fbpx

อเมริกันขวา ‘ชังชาติ’ ไหม: การเมืองวัฒนธรรมในอเมริกาเปรียบเทียบ

พัฒนาการในการเมืองไทยระยะใกล้ที่น่าสนใจและน่าสะพรึงกลัวยิ่ง คือการเกิดวาทกรรมและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวาสุดขั้วที่ให้ความชอบธรรมแก่พวกตัวเองในการใช้ความรุนแรงที่ไร้ข้อจำกัดต่อคนอื่นที่ไม่ใช่พวก

ปกติการใช้ความเป็นปฏิปักษ์ต่อคนที่เป็นพวกอื่นนั้นมีการทำกันมาตลอดเวลาของการมีสังคมมนุษย์ เหมือนเป็นสัญชาตญาณสัตว์ในการป้องกันตนเองและทำลายผู้อื่นเพื่อไม่ให้มาทำร้ายตนเองได้ ข้อต่างจากสัตว์ทั่วไปคือเมื่อมนุษย์เข้ายึดกุมการตั้งชุมชนและสถาปนาบ้านเมืองของพวกตนขึ้นมาได้แล้ว การป้องกันตนเองและทำร้ายคนอื่นได้ยกระดับขึ้นมาเป็นความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ที่มีความน่าเชื่อถือและแน่นอนย่อมมีเหตุผลชุดหนึ่งรองรับอยู่ด้วย เรารู้จักในนามของความรักครอบครัว ความรักชุมชน ความเคารพผีบ้านผีเมือง ไปถึงความรักชาติและศาสน์กษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ ส่วนคนอื่นที่กลายมาเป็นศัตรูก็ได้แก่ข้าศึก พวกไร้ศีลธรรม มิจฉาทิฐิ ปีศาจ คนต่างภาษา ต่าวด้าวท้าวต่างแดน และทาส ในทางอุดมการณ์ยุคใหม่ที่ใช้กันเกร่อและทรงพลังในการหลอนหลอกผู้คนมานานหลายทศวรรษก็ได้แก่ลัทธิคอมมิวนิสต์

ที่ผ่านมาคนที่ใช้วาทกรรมและอุดมการณ์ในการเล่นงานคนอื่นที่เป็นศัตรูมาจากฝ่ายอำนาจรัฐและผ่านกลไกของรัฐ เช่น กองทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ พวกนี้ใช้อำนาจแข็งและรุนแรงในการจัดการ ในอีกระนาบมีการใช้อำนาจอ่อนและละมุนในการปรามและกำจัด เช่น ระบบยุติธรรม (ศาลและคุกตะราง) รวมถึงระบบโรงเรียนและการศึกษาแบบทางการที่กล่อมเกลาประชากรทุกวัยทุกอาชีพให้ยอมรับและปฏิบัติตามความเชื่อและจุดหมายทางการเมืองของรัฐ กล่าวโดยรวมระบบปกครองภายใต้รัฐดังกล่าวมักเป็นระบบอำนาจนิยมหรือเผด็จการรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ความรุนแรงในกรณี 6 ตุลา 2519 เป็นการเริ่มการใช้กำลังและความรุนแรงที่มาจากประชาชนด้วยกันเองเป็นครั้งแรก แม้การจัดตั้งและก่อตัวของกลุ่มและขบวนการประชาชนอย่างลูกเสือชาวบ้านและนวพลจะมาจากฝ่ายรัฐ (กอ.รมน.) แต่ที่เป็นนวัตกรรมไม่เหมือนก่อนโน้นคือการที่ประชาชนหลากหลายส่วนเข้าร่วมและดำเนินการให้กิจกรรมการเมืองของขบวนการเอียงขวาที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายเป็นผลสำเร็จขึ้นมา พร้อมกับการสร้างและประดิษฐ์ข้อความคำพูดและเพลงปลุกใจที่เป็นของชาวบ้านเองขึ้นมา เช่นเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ทำให้มีลักษณะของความเป็นท้องถิ่นและเป็นเรื่องของชาวบ้านเองมากกว่าเป็นเรื่องของรัฐเหมือนแต่ก่อน ผลที่ตามมาอันไม่เคยเห็นมาก่อนจึงได้เกิดขึ้น นั่นคือการยกระดับความรุนแรงและหยาบกระด้างไร้ความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนความไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับเลยในกิจกรรมการปฏิบัติต่อคนอื่นของคนกลุ่มนั้นอย่างสูงลิ่วแบบไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นโดยพลัน

เร็วๆ นี้มีผลงานที่ศึกษาการใช้ความรุนแรงโดยขบวนการประชาชนที่กระทำต่อประชาชนอีกฝ่ายที่ตรงข้ามกันออกมา คือเรื่อง ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 และชี้ให้เห็นการต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมเพื่อกำหนดหรือสร้างคำนิยามความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ตนเรียกร้อง ที่สำคัญประจักษ์ชำแหละอัตลักษณ์การเป็นคนดีและการเมืองแบบคุณธรรมที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นคู่ตรงข้ามกับฝั่งที่ ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข‘ (กปปส.) มองว่าเป็นศัตรู ซึ่งก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์และผู้สนับสนุนที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และไม่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้ชุมนุม กปปส. ในแง่หนึ่ง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของประจักษ์ก็ช่วยไขข้อข้องใจให้เราได้ว่าทำไมมือปืนป็อปคอร์นจึงกลายเป็น ‘ฮีโร่’ ของเหล่าคนดีขึ้นมาได้ ไปถึงการขัดขวางและทำลายการเลือกตั้งลงไปได้ 

ผมลองมองการเมืองอเมริกันในเชิงเปรียบเทียบกับการเมืองไทยในประเด็นความรุนแรงต่อคนอื่นว่าเหมือนกันไหม มีอะไรที่แตกต่างกันเพราะปัจจัยอะไร จากการเปรียบเทียบทำให้มองเห็นมิติและเงื่อนไขประกอบทางการเมืองที่มีทั้งเหมือนและต่างกันอย่างน่าสนใจ ที่สำคัญอยู่ที่บริบทหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เกิดความคิดต่อต้านหรือเห็นต่างจากของรัฐบาล ที่เหมือนกันในลักษณะใหญ่คือกลุ่มประท้วงต่อต้านเกิดจากความไม่พอใจและไม่ยอมรับในรัฐบาลขณะนั้น ประการต่อมาคือการสร้างความเชื่อที่เกินจริง ที่เป็นทฤษฎีสมคบร่วมคิด (conspiracy) ระแวงสงสัยอย่างล้นเกิน และจินตนาการแบบฟุ้งซ่าน กลายเป็นความหวาดกลัวร่วมของคนหมู่มากในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดจริงและยังไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

นักรัฐศาสตร์อเมริกันชื่อดังริชาร์ด ฮอฟสแตดเตอร์ (Richard Hofstadter) เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘คนหวาดระแวง’ (paranoid) แต่ไม่ได้ใช้เพราะมองว่าคนที่คิดเอียงขวาเป็นจิตเภทหรือโรคหวาดระแวงอะไรอย่างนักจิตวิทยา เขาขอยืมยี่ห้อนี้เพราะคนเหล่านี้มีสไตล์ของความคิดอย่างเดียวกัน คือระแวงสงสัยอย่างล้นเกินและจินตนาการแบบฟุ้งซ่าน เขาต้องการศึกษาหนทางที่คนเหล่านี้มองดูโลกและแสดงออกในตัวเองอย่างไร ลักษณะใจกลางของคนพวกนี้คือความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเหยื่อที่ถูกเล่นงานหรือย่ำยีจากคนอื่นที่พวกเขาคิดว่ากระทำกันอย่างเป็นระบบในขอบเขตอันใหญ่โตมโหฬาร

ตัวอย่างที่ฮอฟสแตดเตอร์ศึกษา คือการเมืองสมัยล่าคอมมิวนิสต์ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ที่มีสมาชิกวุฒิสภาคนดังนามโจเซฟ แมกคาร์ธี (Joseph R. McCarthy, 1908-1957) ที่หาเสียงให้ตัวเองด้วยการปลุกระดมว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ระบาดในรัฐบาลและตามล่าเหยื่อในวงการต่างๆ เขาเล่นงานนักการเมือง ปัญญาชน และนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่วิพากษ์ความเชื่อแบบอนุรักษนิยมว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นศัตรูของรัฐอเมริกาที่ร้ายกาจ ยุคแมกคาร์ธีเป็นโบว์ดำของระบบการเมืองอเมริกาที่ทำลายและเล่นงานคนบริสุทธิ์ไปหลายร้อยคน

น่าสนใจว่าริชาร์ด ฮอฟสแตดเตอร์ ไม่ได้มองคนกลุ่มนี้ที่เอียงขวาว่าเป็นคนชั้นกลางแต่ประการใด หากแต่มองว่าเป็นคนอเมริกันปกติธรรมดาทั่วๆ ไป ที่พบได้ในทุกภาคและมลรัฐและในหลากหลายอาชีพและรายได้ แต่สังคมอเมริกันว่าไปแล้วเป็นสังคมทุนอุตสาหกรรมที่ทุกคนเป็นแรงงานของระบบและมีระบบค่าจ้างที่สูงมากแห่งหนึ่งในโลกตะวันตก ทำให้วิถีชีวิตและการบริโภคของคนอเมริกันใกล้เคียงกันในความมั่งคั่งและฟุ่มเฟือยทางวัตถุ จึงเป็นสังคมคนชั้นกลางโดยธรรมชาติ และการมีความคิดการเมืองเอียงขวาก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หากแต่เป็นธรรมดาวิสัยของสังคมการเมืองประชาธิปไตยที่ผู้นำการเมืองมีนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ผู้สนับสนุนทางการเมืองจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายมาแต่ต้นคือซ้ายกับขวา ประเด็นที่บทความนี้ต้องการศึกษาคือเมื่อไรที่ฝ่ายเห็นต่างทางการเมืองลงมือใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กัน

ก่อนอื่นการใช้ความรุนแรงจัดการกับฝ่ายอื่นนั้นมีใช้มานานแล้ว หากแต่คนที่ใช้คือภาครัฐหรือรัฐบาลและใช้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมืออีกทีหนึ่ง สิ่งที่เราสนใจในขณะนี้คือเมื่อไรที่ประชาชนเป็นผู้คิดสร้างและลงมือใช้ความรุนแรงเอง ไม่ต้องอาศัยหรือรอกลไกรัฐแบบแต่ก่อน ผมตอบอย่างกว้างๆ ก่อนว่าน่าจะเป็นยุคที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่พอใจและเคียดแค้นแก่คนผิวขาวอนุรักษนิยมและเอียงขวาสุดขั้วอย่างยิ่ง เมื่อโดยธรรมชาติพวกนี้มีอคติทางเชื้อชาติอยู่ก่อนแล้วในสันดาน มีมานับร้อยปีจึงไม่ใช่เรื่องใหม่

ความจริงคนขาวเอียงขวาที่ใช้ความรุนแรงกระทำต่อคนผิวดำก็เคยเกิดมาก่อนแล้วในช่วงหลังสงครามกลางเมืองไม่นานนัก ด้วยการก่อตั้งกลุ่มคลูคลักซ์แคลน (Klu Klux Klan-KKK) ขึ้นมาเพื่อตามล่าสังหารคนผิวดำที่กระทำการละเมิดใดๆ ต่อคนผิวขาว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ใช้ระบบศาลเตี้ยตัดสินและลงโทษถึงขั้นแล่เนื้อเถือหนังแล้วเผาไฟทั้งเป็น ทั้งหมดเกิดในภาคใต้เท่านั้น แต่กรณีนั้นไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย เราจึงตัดออกไป

สมัยรัฐบาลโอบามาจึงถือได้ว่าเป็นยุคแรกของการที่คนผิวดำมีความเสมอภาคและสามารถเข้าถึงตำแหน่งอำนาจสูงสุดได้ตามกระบวนการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ผลพวงของระบบประชาธิปไตยเสรีดังกล่าวนี้สร้างความไม่พอใจแก่คนผิวขาวฝ่ายขวามาก พวกนี้ออกมาโจมตีด้วยการวิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติของประธานาธิบดีโอบามาว่าผิดกฎหมาย เช่นเกิดนอกสหรัฐฯ คนที่ออกมานำการสร้างข่าวปลอมในเรื่องโอบามาก็คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ตอนนั้นยังเป็นนายทุนใหญ่อสังหาริมทรัพย์และถนัดเรื่องสื่อสารมวลชน ปรากฏการณ์ใหม่ตอนนั้นคือการใช้ภาษาและเนื้อหาโจมตีที่แรงมาก นอกจากไม่จริงแล้วยังเต็มไปด้วยการดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยการทำให้โอบามามีสภาพเหมือนสัตว์ไม่ใช่มนุษย์ดังคนผิวขาว

ก้าวต่อไปของฝ่ายขวาซึ่งเป็นพรรครีพับลิกันคือการตั้งขบวนการทีปาร์ตี้ (Tea Party Movement) แล้วส่งสมาชิกกลุ่มเข้ารับการเลือกตั้งทั้งระดับมลรัฐและระดับชาติจนได้ที่นั่งในรัฐสภาจำนวนหนึ่ง กลายเป็นกลุ่มกดดันที่มีพลังต่อรองภายในพรรครีพับลิกันขึ้นมาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลุ่มที่รู้จักกันดีคือ Freedom Caucus ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากรัฐภาคใต้เป็นหลักมีฐานเสียงอนุรักษนิยมที่แน่นเหนียว ความรุนแรงในการเมืองช่วงนี้จึงพัฒนาการเข้าไปในระบบพรรคการเมือง (รีพับลิกัน) ไม่ได้ดำรงต่อมาอย่างกลุ่มมวลชนภายนอกรัฐสภา ความรุนแรงจึงจำกัดแค่ในการต่อสู้รณรงค์เพื่อการเลือกตั้งเป็นหลัก ในระยะยาวความรุนแรงเหล่านั้นก็ถูกดูดกลืนและบางลงไปโดยกระบวนการทางการเมืองในรัฐสภาที่ต้องมานั่งเจรจาต่อรองกันเพื่อไปบรรลุจุดหมายของฝ่ายตน

แต่หลังจากนั้นมาความรุนแรงในการเมืองอเมริกันไม่ได้หดหายไป บทใหม่ของมันเริ่มขึ้นอีกวาระหนึ่งเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 อย่างพลิกความคาดหมาย ชัยชนะของทรัมป์แท้จริงแล้วเป็นการตอกย้ำถึงสถานการณ์ของการเมืองอเมริกาที่ค่อยๆ ไหลเลื่อนไปอยู่ในกำมือและการบงการของกลุ่มและขบวนการเอียงขวาสุดขั้วต่างๆ ที่เคลื่อนไหวกันมาก่อนหน้าแล้ว บัดนี้ผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมและเอียงขวาสามารถเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีที่เป็นฝ่ายเขาอย่างแท้จริงได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับจากนั้นมาขบวนการขวาสุดขั้วในชื่อต่างๆ เช่น Proud Boys, Oath Keepers, Boogaloo Bois และที่โด่งดังมากคือ Q-Anon ก็พากันออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนนโยบายเอียงขวาของทรัมป์และต่อต้านขบวนการคนดำ Black Lives Matter และกลุ่มสิทธิทำแท้ง กลุ่ม LBGQT ด้วยการใช้กำลังปะทะและทำลายการเดินขบวนอย่างสันติของฝ่ายก้าวหน้า

เหตุการณ์ที่ดุเดือดรุนแรงมากได้แก่การเดินขบวนของประชาชนที่ออกมาให้รื้อถอนอนุสาวรีย์นายพล โรเบิร์ต อี. ลี ผู้นำสหพันธรัฐอเมริกาสมัยสงครามกลางเมืองที่เป็นนายทาสในมลรัฐเวอร์จิเนีย เมืองชาร์ลอตวิลล์ พวกฝ่ายขวานอกจากใช้กำลังเข้าปะทะและใช้อาวุธติดมือแล้ว ยังมีคนขับรถเก๋งพุ่งเข้าใส่ขบวนประท้วงบนถนนจนทำให้มีคนตายหนึ่งคนและบาดเจ็บ 19 คน กรณีประท้วงเลือดที่ชาร์ลอตวิลล์นี้ เมื่อนักข่าวถามประธานาธิบดีทรัมป์ว่ามีการใช้ความรุนแรงในการประท้วงถือว่าผิดไหม เขาเลี่ยงไม่ตอบตรงๆ หากให้ข้อมูลใหม่ว่าทั้งสองฝ่ายเป็นคนดี ในนั้นมีทั้งคนดีและไม่ดี สรุปคือเขาเลี่ยงการประณามการใช้กำลังของฝ่ายขวา ในทุกกรณีที่มีการใช้กำลังและความรุนแรง ทรัมป์โยนความผิดไปให้กลุ่มเอียงซ้ายที่เรียกว่า the Alt-Left ที่อยู่เบื้องหลังการเดินขบวน แต่ไม่มีหลักฐานการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวนี้แต่อย่างใด สะท้อนถึงความหวาดระแวงของทรัมป์และทฤษฎีสมคบคิดเหมือนกับพวกขวาเชิดชูผิวขาวด้วยกัน

การยกระดับความรุนแรงในการเมืองอเมริกันที่เด่นชัดและอลังการที่สุด ได้แก่การเคลื่อนขบวนมวลชนขวาผิวขาวมาหน้าทำเนียบขาว หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเพิ่งแพ้การเลือกตั้งออกมาปลุกระดมและนำการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ในนามของการล้มการเลือกตั้ง 2020 นำไปสู่การบุกยึดรัฐสภาคองเกรสขณะที่ทำการประชุมรับรองคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งจากมลรัฐต่างๆ ฝ่ายผู้ประท้วงต้องการบีบให้รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์แก้คะแนนแล้วประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อให้ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะไป การบุกยึดและทำลายการประชุมของรัฐสภาเท่ากับเป็นการพยายามทำลายระบบการปกครองและระเบียบเรียบร้อยของรัฐ ข้อหาจึงได้แก่การกระทำที่เป็นกบฏ ความพยายามก่อกบฏวันที่ 6 มกราคมล้มเหลว แต่ภาพและผลของการใช้ความรุนแรงอย่างเต็มรูป มีผลให้ตำรวจสภาตายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เป็นคดีความที่ยังดำเนินไปไม่เสร็จ เท่าที่ตัดสินพิจารณาคดีในศาลมีการพิพากษาลงโทษจำเลยไปจำนวนหนึ่ง วันนี้ (30 พ.ย.) มีข่าวว่าคณะลูกขุนมีมติว่าหัวหน้ากลุ่ม Oath Keepers ที่บุกเข้ายึดรัฐสภามีความผิดเข้าข่ายกระทำการกบฏต่อแผ่นดิน นับเป็นการลงโทษที่แรงที่สุดและเร็วสุดในคดีนี้ ส่วนสมาชิกที่เหลือและร่วมกระทำ ไปถึงกลุ่มขวาอื่นๆ เช่น Proud Boys กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีและจะขึ้นศาลในไม่ช้า


บทวิเคราะห์


เมื่อพิจารณาในภาพรวมการใช้ความรุนแรงต่อความขัดแย้งในความคิดทางการเมืองระหว่างกลุ่มและขบวนการประชาชนด้วยกันแล้ว ความน่ากลัวและตีบตันในการหาทางออกของการเมืองอเมริกันในอนาคตนั้นไม่มากและไม่หมดหวังเท่ากับของการเมืองไทย แม้มีลักษณะร่วมที่คล้ายและเหมือนกันหลายอย่าง เช่นมีความคิดและความเชื่อในทำนอง ‘หวาดระแวง’ ขยายเรื่องให้ใหญ่เกินจริง ทำให้เป็นเรื่องของระบบใหญ่ที่กระทำกันอย่างไม่เกรงฟ้าดิน มีความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดกัน มีมือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลัง รวมๆ แล้วในเรื่องแนวความคิดและความเชื่อจนถึงอุดมการณ์เหมือนกันแทบหมด ต่างกันก็ตรงฝ่ายขวาอเมริกันไม่มีสถาบันเบื้องสูงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาในการอ้างถึง อย่างดีก็อ้างความเป็นศาสนาคริสเตียนโปรเตสแตนต์ (ซึ่งเป็นศาสนาสังคมไปแล้วไม่เหมือนคาทอลิก) และความเป็นคนผิวขาว ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกทำให้เป็นโลกวิสัย (secularized) หมดแล้ว ไม่เหลือความศักดิ์สิทธิ์อะไรในการหลอกคนได้อีกต่อไป กฎหมายก็ไม่คุ้มครองพระเจ้าและความเป็นคนขาว แต่อาจช่วยทางอ้อมได้ เช่น เรื่องการทำแท้ง เรื่องการกีดกันคนอพยพต่างชาติไม่ให้ได้รับการเปลี่ยนเป็นพลเมืองอเมริกัน ในข้อนี้การใช้อุดมการณ์ขวาในอเมริกาจึงไม่ค่อยน่ากลัวและไม่น่าจะดึงดูดคนกลางๆ ให้มาเชื่อและทำตามได้มากนัก

ต่างจากกรณีของฝ่ายขวาไทย ที่เป็นขบวนการประชาชนไม่ใช่ตั้งมาโดยฝ่ายความมั่นคงของรัฐ จำต้องสร้างวาทกรรมและความคิดของกลุ่มที่สามารถเป็นเกราะกำบังอันตรายภายนอกได้ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวและต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่มีความชอบธรรมของหลักการประชาธิปไตยเสรีเช่นการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ค้นพบวาทกรรมการเมืองที่สามารถให้ความชอบธรรมและถูกต้องแก่การปฏิบัติของพวกตนได้ นั่นคือการอ้างถึงสถาบันกษัตริย์และศาสนาพุทธกับชาติไทยที่ดึงคนทั่วไปอีกจำนวนมากให้มาเข้าร่วมขบวนการได้ ดังเห็นได้จากปริมาณของผู้คนที่มาเข้าร่วมการประท้วงภายใต้การนำของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สามารถถักร้อยทฤษฎีสมคบคิดและความหวาดระแวงใน ‘ระบอบทักษิณ’ นำไปสู่การประดิษฐ์สร้างมโนทัศน์เช่น ‘เลือกตั้งธิปไตย’ ‘นักเลือกตั้ง’ จนถึง ‘เผด็จการในระบบรัฐสภา’ และ ‘คนเราไม่เท่ากัน’ เมื่อทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยเสรีได้แล้ว ก็สร้างทฤษฎีชาตินิยมใหม่ว่า “ชาตินั้นประกอบด้วย 2 อย่างเท่านั้นเองให้จำเอาไว้ ประกอบด้วยศาสนาและพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น”

หลังจากนั้นขบวนการ กปปส. ที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประดิษฐ์สร้างวาทกรรม ‘คนดี’ และ ‘ศีลธรรมอยู่เหนือประชาธิปไตย’ อันร่วมสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มไฮโซเจ้าของธุรกิจพันล้านในกรุงเทพฯ

ความน่าสะพรึงกลัวของขวาไทยยังได้รับการตอกย้ำหนุนเสริมจากกลไกระบบยุติธรรม เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 และวิธีพิจารณาตัดสินคดีความจำนวนหนึ่งที่ไม่ปกป้องหลักการยุติธรรมสากล เรื่องนี้ระบบยุติธรรมอเมริกันยังยืนหยัดในการต่อสู้กับอำนาจทั้งในและนอกกฎหมายอย่างไม่หวาดหวั่น เห็นได้จากการพยายามดำเนินคดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ในหลายข้อหารวมทั้งการปลุกปั่นกระทำการอันเป็นการกบฏต่อรัฐด้วย ซึ่งยังเป็นหลุมดำใหญ่ว่าจะสามารถฝ่าฟันผ่านไปได้หรือ ผมเขียนถึงเรื่องการใช้อำนาจรัฐอย่างล้นพ้นของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ไปแล้วหลายตอน จะไม่ขอพูดถึงในที่นี้อีก เพียงยกมาเปรียบเทียบกับการใช้ความรุนแรงในการเมืองระหว่างอเมริกากับไทยว่า หากรัฐบาลและรัฐไม่อาจใช้กฎหมายบังคับลงโทษผู้กระทำผิดที่มีอำนาจในมือได้ ก็จะไม่อาจสามารถป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนได้

สุดท้าย ฝ่ายขวาผู้เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว ใช้ทรรศนะเหยียดหยามในการโจมตีว่าฝ่ายตรงข้ามเป็น ‘พวกชังชาติ’ แบบขวาไทยไหม ตอบสั้นๆ ไม่เคยได้ยิน คนขาวเหยียดเชื้อชาติคนดำมานับศตวรรษก็ไม่เคยเรียกพวกนั้นว่า ‘ชังชาติ’ หรือดูถูกให้ร้ายชาติอเมริกา ทำไมถึงไม่ทำ ที่ไม่ทำเพราะคนขาวได้ขีดเส้นและกีดกันไม่ให้คนผิวดำเข้ามาอยู่ร่วมวงเดียวกันกับคนผิวขาวนานแล้ว เมื่อทำให้เขาเป็น ‘คนอื่น’ เป็น ‘คนนอก’ ไปแล้ว จะมาเรียกร้องให้พวกนั้นหันมารักชาติเหมือนกับตนอีกก็ดูประหลาดและเข้าใจไม่ได้ นอกจากนั้นพื้นฐานของการเป็นชาติและประเทศสหรัฐอเมริกานั้นกำเนิดมาจากการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย (ระดับหนึ่ง) ของคนที่เป็นชาวอาณานิคม เป็นการต่อสู้ของคนสามัญที่ไม่ใช่พวกผู้ดีแปดสาแหรกหรือพวกตีนแดง จอร์จ วอชิงตันผู้นำคนสำคัญและประธานาธิบดีคนแรกก็มาจากครอบครัวเกษตรกรเวอร์จิเนียที่มีฐานะ แม้ทำภาพปั้นและวาดให้เหมือนเทวดาปราชญ์เหาะมาจากสวรรค์ แต่ในความคิดของคนอเมริกันทั่วไป วอชิงตันก็เป็นสามัญชนคนธรรมดาที่เก่งกล้าและซื่อสัตย์ไม่เห็นแก่ตัว อันเป็นคุณธรรมพื้นๆ ของชาวบ้านกันทั้งนั้น การใช้ความคิดเรื่อง ‘คนดี’ หรือมีศีลธรรมเหนือกว่าคนอื่นมีในยุคแรกก่อตั้งอาณานิคมอเมริกา เมื่อบรรพบุรุษอย่าง จอห์น วินทรอป ผู้นำคณะพิวริตันที่มาตั้งรกรากในแมสซาชูเซตส์เทศนาว่าพิวริตันนั้นคือคนที่พระเจ้าเลือก และอเมริกาก็จะเป็น ‘นครบนเนินเขา’ (a city on the hill) ที่เป็นคนส่องทางให้แก่คนทั้งโลก แต่เมื่อเขาสั่งสอนคนในชุมชน คุณธรรมของพลเมืองอเมริกันคือการทำงาน คนดีอย่างพิวริตันจึงไม่ให้อำนาจและความชอบธรรมในการไปทำร้ายผู้อื่นได้ นอกจากต้องเอาชนะด้วยการทำงานให้หนักกว่า ชาตินิยมอเมริกาจึงผูกขาดยากและไล่คนอื่นให้ออกไปก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว หากแต่สหรัฐฯ เป็นของทุกคน คติความเป็นมาของความเป็นชาติและประชาชนจึงทำให้การใช้ความรุนแรงในการเมืองนั้นๆ แตกต่างกันไปได้เช่นกัน

อีกปัจจัยที่มีผลต่อการแก้ไขเพื่อสมานฉันท์คือเวทีและพื้นที่ของความขัดแย้งดังกล่าวนั้นเกิดและดำเนินไปในหรือนอกสถาบันการเมืองในระบบ เช่น รัฐสภา พรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญ หากความขัดแย้งคลี่คลายเข้าไปอยู่ในหรือผูกพันกับสถาบันการเมืองในระบบ โอกาสที่จะปรับแก้และยุติความรุนแรงก็ทำได้โดยอาศัยกระบวนการและเครื่องมือของระบบประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การจัดองค์กรภายในพรรคการเมือง แต่ถ้าปัญหาขัดแย้งและการต่อสู้ยังดำเนินไปนอกสถาบันการเมืองทางการ ดังที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งออกไปตั้ง กปปส. เท่ากับนำความขัดแย้งระหว่างประชาชนออกไปจากกรอบและกระบวนการในระบบตามกฎหมายและประเพณี ผลลัพธ์คือการเพิ่มระดับและดีกรีของความรุนแรง จนกระทั่งนำไปสู่การทำรัฐประหารโดยกองทัพอีกวาระหนึ่ง 

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสรุปการเปรียบเทียบความรุนแรงในการเมืองสองประเทศและระบบว่า อเมริกามีความหวังที่จะผลักดันให้ระบบเข้ามาแก้ไขความรุนแรงได้ ส่วนของไทยไร้ความหวังด้วยประการทั้งปวงเพราะแม้แต่สถาบันทางการเมืองในระบบเองก็แทบเอาตัวไม่รอดในทุกวันนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save