ต้องศิวิไลซ์แค่ไหน ถึงจะเลิกใช้ความรุนแรง

ต้องศิวิไลซ์แค่ไหน ถึงจะเลิกใช้ความรุนแรง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

1

 

ในภาพยนตร์เรื่อง Contact (1997) นำแสดงนำโดยโจดี ฟอสเตอร์ เธอรับบทเป็นดร.เอลเลนอร์ แอโรเวย์ นักฟิสิกส์ที่ถูกคัดเลือกให้เดินทางโดยยานอวกาศที่ชาวเวก้าส่งแบบพิมพ์เขียวมาให้มนุษย์สร้างพาหนะข้ามจักรวาล การเดินทางของเธอนับว่าเป็นการติอต่อกับมนุษย์ต่างดาวครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

กว่าดร.แอโรเวย์จะได้รับคัดเลือก ต้องผ่านด่านอะไรต่อมิอะไรมากมาย รวมถึงคำถามยากๆ มีคำถามหนึ่งในหนังที่ผมชอบและสะดุดหูผมตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน คำถามมีอยู่ว่า “หากคุณได้เจอมนุษย์ต่างดาวผู้ทรงปัญญา สิ่งแรกที่คุณจะถามพวกเขาในนามของตัวแทนของมนุษยชาติคืออะไร”

เธอตอบว่า “ฉันอยากรู้ว่า พวกเขารอดจากการทำลายล้างกันเองได้อย่างไร”

สงคราม การฆ่าฟันกันเอง การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง เป็นประเด็นคลาสสิกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เราเริ่มบันทึกประวิติศาสตร์ เราได้เห็นมาตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์ว่า ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย การต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของเรามาตลอด ตั้งแต่เรื่องตีหัวสาวๆ ลากเข้าถ้ำของพวกฟลินสโตนส์ สงครามปฏิรูปศาสนาในยุโรป พวกแมนจูรบกับราชวงศ์หมิง อินคากับคนสเปน มาจนถึงการระเบิดตึกในนิวยอร์ก ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ความรุนแรงเป็นของอยู่คู่กับมนุษย์เรามาโดยตลอด แม้เราจะมีชิปขนาด 5 นาโนเมตร ความดิบในสันดานก็เป็นเรื่องที่มนุษย์อดใจไม่ได้ ต้องปล่อยมันออกมา และความทะเยอทะยานในการใช้มันก็ยังอยู่ แม้อาจเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง แต่โดยรวมมันก็ยังคงอยู่

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น กลไกธรรมชาติอยู่เหนือขีดความสามารถในการควบคุมตัวเองของเราอย่างนั้นหรือ

 

2

 

สมองส่วนที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของเราเรียกว่าระบบลิมบิก (Limbic system) เป็นกลุ่มส่วนของสมองที่ตั้งอยู่ระหว่างส่วนทาลามัส (Thalamus) ซึ่งเป็นศูนย์รวมระบบประสาทของสมองกับซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ (Cerebral Cortex)

ระบบลิมบิกประกอบด้วย ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) กลุ่มของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความหิว สมดุลของน้ำและวงจรการหลับ-ตื่น และทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อด้วย รวมทั้งยังมีอะมิกดาลา (Amygdala) ส่วนที่ควบคุมความทรงจำและการตอบสนองต่อการได้รับรางวัลและการถูกลงโทษ และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ส่วนที่โค้งรอบทาลามัส ควบคุมพฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออารมณ์ การสร้างความทรงจำระยะยาวและการเรียนรู้

ระบบทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม สมองส่วนนี้จะอยู่ในสมองส่วนกลาง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘สมองส่วนดึกดำบรรพ์ที่สุด’ สมองส่วนนี้จะพัฒนาในช่วง 7 ปีแรกของเรา และส่วนมากมักแสดงออกโดยอาศัยปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งเร้า หากไม่ได้รับการฝึกฝนเอาใจใส่ให้ดี สมองส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้เราแสดงความก้าวร้าวออกมา เพราะสมองคอร์เท็กซ์กลีบหน้า (Prefrontal cortex) หรือ ‘สมองส่วนอารยะ’ ที่ช่วยเรื่องการประมวลความคิดอย่างเป็นระบบจะยังไม่สมบูรณ์จนกระทั่งเข้าสู่อายุ 20 ปี

สมองของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานมาก หลายอย่างเป็นการสั่งสมจากพฤติกรรมการเรียนรู้ของเราตลอดสองแสนปี ทว่าต้องอาศัยเวลา และย่อมทิ้งร่องรอยในอดีตไว้ในดีเอ็นเอ การใช้ความรุนแรงก็เป็นหนึ่งในร่องรอยที่ยังเหลืออยู่เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายต่างๆ แสดงออกมาทั้งในรูปแบบของการใช้เสียง การทุบตีต่อสู้ สร้างเครื่องมือ ปัจจุบันความรุนแรงอาจถูกแสดงออกมาด้วยการต่อต้าน หรือการหมกมุ่นกับสิ่งเร้าบางอย่างมากเกินไป

แม้ว่ามันดูไม่มีประโยชน์ แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็บอกว่า ความรุนแรงนี่แหละที่ทำให้เราอยู่รอด เพราะนั่นหมายถึงความกลัว และความกลัวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องสร้างกลไกป้องกันตนเองในรูปแบบต่างๆ

สมัยก่อนโน้น ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เราเรียนรู้การใช้ความรุนแรงมีอยู่ไม่กี่อย่างนะครับ อาหาร การหาคู่ การปกป้องถิ่นที่อยู่ เป็นหลักพื้นๆ ของสัตว์ทุกตัวบนโลกนี้ก็ว่าได้ โชคร้ายที่มนุษย์เราไม่ได้มีเขี้ยวโง้งใหญ่หรือพ่นพิษได้ สิ่งเดียวที่เรามีเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ คือสมอง ผมเข้าใจว่า ไม่แปลกที่บางครั้งการแสดงซึ่งความรุนแรงของคนเรา แม้จะเป็นไปเพื่อหลักการง่ายๆ แต่ก็มีความซับซ้อนและฝังลึกกว่าสัตว์อื่นๆ เนื่องจากสมองอันใหญ่โตของเราถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนสามารถสร้างความรุนแรงในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่าบรรดาสัตว์ทั่วไป

ผมเชื่อว่าเราพยายามลดการใช้ความรุนแรงมาตลอดเส้นทางการวิวัฒนาการ อย่างการเกิดขึ้นของศาสนา ระบบศีลธรรมหรือกฎหมายต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อควบคุมตัวเราเองไม่ให้ไปทำร้ายใครซี้ซั้ว ยิ่งสังคมซับซ้อนมากขึ้น เราก็พัฒนากลไกมาป้องกันตัวเราเอง ไม่ใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจ แม้ว่ามันจะใช้ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะสมองส่วนดึกดำบรรพ์ของเรามีอิทธิพลเหนือสมองส่วนอารยะโดยไม่ได้อาศัยเหตุผลเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นเราน่าจะเลิกทำสงคราม หรือการแข่งกันซื้ออาวุธมาสะสมกันไปนานแล้ว ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ามันไม่มีอะไรดี

…นอกจากกำไร

 

3

 

สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างหนึ่งของความย้อนแย้ง ธุรกิจขายอาวุธของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำโลกและการส่งเสริมสันติภาพ แต่จริงๆ แล้วมันโตอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเวียดนามสหรัฐอเมริการ่ำรวยจากการขายอาวุธไม่น้อย ก่อนจะตกต่ำลงเพราะสภาพเศรษฐกิจของโลก และกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงขึ้นสหัสวรรษใหม่ตั้งแต่ปี 2004 จนถึงตอนนี้ อุตสาหกรรมขายอาวุธของสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้นทุกปี

สถิติจากทั้ง armscontrol.org และ defensenews.com บอกตรงกันว่า การใช้ความรุนแรงทั่วโลกตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงผู้บริสุทธิ์ ความขัดแย้งกับจีน ไปจนถึงสงครามในอัฟกานิสถาน ทำให้สหรัฐอเมริกาขายอาวุธได้มากขึ้น ปี 2019 สหรัฐอเมริกาทำรายได้จากการขายอาวุธอย่างเดียว 524,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2018 ซึ่งขายได้ 488,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 15.1 ล้านล้านบาท) สหรัฐอเมริกาขายอาวุธยุทโธปกรณ์และความรู้เกี่ยวกับสงครามให้ลูกค้าเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ต่อหน้าเป็นคู่อริ

พูดให้เห็นภาพก็คือ อาวุธจากสหรัฐอเมริกาก็เหมือนโทรทัศน์จากเกาหลีใต้ มันเป็นของที่ต้องมี วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงยังถูกส่งออกและส่งต่อในรูปแบบอื่นๆ ผ่านสื่อและเกมต่างๆ ต่อยอดให้วงจรนี้ยังแข็งแรงและมีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่สหรัฐอเมริกาออกมาแก้เก้อในเรื่องนี้ว่า การพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ อีกด้วย เนื่องจากสามารถนำมาดัดแปลง ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ กระทั่งวัสดุที่ใช้ทำคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้บางแบรนด์ก็ยังอ้างว่าใช้เทคโนโลยีทางทหารเพื่อเรียกความน่าสนใจ นั่นอาจเป็นเหตุสำคัญลึกๆ ที่การยกเลิกการถือครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเมื่อเห็นผลประโยชน์มหาศาลอยู่ตรงหน้าจากการยุแยงให้คนทะเลาะกัน ไหนเลยเล่าเราจะทิ้งกำไรไป คำถามคือ เมื่อไหร่และอย่างไรที่เราจะออกจากวงจรนี้ได้

ผมเองก็ไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่าเราทำได้

เว็บไซต์ waitbutwhy.com มีการทำข้อมูลเพื่อเทียบการเสียชีวิตของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ ระหว่างเหตุภัยจากธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บและการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เช่น สงคราม การก่อการร้าย ความรุนแรงทางการเมือง ก็พบว่าสัดส่วนการใช้ความรุนแรงเป็นสาเหตุไม่น้อย แต่ข่าวดีก็คือ มันมีแนวโน้มที่มันจะลดลงเรื่อยๆ หลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามและความรุนแรงทางการเมืองลดน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งคงมาจากมหาสงครามที่ผ่านมานั้นทำให้เรากลัว อีกส่วนหนึ่งก็คือ เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เราก็คือมนุษย์เราเองนี่แหละ ทุกอย่างจะสูญสิ้นหากว่าเรามัวแต่จะฆ่าฟันกันเอง จะมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีก็อาจได้นะครับ แต่ผมคิดว่าหนทางนี้ยังอีกยาวไกล เมื่อเทียบกับอายุของโลกเรา (4,500 ล้านปี) อายุของการมีอยู่ของไดโนเสาร์ก่อนการสูญพันธุ์ (ประมาณ 100 ล้านปี) และอายุของวิวัฒนาการมนุษย์ (ประมาณ 200,000 ปี) ช่วงเวลาของมนุษย์เราบนโลกใบนี้ ยังน้อยกว่าเวลาที่เรากระพริบตาเสียอีก

แม้ว่ามนุษย์เราดูเหมือนมาไกลจากจุดเริ่มต้น หลายสังคมบอกตัวเองว่าเราเป็นผู้ศิวิไลซ์ แต่ในความเป็นจริงสันดานดึกดำบรรพ์ก็ยังอยู่ และผมก็อยากรู้เหมือนกับด็อกเตอร์แอร์โรเวย์เหมือนกันว่าอนาคตข้างหน้า หากไม่มีเหตุอุกาบาตโหม่งโลกให้เราต้องสูญพันธุ์แบบไดโนเสาร์เสียก่อน มนุษย์เราจะสามารถเอาชนะตัวเอง ก้าวข้ามการใช้ความรุนแรงรบราฆ่าฟันกัน และไปสู่ยุคพระศรีอารย์ได้จริงไหม

ก็ได้แต่หวังกันไปนะครับว่าเราจะวิวัฒน์ได้​ ที่แน่ๆ คือเลี้ยงดูเด็กๆ ให้ดีตอนเขายังเล็ก ใส่ภูมิคุ้มกันไว้ให้เขา น่าจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้มาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save