fbpx
จาก Estonia สู่ e-Stonia : ถอดบทเรียน 25 ปี การรีบูทเอสโตเนีย กับ Viljar Lubi

จาก Estonia สู่ e-Stonia : ถอดบทเรียน 25 ปี การรีบูทเอสโตเนีย กับ Viljar Lubi

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เรื่อง

นัตตา เผ่าจินดามุข ถอดความ

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลติก มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอสโตเนียถูกยึดครองและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (มีช่วงสั้นๆ ในปี 1941-1944 ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมัน) จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เอสโตเนียจึงกลับมาเป็นประเทศเอกราชอีกครั้ง

25 ปีผ่านไป ประเทศเกิดใหม่จากเถ้าถ่านได้เพียงเสี้ยวศตวรรษแห่งนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และได้รับการขนานนามว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

ชาวโลกต่างจดจำเอสโตเนียด้วยมหัศจรรย์แห่ง “e -” : e-Society, e-Government, e-Residency, e-Voting, etc.

ทุกวันนี้ บริการออนไลน์ของภาครัฐและภาคเอกชนครอบคลุมแทบทุกมิติของชีวิต การจ่ายภาษีง่ายดาย เพียงแค่คลิกไม่กี่ครั้ง การเปิดบัญชีและทำธุรกรรมผ่านธนาคารออนไลน์ก็สะดวกสบาย ข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบบนคลาวด์

รัฐบาลเอสโตเนียมุ่งมั่นพัฒนาประเทศสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มที่ตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศใหม่ นโยบายสำคัญที่ผ่านมา เช่น โครงการ Tiger Leap ที่นำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้าไปในโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ โครงการ Proge Tiger ที่สอนโปรแกรมมิ่งและโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนตั้งแต่ประถมหนึ่ง รวมถึงการตรากฎหมายให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (wi-fi) เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการเปิดให้ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ (e-Voting) เป็นประเทศแรกของโลก

เอสโตเนียยังมีโครงการ e-residency ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนในโลกสามารถสมัครออนไลน์เข้ามาเป็นประชากร (e-resident) ของเอสโตเนียได้ โดยได้รับสิทธิในการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ เปิดบัญชีธนาคาร รวมถึงบริการออนไลน์ของรัฐและเอกชนอีกหลายอย่าง โครงการนี้กระตุ้นให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพในเอสโตเนียแบบก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

 

น่าสนใจว่า ประเทศเกิดใหม่ขนาดเล็กอย่างเอสโตเนียสามารถรีบูทประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกได้อย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้รัฐบาลเอสโตเนียพัฒนา e-Government และ e-Services? ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากการก้าวสู่สังคมดิจิทัลมีอะไรบ้าง? แล้วประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศเช้าเย็นว่าจะเดินหน้าสู่ “Thailand 4.0” สามารถเรียนรู้อะไรจากเอสโตเนียได้บ้าง?

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นั่งสนทนากับ Viljar Lubi รัฐมนตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการสื่อสารแห่งเอสโตเนีย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อหาคำตอบและบทเรียนในการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

………..

“เมื่อคุณสร้างประเทศใหม่ในระยะเริ่มต้น  e-Government ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม เพราะทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนที่ถูกลง ทั้งภาครัฐและประชาชนก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างไม่เข้าท่า”

ในยุคก่อร่างสร้างประเทศใหม่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำไมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลถึงกลายเป็นวาระสำคัญทางการเมืองได้สำเร็จ

ในช่วงปี 1991 หลังจากเอสโตเนียมีเอกราชสมบูรณ์ เอสโตเนียถือว่าล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ อยู่มาก เราต้องคิดเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ สุดท้ายเราตัดสินใจเลือกที่จะ “ล้างไพ่” ใหม่ คือปฏิเสธทุกอย่างที่เคยมีเคยทำในอดีต และเริ่มตั้งต้นใหม่จากศูนย์

ในเรื่องเศรษฐกิจ เราเลือกดำเนินนโยบายเปิดเสรีการค้า เพราะรู้ดีว่าเอสโตเนียเป็นประเทศขนาดเล็ก ตลาดภายในก็เล็กนิดเดียว จึงต้องเน้นค้าขายให้มากเข้าไว้ และเมื่อรู้ว่าอย่างไรก็จำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้า เราจึงไม่เก็บภาษีนำเข้าเพื่อให้สินค้าราคาถูกลง ทั้งหมดนี้ส่งผลช่วยฟื้นฟูประเทศให้กลับมาได้

จากนั้นเราจึงมาคิดว่าในฐานะประเทศขนาดเล็ก จะจัดหาบริการต่างๆ ให้แก่ประชาชนได้อย่างไร เรามองหาเส้นทางลัดในการพัฒนาบริการที่สำคัญสำหรับประชาชน ผู้นำทางการเมืองในเวลานั้นตัดสินใจว่า ‘เทคโนโลยี’ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เรามุ่งมั่นที่จะสร้างเอสโตเนียให้เป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเอสโตเนียจัดทำระบบการเงินการธนาคารขึ้นมาใหม่ เราไม่คิดจะนำสมุดเช็คมาใช้ คุณจะไม่พบธนาคารเอสโตเนียแห่งไหนรับสมุดเช็คเลย ตัวผมเองแทบจำไม่ได้ว่าไปธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ผมทำธุรกรรมทางการเงินแทบทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์หรือมือถือ

เมื่อคุณสร้างประเทศใหม่ในระยะเริ่มต้น e-Government ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม เพราะทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนที่ถูกลง ทั้งภาครัฐและประชาชนก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างไม่เข้าท่า เช่น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการใช้บริการของรัฐผ่านช่องทางออนไลน์นั้นสะดวกสบายกว่ามาก เราก็เลยถอนอาคารสำนักงานที่ให้บริการภาครัฐออกจากพื้นที่ห่างไกล แน่นอนว่า รัฐบาลยังไม่สามารถให้บริการทุกอย่างออนไลน์ได้ 100% บางคนยังเรียกร้องให้มีเคาน์เตอร์รับบริการอยู่ เราจึงรวมบริการทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกัน ประชาชนในชนบทสามารถเข้ารับบริการแบบครบทุกเรื่องจบในจุดเดียว ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณไปได้มาก

นอกจากนั้น อัตราจ้างงานของเอสโตเนียเต็ม 100% เลยไม่มีปัญหาว่าเทคโนโลยีดิจิทัลแย่งงานคน ปัญหาคนตกงานไม่ใช่ประเด็นที่เอสโตเนียต้องกังวล เรายังอยากมีบริการออนไลน์มากขึ้นด้วยซ้ำ และพยายามใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาทดแทนแรงงานคนในการผลิต ซึ่งเท่ากับว่าเราสามารถปลดปล่อยคนออกจากงานใช้แรงงานไปทำงานอื่นที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้

 

การปฏิรูปของเอสโตเนียเกิดจากเจตจำนงของผู้มีอำนาจด้านบน มากกว่าเป็นการเรียกร้องจากภาคประชาชนด้านล่าง?

ในช่วงเริ่มต้น คงต้องตอบว่า ‘ใช่’

 

เมื่อเทียบกับเบลารุส ซึ่งกลับมาเป็นประเทศอิสระในช่วงเดียวกับเอสโตเนีย ผลลัพธ์ของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจกลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง อะไรคือตัวกำหนดความแตกต่างระหว่างสองประเทศนี้

หลายคนชอบถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการกอบกู้เศรษฐกิจและการเมืองมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ผมคิดว่าคำตอบมีสามประการ

หนึ่ง ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ เอสโตเนียต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต เราเริ่มตั้งต้นพัฒนาประเทศโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะมุ่งไปทางไหน เราต้องการเป็นเอกราช ต้องการฟื้นฟูประเทศ ต้องการการเปลี่ยนแปลง และต้องการให้เอสโตเนียมั่งคั่ง เป้าหมายเหล่านั้นทำให้เรายิ่งต้องทำงานหนัก และดำเนินนโยบายที่แตกต่างเพื่อไล่กวดให้ทันประเทศอื่น

สอง การมีเพื่อนบ้านอย่างสวีเดนและฟินแลนด์ เราประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในการต่อสู้กับคอร์รัปชันตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จนติดอันดับที่ 15 ของประเทศคอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก นั่นก็เพราะเรามีเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศชั้นนำของโลกอย่างฟินแลนด์และสวีเดนเป็นตัวอย่างให้เดินตาม

เราต้องการไล่ตามประเทศอย่างฟินแลนด์และสวีเดน สมัยก่อนโน้น เราเคยมีมาตรฐานการครองชีพที่ไม่ต่างจากพวกเขา แต่ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เราทำได้แค่ 30% ตอนนี้เราไล่ตามมาได้ถึง 75% แล้ว เรายังต้องไล่กวดต่อไป

สาม การตัดสินใจลืมอดีตและล้างไพ่ใหม่ เราอยากเริ่มทุกอย่างใหม่จากศูนย์ เราเปลี่ยนจากประเทศคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยม รัฐวิสาหกิจถูกแปรรูป เราผลักนักการเมืองรุ่นเก่าออกไปจากระบบ และเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองผ่านวิถีประชาธิปไตย ในช่วงทศวรรษ 1990 นักการเมืองและนักการทูตของเรามีอายุแค่ 30 ปี พวกเขาเป็นอดีตผู้นำนักศึกษา ไม่ได้เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยสหภาพโซเวียต การเปลี่ยนแปลงแบบล้างไพ่นี้เองที่มีความสำคัญยิ่งและช่วยปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งประเทศ

 

“เราผลักนักการเมืองรุ่นเก่าออกไปจากระบบ และเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองผ่านวิถีประชาธิปไตย … การเปลี่ยนแปลงแบบล้างไพ่นี้มีความสำคัญยิ่งและช่วยปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งประเทศ”

ฟังคุณเล่าเรื่องเอสโตเนียแล้ว อดหันกลับมาดูประเทศไทยไม่ได้ หน่วยงานต่างๆ ของเรายังมีมรดกเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนารัฐบาลและบริการดิจิทัล นักการเมืองที่อยู่ในอำนาจส่วนใหญ่ก็อายุค่อนข้างมาก ขณะที่ปัจจัยแห่งความสำเร็จของเอสโตเนียอยู่ที่บริบทเชิงประวัติศาสตร์ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้มีรัฐบาลและผู้นำทางการเมืองรุ่นหนุ่มสาว

ความกล้าเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีบทบาททางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญมาก นักการเมืองของเอสโตเนียตั้งแต่ยุคปฏิรูปเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ Mart Laar นายกรัฐมนตรีคนแรกมีอายุเพียงแค่ 32 ปีเท่านั้น ตอนเข้ารับตำแหน่ง

นอกจากพลังของคนรุ่นใหม่แล้ว พลังของความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการสร้าง e-Government

 

ทำอย่างไรให้ประชาชนไว้ใจรัฐบาลและเชื่อมั่นระบบ e-Government

การสร้างความไว้วางใจในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก ความปลอดภัย โครงสร้าง e-Government ของเราไม่ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลเพียงแหล่งเดียว แต่ถูกนำไปไว้บนคลาวด์ หมายความว่าระบบฐานข้อมูลกระจายออกไปหลายแหล่ง และติดต่อเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เราหลีกเลี่ยงการใส่ทุกอย่างไว้ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งทำให้กระจายความเสี่ยงได้ดีขึ้น

ประการที่สอง การให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของข้อมูลของประชาชน คุณสามารถล็อกอินเข้าไปในหน้าหลักของตนเอง ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณทั้งหมดที่รัฐบาลเก็บไว้ เราสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเข้ามาดูข้อมูลของเราเมื่อไหร่ เช่นขณะนี้ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ถ้าผมเข้าไปเช็คข้อมูลและพบว่ามีตำรวจเข้ามาตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของผม ก็สามารถสอบถามเหตุผลกับเจ้าหน้าที่ได้ ถ้ารัฐให้เหตุผลไม่ได้ ประชาชนก็สามารถต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนได้

ที่เอสโตเนียเคยมีคดีดังที่ประชาชนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือแพทย์ที่เอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยมิชอบ ผู้กระทำผิดถูกลงโทษไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างบรรทัดฐานร่วมกันในสังคมเอสโตเนีย ในอนาคต ประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูลจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ในโลกยุคเก่าที่ทุกอย่างถูกบันทึกลงบนกระดาษ เราไม่ทางรู้ว่าใครดึงเอาข้อมูลคุณมาดู แต่พอทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัล คุณสามารถคุมเกมของคุณได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เรายังต้องการสนับสนุนกฎหมายที่มอบอำนาจให้พลเมืองสามารถจัดการกับข้อมูลของตนได้มากขึ้น แนวนโยบายเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนไว้ใจรัฐบาลยิ่งขึ้น

 

คุณพูดถึงสิทธิในการเป็นเจ้าของข้อมูล ในกรณีที่ประชาชนไม่ต้องการให้รัฐบาลเก็บข้อมูลส่วนบุคคลบางเรื่อง เราสามารถยื่นเรื่องขอให้มีการเอาออกได้หรือไม่

ได้ เราสามารถสอบถามเหตุผลได้ว่าทำไมรัฐบาลถึงเก็บข้อมูลนี้ไว้ และแจ้งให้รัฐบาลลบข้อมูลทิ้งได้

 

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเอสโตเนียเป็นอย่างไร

เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ผมอาจจะไม่ได้รู้แง่มุมต่างๆ ของกฎหมายโดยละเอียดเพราะไม่ใช่นักกฎหมาย แต่การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลได้ถูกกำกับผ่านกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายของสหภาพยุโรป รวมถึงกฎหมายภายในประเทศด้วย ยิ่งเรามีความร่วมมือกับนานาประเทศมากเท่าไหร่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็ยิ่งมีความสำคัญมากเท่านั้น สิ่งที่เราต้องเริ่มคิดคือ เมื่อบริษัทโซเชียลมีเดียเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไว้จำนวนมหาศาล เราจะกำกับดูแลการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทเหล่านี้อย่างไร

การกำกับดูแลการครอบครองข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังเป็นประเด็นสำคัญในระดับสหภาพยุโรป ซึ่งต้องการสร้างตลาดดิจิทัลหนึ่งเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ รัฐบาลบางแห่งได้กำหนดให้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมในประเทศหนึ่งจะถูกเก็บและใช้งานได้เฉพาะสำหรับบริการภายในประเทศนั้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่เฟซบุ๊กหรือกูเกิลเก็บรวบรวมจากประชาชนในประเทศไทย จะถูกใช้งานได้ในประเทศไทยเท่านั้น รวมถึงประชาชนที่เป็นเจ้าของข้อมูลต้องสามารถกำหนดได้ว่าบริษัทสามารถใช้ข้อมูลของเขาได้ระดับไหน ตรงนี้เป็นสิทธิของประชาชน

 

“พลังของความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการสร้าง e-Government ซึ่งสร้างได้จากปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ความปลอดภัย และการให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของข้อมูลของประชาชน”

ในช่วงแรกของการปฏิรูปเพื่อสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้นำรุ่นใหม่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ แต่หลังจากนั้น อะไรคือปัจจัยที่ผลักดันสร้างความสำเร็จต่อ

เมื่อมันเดินหน้าต่อไป จากเรื่องการตัดสินใจทางการเมืองก็กลายเป็นเรื่องของความสะดวกสบาย เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทุกอย่างโดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน่วยงานรัฐ ไม่ต้องเข้าคิวรอ ไม่ต้องเสียเวลากลับมาใหม่หากพบว่าเอกสารไม่ครบ ประชาชนและภาคเอกชนก็จะเห็นประโยชน์และผลักดันเรียกร้องต่อไปเอง

ยกตัวอย่างเช่น การจัดการเรื่องภาษีที่เอสโตเนีย เราให้ธนาคารกับรัฐบาลคุยกันเอง ระบบข้อมูลของภาครัฐและภาคเอกชนเชื่อมโยงกันจนเราสามารถออนไลน์เข้าไปใช้บริการของหน่วยงานรัฐผ่านการเชื่อมต่อของธนาคารได้เลย ถ้าธนาคารยืนยันข้อมูลบุคคลแล้วคุณก็ไม่ต้องแสดงตัวตนอีก เพราะระบบถูกเชื่อมกันหมด เวลาต้องการขอคืนภาษี ข้อมูลทุกอย่างก็จะถูกส่งมาจากทุกฝ่าย ผมแค่เช็คข้อมูลว่ามันถูกผิดตรงไหน แล้วกด “โอเค” – ง่ายๆ แค่นั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง อุตสาหกรรมเกษตรในอินเดียถูกแยกออกเป็นส่วนๆ เกษตรกรมักต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้คนกลาง เพราะไม่มีข้อมูลราคาตลาดที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ที่เอสโตเนีย เรามีแอพพลิเคชั่นมาเป็นตัวช่วย เป็นแอพฯ พื้นๆ ที่ไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนก็ติดตั้งโปรแกรมได้ ราคาสินค้าจะอัพเดทมายังมือถือตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาหลอกลวง มองในเชิงเศรษฐกิจแล้วมันมีประโยชน์มหาศาล

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องระบบจอดรถผ่านมือถือ เครื่องออกตั๋วก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะทุกอย่างอยู่ในมือถือทั้งหมด

เอสโตเนียมีระบบที่เรียกว่า “x-road” ซึ่งเป็นเหมือนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐานบริการออนไลน์ที่เชื่อมบริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน ระบบดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนา e-Government บ้าง

x-road เป็นระบบออนไลน์ข้อมูลสาธารณะ มันไม่ใช่ระบบวงจรปิด หน่วยงานต่างๆ จะเชื่อมต่อกันผ่านระบบเปิดนี้ โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องพิสูจน์ว่าระบบของตนปลอดภัยมากพอที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ x-road จากนั้นบริการของหน่วยงานนั้นก็จะเชื่อมต่อเข้ากับหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในระบบ

ประชาชนทุกคนจะมีบัตรประจำตัวที่ใช้ระบุตัวตน (ไอดีการ์ด) หรือหมายเลขระบุตัวตนผ่านมือถือ (โมบายไอดี) เพื่อใช้ในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐและเอกชน โดยประชาชนจะต้องอัพเดทซอฟท์แวร์ที่ใช้ตลอดเวลา ผมจะไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารอินเทอร์เน็ตได้ถ้ายังใช้ซอฟท์แวร์เก่า เพราะมันปลอดภัยน้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้มีการอัพเดทการป้องกันไวรัสตัวใหม่ๆ เราออกแบบระบบให้ประชาชนต้องปกป้องตัวเองและทันเทคโนโลยีใหม่ตลอดเวลา

การแชร์ข้อมูลผ่านระบบกลางอย่าง x-road ช่วยให้ชีวิตของประชาชนง่ายขึ้น มันเหมือนเรามีกระทรวงพลเมืองที่เก็บข้อมูลของเราเอาไว้ทั้งหมด เมื่อผมซื้อบ้านครั้งแรกต้องไปลงทะเบียนที่อยู่อาศัย แต่หลังจากนั้น ผมก็แทบไม่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก เพราะข้อมูลของผมอยู่ในระบบแล้ว บริการของหน่วยงานต่างๆ ใน x-road จะส่งผ่านข้อมูลกันเอง ไม่ต้องเสียเวลาแจ้งข้อมูลซ้ำไปซ้ำมาเมื่อติดต่อข้ามหน่วยงาน หากฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานรัฐไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ภาระไม่ได้ถูกผลักมาที่ผม แต่เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เราต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

ในช่วงแรกของการพัฒนา e-Government เราเริ่มจากบริการพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มบริการใหม่เข้ามาเป็นระยะๆ แต่ระบบพื้นฐานอย่าง x-road ที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังยังเป็นแกนในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบง่ายๆ บางคนชอบซัมซุง บางคนชอบแอลจี ไม่เป็นไร แต่ปลั๊กที่ใช้ต้องเหมือนกัน หมายความว่า คุณสามารถออกแบบบริการสารพัดให้แก่ประชาชน แต่ระบบต้องเข้ากันได้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องปลอดภัย อันดับต่อมาคือต้องเข้าใจภาษาที่ใช้กับระบบ ต้องทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้

 

“เราเชื่อมั่นในหลักการว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐและต้องการให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลของรัฐบาลถูกเข้าถึงได้มากขึ้น เราอยากเห็นภาคเอกชนและภาคประชาสังคมนำข้อมูลของรัฐไปใช้ประโยชน์ เพราะมันมีโอกาสมหาศาลอยู่ในนั้น แต่เราก็ต้องระวังเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ข้อมูลที่เปิดเผยต้องไม่มีชื่อหรือระบุตัวตนได้”

เวลาพูดถึง e-Government เรามักจะพูดถึงแนวคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ หรือ open government data ด้วย ทางรัฐบาลเอสโตเนียจัดการเรื่องนี้อย่างไร

ข้อมูลเปิด (open data) มีความสำคัญอย่างมาก เรามองเห็นโอกาสมากมายจาก big data หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การจะแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดมาก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลยสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเอสโตเนีย แต่ big data มอบโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ๆ

รัฐบาลก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน เราเชื่อมั่นในหลักการว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐและต้องการให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลของรัฐบาลถูกเข้าถึงได้มากขึ้น เราอยากเห็นภาคเอกชนและภาคประชาสังคมนำข้อมูลของรัฐไปใช้ประโยชน์ เพราะมันมีโอกาสมหาศาลอยู่ในนั้น แต่เราก็ต้องระวังเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ข้อมูลที่เปิดเผยต้องไม่มีชื่อหรือระบุตัวตนได้

 

นอกจากประโยชน์ในเชิงธุรกิจแล้ว รัฐบาลเอสโตเนียสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation) ด้วยหรือไม่ เช่น มีกฎหมายที่ระบุให้รัฐบาลต้องปรึกษาหารือประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เมื่อออกกฎหมายหรือนโยบายใหม่

เราพยายามเปิดทางเลือกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือกฎหมาย ถึงแม้เรายังไม่มีกฎหมายบังคับว่าการออกกฎหมายทุกฉบับจำเป็นต้องผ่านการปรึกษาหารือกับประชาชนก่อน แต่เราก็พยายามสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการรับฟังความเห็นของประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ ได้จริง

อย่างไรก็ดี ผลที่ออกมาก็มีทั้งดีและไม่ดี โดยปกติแล้วคนเราอยากจะมีทางเลือก แต่บ่อยครั้งก็มักไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทางเลือกนั้นจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องการกำหนดนโยบายอาจจะดูไกลตัวพวกเขา ประชาชนจะให้ความสนใจก็ต่อเมื่อมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นจริงๆ แต่ถึงประชาชนอาจไม่ได้สนใจมากนัก แต่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเปิดทางเลือกในการมีส่วนร่วมไว้

 

วิธีคิดในการออกแบบกฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนระบบ e-Government ของเอสโตเนียเป็นอย่างไร

เราพยายามทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องง่ายต่อการใช้งานจริง ตัวอย่างเช่น ระบบภาษีของเราก็ถูกออกแบบมาให้ง่ายมาก เรามีอัตราภาษีต่ำแต่ฐานภาษีกว้าง ไม่มีข้อยกเว้นมากมาย จึงแทบไม่มีเหตุผลที่คุณจะต้องไปจ้างนักกฎหมายด้านภาษี เพราะมันง่ายจนใครๆ ก็ทำได้

กฎหมายหรือนโยบายที่คุณพูดถึงล้วนทำให้รัฐบาลต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และรับผิดรับชอบต่อประชาชนมากขึ้น ในการผลักดันกฎหมายหรือนโยบายเหล่านี้ต้องเผชิญแรงต่อต้านทางการเมืองจากผู้เสียประโยชน์บ้างหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ บางครั้งก็นำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองเช่นกัน ผมขอยกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเอสโตเนียนำระบบการลงคะแนนออนไลน์มาใช้ ไม่ใช่ว่าทุกพรรคการเมืองจะชื่นชอบ เหตุผลก็เป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องเทคนิค ระบบลงคะแนนออนไลน์ทำงานได้อย่างดี แล้วทำไมบางพรรคถึงไม่อยากเข้าร่วม ก็ใครที่ชอบลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ละ คนหนุ่มสาวไง ดังนั้นหากฐานเสียงหลักของพรรคเป็นคนสูงอายุ พวกเขาก็จะเสียเปรียบ การโหวตผ่านอินเทอร์เน็ตจึงมีผลเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะทำให้คนหนุ่มสาวโดยปกติแล้วไม่ค่อยอยากเดินทางไปที่คูหาเลือกตั้งออกมาลงคะแนนเสียง ซึ่งอาจเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้

 

คุณพูดถึงพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวที่พร้อมจะใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ แล้วโครงสร้างประชากรของเอสโตเนียเป็นอย่างไร เป็นเพราะมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากหรือเปล่าถึงทำให้การพัฒนา e-Government ของเอสโตเนียประสบความสำเร็จ

อันที่จริง เอสโตเนียก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรปและเอเชีย

ทุกวันนี้เราก็ประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์เช่นกัน อุตสาหกรรมไอทีเติบโตเร็วมากจนระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมได้เพียงพอ ขณะเดียวกันเราก็ขาดบุคลากรด้านการสอน เพราะคนที่ได้รับการศึกษาด้านไอทีเกือบทั้งหมดถูกดึงออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย บ่อยครั้งก่อนที่พวกเขาจะเรียนจบด้วยซ้ำ

ปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ เราจะจัดการกับความต้องการกำลังแรงงานมหาศาลในอุตสาหกรรมไอทีได้อย่างไร ในด้านหนึ่งมันช่วยให้ภาคไอทีเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องการคนเรียนจบไอทีมาสอนหนังสือด้วย

 

“การสร้าง e-Government ต้องเริ่มจากการศึกษา ถ้าประชาชนไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากพอก็ไม่สามารถเดินไปไหนต่อได้ … สุดท้ายแล้ว การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากคนทั้งนั้น ถ้าคนไม่เปลี่ยน อะไรๆ ก็ไม่เปลี่ยน”

เวลาเราพูดถึงความสำเร็จของ e-Government มันไม่ได้เกิดจากการที่ภาครัฐจัดหาบริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่พื้นฐานสำคัญคือ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีความรู้ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วย เอสโตเนียจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

มันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แม้คนส่วนมากจะใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เราจึงต้องจัดอบรมพิเศษให้กับคนทั่วไปด้วย รวมถึงการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง

ปัจจุบัน ชาวเอสโตเนียสามารถเข้าถึงโครงข่ายไฟเบอร์ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้อย่างทั่วถึง เราเป็นประเทศแรกๆ ที่นำระบบ 5G มาทดสอบ เราโอบรับแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งที่เรามองว่าเป็นแผนระยะยาวนั้น หมายถึงแค่ 6 เดือนเท่านั้น เพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในเอสโตเนียมีโครงการอันโด่งดังที่ชื่อว่า Tiigrihüpe (Tiger Leap หรือพยัคฆ์ทะยาน) ซึ่งสร้างความรู้ด้านดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชนเอสโตเนีย โครงการนี้มีส่วนต่อความสำเร็จของประเทศมากน้อยแค่ไหน

โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 นโยบายนี้กำหนดให้โรงเรียนทุกแห่งในเอสโตเนียต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและสอนวิชาคอมพิวเตอร์ เราเริ่มต้นที่โรงเรียนก่อน จากนั้นการใช้อินเทอร์เน็ตก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

ผมคิดว่าการสร้าง e-Government ต้องเริ่มจากการศึกษา ถ้าประชาชนไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากพอก็ไม่สามารถเดินไปไหนต่อได้ อย่างเอสโตเนียเองก็เริ่มจากโครงการ Tiigrihüpe เพราะสุดท้ายแล้ว การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากคนทั้งนั้น ถ้าคนไม่เปลี่ยน อะไรๆ ก็ไม่เปลี่ยน

 

ในปี 2000 เอสโตเนียประกาศว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือเป็นสิทธิมนุษยชน รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมอย่างไรถึงกล้าประกาศเช่นนั้น

บริการของภาครัฐทุกอย่างต้องเข้าสู่ระบบออนไลน์ และประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ สมัยนั้นคนที่เดินทางมาเที่ยวเอสโตเนียจะสังเกตเห็นป้ายบอกทางสีฟ้าที่บ่งบอกว่ามีอินเทอร์เน็ตสาธารณะ เรามีคอมพิวเตอร์สาธารณะต่ออินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรี เพราะว่าสมัยนั้นไม่ใช่ทุกบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ซึ่งเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รัฐบาลต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในทุกที่แม้กระทั่งในชนบท เพื่อให้คนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายได้ ไม่ว่าจะบนถนน กลางสี่แยก ร้านกาแฟ และใช้ได้ฟรีหมด

 

ในช่วงปี 2000 รัฐบาลได้เตรียมนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ e-Government เต็มตัว แต่เข้าใจว่าสถิติผู้เข้าใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐเวลานั้นก็ยังน้อยมาก รัฐบาลทำอย่างไรให้คนหันมาใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐ

ไม่กี่ปีหลังจากเราเพิ่มบริการเข้าไปและหลอมรวมบริการเข้าด้วยกันมากขึ้น ประชาชนก็เริ่มตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการใช้บริการออนไลน์ แล้วมันก็เหมือนเกิดระเบิดขึ้นทันทีทันใด ประชาชนหันมาเรียกร้องให้ทุกอย่างต้องออนไลน์ หลังจากนั้นภาคเอกชนก็กระโดดตามเข้ามาให้บริการออนไลน์มากขึ้น ทุกอย่างจึงเชื่อมโยงกันหมด เช่น e-School (โรงเรียนอิเล็กทรอนิกส์) หรือ e-Health (ระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์) รัฐบาลแทบไม่ต้องออกแรงผลักอะไรเลย

การนำไอดีการ์ดมาใช้ในปี 2002 และโมบายไอดีในปี 2007 ก็มีส่วนอย่างมาก ไอดีการ์ดมีบทบาทสำคัญเพราะมันช่วยยืนยันตัวตนและรักษาความปลอดภัยในระบบ ซึ่งทำให้บริการที่อยู่ในระบบหลายอย่างมีความปลอดภัยด้วย เราบังคับให้ประชากรทุกคนต้องใช้ไอดีการ์ด การที่ประชาชนทุกคนต้องเข้าไปอยู่ในระบบเป็นค่าตั้งต้นนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความสำเร็จ ใครที่ไม่ต้องการใช้บริการออนไลน์ ก็ค่อยเลือกที่จะออกไปจากระบบทีหลังได้ แต่หลังจากประชาชนได้ทดลองใช้งาน ก็ไม่ไปไหน เพราะดีกว่าบริการแบบเดิม ทั้งรวดเร็วกว่าและถูกกว่า

แน่นอนว่า เราต้องผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่ทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เราต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว มีบริการบางอย่างที่พัฒนาไปไม่ถึงไหน เช่น ระบบ e-Health ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้ป่วย แต่อยู่ที่หมอ หมอไม่อยากได้ e-Health เพราะถ้ามีเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกทุกอย่างเอาไว้ เมื่อเปลี่ยนหมอ หมอคนใหม่สามารถดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้ และอาจพบว่าหมอคนเก่าวินิจฉัยผิด จึงเป็นเรื่องปกติที่หมอไม่ค่อยอยากให้คนอื่นเข้าถึงประวัติการรักษา เรื่องแบบนี้เป็นทุกที่ในโลก ไม่ใช่แค่ที่เอสโตเนีย

 

ประเทศไทยเองก็พยายามส่งเสริมบริการออนไลน์ใหม่ๆ อย่างพร้อมเพย์ (PromptPay) แต่ดูเหมือนประชาชนยังไม่ค่อยเชื่อใจสักเท่าไหร่ แม้ว่าอาจจะเป็นบริการที่ดี รัฐบาลเอสโตเนียทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกไว้ใจกับบริการใหม่ๆ ที่รัฐบาลนำเสนอ

รัฐบาลต้องทำให้บริการสะดวกสบาย ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าจะใช้มันอย่างไร รู้สึกปลอดภัย และเชื่อว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกเปิดเผย ถ้าทำได้อย่างที่ว่า ผมว่ามันจะประสบความสำเร็จ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความไว้วางใจ รัฐบาลต้องทำตัวเองให้เป็นที่ไว้วางใจสำหรับประชาชน คุณต้องไม่ล้ำเส้นระบบ และทำให้มันใช้งานได้จริง กว่าเอสโตเนียจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาร่วม 20 ปี มันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของเวลาและการทดลองทำอะไรใหม่ๆ คุณต้องเชื่อว่าการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นโอกาสหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมอยากลองยกประสบการณ์ส่วนตัวของผม สมัยก่อนผมอ่าน The Economist เวอร์ชั่นกระดาษเป็นประจำ ปกติแล้วเล่มใหม่จะออกทุกวันศุกร์ แต่ตอนผมทำงานเป็นทูตอยู่ที่อินเดีย ต้องรอถึงวันจันทร์กว่าฉบับกระดาษจะวางขาย ผมเลยต้องลองไปหาอ่านในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ดู ตอนแรกก็ลังเลเพราะชอบอ่านบนกระดาษมากกว่า แต่ปรากฏว่ามันสะดวกมากขึ้นจริงๆ บางครั้งคุณแค่ต้องเดินออกจากกรอบเดิมๆ เลิกนิสัยเดิมๆ โดยมีรัฐบาลเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะผลักดัน

 

“ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา e-Government”

อะไรคือความสำเร็จรูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ e-Government

ตัวอย่างที่ดีล่าสุดคือ การที่ผมได้รับเชิญมาพูดที่เมืองไทย เพื่อเล่าเรื่องเอสโตเนียที่ผู้คนคงไม่รู้จักมากนักหรอก เวลาที่คุณสร้างประเทศ มันเป็นงานหฤโหดและใช้เวลานาน เหมือนก่ออิฐทีละก้อน อีกทั้งยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าผลผลิตนั้นมาจากประเทศของคุณด้วย เหมือนอย่างมีดสวิสหรือผลงานวิศวกรรมจากเยอรมนีที่ได้รับการพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ตอนนี้เราได้สร้างแบรนด์อย่าง e-Stonia ซึ่งทำให้เอสโตเนียโดดเด่นและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก e-Stonia ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราไปแล้ว

 

e-Government ช่วยให้รัฐบาลประหยัดทรัพยากรสาธารณะได้มากน้อยแค่ไหน

ประหยัดได้มหาศาล ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบพูดถึงคือ การที่เราลงนามทุกอย่างในรูปของดิจิทัลทำให้ประหยัดทรัพยากรได้ถึง 2% ของจีดีพี ซึ่งเท่ากับงบประมาณป้องกันประเทศของเอสโตเนีย เรายังประหยัดได้มากจากเวลาที่ไม่ต้องใช้ไปบนท้องถนนเพื่อเดินทางไปรับบริการของรัฐและเอกชน ซึ่งเท่ากับประหยัดเวลาไปได้ 1 อาทิตย์ใน 1 ปี นอกจากนั้น มันยังส่งผลต่อวิธีคิดของคนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ประโยชน์ที่ได้รับจาก e-Government จึงเห็นได้อย่างชัดเจน

 

e-Government ช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพมากน้อยแค่ไหน

เอสโตเนียเป็นประเทศสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วเรามีนักธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวน 1 คนต่อจำนวนประชากร 3,000 คน แถมจำนวนสตาร์ทอัพก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพระหว่างประเทศ ทราบไหมว่า 40% ของสตาร์ทอัพในเอสโตเนียไม่ใช่ชาวเอสโตเนีย แต่มาจากต่างประเทศ

 

เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้บ้างไหม

ระบบ e-Government ช่วยได้มาก เพราะทุกอย่างอยู่ในระบบออนไลน์หมด พอตำรวจไม่ต้องขอดูเอกสารของคุณ เพราะทุกอย่างค้นได้ออนไลน์หมดแล้ว คุณก็ไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับตำรวจ ทำให้ลดความเสี่ยงในการคอร์รัปชันได้มากขึ้น ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันของเอสโตเนียลดน้อยลงมากจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่คอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก

 

e-Government มีส่วนช่วยให้ชีวิตทางการเมืองของประชาชนดีขึ้นอย่างไร

การลงคะแนนเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตช่วยดึงคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น เพราะคนหนุ่มสาวที่มักไม่ค่อยอยากออกไปที่คูหาสามารถเลือกตั้งได้จากที่บ้าน จากมือถือ หรือจากต่างประเทศ มันช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนั้น คุณยังสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐได้

 

แล้วในแง่สังคม e-Government มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมทางสังคมอย่างไร

ผมอาจจะไม่มีคำตอบชัดเจนว่า e-Government ช่วยเพิ่มความเท่าเทียมและผนวกรวมทุกคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้หรือไม่ แน่นอนว่า e-Government ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวในการขับเคลื่อนเป้าหมายนั้น มันต้องอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกหลากหลายมาทำงานร่วมกัน แต่อย่างน้อย การสร้างสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Society) ก็ช่วยให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียม ต่างจากสมัยก่อนที่การเข้าถึงข้อมูลมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำตามกลุ่มสังคมที่คุณสังกัด

 

เราคง “ตัด-แปะ” ความสำเร็จของเอสโตเนียมาทำให้เกิดในประเทศไทยไม่ได้ แต่เราเรียนรู้บทเรียนสำคัญอะไรจากเอสโตเนียได้บ้าง หากต้องการประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

ประเทศไทยมีขนาดใหญ่กว่าเอสโตเนียมาก ดังนั้นความท้าทายก็ยิ่งใหญ่กว่าเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำ เราต้องกล้าและมุ่งมั่นที่จะทำ เราเชื่อว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมืองและวิธีคิดของคน ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิค

ผมมองเห็นว่าประเทศไทยมีองค์ประกอบที่พร้อมจะเป็น e-Government ถ้าคุณมุ่งมั่น e-Government ของไทยก็จะประสบความสำเร็จ เมื่อเกิดบริการออนไลน์ต่างๆ แล้ว ในท้ายที่สุด ประชาชนและภาคเอกชนจะร่วมสนับสนุนเพราะทั้งสะดวก ราคาถูก และช่วยให้เราแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เหมือนที่เอสโตเนียแสดงให้เห็น

โลกกำลังเป็นดิจิทัลขึ้นทุกวัน คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงมันได้ และคุณต้องมั่นใจในสิ่งที่คุณเลือก ตัวอย่างของคำถามท้าทาย เช่น คุณจะเลือกอยู่ข้างการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว หรือคุณจะเลือกสอดส่องข้อมูลส่วนบุคคลแบบ NSA (National Security Agency หรือสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสอดส่องและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน – ผู้สัมภาษณ์)

นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้บริการเชื่อมต่อกัน ปัญหานี้เป็นเรื่องท้าทายใหญ่หลวงสำหรับทุกรัฐบาล แม้แต่ในยุโรป ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลต่างให้บริการออนไลน์ แต่ยังขาดจุดเชื่อมต่อ ตรงนี้แหละที่ต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อทำให้ข้อต่อต่างๆ เชื่อมถึงกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้

ประเทศแต่ละแห่งมีบริบททางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน อย่างที่ผมเคยพูดขำๆ ว่า เหตุผลหนึ่งที่เอสโตเนียนำ e-Government มาใช้ เพราะชาวเอสโตเนียเป็นคนขี้อาย เราไม่ค่อยอยากพูดกับคนอื่นตัวต่อตัว ถ้าเลี่ยงได้ก็อยากเลี่ยง Skype สตาร์ทอัพที่โด่งดังที่สุดของเรา เกิดขึ้นก็เพราะชาวเอสโตเนียต้องการสร้างวิธีสื่อสารแบบไม่ต้องเผชิญหน้ากัน (หัวเราะ) มันฟังเป็นเรื่องขำๆ แต่ก็มีข้อเท็จจริงอยู่บางส่วน

 

ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา e-Government หรือไม่

แน่นอน เพราะว่า e-Government ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย ขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็ช่วยสนับสนุนการพัฒนา e-Government นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดี หรือมีการรักษาความปลอดภัยในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save