fbpx
เรื่องเล่าจากผู้ใช้บังคับกฎหมาย : ความท้าทายของการ 'จับผู้ร้าย' ในคดีละเมิดเด็ก

เรื่องเล่าจากผู้ใช้บังคับกฎหมาย : ความท้าทายของการ ‘จับผู้ร้าย’ ในคดีละเมิดเด็ก

ณัฐธิดา ดวงวิโรจน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

“คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กเป็นคดีที่น่าตกใจ บางคดีเด็กถูกละเมิดโดยแลกกับช็อกโกแล็ตไม่กี่แท่ง หรือแลกกับเงินหนึ่งร้อยบาท…”

ร.ต.อ. เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เริ่มต้นการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘มาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็กและการวิเคราะห์จิตวิทยาสำหรับผู้ใช้บังคับกฎหมาย’ ด้วยการเล่าประสบการณ์การทำงานด้านป้องกันและปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรมที่มาจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลากหลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครอง ตำรวจ พนักงานสืบสวน ไปจนถึงพนักงานอัยการ ได้รับฟัง

การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ถูกจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ 5 องค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หน่วยปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราขอาณาจักร (NCA) มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation) มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A21 Foundation) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลเยอรมัน-อุษาคเนย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CPG) เพื่อพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ในสายงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทางเพศเด็ก โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

เนื่องจากผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานจริงในระบบ การอบรมจึงเป็นการนำประสบการณ์การทำงานมาร่วมอภิปรายกันเป็นหลัก ทำให้เราเห็นข้อจำกัดและความท้าทายหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการสืบสวนสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เกิดขึ้น ทั้งในไทยและในต่างประเทศ

 

 

จาก ‘สืบจากเด็ก’ มาเป็น ‘สืบจากภาพ’

 

เขมชาติเปรียบเทียบข้อแตกต่างของสถานการณ์การสืบสวนคดีล่วงละเมิดเด็กเมื่อ 12 ปีก่อนกับปัจจุบันว่า ในทุกวันนี้ โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เครื่องมือที่ผู้กระทำผิดใช้ก็มีความแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการทำงานที่เหมาะสม เพื่อจะปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

“12 ปีที่แล้ว เราเริ่มจากการป้องกันปราบปรามนักท่องเที่ยวที่แฝงตัวเข้ามาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (child sex tourism) คือกลุ่มที่ลากกระเป๋ามา ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว แต่จริงๆ จะเข้ามาละเมิดเด็กในประเทศไทย ซึ่งในอดีต อินเทอร์เน็ตยังไม่พัฒนาเหมือนทุกวันนี้ คนร้ายก็จะใช้วิธีเข้าถึงตัวเด็กแตกต่างออกไปจากในปัจจุบัน”

ปี พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 287/1 และ 287/2 ประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดฐานการครอบครองสื่อลามกเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สะดวกมากขึ้น โดยก่อนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการเพิ่มฐานความผิดในเรื่องนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเปิดคดีได้จากหลักฐานที่เป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องสอบปากคำเด็ก

“อย่างที่บอกว่าในอดีต เราจะเริ่มจากการถามเด็ก แต่คดีพวกนี้แตกต่างจากคดีอื่นตรงถิ่นที่อยู่ของเหยื่อและผู้กระทำผิด คือถ้าเป็นคดีอื่น เหยื่อจะอยู่กับที่ ผู้กระทำผิดมาจากไหนไม่รู้แล้วมาก่อคดี แต่คดีแบบนี้ ผู้ต้องหาจะอยู่กับที่ ส่วนเหยื่อคือคนที่เข้ามาหาผู้กระทำความผิด ดังนั้น การจะพิสูจน์ว่าเด็กโดนล่วงละเมิดอย่างไรเป็นเรื่องยากมาก เพราะจะต้องเริ่มที่ตัวเด็ก

“ถ้าเราไปคุยกับเด็กโดยตรงเลย คุณคิดว่าเด็กจะพูดเลยไหม ไม่มีทาง มีหลายเคสที่กว่าเด็กจะพูดหรือให้ความร่วมมือกับเรา ก็ใช้เวลาเป็นปี เคสหนึ่งที่ผมเคยเจอคือใช้เวลาสองปีกว่าๆ บางเคสผ่านไปเป็นปีแล้ว เด็กยังไม่ยอมพูดเลยจนทุกวันนี้”

 

ข้อจำกัดและความท้าทายในการสืบสวนสอบสวนแบบใหม่

 

ถึงแม้เครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนจะพัฒนามากยิ่งขึ้น ก็ใช่ว่าข้อจำกัดและความท้าทายในการทำงานของเจ้าหน้าที่จะน้อยลง เพราะปัญหาความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และมีความละเอียดอ่อนมาก ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในทุกขั้นตอนการสอบสวนตั้งแต่ตอนเปิดคดีไปจนถึงหลังการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเขมชาติยอมรับว่า การขาดองค์ความรู้เรื่องจิตวิทยาเด็กและการสัมภาษณ์ทางนิติวิทยาศาสตร์ (forensic Interview) เป็นอุปสรรคสำคัญของการสืบสวน

กระนั้นก็ดี ในปัจจุบัน การเผยแพร่สื่อลามกออนไลน์ไม่ได้จำกัดว่าเป็นความผิดอยู่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ถือเป็นความผิดสากล ดังนั้นหัวใจของความสำเร็จในการป้องกันและปรามปรามความรุนแรงต่อเด็ก คือการบูรณาการความร่วมมือการทำงานกับทุกฝ่ายในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคุ้มครองเด็ก ฝ่ายนิติเวช หน่วยปราบปรามต่างๆ ของประเทศไทย ต่างประเทศ หรือหน่วยปราบปรามของสากล

“มีหลายกรณีที่ผู้ประสานงานต่างประเทศแจ้งเราว่าพบสื่อลามกเด็ก พวกนี้น่าจะเกิดที่ไหนสักที่ในประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน แม้ภาษาไม่ใช่ภาษาไทยและภาษาถิ่น แต่ดูแล้ว เด็กน่าจะเป็นเด็กในบ้านเมืองเรานี่แหละ ขั้นตอนต่อไปคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้หาเด็กในสื่อให้เจอ”

หลังจากสืบพบสื่อลามกอนาจารเด็กแล้ว ขั้นต่อไปคือการหาเด็กในสื่อให้พบ หรือที่เรียกว่าการระบุตัวผู้เสียหาย (Victim identification) ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เขมชาติกล่าวว่า “ยากที่สุดในการสืบสวนคดี” เพราะต้องระบุว่าที่เกิดเหตุคือที่ใด และผู้เสียหายเป็นใคร “แต่เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนี้ได้ด้วยการทำงานร่วมมือกันระหว่างเรากับพันธมิตร องค์กรเอกชนในภาคเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค”

 

 

แต่แม้ผู้กระทำความผิดจะถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีแล้ว ความท้าทายของการป้องกันปราบปรามคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กยังคงมีอยู่ เพราะเมื่อเด็กที่ถูกล่วงละเมิดกลับสู่สภาพแวดล้อมเดิม โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปคุ้มครอง ก็มักจะเกิดปัญหาการถูกล่วงละเมิดซ้ำ (revictimization) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

“เมื่อก่อน ผมเคยดีใจมากที่จับผู้ต้องหาได้ จับได้ทีหนึ่งนี่ยืดเลย แต่พอเจอเหตุการณ์ที่เด็กกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ แล้วถูกละเมิดซ้ำซ้อน จึงเริ่มมาคิดว่านี่ใช่คำตอบไหม”

นอกจากนี้ เขมชาติยังเน้นย้ำถึงความท้าท้ายที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือเรื่องสภาพจิตใจของเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูภาพสื่อลามกอนาจารเด็กซ้ำไปซ้ำมา

“เมื่อมิติของการสืบสวนเปลี่ยนไป เราเริ่มมาสืบจากภาพ ถามว่าวันหนึ่งเจ้าหน้าที่ต้องดูภาพกี่ร้อยกี่พันภาพ บางเคสดูเป็นหมื่นภาพ ถามว่ากลับบ้านไปมันจะเป็นอย่างไร ติดตาไหมครับ ตรงนี้มีงานวิจัยจากหลายๆ ค่ายว่า หลายคนอาจมีความเสี่ยงในการละเมิดเด็กเสียเอง เราจึงต้องดูแลเจ้าหน้าที่ให้ดีก่อนด้วย”

 

ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ไขข้อจำกัดในการสืบสวนสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

 

 

 

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม หัวหน้ากลุ่มโครงการผู้หญิงและเด็กในระบบยุติธรรมทางอาญา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวถึงเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขข้อจำกัดในการสืบสวนสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กในเวทีระหว่างประเทศ คือ แผนยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice) หรือยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ

ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ เป็นเครื่องมือสากลที่กำหนดแนวทางในการปฏิบัติต่อเด็กในสถานะต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ถูกกล่าวหา ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย และพยาน อีกทั้งกำหนดให้รัฐสมาชิกสนับสนุนความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เพื่อให้การป้องกันปราบปรามความรุนแรงต่อเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การก่ออาชญากรรมต่อเด็กในปัจจุบันมีรูปแบบซับซ้อน อาจเป็นอาชญากรรมทางออนไลน์ เป็นอาชญากรรมแบบไร้พรมแดน เพราะฉะนั้นจึงคาบเกี่ยวกับเขตอำนาจขององค์กรมากกว่าหนึ่งองค์กร หรืออาจมากกว่าหนึ่งรัฐด้วยซ้ำ ดังนั้นการประสานความร่วมมือจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น”

“นอกจากนี้ รัฐสมาชิกต้องมีมาตรการและทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพในระบบยุติธรรมทางอาญา ซึ่งรวมถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของความรุนแรงต่อเด็ก ความเข้าใจในมุมมองจิตวิทยา ทั้งนี้เพื่อดูแลเด็กที่เป็นผู้เสียหาย แสวงหาพยานหลักฐานจากผู้กระทำผิด และเพื่อดูแลจิตใจของผู้ประกอบวิชาชีพเอง (self-care) อีกทั้งต้องมีมาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการคุ้มครองและดูแลเด็ก สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางการใช้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (victim-centric approach) ซึ่งเป็นหัวใจในการทลายข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรม” กรวิไล กล่าวทิ้งท้าย

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save