fbpx
Vincent Sebastian : ชายที่ทำหัวใจเราเต้นเป็นจังหวะเดียวกับ ‘คองก้า’ และดรัมแมชชีน

Vincent Sebastian : ชายที่ทำหัวใจเราเต้นเป็นจังหวะเดียวกับ ‘คองก้า’ และดรัมแมชชีน

พินดา พิสิฐบุตร เรื่อง

ถ้าจะนั่งร่ายประวัติ เขาเคยออกทัวร์กับซูเปอร์สตาร์อย่าง Ricky Martin วงลาตินร็อค Santana และเล่นเปิดการแสดงให้กับวงดนตรีคิวบาในตำนานอย่าง Los Van Van แต่เบื้องหน้าในขณะนี้ เขาคือชายในเสื้อยืดที่กำลังจับโน่นหมุนนี่บนดรัมแมชชีนที่สร้างเสียงตู่มตู่ม ตึ่บตึ่บ ก่อนจะละจากอุปกรณ์หน้าตาสี่เหลี่ยมและหันไปรัวฝ่ามือบนกลองคองก้า จากนั้นก็สลับไปมาระหว่างเครื่องดนตรีสองอย่างนี้พร้อมกับ Aykho Akhrif นักเพอร์คัชชั่นคู่หูเป็นเวลา 15 นาทีรวด

Vincent Sebastian คือมือเพอร์คัชชั่นและผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ดนตรีที่ชื่อ ‘Oyobi’ ซึ่งเขาให้นิยามว่าจะ “พาผู้ฟังไปในการเดินทางของดนตรีอันประกอบด้วยจังหวะหลากหลาย ผ่านเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ การสังเคราะห์เสียงแบบอนาล็อก และความเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยม”

Vincent ยังเป็นดีเจ นักวิชาการ ครูสอนเต้นและเจ้าของคลับซัลซ่า รวมทั้งผู้จัดงานแสดงดนตรีหลายงานที่ผสมดนตรีแอฟริกัน การแสดง และศิลปะเข้าด้วยกัน

ชายผู้สวมหมวกหลายใบคนนี้มา ‘พักร้อน’ ที่เมืองไทยเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมโชว์ฝีมือการเล่นคองก้า ควบคู่ไปกับการสร้างเสียงอิเล็กทรอนิกส์ในบาร์แห่งหนึ่ง ฟังดูไม่ใช่ดนตรีลาตินแบบที่เคยได้ยิน แล้วก็ไม่ใช่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่คุ้นหู Vincent บอกเราภายหลังว่าความดีงามอย่างหนึ่งของการผสมผสานดนตรีทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน คือการเชื้อเชิญให้คนที่ชอบดนตรีประเภทหนึ่ง แต่ไม่รู้จักดนตรีอีกประเภท ได้ทำความรู้จักกับสิ่งใหม่

“สิ่งที่เพอร์คัชชั่นทำคือ มันเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ดึงดูดความสนใจของคุณ และเมื่อคุณสนใจมันแล้ว มันก็จะเปลี่ยนไปอีก มีสิ่งใหม่เพิ่มขึ้น มันต้องการทำให้คุณตกอยู่ในวังวน” ใช่แล้ว ถ้าจะให้บรรยายเสียงดนตรีของ Vincent ด้วยตัวอักษร ก็คือประโยคนี้แหละ มันทำให้เรา ตกอยู่ในวังวนของจังหวะ

ด้วยความประทับใจในการแสดงดนตรีไร้เมโลดี้ของเขา เราจึงจับตัว Vincent มานั่งคุยและถามไถ่ทุกเรื่องที่อยากรู้ ทั้งการเล่นเพอร์คัชชั่น การผสมผสานเพอร์คัชชั่นแบบลาตินเข้ากับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่างลงตัว รวมทั้งถามคำถามคาใจที่อยากรู้มานานว่า “คุณชอบอะไรในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์”

ขณะสัมภาษณ์ เรามองลึกเข้าไปในดวงตาสีดำสนิทที่เหมือนจะดูดเราเข้าไป “ทำให้คุณอยู่ในภาวะที่ตกอยู่ในภวังค์และลืมความเป็นตัวตน” ดังที่เขาใช้บรรยายอิทธิพลของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อบทสนทนาจบลง เราก็พบว่า เขาไม่เพียงเป็นมือกลอง ดีเจ ครูสอนเต้นซัลซ่า และนักวิชาการเท่านั้น แต่ Vincent Sebastian ยังเป็นนักเล่าเรื่องอีกด้วย

ทว่าคราวนี้เขาไม่ได้พาเราเดินทางผ่านเสียงดนตรี แต่ผ่านเรื่องเล่าที่ทำให้หนึ่งชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนโกหก

Vincent Sebastian
ภาพโดย Afro-Brasiliana

ตอนแรกนึกว่าคุณเป็นคนออสซี่ เลยเตรียมคำถามนี้มา พอตอนหลังจึงรู้ว่าคุณเป็นลูกครึ่งชิลีและอุรุกวัยที่เกิดและโตในออสเตรเลีย แต่เอาเถอะ ยังไงออสเตรเลียก็เป็นที่ที่มีความเป็นตะวันตกมาก เราเลยอยากถามคำถามนี้อยู่ดี ว่าความสนใจในดนตรีลาตินของคุณเริ่มต้นตอนไหน

ผมเกิดและโตในออสเตรเลียก็จริง แต่ครอบครัวมีอิทธิพลทางดนตรีกับผมอย่างมาก ตั้งแต่จำความได้ พ่อแม่ฟังเพลงลาตินตลอด ตอนที่ผมเป็นเด็กพ่อกับแม่จะพาไปงานเลี้ยงแทบทุกงาน เพื่อนๆ ของผมพูดภาษาสเปนที่บ้าน ปู่กับย่าของผมก็อยู่ที่ออสเตรเลียด้วย พวกเขาแนบแน่นกันมาก และมักจะทำอะไรที่ ‘ลาตินๆ’ ด้วยกันตลอด ดนตรีที่พวกเขาเปิดก็จะเป็นซัลซ่า คุมเบีย เมเรงเก้ ครอบครัวผมชอบเพลงจากโบลิเวีย เปรู และเพลงจากประเทศทางใต้ของลาตินอเมริกา ส่วนพ่อผมชอบดนตรีแทงโก้ และชอบดนตรีฮาร์ปแนวโฟล์กของปารากวัย ซึ่งเป็นดนตรีที่ไพเราะมาก

ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก พ่อแม่จะกลับไปที่อเมริกาใต้ทุกๆ สองปี เมื่อผมโตพอ ผมก็ไปที่นั่นด้วยตัวเอง ตอนที่ผมเริ่มเล่นเพอร์คัชชั่น ผมกลับไปอเมริกาใต้ทุกปี หาครูสอนเพอร์คัชชั่นและอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อเรียนกลอง ทุกวันนี้ผมก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ ฉะนั้นสำหรับผมแล้ว เสียงกลองคองก้า เสียงเพอร์คัชชั่น จึงฟังดูเป็นธรรมชาติมาก ผมไม่รู้ว่าทำไมผมถึงถูกดึงดูดโดยดนตรีแนวนี้ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมผมจึงสนใจในดนตรีพื้นถิ่นนัก

ช่วยขยายความคำว่าดนตรีพื้นถิ่นหน่อยได้ไหม

ดนตรีพื้นถิ่นที่ผมสนใจคือดนตรีพื้นถิ่นของอเมริกาใต้ ดนตรีที่ผมได้ฟังในวัยเด็กมีรากฐานมาจากดนตรีพื้นเมืองและดนตรีจากแอฟริกา แต่ที่น่าแปลกคือตอนนี้ที่ในอเมริกาใต้ อย่างในชิลี ลูกพี่ลูกน้องของผมชอบฟังเพลงสมัยใหม่อย่างเพลงแนวร็อก ฮิปฮอป หรืออะไรแบบนี้มากกว่า ส่วนดนตรีแบบดั้งเดิมจริงๆ เช่น ดนตรีสไตล์คูวเอกา (cueca) นั้นไม่มีใครฟัง แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ผมพบว่ามันน่าหลงใหล เพราะเป็นรากฐานของดนตรีทั้งหมด ดนตรีแบบนั้นเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ อย่างมาก เนื่องจากมันเป็นดนตรีพื้นถิ่นของสถานที่แห่งนั้น จึงอธิบายหรือทำให้คุณรู้สึกถึงวัฒนธรรมนั้นๆ ได้ดี

เพอร์คัชชั่นเป็นเครื่องดนตรีแรกที่คุณเล่นเลยหรือเปล่า

เรื่องน่าตลกก็คือ ผมเริ่มเส้นทางดนตรีด้วยการร้องเพลง ผมเคยเป็นนักร้องในวงตอนผมอายุ 14 ปี เราตระเวนเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ ในเมือง แต่ผมเปลี่ยนมาเล่นเพอร์คัชชั่นเพราะตอนที่ผมร้องเพลงกับวง จะมีช่วงโซโล่สำหรับเครื่องดนตรีแต่ละชนิด และผมก็แค่ยืนเฉยๆ ไม่รู้จะทำอะไรดี ผมก็เลยคิดว่า เออ ถ้าเล่นกลองคองก้าตอนที่ไม่ได้ร้องเพลงก็ดีสิ ก็เลยเริ่มเล่นคองก้า แล้วก็เริ่มสนใจมันมากขึ้น พอถึงอายุ 20 ปีผมก็เลิกร้องเพลง แล้วหันไปทุ่มเทกับเพอร์คัชชั่นแทน

ครั้งแรกที่ผมไปเรียนเพอร์คัชชั่นที่อเมริกาใต้คือตอนอายุ 19 ประเทศแรกที่ผมไปคือคิวบา เพราะเป็นที่ที่ดีที่สุดที่จะเรียนสิ่งนี้ คิวบาเป็นที่ที่มีเสียงดนตรีอยู่รอบตัว และตั้งแต่นั้นผมก็กลับไปเรียนเพอร์คัชชั่นในหลายประเทศ ทั้งในชิลี อุรุกวัย บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย ครั้งสุดท้ายคือเมื่อต้นปีนี้ ผมไปคิวบาและเล่นกลองบาต้า (batá) ที่นั่น

กลองบาต้าเป็นยังไง

กลองบาต้าเป็นกลองใช้ในศาสนาท้องถิ่นของคิวบา-แอฟริกา ซึ่งมีชื่อเรียกว่าซานเตเรีย (Santería) เป็นการผสมกันระหว่างคริสต์ศาสนาและลัทธิเชื่อผี จะมีกลองสามหัววางบนตักคนตีกลอง พวกเขาจะตีกลองนี้ในพิธี ซึ่งวิธีการตีกลองละเอียดและซับซ้อนมาก มีการเปลี่ยนจังหวะไปเรื่อยๆ จากจังหวะหนึ่ง ค่อยๆ หลอมรวมและกลายเป็นอีกจังหวะหนึ่ง กลองจะตีไม่หยุดแต่จะใช้วิธีเปลี่ยนคนตีกลองไปเรื่อยๆ ดังนั้นคุณจะเห็นคนตีกลองเปลี่ยนจังหวะติดต่อกันหลายชั่วโมง ซึ่งน่าทึ่ง

นอกจากนี้ ศาสนาซานเตเรียยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าเบมเบ้ (bembé) ธรรมเนียมมีอยู่ว่า เมื่อบ้านไหนกำลังประกอบพิธีกรรมนี้ พวกเขาจะเปิดประตูทิ้งไว้และเชิญให้ใครก็ตามเข้ามาในบ้านเพื่อดูและร่วมพิธี บางทีถ้าคุณเดินอยู่บนถนน คุณอาจจะได้ยินเสียงกลอง เสียงดนตรี และเสียงร้องเพลงดังออกมาจากบ้านหลังใดหลังหนึ่ง และคุณก็สามารถเดินเข้าไปในบ้านของคนที่ไม่รู้จักและยืนดูพิธีกรรมได้

ในคิวบาเสียงดนตรีล่องลอยออกมาบนท้องถนน เมื่อคนที่นั่นมีงานเลี้ยง พวกเขาก็มักจะหันลำโพงออกไปยังถนน มีคนเต้นรำ วิธีเข้าหาดนตรีของคนที่คิวบานั้นเปิดเผย ดนตรีไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปิด

คุณประทับใจอะไรอีกบ้างตอนที่ไปที่คิวบาครั้งแรก

คิวบาเป็นที่ที่น่าสนใจ ดนตรีที่คิวบามหัศจรรย์มาก ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลยโดยเฉพาะในฮาวานา มีดนตรีอยู่ทุกหนแห่ง และนักดนตรีก็มีคุณภาพมากด้วย มีวงดนตรีเต็มไปหมด โดยเฉพาะวงดนตรีดีๆ ในบาร์ต่างๆ จะมีวงดนตรีเล็กๆ อยู่ทุกบาร์ คือคิวบาเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นนักดนตรีหรือศิลปิน คุณก็จะต้องทำสิ่งนั้นทั้งวัน

นักดนตรีที่นั่นได้ค่าจ้างจากการเล่นดนตรี ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาจะเริ่มเล่นดนตรีในบาร์ตั้งแต่ 11 โมงเช้า และก็เล่นไปจนถึงเที่ยงคืน ห้าวันต่อสัปดาห์ ผมว่านั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงได้เล่นดนตรีเก่งกันเหลือเกิน และคิวบาถึงมีดนตรีดีๆ เยอะแยะ ถ้าคุณเป็นนักดนตรีที่นั่น คุณต้องทำงาน ไม่ใช่แค่ถึงคิวเล่นดนตรีแค่ชั่วโมงเดียว แต่ก็อย่างว่า คิวบามีทั้งสิ่งทีดีและไม่ดี ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยงามไปหมด

นอกจากคิวบาแล้ว มีประเทศไหนในอเมริกาใต้ที่คุณอยากเล่าให้เราฟังไหม

อุรุกวัยก็แล้วกัน ที่อุรุกวัยมีดนตรีจังหวะหนึ่งที่เรียกว่า กันดอมเบ้ (candombe) ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างดนตรีแบบแอฟริกันและสเปน ที่นั่นทุกปีจะมีงานคาร์นิวัล คนจะเล่นดนตรีจังหวะนี้เวลาที่มีขบวนพาเหรด แล้วก็แข่งกันว่าใครจะเล่นจังหวะนี้ได้ดีที่สุด แต่ละพื้นที่ก็มีกันดอมเบ้ในสไตล์ที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นถ้าคุณอยู่ในอุรุกวัย ย่านหนึ่งจะเล่นจังหวะกันดอมเบ้แบบหนึ่ง ห่างออกไปหนึ่งกิโลเมตรก็จะมีคนเล่นจังหวะนี้ในอีกสไตล์หนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมาก

ส่วนความสนใจในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของคุณล่ะ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตอนที่ผมอายุประมาณ 18 หรือ 19 ปี ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ซิดนีย์ตอนนั้นคึกคักมาก ช่วงนั้นผมเริ่มไปเที่ยวคลับ มีคลับดีๆ หลายแห่งที่มีดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งนำเข้ามาจากยุโรป เป็นดนตรีจากแผ่นเสียงทั้งหมด เหมือนดีเจตอนนั้นแข่งกันว่าใครจะมีแผ่นเสียงที่ใหม่และเจ๋งที่สุด ผมไปที่คลับเหล่านี้และได้ยินดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่น่ามหัศจรรย์ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อผมอย่างมาก

การอยู่ในคลับที่มีเครื่องเสียงดีๆ ตกอยู่ในวังวนของเสียงที่เหมือนไม่ได้มาจากโลกนี้ ซึ่งผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคนสร้างเสียงแบบนี้ออกมาได้อย่างไร ทำให้ผมสนใจ นอกจากการไปตระเวนเรียนตีกลองในอเมริกาใต้ ผมก็เริ่มหลงรักเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกันด้วย ผมเริ่มไปเบอร์ลิน อัมสเตอร์ดัม บาร์เซโลนา เพื่อไปคลับที่เปิดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์

ตอนที่ผมไปอเมริกาใต้ ผมไปเรียนตีกลองโดยเฉพาะ และก็แน่นอนว่าเพื่อสัมผัสกับดนตรีด้วย แต่ในยุโรป ผมไปที่นั่นเพียงแค่ให้ได้สัมผัสดนตรีใกล้ๆ ได้ฟัง ได้เต้นไปกับเสียงเพลง

คุณชอบอะไรในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์

ผมคิดว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มีบางอย่างคล้ายเพอร์คัชชั่น จริงที่ว่าความต่างของมันคือ เพอร์คัชชั่นมีความแน่น ในขณะที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มีความเบาบาง มันฟังดูมินิมอล เมื่อคุณฟังเพอร์คัชชั่นอย่างของคิวบาหรือบราซิล คุณจะรู้สึกเหมือนว่ามีอะไรเป็นพันอย่างกำลังเกิดขึ้นในคราวเดียวกันและก็ผสมกลมกลืนกัน นั่นอาจทำให้คุณคิดว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่สำหรับผมแล้ว ผมว่าดนตรีทั้งสองแบบตอบวัตถุประสงค์เดียวกัน

สิ่งที่เพอร์คัชชั่นทำคือ เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ดึงดูดความสนใจของคุณ และเมื่อคุณสนใจมันแล้ว มันก็จะเปลี่ยนไปอีก มีสิ่งใหม่เพิ่มขึ้น มันต้องการทำให้คุณตกอยู่ในวังวน ผมพบว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์พยายามทำสิ่งเดียวกัน ต้องการดึงดูดความสนใจคนฟัง ทำให้คนฟังตกอยู่ในวังวน และพาคนเหล่านั้นท่องไปในการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่การเดินทางแบบเดียวกับเพลงทั่วไป มันพยายามจะทำให้คุณอยู่ในภาวะที่ตกอยู่ในภวังค์และลืมความเป็นตัวตน ซึ่งนี่เป็นสิ่งเดียวกับที่ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกาใต้ทำด้วย สรุปคือดนตรีเหล่านี้กำลังพยายามทำสิ่งเดียวกัน แต่พาหนะที่ใช้นั้นต่างกัน

เมื่อคุณผสมดนตรีลาตินและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน ได้สร้างอะไรใหม่ๆ ไหม มี ‘รสชาติที่สาม’ เกิดขึ้นมาไหม

ผมเห็นด้วยนะ ผมคิดว่าเมื่อคุณเอาดนตรีทั้งสองแบบนี้มารวมกัน แต่ละอย่างจะสูญเสียความเป็นตัวมันลงไปนิดหน่อย แต่มีองค์ประกอบที่สามซึ่งน่าสนใจมากเพิ่มเข้ามา เหมือนการผสมวัฒนธรรม ผสมความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นลาติน เหมือนคุณยอมสละอะไรบางอย่างในดนตรีแต่ละแบบไป แต่ขณะเดียวกันคุณก็สร้างสิ่งใหม่ที่สามารถเข้าถึงคนวงกว้างขึ้นได้

ผมโตมาในออสเตรเลียซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเป็นตะวันตกมาก คนตะวันตกจะฟังดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แล้วเข้าใจได้มากกว่า เพราะจังหวะเป็นแบบ 1-2-3-4-1 ในขณะที่จังหวะของเพอร์คัชชั่นจะเป็น 6/8 ซึ่งสำหรับหลายคนแล้วมันฟังดูมั่ว เพราะเขาไม่เข้าใจ ดังนั้น การนำดนตรีทั้งสองแบบมาผสมกัน การใส่ความเป็นลาตินเข้าไปในบริบทตะวันตกทำให้คนตะวันตกเข้าใจและเข้าถึงมันได้ พวกเขาจะเกิดความรู้สึกประมาณว่า “นั่นเจ๋งดีอ่ะ มันคือดนตรีอะไรเหรอ” แล้วคุณก็จะบอกว่า “อ๋อ มันเป็นดนตรีพื้นถิ่นในคิวบาหรือดนตรีพื้นถิ่นของชิลี” พูดง่ายๆ คือคุณจะทำให้พวกเขาได้รู้จักอะไรใหม่ๆ

คุณเล่นดนตรีทั้งสองแนวควบคู่มาด้วยกันตลอดเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ ผมเป็นดีเจที่เปิดเพลงอิเล็กทรอนิกส์ และเล่นกลองคองก้าคู่กันไป ผมเล่นเพอร์คัชชั่นมานาน แต่ความรักในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ก็มีมานานเช่นกัน และต้องใช้เวลาหลายปีในการเข้าถึงองค์ประกอบเชิงเทคนิคของมัน ทั้งในเรื่องโปรแกรมมิ่งและการสร้างเสียง

ผมมีความคิดที่จะผสมดนตรีทั้งสองแนวเข้าด้วยกันมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ผมต้องใช้เวลานานขนาดนี้กว่าจะทำได้ คือผมพยายามทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบสดๆ ให้มีพื้นที่มากพอสำหรับการด้นสด ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ผมต้องรู้จักเครื่องมือที่ใช้สร้างเสียงอย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อที่พอถึงเวลาเล่นสด ผมจะไม่ต้องคิดอีกต่อไปแล้ว จุดสูงสุดก็คือการผสมสิ่งที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเพอร์คัชชั่นเข้ากับการโปรแกรมมิ่ง ทำให้มันฟังดูเป็นเนื้อเดียวกัน

Vincent Sebastian
ภายโดย Roberto-Duran

เมื่อพูดถึงการผสมผสานแนวดนตรี ทำให้นึกถึงงานดนตรีเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณมีโอกาสไปเล่นแจมกับนักร้องเพลงหมอลำอย่างรัสมี เวระนะ และนักดนตรีไทยอย่างต้นตระกูล แก้วหย่อง อยากรู้ว่าสำหรับคุณแล้ว คุณเห็นว่าดนตรีหมอลำเป็นอย่างไร จัดว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับคุณไหม

ครั้งแรกที่ผมได้ยินเพลงหมอลำ มันทำให้ผมนึกถึงดนตรีจังหวะชะช่า หรือคุณอาจคิดว่ามันเหมือนคุมเบีย (cumbia) ก็ได้เหมือนกัน ผมเข้าใจได้ว่าทำไมคนจัดงานนี้ถึงอยากเชื่อมดนตรีสองแนวนี้เข้าด้วยกัน เพราะมันเชื่อมกันได้ง่ายมาก ทั้งความเร็วและการไหลของดนตรีทั้งสองแนวคล้ายกัน ผมว่ามันเวิร์กทีเดียว

คุณว่าหมอลำกับคุมเบียเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ผมคิดว่ามีความเหมือนกันอย่างมากในเรื่องจังหวะ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมดนตรีทั้งสองแนวจึงเอามาผสมกันได้ง่าย แต่วิธีการเล่นกีตาร์ในดนตรีหมอลำนั้นต่างออกไป วิธีการริฟฟ์กีตาร์ในหมอลำวันนั้นเป็นเอกลักษณ์มาก และมันเป็นจุดต่างสำคัญ นอกจากนี้ยังมีความต่างหลักอีกอย่างก็คือเครื่องดนตรี ความจริงแล้วเครื่องดนตรีที่ใช้ในหมอลำนั้นตรงกันข้ามกับคุมเบียและชะช่าอย่างมาก ซึ่งทำให้มันน่าสนใจ

นอกจากการเล่นดนตรีแล้ว ทุกวันนี้คุณยังอย่างทำอื่นด้วยหรือเปล่า

ตอนนี้ผมกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เกี่ยวกับดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมของศาสนาซานเตเรีย ผมสนใจดนตรีประกอบพิธีกรรม ทั้งวิธีที่ดนตรีถูกนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ รวมทั้งวิธีที่มันถูกถ่ายทอดไปยังสภาพแวดล้อมทางโลกด้วย อย่างการศึกษาว่าการตีกลองที่ถูกนำมาใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ในคิวบา เมื่อมันถูกนำมาใช้เล่นในสภาพแวดล้อมแบบตะวันตก มีอะไรสูญเสียไปหรือเพิ่มเข้ามา มันกระทบคนฟังอย่างไร ความหมายของมันคืออะไร

ถ้ามีคนอยากทำวิทยานิพนธ์เรื่องดนตรีแบบคุณบ้าง คนนั้นต้องเล่นดนตรีเป็นด้วยไหม แล้วเมื่อไหร่เราจะได้อ่านวิทยานิพนธ์ของคุณ

คุณสามารถศึกษาดนตรีผ่านทฤษฎีทางศาสนา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา หรือทฤษฎีอื่นๆ แต่เพราะผมศึกษาดนตรีเหล่านี้ผ่านองค์ประกอบทางดนตรี จึงจำเป็นต้องมีประสบการณ์ด้านดนตรีมาบ้าง ส่วนเรื่องวิทยานิพนธ์เนี่ย (หัวเราะ) ก่อนอื่นผมต้องเขียนให้เสร็จก่อน

พูดถึงประเทศของคุณหน่อยดีกว่า บางเมืองในออสเตรเลีย เช่น เมลเบิร์น มีนักดนตรีเยอะ อยากรู้มานานแล้วว่านักดนตรีส่วนมากที่ออสเตรเลีย สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการทำงานเกี่ยวกับดนตรีเพียงอย่างเดียวไหม หรือต้องทำงานประจำไปด้วย

การทำงานเกี่ยวกับดนตรีคือสิ่งที่ผมทำมาชั่วชีวิต ผมแสดงดนตรีเยอะก็จริง แต่ผมก็ทำอย่างอื่นด้วยอีกหลายอย่าง เช่น เป็นดีเจ ทำโปรดักชั่นดนตรี จัดเวิร์กช็อป ไปสอนบ้างบางครั้ง ผมคิดว่าการที่คุณสามารถทำอะไรได้หลากหลายโดยยังอยู่ในสิ่งที่คุณชอบ จะทำให้คุณเดินต่อไปได้

ผมจัดงานปาร์ตี้ด้วย ซึ่งช่วยได้มาก ถ้าคุณมัวแต่รอให้โทรศัพท์ดัง รอให้มีคนมาจ้าง คุณจะลำบาก ผมมีเพื่อนที่เป็นมือกลองและส่วนใหญ่พวกเขารอให้มีคนโทรมาหา การใช้ชีวิตแบบนั้นลำบาก เพราะตลาดสำหรับดนตรีแบบนี้แคบกว่า นอกจากนี้ผมก็เล่นดนตรีกับหลายๆ วง วันหนึ่งผมอาจจะเล่นดนตรีกับวงหนึ่ง อีกวันถัดมาเปลี่ยนไปเล่นกับอีกวงหนึ่ง ผมชอบนะ ตื่นเต้นดี

การเป็นนักดนตรีอาชีพทำให้คุณต้องเสียสละอะไรบางอย่าง เช่น ความมั่นคงทางการเงิน คนส่วนใหญ่จะสบายใจที่รู้ว่าเมื่อปลายเดือนจะมีเงินโอนเข้าธนาคาร แต่ผมก็มีความมั่นคงทางการเงิน ผมรู้ว่าจะมีรายได้เข้ามา เพราะผมให้บริการในสิ่งที่คนต้องการ และตราบใดที่คุณเป็นฝ่ายรุก คุณก็จะอยู่ได้ เพราะคนต้องการดนตรีและความบันเทิงเสมอ และเมื่อวันหนึ่งคุณรู้ตัวว่าสิ่งที่คุณนำเสนอให้พวกเขาไม่ใช่สิ่งที่คนต้องการแล้ว คุณก็ต้องปรับดนตรีที่เล่นให้ได้ เพื่อให้มีคนเสพมัน

ชื่อโปรเจกต์ Oyobi ของคุณ แปลว่าอะไร

จริงๆ แล้วคำว่า oyobi เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลได้ประมาณว่า ‘และ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ ผมคิดเสมอว่า Oyobi เป็นโปรเจกต์ดนตรี ซึ่งเกิดจากการรวมกันของนักดนตรี นักร้อง และโปรดิวเซอร์หลายคน คำว่า ‘และ’ จึงเป็นคำที่ดีที่เรียกโปรเจกต์นี้ เป็นคำที่ไม่มีความหมายพิเศษ ใช้โยงเข้ากับคำ เราจึงสามารถใส่ความหมายอะไรเข้าไปก็ได้ นอกจากนี้เรายังชอบเสียงของมันด้วย Oyobi ฟังดูเหมือนเป็นภาษาอะไรก็ได้ คุณอาจบอกว่ามันฟังดูเหมือนภาษาในแอฟริกา ลาตินอเมริกา หรือภาษาญี่ปุ่น

นอกจากคุณแล้ว Oyobi ยังมีใครอีกบ้าง

นักดนตรีหลักของโปรเจกต์นี้คือผม (อิเล็กทรอนิกส์, ดรัมแมชชีน, เพอร์คัชชั่น) Adm Ventoura (เบส) และ Danny Pliner (เครื่องสังเคราะห์เสียง) และเรายังมีนักดนตรีรับเชิญมาเล่นด้วยกันเป็นครั้งคราว ล่าสุดก็มี Aykho Akhrif ซึ่งเป็นมือกลองและเพอร์คัชชั่นร่วมด้วย เมื่อผมเล่นคู่กับ Aykho มันจะมีความเป็นเพอร์คัชชั่นมากหน่อย แต่เมื่อผม Adm และ Danny เล่นด้วยกันสามคน เสียงที่ออกมาจะมีความเป็นเมโลดี้มากกว่า เพราะเราใช้เครื่องสังเคราะห์เสียงและเบสร่วมด้วย

เสียงดนตรีไร้เมโลดี้ของ Vincent ทำให้เรานึกถึงบทความของ John R. Iversen ที่ชื่อ ‘In the beginning was the beat: evolutionary origins of musical rhythm in humans’ ซึ่งขึ้นต้นว่า

ทุกวัฒนธรรมที่เรารู้จักล้วนมีดนตรีที่ให้ความรู้สึกเหมือนชีพจร หรือจังหวะ ซึ่งจัดการเวลา ทำให้ร่างกายของเราคึกคัก และทำให้คนที่อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มสามารถเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะในขณะเต้นรำ สร้างเสียงดนตรี หรือทำงาน การทำอะไรสักอย่างสอดประสานไปกับคนอื่นสามารถให้ความเพลิดเพลินอย่างที่สุด และชีพจรในดนตรีคือพาหนะที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น

เสียงใสของคองก้า เสียงบีทที่เกิดจากสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์หลากความถี่ทำให้ชีพจรของเราและผู้ชมคนอื่นๆ เต้นเป็นจังหวะเดียวกัน ทำให้คนแปลกหน้าหลายสิบคนเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกันในชั่วหนึ่งเพลง การชมการแสดงดนตรีคือประสบการณ์ร่วม และชีพจรในดนตรีของ Vincent Sebastian คือพาหนะที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น


เพลงรีมิกซ์ของ Oyobi ที่เราอยากให้คุณฟัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save