fbpx
การศึกษาเรื่องความรุนแรงกับอำนาจ: กรณีศึกษาจากลาตินอเมริกาและในระดับสากล

การศึกษาเรื่องความรุนแรงกับอำนาจ: กรณีศึกษาจากลาตินอเมริกาและในระดับสากล

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความเรื่อง ‘แนวคิดเรื่องความรุนแรงในเขตเมือง: ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของลาตินอเมริกา‘ โดยทิ้งท้ายว่า การศึกษาเรื่องความรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่อง ‘อำนาจ’ (Power) ควบคู่กันไปด้วย เพราะฉะนั้นในคราวนี้ ผมจะพูดถึงแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงกับอำนาจผ่านบริบททั่วไปที่เกิดขึ้นในทั้งในลาตินอเมริกาเองและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจดียิ่งขึ้น

ข้อถกเถียงในประเด็นความรุนแรงกับอำนาจมีตั้งแต่ระดับสากล เช่นสงครามนิวเคลียร์ระหว่างชาติมหาอำนาจ ไปจนถึงระดับครอบครัว อย่างเรื่องการใช้กำลังของคนในครอบครัว โดยเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเรื่องความรุนแรงกับอำนาจมีความเกี่ยวเนื่องกันในหลายมิติ อย่างประธานเหมา (Mao Zedong) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เคยกล่าววาทะสำคัญไว้ว่า “อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน”

แต่นักวิชาการคนสำคัญที่มีชื่อเสียงในการศึกษาเรื่องความรุนแรง Hannah Arendt กลับเสนอว่าความรุนแรงเป็นขั้วตรงข้ามกับอำนาจ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า “where the one rules absolutely, the other is absent”[1] โดยเธอให้นิยามความแตกต่างระหว่างความรุนแรงกับอำนาจไว้ว่า “อำนาจเป็นฉันทามติของการไม่ต้องการความรุนแรง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่ฉับพลันโดยคำสั่งที่มีประสิทธิภาพ (effective command) ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่ออำนาจอยู่ในสภาวะที่ล่อแหลมเพลี่ยงพล้ำ ส่งผลให้อำนาจต้องดับสลายไปในที่สุด เนื่องจากความรุนแรงค่อยๆ บ่อนทำลายฉันทามติที่ชอบธรรมของอำนาจนั้น[2]

คำอธิบายในประเด็นเรื่องความรุนแรงกับอำนาจของ Arendt ข้างต้น เป็นการท้าทายแนวความคิดเรื่องอำนาจรัฐ (state power) ในแนวคิดเสรีนิยมที่มีมานานหลายศตวรรษ ซึ่งอธิบายไว้ว่าความชอบธรรมของรัฐนั้นได้มาจากการใช้กำลังบังคับ โดยนักปรัชญาการเมืองชื่อดัง Thomas Hobbes มองว่านี่จะนำไปสู่ความสันติสุขของประชาชนผ่านการให้มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยถือเป็น ‘สัญญาประชาคม’ ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ขณะที่ Max Weber ก็ได้กล่าวไว้ว่ารัฐจะต้องผูกขาดความชอบธรรมในการใช้กำลังบังคับนี้ในพื้นที่การปกครองของตนเอง[3] และปราบปรามความป่าเถื่อนไร้ขื่อแปของประชาชนที่ลุกขึ้นมาใช้อำนาจหรือความรุนแรงต่อต้านรัฐ

ด้วยเหตุนี้ หากยึดตามหลักสัญญาประชาคม ความรุนแรงถือว่าเป็นความล้มเหลวของกติกาของสังคม จึงถือเป็นความชอบธรรมของรัฐในการลดทอนความรุนแรงและความไร้ระเบียบดังกล่าวโดยการใช้กำลังปราบปราม

ความเข้าใจที่ว่าความรุนแรงถือเป็นความล้มเหลวของกติกาของสังคมดังกล่าวนำไปสู่กรอบคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำ การถูกเพิกเฉยทอดทิ้ง และความรุนแรง ว่าเป็นความล้มเหลวของอำนาจรัฐในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ถ้าเมื่อใดก็ตาม รัฐไม่สามารถดำรงซึ่งความชอบธรรมในการใช้กำลังเพื่อดูแลประชาชนแต่เพียงผู้เดียวแล้ว วงจรของความรุนแรงก็จะปรากฏขึ้น โดยการแสดงออกซึ่งความรุนแรงนั้นจะได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการโต้กลับหรือการป้องกันตนเองก็ตาม ความรุนแรงที่ปราศจากความชอบธรรมเหล่านี้สามารถเป็นเชื้อปะทุให้เกิดความรุนแรงอื่นๆ ตามมาได้ เพราะฉะนั้น รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องผูกขาดการใช้ความรุนแรงเพื่อรักษากติกาของสังคมและทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนของตนเอง

ความแตกต่างในการอธิบายความรุนแรงกับอำนาจของ Arendt และนักคิดสำนักสัญญาประชาคม สะท้อนความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวที่แตกต่างกันไม่ว่าจะในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนก็ตาม อย่างไรก็ดี แนวความคิดในการวิเคราะห์ที่แบ่งแยกจากกันโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นอำนาจ ความรุนแรง ความปลอดภัย หรือความชอบธรรม ไม่สามารถที่จะใช้วิเคราะห์ในโลกของความเป็นจริงที่มีความสลับซับซ้อนได้ เพราะความรุนแรงกับอำนาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่หลากหลายและแตกต่าง แนวความคิดเรื่องที่มาของอำนาจรัฐตามแนวทางสัญญาประชาคมอาจจะต้องได้รับการศึกษาและวิพากษ์ใหม่[4] ถ้าต้องการจะทำความเข้าใจในบริบทของสังคมการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบางรัฐอาจจะมีอำนาจน้อยกว่าบรรษัทเอกชนข้ามชาติอาทิ Microsoft หรือ Apple และยังเป็นยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองได้ก้าวข้ามผ่านพรมแดนความเป็นรัฐชาติไปแล้ว อาทิ ในกรณีของ ISIS เป็นต้น

การอ้างถึงความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญโดยเฉพาะในการทำสงครามในยุคปัจจุบัน ที่ถือเป็น ‘ยุคที่ 4 ของการทำสงคราม’ (The Fourth Generation Wars)[5] แต่เนื่องจากคู่ขัดแย้งในยุคนี้มีความคลุมเครืออย่างที่กล่าวไปแล้ว การไปให้ความชอบธรรมกับรัฐเมื่อเกิดความรุนแรง จึงไม่ถูกต้องเสมอไปในยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่ขัดแย้งเป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ[6] เห็นได้จากปัจจุบันที่มีกรณีความขัดแย้งหลายกรณีที่ความชอบธรรมของรัฐถูกตั้งคำถาม และยังมีอีกหลายกรณีที่รัฐให้ความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่ใช่รัฐก่อความรุนแรง อาทิ กรณีกองกำลังกึ่งทหารในประเทศโคลอมเบียช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970s ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

ดังนั้นไม่จำเป็นเสมอไปที่รัฐสมัยใหม่จะผูกขาดการใช้ความรุนแรง หรือในอีกนัยหนึ่ง การผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐจำเป็นต้องได้รับการยอมรับ ทว่าในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประชาธิปไตยมักมีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เสมอ[7] ความชอบธรรมของรัฐที่มีรากฐานมาจากการใช้ความรุนแรงในอดีตและมีแนวโน้มในการเอื้อผลประโยชน์ให้กับคนชั้นสูงมากกว่าประชาชนโดยทั่วไปกลายเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้งหลายแห่งทั่วโลก ในมุมมองของทฤษฎีสัญญาประชาคม วิกฤตความชอบธรรมของรัฐหรือการที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งผูกขาดการใช้ความรุนแรง เป็นผลมาจากการขาดแคลนทรัพยากรของรัฐในการที่จะดำรงความเป็นรัฐเอาไว้ได้

การดำรงอยู่ของความรุนแรงในบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็เป็นได้[8] ความเข้าใจดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการอธิบายการดำรงอยู่เป็นเวลานานของความขัดแย้งในบางพื้นที่ รวมทั้งประเด็นเรื่องที่มาและการรักษาไว้ซึ่งอำนาจของคู่กรณีในบางพื้นที่[9] อาทิ ผลประโยชน์ของการค้าอาวุธข้ามชาติ หรือการหลั่งไหลของเงินช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้กับกองทัพของรัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกาเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายในภูมิภาค[10] โดยเฉพาะถ้าความรุนแรงก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แรงจูงใจในการดำรงอยู่ของความขัดแย้งยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเสียงวิพากษ์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ไม่ว่าจะในโคลอมเบียหรือเม็กซิโก[11]

ทฤษฎีทางการเมืองว่าด้วยความรุนแรงนั้นเน้นการศึกษาในประเด็นของความรุนแรงของรัฐ (state violence) และความรุนแรงของการปฏิวัติ (revolutionary violence) เป็นหลัก ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชน ครอบครัว หรือตามท้องถนนไม่ได้รับความสนใจศึกษาในทางการเมืองหรืออำนาจที่เกี่ยวข้องในการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อผู้กระทำตัดสินใจในขณะนั้นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ มากที่สุด[12] ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อใครซักคนก็ตามคิดว่า ด้วยสถานภาพของเขา ทำให้เขามีอำนาจโดยชอบธรรมในตอนนั้นที่จะใช้ความรุนแรงในการที่จะละเมิดผู้อื่นได้

ความขัดแย้งจำนวนไม่น้อยมีสาเหตุมาจากความแตกต่างในอัตลักษณ์[13] ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในไอร์แลนด์เหนือหรือตะวันออกกลาง ที่แม้อาจจะมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการไม่ลงรอยกันในการจัดสรรทรัพยากรหรือความบาดหมางทางการเมือง ล้วนมีความแตกต่างของอัตลักษณ์เป็นเชื้อโหมกระหน่ำความขัดแย้งให้ลุกลามเพิ่มมากขึ้น

บางครั้ง ในทางกลับกัน ความขัดแย้งเองก็เป็นชนวนให้เกิดความแตกต่างของอัตลักษณ์ โดยผู้มีอำนาจมองอัตลักษณ์ของตัวเองในสถานะที่เหนือกว่าผู้อื่นซึ่งอาจจะเป็นคนพื้นเมือง คนผิวดำ ชนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่นับถือศาสนาอื่น อัตลักษณ์ที่เหนือกว่านี้กลายเป็นที่มาของการอ้างอำนาจในการครอบงำและบังคับให้ผู้อื่นต้องกระทำหรือปฏิบัติตาม ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์’ (symbolic violence)[14]

วาทกรรมที่ว่าด้วยความเป็นผู้นำ รวมถึงบุคคลที่ได้รับการยอมรับถึงอำนาจการเป็นผู้ปกครอง กลายเป็นผู้สร้างและบังคับใช้ความคิดว่าด้วยอำนาจในสังคม[15] Munck ชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่มนุษย์เป็นผู้ก่อสงคราม แต่สงครามก็ก่อให้เกิดความเป็นมนุษย์ได้ กล่าวคือบทบาทความเป็นชายของนักรบก่อให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่ ‘เหมาะสม’ ของผู้ชายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของผู้คุ้มครองจากภยันอันตราย ผู้กำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจ[16] ผู้ประสานผลประโยชน์[17] หรือแม้กระทั่งผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม[18]

วัฒนธรรมของการให้อำนาจสูงสุดแก่ผู้นำของครอบครัวในการบังคับให้สมาชิกอื่นต้องปฏิบัติตาม อาจเป็นสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว[19] การยึดมั่นในเกียรติยศศักดิ์ศรีอาจนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงเป็นบทลงโทษ ดังที่เกิดขึ้นในสังคมชาวเคิร์ด ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิรัก[20] ถึงแม้ว่าความรุนแรงอันเนื่องมาจากเพศสภาพจะไม่เกิดขึ้นหรือเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนในวงกว้างก็ตาม แต่การจะเข้าใจถึงความรุนแรงดังกล่าวได้จะต้องคำนึงถึงบริบทของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงความเข้าใจในบทบาทของครอบครัวที่มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะอัตลักษณ์ บทบาทและหน้าที่ของสมาชิก อาจช่วยสร้างความกระจ่างในความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงกับอำนาจไม่มากก็น้อย


[1] Hannah Arendt, On violence (Boston, MA: Houghton Mifflin Harcourt, 1970), 56.

[2] Ibid.

[3] David Campbell and Michael Dillon, eds. The political subject of violence (Manchester, UK: Manchester University Press, 1993), 141.

[4] Nancy Fraser, “Hannah Arendt in the 21st century,” Contemporary Political Theory 3, no. 3 (2004): 253-261.

[5] คำว่ายุคที่ 4 ของสงครามถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ที่เกิดความไม่ชัดเจนของคู่ขัดแย้งในสงครามสมัยใหม่นี้ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐกับองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ หรือระหว่างกองทัพกับประชาชน. กรุณาดู William S. Lind, “Understanding fourth generation war,” Military Review 84, no. 5 (2004): 12-16.

[6] Gareth A. Jones and Dennis Rodgers, eds. Youth violence in Latin America: Gangs and juvenile justice in perspective (New York: Palgrave Macmillan, 2009).

[7] Leah Anne Carroll, Violent democratization: Social movements, elites, and politics in Colombias rural war zone, 19842008 และ Charles Tilly, The politics of collective violence.

[8] Charles Tilly, The politics of collective violence.

[9] Gareth A. Jones and Dennis Rodgers, eds. Youth violence in Latin America: Gangs and juvenile justice in perspective.

[10] Stephan Graham, Cities under siege: The new military urbanism (London, UK: Verso, 2011).

[11] Loïc Wacquant, Punishing the poor: The neoliberal government of social insecurity (Durham, NC: Duke University Press, 2009).

[12] Vivienne Jabri, Discourses on violence: Conflict analysis reconsidered.

[13] Amartya Sen, Identity and violence: The illusion of destiny (London, UK: Penguin Books, 2007).

[14] Pierre Bourdieu, Language and symbolic power (Cambridge, UK: Polity Press, 1991).

[15] Ronaldo Munck, “Introduction: Deconstructive violence: Power, force, and social transformation,”: 8.

[16] Kate Maclean, “Gender, risk and the Wall Street alpha male,” Journal of Gender Studies (2015) accessed October 1, 2021. http://dx.doi.org/10.1080/09589236.2014.990425.

[17] Maria O’Reilly, “Muscular interventionism: Gender, power and liberal peacebuilding in post-conflict Bosnia-Herzegovina,” International Feminist Journal of Politics 14, no. 4 (2012): 529-548.

[18] Robert W. Connell, “A whole new world: Remaking masculinity in the context of the environmental movement,” Gender & Society 4, no. 4 (1990): 452-478.

[19] Sylvia Chant, “Researching gender, families and households in Latin America: From the 20th into the 21st century,” Bulletin of Latin American Research 21, no. 4 (2002): 545-575.

[20] Aisha K. Gill, Nazand Begikhani, and Gill Hague, “‘Honour’-based violence in Kurdish communities,” Women’s Studies International Forum 35, no. 2 (March-April 2012): 75-85.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save