fbpx
ทำความเข้าใจบาดแผลที่มองไม่เห็น และแนวทางปราบปรามความรุนแรงต่อเด็ก

ทำความเข้าใจบาดแผลที่มองไม่เห็น และแนวทางปราบปรามความรุนแรงต่อเด็ก

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

คุณรู้หรือไม่ว่า ในทุกๆ วินาทีที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุข มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่กำลังเจอกับความรุนแรง ถูกประทับรอยแผลไว้ทั้งบนร่างกายและในจิตใจ

จากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ปีพ.ศ. 2559 พบว่า โดยเฉลี่ยทั่วโลก เด็ก 10 คน จะมีถึง 6 คนที่เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางกายภาพ และความรุนแรงจากการถูกทำโทษเกินสมควร ทั้งจากครู บิดามารดา ญาติ หรือผู้ใกล้ชิด และที่น่าตกใจคือ มีเด็กหญิงถึง 1 ใน 10 ที่อาจเจอความรุนแรงทางเพศ รวมถึงเด็กชายอีกจำนวนไม่น้อย

อีกหนึ่งปัญหาที่เด็กซึ่งตกเป็นเหยื่อต้องพบเจอคือ ความไม่เป็นมิตรของกระบวนการยุติธรรม เด็กหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อไม่กล้าบอกผู้ใหญ่ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะกลัวว่าผู้ใหญ่จะไม่เชื่อและหาว่าเขาโกหก หรือเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เด็กก็ยังต้องเผชิญความเจ็บปวดจากความไม่เป็นมิตรของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่อาจลืมคำนึงถึงความเปราะบางของพวกเขาไป

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสในการสร้างเครือข่าย และสร้างความตระหนักในเรื่องความอ่อนไหวของกลุ่มเปราะบางยามเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ 5 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หน่วยปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราขอาณาจักร (NCA) มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation) มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A21 Foundation) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลเยอรมัน-อุษาคเนย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CPG) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘มาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็กและการวิเคราะห์จิตวิทยาสำหรับผู้ใช้บังคับกฎหมาย’ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทและสร้างความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บังคับกฎหมาย สร้างความตระหนักในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมและมุมมองด้านจิตวิทยาของเด็กที่เป็นผู้เสียหาย และมุ่งสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติเพื่อร่วมยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก

 

ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

 

“ในปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่สังคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะพหุภาคีหรือทวิภาคี องค์กรภูมิภาคหรือปัจเจกประเทศ ต่างกำลังเผชิญหน้าด้วยความตระหนักว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กมีความซับซ้อน ทวีความรุนแรง โหดร้าย และแผ่ขยายวงกว้างออกไปในทุกทิศทาง”

เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าว พร้อมเสริมว่า จากรายงานขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ในแต่ละปี มีเด็กมากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และแม้จะมีความพยายามในการยุติความรุนแรงมากเท่าใด เหตุการณ์ดังกล่าวกลับยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วบางประเทศ

 

 

อีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องของอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและแสดงออกของเด็ก แต่อีกด้าน ก็เป็นการช่วยให้การเข้าถึงตัวเด็ก ผลิต ส่งต่อ ขายวัตถุลามกออนไลน์ เป็นไปได้อย่างง่ายดาย ความรุนแรงต่อเด็กจึงไม่ได้อยู่แค่บนโลกของความเป็นจริง แต่ยังอยู่บนโลกออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างไร้พรมแดน

ความรุนแรงต่อเด็กย่อมส่งผลลบต่อตัวเด็ก ทั้งการที่เด็กต้องเผชิญสภาวะเสี่ยงต่างๆ เช่น มีปัญหาด้านสุขภาพจิต พัฒนาการล่าช้า หรือในระยะยาว เด็กที่เป็นเหยื่ออาจขาดความเชื่อมั่น ตำหนิและทำร้ายตนเอง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ สิ่งที่พบเจอกลายเป็นพฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ยอมรับ และส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น เด็กที่มีประสบการณ์หรือเคยพบเห็นความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าว ทำผิด และส่งต่อวงจรความรุนแรงต่อไป

ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น ความรุนแรงต่อเด็กยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคม และประเทศ โดยรายงานขององค์การ UNICEF ระบุว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสูญเสียไปเนื่องจากความรุนแรงต่อเด็ก มีจำนวนถึง 209 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 6,433 ล้านบาท

ด้วยความที่ในบางโอกาส กระบวนการยุติธรรมทางอาญาแบบปกติ อาจไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเด็ก และปฏิบัติต่อเด็กเฉกเช่นวัตถุพยาน ทำให้นอกจากเด็กจะต้องเผชิญกับความทรมานจากความรุนแรงในครั้งแรก ยังต้องเจ็บปวดจากการถูกกระทำซ้ำสองจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Secondary Victimisation) ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ได้แสดงความพยายามและมุ่งมั่นในการปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย ขั้นตอน วิธีดำเนินการ เพื่อให้ระบบยุติธรรมทางอาญาสามารถตอบสนอง และเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

สำหรับประเทศไทย ได้มีการปฏิรูปกระบวนการพิจารณาคดีความอาญาให้เป็นมิตรกับเด็กที่เป็นเหยื่อและพยาน และมีการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพและบุคคลที่เด็กไว้ใจ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก นอกจากนี้ ไทยยังมีบทบาทในระดับระหว่างประเทศ โดยเอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ได้เท้าความไปถึงในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา ในขณะนั้น พระองค์ทรงมีบทบาทในการร่างและนำเสนอยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติ ในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ที่มุ่งเน้นไปที่การกำหนดกลไกที่เป็นมิตรสำหรับเด็ก และวางแนวทางปฏิบัติต่อเด็กในสถานะต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ถูกกล่าวหา ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย และพยาน เพื่อคุ้มครองและป้องกันจากความรุนแรง ซึ่งต่อมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (The United Nations General Assembly) ได้รับรองให้เป็นมาตรฐานสากล

เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ปิดท้ายว่า TIJ ซึ่งมีบทบาทในเรื่องนี้ ได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ กฎหมาย และนโยบาย อีกทั้ง ยังส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ ในการป้องกันและปราบปราบความรุนแรงต่อเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ของเด็กทุกๆ คน

 

สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

“ในประเทศไทย คนร้ายที่ก่อความรุนแรงต่อเด็กมักจะอาศัยอยู่ระยะยาว บางคนอยู่จนสามารถพูดภาษาของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ บางคนกลายเป็นผู้นำหรือผู้มีอำนาจในชุมชน มาซื้อใจคนในชุมชน เวลาเกิดปัญหาอะไร คนในชุมชนก็จะปกป้องเขา” อภิชาติ หัตถสิน จากสำนักงานองค์การตำรวจสากลภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวนำ

“เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมากขึ้น ผู้ต้องหาจะลงไปอยู่ใน Core network ทำให้ตามตัวได้ยากขึ้น ส่วนการสืบสวนทางเทคโนโลยีก็จะยากขึ้นด้วย เพราะบริษัทใหญ่ๆ จะล้างข้อมูลออกไป แล้วเราจะทำอย่างไรให้บริษัทเหล่านี้ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เราต้องการ หรือถ้าผู้ต้องหาเริ่มจ่ายเงินทางแอปพลิเคชัน หรือใช้สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แทน แบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว อีกหนึ่งความยากลำบากคือเรื่องของการระบุตัวผู้เสียหาย (Victim identification) โดย อภิชาติ อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจำเป็นจะต้องดูสื่อลามกอนาจารเพื่อหาเบาะแส หลักฐาน หรือร่องรอย ที่จะนำไปสู่การบ่งชี้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใด แต่ปัจจุบันคนร้ายเริ่มจัดฉากหลอกเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความไขว้เขวในการสืบสวน

“การสืบสวนด้านเทคโนโลยีอาจจะถึงทางตัน หากทุกคนไม่คอยเป็นหูเป็นตาให้กัน”

ขณะที่ Mr. Bruno Desthieux อีกหนึ่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานองค์การตำรวจสากลภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดึงดูดใจผู้กระทำผิด เช่น ช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่หลายประเทศไม่มองว่าการข่มขืนเด็กผู้ชายเป็นการข่มขืนทางกฎหมาย หรือการขาดความร่วมมือกันในภูมิภาค

 

 

“ไทยมีฐานที่ดี แต่ถ้าในอนาคต ไทยเจอกับปัญหาบางอย่าง เช่น การถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live streaming) แล้วกรอบกฎหมายไทยจะครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น ตำรวจและเจ้าหน้าที่จะต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ด้วย”

Mr. Desthieux เน้นว่า เจ้าหน้าที่ยังจะต้องคำนึงถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งความซับซ้อนของเทคโนโลยีก็เป็นความซับซ้อนในการใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน เราอาจเจอเหตุการณ์ที่ผู้ร้ายล่วงละเมิดเด็กมีกลุ่มเฉพาะในสื่อสังคม (Social media) ของตน แต่เจ้าหน้าที่เข้ากลุ่มไม่ได้ จึงถูกกีดกันออกไป หรือคนร้ายที่ใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งระบุอัตลักษณ์ไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี และต้องหาทางรับมือกันต่อไป

“อีกประเด็นหนึ่งที่เห็นในเอเชียคือ เจ้าหน้าที่ยังขาดทักษะในการสัมภาษณ์เหยื่ออยู่ จึงควรมีการให้การอบรมจากนักสังคมสงเคราะห์ในเรื่องนี้ด้วย” Mr. Desthieux กล่าว พร้อมทั้งเน้นถึงความสำคัญของการยกระดับความตระหนักรู้ในหน่วยปฏิบัติงานที่ห่างไกล เพื่อที่ผู้ปฏิบัติงานจะสามารถสัมภาษณ์เด็กที่ตกเป็นเหยื่อในพื้นที่ห่างไกลได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความท้าทายในประเทศไทย แต่ยังมีประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ เช่น ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย ที่ต้องหาทางจัดการกับความท้าทายดังกล่าวเช่นกัน

 

 

“อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเหยื่อ” อภิชาติตั้งคำถามในช่วงท้ายของการอบรม “บางทีอาจจะไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพจิตเหยื่อ แต่เป็นการดูแลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ที่จะลงไปดูแลคดีว่า เขายังกลัวหรือกังวลอะไรอยู่ไหม เราคาดหวังให้เขาดูแลเด็ก แต่เขาอาจจะเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน”

“กรณีของพนักงานสอบสวนบางคน ตอนเข้ามาใหม่ๆ จะเห็นความทุกข์ของคนอื่นง่ายมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะเริ่มเฉยชากับเรื่องนั้น เพราะกังวลในเรื่องการทำงานหรือเรื่องข้อกฎหมายมากกว่า สังคมคาดหวังจากพนักงานสอบสวนมากจนลืมไปว่าเขาเองก็หนักเช่นกัน บางคนต้องดูสื่อลามกอนาจารทุกวันจนเกิดบาดแผลทางใจ เพราะฉะนั้น ก่อนจะดูแลเด็ก เราต้องดูแลเจ้าหน้าที่ด้วย จะได้ไม่เป็นเตี้ยอุ้มค่อม”

อภิชาติกล่าวต่อว่า ในอนาคต คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงผู้หญิง จะเพิ่มสูงขึ้น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นจะต้องพร้อมรับมือกับเรื่องพวกนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเจ้าหน้าที่เพื่อทำคดี เพราะอาชญากรรมมากกว่าครึ่งเกิดในภูมิภาคเอเชีย และการล่วงละเมิดทางเพศจะเกิดกับเด็กที่อายุน้อยลง และมีความร้ายแรงมากขึ้น

“ตำรวจทั้งในไทยและในอาเซียนต้องพร้อม เพราะอาชญากรรมนี้เติบโตขึ้นมาก และไม่ได้เกิดแค่ในเมืองใหญ่ แต่เกิดในพื้นที่ห่างไกลด้วย ผู้กระทำผิดก็จะมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญมากขึ้น เพราะฉะนั้น ตำรวจต้องทำงานแนวรุกโดยการคาดการณ์อนาคตด้วย” อภิชาติกล่าวสรุป

 

กรณีศึกษา: บทบาทของหน่วยปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (NCA) ในการป้องกันและปราบปรามการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

 

“เราเห็นเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ แต่เราไม่เห็นตอนพวกเขานอนฝันร้าย หรือร้องไห้ และเมื่อคนร้ายเจอกับเหยื่อ คนร้ายก็อาจจะแค่กล่าวขอโทษและบอกว่า เขาไม่ได้ตั้งใจ”

“มีเด็กจำนวนมากต้องเจอกับประสบการณ์การถูกทำร้ายหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเรื่องนี้ท้าทายมาก เพราะการแจ้งความไม่ใช่คำตอบสุดท้าย และบาดแผลที่ฝังลึกอยูในตัวเด็กก็ยากเกินจะเยียวยา มีเด็กถูกทำร้ายมากเกินไป เพราะฉะนั้น เป้าหมายอันดับหนึ่งของเราจึงเป็นการคุ้มครองเด็ก เราต้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องพวกนี้อีก”

Mr. Nick Cuckson เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์นานาชาติ หน่วยปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (National Crime Agency – NCA) กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า ตอนนี้มีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทำให้เด็กเริ่มสบายใจที่จะรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานต้องพึงระลึกไว้เสมอคือ เด็กเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก่อน เราจึงต้องสร้างความมั่นใจให้พวกเขาว่า เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น คุ้มครองเด็กที่ตกอยู่ในความเสี่ยง และสนับสนุนให้เหยื่อกลับมามีชีวิตปกติอีกครั้ง

 

 

ในสหราชอาณาจักร การล่วงละเมิดทางเพศเด็กถือเป็นวาระสำคัญอันดับหนึ่ง โดยตำรวจจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศในการคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันหลายภาคี โดยในปีที่แล้ว NCA ที่ถือเป็นหน่วยงานนำในการต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จนพบผู้กระทำผิดมากกว่า 700 คน และช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อได้มากกว่า 500 คน

บทบาทของเทคโนโลยีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ โดย Mr. Cuckson กล่าวว่า เทคโนโลยีจะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคีทั่วโลกได้ทำงานร่วมกัน เพื่อกำจัดภาพอนาจารเด็กในอินเทอร์เน็ต หรือใช้หาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างสมรรถภาพในระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก

“เราต้องย้อนดูความผิดพลาดในอดีตว่า มีความบกพร่องตรงไหนถึงทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อ หาช่องโหว่ที่เราละเลยจนทำให้เด็กไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร ซึ่งทุกหน่วยงานควรมาแบ่งปันข้อมูลกันว่า เด็กต้องเจอกับอันตรายอะไรบ้าง และทบทวนกรณีต่างๆ ไปพร้อมกับการเยียวยาบาดแผลทางใจให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ อีกอย่างคือเราต้องแก้ไขวัฒนธรรมที่ทำให้เด็กไม่กล้ารายงานการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น”

การล่วงละเมิดเด็กมีหลายรูปแบบ เช่น การล่อลวงทางออนไลน์ (Online Grooming) การส่งสื่อลามกผ่านข้อความ (Sexting) หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยมีเรื่องทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง (Sextortion) ซึ่งแต่ละคดีจะเกี่ยวพันกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย จึงจำเป็นที่แต่ละหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง

“ในระดับโลก บางครั้ง การจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดก็ยาก เพราะช่องว่างของกฎหมายบางประการที่ทำให้เราเข้าถึงตัวคนผิดไม่ได้”

“แต่ตอนนี้ เริ่มมีการทำงานร่วมกันในหลายประเทศ เราจะใช้กลยุทธ์ในการสืบสวนออนไลน์ รวมถึงใช้ทักษะ ทรัพยากรต่างๆ และการร่วมมือกันทั้งในและต่างประเทศ เพราะปัญหานี้ต้องแก้ทั้งอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ต้องแบ่งปันข้อมูลและร่วมมือกันดำเนินคดีผู้กระทำผิด รวมถึงเพิ่มศักยภาพผู้ที่ทำงานในด้านนี้ เพื่อจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น” Mr. Cuckson กล่าวปิดท้าย

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save