fbpx
สี่แนวคิดที่ต้องปรับ ก่อนขยับสู่ไทยแลนด์ 4.0 กับ Viljar Lubi

สี่แนวคิดที่ต้องปรับ ก่อนขยับสู่ไทยแลนด์ 4.0 กับ Viljar Lubi

1.

ที่ผ่านมาหากคุณติดตามบทความใน the101.world มาโดยตลอด อาจพอเห็นชื่อของ ‘เอสโตเนีย’ ประเทศเล็กๆ ทางตอนเหนือของทวีปยุโรปผ่านตาในชื่อบทความของเราอยู่บ้าง (เข้าไปอ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับเอสโตเนียได้ที่นี่)

ไม่ใช่ในแง่ความสวยงามหรือสถานที่เก๋ๆ ชวนให้ไปเที่ยว แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจเอสโตเนียเป็นพิเศษจนต้องหยิบยกมาเล่าอยู่บ่อยครั้งคือ ‘นวัตกรรม’ ที่พวกเขาคิดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและการปกครองผ่านเทคโนโลยี จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปรับตัวเองให้เข้ากับโลกดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ และประสบความสำเร็จจนหลายประเทศทั่วโลกต่างเดินทางมาทัศนศึกษากันถี่ยิบ

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่ารายละเอียดของนวัตกรรมว่าพวกเขาทำอะไรลงไปบ้าง คือ ‘แนวคิด’ ที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของความเป็นเอสโตเนีย จนทำให้ประเทศที่เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อ กลายมาเป็นผู้นำแนวหน้าของการเมืองการปกครองในโลกที่ทุกอย่างกำลังหลอมรวมเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอันไร้พรมแดน

และในฐานะที่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 พยายามจะเดินตามรอยเข้าสู่โลกดิจิทัล สิ่งที่สำคัญกว่ารายละเอียดยิบย่อย คือคำถามที่ว่า แล้วแนวคิดของพวกเรา (และภาครัฐ) ได้ปรับให้รับกับการเปลี่ยนแปลงแบบชาวเอสโตเนียแล้วหรือยัง

 

 

2.

“มีใครในที่นี้เคยได้ยินชื่อหรือเคยไปเที่ยวเอสโตเนียบ้างมั้ยครับ” Viljar Lubi ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการสื่อสารจากเอสโตเนียตั้งคำถามแรกกับผู้ฟังด้านล่างเวที

“ไม่เป็นไรครับ ไม่โกรธกันอยู่แล้ว ผมเข้าใจเราว่าเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีแค่สองประเทศอยู่ข้างบนคือไอซ์แลนด์กับฟินแลนด์” เขารีบบอกหลังจากเห็นว่าไม่ค่อยมีคนในโรงละครยกมือตอบ “เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในด้านจำนวนประชากรแล้ว เอสโตเนียเป็นประเทศที่เล็กมาก มากจนเราต้องสร้าง ‘ความแตกต่าง’ ให้โดดเด่นออกมา” Viljar อธิบาย

ปฏิบัติการสร้างความแตกต่างที่ว่า เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่การแยกตัวออกมาเป็นอิสระหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เพราะก่อนหน้านั้น เอสโตเนียเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดในภูมิภาค แม้แต่ฟินแลนด์ก็ยังเทียบไม่ติด แต่หลังจากออกมาเป็นประเทศเดี่ยว เศรษฐกิจที่เคยดีก็เริ่มถดถอยลง จนพวกเขาต้องตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงระบบทุกอย่างกันแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในตอนนั้นคือเรารื้อสิ่งเก่าๆ ออกหมดเลยครับ นักการเมืองเก่าๆ ก็โละออกยกแผง ในตอนนั้นนายกฯ คนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งอายุแค่ 32 เท่านั้นเอง บรรดารัฐมนตรีเอย ข้าราชการเอย นักการทูตเอย ทุกคนเป็นคนหนุ่มสาวกันหมด” เขาเล่า “นโยบายเศรษฐกิจที่เอามาใช้ในตอนนั้นจะเรียกอีกอย่างว่าเป็น ‘Shock Therapy’ ก็ได้ครับ เราลดการถือครองทรัพย์สินของรัฐบาล แปลงให้เป็นของเอกชนจนเกือบหมด

“เราเลือกที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองใหม่หมดตั้งแต่หลังแยกตัวออกมา ทั้งที่องค์กรใหญ่ๆ อย่าง IMF บอกว่าไม่ควรทำนะ แต่เพราะตอนนั้นพวกเราคิดกันว่าถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ สิ่งที่ต้องทำคือทำอะไรให้ ‘แตกต่าง’ ต้องพยายามหาช่องทางลัดในการทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้” Viljar บอกกับผู้ฟัง

Mart Laar คือชื่อของนายกฯ หนุ่มวัย 32 คนนั้น ตำแหน่งก่อนหน้าที่จะเข้ามาบริหารประเทศของมาร์ท คือการเป็นนักประวัติศาสตร์ (ที่ศึกษาแนวคิดทุนนิยมเสรีจากหนังสือ Free to Choose ของนักเศรษฐศาสตร์ Milton Friedman มาปรับใช้) เมื่อเห็นว่าประเทศต้องการเปลี่ยนแปลง และประเทศเพื่อนบ้านทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ต่างก็นำหน้าไปไกล มาร์ทจึงตัดสินใจนำเอสโตเนียเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจการเมืองอย่างที่ว่า และการเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ EU เข้าเป็นสมาชิก NATO ฯลฯ

“เป้าหมายของเอสโตเนียตอนนั้นคือเราอยากจะเป็นอีกหนึ่งประเทศนอร์ดิกที่รวยๆ น่าเบื่อๆ เหมือนคนอื่น พวกคุณจะใช้คำอะไรมาเรียกก็ได้นะครับ แต่เราอยากจะเป็นอย่างนั้น และเราก็ทำสำเร็จแล้วด้วย” ผู้ช่วยรัฐมนตรีหนุ่มกล่าวติดตลก

ความกล้าหาญในการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง, เลือกหาจุดที่จะสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง, ทำให้เร็ว คือปัจจัยสามอย่างที่ทำให้เอสโตเนียกลายเป็นอย่างทุกวันนี้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ‘ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง’ ต่างหาก เป็นสิ่งที่ Viljar เห็นว่าสำคัญที่สุด

 

 

 

3.

“มีสี่แนวคิดหลักที่ผมอยากฝากเอาไว้ในการพูดครั้งนี้” เขาเริ่มเข้าประเด็น ข้อแรก, ลองคิดไอเดียนโยบายที่ไม่ตีกรอบตัวเองด้วยข้อจำกัดทางขนาดและที่ตั้งของประเทศ

สาเหตุที่เอสโตเนียกลายเป็นประเทศเล็กๆ ที่ทันสมัยที่สุดแห่งยุค เริ่มต้นขึ้นจากความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของเอกชนจากไอเดียตั้งต้นสามประการ นั่นคือพยายามทำทุกอย่างให้ง่ายดายที่สุด (ระบบภาษีของเอสโตเนียเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายมาก) ระบบการเมืองการปกครองที่โปร่งใส และสุดท้ายคือพยายามทำให้ออกแบบระบบต่างๆ ให้ใช้แล้วเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นั่นจึงเป็นที่มาของการผลักดันแนวคิด e-Estonia ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อเป็น ‘หนทางที่ไวที่สุด’ ในการพัฒนาประเทศ หลอมรวมพลังเทคโนโลยีเข้ากับความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองมาตั้งแต่ยุคที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นของใหม่ ตั้งแต่ยุคหลายคนยังนึกไม่ออกว่านวัตกรรมแห่งมนุษยชาติชิ้นนี้จะเอามาเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร

“ในตอนนั้นเราทำมันทั้งๆ ที่ไม่ได้มีใครในประเทศคิดว่าจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตเลยครับ” Viljar เล่า “แต่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่ ‘ทุกคน’ จะต้องเข้าถึง นโยบายของเราในช่วงกลางทศวรรษ 90s จึงกำหนดให้ทุกโรงเรียนในเอสโตเนียต้องเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต เด็กนักเรียนทุกคนต้องเข้าถึงได้”

การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ในเอสโตเนียก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาจากรากฐานที่มั่นคง ทั้งระบบบัตรประชาชนแบบชิปที่ใช้ยืนยันตัวตนใช้งานระบบราชการต่างๆ ที่ตอนนี้พัฒนาจนย้ายมาอยู่ในมือถือแล้ว, ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนที่ชื่อว่า Xroad, การเลือกตั้งออนไลน์, ระบบฐานข้อมูลสาธารณสุขของประชาชน, ระบบการขอข้อมูลครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องถ่ายเอกสารบัตรประชาชนซ้ำซ้อนเหมือนเรา และบริการอื่นๆ ที่ทำให้ชาวเอสโตเนียแทบจะไม่ต้องออกจากบ้านไปทำธุระทางราชการให้เสียเวลา

(ว่ากันว่าการใช้ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบทำให้ชาวเอสโตเนียประหยัดเวลาจัดการนั่นนี่ไปได้ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อปีเชียว!)

แต่ความก้าวหน้าแสนไฮเทคที่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ารัฐบาลเอสโตเนียเลือกจะพัฒนามันด้วยตัวเอง

“สิ่งที่สำคัญมากๆ เลยในตอนที่รัฐบาลเริ่มสร้างระบบนี้ขึ้นมา คือเราทำไปพร้อมๆ กับความร่วมมือของภาคเอกชน เกือบทั้งหมดของระบบ e-Government ในเอสโตเนียไม่ได้รันโดยรัฐบาลเลยครับ เราเอาท์ซอร์สให้กับเอกชนทั้งนั้น ถ้าเราอยากได้ระบบแบบไหน ก็ให้ฝั่งเอกชนลองเสนอไอเดียกันมา

“ที่เราทำแบบนี้ก็เพราะมันจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม IT ในเอสโตเนียให้เติบโตเรื่อยๆ และอีกข้อก็คือ ที่เราสร้างระบบ e-Government ขึ้น ก็เพราะรัฐบาลอยากจะ ‘สื่อสาร’ กับภาคเอกชนและประชาชนให้ดียิ่งขึ้น พอเรามีเป้าหมายอย่างนั้น การได้ไอเดียใหม่ๆ จากฝั่งเอกชนก็หมายถึงทุกคนที่ต้องใช้งานระบบนี้จะเข้าใจมันไปในทิศทางเดียวกัน นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ครับ” เขาอธิบายเสริม

ความร่วมมือกับฝั่งผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์กลับมาเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อรักษาความมั่นคงไซเบอร์ของประเทศอีกต่างหาก

แน่ล่ะ, ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบที่ทำงานเชื่อมต่อกันในอากาศ โอกาสที่จะเป็นเป้าหมายของเหล่าแฮ็กเกอร์สายมืดย่อมมีไม่น้อย แต่ข้อดีของระบบ Xroad ที่รัฐบาลทำร่วมกับเอกชน คือมันกลายเป็นระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนเสียจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่การโจมตีเซิร์ฟเวอร์แค่เครื่องเดียวจะทำให้ระบบล่ม (เมื่อไม่นานมานี้เอสโตเนียเพิ่งร่วมมือกับประเทศลักเซมเบิร์กเพื่อสร้าง ‘Data Embassy’ แห่งแรกของโลก ไว้ใช้แบ็คอัพข้อมูลทั้งหมดของประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง)

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เอสโตเนียเป็นประเทศแรกที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่รุนแรงจนเรียกขานกันว่าเป็น ‘Web War One’ โดยกลุ่มรัสเซียพื้นเมืองในประเทศ อินเทอร์เน็ตถูกโจมตีจนใช้การไม่ได้ สำหรับชาวเอสโตเนีย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหมือน 9/11 ของพวกเขา

“มองอีกแง่นึง เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะมันทำให้เราช่วยกันผลักดันทั้งด้านนโยบายรัฐและลงทุนกับการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยให้ดีขึ้น

“ตอนนี้เรามีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ แต่ไม่ได้มาจากฝั่งรัฐอย่างเดียว เพราะทั้งกลุ่มสถาบัน บริษัทโทรคมนาคม ธนาคาร และบริษัท IT ต่างๆ ก็เข้ามาร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ เพื่อทำให้ความปลอดภัยในระบบข้อมูลของประเทศมั่นคงมากยิ่งขึ้น” Viljar อธิบาย

ทั้งหมดทั้งมวล ด้วยวิสัยทัศน์ของเอสโตเนียที่มองก้าวไปในอนาคตด้วยการไม่ขังตัวเองในข้อจำกัดของจำนวนประชากร ขนาด และตำแหน่งแห่งที่ของประเทศ มองก้าวไปข้างหน้าว่าจะทำอะไรให้เอสโตเนียก้าวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นโยบาย e-Estonia ถูกพัฒนาด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจนเติบโตมาถึงปัจจุบัน

 

 

4.

‘ก็เอสโตเนียเล็กขนาดนี้ จะวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทำระบบอะไรก็ง่ายล่ะสิ’ คุณอาจตั้งข้อสงสัย

เหมือน Viljar จะรู้ว่าหลายคนมีคำถามนี้อยู่ในใจ “ข้อที่สอง, อุปสรรคทั้งหลายเป็นสิ่งที่เราทึกทักในใจเอาเอง บางอย่างอาจจะดูยาก แต่ก็แก้ได้ด้วยกลไกการเมือง มันไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ถาวรตลอดไปหรอกครับ

“ที่เอสโตเนีย เราเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ ปัญหาคาราคาซังจากอดีตไม่ค่อยมี สิ่งที่ทำให้เราก้าวไปต่อ พัฒนากันไปได้เรื่อยๆ คือพยายามเปิดใจให้กว้าง รับจินตนาการ แนวคิดใหม่ๆ อย่างเต็มที่” เขาบอก “ถ้าเอสโตเนียมีประชากรล้านกว่าคน เราเอาท์ซอร์สระบบ e-Govenment ให้เอกชนทำ ลองบอกผมหน่อยว่าบริษัทเอกชนไหนที่เห็นว่าล้านคนจะได้ประโยชน์มากกว่า 70 ล้านในไทย”

“เขาไม่มองว่ามันทำไม่ได้หรอกครับ มันคือความท้าทายให้คนในบริษัทลองสร้างอะไรใหม่ๆ ซะด้วยซ้ำ”

อีกปัญหาของการผลักดันให้ทุกอย่างในประเทศไปสู่ระบบดิจิทัล คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมันว่ารัฐจะไม่ทำตัวเป็น ‘พี่เบิ้ม’ คอยสอดแนมข้อมูลของประชาชนเสียเอง จะเลือกฝากข้อมูลของตัวเองไว้กับรัฐ หรือจะฝากไว้กับบรรดาบริษัทเอกชน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเอสโตเนียคิดไว้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำนโยบาย e-Estonia

ชาวเอสโตเนียเลือกที่จะ ‘เชื่อใจ’ รัฐบาลมากกว่า ด้วยระบบตรวจสอบที่รัดกุม และความโปร่งใสของระบบที่ประชาชนตรวจสอบได้ ถ้าข้อมูลไหนที่รู้สึกว่าทำไมรัฐต้องเอาไปใช้หรือเก็บไว้ทั้งที่ไม่จำเป็น ประชาชนก็สอบถามเหตุผลได้ และสั่งให้ทำลายข้อมูลนั้นทิ้งได้ทันที

นี่คือการใช้กลไกการเมืองในการแก้ ‘อุปสรรค’ ที่เราอาจจะ ‘คิดกันไปเอง’

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้กลไกการเมืองเข้าไปแก้อุปสรรคคือในตอนนี้เอสโตเนียกำลังดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ที่มีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองและออกกฎหมายของกลุ่มอียู

“สิ่งที่เราต้องการผลักดันจากการได้เป็นประธานคณะมนตรีครั้งนี้คือการสร้าง ‘Digital Single Market’ ที่ข้อมูลสามารถไหลไปมาระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี” Viljar เล่าเป้าหมายของพวกเขา “ลองคิดดูว่าถ้าเรามีรถ Self-Driving ที่จดทะเบียนในเอสโตเนีย พอขับข้ามไปอีกประเทศ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา จริงๆ แล้วรถควรจะส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานช่วยเหลือฉุกเฉินของประเทศนั้นได้เองเลยใช่มั้ยครับ แต่ตอนนี้เราทำไม่ได้ เพราะข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ยังข้ามไปมาระหว่างประเทศไม่ได้เลย”

 

5.

ข้อที่สาม, จงคิดนอกกรอบ Viljar ย้ำ “ไม่มีอะไรในเอสโตเนียที่ดังจากการ ‘ลอก’ ครับ การคิดนอกกรอบจะทำให้คุณหาเส้นทางไปต่อที่ง่ายที่สุดและดีที่สุด เพราะมันเป็นไอเดียที่ไม่ซับซ้อนไง”

เขายกตัวอย่างบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ในโลกปัจจุบันอย่าง Airbnb, Alibaba หรือ Uber ทั้งหมดล้วนเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง ไม่ต้องสร้างที่พัก ไม่ต้องมีโกดังเก็บของ ไม่ต้องมีอู่รถยนต์ แต่ก็สร้างรายได้อย่างมหาศาล

แล้วทำไมเอสโตเนียจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้?

“ในเมื่อเรามีระบบ e-Government ที่แข็งแรง ทำไมไม่ลองขยายขนาดดูล่ะ… เอสโตเนียจะเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยที่ไม่ต้องมีพลเมืองของตัวเองเลย – นั่นคือเป้าหมายของเรา

“และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการ e-Residency ครับ”

เราคงไม่ต้องอธิบายขยายความเป้าหมายใหญ่ของประเทศเล็กๆ แห่งนี้กันให้มากความ (เข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ ธีรภัทร เจริญสุข อธิบายไว้อย่างละเอียดยิบได้ที่นี่) แต่เอาเป็นว่าในโลกที่เขตแดนเป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์ take it very seriously ความฝันของเอสโตเนียครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเขาขังความคิดเอาไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมแบบเดิมๆ

 

 

6.

สุดท้าย, อย่าหยุดที่จะพัฒนาด้วยเวลาใกล้จะหมดลง ชายหนุ่มวัย 40 บนเวทีเริ่มขมวดสรุป

“ชีวิตของผมขับเคลื่อนด้วยความขี้สงสัย ผมชอบออกไปเรียนรู้ มองดูโลกข้างนอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามัวแต่พายเรือในสระแคบๆ ของตัวเอง มันก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรหรอกครับ ผมจะบอกอยู่เสมอว่าคุณต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้จากโลกรอบๆ คนรอบๆ ตลอดเวลา ที่ผมมาที่นี่วันนี้ก็เพราะผมอยากเรียนรู้เหมือนกัน

“สำคัญที่สุด อย่ามัวแต่เรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นทำอย่างเดียว แต่ต้องสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นของคุณเองด้วย เพราะความแตกต่างระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จน้อยหรือมาก อยู่ที่การเอาไอเดียไปปรับใช้ในโลกความเป็นจริงต่างหากล่ะ” Viljar สรุปจบก่อนลงจากเวที

ถึงผู้ช่วยรัฐมนตรีหนุ่มจะบอกว่าตัวเองมาที่นี่เพื่อเรียนรู้ แต่พวกเราชาวไทยที่เป็นทั้งผู้ฟัง ผู้เรียน ผู้อาศัยในดินแดนแสนกว้างใหญ่

พร้อมกันแค่ไหนที่จะนำสี่แนวคิดจากประเทศเล็กๆ แห่งนี้ไปใช้จริง?

 

ดูคลิปฉบับเต็มได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save