fbpx
ถอดบทเรียนต่างประเทศ ไขสูตรสำเร็จปั้น 'อาชีวศึกษา' สู่กระดูกสันหลังสร้างชาติ

ถอดบทเรียนต่างประเทศ ไขสูตรสำเร็จปั้น ‘อาชีวศึกษา’ สู่กระดูกสันหลังสร้างชาติ

ย้อนไปช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เยอรมนีเพิ่งผ่านพ้นความชอกช้ำจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะเดียวกันในฝั่งเอเชีย เกาหลีใต้ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก หลังเพิ่งผ่านไฟสงครามเกาหลี ส่วนเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ หลังเจ้าอาณานิคมอังกฤษถอนตัวออกไป ก็ไร้ที่พึ่ง ขณะที่ทรัพยากรก็แทบไม่มี จนใครๆ ก็ต่างกังวลว่าจะไปรอดด้วยปีกของตัวเองได้หรือไม่

ภายใต้ความบีบคั้น ทั้งสามชาติไม่ได้ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แต่พยายามดิ้นรนหาทางรอด โดยต่างคิดตรงกันว่าหนทางหนึ่งที่จะพาประเทศหลุดพ้นความยากลำบากได้ คือการยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น และการจะทำอย่างนั้นได้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ของประเทศต้องมีความรู้และทักษะที่ส่งเสริมกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของชาติ ดังนั้น การศึกษาและการพัฒนาคนจึงกลายเป็นโจทย์ตั้งต้นสำคัญของประเทศเหล่านี้

ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในตอนนั้น ทั้งสามประเทศตระหนักดีว่า การมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือทางอุตสาหกรรมขั้นสูงเป็นเรื่องสำคัญ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาชาติจึงไม่ได้เน้นแต่เพียงการเรียนสายสามัญ แต่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการศึกษาสายอาชีพ

ขณะที่หลายๆ ประเทศมองข้ามการศึกษาสายอาชีพ ด้วยค่านิยมทางสังคมที่มักมองการเรียนอาชีวะว่าไม่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าการเรียนสายสามัญ หรือเป็นเพียงแค่แหล่งรองรับนักเรียนนักศึกษาระดับหางแถวที่ไปไม่รอดกับการศึกษาทั่วไปเท่านั้น แต่ทั้งเยอรมนี เกาหลีใต้ และสิงคโปร์เลือกผลักดันอาชีวศึกษาขึ้นเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ แห่งการพัฒนาประเทศ จนทุกวันนี้ทั้งสามประเทศสามารถผงาดขึ้นมายืนแนวหน้าของเศรษฐกิจโลกได้ ก็ด้วยทรัพยากรคุณภาพจำนวนมากที่เป็นผลผลิตจากสถาบันอาชีวศึกษา

ทุกวันนี้ การเรียนอาชีวศึกษาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในเยอรมนี เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ อีกทั้งยังมีคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก สามารถดึงดูดนักเรียนนักศึกษาต่างชาติให้เข้าไปเรียนได้มากมาย และยังได้รับยกย่องเป็นโมเดลของการพัฒนาอาชีวศึกษาในหลายประเทศ

เส้นทางของการศึกษาสายอาชีพของบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จอาจมีรายละเอียดยิบย่อยที่แตกต่างกัน แต่เมื่อขยับมามองภาพใหญ่ขึ้นแล้ว จะเห็นว่าแต่ละประเทศล้วนมีสูตรสำเร็จหลายอย่างคล้ายกัน เราขอพาไปไขบทเรียน ถอดสูตรสำเร็จของประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพ จากที่ถูกมองข้ามมาตลอดจนก้าวขึ้นมาเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยดูตัวอย่างจากประเทศเยอรมนี เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

อย่าหยุดพัฒนา ปั้นทรัพยากรคนให้ตรงเทรนด์เศรษฐกิจ

เมื่อประเทศเหล่านี้มีแผนมุ่งเดินหน้ายุทธศาสตร์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของชาติ การพัฒนาระบบการศึกษาสายอาชีพย่อมดำเนินมาคู่กันเสมอ หากแต่เป็นที่รู้ประจักษ์กันดีว่ากระแสเศรษฐกิจโลกไม่เคยหยุดนิ่ง แต่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดเวลา ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนภายใต้ระบบอาชีวศึกษาจึงไม่สามารถแช่แข็งได้ แต่จำเป็นต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยนให้สอดรับคลอคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมโลกอย่างไม่หยุดนิ่ง

ในประเทศเกาหลีใต้ แผนการพัฒนาการเรียนการสอบระบบอาชีวศึกษาเริ่มมีขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950s จนถึง 1960s ซึ่งตอนนั้นยังให้ความสำคัญกับการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมเบา เกษตรกรรม และประมง แผนพัฒนาแต่ละฉบับมีอายุ 5 ปีก่อนที่จะทบทวนสู่การใช้แผนฉบับใหม่

ถัดมาในช่วงทศวรรษ 1970s เกาหลีใต้ก็ปรับเปลี่ยนไปเน้นการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมหนัก โดยเริ่มนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่การเรียนการสอนอย่างเข้มข้นขึ้น ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังผลักดันอุตสาหกรรมประเภทเหล็ก การต่อเรือ ผลิตภัณฑ์เคมี และเครื่องจักร ตามเทรนด์โลกในตอนนั้น และมีการปรับเปลี่ยนใหญ่อีกประการหนึ่งคือการผลักดันให้อุตสาหกรรมในประเทศยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น ทำให้นักเรียนนักศึกษาในระบบสายอาชีพได้เรียนรู้อย่างเข้มข้นขึ้นผ่านการสัมผัสประสบการณ์ในอุตสาหกรรมจริง ผ่านมาถึงทศวรรษ 1980s เมื่อยุทธศาสตร์เศรษฐกิจขยับออกจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานและทุนอย่างเข้มข้นไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยี สถาบันอาชีวศึกษาก็ต้องขยับตามไปสู่การเรียนการสอนในภาคอุตสาหกรรมไฮเทค รวมทั้งยังติดปีกให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้รอบด้านมากขึ้น มีทักษะพื้นฐานในการปรับตัวได้อย่างว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสเทคโนโลยีและเศรษฐกิจโลกในแต่ละช่วงเวลา และปัจจุบันนี้อาชีวศึกษาเกาหลีใต้ก็กำลังมุ่งหน้าพัฒนาตามเส้นทางเศรษฐกิจ 4.0 และเศรษฐกิจหลังโควิด

เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ยุทธศาสตร์การศึกษาสายอาชีพต้องคอยผันเปลี่ยนไปตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชาติ รัฐบาลสิงคโปร์เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนในระบบอาชีวศึกษามาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งประเทศใหม่ๆ เพราะจำเป็นต้องผลิตแรงงานให้สอดรับการพัฒนาอุตสาหกรรม จนเกิดโรงเรียนสายอาชีพพร้อมศูนย์ฝึกอาชีพขึ้นมามากมาย ผ่านการได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น กระทั่งทศวรรษ 1970s รัฐบาลเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมไปในทิศทางการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นหลัก จึงเกิดการปรับปรุงหลักสูตร รวมทั้งการก่อตั้งสถาบันอาชีวศึกษาใหม่ๆ ที่เน้นอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว โดยจับมือกับต่างประเทศเข้มข้นขึ้นอีก ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สิงคโปร์ได้เรียนรู้โมเดลความสำเร็จของอาชีวศึกษาจากหลายๆ ประเทศ แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง จนเป็นรากฐานสำคัญของระบบอาชีวศึกษาสิงคโปร์ปัจจุบัน เช่น การได้รูปแบบการเรียนการสอนด้านอาหารมาจากฝรั่งเศส และระบบการสอนแบบเรียนไปทำงานไปจากเยอรมนี

สถาบันการศึกษาสายอาชีพของสิงคโปร์ทบทวนปรับปรุงทิศทางการศึกษาเป็นประจำ อย่างสถาบันเทคนิคศึกษา (Institute of Technical Education – ITE) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสายอาชีพหลักของสิงคโปร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1992 มีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ทุกๆ 5 ปี โดยเมื่อเข้าสู่ปี 2000 ที่โลกาภิวัตน์กำลังเฟื่องฟู ITE ก็ได้วางโรดแมปผลักดันให้ ITE ก้าวขึ้นจากการเป็นสถาบันการศึกษาระดับประเทศสู่การเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ถัดมาในปี 2005 ก็วางเป้าหมายทะเยอทะยานขึ้นคือการเป็นสถาบันอาชีวศึกษาชั้นนำของโลก และในปัจจุบัน แผนพัฒนา ITE ฉบับปี 2020-2024 หลังเศรษฐกิจโลกกำลังถูกดิสรัปต์จากวิกฤตโควิด ก็มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการปรับตัว พัฒนาทักษะความสามารถของตัวเองได้อย่างยืดหยุ่น สอดรับกับโลกที่ไม่แน่นอนสูง พร้อมกับส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย

ขณะที่ประเทศเยอรมนีก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาตามเทรนด์เศรษฐกิจอย่างไม่หยุดนิ่งเหมือนกัน เยอรมนีมีการตั้งกลไกที่ประกอบไปด้วยทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สหภาพการค้า สมาคมธุรกิจ สมาคมวิชาชีพ รวมทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ ในการระดมสมองออกแบบหลักสูตรร่วมกัน การพูดคุยเจรจาระหว่างกันหลายขั้นตอน กระทั่งได้หลักสูตรที่ลงตัวต่อความต้องการของทุกภาคส่วน ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพการศึกษา สภาวะความต้องการแรงงานในภาคเอกชน และยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐ โดยการระดมสมองมีขึ้นต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันสภาวะโลกที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีการสำรวจตลาดแรงงานอยู่ต่อเนื่อง ทั้งด้วยการทำวิจัยทางวิชาการ และการลงสำรวจภาคส่วนต่างๆ ทั้งบริษัทห้างร้าน บริษัทจัดหางาน รวมถึงแรงงาน เพื่อจะรับรู้ได้อย่างแท้จริงว่า ทักษะแรงงานที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในช่วงเวลานั้นๆ ก่อนนำไปสู่ข้อเสนอในการปรับหลักสูตรให้สอดรับกับเทรนด์

นอกจากเยอรมนีแล้ว ทั้งสิงคโปร์และเกาหลีใต้ก็มีกลไกที่เปิดให้ภาคการศึกษากับภาคเอกชนออกแบบและอัปเดตหลักสูตรร่วมกันในลักษณะนี้เช่นกัน อย่างเกาหลีใต้ก็มีคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม-สถาบันการศึกษา (Industry-School Cooperation Committee) ที่คอยทำหน้าที่นี้ ขณะที่ในสิงคโปร์ อย่างสถาบัน ITE ก็มีคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ (Academic Advisory Committees – AACs) ที่มีทั้งคนระดับแนวหน้าจากภาคการศึกษาและภาคเอกชนในหลายแวดวงมาร่วมพิจารณาและให้คำแนะนำการปรับปรุงหลักสูตร

เรียนไปทำงานไป พัฒนาคนด้วยประสบการณ์จริง

ไม่ว่าจะประเทศไหนก็แล้วแต่ การปฏิรูปการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในแต่ละช่วงเวลามีจุดประสงค์หลักคือการผลิตแรงงานให้ตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการแรงงานในตอนนั้นๆ แต่การจะผลิตทรัพยากรคนให้ตอบโจทย์อย่างแท้จริงสำหรับการศึกษาสายอาชีพ แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่การเน้นไปที่การเปิดตำรา นั่งเรียนในห้องเรียน แต่คือการเปิดทางให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ สัมผัสวิชาชีพนั้นผ่านประสบการณ์จริงให้ได้มากที่สุด

อาชีวศึกษาในประเทศเยอรมนีใช้ระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาคี (dual system) ที่มีทั้งการเรียนภาคทฤษฎีที่โรงเรียน ควบคู่ไปกับการฝึกงานในสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมแบบได้รับเงินเดือนไปด้วย โดยให้น้ำหนักไปที่การฝึกงานมากกว่า โดยทั่วไปใน 1 สัปดาห์ ผู้เรียนจะได้ใช้เวลาราว 3-4 วันไปกับการฝึกงานในสถานประกอบการที่ตนสังกัด และอีก 1-2 วันเป็นการเรียนในห้องเรียน ซึ่งผู้เรียนจะได้นำประสบการณ์จากการฝึกงานมาถ่ายทอดแบ่งปันในชั้นเรียนด้วย ระบบ dual system นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะทำให้สามารถผลิตผู้เรียนที่มีทักษะเป็นไปตามความต้องการของบริษัทได้จริง โดยมีความพร้อมทำงานจริงได้ทันทีที่เรียนจบ ซึ่งหลายคนก็มักทำงานต่อกับบริษัทที่ฝึกงาน หรือต่อให้ไม่ได้ทำงานกับบริษัทนั้น ก็ยังคงมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับบริษัทอื่นๆ ได้เหมือนกัน

ความสำเร็จของโมเดล dual system ของเยอรมนีกลายเป็นต้นแบบให้กับการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเกาหลีใต้ ก็นำโมเดลของเยอรมนีไปสู่การนำร่องโรงเรียนอาชีวศึกษารูปแบบใหม่ ‘ไมซ์เตอร์’ (Meister) ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการทำงานจริงเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการเรียนที่โรงเรียน รวมทั้งยังเน้นการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (Project-based Learning – PBL) เพื่อช่วยเสริมสร้าง soft skills สำคัญๆ ต่อการทำงาน ทั้งการวางแผน การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ Meister ยังใช้แนวคิด ‘ทำงานก่อน เรียนต่อมหาวิทยาลัยทีหลัง’ (Employment First, University Later) คือให้ผู้เรียนเริ่มทำงานในภาคอุตสาหกรรมทันทีหลังเรียนจบจากสถาบัน Meister เพื่อให้มีประสบการณ์การทำงานจนแน่น ก่อนไปเสริมสร้างความรู้เพิ่มเติมในระดับอุดมศึกษาต่อไป

สถาบันอาชีวศึกษาในสิงคโปร์ ก็ให้ความสำคัญมากกับการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง อย่าง ITE ก็ให้น้ำหนักการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติต่อการเรียนรู้ตามทฤษฎีในสัดส่วน 70:30 ขณะเดียวกันก็มีหลักสูตรในรูปแบบการเรียนไปทำงานไป (Work-study Program) ให้เลือกเรียนเหมือนกัน โดยทุกวันนี้รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเดินหน้าผลักดันให้มีการเรียนในรูปแบบ work-study มากขึ้นทั้งในสายวิชาชีพและสายสามัญ เพื่อเติมเต็มทักษะความรู้และประสบการณ์ของประชากรให้เข้มข้นขึ้นต้อนรับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด

การศึกษาสายอาชีพของทั้งเยอรมนี เกาหลีใต้ และสิงคโปร์นับว่าประสบความสำเร็จในการปั้นคนให้เป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างเยอรมนี พบว่าคนที่เรียนจบจากการศึกษาสายอาชีพ ได้รับการจ้างงานมากถึงร้อยละ 88 และยังเป็นปัจจัยให้เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป ขณะที่เกาหลีใต้ ก็พบว่าคนที่เรียนจบจากสถาบันการศึกษาระบบ Meister มีงานทำหลังเรียนจบสูงถึงร้อยละ 90-95 ส่วนสถาบัน ITE ของสิงคโปร์ ก็พบว่าบัณฑิตที่เรียนจบไปราวร้อยละ 80 ได้รับการจ้างงานภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังเรียนจบ

ผนึกกำลังรัฐ สานความร่วมมือเอกชนแนบแน่น

ความสำเร็จของอาชีวศึกษาในเยอรมนี เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ที่มีส่วนสำคัญมาจากการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตร รวมถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาในรูปแบบที่เน้นการเรียนรู้จากการเข้าไปทำงานกับสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นหลัก คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าความร่วมมือกับภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จ

ในประเทศเหล่านี้ สถาบันอาชีวศึกษามักผูกความร่วมมือกับบรรดากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแนบแน่น โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันมากมาย อย่างสถาบันอาชีวศึกษาในเกาหลีใต้ ก็มีความร่วมมือกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มแชโบล (Chaebol) เช่นเดียวกับในเยอรมนีที่มีอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าหลายเจ้า รวมทั้งธุรกิจ SMEs เข้ามาร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งมีตลาดในประเทศขนาดเล็กก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติค่อนข้างมาก

รูปแบบการเข้ามาให้ความร่วมมือของกลุ่มเอกชน ไม่ใช่เพียงการร่วมกำหนดทิศทางหลักสูตร และการเปิดรับผู้เรียนเข้าฝึกงานเท่านั้น แต่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเรียกได้ว่าครบวงจร ทั้งการสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรสำหรับการเรียนการสอน การสนับสนุนเชิงเทคนิคความรู้ การให้คำปรึกษา ซึ่งช่วยให้สถาบันการศึกษามีเงินทุนและทรัพยากรมากขึ้นที่จะดำเนินการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขณะเดียวกัน การเข้ามาของสถาบันเอกชนยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนหันมามองสถาบันอาชีวศึกษามากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษา และการทำสัญญารับนักเรียนที่เรียนจบเข้าทำงานตามโควตา

ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้น อีกภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของสถาบันอาชีวศึกษาในประเทศเหล่านี้ แน่นอนว่าย่อมเป็นภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้เห็นความสำคัญของการศึกษาสายอาชีพมาก จึงมีนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาของสถาบันอาชีวศึกษามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้วยการให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน ทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในสถาบันการศึกษาให้ทันสมัย อย่างในประเทศเยอรมนี ภาครัฐเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายกิจการภายในโรงเรียนหลายด้าน เช่น การบริหารโรงเรียน เงินเดือนครู การฝึกหัดครู การก่อสร้างปรับปรุงอาคาร และการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน

นอกจากนี้ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น อย่างในประเทศเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลมีนโยบายยกเว้นค่าเล่าเรียนให้สำหรับผู้เรียนในระบบ Meister มีการเสนอมอบทุนการศึกษา รวมทั้งยังอนุญาตให้เลื่อนเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้ถึง 4 ปีหากผู้เรียนได้รับการจ้างงานทันทีหลังเรียนจบ  

เพราะความรู้ไม่ได้สิ้นสุดแค่ใบปริญญา

เยอรมนี สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ผลิตทรัพยากรจากระบบการศึกษาสายอาชีพออกมาจำนวนมาก หากแต่สำหรับประเทศเหล่านี้ ความรับผิดชอบในการพัฒนาคนไม่ได้สิ้นสุดแค่วัยศึกษาเล่าเรียน เพราะตระหนักดีว่าท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แรงงานจำเป็นต้องพัฒนาทักษะตัวเองต่อเนื่อง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ทันโลกอย่างต่อเนื่อง แม้จะจบการศึกษาแล้วก็ตาม การส่งเสริมให้ทรัพยากรคนจากระบบอาชีวศึกษา ‘เรียนรู้ตลอดชีวิต’ จึงเป็นงานสำคัญ และยังเป็นอีกหนึ่งกุญแจความสำเร็จของการพัฒนาคนของประเทศเหล่านี้

ประเทศเยอรมนีมีโปรแกรม Continuing Vocational Education Training (CVET) สำหรับแรงงานที่เรียนจบจากการศึกษาสายอาชีพและมีประสบการณ์การทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ที่งานของตัวเองอาจถูกดิสรัปต์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ หรืออาจมีความต้องการส่วนตัวที่จะอัปเกรดทักษะของตัวเอง CVET ใช้รูปแบบ dual system คือแรงงานสามารถทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วยได้ โดยระยะเวลาเรียนขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้เรียน นายจ้าง และสถาบันการศึกษา ขณะที่รัฐก็มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ CVET ต่อเนื่องผ่านการสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้กับแรงงาน รวมทั้งยังมีการสนับสนุนเป็นพิเศษให้กับคนว่างงานและแรงงานทักษะต่ำด้วย

ขณะที่สิงคโปร์ก็มีโครงการ SkillsFuture Singapore (SSG) ซึ่งรัฐบาลร่วมมือสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ สร้างหลักสูตรระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสาขาอาชีพต่างๆ มากเกินกว่า 10,000 หลักสูตร สำหรับแรงงานที่ต้องการพัฒนาทักษะของตัวเอง โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่แรงงานที่จบจากระบบการศึกษาสายอาชีพเท่านั้นและเช่นเดียวกับเยอรมนี รัฐบาลสิงคโปร์ยังสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าเรียนในหลักสูตร SkillsFuture โดยให้เงินเครดิตตั้งต้นกับประชาชนทุกคนเมื่ออายุครบ 25 ปี คนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 12,500 บาท) และมีการเติมเงินเครดิตให้เป็นระยะตามโอกาส เป็นการสนับสนุนค่าเล่าเรียน โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีแพ็คเกจให้เงินสนับสนุนค่าเล่าเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะให้สอดรับโลกหลังโควิด เช่นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทักษะดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งยังเพิ่มหลักสูตรใหม่ๆ ให้ประชาชนเลือกเรียนมากขึ้นด้วย

เกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานหลังเรียนจบ โดยภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ร่วมกับสภาหอการค้าและสถาบันการศึกษาสายอาชีพต่างๆ จัดตั้งศูนย์ฝึกทักษะหลายแห่งและคอร์สเรียนที่หลากหลาย รวมทั้งมีแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์อย่าง K-MOOC (Korean Massive Open Online Course) โดยที่รัฐบาลก็สร้างแรงจูงใจผ่านการสนับสนุนค่าเล่าเรียนเหมือนเยอรมนีและสิงคโปร์ และขณะนี้ ภายใต้แผนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตฉบับที่ 4 (2018-2022) รัฐบาลเกาหลีใต้ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนาขยับขยายหลักสูตรทางด้านอาชีวศึกษา รับการเปลี่ยนผ่านของโลกแรงงานสู่ยุค 4.0  

ปรับความคิด พลิกมุมมองประชาชน
ไม่ให้อาชีวศึกษาเป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป

ประสบการณ์จากเยอรมนี สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ล้วนให้บทเรียนว่า การจะยกระดับการศึกษาสายอาชีพจนเป็นแกนหลักแห่งการขับเคลื่อนประเทศจนถึงทุกวันนี้ได้ ต้องอาศัยแรงผลักดันจากหลายด้านหลายภาคส่วนประกอบกัน ทั้งภาคการศึกษาเอง วิสัยทัศน์และการส่งเสริมจากภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ลำพังปัจจัยทั้งหมดที่ถูกพูดถึงด้านบนก็ยังไม่เพียงพอที่จะพัฒนาอาชีวศึกษาได้ หากปราศจากอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นั่นคือภาคประชาชนที่ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาในระบบสายอาชีพ เพราะไม่เช่นนั้น ไม่ว่าจะใช้นโยบายใดหรือจะใช้กี่ภาคส่วนมาช่วยขับเคลื่อน การพัฒนาอาชีวศึกษาจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย

การมีค่านิยมยอมรับการศึกษาสายสามัญว่าสูงส่งกว่าการศึกษาสายอาชีพเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้ยอมรับการศึกษาสายอาชีพมากขึ้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากของทั้งประเทศเหล่านี้

สิงคโปร์จัดว่าเป็นประเทศที่รุกหนักมากในการสร้างภาพจำใหม่ให้กับการศึกษาสายอาชีพ ผ่านการทำการตลาดอย่างเข้มข้น อย่างสถาบัน ITE ก็ใช้วิธีโหมโฆษณาตามพื้นที่สาธารณะหลายช่องทาง ทั้งทางหนังสือพิมพ์ รถโดยสารสาธารณะ ป้ายโปสเตอร์ และใบปลิว รวมทั้งการทำกิจกรรมอย่างการทำโรดโชว์ตามโรงเรียน กิจกรรม Open House เปิดสถานศึกษาให้เข้าชม รวมทั้งกิจกรรมจัดการแข่งขันประชันฝีมือบนรายการโทรทัศน์ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับอาชีพต่างๆ และการแจกรางวัลคนประสบความสำเร็จในสายอาชีพ ให้สาธารณชนได้เห็นภาพความสำเร็จของคนทำงานในสายนี้มากขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า ระหว่างปี 1997-2006 การทุ่มเททำการตลาดของ ITE ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของ ITE ที่มีต่อสาธารณะดีขึ้นถึงร้อยละ 76

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ยังกำหนดวิชาประเภทงานช่างต่างๆ เช่น งานไม้ งานไฟฟ้า งานเหล็ก และการเขียนแบบ เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสได้สัมผัสและทำความคุ้นเคยกับงานสายอาชีพมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่นักเรียนจะเลือกเดินบนเส้นทางสายอาชีวศึกษาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การประโคมการตลาดเพียงอย่างเดียวนั้นย่อมไม่เพียงพอที่จะจูงใจคนให้หันมามองอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะถึงแม้จะโหมกระหน่ำโฆษณาขนาดไหน แต่ถ้าสาธารณชนไม่ได้เกิดความรู้สึกว่าอาชีวศึกษาก็สามารถมอบเส้นทางอนาคตที่สดใสได้ ก็ย่อมไม่อาจเปลี่ยนใจมายอมรับการศึกษาสายอาชีพได้ เพราะฉะนั้น กุญแจสำคัญที่สุดในการจะเปลี่ยนมุมมองของคนที่มีต่ออาชีวศึกษา ก็คือเรื่องพื้นฐานอย่างการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

สถาบัน ITE ของสิงคโปร์เองก็จูงใจคนด้วยการพาสถาบันให้เดินหน้าสู่ความเป็นสถาบันอาชีวศึกษาระดับโลก สร้างความรับรู้ทั่วไปว่า ITE สามารถให้คุณภาพการศึกษาที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และสามารถเปิดประตูอนาคตการทำงานสู่ระดับนานาชาติได้ โดย ITE ทุ่มเททั้งปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร ยกระดับเครื่องไม้เครืองมือและรูปแบบการเรียนการสอน ถึงขั้นที่มีการยกเครื่องบินจริงๆ มาไว้ในสถาบันการศึกษาให้ผู้เรียนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเครื่องบินและงานบริการในสนามบินได้เรียนรู้จากของจริง รวมทั้งยังลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ทำกิจกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งยังปรับภูมิทัศน์ ดึงดูดใจให้เยาวชนอยากเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอาชีวศึกษาแห่งนี้

สิงคโปร์จัดว่าประสบความสำเร็จในการจูงใจประชาชนให้เลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้น ทุกวันนี้สิงคโปร์มีนักเรียนที่เลือกเรียนในสายอาชีพสูงถึงราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด เทียบกับในช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งสิงคโปร์เพิ่งก่อตั้งประเทศใหม่ๆ ที่ตอนนั้นยังมีนักเรียนเลือกเรียนในสายอาชีพไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

เยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนให้หันมาเรียนอาชีวศึกษา โดยมีนักเรียนเรียนอยู่ในระบบนี้ราวครึ่งหนึ่งของประเทศ โดยเยอรมนีสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติประชาชนให้ยอมรับอาชีวศึกษาได้ ด้วยการทุ่มเทพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนไปสู่ระดับโลก เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ขณะที่เกาหลีใต้มีสัดส่วนนักเรียนในระบบสายอาชีพอยู่ราวร้อยละ 18 โดยภาครัฐเกาหลีใต้กำลังพยายามจูงใจให้คนหันมาเลือกเรียนสายอาชีพกันมากขึ้น แนวทางหนึ่งคือการพัฒนาโรงเรียนอาชีวศึกษาระบบ Meister ที่มีความทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องไม้เครื่องมือทางการศึกษาต่างๆ ซึ่งทางการเกาหลีใต้ก็เชื่อว่าจะช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคตินักเรียนให้สนใจอาชีวศึกษามากขึ้นได้ในอนาคต

การจะปั้นอาชีวศึกษาให้เป็นหัวหอกแห่งการพัฒนาได้ ทัศนคติของประชาชนที่ให้การยอมรับอาชีวศึกษาถือว่าเป็นรากฐานสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทัศนคตินี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเริ่มจากการมีรัฐบาลที่มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีวศึกษา มองเห็นว่าอาชีวศึกษาก็มีความสำคัญ และสามารถเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เมื่อทัศนคติแบบนี้เริ่มต้นจากรัฐบาล คำว่า ‘อาชีวะสร้างชาติ’ ก็มีโอกาสเป็นจริงขึ้นมาได้ในประเทศนั้นๆ  


อ้างอิง

2013 Modularization of Korea’s Development Experience: The Development of Vocational High Schools in Korea during the Industrialization Period

2018 Lifelong Learning in Korea

Meister High School System in Korea 2020

Vocational education and training in Europe: Germany

Vocational education and training in Germany: Short Description

Case study: The Alliance for Initial and Further Training in Germany (in Strengthening the Governance of Skills Systems: Lessons from Six OECD Countries)

The Phoenix: Vocational Education and Training in Singapore

Toward a Better Future: Education and Training for Economic Development in Singapore since 1965

TVET Country Profile: Singapore June 2020

TVET Country Profile: Republic of Korea November 2018

How Singapore has overturned perceptions of vocational education, showing Hong Kong the way forward

Education at a Glance 2021: OECD Indicators

ITE Create (2020-2024)


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save