fbpx

เจาะเทรนด์พัฒนาทักษะของคนไทย ในยุคดิสรัปชันใหญ่ของตลาดแรงงาน กับ วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

‘upskill’ (พัฒนาทักษะเดิม) ‘reskill’ (เพิ่มเติมทักษะใหม่) และ ‘lifelong learning’ (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) คือคำศัพท์ที่หลายคนอาจได้ยินเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลานี้ 

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก อันเสริมแรงเร่งด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายแวดวงอาชีพกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไป โดยรายงานของ World Economic Forum ในชื่อ The Future of Jobs Report 2020 คาดการณ์ไว้ว่าร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะของตัวเองภายในปี 2025 ตอกย้ำว่าการมีทักษะความรู้แค่เท่าที่เรียนมาในมหาวิทยาลัยหรือเท่าที่สั่งสมจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ไม่เพียงพออีกต่อไป 

การจัดสรรเวลาว่างจากการทำงานส่วนหนึ่งไปกับการพัฒนาทักษะตัวเองจึงกำลังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับใครหลายคน โดยช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือ MOOCs (Massive Open Online Courseware) ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนบนโลกออนไลน์ ที่มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมากหน้าหลายตา เช่นที่รู้จักกันดีในระดับโลกอย่าง Coursera, Udemy, LinkedIn Learning และยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่ให้บริการโดยสถาบันการศึกษา รวมถึงภาครัฐ โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังพบว่ามีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 เช่น Coursera ที่มีผู้ใช้บริการทั้งปี 2020 ถึงกว่า 760 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเกือบร้อยละ 70 ทั้งจากภาวะล็อกดาวน์และจากกระแสความตื่นตัวของผู้คน

ประเทศไทยก็มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ MOOCs อยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดย 101 มีโอกาสพูดคุยกับ ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์อย่าง Skooldio เพื่อสำรวจตลาดแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะความรู้ออนไลน์ในไทย หาคำตอบว่าคนไทยกำลังตื่นตัวพัฒนาทักษะตัวเองกันขนาดไหน ทักษะอะไรบ้างที่แรงงานไทยกำลังนิยมเรียน พร้อมมองเทรนด์การปรับตัวของทั้งแพลตฟอร์ม สถาบันการศึกษา และภาครัฐ ในยุคที่การเรียนรู้ไม่ได้จบแค่ใบปริญญาอีกต่อไป 

ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio

ตอนนี้ทั่วโลกพูดถึงเรื่อง upskill, reskill และ lifelong learning กันเยอะมาก ในมุมมองของคุณ คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้กำลังมีความสำคัญมากขนาดไหน 

lifelong learning เป็นสิ่งที่ดีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว คนที่หมั่นหาความรู้ หมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลาก็จะเก่งขึ้น สามารถทำงานได้ดีกว่าคนอื่น แต่ที่เป็นกระแสมากในช่วงนี้ก็เป็นเพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิมมาก ใครๆ ก็พูดกันว่าเทคโนโลยีตอนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงแบบ exponential เพราะฉะนั้นมันจะส่งผลให้อายุของความรู้ที่เราเรียนมากำลังสั้นลง หลายๆ อย่างที่เราเรียนมาในสมัยมหาวิทยาลัยกำลังจะล้าสมัยไปแล้ว หรือหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นใหม่ก็ยังไม่ทันได้ถูกสอนในมหาวิทยาลัย แต่กลับเป็นสิ่งที่ตลาดแรงงานกำลังต้องการมากๆ ในตอนนี้ เป็นเหตุผลว่าทำไมคนทุกสายงานจำเป็นต้องพยายาม upskill และ reskill กันมากขึ้น

เวลาพูดถึงเทคโนโลยี หลายคนจะนึกถึงแค่อาชีพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง แต่จริงๆ ทุกอาชีพเจอการเปลี่ยนแปลงหมด เช่น แต่ก่อนเราเรียนการตลาด (marketing) มา ซึ่งในมหาวิทยาลัยตอนนี้อาจจะยังสอนเรื่องพื้นฐานอย่าง 4P (Product, Price, Place, Promotion) อยู่ แต่ปรากฏว่าใน job description ของงานสายนี้ในทุกวันนี้ อยากได้คนที่ยิง ads (advertisements – โฆษณา) ทาง Facebook และ Google เป็น หรือในสายอักษรศาสตร์ ปกติอาจเคยเรียนเรื่องการวิเคราะห์วรรณคดีหรือวิเคราะห์คำพูด แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเรื่อง Computational Linguistics (ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์) ซึ่งเกี่ยวกับการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำความเข้าใจภาษามนุษย์ได้ นี่คือช่องว่างที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรียนจบสายไหนมา สุดท้ายถ้าตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็อยู่ยาก

อีกปัจจัยที่เข้ามากดดันให้เราต้องปรับตัวก็คือโควิด-19 ที่ทำให้หลายอาชีพได้รับผลกระทบหนักมาก เช่น มัคคุเทศก์ จนหลายคนถึงขั้นต้องเปลี่ยนอาชีพไปเลย ก็เป็นอีกเหตุผลที่ว่าทำไมกระแสการพัฒนาทักษะตัวเองถึงมาแรง 

แล้วในประเทศไทย ถือว่าคนไทยตื่นตัวพัฒนาทักษะตัวเองกันมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าดูจากการเก็บสถิติของแพลตฟอร์มของคุณเอง

ถามว่ามากขึ้นไหม ก็มากขึ้น เรามีคนลงทะเบียนมาเรียนกับเราเพิ่มขึ้นจากก่อนปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ประมาณ 3 เท่าตัว แต่มากขึ้นจนโอเคแล้วไหม ผมคิดว่ายัง อย่าง Skooldio เองตอนนี้ก็มีลูกค้ามาจากองค์กรต่างๆ เป็นหลักมากกว่า คือองค์กรบังคับให้คนของตัวเองมาเรียน เพราะเขามองเห็นว่าถ้าเขาไม่พัฒนาทักษะพนักงาน เขาจะไม่มีบุคลากรที่ช่วยให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ แต่ก็มีปัญหาอีกส่วนหนึ่งว่า พอคนโดนบังคับมาเรียน ก็อาจเรียนไม่จบ หรือซื้อคอร์สดองไว้ 

เพราะฉะนั้นผมว่าคนไทยยังไม่ตื่นตัวกันขนาดนั้น สาเหตุหลักๆ คือคนไทยหลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้ตัวว่าการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจริงๆ แล้วแรงกว่าที่เราคิด แต่อย่างน้อยผมคิดว่าการมีสถานการณ์โควิด-19 ช่วยให้คนตระหนักขึ้นมาได้บ้าง อย่างคนเป็นพ่อค้าแม่ค้า เมื่อก่อนก็อาจไม่ได้รู้สึกว่าต้องมา upskill เพราะก็ขายของได้ปกติ มีเงินอยู่แล้วก็อยู่ได้ แต่พอเกิดโควิด-19 กลายเป็นว่าไม่มีคนมาเดินตลาด ทำให้ต้องเริ่มปรับตัว เอาตัวเองไปอยู่บนแพลตฟอร์มอย่าง Shopee หรือ Lazada พวกเขาถึงตระหนักมากขึ้นว่าตอนนี้จำเป็นมากที่จะต้องพัฒนาทักษะตัวเอง

ถ้าคนไทยยังตื่นตัวไม่มากพอ มีแนวทางไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น ตัวแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะออนไลน์เองมีบทบาทในมุมไหนได้บ้างหรือไม่

สิ่งที่เราทำตลอดคือการสร้าง awareness (ความตระหนักรู้) เพราะหลายคนแค่ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีช่วยอะไรเขาได้ แต่ถ้าเขารู้เมื่อไหร่ เขาก็จะตื่นตัวมากขึ้น จริงๆ แล้วประเทศไทยมีข้อดีเรื่องการใช้งานเทคโนโลยีสูงอยู่แล้ว เหลือแค่ต้องทำให้เขารู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร เช่น ปกติพ่อค้าแม่ค้าอาจไม่ได้สนใจใช้ chatbot (ซอฟต์แวร์โต้ตอบบทสนทนาอัตโนมัติ) แต่พอเริ่มเห็นพิมรี่พายเอา chatbot มาช่วยรับออเดอร์สินค้าหรือช่วยทำอะไรอีกหลายอย่างได้อัตโนมัติ เขาก็อาจจะเริ่มคิดได้ว่าสิ่งนี้จะอาจจะช่วยให้เขาทำธุรกิจได้ดีขึ้น 

ถ้าเราจะไปตั้งโจทย์ว่าคนต้องเรียนเพิ่ม ต้องมีความรู้เพิ่ม คนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าอยากเรียน เพราะปกติคนก็ไม่ค่อยอยากเรียนอยู่แล้ว แต่แทนที่จะตั้งโจทย์อย่างนั้น เราเปลี่ยนมาตั้งโจทย์ว่าถ้าคุณรู้เรื่องนี้เพิ่ม คุณจะทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น รายได้คุณจะเพิ่มขึ้น จะทำให้คนตื่นตัวขึ้นมากกว่า 

แล้วคนกลุ่มไหนที่มีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากที่สุด

ส่วนมากก็จะเป็น first/second jobber (คนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังเรียนจบ) อีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนที่อยากย้ายสายงาน ตอนนี้ศาสตร์ที่เป็นที่สนใจมากสำหรับคนกลุ่มนี้คือคอร์สเกี่ยวกับ UX/UI (User Experience / User Interface) ซึ่งเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความเข้าใจผู้ใช้งาน คนที่มาเรียนเรื่องนี้ก็มาจากหลายสาย ทั้งคนที่เคยเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ ออกแบบกราฟิกบนเว็บไซต์ หรือออกแบบสิ่งพิมพ์ ซึ่งอยากเปลี่ยนมาทำงานด้านผลิตภัณฑ์จริงจัง หรืออย่างคนจากสายจิตวิทยากับรัฐศาสตร์ที่มีความเข้าใจ user มากๆ เพราะเรียนสิ่งที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเยอะ ก็สนใจย้ายมาด้านนี้เหมือนกัน หรือแม้แต่คนที่เคยเป็นแอร์โฮสเตสก็สนใจเยอะมาก เพราะเคยทำงานให้บริการมาก่อน เลยมีเซนส์ในเรื่องการทำความเข้าใจลูกค้าค่อนข้างดี

ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio

นอกจากนี้แล้ว มีคอร์สแบบไหนที่กำลังมาแรงอีกบ้าง

ถ้าเป็นลูกค้าที่เป็นองค์กร ก็จะให้ความสนใจกับสองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ design thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) เพราะองค์กรก็อยากทำตัวเองให้เป็น user centric หรือ customer centric (ให้ผู้ใช้งาน/ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง) มากขึ้น คืออยากทำผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

อีกเรื่องก็คือเรื่อง data (ข้อมูล) อย่างคนที่เป็นนักการตลาด ในทุกๆ วันก็ต้องคอยตัดสินใจว่าจะยิง ads ทางไหนดี ใช้อินฟลูเอนเซอร์คนไหนดี วันนี้โทรหาลูกค้าคนไหนดี จะสั่งของเท่าไหร่ดี คือทุกคนมีเรื่องต้องตัดสินใจตลอดเวลา ซึ่งโจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจได้มากขึ้น เพื่อให้การทำงานในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายองค์กรเลยเริ่มตระหนักว่าถ้าเขาอยากเป็นองค์กรที่เป็น data-driven (ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล) จริง เขาก็ต้องทำให้คนในองค์กรใช้ข้อมูลเป็น 

ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ใช่องค์กร คอร์สที่ได้รับความสนใจเยอะคือ digital marketing (การตลาดดิจิทัล) คนที่มาเรียนส่วนมากเป็นผู้ประกอบการ เพราะเขามองเห็นว่าช่วยให้เขาทำเงินได้ แต่ตอนนี้ Skooldio ไม่ได้มีคอร์สนี้แล้ว เพราะเป็นคอร์สที่สอนยาก สุดท้ายแล้วชีวิตเราก็ไปผูกกับ Google เสียเยอะ แล้วเทรนด์ก็เปลี่ยนบ่อยมาก เราก็เลยเปลี่ยนมาสอนอะไรที่พื้นฐานกว่านั้นหน่อย 

คุณคิดว่าในยุคสมัยนี้มีทักษะไหนบ้างที่สำคัญมาก แต่คนไทยยังไม่ค่อยสนใจเรียนเยอะขนาดนั้น

design thinking ผมว่าเป็นอะไรที่ทุกคนควรเรียนนะ เอาง่ายๆ เลย เวลาองค์กรของไทยออก ads อะไรมา ผมแทบไม่ค่อยเห็นคนไทยตื่นเต้นกับมันเท่าไหร่เลย แต่พอเป็นสตาร์ทอัพเมืองนอกกลับสร้างไวรัลในประเทศเราได้ ผมว่ามันเป็นเรื่องหลักคิดที่แตกต่างกัน หลายบริษัทอาจยังมีวิธีการทำงานแบบเดิม คือให้ผู้บริหารเคาะลงมาว่าทำอะไรแล้วจะโดนใจคนบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว มีความหลากหลายขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เคาะมาแล้วสุดท้ายไม่โดนมีออกมาเยอะ เรื่อง design thinking จึงถือว่าจำเป็น

ถ้าเป็นมุมผู้ประกอบการ ผมว่าเรื่อง data ก็จำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ที่หลายร้านค้า หลายผู้ประกอบการมีช่องทางการขายเต็มไปหมดทั้ง Shopee, Lazada และอีกหลายแพลตฟอร์ม คำถามคือตอนนี้ช่องทางไหนขายดีสุด อะไรขายดีในช่องทางไหน ลูกค้าในช่องทางไหนชอบของแบบไหน ถ้าจะจัดโปรโมชันควรทำอย่างไร ถ้าเขาไม่รู้ data ก็จะแจกหรือขายทุกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าหมด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จำเป็นมาก อาจจะเรียกเป็นศัพท์ว่าต้องมี data literacy (ทักษะทางข้อมูล) อย่างน้อยต้องมีความรู้พื้นฐาน สามารถหยิบจับข้อมูลมาใช้งานได้

แล้วทุกวันนี้หลายคนกำลังคิดว่า หุ่นยนต์กำลังจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลายงาน แต่ผมต้องบอกว่าหุ่นยนต์มักจะเก่งงานที่เฉพาะด้าน ยังมีสิ่งที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์อยู่ โดยมีอยู่สองด้านหลักๆ ที่ควรเป็นเทรนด์ในการพัฒนาทักษะตัวเอง ด้านแรกคือ complex problem solving หรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และอีกด้านหนึ่งคือทักษะความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์กับความเห็นอกเห็นใจคน 

คุณมองตลาดของแพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะทางออนไลน์ในไทยตอนนี้อย่างไร

ผมว่าเรามีแพลตฟอร์มลักษณะนี้อยู่มากเกินพอ บางทีก็มีผู้เล่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมา รวมถึงสถาบันการศึกษาเองที่ลุกขึ้นมาเล่น เพราะเริ่มตระหนักแล้วว่าตัวเองปรับตัวไม่ค่อยทัน รวมถึงมีผู้เล่นจากต่างประเทศก็พยายามเข้ามาในเมืองไทยเยอะมากเช่นกัน ตอนนี้หลายองค์กรในประเทศไทยเริ่มใช้บริการแพลตฟอร์มอย่าง Coursera, Udemy หรือ LinkedIn Learning ที่มาจากต่างประเทศโดยตรง แต่มันมีข้อจำกัดคือเราต้องมีภาษาอังกฤษแข็งแรง เพราะฉะนั้นองค์กรที่ใช้แพลตฟอร์มพวกนี้เป็นองค์กรใหญ่เท่านั้น ถ้าเป็นแพลตฟอร์มของคนไทยเองก็มีหลายเจ้าอย่าง Skooldio , SkillLane, ConicleX และ Future Skill

เพราะฉะนั้นคอร์สเรียนทุกวันนี้มีให้เลือกเยอะมาก ยังไม่นับรวมกูรูตามเพจ Facebook ต่างๆ และคนที่อัปโหลดความรู้ให้ฟรีๆ บน YouTube ผมถึงชอบบอกทุกคนว่าแค่เราขยันหาความรู้ เราอาจไม่ต้องใช้แพลตฟอร์มที่ต้องเสียเงินพวกนั้นก็ได้ ถ้าเราขยันเสิร์ช ก็มักจะเจอความรู้ฟรีๆ อยู่ที่ไหนสักที่ให้เราเรียน 

ผมแบ่งแพลตฟอร์มในประเทศไทยเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ content provider คือคนที่ทำคอนเทนต์ของตัวเองออกมาแบบออริจินัล กับอีกประเภทคือคนที่เป็น marketplace คือเป็นตัวกลางที่เปิดให้คนอื่นเอาคอนเทนต์มาลง ถ้าเป็นอย่างหลังมีข้อดีคือวิชาความรู้จะหลากหลายมาก ถ้าคุณไปดูบน SkillLane จะเห็นว่ามีหลายคอร์สที่แปลกใหม่ เช่น วิธีการเพิ่มส่วนสูง ใครจะไปเชื่อใช่ไหมว่ามีคอร์สแบบนี้ ส่วนถ้าเป็น Skooldio เอง เราค่อนไปทางการเป็น content provider คือเราออดิชันคนสอน วางหลักสูตร พยายามจัดคอร์สเรียน แล้วถ้าเป็นแพลตฟอร์มอย่าง ConicleX ก็จะเป็นลักษณะไฮบริด คือเป็นตลาดก็จริงแต่ไม่ใช่ว่าจะเอาใครก็ได้มาทำคอนเทนต์ เขาใช้วิธีสร้างพาร์ทเนอร์กับสถาบันต่างๆ ให้มาช่วยทำคอนเทนต์ให้เขามากกว่า หรืออย่าง Coursera ก็จะอาศัยมหาวิทยาลัยเป็นคนทำคอร์ส ซึ่งก็ทำให้แพลตฟอร์มได้รับความน่าเชื่อถือจากแบรนด์มหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย

แล้วถ้าถามว่าการเรียนกับแพลตฟอร์มที่ต้องจ่ายเงินยังจำเป็นอยู่ไหม ผมมองว่าถ้าสมมติคุณเป็นคนที่ยังไม่ค่อยรู้อะไรเลย แต่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องนั้นๆ การที่เรายอมจ่ายเงินหนึ่งก้อนเพื่อคอนเทนต์ที่คัดกรองมาอย่างดีแล้ว จัดเรียงลำดับมาแล้ว ก็จะช่วยย่นระยะเวลาคุณได้ อาจเรียกว่าเป็นการใช้เงินซื้อประสิทธิภาพ 

อย่างที่ผมบอกว่าทางเลือกตอนนี้มีเยอะมาก ความยากจึงน่าจะอยู่ในมุมผู้บริโภคมากกว่า ที่จะต้องเลือกว่าคอร์สไหนมีคุณภาพ ตอบโจทย์ตัวเอง แต่ก็มีบางคนมาถามผมว่าเขาใช้เวลาเลือกคอร์สมาเป็นเดือนแล้ว ยังไม่ได้เรียนสักที ผมก็บอกเขาไปว่า “เรียนๆ ไปเถอะ” (หัวเราะ) เพราะอย่างน้อยคุณได้เอาความรู้ไปใช้บ้าง ดีกว่ามัวแต่นั่งกั๊กๆ แล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรสักที คุณลองเลยดีกว่า ใครอยากรู้เรื่องไหนก็ลองเรียนไปเลย

ถ้ามองเฉพาะตลาดของแพลตฟอร์มเหล่านี้ในประเทศไทย คุณว่าอะไรคือความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต แพลตฟอร์มต่างๆ มีแนวโน้มจะต้องปรับตัวไปทางไหนบ้าง

ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมา มันเป็นธุรกิจที่ margin (กำไรขั้นต้น) ไม่ได้สูงมาก ปัญหาหลักๆ ของเราคือ ตลาดเราเล็ก ทันทีที่คุณเลือกจะทำคอร์สเป็นภาษาไทย แปลว่าคุณจำกัดคนซื้ออยู่แค่คนไทย อย่าง Skooldio เองที่เรามีสอนวิชาด้านเทคโนโลยีต่างๆ แต่เราไม่ได้มีคนที่ทำงานเป็น developer (นักพัฒนาด้านเทคโนโลยี) ในประเทศนี้มากขนาดนั้น มีไม่ถึงแสนคน แล้วไม่ใช่ทุกคนที่มาเรียนอีก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยมาก เพราะฉะนั้นมันทำให้ต้นทุนเราสูงมาก เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มระดับโลกที่ทำคอร์สภาษาอังกฤษ แล้วมีคนเรียนหลายล้านคนทั่วโลก ทำให้เขามีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำมากจนเหลือแค่เลขหลักหน่วย แต่ของเรามีต้นทุนการผลิตหลักแสนบาท แล้วมีคนเรียนแค่ 500 กว่าคน ต้นทุนเลยสูงมาก คอร์สของเราก็เลยแพง 

ถ้าถามว่าเรามาเปลี่ยนเป็นโมเดลแบบสตาร์ทอัพได้ไหม ทำคอร์สถูกลงมาหน่อย มันก็คงได้ แต่สุดท้ายเราก็ต้องไปลดทอนคุณภาพ และลดความเก่งของคนที่จะมาสอน สมมติเราจะเอา developer เก่งๆ มาสอนเขียนโค้ด เขาก็ไม่ค่อยอยากมาสอนให้เรา เพราะปกติเขาอาจจะรับงานของเขาเองได้วันละหลายหมื่น เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์ของการทำธุรกิจนี้เลยยากนิดหนึ่ง 

แล้วในอนาคต เด็กรุ่นใหม่จะเก่งภาษาอังกฤษมากขี้น เขาก็ต้องการไปใช้แพลตฟอร์มที่มีอาจารย์ระดับโลกสอนเขาเลยมากกว่า ดังนั้นตลาดของเราส่วนหนึ่งจะย้ายไปแพลตฟอร์มต่างประเทศกันมากขึ้น แต่ก็มี megatrend (เมกะเทรนด์) เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มคนสูงวัย ซึ่งเริ่มมีเทรนด์ในต่างประเทศ เช่น ในญี่ปุ่น คนสูงวัยที่มีเวลาว่างก็เริ่มอยากเรียนรู้อะไรเล็กน้อยอย่างการถักไหมพรม ให้ตัวเองรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น คือไม่ใช่การไปเรียนเพื่อทำงาน แต่เป็นการเรียนเพื่อความสันทนาการของตัวเอง นี่ก็เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาสำหรับแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์

ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio

นอกจากแพลตฟอร์มแล้ว สถาบันการศึกษาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องปรับตัวรับกับกระแส lifelong learning เหมือนกัน คุณว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ ในไทยต้องปรับตัวกับเรื่องนี้อย่างไร หรือคุณได้มองเห็นการปรับตัวอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง

แน่นอนว่าต้องปรับ ต้นแบบที่ผมว่าดีก็คือที่ประเทศสิงคโปร์ อย่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ที่ประกาศออกมาเลยว่า เมื่อคุณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเขาแล้วถือว่าคุณเป็นนักศึกษาของเขาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยก็เลยมีคอร์สออนไลน์ต่างๆ ออกมา เปิดให้ศิษย์เก่าได้สิทธิเรียนได้สองคอร์สต่อปี แล้วตอนนี้ก็เริ่มเปิดให้คนนอกไปเรียนได้ด้วย 

สำหรับประเทศไทย ผมว่าสิ่งที่เราต้องมีคือระบบที่ยืดหยุ่นกว่านี้ ตอนนี้หลายอย่างตึงเกินไป บางมหาวิทยาลัยกำหนดเงื่อนไขว่าคนเป็นอาจารย์พิเศษห้ามสอนเกิน 50% ของรายวิชา แล้วมีเงื่อนไขอื่นยุบยิบ ทำให้การเปิดคอร์สใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยากมาก อย่างตอนนี้มีเทรนด์เรื่อง Blockchain กับ Cryptocurrency เกิดขึ้นมา คำถามคือเรามีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่เปิดสอนเรื่องพวกนี้ ผมแทบจะนึกไม่ออกเลย มันต้องคิดยิบย่อยว่าใครจะเป็นคนสอน ใครเป็นคนอนุมัติหลักสูตร เอาคอนเทนต์มาจากไหน คือทุกอย่างตึงไปหมดจนยากที่จะเปิดสอนอะไรใหม่ๆ 

แต่ถ้าไปดูมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT หรือ Harvard จะเห็นว่ามีคอร์สออนไลน์เต็มไปหมด แล้วมีหัวข้อใหม่ๆ ที่กำลังเป็นเทรนด์เยอะมาก เช่น AI สำหรับการทำธุรกิจ หรือเรื่องเทคโนโลยีการแพทย์ล้ำๆ ทำให้คนที่อยากอัปเดตความรู้เร็วๆ สามารถเรียนได้ในระยะเวลาสั้นๆ 4-6 สัปดาห์ โดยไม่ต้องไปเรียนปริญญาเต็มหลักสูตร นี่เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต่างประเทศทยอยปรับตัวกันไปมากแล้ว

ในประเทศไทย จริงๆ ผมก็เริ่มเห็นสถาบันการศึกษาเริ่มปรับตัวบ้างแล้ว อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เริ่มให้ศิษย์เก่าไปเรียนวิชาของตัวเองได้ บางมหาวิทยาลัยก็เริ่มมองว่าเขาอาจจะไม่สามารถสอนทุกอย่างได้เก่งที่สุด แล้วเริ่มยอมรับเอาผู้เชี่ยวชาญข้างนอกเข้ามาสอน อย่างจุฬาฯ ก็มีแพลตฟอร์มกลางของตัวเองที่เปิดสอนรายวิชา GenEd (General Education – การศึกษาทั่วไป) ซึ่งจะมีบางคอร์สที่เปิดให้เรียนกับสถาบันข้างนอก Skooldio เองก็ได้เข้าไปร่วมมือกับจุฬาฯ ในส่วนนี้ด้วย เช่น เราได้เพิ่มคอร์สเกี่ยวกับโปรแกรม Excel เข้าไป เพราะทักษะการใช้ Excel ถือว่าสำคัญมากในชีวิตการทำงานของหลายคน แล้ววิชานี้ก็เป็นที่สนใจมาก เปิดรับสมัครไม่กี่ชั่วโมงก็เต็มแล้ว

สิ่งที่คิดจะพัฒนาต่อไป คือเป็นไปได้ไหมที่จะจัดคอร์สเหล่านี้ให้เป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ นักศึกษาเรียนวิชาพวกนี้แล้วสามารถนับเป็นหน่วยกิตวิชาเลือกเสรีของเขาได้เลย นี่ก็เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังคิดปรับตัวกันอยู่ ตอนนี้อาจจะช้าเล็กน้อยเพราะติดขัดข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ที่สุดก็ต้องปรับตัว เพราะทุกวันนี้การเรียนปริญญาแบบออนไลน์มีเยอะมาก คือเรียนออนไลน์อยู่บ้านแล้วได้ปริญญาตรี-โทเลย ตอนนี้เริ่มมีคำพูดว่าปริญญาอาจจะไม่สำคัญอีกต่อไป เทรนด์อนาคตจะเริ่มไปทางใบประกาศวิชาชีพมากขึ้น เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวกับเรื่องนี้ 

อีกภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในเรื่องนี้คือภาครัฐ คุณมองนโยบายของภาครัฐไทยต่อเรื่องการพัฒนาทักษะคนไทยตอนนี้เป็นอย่างไร แล้วมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอะไรไหม

ส่วนที่ดีคือได้เห็นความพยายามของรัฐที่จะส่งเสริมทักษะเชิงดิจิทัลอยู่ ถ้าตามแฟนเพจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ก็จะเห็นว่าเขามีโครงการออกมาไม่เว้นแต่ละวัน 

แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมรู้สึกว่าภาครัฐของไทยพยายามทำทุกอย่างเองมากเกินไป กลายเป็นว่าแต่ละโครงการต้องมี DEPA เข้าไปจับมือด้วย แล้วภาครัฐก็มักจะเลือกจับมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เท่านั้น ไม่ค่อยเลือกเอกชนเท่าไหร่ อาจจะเพราะกังวลเรื่องความไม่โปร่งใสต่างๆ แต่ว่ามหาวิทยาลัยของไทยไม่ใช่องค์กรที่ปรับตัวได้เร็วขนาดนั้น การเข้าไปจับมือกับสถาบันการศึกษาอาจประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่งในแง่การให้ความรู้ประชาชน แต่ผมว่ามันยังไม่ใช่ภาพที่ดีที่สุด

มองออกไปต่างประเทศ ประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ดีมากๆ คือสิงคโปร์ เขามีโครงการ SkillsFuture ที่มาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนมาก และทำงานด้วยกันอย่างเป็นระบบดีมาก ตั้งแต่การวาง competency roadmap (แผนการฝึกทักษะ) เช่น เขาคิดเลยว่าคนที่อยากเป็น data scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) ควรต้องรู้ทักษะอะไรบ้าง วางออกมาเป็นโครงอย่างดี แล้วทุกส่วนก็เอาแผนที่เดียวกันนี้ไปใช้ ถ้าเป็นนายจ้างก็ดูได้เลยว่าถ้าจะจ้างคนในตำแหน่งงานนี้ ต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอบรม ก็จะมีแนวทางว่าจะสอนอย่างไร จะประเมินทักษะผู้เรียนอย่างไร จะเห็นว่าทุกส่วนเชื่อมโยงเข้าหากัน ทำงานภายใต้ระบบเดียวกันหมด

สิ่งที่คนพูดถึงเยอะที่สุดเกี่ยวกับ SkillsFuture ก็คือการแจกคูปองฝึกทักษะให้ประชาชนทุกคนในสิงคโปร์ไปเรียนอะไรก็ได้ที่อยากเรียน มันเหมือนกับว่าเป็นเงินให้เปล่าจากรัฐบาล ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนของผมที่สอนหลักสูตรเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ data science อยู่ที่นั่น เขาบอกว่าข้อดีของการมีเงินให้เปล่าจากรัฐบาลแบบนี้คือทำให้สถาบันต่างๆ พยายามพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด ทำคอร์สให้ดีที่สุด พยายามทำทุกอย่างให้ประชาชนอยากกำเงินจากรัฐบาลไปเรียนกับเขา มันเลยยิ่งผลักดันให้เราได้โปรแกรมที่ดีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมมากที่สุด ซึ่งก็เป็นภาพที่ผมอยากเห็นประเทศไทยไปให้ถึง ประเทศเราตอนนี้ไปเน้นส่งเสริมโครงการอย่างเราเที่ยวด้วยกันหรือคนละครึ่ง แต่ยังไม่เห็นการส่งเสริมให้คนพัฒนาทักษะออกมาชัดเจนขนาดนั้น ถ้าเราทำได้ก็จะดีมาก 

สิงคโปร์ใส่ใจกับเรื่องพวกนี้มาก ตอนที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ โครงการ SkillsFuture ก็ประกาศออกมาเลยว่าจะให้งบเพิ่มสำหรับคนทำอาชีพอิสระให้ไปฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนอาชีพ จะได้เอาตัวรอดได้ในช่วงโควิด-19 การทำแบบนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับตัวของประชาชนเอง แต่ยังมีประโยชน์ต่อประเทศ เพราะพอประชาชนมีทักษะสูงขึ้น พวกเขาเหล่านี้ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป ผมว่าเรื่องนี้จำเป็นมาก ไม่อย่างนั้นเราจะเสียโอกาสอีกเยอะ ยิ่งตอนนี้เราพูดกันมากเรื่องการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งถึงจุดหนึ่งถ้าเปิดเต็มที่แล้วก็จะมีต่างประเทศเข้ามาแข่ง เช่น อีกหน่อยคนไทยก็อาจใช้บริการธนาคารของสิงคโปร์หรือมาเลเซียที่ขึ้นชื่อได้ พอเป็นอย่างนั้นคนไทยก็อาจเริ่มคิดแล้วว่าควรใช้บริการธนาคารของไทยต่อไหม นี่คือความเสี่ยงของประเทศ ถ้าเรายังไม่สามารถพัฒนาทักษะของคนเราให้ไปแข่งขันระดับโลกได้ เราจะไม่มีที่ไปอีกแล้ว  

สำหรับคนที่เริ่มจะสนใจพัฒนาทักษะความรู้ตัวเอง คุณมีคำแนะนำอะไรไหม

ผมพูดเสมอว่าโลกทุกวันนี้เป็นโลกที่เราอยู่เฉยๆ เราก็เดินถอยหลังแล้ว ถ้าเราอยู่เฉยๆ ทุกคนจะเดินแซงหน้าเรา แล้วผมไม่อยากให้มองว่านี่เป็นยุคที่เหนื่อยเพราะต้องเอาตัวเองไปต่อสู้กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่ผมอยากให้มองว่านี่คือยุคของโอกาส เพราะตอนนี้เทคโนโลยีใหม่กำลังมาเรื่อยๆ ถ้าคุณเป็นคนแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนั้นๆ เป็น คุณจะกลายเป็นคนที่มีมูลค่าสูงมากทันที เข้าใจว่าจริงๆ มันก็เหนื่อย เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก จนเราต้องไล่ตามตลอดเวลา แต่ถ้าเราสนุกกับมัน สามารถพาตัวเองเรียนรู้ได้ตลอดเวลา สิ่งนี้จะทำให้เราสำเร็จในหน้าที่การงานได้มาก แล้วจะช่วยขับเคลื่อนประเทศนี้ให้ดีขึ้นได้ด้วย 

ถ้าถามว่าเราจะเริ่มอย่างไร ผมจะชอบแนะนำว่าถ้าคุณไม่เคยเรียนออนไลน์แบบนี้มาก่อน ก็อาจจะอย่าเพิ่งไปเริ่มเรียนคอร์สที่ยาวมาก ค่อยๆ เริ่มจากคอร์สที่ง่ายๆ สั้นๆ ก่อน และอีกอย่างหนึ่งคือเริ่มจากสิ่งที่เราอยากเรียนหรือใกล้เคียงกับงานที่เราทำอยู่ ซึ่งทำให้เราหยิบเอาไปใช้ประโยชน์กับงานได้ทันที หรือช่วยให้เราได้ขึ้นเงินเดือน ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้รับคำชมจากเจ้านาย สิ่งเหล่านี้ก็จะสร้างแรงจูงใจให้เราอยากเรียนแล้วก็ทำให้เราอยากไปเรียนอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก  


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save