fbpx
อภิสิทธิ์เหนือเชื้อโรค: การสร้าง state quarantine สไตล์อภิสิทธิ์ชน

อภิสิทธิ์เหนือเชื้อโรค: การสร้าง state quarantine สไตล์อภิสิทธิ์ชน

ชัชฎา กําลังแพทย์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนปฏิบัติตามเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น ออกแคมเปญ ‘อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคม/กายภาพ (social distancing) สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน หมั่นล้างมือด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์หรือสบู่ เป็นต้น และนิยามการดำเนินชีวิตตามมาตรการเหล่านี้ว่าเป็น ‘new normal’ ซึ่งประชาชนได้ดำเนินชีวิตแบบ new normal จนทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมาแล้วกว่า 50 วัน

ประชาชนไทยจึงเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2020 ด้วยความหวัง เนื่องจากรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เคยเข้มงวดตามลำดับ สถานศึกษาต่างๆ เริ่มเปิดเรียน ห้างร้านทะยอยกลับมาเปิดให้บริการ ธุรกิจการท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากวันหยุดยาวเมื่อวันที่ 4 – 7 กรกฎาคม 2563 และยังมีแนวโน้มว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้งจากมาตรการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ของรัฐบาล

สถานการณ์โควิดในไทยจึงดูจะมีแนวโน้มที่ดีและไม่น่ากังวลนักเมื่อพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ (ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) ประกาศ) แต่ทว่าเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 กลับพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มแรกเป็นคณะทหารจากประเทศอียิปต์ที่จอดพักเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา โดยได้เข้าพักที่โรงแรมดีวารีในจังหวัดระยอง และออกมายังห้างสรรพสินค้าในจังหวัด ไม่ได้ทำตามมาตรการ state quarantine แต่อย่างใด และอีกกรณีหนึ่งคือลูกสาวของอุปทูตจากประเทศซูดาน สถานการณ์เหล่านี้จึงชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามมวยลุมพินีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นกรณีซูเปอร์สเปรดเดอร์ของไทย และทำให้หลายคนวิตกกังวลว่าประเทศไทยอาจต้องกลับไปล็อกดาวน์และใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง

 

ประชาชนกับ new normal และอภิสิทธิ์ชน (VIP) กับ old normal

 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการยกระดับการควบคุมสถานการณ์ จนนำมาซึ่งการออกข้อกำหนดบางอย่าง เช่น การห้ามหรือจำกัดการเดินทางข้ามราชอาณาจักร การควบคุมสินค้าเวชภัณฑ์ การกำกับมาตรการป้องกันโรค ปิดสถานที่เสี่ยง ไปจนถึงการให้คำแนะนำในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปอย่างมาก เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับการว่างงาน การเดินทางระหว่างจังหวัดหรือประเทศไม่สามารถทำได้ตามปกติ

เมื่อต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นนี้เราจึงเริ่มเห็นคำว่า new normal ปรากฏตามสื่อ และภาคส่วนต่างๆ จนคำว่า new normal ได้ถูกแปลเป็นไทยอย่างเป็นทางการว่า นิวนอร์มัล, ความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ใหม่ที่อยู่ในกระแสสังคมร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา คำว่า new normal จึงได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายไม่ใช่แค่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโควิด เช่น new normal วิถีภาษีใหม่ แนะนำการจัดประเพณีบวชนาคและประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่แบบ new normal  ดูแลเด็กในวิถีใหม่แบบ new normal เท่านั้น แต่รวมไปถึงการทำงานของรัฐบาลอีกด้วย การแปล new normal เป็นภาษาไทยในแง่หนึ่งจึงเป็นไปเพื่อสร้างความหมาย การรับรู้ ร่วมไปกับกำกับให้ประชาชนดำเนินตามมาตรการของรัฐ เนื่องจากการนิยามความหมายเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่กำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้นิยามในที่นี้คือรัฐ และผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม new normal หรือก็คือประชาชนทุกคนในเขตแดนประเทศไทย

แน่นอนว่า new normal สร้างความไม่สะดวก เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต ไปจนถึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพบางประเภท เช่น ผู้ที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยว สถานบันเทิงต้องอยู่ในภาวะว่างงาน มิหนำซ้ำ new normal หลายอย่างก็อาจเป็นเพียงภาวะชั่วคราว เช่น การต้องสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน การต้องวัดอุณหภูมิเมื่อเข้าไปในสถานที่ต่างๆ การเรียนออนไลน์ ไปจนถึงการที่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจะที่จะผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ประชาชนจึงดำเนินชิวิตแบบ new normal อย่างอดทนและหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงภาวะก่อนโควิดให้มากที่สุด

การที่ประชาชนการคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องถูกกำกับด้วยขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และประชาชนได้ดำเนินชีวิตตาม new normal จนไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศอย่างต่อเนื่อง การตรวจพบผู้ป่วย 2 กรณีล่าสุดจากกลุ่มทหารจากอียิปต์ ซึ่งเป็นลูกเรือเครื่องบินทหาร ได้รับการยกเว้นให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามประกาศฉบับที่ 6 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และลูกสาวอุปทูตจากซูดานซึ่งในยามที่เกิดวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ก็ยังได้รับการยกเว้นด้วยเอกสิทธิ์ทางการทูตตามวิถีแบบ old normal นอกจากนี้การปรากฏภาพของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สวมหน้ากาก หรือรักษาระยะห่างทางสังคม จนต้องออกมาขอโทษในภายหลัง รวมถึงการไม่กักตัว พล.อ.เจมส์ แมคคอนวิลล์ ผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐอเมริกาที่มาเยือนไทยด้วยการให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นการมาเยือนระยะสั้นนั้น จึงล้วนแต่เป็นพฤติกรรมแบบ old normal ของเหล่าอภิสิทธิ์ชนทั้งสิ้น ในขณะที่ประชาชนต้องดำเนินชีวิตตามแบบ new normal อย่างเคร่งครัด ราวกับว่าโลกของประชาชนกับอภิสิทธิ์ชนนั้นเป็นคนละใบกล่าวคือโลกใหม่หลังเกิดวิกฤตโควิดและโลกเก่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด

ที่ผ่านมาก่อนวิกฤตโควิดรัฐไทยก็มีการออกนโยบายอำนวยความสะดวก เอื้อประโยชน์แก่อภิสิทธิ์ชนในหลายมิติ ทั้งการดำเนินนโยบายโน้มเอียงไปที่กลุ่มทุนบางกลุ่ม หรือการออกบัตรอีลีตการ์ดที่ให้อภิสิทธิ์นักลงทุนต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2546 การระบาดของโควิด-19 ได้เผยให้เห็นความภาวะความโน้มเอียงของรัฐไทยนี้ และยังทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยถึงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับอภิสิทธิ์ชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เมื่อครั้งนโยบายประชารัฐที่รัฐบาลได้ชวนกลุ่มทุนใหญ่ของไทยเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐโดยตรง และมาปรากฏชัดในรอบนี้ผ่านการขอความร่วมมือจากมหาเศรษฐีและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในการดำเนินมาตรการรับมือวิกฤตสุขภาพอีกด้วย

 

หรืออำนาจจะอยู่เหนือเชื้อโรค การสร้างพื้นที่ปลอดเชื้อของอภิสิทธิ์ชน (VIP)   

 

สิ่งที่ชวนคิดพิจารณาประการหนึ่งคือหากโควิดคุกคามทุกชีวิต ติดเชื้อไม่เลือกหน้าแต่ทำไมอภิสิทธิ์ชนจึงได้รับการยกเว้นจากรัฐ ราวกับว่าอภิสิทธิ์ชนเป็นกลุ่มที่ ‘สะอาด’ หรือ ‘ปลอดเชื้อ’ มีภูมิคุ้มกันพิเศษไม่เหมือนกับประชาชนทั่วไป

แน่นอนว่า เชื้อโรคไม่ได้ละเว้นอภิสิทธิ์ชน และพวกเขาก็ย่อมรู้ดี แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะ ‘อำนาจ’ ทั้งในแง่ของอำนาจทางตำแหน่งสถานะ และเงินทุนที่ทำให้เหล่าอภิสิทธิ์ชนเชื่อมั่นว่าสามารถสร้าง ‘state quarantine’ เฉพาะสำหรับพวกเขาขึ้นมาได้ กล่าวคือ พวกเขาสามารถใช้อำนาจในการจัดการให้สภาพแวดล้อมรอบข้างสะอาด ปลอดเชื้อ สร้างระยะห่างระหว่างตนเองกับประชาชนคนหมู่มาก (ที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยง) ได้ คล้ายกับคนธรรมดาทั่วไปยามอยู่บ้าน ที่ย่อมคิดว่า ‘พื้นที่’ ของตนนั้นปลอดภัยระดับหนึ่ง เพราะตนมีอำนาจควบคุมพื้นที่นั้นได้

นอกจากนี้อภิสิทธิ์ชนยังเข้าถึงข้อมูล อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค หรือในท้ายที่สุดหากมีการติดเชื้อก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันที ความเสี่ยงและความกังวลในการติดโควิดจึงมีน้อย

หากมาตรการ ‘state quarantine’ ในภาวะปกติมีเป้าหมายในการกันคนที่มีความเสี่ยงออกจากพื้นที่ปกติด้วยการนำไปจำกัดบริเวณ การทำ ‘VIP state quarantine’ ของอภิสิทธิ์ชนก็คือ การสร้างพื้นที่ (ที่เขาเชื่อว่า) ปลอดภัยเฉพาะสำหรับคนส่วนน้อยขึ้นมา ดังจะเห็นได้ว่าในสภาวะปกติก่อนโควิดการเป็นอภิสิทธิ์ชนนั้นมาพร้อมกับอภิสิทธิ์มากมายที่เชื่อมโยงกับการมีพื้นที่เฉพาะไม่ว่าจะเป็น เช่น ที่นั่งชั้นหนึ่งบนเครื่องบิน การมีพื้นที่พิเศษให้นั่งรอไม่ต้องใช้พื้นที่กับคนส่วนใหญ่ การมีที่จอดรถเฉพาะ หรือห้องพักพิเศษ เป็นต้น

ภาพของอภิสิทธิ์ชนที่ปรากฏว่าแทบไม่มีการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม และได้รับการละเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสุขภาพของรัฐ จึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาจากอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่อภิสิทธิ์ชนได้รับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอภิสิทธิ์เหล่านี้สร้างและจัดการได้ด้วยอำนาจทางสังคม การเมือง (ตำแหน่ง สถานะ) และเศรษฐกิจ (เงินทุน) แต่ในภาวะที่ภัยทางสุขภาพคุกคามต่อชีวิตประชาชนเช่นนี้หากรัฐไทยละเว้นบางมาตรการในการป้องกันโรคเพื่อรักษาอภิสิทธิ์บางอย่างของอภิสิทธิ์ชนไว้ ประชาชนคงมิอาจจะอดทนและยอมมีชีวิตตามแบบ new normal ได้อีกต่อไปท่ามกลางการปฏิบัติสองมาตรฐานของรัฐ

 

ต้องไม่มีสองมาตรฐานระหว่างอภิสิทธิ์ชนและประชาชนในวิกฤตโควิด-19

 

การออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองครั้งล่าสุดของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องหนึ่งคือการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาล ‘ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ’ ทั้งยังปล่อยให้ ‘VIP’ ที่มีเชื้อไวรัสเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้กักตัว สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดครั้งใหญ่รอบ 2 ชี้ชัดว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้นได้สร้างความเสี่ยงต่อชีวิตประชาชนด้วยการให้การละเว้นมาตรการบางอย่างแก่อภิสิทธิ์ชน จนนำมาสู่คำถามที่ว่าหากโควิด-19 แพร่ระบาดไปสู่มนุษย์ทุกคนไม่เลือกหน้า ชนชั้น สถานะและเชื้อชาติแล้วเหตุใดคนเหล่านี้จึงไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเช่นเดียวกับประชาชนคนไทย และทำไมพวกเขาจึงไม่ต้องทำตาม new normal ที่รัฐบาลและโฆษกศบค.ได้ขอให้คนไทยปฏิบัติตามทุกวัน

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นไม่เลือกหน้า มาตรการการควบคุมโควิด-19 เองจึงต้องบังคับใช้อย่างถ้วนหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของภัยคุกคามในสุขภาพและชีวิตของผู้คน เมื่อประชาชนการ์ดไม่ตกจนไม่พบผู้ป่วยในประเทศ แล้วรัฐบาลและศบค.ก็ไม่ควรการ์ดตกปล่อยให้มีอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มปฏิบัติตาม old normal และได้รับอภิสิทธิ์สร้างข้อยกเว้น พื้นที่ ‘ปลอดเชื้อ’ เฉพาะกลุ่มในยามที่อยู่ในวิกฤตโรคระบาดร้ายแรง ทั้งนี้หากรัฐบาลและศบค. ไม่สามารถบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคให้ทุกคนปฏิบัติตาม new normal อย่างถ้วนหน้า ก็ควรเปิดเผยข้อมูลการเดินทางของเหล่าอภิสิทธิ์ชนให้ประชาชนได้ระมัดระวังตัว และใช้มาตรการทางสังคมกดดันอภิสิทธิ์ชนให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันระหว่างประชาชนกับอภิสิทธิ์ชนอย่างน้อยก็ในห้วงที่โควิด-19 กำลังระบาดเช่นนี้

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save