fbpx

รำลึก ดร.โกร่ง: อาจารย์พี่เลี้ยง แหล่งข่าว และมือปืนชั่วคราว

หลายคนรู้จัก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “ดร.โกร่ง” ซึ่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 78 ปี

หลายคนทราบดีว่าอาจารย์โกร่งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษานายกฯ สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลชุดอื่นๆ อีกหลายครั้ง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคอลัมนิสต์และกรรมการบริษัทเครือมติ­ชน เป็นกรรมการบริษัทและองค์การต่างๆ มากมาย ตลอดจนเคยเป็นอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเศรษฐศาสตร์หลักของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

แต่มีน้อยคนที่รู้ว่าอาจารย์โกร่งเคยเป็นมือปืนชั่วคราวช่วยอารักขาคุณพ่อของผมในช่วงวิกฤตด้วย

ผมเรียกอาจารย์โกร่งว่า “พี่โกร่ง” เราพบกันครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2516 ผมเพิ่งจบปริญญาตรีจากอังกฤษและสอบผ่านเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ สมัยนั้นจบปริญญาตรีก็เป็นอาจารย์ได้

เข้าใจว่าพี่โกร่งก็เพิ่งจบปริญญาเอกเมื่อสักหนึ่งปีก่อนหน้านั้นจากมหาวิทยาลัยเพน­ซิล­เวเนีย สหรัฐอเมริกา ถ้าย้อนกลับไป พี่โกร่งเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์­จุฬาฯ ได้เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก่อนที่จะไปเรียนต่อวิชาเศรษฐศาสตร์ พี่โกร่งเขียนวิทยานิพนธ์แนวเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก ทั้งๆ ที่ศาสตราจารย์ Lawrence Klein นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของพี่โกร่ง นิยมแนวคิดแบบเคนส์ ซึ่งเป็นแนวคิดคู่แข่ง

พี่โกร่งกับผมอยู่แผนกเดียวกัน คือแผนกเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ (quantitative economics) ซึ่งนิสิตสมัยนั้นเรียนกันน้อยมากเพราะกลัว คิดว่าเรียนยาก ได้คะแนนยาก (ส่วนสมัยนี้ถ้าไม่เก่งคณิตศาสตร์ก็คงยากที่จะเรียนเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีในหลายประเทศ) พี่โกร่งบุกเบิกตั้งศูนย์ที่ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยที่จุฬาฯ (ภาษาวิชาการเรียกว่า macroeconomic modeling)

ผมเรียนมาทางเศรษฐมิติ (econometrics) ทางคณะเลยให้ผมสอนวิชานี้ร่วมกับพี่โกร่ง ผมจึงได้พี่เลี้ยงช่วยฝึกสอนไปด้วย ปรากฏว่าคะแนนสอบของนักศึกษาจากข้อสอบที่พี่โกร่งกับผมออกร่วมกันในครั้งแรกนั้น ถ้าจำไม่ผิด เกรดสูงสุดคือ C ซึ่งมีนิสิตแค่คนสองคนเท่านั้นที่ทำได้ ที่เหลือส่วนใหญ่ได้ D เมื่อติดประกาศผลสอบก็มีคนเขียนข้อความลงบนใบประกาศผลเป็นชื่อภาพยนตร์ที่กำลังดังในสมัยนั้น คือ Stone Killer

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาใหม่ๆ คณะเศรษฐศาสตร์เป็นคณะเดียวในจุฬาฯ ที่มีวีรชน คือนิสิตที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ชื่อ สมเด็จ วิรุฬหผล เหล่าอาจารย์ (รวมทั้งพี่โกร่งด้วย) และนิสิตในคณะฯ ทั้งโศกเศร้าทั้งภูมิใจในวีรกรรมของสมเด็จ (ไม่กี่ปีหลังจากนั้นพี่โกร่งได้เป็นคณบดี ไม่ทราบว่า 45 ปีให้หลัง คือช่วงปี 2563–64 พี่โกร่งคิดอย่างไรที่คณบดีคนปัจจุบันถอดรูปของสมเด็จออกจากห้องสโมสรนิสิตฯ)

พี่โกร่งรู้จักหลายคนในกลุ่มที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หลังจากที่เผด็จการทหารถูกขับไล่ออกไปแล้ว พี่โกร่งจึงอยากจะมีส่วนร่วมในการสร้างการเมืองใหม่ แต่ปัญหาหนึ่งที่ประสบคือคิดไม่ตรงกันว่าควรเปลี่ยนแปลงอย่างไร

พี่โกร่งกับเพื่อนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งตัวผมเองด้วย ชวนกันไปร่วมประชุมก่อตั้งพรรคการเมืองซึ่งต่อมาคือพรรคพลังใหม่ เราต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้นในเมืองไทย อยากสร้างพรรคแนวเสรีนิยมทางการเมือง

หลายคนไม่ต้องการการเมือง “น้ำเน่า” จึงอยากให้พรรคใหม่นี้มีความรับผิดชอบ (accountable) ต่อสมาชิก แต่ก็มีบางกลุ่มเห็นว่าการเมืองต้องเป็นเรื่องที่มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกับนักการเมืองเก่าๆ บ้าง ไม่ควรรอจนกว่าพรรคจะสร้างตัวในแบบที่ถูกหลักเต็มที่

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งกัน มีคนระดับนำในกลุ่มหลังบางคน (เช่น ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ) คิดว่าพรรคควรมีนักการเมืองที่สามารถชนะการเลือกตั้งทันที จึงไปทาบทามให้ ม.ร.ว.คึก­ฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นหัวหน้าพรรคโดยไม่ปรึกษากลุ่มผู้ก่อตั้งคนอื่นๆ ทำให้บางคนไม่พอใจ พี่โกร่งกับผมถอนตัวออกจากพรรค แต่เรายืนยันกับพรรคว่าจะสนับสนุนจากข้างนอก ในที่สุดพรรคพลังใหม่เลือกหมอกระแส ชนะวงศ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

สมัยนั้นมีนักคิดนักปฏิบัติจำนวนหนึ่งที่สนใจการเมืองยุคใหม่พบกันบ่อยๆ โดยเฉพาะที่โรงแรมอิม­พี­เรียลของอากร ฮุนตระกูล ในกลุ่มนี้มีขรรค์ชัย บุนปาน ร่วมอยู่ด้วย อีกเกือบ 40 ปีหลังจากนั้น ขรรค์ชัยชวนพี่โกร่งให้เป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ในเครือมติ­ชน

ความคิดที่ต่างกันในพรรคพลังใหม่เป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับความแตกแยกในสังคมสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง “ซ้าย” กับ “ขวา” หรือระหว่างคน “หัวก้าวหน้า” ด้วยกันเอง ซึ่งมีตั้งแต่เสรีนิยมไปจนถึงมาร์กซิสต์ชนิดต่างๆ ความคิดยิ่งฉีกกันไปในขั้วต่างๆ มากขึ้นเท่าไร ความแตกแยกก็ยิ่งรุนแรงขึ้นตามมา

ผมสมัครเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ เพราะพยายามหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาว่าใช้เส้นของคุณพ่อ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ผมต้องการเข้าทำงานด้วยแข้งขาของตัวเอง จึงไม่สมัครงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หลังจากที่ผมได้บรรจุที่จุฬาฯ เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อบอกว่าความจริงถ้าใครจะกล่าวหาว่าผมใช้เส้นก็ย่อมทำได้ เพราะ ดร.ประชุม โฉมฉาย คณบดีในสมัยนั้น ก็เป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อ แม้ ดร.ประชุมจะไม่ได้สัมภาษณ์ผม แต่ถ้าใครอยากจะแต่งเรื่องขึ้นมากล่าวหาก็ย่อมทำได้

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นจริงๆ หนักกว่านั้นมาก ในบรรยากาศทางการเมืองที่เผ็ดร้อนสุดขีดสมัยนั้น ใครจะปั้นน้ำเป็นตัวอย่างไรก็ได้ หนังสือพิมพ์ขวาจัดอุตส่าห์พาดหัวข่าวว่า ดร.ป๋วยส่งลูกเมียไปบัญชาการเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์ คือตัวเองอยู่ธรรมศาสตร์ ลูกคนโต (จอน ซึ่งเรียนวิทยาศาสตร์) อยู่มหิดล ผมอยู่จุฬาฯ ส่วนคุณแม่คอยประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่งี่เง่าในทุกประเด็น ความจริงคุณแม่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ตั้งแต่สตาลินขึ้นไป อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษก็ไม่มีน้ำยาใดๆ เลย

ในปี 2519 แรงปลุกปั่นของฝ่ายขวารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สถานีวิทยุทหารยานเกราะและสื่ออื่นๆ ต่างกระพือเสียงวิจารณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา พัน­ตำรวจโท สล้าง บุนนาค ฯลฯ

มีคนเตือนคุณพ่อว่าสถานการณ์อย่างนี้อาจอันตรายถึงชีวิต คุณพ่อจึงเตรียมเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเก็บไว้ท้ายรถตลอดเวลาเผื่อต้องหนีสู่ที่ปลอดภัย คืนหนึ่งคุณพ่อจะเข้าบ้าน เห็นรถบรรทุกแปลกๆ จอดอยู่แถวหน้าบ้าน จึงหลบไปที่บ้านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ปัจจุบันคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ สสส.) สมัยนั้นอาจารย์เสน่ห์เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พี่โกร่งเป็นวีรบุรุษ อาสามาค้างที่บ้านเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้คุณพ่อ พี่โกร่งแอบพกปืนมาด้วยโดยอ้างว่ามีปืนเพราะเป็นลูกตำรวจ ผมจำไม่ได้ว่ามากี่ครั้ง อาจแค่ครั้งเดียว ผมไม่รู้ว่าถ้ามีคนบุกบ้าน พี่โกร่งจะทำอย่างไร เคราะห์ดีที่ไม่มีใครบุก แต่ที่โทรศัพท์มาด่า มีเยอะ

พี่โกร่งขวนขวายอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ได้ปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์และปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ไม่พอ ยังเรียนนิติศาสตร์ระหว่างที่สอนหนังสืออีกสาขาวิชาหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ต่อมาเข้าพรรษาปี 2519 พี่โกร่งอุปสมบทศึกษาธรรมะที่วัดบวรนิเวศวิหาร พวกเราอาจารย์เศรษ­ฐศาสตร์จุฬาฯ ไปนมัสการที่วัดด้วยกัน เมื่อเดือนกันยายน 2519 ผมไปเรียนต่อที่อังกฤษ พี่โกร่งก็ยังบวชอยู่ ยังไม่ออกพรรษา อีกไม่กี่วันหลังจากนั้นวัดบวรฯ กลายเป็นสถานที่จุดประกายไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จากนั้นชีวิตของคนหลายคนเปลี่ยนไปมาก ผมต้องรออีกเกือบสิบปี กว่าจะได้พบพี่โกร่งอีก

ผมกลับเมืองไทยเมื่อต้นปี 2528 รู้ตัวว่าสอนหนังสือไม่ได้เรื่อง เลยหันมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์สายเศรษฐกิจ พี่โกร่งออกจากจุฬาฯ ไปคุมงานด้านเศรษฐกิจมหภาค (เศรษฐกิจส่วนรวม) ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พี่โกร่ง อดีตอาจารย์พี่เลี้ยงของผม กลายเป็นแหล่งข่าวคนสำคัญ

มีอยู่สองเรื่องที่ฝังอยู่ในความทรงจำไม่เคยลืม เรื่องแรกเกี่ยวกับงานของพี่โกร่งในฐานะที่ปรึกษานายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ปี 2528 พี่โกร่งกับนักวิชาการบางคน เช่น ดร.อัมมาร สยามวาลา ที่ทีดีอาร์ไอ และ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ งัดข้อกับโกศล ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องพรี­เมียมข้าว (ภาษีที่เก็บจากการส่งออกข้าว) และนโยบายอื่นๆ เรื่องข้าว พี่โกร่งและเพื่อนนักวิชาการวิจารณ์ว่านโยบายข้าวชุดนี้เป็นการลงโทษเกษตรกร เพราะภาษีส่งออกส่งผลกดราคาข้าวภายในประเทศ แถมรายได้จากภาษีที่จ่ายเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจะสูญเปล่าไปกับการโกงกิน

นายโกศล ซึ่งภูมิใจในฉายา “นักเลงโบราณ” ประกาศว่าจะลาออกหากราคาข้าวไม่เพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่งในฤดูเก็บเกี่ยว ปรากฏว่าราคาไม่ได้สูงขึ้นตามคาด นายโกศลจึงลาออกเมื่อต้นปี 2529 หลังจากนั้นพรี­เมียมข้าวหายสาบสูญไปจากนโยบายของรัฐบาล และไม่เคยฟื้นคืนชีพอีกเลย นับเป็นชัยชนะสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ประสานทฤษฎีกับข้อมูลอย่างเหนียวแน่นเพื่อวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจ ชัยชนะแบบนี้นับว่าหาได้ยาก

(ปรากฏว่า 30 ปีหลังจากนั้น พี่โกร่งวิจารณ์ว่ารัฐบาลสมัยหลังกลับอุดหนุนข้าวมากเกินไป)

เรื่องที่สองอาจเถียงกันได้ไปอีกนานว่าใครชนะ ในการทำนายภาวะเศรษฐกิจปีหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นปี 2530) พี่โกร่งเสนอตัวเลขตั้งแต่ต้นปี โดยคาดคะเนว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวช้ามาก ผมจำตัวเลขไม่ได้ชัดเจน (และตอนนี้ก็ยังค้นไม่พบ) น่าจะราวๆ 3-5% ในขณะที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ พยากรณ์ว่าอัตราการขยายตัวอาจเป็นเลขสองหลัก ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่ยุคทอง

พอถึงปลายปี ปรากฏว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกือบเป็นเลขสองหลักจริงๆ (ตัวเลขของธนาคารโลกคือ 9.5% ในปี 2530 และ 13.3% ในปีถัดไป) ผมถามพี่โกร่งว่าทำไมถึงผิดได้ขนาดนี้ อาจารย์ตอบว่าพยากรณ์ผิดแต่วิธีคำนวณถูกต้อง ส่วนดร.โอฬารพยากรณ์ถูกแต่วิธีคำนวณผิด ทั้งนี้เพราะตอนต้นปีไม่มีใครทราบว่าในระหว่างปีเงินเยนที่แข็งมากจะทำให้เงินลงทุนจากญี่ปุ่นไหลทะลักเข้าไทยมากขนาดนั้น ผมจำไม่ได้ว่าทางฝั่ง ดร.โอฬาร ตอบอย่างไร อาจเป็นทำนองว่าค่าเงินเยนกับการลงทุนเป็นสิ่งที่คาดคะเนอยู่แล้ว

จากนั้นเส้นทางชีวิตของเราก็ไปกันคนละทางอีก พี่โกร่งโคจรเข้าสู่วงการการเมือง ส่วนผมทำงานด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2539 ผมไปทำงานที่องค์การระหว่างประเทศในสวิตเซอร์แลนด์ ผมกลับมาเที่ยวเมืองไทยเป็นครั้งคราว แต่ไม่พบพี่โกร่งอีกเลย น่าเสียดาย มัวแต่คิดว่าไม่เป็นไร โอกาสหน้าคงได้พบอีก ตอนนี้หมดโอกาสแล้ว

ผมคิดถึงพี่โกร่ง แต่ละประโยคในบทความนี้รู้สึกว่าเขียนให้พี่โกร่งอ่าน “พี่จำได้ไหมครับ?” “ผมจำถูกหรือเปล่า?” อาจมีบางเรื่องที่คลาดเคลื่อน แต่บทเรียนเกี่ยวกับการสอน การเรียนรู้ การวิจัย (“นักวิจัยต้องอยากรู้อยากเห็น”) และบทเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจยังไม่ได้หายไปไหน

ยังอยู่ที่นี่ ตลอดเวลา


ข้อมูลเพิ่มเติม: บทสัมภาษณ์ วีรพงษ์ รามางกูร, วีรพงษ์ รามางกูร: มากกว่าความเป็นนักเศรษฐศาสตร์, อดีตนายกฯ นักการเมือง นักธุรกิจดังร่วมฟังสวดพระอภิธรรม ‘ดร.วีรพงษ์’ และ วิดีโอประมาณ 13 นาทีของ Voice TV

ข้อมูลเปรียบเทียบตัวเลขพยากรณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงประมาณปี 2530 ที่ค้นพบทางอินเทอร์เน็ตมีเอกสารฉบับเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน JICA ของญี่ปุ่น ไม่ปรากฏรายงานฉบับเต็ม ถ้าผู้อ่านมีข้อมูลที่สมบูรณ์กว่านี้ กรุณาให้คำแนะนำ ผู้เขียนยินดีปรับปรุงเนื้อหาของบทความ

ขอบคุณภาพจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) | ภาพถ่ายโดย อนุชิต นิ่มตลุง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save