fbpx
อสม. อาวุธลับในการยับยั้ง COVID-19

อสม. อาวุธลับในการยับยั้ง COVID-19

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญคือแพทย์และพยาบาลผู้ทำงานหนักในทุกโรงพยาบาล แต่มีตัวละครสำคัญอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมายกย่องประเทศไทยว่า

“สามารถควบคุม COVID-19 ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ เพราะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญประจำอยู่ทุกจังหวัด

“อสม. ถือเป็นด่านหน้าทำงานหนัก ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยา และการเฝ้าระวังการระบาด COVID-19 หาข่าวผู้มีความเสี่ยง เฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคล และให้ความรู้ประชาชนถึงการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19”

ต้องยอมรับว่าการควบคุมโรคในจังหวัดต่างๆ เป็นไปด้วยดี มีการแพร่ระบาดน้อย ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของไทย โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

ระบบสาธารณสุขของไทยมีความแข็งแกร่งมาหลายสิบปี ไม่ใช่เพียงความก้าวหน้าทางการแพทย์ หรือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ แต่เป็นเพราะเครือข่ายของระบบสาธารณสุขมูลฐานฝังตัวอยู่ในชนบทไทยมานานร่วมสี่สิบกว่าปีแล้ว

คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเมืองอาจจะไม่รู้จักคำว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ว่าคืออะไร แต่คนเหล่านี้คือตัวเชื่อมโยงให้การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บสามารถครอบคลุมผู้ทั้งประเทศได้

อย่าแปลกใจว่าคนเหล่านี้คือชาวบ้านธรรมดา ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร

หากระบบการสื่อสารมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงได้ทั่วประเทศ  อสม.ก็เปรียบเสมือนโครงข่ายที่เชื่อมโยงการป้องกันโรคของคนทั้งประเทศ

นานมาแล้วที่เราทราบดีว่า การรักษาพยาบาลทั่วโลกมักกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ผู้คนในชนบทหรือต่างจังหวัดมักขาดแคลนโรงพยาบาลหรือการรักษาพยาบาล อัตราการเสียชีวิตของชาวบ้านจึงสูงมาก

ต่อมาในเดือนกันยายน 2521 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีการประชุมว่าด้วยสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) ที่เมืองอัลมา อตา สหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อร่วมกันพิจารณาหาวิธีที่จะทำให้บรรลุถึงการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าได้ และประกาศว่า “สาธารณสุขมูลฐานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อความยุติธรรมในสังคม และเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า”

สาธารณสุขมูลฐาน คือ การดูแลสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการปฎิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามหลักการและเป็นที่ยอมรับ ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัว และชุมชน การจัดการสาธารณสุขมูลฐานต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและในทุกขั้นตอนต้องเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน

สาธารณสุขมูลฐาน เป็นระบบบริการสาธารณสุขที่เพิ่มเติมหรือเสริมจากระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ ซึ่งจัดบริการในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยประชาชนและความร่วมมือของชุมชนเอง

อาจจะเรียกได้ว่า “สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพอนามัยโดยประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ด้วยการสนับสนุนของรัฐ”

ต้องขอบคุณคุณหมอแห่งกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น ผู้ได้วางรากฐานให้กับสาธารณสุขมูลฐานไทยตั้งแต่เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน โดยให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ไม่ใช่มีเฉพาะหมอหรือพยาบาลเท่านั้น และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญ

อสม. คืออาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน

การคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ

อสม. ซึ่งกำเนิดขึ้นจากแนวทางในการใช้การสาธารณสุขมูลฐาน นับเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนทั้งในการป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น และติดตามปัญหาสุขภาพ

ผลงานสำคัญในช่วงแรก คือ เมื่อเกิดการระบาดของโรคมาลาเรีย ได้มีการอบรม อสม. ให้เข้าใจโรคร้ายนี้ เพื่อกระจายไปบอกต่อให้กับชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะป้องกันโรคได้อย่างไร จนสามารถควบคุมการระบาดของโรคร้ายนี้ได้

หลักการสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดโรค ก่อนที่จะเป็นโรคแล้วต้องมารักษาพยาบาล

หลังจากนั้นมีการอบรมชาวบ้านในหมู่บ้านให้เป็น อสม. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปทั่วประเทศ อสม. ถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะคอยส่งข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐลงไปในพื้นที่ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน จน อสม. กลายเป็นกำลังหลักของกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีภารกิจสำคัญ อาทิ กระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาโภชนาการที่เกิดขึ้น เช่น โรคขาดสารอาหารในเด็ก 0-5 ขวบ หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำ อนามัยแม่และเด็ก การจัดหาน้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาล การคุ้มครองผู้บริโภค อบรมให้ความรู้การวางแผนครอบครัว การป้องกันควบคุมอุบัติเหตุอุบัติภัย ร่วมกันค้นหาผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาหรือส่งต่อ การป้องกันโรคสำคัญ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคพยาธิ โรคเอดส์ และล่าสุด คือ COVID-19

นางจรวย ล่องหลง วัย 58 ปี อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนบ้านหน้าคราม ต.ทุ่งระยะ อ.สวี จ.ชุมพร เล่าให้ฟังว่า ลูกชายป่วยเป็นไข้เลือดออก แต่โชคดีที่รักษาหาย จึงสนใจการดูแลสุขภาพ มาสมัครเป็น อสม. พอเกิด COVID-19 มีวิธีทำงานคือ

“ภายในหมู่บ้าน 180 หลังคาเรือน มี อสม. 22 คน แบ่งกันเฝ้าระวังคนละ 9 หลังคาเรือน คอยสอดส่องดูแล ให้ข้อมูลความรู้กับลูกบ้านในการป้องกันโรค ใครมาจากต่างจังหวัดต้องเก็บข้อมูล คอยดูการกักตัว และมีการประชุมกันตลอดว่าจะรับมือกับผู้ป่วยอย่างไรหากเกิดขึ้น”

ทุกวันนี้มี อสม. ล้านกว่าคนทั่วประเทศคอยดูแลให้ความรู้กับชาวบ้าน และ super spreader ที่หลายคนตื่นตระหนก จากเวทีสนามมวยลุมพินี และจากการปิดกทม. ทำให้คนทำงานแห่กันกลับบ้านต่างจังหวัด รวมทั้งแรงงานจากเกาหลีใต้ที่กลับเมืองไทย โรคร้ายไม่ได้ลุกลามขยายตัวออกไปทั่วประเทศ แต่สามารถควบคุมได้ เพราะเบื้องหลังคือการทำงานหนัก อสม.เหล่านี้

มดงานทำงานกันเงียบๆ แต่สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าและโด่งดังไปทั่วโลก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save