fbpx

“ยิ่งการปฏิรูปตำรวจล่าช้า ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้น” มองก้าวต่อไปของการปฏิรูปตำรวจ กับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ตำรวจคือ ‘หน้าด่าน’ ของกระบวนการยุติธรรม

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ตำรวจคือกุญแจปลดล็อกประตูสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ประตูไปสู่ความยุติธรรมจะเปิดออกหรือไม่ ความยุติธรรมจะได้รับการอำนวยอย่างเที่ยงธรรมหรือไม่ ความเที่ยงตรงต่อกฎหมายของ ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร’ คือหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยส่งเสียงตั้งคำถามต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ สารพัดคดีเต็มไปด้วยเงื่อนงำและความไม่กระจ่างหลายประการ ตั้งแต่ ‘คดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา’ ที่ขับขี่อย่างประมาทจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต แต่คดีกลับถูกยกฟ้อง ‘คดีผู้กำกับโจ้’ ที่มีการใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมาย โดยใช้กำลังในการซ้อมทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพ หรือล่าสุด ‘คดีแตงโม นิดา’ ที่กระบวนการสอบสวนหาความจริงนำไปสู่คำถามมากมายจากประชาชนที่ติดตามความคืบหน้าของคดี รวมทั้งกรณี ‘ตั๋วช้าง’ และการบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพและไม่เสมอหน้า ไม่ว่าจะในคดีทั่วไป หรือในคดีทางการเมือง

ทั้งหมดนี้ สะท้อนภาพความเสื่อมศรัทธาและความไว้เนื้อเชื่อใจของ ‘ราษฎร’ ต่อ ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร’ ที่ดูเสมือนว่า กฎหมายจะไม่ใช่ผู้บัญชาการสูงสุด

กระนั้น ใช่ว่าจะไม่มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนจากรัฐและแวดวงสีกากี ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ‘การปฏิรูปตำรวจ’ คือหนึ่งในวาระปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. แต่เวลาล่วงผ่านมากว่า 8 ปี การปฏิรูปยังไม่เสร็จสิ้นดีนัก ท่ามกลางภาพการเสนอและปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติหลายครั้งครา

คำถามมีอยู่ว่า การปฏิรูปผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจในครั้งนี้พอจะเป็นแสงสว่างเพื่อพาองค์กรตำรวจให้กลับมาสู่หนทางที่ควรจะเป็นหรือไม่?

สำหรับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อดีตนายตำรวจเจ้าของฉายา ‘ผู้กำกับกระดูกเหล็ก’ ผู้คร่ำหวอดในวงการตำรวจมาอย่างยาวนาน การปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง จะต้องเริ่มที่การปฏิรูปอำนาจสอบสวนที่ผูกขาดอยู่ในมือตำรวจ และการกระจายอำนาจองค์กรตำรวจ

อะไรคือที่มาของปัญหาการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจ? อะไรคือกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในองค์กรตำรวจได้อย่างหมดจด? ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังอยู่ในกระบวนการรัฐสภานั้นใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือไม่?

ทัศนะของ พ.ต.อ.วิรุตม์ จากบทสนทนาต่อไปนี้ อาจช่วยให้เราเห็นหนทางการปฏิรูปตำรวจที่จะทำให้ตำรวจกลับมาเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงตรงต่อกฎหมายได้จริง

ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน อะไรคือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข?

ปัญหาสำคัญที่สุดในปัจจุบันก็คือ ‘ประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม’ ซึ่งเวลาพูดถึงเรื่องนี้ ตำรวจผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้มีอำนาจก็มักจะโต้แย้งว่า ตำรวจไทยเป็นองค์กรที่ทำงานป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากอยู่แล้ว แต่คำถามก็คือ มันจริงไหม?  

หลายคนบอกว่าตำรวจไทยเก่งกว่าตำรวจประเทศใดในโลก จะเห็นว่าเมื่อเกิดอาชญากรรมสำคัญๆ ขึ้น ก็สามารถสืบสวนสอบสวนตามจับคนร้ายได้อย่างรวดเร็วมากมาย แต่มันหมายถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงหรือ ‘ประสิทธิภาพลวง’ กันแน่?

ขอเรียนว่า หน้าที่หลักของตำรวจมี 2 เรื่องเท่านั้น คือป้องกันไม่ให้ประชาชนกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อรัฐหรือแม้กระทั่งความผิดต่อส่วนตัวของบุคคลก็ตาม และหากป้องกันไม่ได้ มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ก็มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจับผู้กระทำผิดนั้นมาส่งให้พนักงานอัยการฟ้องศาลพิพากษาลงโทษ ทั้งเพื่อให้เข็ดหลาบและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อผู้อื่นกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน สังคมก็จะเกิดความสงบสุข 

แต่ทุกวันนี้ ตำรวจไทยป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ? ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนอาจจะบอกว่าใช่ แต่สำหรับผมแล้วไม่ใช่เลย! และคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนยากจน ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน

สังคมไทยไม่มีความปลอดภัยในความเป็นจริงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนจนหรือคนชั้นกลาง ส่วนคนมีอำนาจหรือมีเงินจะรู้สึกปลอดภัยกว่า ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน รวมทั้งอุบัติเหตุจราจร เนื่องจากได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น การติดตู้แดงหน้าบ้าน ซึ่งต้องจ่ายเงินเดือนละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งแท้จริงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการใช้รถนำขบวนเพื่อความสะดวกและป้องกันอุบัติเหตุ

ความไม่ปลอดภัยนี้ ไม่สามารถวัดได้จากสถิติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหลายสิบหรืออาจนับร้อยเท่า เนื่องจากปัจจุบันพนักงานสอบสวนไม่ได้รับคำร้องทุกข์ออกเลขคดีเวลามีประชาชนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจทุกคดีเช่นอดีต ถือเป็นวิธีลดสถิติอาชญากรรมของตำรวจผู้ใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ผลอย่างมาก แต่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศลงอย่างย่อยยับ

สังคมไทยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจมาอย่างยาวนาน นั่นสะท้อนว่าประชาชนยังไม่พอใจในประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจใช่ไหม?

แน่นอน เป็นความไม่พอใจในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ เสียงเรียกร้องนี้มีจากทั้งเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพและปัญหาตำรวจกลายเป็นผู้ร้ายก่ออาชญากรรมเสียเองอีกด้วย แต่ในความรู้สึกของผู้มีอำนาจที่เขาคิดว่าตำรวจทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องปฏิรูปอะไร นี่คือปัญหา

คนที่เรียกร้องปฏิรูปส่วนใหญ่เป็นคนจน คนชั้นกลางและคนไม่มีอำนาจ หนึ่งในความเดือดร้อนของประชาชนที่สำคัญก็คือ ปัญหาการไม่รับแจ้งความรับคำร้องทุกข์ของตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนตามที่กล่าวไว้แล้ว

นอกจากตำรวจไทยจะป้องกันอาชญากรรมสารพัดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลัก วิ่ง ชิง ปล้น ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมากมายแล้ว เวลาประชาชนไปร้องทุกข์ ส่วนใหญ่ก็ไม่รับคำร้องทุกข์และดำเนินการสืบสวนสอบสวนด้วยความรวดเร็วตามกฎหมาย โดยเฉพาะคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เช่น ขโมยเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านตอนกลางคืน ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด โดยทำเพียงลงบันทึกประจำวันรับทราบ แต่ไม่มีเลขคดีบันทึกเข้าสารบบราชการ   

การไม่บันทึกเลขคดีทันที ทำให้การกระทำผิดจบแค่ในกระดาษบันทึกประจำวันแผ่นเดียวตรงนั้น เป็นไปได้อย่างไร มีตำรวจประเทศไหนในโลกเขาทำแบบตำรวจไทยบ้าง 

อะไรคือต้นตอหรือเบื้องหลังของปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานของตำรวจ

การจัดองค์กรตำรวจไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการทำงานรักษากฎหมายมานานแล้ว และยิ่งเดินผิดทางไปเรื่อยๆ แทนที่จะรู้ว่าเดินทางผิดแล้วจะกลับมาเดินในทางที่ถูกต้อง 

ตำรวจไทยถูกจัดองค์กรในระบบชั้นยศและสายการบังคับบัญชาแบบกองทัพ ในขณะที่งานตำรวจแตกต่างกัน ทหารทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นหมู่ กองร้อย กองพัน กองพล และกองทัพ ในขณะที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีอำนาจตามกฎหมายในตัวเอง เปรียบเสมือนเม็ดโลหิตขาวที่คอยดักจับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ต้องรับคำสั่งจากใคร ทำงานอัตโนมัติ 

แต่ตอนนี้ตำรวจแบ่งชั้นยศแบบทหาร โดยเฉพาะแบ่งเป็นชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน ซึ่งคำว่า ‘ชั้นประทวน’ ภาษาอังกฤษคือ ‘Non-commissionered’ หมายถึง ‘ผู้ไม่มีอำนาจ’ ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่ได้สั่งอะไร ก็ทำไม่ได้ การนำชั้นยศแบบทหารมาใช้กับตำรวจจึงเกิดปัญหา เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิงผิดกฎหมาย  ถ้าเจ้านายไม่สั่ง ก็ไม่มีใครกล้าจับ หรือจับแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปล่อย ส่วนใหญ่ก็ยอมปล่อยด้วย

สังคมต้องเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่า คำว่า ‘ตำรวจ’ แผลงมาจากคำว่า ‘ตรวจ’ ในภาษาเขมร และไม่ได้หมายถึงแค่ตำรวจที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากแต่ตำรวจคือบทบาทหน้าที่ (function) อย่างหนึ่ง เจ้าพนักงานรัฐ กระทรวง ทบวง กรมใดที่มีหน้าที่ในการตรวจตรารักษากฎหมาย ล้วนเป็นตำรวจด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ประเทศไทยไม่ได้เรียกข้าราชการเหล่านั้นว่าตำรวจ เช่น เจ้าพนักงานป่าไม้ ศุลกากร สรรพสามิตร เทศกิจ ประมง เจ้าท่า ทรัพยากรธรณี ฯลฯ   

ฉะนั้น ตำรวจไทยที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่มียศแบบทหารมีมานานแล้ว ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นตำรวจรัฐสภาหรือตำรวจศาลก็ไม่ได้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมายในความรับผิดชอบของเขา และไม่มีใครกล้าโวยวายเรื่องการใช้คำว่าตำรวจ เหมือนที่มีคนไปทักท้วง กทม. ไม่ให้ใช้คำว่าตำรวจเทศกิจ (City Police) จนต้องเปลี่ยนเป็น ‘เจ้าพนักงานเทศกิจ’ แทนในปัจจุบัน   

ในแง่ความเป็นตำรวจผู้รักษากฎหมายและเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ระหว่างตำรวจมียศกับตำรวจไม่มียศ แบบใดจะทำงานได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงมากกว่ากัน? ก็น่าคิดใช่ใหม เพราะตำรวจมียศและวินัยแบบทหาร สั่งตามชั้นยศได้ ส่วนตำรวจไม่มียศไม่มีผู้มียศสูงกว่าที่สามารถสั่งงานได้ตามอำเภอใจ หรือสั่ง ‘มิชอบด้วยกฎหมาย’ ผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่คงไม่ยอมทำง่ายๆ เหมือนตำรวจแน่นอน   

ที่เห็นตำรวจประเภทมียศแต่งเครื่องแบบ ติดเครื่องหมายตามชั้นยศ ตั้งแต่นายสิบ นายร้อย นายพัน นายพล ไปจนกระทั่งพลตำรวจเอก แท้จริง สะท้อนความอ่อนแอของระบบงานรักษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมนะ  

เพราะเจ้านายสั่งให้ทำอะไรก็ทำ สั่งให้หยุดก็หยุด เหมือนอย่างกรณี ‘โจ้ ถุงดำ’  เจ้านายสั่งให้ไปเอาถุงพลาสติกมาเพิ่มเพื่อคลุมหัวผู้ต้องหาให้ขาดอากาศหายใจ จ่า นายสิบ และนายดาบตำรวจ ก็ยังเดินไปหยิบมาให้ และหลายคนก็ช่วยกันจับยึดตัวคนที่ถูกคลุมหัวนั้นอีกด้วย เมื่อถูกจับกุม จึงมีตำรวจผู้น้อยคนหนึ่งตะโกนขึ้นอย่างน่าสงสารว่า “ขอความเป็นธรรมให้ผมด้วย” เพราะต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งถ้าไม่ทำก็จะถูกกลั่นแกล้ง อาจถูกลงโทษทางวินัยได้ง่ายๆ หรืออย่างน้อยก็ถูกสั่งย้ายหรือเปลี่ยนหน้าที่

นอกจากนี้ วิธีผลิตบุคลากรตำรวจก็ผิด อย่างพวกนายร้อยเริ่มจากเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร 2 ปี นั่นคือการฝึกคนให้เตรียมเป็นทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศเพื่อทำการรบกับข้าศึกศัตรู ไม่ได้เตรียมให้เป็นตำรวจ เด็กหนุ่มก็ไปรับแนวความคิดและวัฒนธรรมการทำงานแบบแบบทหารมาตั้งแต่อายุ 16-17 ปี เช่น คำสั่งผู้บัญชาคือพรจากสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดที่ทำไม่ได้ หรือ ‘ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน’ รักรุ่นและพวกพ้อง จะผิดจะถูกต้องรักกันไว้ มันเป็นวิธีคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นผู้รักษากฎหมายและเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนะ ไม่ใช่รักพวกรักพ้อง รักรุ่นและสถาบัน

ฉะนั้น เมื่อผิดทั้งการจัดองค์กรตำรวจ รวมทั้งวิธีคิด ก็ยิ่งเละหนัก ทำให้ตำรวจไทยไม่มีประสิทธิภาพการทำงานในความเป็นจริงเลย

แต่เวลามีใครวิพากษ์วิจารณ์ ตำรวจผู้ใหญ่ก็จะยกตัวเลขการเกิดอาชญากรรมและสถิติการจับกุมขึ้นมาแสดงทุกครั้งว่า สามารถควบคุมอาชญากรรมได้ ในแต่ละเดือนแต่ละปีมีอาชญากรรมเกิดขึ้นเพียงเท่านั้นเท่านี้ หรือจับคนร้ายคดีสำคัญต่างๆ ได้ แต่หารู้ไม่ว่า บางครั้งเบื้องหลังของการจับมีปัญหาสารพัด กรณีโจ้ ถุงดำ คือตัวอย่างที่ชัดเจน

จึงนำมาสู่คำถามเดิมว่า ตอนนี้องค์กรตำรวจไทยปฏิบัติหน้าที่กันอย่างมีประสิทธิภาพจริงไหม? ไม่อย่างนั้นก็เถียงกันไม่จบไม่สิ้น

นอกจากปัญหาประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม อีกหลายปัญหาที่ที่สังคมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจมาอย่างต่อเนื่องคือ ‘การจับแพะ’ ‘การใช้อำนาจเกินขอบเขต’ ‘การซ้อมทรมาน’ หรือกระทั่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอหน้า ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร? 

ต้องบอกว่าตำรวจไทยเป็นตำรวจที่มีอำนาจและอิทธิพลมาก อาจกล่าวว่ามากที่สุดในโลกก็ได้ เพราะนอกจากมีการจัดโครงสร้างองค์กรและระบบการปกครองตามชั้นยศแบบกองทัพแล้ว ยังผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจสอบสวนการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีไว้แต่เพียงองค์กรเดียวอย่างเบ็ดเสร็จ ซ้ำขาดการตรวจสอบจากภายนอก ‘ระหว่างสอบสวน’ ไม่ว่าจะโดยฝ่ายปกครองคือผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการอย่างสิ้นเชิง

องค์กรใดก็รู้เห็นพยานหลักฐานไม่ได้  จึงก่อให้เกิดปัญหาสารพัดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน การใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมทั้งการทุจริตประพฤติมิชอบรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่หลายรูปแบบมากมาย 

ต้องเข้าใจว่า ตาม ป.วิ.อาญา แต่เดิมตำรวจไม่ได้มีอำนาจสอบสวนเพียงฝ่ายเดียวเช่นปัจจุบันนะ บางช่วงเวลา โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ได้ให้ฝ่ายปกครองคือปลัดอำเภอและนายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนด้วยซ้ำ โดยตำรวจมีหน้าที่ตรวจตรา จับกุม แล้วส่งให้ฝ่ายปกครองสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ถือเป็นหลักประกันที่จะก่อให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างดี เพราะการให้ผู้กล่าวหาจับกุมมาสอบสวนด้วย ไม่มีทางที่ความเป็นธรรมแท้จริงจะเกิดขึ้นได้  เพราะเมื่อกล่าวหาและจับเขามาแล้ว อย่างไรก็ต้องสอบสวนให้ผิดจนได้

ในอดีต เมื่อครั้งกรมตำรวจยังสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรี และปลัดกระทรวงแม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยสามารถตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ มีเรื่องราวหรือเกิดปัญหาอะไร ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังตั้งผู้ตรวจราชการมาสอบสวนตำรวจได้ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอำนาจย้ายตำรวจระดับสารวัตรลงไปในจังหวัดได้ ปัญหาตำรวจจึงไม่หนักหนาสาหัสเท่าปัจจุบัน แต่หลังจากมีการแยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอ ก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานหรือแม้กระทั่งปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของตำรวจได้เลย

ตอนนี้อำนาจในการตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาทุกฉบับ รวมทั้งการสอบสวนหรือไม่สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานอะไร แล้วส่งให้อัยการ ‘นั่งอ่านนอนอ่าน’ สั่งฟ้องต่อศาล อยู่ในมือตำรวจอย่างเบ็ดเสร็จ ตำรวจส่งอะไรไป ส่วนใหญ่อัยการก็ต้องเชื่อว่าเป็นจริงตามนั้น แม้กระทั่งมีการกระทำผิดเกิดขึ้น แต่ถ้าตำรวจไม่สอบสวนหรือส่งสำนวนไปให้อัยการ อัยการจะจะเอาคดีที่ไหนไปฟ้อง ตำรวจประเทศไทยจึงยิ่งใหญ่มาก 

บางคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผบ.ตร. รวมทั้งผู้บัญชาการผู้ที่เข้าไปสั่งการสอบสวนคดีนั้น ก็ยังทำความเห็นแย้งเสนอให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องได้อีก 

‘แพะรับบาป’ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เพราะตำรวจจับกุมเอง สอบสวนรวบรวมหรือไม่รวบรวมพยานหลักฐานเอง หรือแม้กระทั่งสอบสวนทำลายพยานหลักฐานก็ได้ พอมีคนออกมาร้องเรียนเปิดโปงว่าจับแพะ หรือศาลยกฟ้อง ก็เคลียร์ด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการจ่ายเงินปิดปาก

การซ้อมกระทำทารุณกรรมก็เช่นกัน ถ้าตำรวจเป็นคนกระทำ แล้วใครสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานล่ะ ก็ตำรวจอีกนั่นแหละ แม้ไม่ใช่คนเดียวกัน ก็เป็นพวกเดียวกัน หากินอยู่ด้วยกัน กรณีโจ้ ถุงดำ เป็นทั้งคนเอาถุงคลุมหัว และเป็นทั้งหัวหน้าพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุนะ เขาใช้อำนาจสอบสวนอยู่ 20 กว่าวันจนกระทั่งมีคลิปออกมา ระหว่างนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้สอบสวนทำลายหลักฐานอะไรไปบ้าง

คดีนี้ ถ้าไม่ตายซึ่งถือเป็นการตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน อัยการจังหวัดนครสวรรค์ก็ไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพได้ เหตุแห่งการตายก็อาจเปลี่ยนแปลงไปไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปรากฏตามคลิปนั้น คือเป็นไปตามที่แพทย์ถูกหลอกให้ออกหนังสือรับรองการตายว่าเสพยาเสพติดเกินขนาด ไม่ใช่ขาดอากาศหายใจแต่อย่างใด    

อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วงระยะหลังที่ผ่านมาคือบทบาทของตำรวจในคดีการเมือง

แน่นอน ต้นตอของปัญหานี้ก็มาจากระบบสอบสวนเหมือนกันที่ตำรวจไทยจะแจ้งข้อหาใครก็ได้ แสนง่าย จะผิดหรือไม่ เมื่อมีใครกล่าวหา ก็ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาจับพิมพ์ลายนิ้วมือบันทึกประวัติอาชญากรรมไปก่อน  

ประเทศเราจึงมีคนตกเป็นผู้ต้องหากันง่ายมาก ในประเทศที่เจริญแล้วจะไม่มีนะ เขาไม่แจ้งข้อหากับใครง่ายๆ โดยเฉพาะการเสนอศาลออกหมายจับต้องการผ่านการตรวจสอบพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการและอัยการต้องแน่ใจว่าจะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้  จึงเห็นชอบให้เสนอศาลออกหมายจับ และเมื่อจับแล้วก็ฟ้องโดยเร็วเลย เพราะพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว

ไม่ใช่จับไปก่อนแล้วนำผัดฟ้องฝากขังรอหาพยานหลักฐานภายหลังเหมือนประเทศไทย 

ซ้ำบางคดีศาลเองก็สั่งตามที่ตำรวจคัดค้านในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย คือน่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเท่านั้น สอดคล้องกับหลัก ‘ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด’ (presumption of innocence) ก่อให้เกิดความคับแค้นใจทั้งต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาและประชาชน

มีองค์กรไหนไหมที่พอจะตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจสอบสวนของตำรวจได้บ้าง

ขอเรียนว่า ขณะนี้มีแต่อัยการเท่านั้น โดยเฉพาะตัวอัยการสูงสุดในการออกระเบียบต่างๆ เพราะอัยการมีหน้าที่ตรวจพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน แต่การจะสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมก็มีข้อจำกัดตามระเบียบอัยการอยู่มาก สามารถสั่งให้สอบได้เฉพาะพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเท่านั้น ซึ่งถ้าหากมีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญ แต่ไม่ปรากฏในสำนวน อัยการก็ไม่สามารถรู้และไม่สามารถสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมอะไรได้ 

บทบาทของอัยการไทยต้องวิจารณ์ตรงๆ ว่า ทุกวันนี้ได้แต่นั่งรออ่าน ‘สำนวนสอบสวน’ ซึ่งตัวเองก็ไม่รู้ว่าคดีใดเป็น ‘นิยายสอบสวน’ บ้างหรือไม่? อย่างคดีบอส อยู่วิทยา สำนวนการสอบสวนสรุปว่า ตำรวจผู้ตายขับรถตัดหน้ากะทันหันตามปากคำพยานที่ตำรวจสอบไว้ให้ปรากฏในสำนวน จริงหรือไม่ไม่มีใครรู้

ปัจจุบัน หลังจากอัยการถูกวิจารณ์ปัญหาการทำงานในหลายคดี ก็เริ่มเห็นการขยับตัวเพิ่มขึ้น สั่งฟ้องยากขึ้น จากที่แต่เดิม หลายคนหลับหูหลับตาสั่งฟ้องไปเพื่อให้ทันเวลาใกล้ครบฝากขังบ้าง ตำรวจมาขอร้องขอความเห็นใจบ้าง หรือไม่รู้ว่าจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมอะไร คิดแต่ว่า “ผิดถูก ค่อยไปว่ากันในชั้นศาล” ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ไม่ถูกต้องและเสียหายต่อระบบความยุติธรรมอย่างยิ่ง

รวมทั้งยังไปไม่ถึงหลักการสั่งฟ้องที่ยุติธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานสากล คือต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วจึงฟ้อง และศาลก็ตรวจสอบพิพากษาลงโทษร้อยละ 99.99 ในขณะที่ประเทศไทยเรา ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ปฏิเสธต่อสู้คดีประมาณร้อยละ 60 เท่านั้น  ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อระบบความยุติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรงที่ต้องได้รับการปฏิรูป

ปัญหาระบบงานสอบสวนต้องแก้ไขอย่างไร การปฏิรูปตำรวจทั้งหมดคือทางออกหรือไม่ 

ประเทศไทยต้องเริ่มต้นฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยการปฏิรูประบบงานสอบสวน ทำลายการผูกขาดอำนาจของตำรวจ ทุกกระทรวงทบวงกรมต้องเริ่มการสอบสวนความผิดตามกฎหมายที่รับผิดชอบเองได้ อัยการต้องมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความยุติธรรม โดยแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา ว่าด้วยการสอบสวนเพียง 2-3 มาตราเท่านั้น

ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยประชาชนมีอำนาจจริงก็จะสามารถแก้ไขกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรไม่ยาก แต่สถานการณ์ปัจจุบันวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งยังเป็นปัญหา ร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และปฏิรูปกระบวการยุติธรรมจะผ่านวุฒิสภาลำบาก 

การปฏิรูปอำนวจสอบสวนสามารถแก้ไขปัญหาตำรวจทั้งหมดหรือไม่ เพราะหลายปีที่ผ่านมา การปฏิรูปตำรวจผ่าน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นวาระสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเป็นหนึ่งในวาระการปฏิรูปประเทศหลังรัฐบาล คสช. ขึ้นมามีอำนาจ แม้ว่าจะล่าช้าและย่ำอยู่กับที่มา 8 ปีแล้วก็ตาม อยากทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะเป็นยาวิเศษที่แก้ไขปัญหาทั้งหมดในแวดวงตำรวจอย่างเป็นระบบไหม

ไม่ใช่เลย ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับมีชัย ที่นายกรัฐมนตรีส่งให้ตำรวจตรวจได้ถูกแปลงสารร่างขึ้นใหม่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาฯ ขณะนี้เป็น ‘ยาหลอก’ เพราะส่วนใหญ่เป็นเพียงการจัดโครงสร้างและการแต่งตั้งโยกย้ายรวมทั้งการระบบบริหารงานภายในองค์กรเท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรในลักษณะของการกระจายอำนาจ หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างแท้จริงเลย   

ก่อนรัฐประหารปี 2557 ก็มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้ปฏิรูปตำรวจใช่ไหม พอกองทัพยึดอำนาจ ในแถลงการณ์ฉบับแรกระบุไว้ว่าจะมีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปตำรวจด้วย นำไปสู่การตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการแสดงออกไปตามกระแสเท่านั้น สปช. เสนออะไรต่อหัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเป็นมรรคเป็นผล สุดท้ายก็มาระบุการปฏิรูปตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งไม่ได้มีสาระสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูปวงการตำรวจอย่างแท้จริงเลย

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ในยุค คสช. อำนาจตำรวจโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายถูกดึงกลับมารวมศูนย์ที่ ผบ.ตร. หมดเลย แม้กระทั่งการย้ายนายสิบ จ่า นายดาบตำรวจ วิปริตมาก

ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.บวรศักดิ์ ระบุเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ดี เช่น ปรับระบบงานสอบสวนให้ ‘เป็นอิสระ’ ซึ่งง่ายและชัดเจน ส่วนตัวมองว่า นี่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ร่างฉบับนี้ไม่ผ่าน  

พอมีร่างฉบับใหม่ ก็เอาคำว่า ‘ปรับระบบงานสอบสวนให้เป็นอิสระ’ ออกไป และให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ขึ้นมาเพื่อร่าง พ.ร.บ. ตำรวจขึ้นมาใหม่ ซึ่งร่างส่วนมากไม่ได้มีประเด็นการปฏิรูปอะไรที่น่าสนใจเลย ไม่มีการถ่วงดุลหรือกระจายอำนาจตำรวจอะไร

ดีอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่า รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การปฏิรูปตำรวจต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากไม่สำเร็จ ให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปตามหลักอาวุโสเพื่อบีบให้ตำรวจต้องเร่งปฏิรูป แต่สุดท้ายพอไม่เสร็จภายใน 1 ปี หัวหน้า คสช. ก็ออกคำสั่งให้ยกเว้นได้ ซึ่งจริงๆ เป็นคำสั่งที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปตำรวจเลยลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เตะถ่วงกันไปมา 

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่พอจะเข้าท่าที่สุดในการปฏิรูปเท่าที่เคยมีคือ ชุดของคุณมีชัย ฤชุพันธ์ ที่มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีให้อยู่ในคณะกรรมาธิการ ร่างฉบับนี้มีการแบ่งสายงานอย่างชัดเจน สายสอบสวน สายป้องกัน สายบริหาร ย้ายข้ามสายไม่ได้หรือยาก แต่ละสายงานไปยุ่งกับสายงานอื่นไม่ได้ มีการวางหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย ใช้อาวุโส มีการประเมินผลให้คะแนน มีการตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมรับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งมีการแบ่งโรงพักออกเป็นสามชั้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดี เป็นธรรมกับตำรวจส่วนใหญ่

ถ้าเป็นไปตามร่างนี้ ใครจะเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับต้องไปสถานีตำรวจ ‘ชั้นสาม’ ที่อยู่ไกลๆ ก่อน อย่างหนองจอก มีนบุรี ลำหิน ไม่มีสิทธิขึ้นสถานีตำรวจชั้นหนึ่งอย่าง สน.ลุมพินี หรือ สภ.อ.เมือง ตั้งแต่ครั้งแรกเลื่อนตำแหน่ง ทุกคนต้องค่อยๆ เลื่อนขึ้นตามลำดับชั้นเมื่ออยู่ในตำแหน่งนั้นไม่น้อยกว่าสองปี

ส่วนร่างฉบับของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ไม่มีประเด็นอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปที่แท้จริงเลย ด้วยข้อจำกัดในการแต่งตั้งกรรมการโดยมีตำรวจผู้ใหญ่เข้าไปนั่งอยู่หลายคน จะปฏิรูปอะไร รวมหัวกันยกมือค้านกันตลอด ทำให้แทบจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

จริงๆ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโสก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก หลักนี้จะแก้ปัญหาในแวดวงตำรวจอย่างไร 

เราต้องเข้าใจก่อนว่า อาวุโสและความสามารถแท้จริงคือสิ่งเดียวกันนะ คนทำงานมานานกว่า โดยหลักการเขาย่อมมีความรู้ความสามารถและความชำนาญในงานนั้นมากกว่าคนที่ทำมาน้อยกว่ามิใช่หรือ ทั้งตำรวจและประชาชนถูกตำรวจผู้ใหญ่หลอกมานานว่าเป็นคนละเรื่องกัน จนกระทั่งอาวุโสถูกเข้าใจว่าเป็นพวกไร้ความสามารถด้วยซ้ำ

สมัยก่อนการแต่งตั้งเขาใช้อาวุโสเป็นหลักนะ ถ้ามีตำแหน่งว่าง ใครที่ทำงานมาก่อน มีอายุงานมากกว่าก็ได้รับการพิจารณาก่อน  ถ้าเห็นว่าไม่สามารถทำงานได้หรือไม่เหมาะสมอย่างไร ต้องมีคำอธิบายว่าเพราะอะไร เช่น มีปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่สายงาน หรือมีเรื่องถูกสอบสวนมีมูลความผิด

การแต่งตั้งตามอาวุโส ถือว่าเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้ตำรวจส่วนใหญ่ แต่การแต่งตั้งโดยไม่ยึดหลักอาวุโส ทำให้มีการร้องเรียนมากมาย จนกระทั่งนำไปสู่การแก้ไขหลักเกณฑ์แบ่งให้พวกอาวุโส 33% ส่วน 67% แต่งตั้งจากความรู้ความสามารถ ในความเป็นจริงแล้วส่วน 67% นี่แหล่ะคือการเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นและซื้อขายตำแหน่ง สร้างบุญคุณ เก็บส่วย

แต่ก่อนการแต่งตั้งตำรวจเหมือนการเข้าแถวตอนเรียงหนึ่ง ใครอยู่แถวหน้าก็ไปก่อน เหมือนเข้าคิวซื้อของ แต่ตอนหลัง กลายเป็นเข้าแถวหน้ากระดาน ทุกคนที่อยู่ในแถวมีสิทธิเท่ากัน ใครถือเงินเยอะกว่าก็ได้ไป อย่าปฏิเสธปัญหานี้กันเลย ทั้งตำรวจและประชาชนเขารู้กันทั้งนั้น  

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจของคุณมีชัยเป็นแนวทางการปฏิรูปตำรวจที่พอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่สุดท้ายกลับเป็นร่างที่ไม่ผ่านและมีการส่งร่างให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ‘แปลงสาร’ ?

ใช่ ตอนนั้นเราก็ดีใจในร่างที่คุณมีชัยเสนอไปที่นายกรัฐมนตรี มันไม่ใช่การปฏิรูปที่สมบูรณ์แบบ 100% แต่ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยไว้ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องตำรวจจังหวัดที่ยังไม่มี

เวลาที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งใครขึ้นมาเพื่อร่างกฎหมายอะไร เขาไม่ตั้งคนที่จะปฏิรูปแบบถึงลูกถึงคนหรอก ขนาดร่างฉบับมีชัย ตำรวจผู้ใหญ่ยังรับไม่ได้เลย และนายกฯ ก็ส่งไปให้ตำรวจแห่งชาติพิจารณา  

ลองคิดดูว่าส่งกฎหมายปฏิรูปไปให้องค์กรที่ถูกปฏิรูปตรวจพิจารณา แล้วเขาจะยอมให้ปฏิรูปตัวเองให้สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์มากมายหรือ? สตช. ไม่เอาสักเรื่อง แล้วก็เสนอร่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีอะไรเลย

นี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนะ เมื่อมีการส่งร่างให้พิจารณา อะไรเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คุณต้องทำเป็นความเห็นเสนอ ไม่ใช่ร่างขึ้นใหม่ แทบไม่เหลืออะไร การแบ่งชั้นโรงพักออกเป็นสามชั้น ก็แบ่งเป็นแค่สองชั้น เรื่องหลักอาวุโสตัดออกหมด เรื่องการแบ่งสายงานก็ปรับจนไม่ได้มีการแบ่งอย่างเด็ดขาด

ในช่วงพิจารณาวาระสอง แปรญัตติ ก็พยายามจะเอาของดีๆ ใส่กลับเข้าไป แต่ก็เป็นเรื่องยากกว่าการใช้ร่างฉบับของมีชัยแล้วแปรญัตติ

ทำไมที่ผ่านมา การปฏิรูปตำรวจถึงเป็นไปอย่างล่าช้ามาก 

เพราะความไม่จริงใจของผู้มีอำนาจ รวมทั้งการที่เขาไม่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญามีปัญหาและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารมาตลอดชีวิต ถามว่าในสังคมไทย คนมีอำนาจมีโอกาสเผชิญกับความไม่ยุติธรรมไหม? นี่คือปัญหาของความไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเป็นประชาธิปไตย คนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ดีๆ ชั่วๆ บ้าง แต่ก็มีสำนึกเช่นเดียวกับประชาชน เพราะเขาสัมผัสและรับรู้ปัญหาจริง

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่เรามีอยู่ตอนนี้ พอจะเป็นความหวังในการปฏิรูปตำรวจได้มากน้อยแค่ไหน ปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ 

มันไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริงอะไร เป็นแค่การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องไม่ใช่การปรับปรุงพัฒนา แต่เป็นการปฏิรูปตำรวจแบบยกเครื่อง คือเรื่องตำรวจจังหวัด ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องนี้ 

อย่างร่างฉบับมีชัยที่บอกว่าพอใช้ได้ ถ้าเปรียบเทียบว่าการปฏิรูปตำรวจคือการเดินทางไปเชียงใหม่ ร่างของมีชัยก็ไปได้ประมาณอยุธยา-นครสวรรค์ เพราะสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการจริงๆ คือตำรวจจังหวัดและการกระจายอำนาจ 

ตำรวจต้องสังกัดจังหวัด ผู้ว่าฯ ต้องคุมตำรวจ แต่งตั้งโยกย้ายภายในจังหวัดได้ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการตำรวจจังหวัด ที่ไหนๆ ในโลกก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ต้องดึงตำรวจออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่าลืมว่างานของตำรวจจริงๆ แล้ว 99% จบได้ที่สถานีตำรวจ ไม่ใช่กองบัญชาการ หรือแม้กระทั่งกองบังคับการ

ต้องเข้าใจว่า งานของตำรวจคืองานในพื้นที่ ต้องรู้จักพื้นที่ รู้จักคน อย่างตำรวจที่อยู่ในพื้นที่มานาน เวลาเกิดเหตุอะไรจะรู้เลยว่าใครก่อเหตุ แต่นี่ย้ายข้ามจังหวัด ย้ายจากประจวบฯ ไปยโสธร ก็ไปเดินเป็นหมาหลง ยิ่งตำรวจชั้นผู้ใหญ่เวลาแย่งตำแหน่งกันในกรุงเทพฯ พอไม่ได้ก็ไปลงที่ต่างจังหวัด ตำรวจชั้นผู้น้อยคือคนในพื้นที่ ส่วนตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่รู้จักภูมิประเทศและผู้คน ทุกวันนี้สถานีตำรวจอยู่ได้ด้วยตำรวจผู้น้อยนะ ไม่ใช่ตำรวจผู้ใหญ่ และบางคนยังสร้างปัญหามากมายด้วยซ้ำ

เรื่องการสอบสวนอย่างที่พูดไปแล้ว ต้องให้อัยการเข้าตรวจสอบในคดีสำคัญ ไม่ได้หมายความว่าให้อัยการสอบสวนร่วมกับตำรวจนะ แต่ให้ตรวจสอบในกรณีที่มีปัญหาเท่านั้น

ในฐานะที่เป็นอดีตนายตำรวจและมีบทบาทในการผลักดันวาระการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปตำรวจ จะร่าง พ.ร.บ.ตำรวจอย่างไร อะไรคือสาระที่จะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ง่ายๆ ผมจะเขียนเพิ่มให้มีการตั้งคณะกรรมการตำรวจจังหวัดอย่างที่บอกไปแล้ว ความจริง ใน พ.ร.บ.ฉบับเก่าก็มีอยู่แล้ว คือคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารงานตำรวจจังหวัด (กต.ตร.) การแต่งตั้งโยกย้ายให้คณะกรรมการตำรวจจังหวัดให้ความเห็นชอบ ในคณะกรรมการมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผบก.ตำรวจ อัยการจังหวัด และอาจมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม หากคณะกรรมการนี้ไม่เห็นชอบให้ย้าย ก็ต้องย้ายไม่ได้ โดยเฉพาะการย้ายออกจากจังหวัด จะป้องกันไม่ให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีถูกกลั่นแกล้ง ส่วนตำรวจที่บกพร่องในหน้าที่ก็ไม่สามารถรับตำแหน่งต่อได้ ไม่ใช่แบบตอนนี้ที่การโยกย้ายคือการชุบตัว ‘ทำชั่วจากหาดใหญ่ แต่ไปสดใสที่ขอนแก่น’ แบบนี้ต้องไม่มี 

อะไรที่จะปลดล็อกให้การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ประชาชนต้องมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรืออย่างน้อยต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร 100% ตอนนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจประชาชนเต็มร้อย เพราะนายกฯ มี ส.ว.แต่งตั้งในมืออยู่แล้ว 250 คน นี่คือการวางหมากกลในการสืบทอดอำนาจ ฉะนั้น ถ้าจะทำให้การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้จริงและอย่างถึงที่สุดเลยคือ ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้อำนาจประชาชนจริงๆ เพราะมันมีหลายเรื่องที่พัวพันกันอยู่ แก้นิดๆ หน่อยๆ ไม่มีประโยชน์อะไร เราถึงตกอยู่ในสภาวะที่หลายเรื่องผู้คนในประเทศดิ้นกันขลุกขลักไม่มีทางออกเสียที

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ตำรวจเป็นอีกประเด็นที่สังคมตั้งคำถามอย่างมาก จะทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นและไว้วางใจตำรวจได้อย่างไร

ต้องมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ รวมทั้งต้องแยกอำนาจสอบสวนออกมา อย่าลืมว่ามนุษย์ไม่ได้ดีด้วยตัวเอง ทุกอำนาจที่ขาดการตรวจสอบนำไปสู่ความชั่วร้ายในที่สุดเสมอ ซึ่งตอนนี้อำนาจในการสอบสวนของตำรวจไทยเป็นอำนาจที่ขาดการตรวจสอบโดยองค์กรอื่นอย่างสิ้นเชิง

สุดท้าย คำพูดหนึ่งที่มักจะตามมาเมื่อพูดถึงประเด็นความยุติธรรมคือ ‘ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม’ ในฐานะที่ตำรวจคือหน้าด่านของกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจที่ล่าช้านับว่าเป็นความอยุติธรรมด้วยไหม

ใช่ เพราะว่าการไม่ปฏิรูปตำรวจได้สร้างความอยุติธรรมให้เกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว ยิ่งการปฏิรูปล่าช้าไปเท่าใดก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นและสะสมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save