fbpx

บทบาททางการเมืองของกองทัพประชาชนเวียดนาม: ข้อโต้แย้งว่าด้วยพลเรือนเป็นใหญ่

ที่มาภาพปก Lahuutrung

“พรรคต้องชี้นำยุทธศาสตร์ทางทหาร, (กองทัพ) ยึดมั่นกับประชาชน เพราะประชาชนคือพลังของทหาร”

                                                                              โฮจิมินห์

 

เมื่อพูดถึงบทบาทของทหารกับการเมืองโดยทั่วไปแล้ว เรามักจะนึกถึงแนวคิด ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ (Civilian Supremacy) ซึ่ง Samuel Huntington นักรัฐศาสตร์อเมริกันบอกว่า หมายถึงการที่ทหารต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของพลเรือน แนวคิดนี้พัฒนาขึ้นหลังศตวรรษที่ 18 เพราะก่อนหน้านี้หลายประเทศในโลก กษัตริย์จะเป็นผู้ควบคุมกองทัพ ต่อเมื่อมีการพัฒนาระบบการเมืองแบบรัฐสภาขึ้นมาแล้ว สมาชิกรัฐสภาซึ่งตระหนักว่าตัวเองรับอาณัติมาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ก็ต้องการดึงอำนาจจากกษัตริย์เพื่อควบคุมกลุ่มคนที่เข้มแข็ง (เพราะมีอาวุธอยู่ในมือ) และมีการจัดตั้งดีที่สุดคือกองทัพมาไว้ในมือผู้แทนประชาชน

ในคำของฮันติงตันเอง คำว่าพลเรือนหมายถึงรัฐสภามากกว่าอย่างอื่น “เพราะกษัตริย์ก็เป็นพลเรือนเหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละ พวกรัฐสภาจึงต้องการอำนาจในการควบคุมกองทัพ มากกว่าจะให้พลเรือนทั่วไปเป็นคนควบคุมคนถือปืน”[1] หลักใหญ่ใจความของแนวคิดนี้คือ ต้องการให้ (ผู้แทน) ประชาชนควบคุมกองทัพ ไม่ปล่อยให้กองทัพมีอำนาจควบคุมประชาชน เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

ในขณะที่หลายประเทศอย่างไทย กษัตริย์ยังไม่ได้ละวางอำนาจการควบคุมกองทัพ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญและมีรัฐสภามาเป็นเวลาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในการควบคุมกองทัพจากกษัตริย์จึงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แต่ในหลายประเทศอย่างในกรณีของเวียดนามดังที่จะได้นำเสนอในบทความนี้ กองทัพสมัยใหม่ไม่ได้ถือกำเนิดจากกษัตริย์มาแต่ต้น หากแต่เป็นกองทัพที่สร้างขึ้นจากขบวนการปฏิวัติประชาชน (ในที่นี้ขอหลีกเลี่ยงคำว่าการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพเพราะต้องการเน้นเรื่องทหารเป็นสำคัญ) ซึ่งมาจากหลายหลายอาชีพ เช่น ชาวนา คนงาน ปัญญาชน อาจจะมีทหารในกองทัพแห่งชาติแปรพักตร์มาบ้างแต่ไม่ใช่องค์ประกอบหลัก ผู้นำการปฏิวัติหลายคนเช่น เหมา เจ๋อตุง ปฏิเสธทหารรับจ้างเพราะพวกนี้ไม่มีอุดมการณ์ ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า พลเรือนคือพรรคคอมมิวนิสต์สามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่เริ่มต้น

แต่ต่อมาเมื่อกองทัพปฏิวัติยึดอำนาจรัฐได้แล้ว มีการจัดโครงสร้างอำนาจหน้าที่กันชัดเจนมากขึ้น กองทัพประชาชนประกอบไปด้วยทหารอาชีพ (คือคนที่เลี้ยงชีพด้วยการเป็นทหาร) เหมือนกับกองทัพอื่นๆในโลก คำถามคือ กองทัพประชาชนเวียดนามมีความสัมพันธ์กับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเรือนอย่างไร หรือจะถามให้ตรงกว่านั้น ในฐานะทหารอาชีพ กองทัพเวียดนามมีบทบาททางการเมืองหรือไม่และอย่างไร

ผู้ที่ศึกษาเรื่องเวียดนามยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันนักเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพเวียดนามในทางการเมืองและความสัมพันธ์กับพลเรือน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในการสถาปนาแนวคิดพลเรือนเป็นใหญ่ เพราะยังไม่เคยมีสักครั้งนับแต่ก่อตั้งกองทัพประชาชนเวียดนามเมื่อปี 1946 ที่ทหารเวียดนามจะเข็นรถถังออกมายึดอำนาจในการปกครอง คงเป็นเรื่องที่ประหลาดมากที่จะเห็นนายทหารอาวุโสของกองทัพเวียดนามแสดงความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งรวมทั้งผู้เขียนบทความนี้เองเห็นว่าแนวคิดพลเรือนเป็นใหญ่แบบที่ฮันติงตันว่านั้นไม่เคยมีอยู่ในระบอบสังคมนิยม ถ้าเราลองมองจากมุมของฮันติงตัน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ให้กำเนิดกองทัพ เปรียบไปแล้วก็คือกษัตริย์ หลังการปฏิวัติสถาปนาระบอบสังคมนิยมแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ปล่อยมือจากการควบคุมกองทัพ และประการสำคัญ — ใครคือ ‘พลเรือน’ ที่จะแย่งอำนาจการควบคุมกองทัพ ในเมื่อระบบรัฐสภาก็เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่อยู่ใต้อาณัติพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งก็เป็นแต่เพียงกลไกที่อยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ดี

Carlyle Thayer[2] ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเวียดนามศึกษาชี้ว่าแนวคิดเรื่องพลเรือนเป็นใหญ่ คือการให้พลเรือนควบคุมกองทัพทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในเวียดนาม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนที่ชัดแจ้งที่สุดจะเกิดขึ้นแต่เฉพาะภายในคณะกรรมาธิการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกนั้นแล้วความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับองคาพยพอื่นของเวียดนามไม่ค่อยชัดเจนนัก รัฐสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการถ่วงดุลหรือตรวจสอบกองทัพ อีกทั้งกองทัพประชาชนเวียดนามนั้นมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่ป้องกันประเทศ รักษาความมั่นคงภายใน ไปจนถึงทำธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจ

บทความนี้ต้องการที่จะทำความเข้าใจเรื่องบทบาททางการเมืองของกองทัพประชาชนเวียดนาม โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและกองทัพประชาชนเวียดนามเป็นสำคัญ เพื่อโต้แย้งว่า แท้จริงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่พลเรือนเป็นใหญ่อยู่แล้ว มีอำนาจในการบังคับและกำหนดฐานะบทบาททางการเมืองกองทัพเวียดนาม ทหารเวียดนามไม่จำเป็นต้องแสวงหาอำนาจในทางการเมือง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ให้สิทธิพิเศษนั้นเอาไว้แล้ว 

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพประชาชน

หากจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของกองทัพเวียดนาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลหรือรัฐสภา เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองทั่วไป แต่เป็นหน่วยการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้ให้กำเนิดความเป็นรัฐในระบอบสังคมนิยมในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์  การก่อกำเนิดและจารีตแบบสังคมนิยม อาจจะกล่าวได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพประชาชนมีความสัมพันธ์กันแบบ symbiotic คือเสมือนหนึ่งร่วมชีวิตกันมาตั้งแต่กำเนิด รัฐธรรมนูญเวียดนามฉบับปัจจุบันกำหนดว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพ กองทัพมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของรัฐ คุ้มครองบูรณภาพแห่งดินแดน ประชาชน และพรรคคอมมิวนิสต์ 

เอกสารทางการที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสองชัดเจนที่สุดคือสมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศซึ่งออกมาทุก 10 ปี โดยฉบับที่ใช้ในปัจจุบันคือ 2019 Vietnam National Defense ซึ่งออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า “พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีหน้าที่สมบูรณ์ โดยตรง และรอบด้านเหนือกองทัพประชาชนเวียดนาม และอำนาจเช่นว่านั้นรวมศูนย์อยู่ที่กรรมการศูนย์กลางพรรค โดยกรมการเมือง และกองเลขาธิการเป็นผู้ใช้อำนาจผ่านกลไกของพรรค หน่วยการเมือง หน่วยบัญชาการและเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ”[3]

องค์กรภายในพรรคที่มีอำนาจควบคุมกองทัพโดยตรงคือ คณะกรรมาธิการทหารศูนย์กลางพรรค (Central Military Commission) คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะได้รับคัดเลือกจากกรมการเมือง (Politburo) โดยสมาชิกจะมาจากคณะกรรมการพรรคทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ทำหน้าที่เป็นประธานของคณะกรรมาธิการทหาร 

อำนาจหน้าที่สำคัญของคณะกรรมาธิการทหารคือ บังคับบัญชากองทัพในทุกพื้นที่ ให้คำแนะนำแก่กรมการเมือง และสำนักเลขาในกิจการทหาร ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังบังคับบัญชากรมใหญ่การเมือง (General Political Department) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านการเมืองของกองทัพประชาชนเวียดนาม และกรมใหญ่การเมืองนี่เองที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดให้ทำหน้าที่ในทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน โดยให้มีอำนาจกำหนดทิศทาง สั่งการ บังคับบัญชา ตรวจสอบทุกหน่วยในกองทัพ ทำหน้าที่สร้างพื้นฐานของพรรคในเหล่าทัพ ดูแลกำลังพล โฆษณาทางการเมือง (political propaganda) ให้การศึกษาอบรมทางด้านอุดมการณ์ ดูแลความมั่นคงทางทหารและระดมมวลชน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกกองทัพ เช่น สหภาพเยาวชน สหภาพแรงงาน สหภาพสตรี รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐในกิจการต่างๆ อันเกี่ยวกับพรรคและกองทัพอีกด้วย หน้าที่สำคัญที่จะต้องทำในส่วนนี้ เช่น สร้างกองกำลังประชาชนติดอาวุธหรือทหารอาสา (militia) กองกำลังป้องกันตนเองและกำลังสำรอง อีกทั้งกรมใหญ่การเมืองยังมีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องการสืบสวนสอบสวนและงานยุติธรรมภายในกองทัพอีกด้วย

กล่าวโดยทั่วไป กรมใหญ่การเมืองคือกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ฝังตัวอยู่ในกองทัพ เพื่อทำหน้าที่ทั้งควบคุมและปลูกฝังอุดมการณ์ Marxist-Leninist ชี้นำทิศทางและนโยบายการเมือง ให้กับกำลังพลในกองทัพ ทหารอาสา กองกำลังป้องกันตนเองและกำลังสำรอง ทำสงครามจิตวิทยา (และรวมตลอดถึงปฏิบัติการข่าวสารข้อมูล—information operation) ตอบโต้กองกำลังภายนอก ซึ่งในหลายกรณีหมายรวมถึงประชาชนเวียดนามเองที่อาจจะมีแนวคิด ‘ออกนอกลู่นอกทาง’ หรือต่างไปจากอุดมการณ์หลักของชาติด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนา ศาสตร์และศิลปะแห่งสงคราม (military art and science) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทหารอีกด้วย

พรรคคอมมิวนิสต์สามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จเพราะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง (political commissars) และหน่วยการเมืองอยู่ทั่วไปตั้งแต่กรมกองทหารต่างๆ ไปจนถึงกองบัญชาการระดับภาค หน่วยทหารตั้งแต่ระดับกองร้อยขึ้นไปจะต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองประจำเพื่อทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กรมใหญ่การเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วคือทำหน้าที่แทนพรรคคอมมิวนิสต์ในการควบคุมกำลังพล บรรดาผู้บัญชาการทหาร ผู้บังคับหน่วย เจ้าหน้าการเมืองทั้งอาวุโสและชั้นต้น จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์มอบหมาย ประเด็นที่จะต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษในที่นี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บัญชาการทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองคือผู้ประสานงาน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ในแง่นี้แสดงให้เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ยังให้อำนาจกองทัพเอาไว้ระดับหนึ่งและฝ่ายการเมืองทำหน้าที่ในการดุลอำนาจนั้นไปด้วยในตัว

บทบาทการเมืองแปรตามสถานการณ์ความมั่นคง

ในความสัมพันธ์ที่เสมือนหนึ่งว่า กองทัพอยู่ใต้บังคับบัญชาและฟังคำสั่งพรรคคอมมิวนิสต์แต่ฝ่ายเดียวนั้น ถ้ามองในแนวรัฐศาสตร์กระแสหลักแล้ว ทหารและกองทัพถือได้ว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มกดดันทางการเมืองที่มีอิทธิพลมาก ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เองก็มีกฎเกณฑ์และประเพณีในการเปิดพื้นที่ให้ทหารเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของประเทศ โดยยอมรับให้นายทหารผู้แทนกองทัพเข้าไปนั่งเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคและในส่วนชั้นในสุดของศูนย์กลางอำนาจคือกรมการเมือง และมีสิทธิในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค อีกทั้งเมื่อได้มีตำแหน่งในพรรคแล้วก็จะมีตำแหน่งในฝ่ายบริหารคือกระทรวงกลาโหมไปด้วยเกือบจะเป็นอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็เป็นช่องทางให้ทหารและกองทัพผลักดันวาระและผลประโยชน์ของตัวเองได้ อำนาจและบทบาทแบบนี้ของกองทัพมีขึ้นมีลงตามสถานการณ์ของภูมิภาคและของโลก

หลังยุคปฏิรูปโด๋ยเม่ย เพื่อเปิดกว้างในระบบเศรษฐกิจในช่วงสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 6 ในปี 1986 แล้วกองทัพถูกลดบทบาทและงบประมาณลงมาก โดยเฉพาะหลังการถอนทหารจากกัมพูชาในปี 1989 แล้วเวียดนามต้องลดกำลังพลลงมากกว่าครึ่งและไม่มีบทบาทอะไรมากนักในพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อเปิดทางให้ผู้นำสายปฏิรูปเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด นำพาประเทศสู่กระแสเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัว 

กระทั่งสมัชชาครั้งที่ 8 ในปี 1996 ระหว่างที่โด๋ เหมื่อย ผู้นำหัวอนุรักษ์ กุมบังเหียนในพรรคและเห็นว่าเวียดนามเปิดกว้างเกินไป เร็วเกินไป กองทัพจึงได้ฟื้นฟูบทบาทในการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีนายพลจากกองทัพ 2 คนได้รับคัดเลือกให้เข้าไปนั่งในกรมการเมืองที่มีสมาชิกทั้งหมด 19 คน ในครั้งนั้นมีการยุบกองเลขาธิการพรรคที่ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลที่สุดในพรรคทิ้งไป และตั้งคณะกรรมการประจำกรมการเมืองขึ้นมาแทน โดยคนทำงานในคณะกรรมการนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของทหาร[4] และคณะกรรมการชุดนี้มีอิทธิพลมากหลังจากที่ พลเอก เล ขา เฟียว (Lê Kha Phiêu) อดีตหัวหน้ากรมใหญ่การเมืองของกองทัพ ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในปี 1997 แทนโด๋ เหมื่อยที่นั่งในตำแหน่งสมัยที่สองได้เพียงปีเดียว

แต่หลังจากหมดยุคของเล ขา เฟียว ในสมัชชาครั้งที่ 9 ปี 2001 อิทธิพลของกองทัพในพรรคคอมมิวนิสต์ลดลงอย่างมาก มีนายทหารเพียง 1 คน จากเดิม 2 คน (โปรดดูตาราง) ได้เป็นสมาชิกกรมการเมือง จำนวนทหารในกรรมการกลางพรรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 17 ใน 170 ในสมัยเล ขา เฟียวลดลงเหลือ 14 จากจำนวนกรรมการกลาง 150 คน คำอธิบายในตอนนั้นว่าทำไมอยู่ๆ อิทธิพลของทหารจึงลดลงอย่างมาก ด้านหนึ่งเพราะเล ขา เฟียวมีแนวทางอนุรักษนิยมมากเกินไป ในขณะที่ผู้นำคนอื่นๆโดยเฉพาะในสายปฏิรูปมองเห็นความจำเป็นที่เวียดนามจะต้องปรับเปลี่ยนแนวโยบายให้เปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภูมิภาคที่ฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้งและเข้าสู่การพัฒนาในศตวรรษใหม่ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการเปิดเสรีรอบด้านแทนที่จะเน้นเรื่องความมั่นคงทางทหารแบบเก่า

การลงจากตำแหน่งของเล ขา เฟียว สะท้อนข้อเท็จจริงประการหนึ่งของการเมืองเวียดนามคือ แม้ทหารจะมีอาวุธอยู่ในมือ เล ขา เฟียวเองก็เคยเป็นทหารเก่า แต่เขาไม่สามารถใช้อำนาจทางทหารหรือเส้นสายในกองทัพต้านทานผู้นำสายปฏิรูปได้ ระหว่างที่ต่อสู้กันในพรรคนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีทหารในกลุ่มใดในกองทัพตบเท้าสนับสนุนเขาในทางการเมืองเพื่อให้เขาสามารถรักษาอำนาจและตำแหน่งเอาไว้ได้ อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานว่าทหารในกองทัพประชาชนเวียดนามพยายามก่อรัฐประหารเพราะไม่พอใจการเมือง แม้ว่าพวกเขาจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า ‘อำนาจรัฐนั้นสามารถได้มาด้วยกระบอกปืน’ ก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของทหารในกรมการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 13 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 นี่เอง โดยพลเอก ฟาน วัน ซาง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Chief of General Staff) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม และพลเอก เลือง เกื่อง หัวหน้ากรมใหญ่การเมือง ได้เป็นสมาชิกกรมการเมืองพร้อมกัน 2 คน[5]  ในทำนองเดียวกัน จำนวนทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็เพิ่มขึ้นด้วย กล่าวคือ มี 23 จาก 180 คนหรือ 12.8 เปอร์เซ็นต์เป็นทหาร หมายความว่ากองทัพกลายเป็นบล็อกโหวตที่ใหญ่ที่สุดในคณะนำในศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์[6]

ปรากฏการณ์นี้เกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ แรกเลยทีเดียว เกิดจากการแข่งขันระหว่างนายทหารใหญ่ 2 คน ว่ากันตามประเพณีแล้ว เกื่องมีภาษีดีกว่าที่จะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกรมการเมืองเพียงคนเดียว เพราะเขามีอาวุโสสูงกว่าและอยู่ในกองเลขาธิการพรรค ในขณะที่ซางนั้นอ่อนอาวุโส เป็นแค่กรรมการกลางของพรรคธรรมดา แต่เขามีคุณสมบัติที่จะได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมเพราะเป็นทหารในสายบังคับบัญชา (command)ในขณะที่เกื่องนั้นอยู่ในสายการเมือง แต่ความไม่คงเส้นคงวาในเรื่องคุณสมบัติของคนที่จะอยู่ตำแหน่งต่างๆ ในสารบบการเมืองเวียดนามก็เกิดมาตลอด เพราะรัฐมนตรีกลาโหมคนก่อนคือ โง ซวน ลิก ก็มาจากกรมใหญ่การเมือง ไม่ใช่ทหารสายบังคับบัญชาแต่อย่างใด ในที่สุดก็ประนีประนอมกันได้ ด้วยการตัดสินใจเอาไว้ทั้งสองคน โดยซางได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหารด้วย คือเป็นรัฐมนตรีกลาโหมแล้วเลื่อนรองของเขาคือ เหงียน เติ่น เกื่อง ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Chief of General Staff) แทน[7]

ประการที่สอง กองทัพประชาชนเวียดนามมีบทบาทอย่างมากในการทำธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจ มีรัฐวิสาหกิจจำนวนมากและเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อความมั่นคงอยู่ในการควบคุมและบริหารของกองทัพ ธุรกิจหลายอย่าง เช่นโทรคมนาคม ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากและกำลังจะกลายเป็นจุดผลักดันให้เวียดนามไปสู่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศในระดับภูมิภาค จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า กองทัพจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในส่วนการนำของพรรคคอมมิวนิสต์

ประการที่สาม ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเวียดนามอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลี่ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีนและฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศในระบอบสังคมนิยมโน่นเลยทีเดียว แต่ปัญหาในยุคปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เมื่อจีนเริ่มการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในทางทหารได้ ถึงปัจจุบันจีนมีสิ่งปลูกสร้าง 20 แห่งบนหมู่เกาะพาราเซล 7 แห่งบนหมู่เกาะสแปรตลี่ ถมทรายสร้างเกาะเทียมเป็นพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ จนทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างกัน เวียดนามเองก็สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคล้ายๆ กันในหมู่เกาะสแปรตลี่เช่นกัน ปัจจุบันเวียดนามมีสิ่งปลูกสร้างประมาณ 50 แห่งทั่วหมู่เกาะ โขดหิน เนินทราย 27 แห่งในทะเลจีนใต้ อีกทั้งได้อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ใหม่ๆ ในบริเวณนั้นอีกด้วย การกระทบกระทั่งกันในพื้นที่พิพาทเกิดขึ้นเสมอๆ ในระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

ขยายแสนยานุภาพ

นับแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เวียดนามเริ่มเพิ่มงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) และธนาคารโลกรายงานว่า งบประมาณทางทหารของเวียดนามเพิ่มจาก 841 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2003 เป็น 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 และนักวิเคราะห์ชาวเวียดนามคาดว่าน่าจะเพิ่มไปถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า[8]  จำนวนทหารเพิ่มขึ้นจาก 495,000 คนในปี 2005 เป็น 522,000 ในปี 2018 ปัจจุบันคาดว่าเวียดนามน่าจะมีกำลังทหารประจำการอยู่ประมาณ 482,500 คน แม้จำนวนทหารจะลดลงมาก แต่งบประมาณไม่ได้ลดลง เพราะเวียดนามให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศมากกว่า จึงทุ่มเทงบประมาณไปทางนั้นมากกว่าจะเลี้ยงกำลังพลเอาไว้โดยไม่จำเป็น

เพื่อให้การป้องกันน่านฟ้าเหนือทะเลจีนใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กองทัพประชาชนเวียดนามน่าจะต้องมีเครื่องบินรบอย่างน้อย 140 ลำ แต่ปัจจุบันกองทัพอากาศเวียดนามยังมีเพียงเครื่องบินในตระกูล Sukhoi จำนวน 46 ลำซึ่งประจำการมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980, 1990 และ 2000 ตามลำดับ โดยชุดที่ใหม่ที่สุดคือ SU 30MK2 จำนวน 4 ลำในปี 2016 หมายความว่ากองทัพเวียดนามยังมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มแสนยานุภาพทางอากาศอีกมาก

ในส่วนของกองทัพเรือนั้น เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เวียดนามมีเรือดำน้ำชั้น Kilo 6 ลำผลิตในรัสเซีย ทำให้เวียดนามกลายเป็นชาติที่มีเรือดำน้ำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกนั้นมีเรือฟรีเกต 4 ลำ เรือฟรีเกตต่อต้านเรือดำน้ำอีก 5 ลำ[9] กระทรวงกลาโหมของเวียดนามเพิ่งประกาศจัดตั้งหน่วยทหารใหม่ (Permanent Maritime Militia Unit) ที่จังหวัดเคียนซาง เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 เพื่อปฏิบัติการคุ้มครองน่านน้ำทางด้านใต้ในพื้นที่ซึ่งติดกับอ่าวไทย หน่วยนี้มีเรือ 9 ลำพร้อมอุปกรณ์ในการลาดตระเวนและตรวจการ ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของวิทยาลัยการทัพเรือของเวียดนาม ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายนก็เพิ่งตั้งหน่วยปฏิบัติการทางทะเลที่หวุงเต่า จังหวัดชายทะเลทางด้านใต้ของเวียดนามซึ่งเป็นฐานการผลิตแก๊สและน้ำมันที่สำคัญของเวียดนาม[10]

ในบริบทของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้น เวียดนามใช้หน่วยยามฝั่ง (Coast Guard) ในการปฏิบัติการค่อนข้างมาก แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องอธิบายที่นี้คือ กองกำลังยามฝั่งของเวียดนามนั้นพัฒนามาจากตำรวจน้ำเดิมอยู่ภายใต้สังกัดกองทัพเรือ แต่เพื่อให้เป็นการลดภาระกองทัพเรือในยามสันติ และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงมีการปรับเปลี่ยนให้หน่วยยามฝั่งเป็นหน่วยแยกออกจากกองทัพเรือและสังกัดกระทรวงกลาโหมโดยตรง และปรับอีกครั้งในปี 2013 ให้หน่วยยามฝั่งย้ายออกจากกระทรวงกลาโหมไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลโดยตรง (ระดับเดียวกับกระทรวง) และกำหนดให้ยามฝั่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของพลเรือนไม่ใช่ทหาร ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในเขตชายฝั่ง ทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ[11] แต่ก็ยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่กระทรวงกลาโหมและพรรคคอมมิวนิสต์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเล[12] 

ปฏิบัติการของเรือยามฝั่งของเวียดนามเผชิญหน้ากับเรือของจีนในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้อยู่เนืองๆ ภาวะตึงเครียดครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อเรือยามฝั่งของเวียดนามเผชิญหน้ากับเรือสำรวจน้ำมัน Haiyang Dizhi 8 ซึ่งเข้าไปสำรวจทรัพยากรปิโตรเลียมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามอยู่หลายเดือน[13] ปัจจุบัน (ข้อมูลปี 2019) หน่วยยามฝั่งเวียดนามมีเรือลาดตระเวนและเรือตรวจการทั้งเล็กและใหญ่ระวางขับน้ำตั้งแต่ 100-500 ตันทั้งสิ้น 66 ลำ 

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์และความจำเป็นทางยุทธศาสตร์อาจจะทำให้กองทัพประชาชนเวียดนามสามารถเพิ่มสัดส่วนบุคคลกรให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่นั่นก็เป็นไปโดยสอดคล้องกับทิศทางและยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศที่กำหนดโดยพรรคคอมมิวนิสต์ มองในทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังมีอำนาจเหนือกองทัพอยู่ดี ประการสำคัญ การเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของทหารหรือกองทัพเวียดนามนั้นจะแตกต่างจากการแสวงหาอำนาจและบทบาททางการเมืองของทหารในประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ ตรงที่ทหารเวียดนามไม่ได้แสวงหาอำนาจในทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพหรือฝักฝ่ายในกองทัพเป็นหลัก เช่นการเพิ่มงบประมาณทางทหารหรือการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สามารถเกิดขึ้นได้โดยการตัดสินใจตามยุทธศาสตร์ที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดเอาไว้เท่านั้น ไม่ได้เกิดเพราะมีนายทหารเข้าไปนั่งในศูนย์กลางอำนาจของพรรค ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เวียดนามเริ่มเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศ จำนวนกำลังพล และขยายแสนยานุภาพทางทหารมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งในเวลานั้นมีนายทหารแค่คนเดียวไปนั่งอยู่ในกรมการเมือง

ถ้าหากคำว่าพลเรือนเป็นใหญ่เป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาบทบาททางการเมืองของทหาร ในแง่นี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เวียดนามประสบความสำเร็จในการให้ฝ่ายการเมืองควบคุมอำนาจของคนถือปืนได้แน่นอน เพราะสามารถจัดวางและสร้างประเพณีในทางการเมืองไว้ให้กองทัพมานานพอควรแล้ว แต่ถ้าหากคำว่า พลเรือนหมายถึงสมาชิกรัฐสภาหรือนักการเมืองที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง เวียดนามก็ยังไม่มีระบบเช่นว่านั้นก่อรูปร่างขึ้นมาแต่อย่างใด  

ตาราง1 : เปรียบเทียบจำนวนทหารในศูนย์กลางอำนาจพรรคและงบประมาณกลาโหมหลังการปฏิรูป Doi Moi

สมัชชากรมการเมืองเปอร์เซ็นต์กรรมการกลางเปอร์เซ็นต์งบกลาโหม (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ครั้งที่ 6 (1986)2 ใน 1315.49 ใน 1247.31,300
ครั้งที่ 7 (1991)2 ใน 1315.413 ใน 1468.9427
ครั้งที่ 8 (1996)2 ใน 1910.517 ใน 17010.0Na
ครั้งที่ 9 (2001)1 ใน 156.714 ใน 1509.3Na
ครั้งที่ 10 (2006)1 ใน 147.117 ใน 16010.61,287
ครั้งที่ 11 (2011)1 ใน 147.119 ใน 17510.92,687
ครั้งที่ 12 (2016)1 ใน 195.220 ใน 18011.15,017
ครั้งที่ 13 (2021)2 ใน 1811.123 ใน 18012.85,500
ที่มา : รวบรวมโดยผู้เขียน

ตาราง 2: กำลังทหารเวียดนามนับแต่ถอนทหารจากกัมพูชาถึงปัจจุบัน

ปีสถานการณ์กำลังพล
1989ถอนทหารจากกัมพูชา1,250,000
1995เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน622,000
1998หลังวิกฤตการเงินเอเชีย524,000
2007เข้าร่วมองค์การการค้าโลก495,000
2014จีนเริ่มสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้522,000
2021สถานการณ์ปัจจุบัน482,500
ที่มา: Stockholm International Peace Research Institute & Global Fire Power


[1] Samuel P. Huntington. The Soldier and The State: The theory and Politics of Civil-Military Relations. (Cambridge, London: The Belknap Press of Harvard University Press, 1985) p.81

[2] Carlyle Thayer. The political economy of military-run enterprises in Vietnam. In Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat (Eds.) Khaki Capital: The Political Economy of the Military in Southeast Asia. (Copenhagen: NIAS) pp. 130-160.

[3] Ministry of National Defense 2019 Vietnam National Defense (Hanoi, National Political Publishing House, 2019) p.55

[4] David Elliott Changing World. Vietnam’s transition from cold war to globalization (New York: Oxford,2012) p. 221.

[5] “Vietnam: ‘Rare when to army generals are in the Politburo” BBC (Vietnamese Service) 20 February 2021 (https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-56139990)

[6] Le Hong Hiep “The Military Resurging Influence in Vietnam” ISEAS Perspective 27 April 2021 (https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2021/03/ISEAS_Perspective_2021_54.pdf)

[7] Hoang Thuy “Vietnam appoints new chief of general staff” VN Express 3 June 2021 (https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-appoints-new-chief-of-general-staff-4288722.html)

[8] Nguyen The Phuong “Why is Vietnam Military Modernization Slowing?” ISEAS Perspective 22 July 2021 (https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2021/06/ISEAS_Perspective_2021_96.pdf)

[9] Alex Vuving “Tracking Vietnam force build up in the South China Sea” Asia Maritime Transparency Initiative 3 November 2017 (https://amti.csis.org/tracking-vietnams-force-build-south-china-sea/)

[10] Tomoya Onishi “Vietnam expand maritime militia off Southern coast” Nikkei Asia 12 June 2021 (https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/South-China-Sea/Vietnam-expands-maritime-militia-off-southern-coast)

[11] Nguyen Thi Lan Anh and Mai Ngan Ha. “Vietnam Maritime Law Enforcement” Korean Journal of International and Comparative Law(2018) p.174 

[12] Ministry of National Defense 2019 Vietnam National Defense (Hanoi, National Political Publishing House, 2019) p.67

[13] Khanh Vu and James Pearson “Chinese ship back in waters off Vietnam amid coronavirus distraction” Reuters 14 April 2020 (https://www.reuters.com/article/us-vietnam-china-southchinasea-idUSKCN21W0CT)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save