fbpx
เสียงจากสำนักพิมพ์ - อนาคต 'งานหนังสือ' ที่อยากไปให้ถึง

เสียงจากสำนักพิมพ์ – อนาคต ‘งานหนังสือ’ ที่อยากไปให้ถึง

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

หนุ่มสาวหลายคู่ยืนดูบอร์ดตารางชื่อบูธสำนักพิมพ์ที่อาจหมายปอง ไล่จนพบหรืออาจลายตาจึงผละออกจากบอร์ดไปยังเป้าหมายอื่นที่ตั้งใจไว้

อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ร้านหนังสือที่มาร่วมออกบูธทยอยเก็บหนังสือบนชั้น บ้างเคลียร์เงินให้กับลูกจ้าง-เจ้าของหนังสือ ที่ไม่ได้มีบูธของตัวเอง แต่เอาหนังสือมาฝากวาง

บางคนกำแบงค์พัน อีกบางคนแบงค์ร้อย

หนุ่มสาวอีกหลายคนที่ประจำบูธร้านหนังสือ ยกหนังสือกองใหญ่ใส่รถเข็น พาออกไปยังลานจอดรถ

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 17-28 ตุลาคม 2561 ผ่านพ้นแล้ว และเดือนมีนาคม 2562 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็จะเวียนมาให้นักอ่าน-ร้านหนังสือได้พบกันอีก ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แต่ก็อย่างที่ทราบกัน เดือนมีนาคม 2562 งานหนังสือขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศที่จัดต่อเนื่องมาหลายสิบปี จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จัดในศูนย์ฯ สิริกิติ์ เนื่องจากถูกปิดปรับปรุง

ทางเจ้าภาพ-สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ก็ต้องหาสถานที่อื่นแทน

หนังสือทุกเล่มถูกเก็บ-ขนกลับหมดแล้ว แต่ 101 อยากชวนทบทวนความสัมพันธ์ที่เจ้าของหนังสือกับผู้อ่านได้สั่งสมร่วมกันมา และชวนมองไปข้างหน้าว่า งานหนังสือแบบไหนที่เราอยากเดินไปให้ถึง เมื่อสถานที่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต้องผันเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขเวลา

อะไรคือโจทย์ของคนทำหนังสือที่จำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับ กระทั่งว่าคนอ่านแบบไหนที่เจ้าของหนังสืออยากพบเจออีกในอนาคต…

งานหลังสือ

คมบาง

กว่าชื่น บางคมบาง บรรณาธิการสำนักพิมพ์คมบาง บอกว่าสำนักพิมพ์ของเธอออกบูธขายหนังสือตั้งแต่สมัยที่งานหนังสือยังอยู่ที่คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และพองานย้ายมาที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในปี 2546 เธอก็ย้ายตามมาด้วย

งานหนังสือสมัยก่อน ทางกระทรวงฯ จัดเต็นท์ติดแอร์ให้ กว่าชื่นบอกว่าเป็นงานที่จัดพร้อมกับงานกาชาดพอดี ทำให้คนที่มาเดินงานกาชาด สามารถเดินเชื่อมมาที่งานหนังสือได้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู และเป็นไปได้ว่าเมื่อต้องเจอกับความแออัดของพื้นที่ ไม่อาจรองรับคนได้ทั่วถึง ทำให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ถูกเลือกแทนคุรุสภา

“ครั้งแรกที่มาศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นงานหนังสือที่ออกคู่กับงานอาหารเจ และคนก็ยังไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ หลายคนตอนนั้นบ่นกันว่าการเปลี่ยนสถานที่ทำให้คนเดินทางมาลำบาก กลุ่มครูที่เคยเดินซื้อหนังสือที่เก่าค่อยๆ น้อยลง เวลาขายหนังสือแทบไม่ต้องออกใบเสร็จเลย”

นอกจากสถานที่เปลี่ยน บรรณาธิการสำนักพิมพ์คมบางบอกว่า การประชาสัมพันธ์งานจริงจังมาก สื่อใหญ่แทบทุกฉบับ-ทุกช่อง ต่างออกข่าวโปรโมทชวนคนมางานหนังสือ ซึ่งต่างจากวันนี้อย่างสิ้นเชิง

“เท่าที่เห็นสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่ได้ซื้อโฆษณาตามป้ายรถเมล์เหมือนเมื่อก่อน หรืออย่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่เรารับเป็นปกติ ก็ไม่มีโฆษณาของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แล้ว คงเป็นเพราะพื้นที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลในการโปรโมทมากกว่า” 

สำหรับนักอ่านของคมบาง กว่าชื่นเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยเฉพาะแฟนคลับของ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่สำนักพิมพ์คมบางพิมพ์งานมาต่อเนื่อง เธอมองว่าหลังจากนิตยสารขวัญเรือน, สกุลไทย, ซีเคร็ต ที่ชมัยภรเขียนประจำปิดตัวลง กว่าชื่นมองว่าการสื่อสารระหว่างนักเขียนและคนอ่านจึงขาดไป แม้ว่าเมื่อก่อนคนอ่านกลุ่มนี้จะตามมาพบนักเขียนในงานหนังสือ เพื่อถามหางานรวมเล่มหรือผลงานใหม่ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าลดลง 

“มีคนอ่านรุ่นคุณยายอยู่คนหนึ่งที่เราจะเห็นทุกครึ่งปี เธอจะมาที่บูธประจำ มาจับไม้จับมือกันเสมือนเราเป็นลูกหลาน มีอยู่ปีหนึ่งเธอมาหา เสียงเธอสั่นเบาและมือสั่นเหมือนคนสุขภาพแย่ลง และหลังจากนั้นเธอก็ไม่มาอีกเลย” 

เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แล้วงานหนังสือควรเปลี่ยนแปลงไปทางไหน อะไรคือภาพฝันที่สำนักพิมพ์อยากเห็น บรรณาธิการสำนักพิมพ์คมบางสะท้อนว่า งานหนังสือที่เป็นอยู่ควรจะปรับตัวในระดับหนึ่ง เธอรู้สึกว่าเอาเข้าจริง ไม่ได้มีสำนักพิมพ์ไหนที่อยากลดราคาหนังสือใหม่ของตัวเอง เว้นแต่เป็นหนังสือเก่า แต่ด้วยความบิดเบี้ยวของเศรษฐกิจ ทำให้สำนักพิมพ์ต้องยอมลดราคาเพื่อให้คนอ่านมาเดินงานหนังสือมากขึ้น งานหนังสือจึงดูเป็นงานลดราคาหนังสือไปโดยปริยาย

“เรารู้สึกว่างานหนังสือน่าจะเป็นงานปาร์ตี้ระหว่างสำนักพิมพ์ นักเขียน และคนอ่าน ที่ชอบหนังสือแนวเดียวกันได้ งานหนังสือไม่จำเป็นต้องรวมหนังสือทุกแนวไว้ด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ใหญ่ ไม่ต้องคิดถึงขนาดว่างานต้องทำยอดขายได้เป็นสิบๆ ล้านก็ได้ เหมือนห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่มากๆ ทำให้เหนื่อยที่จะเดิน” กว่าชื่นกล่าว

Alternative Writers

นิวัต พุทธประสาท เจ้าของบูธ Alternative Writers และบรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม บอกว่าสำนักพิมพ์ของเขาออกบูธครั้งแรกที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ในปี 2546 เช่นเดียวกัน สมัยนั้นยังเปิดแค่โซนเดียวคือ ซี 1, ซี 2 สำนักพิมพ์แนวอินดี้เหลือน้อยมาก เพราะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้หลายสำนักพิมพ์หยุดพิมพ์หนังสือไป

“สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมก็เติบโตมาพร้อมกับงานหนังสือ ลูกผมก็เอามาเลี้ยงที่งานหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก จนวันนี้เขาโตเป็นหนุ่ม เราไม่ได้เติบโตมาแบบราบรื่น เราผ่านทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง จนผมคิดว่างานหนังสืออาจเป็นเซฟโซนของทุกสำนักพิมพ์ไปแล้ว”

กวาดสายตาดูปกหนังสือของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เต็มไปด้วยงานวรรณกรรมที่นักเขียนคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ขึ้น อะไรทำเขามุ่งมั่นมาทางนี้ ทั้งที่ตลาดหนังสือสายวรรณกรรมไทยกำลังหดตัวลง เขาเห็นคนอ่านต่างไปจากตลาดอย่างไร

นิวัตบอกว่าเขามีแพสชั่นในการทำหนังสือวรรณกรรมไทยร่วมสมัยให้ต่อเนื่อง เน้นผลิตงานของนักเขียนรุ่นใหม่ ไม่เน้นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว

“ผมไม่เคยอยากไปเด็ดยอดเอานักเขียนที่ดังอยู่แล้วมาพิมพ์งานเลย บางคนอาจรู้สึกว่าการพิมพ์งานของนักเขียนหน้าใหม่ขายไม่ได้ แต่เราพิสูจน์แล้วว่ามันไปได้ ผมว่าผมก็ล้มลุกคลุกคลานมากับงานที่ขายไม่ได้มาพอสมควร แต่ทุกวันนี้เราเห็นว่าเราเติบโตขึ้น เราทำได้จริงๆ ตัวเลขมันโกหกไม่ได้ และเราเห็นกลุ่มคนอ่านที่รอเราอยู่ เป็นคนอ่านที่เปิดโอกาสให้วรรณกรรมไทยมีชีวิต”

เมื่อแพสชั่นของเม่นวรรณกรรมเดินมาอย่างที่ว่า แล้วงานหนังสือที่เป็นอยู่ตอบโจทย์ไหม เจ้าของบูธ Alternative Writers บอกว่าแม้ไม่เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็เป็นงานที่นักเขียนกับคนอ่านได้มาพบกันที่ใหญ่ที่สุดในไทย ถ้าเป็นไปได้เขาเองก็อยากมีงานหนังสือเล็กๆ อย่างเช่น งานอินดี้ บุ๊ค หรือบางกอก อาร์ท บุ๊ค แฟร์ 

นิวัตยอมรับว่าเขาไม่ได้ยึดติดกับสถานที่งานหนังสือว่าต้องเป็นที่ไหน ต่อให้อนาคตไม่มีบุ๊คแฟร์แล้ว แต่เขาก็จะหาทางผลิตงานที่คนอ่านต้องการออกมาอยู่ดี เขารู้สึกว่าบุ๊คแฟร์เป็นเพียงประตูหนึ่งที่ทำให้เห็นคนอ่านบ้าง ได้เงินบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการทำหนังสือให้ออกมาดี 

“ตัวสำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือ แทบไม่คุยกันทางธุรกิจเลย นี่เป็นโจทย์ที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ ที่ผ่านมาร้านหนังสือไม่เคยถามสำนักพิมพ์ว่ามีงานอะไรออกใหม่บ้าง เราไม่รู้ว่าร้านหนังสือไหนมีคนอ่านแบบไหน วงการหนังสือค่อนข้างอยู่กันเป็นเอกเทศ ต่างคนต่างแก้ปัญหาของตัวเองไป พอเป็นแบบนี้ งานหนังสือก็ทำให้สำนักพิมพ์กลายเป็นร้านหนังสือชั่วคราวไป แต่ผมคิดถึงประโยชน์ของวงการหนังสือทั้งหมดมากกว่า” นิวัตกล่าว

นิวัต พุทธประสาท และ ปรียา พุทธประสาท
นิวัต พุทธประสาท และ ปรียา พุทธประสาท

ฟ้าเดียวกัน

จิราภรณ์ หิรัญบูรณะ ฝ่ายขายของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน บอกว่าเมื่อก่อนฟ้าเดียวกันได้บูธเดี่ยวขนาด 3 คูณ 3 เมตรเท่านั้น 

“เราค่อนข้างอึดอัด เพราะหนังสือของฟ้าเดียวกันจะเล่มใหญ่เป็นพิเศษ และมีประมาณ 50 ปกแล้ว ยังไม่รวมหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นที่เอามาฝากขาย ทำให้การเริ่มต้นของฟ้าเดียวกันค่อนข้างทุลักทุเล แต่หลังจากนั้นมา ฟ้าเดียวกันก็ขยับขยายให้พื้นที่บูธรองรับหนังสือได้มากขึ้น”

สำหรับฟ้าเดียวกันที่ชัดเจนในทางหนังสือวิชาการ คนอ่านที่ติดตามมาพบสำนักพิมพ์ที่บูธเป็นคนแบบไหน จิราภรณ์ บอกว่าเมื่อก่อนฟ้าเดียวกันจะได้รับความนิยมจากหมู่นักอ่านผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งวัยนักศึกษาไปจนถึงวัยกลางคน มีบางครอบครัวที่มาซื้ออย่างสม่ำเสมอ บางครอบครัวมีลูกที่อ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งแต่เด็ก พอถึงตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังสนับสนุนเราอยู่ และปัจจุบันคนอ่านก็หลากหลายมากขึ้นทั้งเพศและวัย 

เมื่อมองไปในอนาคต เธอบอกว่าอยากเห็นงานหนังสือที่สำนักพิมพ์เล็กๆ มีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ การจัดบูธหนังสือของฟ้าเดียวกันก็ชัดเจนว่าเราสนับสนุนหนังสือของสำนักพิมพ์ทางเลือกก่อน เราวางให้อยู่ในตำแหน่งที่เห็นชัดกว่าหนังสือของสำนักพิมพ์ใหญ่ที่เอามาฝากร้านเราขาย ซึ่งเขามีพื้นที่ของตัวเองที่ดีอยู่แล้ว

“ในยามปกติ หนังสือของฟ้าเดียวกันไม่สามารถวางขายในบางร้านหนังสือได้ เราก็จำเป็นต้องอาศัยงานหนังสือแบบนี้เพื่อได้พบกับคนอ่านโดยตรง เราไม่สามารถไปบังคับให้ร้านหนังสือขายหนังสือของฟ้าเดียวกันได้ เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขาด้วย”

งานหนังสือที่ดีสำหรับจิราภรณ์ คืองานที่คนสามารถไปได้สะดวก เธอไม่ติดใจว่าจะต้องมีกิจกรรมในงานแบบไหน เพราะกิจกรรมเป็นโจทย์ของแต่ละครั้ง แต่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้หนังสือไปให้ถึงมือคนอ่านที่เขาต้องการได้ 

งานหนังสือ

P.S. Publishing

นับเป็นครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ P.S. มาออกบูธที่งานหนังสือ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โดยมีหนังสือของตัวเองกว่าสิบปกให้คนอ่านได้ลองทำความรู้จักสานสัมพันธ์

ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ P.S. บอกว่านอกจากการทำสำนักพิมพ์แล้ว การออกบูธทำให้เราได้เห็นหน้าค่าตากับคนอ่าน ได้พิสูจน์ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักที่สำนักพิมพ์ตั้งไว้เป็นใคร และตรงตามที่สำนักพิมพ์เข้าใจจริงๆ หรือไม่ 

“คนอ่านที่เข้ามาที่บูธก็เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ อายุประมาณ 18 ถึง 30 ปี มีตั้งแต่นักเรียนมัธยม นักศึกษา คนทำงาน ถือว่าตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ เพราะหนังสือที่เรานำเสนอเป็นเรื่องความสัมพันธ์ และที่มากไปกว่าความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องที่อยู่รายล้อมใกล้ตัวคนอ่านของเรานั่นแหละ”

เมื่อเป็นครั้งแรกของการออกบูธ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ P.S. มองว่า คนอ่านรุ่นใหม่ควรได้ประสบการณ์การอ่านที่ต่างออกไปจากเดิม แปลกใหม่ขึ้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากหนังสือเล่มทั่วไป P.S. ได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์หมีกับแมว ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำมือ ได้คิดโปรเจ็กต์ ‘ณ ขณะ’ ชวนนักเขียนหน้าใหม่ส่งเรื่องสั้นเข้ามา เพื่อพิมพ์เรื่องสั้นลงในกระดาษสลิปแล้วแต่ความยาวของเรื่อง และเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะถูกม้วนเก็บไว้ในขวดแก้ว ซึ่งแม้ว่าจะเก็บรักษาให้ดีอย่างไร เรื่องสั้นในกระดาษสลิปก็จะเลือนหายไป

เรื่องสั้นในกระดาษสลิปของสำนักพิมพ์ P.S.
เรื่องสั้นในกระดาษสลิปของสำนักพิมพ์ P.S.

“เรื่องสั้นในขวดแก้วเหมือนย่อเอาโรงพิมพ์มาอยู่ในมือนักเขียน คนอ่านได้เลือกจากเรื่องย่อก่อน ถ้าเขาพอใจที่จะซื้อ เราก็ปริ้นท์ฉบับเต็มผ่านมือถือและใส่ขวดแก้วให้กลับไปอ่านที่บ้าน ราคาก็แล้วแต่ความยาวของเรื่อง มีตั้งแต่ 50 บาทที่ปริ้นท์ลงกระดาษสลิปไม่ถึงเมตร และ 120 บาทที่เรื่องยาวเกินสองเมตร ทั้งหมดเราเห็นว่าเป็นรูปแบบการอ่านที่ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ และทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมด้วย” ​

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ P.S. บอกอีกว่าโปรเจ็กต์ ‘ณ ขณะ’ เป็นกิมมิคของการออกบูธครั้งล่าสุด ที่สะท้อนว่าวรรณกรรมไทยไม่ได้ตายไปแบบที่มีหลายคนรู้สึก เพียงแต่คนอ่านรุ่นใหม่เขามีวิธีอ่านที่ต่างออกไป ถ้า P.S. ไม่สื่อสารกับคนอ่านรุ่นใหม่ ก็คงขายไม่ได้เช่นกัน

“งานหนังสือที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ เป็นไปได้ไหมที่งานหนังสือจะไม่ต้องเป็นบูธๆ แบบที่เห็น เป็นไปได้ไหมที่งานหนังสือจะจัดในสวนสนุก หรือเป็นไปได้ไหมที่งานหนังสือไม่ต้องมีคนขาย ทำให้คนอ่านลืมประสบการณ์เดิมไปเลย” ปนิธิตากล่าว

มูลนิธิเด็ก

ทวีศักดิ์ พึงลำภู บรรณาธิการโครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก บอกว่าคนอ่านหนังสือของมูลนิธิเด็กส่วนใหญ่เป็นแนวครอบครัว พ่อแม่ ครู และเด็กวัยมัธยม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งที่เขาเห็นคือ “ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนอ่านจะมาเดินดูที่บูธแบบหว่านๆ ว่ามีอะไรน่าอ่านบ้าง เหมือนเดินตลาดนัด แต่พอเป็นสมัยนี้ เขาเช็คมาก่อนว่าอยากได้เล่มไหน และเข้ามาถามว่าที่บูธว่ามีไหม ตรงนี้สะท้อนว่าโลกออนไลน์มีอิทธิพลในการตัดสินใจของคนอ่านมาก”

ทวีศักดิ์บอกว่า งานหนังสือที่ผ่านมาและเป็นอยู่นั้น อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้รู้ว่าคนอ่านที่มาหาหนังสือจากมูลนิธิเด็ก เขาต้องการอะไร นี่คือข้อดีของการออกบูธขายหนังสือ เพราะสายส่งหรือร้านหนังสือจะไม่มีข้อมูลนี้ให้

เขาเสริมต่อว่า เมื่อก่อนงานหนังสือเด็กและเยาวชนจะจัดกลางปี แต่พอแบ่งถี่แบบนั้น ทําให้ยอดที่เจ้าภาพต้องการไม่เป็นไปตามเป้า 

“พูดง่ายๆ ก็คือเจ๊ง เพราะคนส่วนใหญ่ไปเดินงานต้นปีกับปลายปีเท่านั้น เอาเข้าจริงคนเรามักใช้เงินกันแบบรายเดือน แต่เมื่องานหนังสือมันอั้นไว้แค่ต้นปีกับปลายปี มันไม่ได้ทำให้เงินในกระเป๋าเขามีมามากกว่าเดือนอื่นๆ พอเป็นแบบนี้สำนักพิมพ์ก็ต้องยอมลดราคาหนังสือ นี่เป็นปัญหาคลาสสิก” 

บรรณาธิการสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เสนอว่างานหนังสือต้องเล็กลง ไม่ใช่จัดใหญ่แล้วนับว่ามีคนเยอะๆ มาเดินเบียดๆ กัน แล้วถือว่าเป็นความสำเร็จของงาน สุดท้ายก็ทำให้คนเดินเหนื่อยและเดินไม่ทั่ว

เขาทิ้งท้ายว่างานหนังสือที่คนเข้าถึงง่าย หลากหลาย แบ่งโซนประเภทหนังสือให้ชัด และคนอ่านซื้อหนังสือได้โดยสำนักพิมพ์ไม่ต้องหั่นราคาลงมาก น่าจะทำให้ธุรกิจหนังสือยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ และคนอ่านก็ได้ประโยชน์มากที่สุด 

มติชน

สุภชัย สุชาติสุธาธรรม หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือไทย สำนักพิมพ์มติชน บอกว่า ธีมบูธหนังสือของมติชนครั้งล่าสุดนี้ ใช้ชื่อว่า ‘Readvolution’ เพราะเราต้องการพูดถึงการอ่านเพื่อความเปลี่ยนแปลง อิงกับบริบทการเมืองไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน จากเดิมที่มีเผด็จการปกครองมานานกว่า 4 ปี กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย

เมื่อมติชนเดินหน้าธีมการเมือง หนังสือของมติชนก็ย่อมขับเน้นงานประเภทการเมืองออกมาสู่ผู้อ่าน คำถามคือมติชนเห็นอารมณ์คนอ่านเป็นอย่างไร สุภชัยบอกว่า คนที่มาบูธมติชนมีทั้งแฟนประจำอยู่แล้ว พวกเขาจะพอใจเพราะเป็นคอการเมืองเดิมอยู่แล้ว 

“คนอ่านที่มาที่บูธล่าสุด สะท้อนให้เราได้ยินว่า มติชนห่างหายจากหนังสือแนวการเมืองวิชาการเข้มข้นไปนาน ส่วนคนรุ่นใหม่ช่วงวัยที่ยังเป็นนักศึกษา หรือเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ เขาจะชอบรูปแบบบูธของมติชนที่เราใช้ผลงานศิลปะของ Alex Face มาดึงดูดคนอ่านรุ่นใหม่”

มติชนถือเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ที่อยู่ในสายตาคนอ่านมานาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านมติชนเห็นความท้าทายใหม่อย่างไร สุภชัยบอกอีกว่า ที่เห็นชัดที่สุดคือ นี่เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย ทำให้ยอดคนอ่านกระดาษลดลง โจทย์ของการทำหนังสือในอนาคตต้องเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความจริง

“ผมมองไปถึงขนาดว่า จากกระดาษที่ถูกปรับไปสู่อีบุ๊ค อาจจะต้องปรับไปสู่มัลติมิเดียเต็มรูปแบบด้วย โจทย์สำคัญที่มติชนเห็นคือ คนอ่านรุ่นใหม่สนใจความหลากหลาย เราเห็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เกิดใหม่และไปได้ดี สิ่งที่มติชนคิดเวลานี้คือเราต้องทำหนังสือให้มากกว่าหนังสืออย่างเดียว อย่างเช่นครั้งนี้ มติชนมีหนังสือของอุรุดา โควินท์ ออกมา ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น บวกกับคาแรคเตอร์ที่อุรุดาชอบทำอาหาร มติชนเห็นว่าเราน่าจะต่อยอดให้คนอ่านได้มีประสบการณ์มากไปกว่าการอ่านเท่านั้น เราเลยมีแพคเกจชาชื่อ Readvolution Tea by Uruda ออกมาเสริมด้วย”

นวัตกรรมที่มติชนมองไปข้างหน้า และอยากชวนคนอ่านมาร่วมรับประสบการณ์ใหม่ สุภชัยลองเสนอในนามส่วนตัวด้วยว่า ถ้าเราเป็นคนอ่าน งานหนังสือข้างหน้าที่เราอยากเดิน อาจเป็นงานที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับโลกการอ่าน เพื่อยกระดับความรู้ให้สนุกและง่ายขึ้น 

“อาจจะมีแว่นวีอาร์สามมิติให้คนอ่านได้เห็นเรื่องราวที่มากกว่าในกระดาษ เช่น ถ้าคนอ่านมาที่บูธมติชน เขาอาจเข้าใจเรื่องย่อของประวัติศาสตร์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยผ่านแว่นวีอาร์ได้เลย และรายละเอียดเขาสามารถไปอ่านต่อในหนังสือได้” สุภชัยกล่าว

…..

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนจากสำนักพิมพ์เล็ก-กลาง-ใหญ่ ที่ผลิตทั้งงานความรู้ เยาวชน การเมือง และวรรณกรรม ประเด็นคือมุมมองและข้อเสนอทั้งหมดนี้ จะขยับไปสู่ภาพที่ใกล้ความฝันของทั้งคนอ่านและนักเขียนได้อย่างไร แน่นอนว่าการจะหาใครมาเป็นภาระรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว คงเป็นไปไม่ได้.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save