมายสูงสุดของเรา”

รอชิดะห์ ปูซู
รอชิดะห์ ปูซู

จากตัวเลขสถิติ รอชิดะห์พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของเคสความรุนแรง ผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เริ่มต้นตั้งแต่ยาไอซ์ เฮโรอีน ไปจนถึงเป็นผู้ค้า “อย่างที่รู้กันว่าผู้ที่ติดยาเสพติดจะอารมณ์ร้าย ใช้ความรุนแรง บางคนข่มขู่ภรรยาถึงชีวิต บางคนลามไปข่มขู่ญาติพี่น้อง เอาปืนมายิ่งขึ้นฟ้าเพื่อขู่ก็มี นี่คือสิ่งที่เรากังวลและเป็นห่วงมาก ผู้หญิงต้องใช้ความกล้าหาญมากๆ”

รศ.อภิญญา เวชยชัย นักสังคมสงเคราะห์ ผู้อุทิศตัวเพื่อสร้างพลังให้กับสตรีที่เผชิญความรุนแรง และเป็นผู้จัดหลักสูตรอบรมก๊ะที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้หญิงในชุมชน กล่าวว่า เมื่อมีการรวมตัวกันและในฐานะพี่น้องผู้หญิง หลายคนนำเรื่องราวไปบอกเล่ากับผู้นำศาสนา ทำให้เขาเห็นบาดแผล เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ประเด็นความเป็นส่วนตัวถูกขยายเป็นประเด็นสาธารณะ จนสามารถจัดวงแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทำให้ผู้นำศาสนาที่เป็นผู้ชายเริ่มมองปัญหาอย่างที่ผู้หญิงเห็น สร้างความรู้สึกร่วมทุกข์กัน หรือสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจขึ้นมา

“นอกจากให้คำปรึกษา ก๊ะจะคอยบันทึกรายละเอียดจากการสัมภาษณ์และส่งไปที่คณะกรรมการอิสลาม พี่คิดว่าความละเอียดในการทำงานตรงนี้ทำให้ผู้นำศาสนาทั้งหลายประทับใจ และจากบันทึกก็ทำให้เขาได้เห็นประเด็นบางอย่างที่ละเอียดอ่อน และรู้สึกเห็นอก เห็นใจ มากกว่าการเป็นผู้ตัดสินตามกฎหมายอย่างเดียว ก็เลยทำให้เกิดการยอมรับกัน

“จากการทำงาน เราได้เห็นว่าก๊ะเอาหัวใจตัวเอง เอาความคิด เอาความรู้สึกทางด้านมนุษยธรรมเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิง เขาทำได้ดีกว่าคนที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพบางคนอีก เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เรามาอบรม เรามาไม่ได้มาเติมพลังให้ก๊ะเลย เรามาแอบดูดพลังจากก๊ะมาเก็บเอาไว้เสียมากกว่า เพราะเขามีความพยายามและตั้งใจให้พี่น้องผู้หญิงที่ไม่มีปากเสียง ไม่รู้จะไปหาใคร ได้เห็นทางออกกับชีวิต ทำให้พี่น้องได้รับประโยชน์สูงสุด เขาทำทุกอย่างเลย ทำให้เรารู้สึกว่านี่มันคือพลังอันยิ่งใหญ่จริงๆ”

รศ.อภิญญา เวชยชัย
รศ.อภิญญา เวชยชัย

เหตุใดความเจ็บปวดไม่ควรเป็นความเงียบงัน

หลังจากได้พบปะกับผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ต่างจากที่ รศ.อภิญญา ว่าไว้ ก๊ะทุกคนที่ชายแดนใต้ได้มอบพลังบางอย่างให้แก่ฉันผ่านเธอทุกคนที่ฉันได้พบ ผู้หญิงที่ต่อสู้ ผู้หญิงที่เป็นผู้นำ ผู้หญิงที่เจ็บปวด ผู้หญิงที่แก้ปัญหา และผู้หญิงที่เคียงบ่าเคียงไหล่ช่วยเหลือกัน

ผ้าคลุมฮิญาบหลากสีสันปลิวพริ้วไปตามสายลมอ่อนที่พัดในจังหวัดปัตตานี อย่างน้อยบนพื้นที่เล็กๆ นี้ก็มีผู้หญิงที่คอยส่งเสียงเบาบ้าง ดังบ้าง แต่เมื่อรวมกัน ความเงียบก็ไม่ใช่เสียงที่ดังที่สุดอีกต่อไป

สุดท้ายแล้วไม่ว่าพื้นที่สามจังหวัด หรือแม้แต่พื้นที่อื่นในประเทศไทย จะมีกลไกในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา คือการที่ผู้หญิงผู้ซึ่งได้รับความรุนแรงฝ่าต้านความเงียบและความเจ็บปวด เออกมาเรียกร้องความยุติธรรม เดินออกจากวงจรเหล่านั้น และส่งเสียงต่อต้านผู้ที่ทำความรุนแรงแก่พวกเธอ

เราทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับความรุนแรงหรือไม่ ควรมีคำตอบชัดเจนให้กับคำถามที่ว่า ‘เหตุใดความเจ็บปวดไม่ควรเป็นความเงียบงั้น’ ซึ่ง รศ.อภิญญา ตอบคำถามนี้ว่า

“บางครั้งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยวาจา ไม่ว่าจะด้วยความรุนแรงทางร่างกาย หรือแม้แต่ทางเพศ จะกลายเป็นความทรงจำที่ไปทำงานกับกลไกสมอง เราพบว่าในระยะหลัง เคสที่เป็นผู้เสียหายจากความรุนแรง เป็นเคสที่มีสถานการณ์ซึมเศร้า และไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์เปลี่ยนแปลงสองขั้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานมาจากการเก็บความเจ็บปวดเอาไว้ภายใน มันทำให้บาดแผลจากกายหายไปอยู่ในหัวใจของเรา ทำงานกับสารเคมีในสมอง จนสามารถลดทอนกำลังใจ และกลายเป็นความทรงจำชนิดที่เราเรียกว่า ‘อยากลืมแต่กลับจำ’ ความทรงจำที่จะทำร้ายเราซ้ำๆ จนกระทั่งเราเสียสมดุลในชีวิต สูญเสียศักยภาพในฐานะคนเป็นแม่ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นศักดิ์ศรีในตัวเอง และอย่างร้ายกาจที่สุด มันทำให้บางคนกลายเป็นผู้ทำความรุนแรงเสียเอง”

“ยิ่งเราปกปิดความเจ็บปวดไว้ เรายิ่งโดดเดี่ยว ปัญหาความรุนแรงมันเป็นเรื่องที่ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่การออกแรงโดยลำพัง มันต้องชวนกันคิด ชวนกันมอง เราอาจคิดว่าแค่เราคนเดียว ทนได้ก็ทนไป แต่ถ้ามองไปไกลกว่านั้น การเปิดเผยสามารถแก้ปัญหาที่ไกลกว่าตัวเราเอง สามารถต่อต้านความรุนแรงเหล่านี้ที่จะตกลงไปสู่ผู้หญิงคนอื่น ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่ลูกของเราได้”

ปัตตานี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save