fbpx
แนวคิดเรื่องความรุนแรงในเขตเมือง: ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของลาตินอเมริกา

แนวคิดเรื่องความรุนแรงในเขตเมือง: ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของลาตินอเมริกา

จะว่าไปแล้ว ความรุนแรงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีสาเหตุที่ซับซ้อนและมีความยุ่งยากในการหาทางออก เหตุการณ์หรือสถานการณ์มากมายมหาศาลที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นผลกระทบตามมาล้วนถูกจัดว่าเป็นความรุนแรงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกสั่งให้กระทำการ ป้องกันตัว แก้แค้น หรือแม้กระทั่งการใช้กำลังเพื่อป้องกันประเทศต่างก็ถูกมองว่าเป็นความรุนแรง

ความพยายามที่จะเข้าใจหรือจำแนกความรุนแรงประเภทต่างๆ ให้เห็นชัดเจนหรือกระจ่างมีปัจจัยหลากหลายที่จะต้องคำนึง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม วัฒนธรรม ประวัติความเป็นมา รวมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น ๆ ขณะที่ความรุนแรงในเขตเมืองคือความรุนแรงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม กลุ่มผู้มีอิทธิพล ความเห็นต่างทางการเมือง เพศสภาพ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นในเขตเมือง ความรุนแรงประเภทนี้ได้รับความสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ทำไมในเมือง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา จึงประสบปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงในระดับที่สูงกว่าในชนบทโดยเปรียบเทียบ และมีแนวทางเช่นไรที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ให้บรรเทาเบาบางลง

The Violence Prevention Alliance (VPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งองค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) นิยาม ‘ความรุนแรง’ ไว้ดังนี้

“การกระทำที่มีเจตนาที่แสดงออกมาทางร่างกาย การขู่บังคับ การแสดงอำนาจ ต่อตนเอง บุคคลอื่น กลุ่มบุคคล หรือชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต ความสะเทือนใจ ความสูญเสีย หรือ การถูกทอดทิ้ง” 

นอกจากนี้ The Violence Prevention Alliance ยังจำแนกประเภทความรุนแรงออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1) ความรุนแรงที่กระทำต่อตัวเอง (Self-directed Violence) เช่น การทำร้ายร่างกายตัวเอง อัตวินิบาตกรรม  

2) ความรุนแรงที่กระทำต่อบุคคลอื่น (Interpersonal Violence) อาทิ การทำร้ายร่างกายผู้อื่น การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขู่กรรโชก

3) ความรุนแรงในสังคม (Collective Violence) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทย่อยตามผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง คือ ความรุนแรงทางสังคม ความรุนแรงทางการเมือง ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าการจำแนกประเภทดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาความรุนแรง องค์การอนามัยโลกอาศัยการจำแนกนี้ในการศึกษาความรุนแรงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและระบาดวิทยา รวมถึงวิเคราะห์ความรุนแรงในเชิงสังคมวิทยาการเมือง อนึ่ง ถึงแม้คำนิยามและการจำแนกประเภทของความรุนแรงขององค์การอนามัยโลกจะเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่ามีข้อจำกัดอยู่ในบางประการ อาทิ ถ้าผู้กระทำไม่เจตนาหรือไม่ตั้งใจจะถือเป็นความรุนแรงหรือไม่ เช่น ทำปืนลั่นไปโดนเพื่อนเสียชีวิต หรือเกณฑ์ข้อจำแนกนี้มุ่งแต่จะศึกษาสาเหตุของความรุนแรงโดยมองที่ตัวผู้กระทำการเพียงอย่างเดียว

ขณะที่จิตวิทยาความรุนแรงเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของความก้าวร้าว สิ่งยั่วยุ การรับรู้ การกระตุ้น หรือแรงจูงใจต่าง ๆ ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าแนวทางการศึกษาความรุนแรงเชิงจิตวิทยาจะตระหนักดีว่า จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้พหุสาขาเข้ามาประกอบการอธิบาย แต่งานวิจัยหรืองานศึกษาจิตวิทยาความรุนแรงส่วนมากก็ยังมีระเบียบวิธีการศึกษาที่เน้นการทดลองเชิงพฤติกรรมซึ่งเต็มไปด้วยสมมติฐานต่าง ๆ มากมาย หรือเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขเชิงสถิติ ขาดคำอธิบายเชิงโครงสร้างสังคมวิทยาการเมือง มุ่งเน้นแต่การศึกษาเชิงพฤติกรรมส่วนบุคคล และขาดความเข้าใจในระดับมหภาค

พูดให้ชัดขึ้น ถ้าเราจะเข้าใจฆาตกรต่อเนื่องที่สังหารเหยื่อนับร้อยศพอย่างทารุณโหดเหี้ยม คำอธิบายแต่เพียงว่าเขาเป็นคนจิตใจไม่ปกติ หรือเป็นสัญชาติญาณดิบของผู้ชายที่ขาดความอบอุ่นในวัยเด็กจากการหย่าร้างของพ่อแม่ โดยละทิ้งบริบททางสังคมหรือปัจจัยทางโครงสร้างอื่นๆ ย่อมไม่สามารถจะสร้างความกระจ่างแจ้งในแรงจูงใจในการฆ่าของเขา รวมถึงมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้อีก

ในรายงานเรื่อง Violence in the City ของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2010 ระบุว่า การเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดมาก่อน มีส่วนทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลายมาเป็นผู้ล่วงละเมิดเสียเองเมื่อโตขึ้น เพราะประสบการณ์ในอดีตฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกหรือเป็นตราบาปที่พวกเขาต้องการแก้แค้น คำอธิบายในลักษณะนี้ของธนาคารโลกก่อให้เกิดข้อจำกัดในการที่จะแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย เพราะเป็นการอธิบายที่มาของความรุนแรงที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลเสียมากกว่า และแทนที่จะเป็นการหาแนวทางการป้องกันการเกิดซ้ำกลับเป็นการส่งเสริมให้ออกบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก

นอกจากความพยายามในการศึกษาความรุนแรงผ่านปัจจัยส่วนบุคคลแล้ว ประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างทางกายภาพของเมือง การพัฒนาเมือง ล้วนมีความเชื่อมโยงที่จะอธิบายว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวส่งผลต่อแรงจูงใจหรือผลกระทบต่อประชาชนในประเด็นเรื่องการใช้กำลังไม่มากก็น้อย มีแนวโน้มว่าความเหลื่อมล้ำเป็นต้นเหตุของความรุนแรงมากกว่าปัญหาเรื่องความยากจน ถึงแม้ว่าทั้งสองสาเหตุจะมีความเกี่ยวเนื่องกันค่อนข้างมากก็ตาม เมืองที่มีขนาดใหญ่มักจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากกว่า แต่ปัจจัยที่ต้องพิจารณาคืออัตราเร่งของการพัฒนา กล่าวคือยิ่งเมืองยิ่งขยายตัวเร็ว Muggah and Savage พบว่าความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จากการศึกษาจะพบความสัมพันธ์ของปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นกับการเกิดความรุนแรงโดยเฉพาะในเขตเมือง แต่มาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาความรุนแรงยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ความพยายามในการหาหนทางสำเร็จรูปที่สามารถจัดการความรุนแรงในพื้นที่เมืองไม่สามารถกระทำได้โดยปราศจากการคำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละเมืองหรือแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยระหว่างกลุ่มคนในสังคม ไม่เช่นนั้นคนที่ยากจนหรือได้รับโอกาสน้อยกว่าจะถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรง ส่งผลให้เขาเหล่านั้นยิ่งถูกกีดกันออกไปจากกระบวนการในการแก้ไขปัญหา

แทนที่จะศึกษาผ่านแว่นขยายความรุนแรง Galtung ได้ใช้แนวความคิดทางสันติภาพและเสนอให้ใช้คำว่า ‘ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง’ (Structural Violence) เพื่อหมายถึงความเสียหายอันเป็นผลมาจากสภาพชีวิตที่เผชิญกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแตกต่างไปจากความหมายคำว่าความรุนแรงขององค์การอนามัยโลก โดย Galtung เริ่มต้นที่ว่าสันติภาพ (Peace) คือส่วนที่ขาดหายไปเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อสันติภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา ความรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษยชาติได้รับผลกระทบใดๆ ก็ตามที่ทำให้ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของมนุษย์ถดถอยไปจากสภาพปกติเดิมของเขา เช่น การที่คนต้องตายไปเพราะติดเชื้อวัณโรคทั้งๆ ที่มียารักษา แต่เขากลับเข้าไม่ถึง ถือเป็นความรุนแรงในความหมายของ Galtung

จะเห็นว่า แนวความคิดเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างดังกล่าวเน้นย้ำว่าความอดอยากยากแค้น หรือการไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่ธรรมดาสามัญควรจะได้รับถือว่าเป็นความรุนแรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังสะท้อนถึงพฤติกรรมของสังคมที่มีต่อความรุนแรง ดังคำกล่าวของ Galtung ที่ว่าเมื่อสามีหนึ่งคนทำร้ายภรรยาของเขา แน่นอนว่านี่คือความรุนแรงในครอบครัว แต่ถ้าสังคมเพิกเฉยหรือปล่อยให้สามีหนึ่งล้านคนทำร้ายภรรยาของพวกเขา สังคมนั้นเกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง 

ปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ แต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะอธิบายความรุนแรงได้อย่างกระจ่างชัด ถ้าขาดการคำนึงถึงบริบททางสังคม Tilly อธิบายว่าความรุนแรงในสังคม (Collective Violence) เกี่ยวข้องกับความสูญเสียที่มีผู้กระทำการอย่างน้อย 2 คนขึ้นไปที่ร่วมมือกัน ความร่วมมือนี้อาจไม่ได้เตรียมการกันมาก่อนหรือได้รับคำสั่งมาจากบุคคลอื่น แต่อาจจะเป็นว่าการใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกขั้นสุดท้ายที่จำเป็นที่สุดของความร่วมมือในขณะนั้นก็เป็นได้ โดยคำนึงสถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งอัตลักษณ์ส่วนบุคคลที่บ่งว่าใครจะเป็นเหยื่อและใครเป็นผู้ลงมือกระทำการความรุนแรงนั้น

แนวความคิดเรื่องความรุนแรงในสังคมของ Tilly นี้สะท้อนความสัมพันธ์ของคนในสังคม ไม่ว่าในทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ยึดในเกียรติและศักดิ์ศรี ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ มีแนวโน้มที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ง่าย อาทิสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งสะท้อนแนวความคิดของผู้กระทำว่าตัวเองมีความเหนือกว่าเหยื่อ อาจจะเป็นทางด้านชาติพันธุ์ดังในเหตุการณ์ Holocaust หรือความเป็นอารยะ ในกรณีการตกเป็นอาณานิคมของดินแดนต่าง ๆ ในลาตินอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 เป็นต้น 

ดังนั้น การจะเข้าใจถึงบริบทต่างๆ ของสังคมรวมทั้งความเข้าใจถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ส่วนบุคคลอาทิ ในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่บ่มเพาะพฤติกรรมการเรียนรู้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาเรื่องความรุนแรง ความรุนแรงประเภทต่างๆ มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวหรือส่วนบุคคล หรือเป็นเรื่องที่อยู่อย่างโดดๆ

แนวทางศึกษาความรุนแรงโดยมีมุมมองที่หลากหลายแตกต่างอย่างยิ่งกับแนวคิดที่ว่าบางสังคมมีวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง (Culture of Violence) มาตั้งแต่อดีตแล้ว โดย Pécaut ชี้ว่าการศึกษาใด ๆ ก็ตามที่ระบุว่าวัฒนธรรมนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากเป็นการศึกษาที่ตื้นเขิน ยังอาจก่อให้เกิดความชอบธรรมกับแนวคิดการแสวงหาอาณานิคมที่มักจะป้ายสีคนพื้นเมืองว่ามีความป่าเถื่อนดุร้าย และเท่ากับสิ้นสุดการแสวงหาทางออกจากความรุนแรง เพราะเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของคนในสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ความรุนแรงต้องอาศัยบริบททางวัฒนธรรมเป็นส่วนประกอบ วัฒนธรรมสะท้อนความสัมพันธ์ของคนในสังคม ทำให้เห็นถึงระเบียบแบบแผนที่สังคมต่างๆ ยึดถือเป็นจารีตปฏิบัติ และสามารถเข้าใจถึงความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นในสังคมนั้นๆ ว่าสังคมมีปฏิกิริยาเช่นไรกับความรุนแรงดังกล่าว 

การศึกษาเรื่องความรุนแรงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้กระทำกับเหยื่อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น คนกลางในการเจรจา หรือผู้มีส่วนร่วมในการหาทางออกหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงนั้น การศึกษาในลักษณะนี้ทำให้สามารถเข้าใจว่า เพราะเหตุใดความรุนแรงจึงถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่แรงจูงใจของผู้กระทำการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงบริบทความเกี่ยวข้องของบุคคลต่างๆ ที่อยู่รายรอบซึ่งมีสถานภาพและอำนาจในสังคมที่แตกต่างกันไป

Jabri เสนอว่า ยกเว้นคนที่ต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ สำหรับคนโดยทั่วไปแล้ว บางครั้งก็คิดว่าความรุนแรงคือทางออกที่เหมาะสมที่สุด เช่น การใช้กำลังป้องกันตนเอง สงครามต่อต้านการก่อการร้าย การดำรงอยู่ของโทษประหารชีวิต หรือแม้กระทั่งการใช้ไม้เรียวกับนักเรียน จะเห็นได้ว่าการยอมรับการใช้ความรุนแรงเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สถานภาพ หรือเป็นการตอบสนองต่อการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน เช่นคำอธิบายว่าการที่ครูตีนักเรียนเพราะต้องการให้เด็กได้ดีมีระเบียบวินัย หรือการที่พวกคนร่ำรวยต้องจ้างกองกำลังกึ่งทหารไว้ป้องกันตัวเองจากกบฏฝ่ายซ้ายในเมืองเมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย ก็เป็นสิ่งที่ชอบธรรมในมุมมองของคนรวยเหล่านั้น เพราะเมื่อรัฐไม่สามารถคุ้มครองพวกเขาได้ เขาก็จำเป็นต้องมีกองกำลังกึ่งทหารดังกล่าว แม้แต่การที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามโจมตีอิรักก็อ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการตอบโต้การที่อิรักมีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีสหรัฐอเมริกาในเหตุการณ์ 9/11

เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะเข้าใจเรื่องความรุนแรงยังต้องคำนึงถึงแนวความคิดเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) ความเชื่อถือ (Trust) และความศรัทธา (Worth) ของคนในสังคมนั้นๆ ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน แนวทางการทำความเข้าใจในปัญหาความรุนแรงดังที่กล่าวไปข้างต้น แตกต่างไปจากแนวความคิดที่ว่าความรุนแรงเป็นผลจากการที่สังคมขาดระเบียบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากแนวความคิดของนักปรัชญาทางการเมืองสายสัญญาประชาคม (Social Contract) อาทิ Thomas Hobbes ที่มองว่าโดยธรรมชาติการต่อสู้ป้องกันตัวเพื่อเอาชีวิตรอดจากสิ่งใดก็ตามในโลกเป็นสิทธิ์และความจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นจะต้องมีรูปแบบการปกครองหรือระเบียบกติกาที่สามารถทำให้มนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยไม่แสดงออกซึ่งลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งแฝงไว้ด้วยความรุนแรง หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ในสังคมเพราะขาดระเบียบในการควบคุมมนุษย์ ซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางความเข้าใจที่ว่าความรุนแรงนั้นสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยโดยอาศัยกติกาหรือระเบียบแบบแผน ประเพณีปฏิบัติของสังคม ความรุนแรงนั้นดำรงอยู่ในสังคมเศรษฐกิจการเมืองของมนุษย์ ดังนั้นความรุนแรงถือเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบของสังคม ไม่ใช่เป็นเพราะสังคมขาดระเบียบ

ยิ่งไปกว่านั้น ความรุนแรงอาจเป็นปัจจัยหรือเครื่องมือสำคัญในการดำรงอยู่ของระบบวรรณะ อัตลักษณ์ หรือมาตรฐานของสังคมต่าง ๆ ที่เป็นฐานรากของความรุนแรงได้เช่นเดียวกัน สำหรับ Tilly ความรุนแรงจะดำเนินต่อไปได้เพราะมีสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงนั้นดำเนินต่อไป ความรุนแรงมีบทบาทที่ทำให้กระบวนการทางการเมืองไม่สิ้นสุด แตกต่างไปจากแนวความคิดว่าเพราะไม่มีกระบวนการยับยั้งหรือไม่มีระเบียบที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น ดังนั้นการศึกษาเรื่องความรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องอำนาจ (Power) ควบคู่กันไปด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save