fbpx

เวียดนามยุคที่ 15: ก้าวที่ท้าทายและฝันอันทะเยอทะยาน

ท่ามกลางความท้าทายจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 ความตกต่ำของเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ การเมืองภายในเวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง โดยนับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการกำหนดทิศทางของเวียดนามในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความผันผวน

วันที่ 25 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 13 ซึ่งนอกจากการประกาศนโยบาย ทิศทางและวิสัยทัศน์ของบรรดาผู้นำเวียดนามแล้ว ประเด็นที่สาธารณชนคนเวียดนาม สื่อและนักลงทุนต่างประเทศสนใจ คือการคัดเลือกผู้นำประเทศชุดใหม่สำหรับ 5 ปีข้างหน้า

หากใช้ภาษาการเมืองภายในประเทศเวียดนาม การประชุมสมัชชารอบนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเวียดนามยุคที่ 14 (2559-2564) ไปสู่ยุคที่ 15 (2564-2569) โดยมีการเลือกตั้งตำแหน่งผู้นำสำคัญ 4 ตำแหน่ง หรือ ‘เสาหลักทั้ง 4’  ได้แก่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา ทั้งนี้ไม่นับการเลือกตั้งคณะกรรมการพรรค และคณะกรรมการทางการเมืองของพรรค ซึ่งล้วนแต่เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีส่วนสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองและทิศทางการพัฒนาของประเทศ  

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นานาชาติจะให้ความสนใจการเมืองภายในเวียดนามครั้งนี้เป็นพิเศษ เพราะเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย แม้จะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มาพร้อมกับโควิด-19 แต่เวียดนามก็รับมือได้ดีจนเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ โดยเมื่อปี 2563 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ที่ 2.6%

นอกจากนี้ เวียดนามได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทข้ามชาติหลายแห่งมาสักพักใหญ่แล้ว รวมถึงยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลกอย่างซัมซุงและแอปเปิล

ในการต่างประเทศ เวียดนามคือตำแหน่งยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงในสมรภูมิอินโดแปซิฟิก และกลายเป็นไพ่ใบสำคัญในการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในขณะที่ความสัมพันธ์ของเวียดนามกับทั้งสองมหาอำนาจก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีข้อพิพาทกับจีนเรื่องน่านน้ำอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม

ในแง่นี้ การเปลี่ยนแปลงภายในเวียดนามจึงไม่ใช่เรื่องของเวียดนามเท่านั้น หากแต่ยังมีนัยถึงเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคด้วย ดังนั้นความชัดเจน ความต่อเนื่องและเสถียรภาพภายในจึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายคาดหวัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านออกมาผ่านการเลือกตั้ง ‘เสาหลักทั้งสี่’

ตำแหน่ง ‘เสาหลักทั้งสี่’  นับเป็นจุดเด่นของระบบการเมืองของเวียดนามที่ทำให้เวียดนามต่างจากจีนและเกาหลีเหนือที่มีผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว โดยทั้งสี่เสาหลักของเวียดนามอาศัยการแบ่งอำนาจและช่วยกันบริหารประเทศ

ตำแหน่งที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด และในการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ที่ผ่านมา ที่ประชุมก็มีมติเลือกเหงวียน ฝู จ่อง (Nguyen Phu Trong) ในวัย 76 ปี ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เหงวียน ฝู จ่อง
ที่มา : VIETNAM GOVERNMENT PORTAL
(http://news.chinhphu.vn/Home/Opening-ceremony-of-13th-National-Party-Congress/20211/42761.vgp)

แม้จะมีอายุเกินกว่าอายุขั้นต่ำที่ระเบียบการเลือกตั้งจำกัดไว้ที่ 65 ปี แต่เหงวียน ฝู จ่องก็ได้รับการยกเว้น แม้จะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าเหงวียน ฝู จ่อง ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากคนเวียดนาม ด้วยผลงานหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด หรือที่รู้จักกันในนามนโยบาย ‘เตาไฟระอุ’ (Blazing Furnace) ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากชื่นชอบเขาด้วย

ส่วนเสาหลักอีก 3 ตำแหน่ง เพิ่งปรากฏชัดเจนในการประชุมรัฐสภาเวียดนามเมื่อวันที่ 24 มีนาคม – 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยรัฐสภาได้เลือกเหงวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ซึ่งเพิ่งลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งเป็น ‘กรณีพิเศษ’ แม้จะอายุเกินเช่นเดียวกัน

ประธานาธิบดีเวียดนาม เหงวียน ซวน ฟุก
ที่มา : VIETNAM GOVERNMENT PORTAL
(http://news.chinhphu.vn/Home/Nguyen-Xuan-Phuc-Sworn-In-As-New-State-President-of-Viet-Nam/20214/43390.vgp)

ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหงวียน ซวน ฟุก ได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง เพราะถือเป็นบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด การรับมือโควิด-19 และการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เขาคือผู้ผลักดันให้เวียดนามได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการไม่เป็นทางการของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในวาระปี 2563-2564 ด้วยคะแนนเสียงเกือบทั้งหมด (192/193 คะแนน) นอกจากนี้ ในยุคสมัยของเขา เวียดนามยังมีบทบาทสำคัญในฐานะประธานอาเซียนปี 2563 ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การให้เหงียน ฝู จ่อง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และเหงวียน ซวน ฟุก ขยับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสะท้อนว่า เวียดนามไม่ต้องการให้เกิด ‘ช่องว่างของอำนาจ’ ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญความผันผวน รวมถึงมั่นใจว่านโยบายเศรษฐกิจ การเมือง และนโยบายระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาถือว่า ‘มาถูกทางแล้ว’   

ส่วนตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติ ผู้ที่ได้รับเลือกคือเวือง ดิ่งห์ เหวะ (Vuong Dinh Hue) นักเศรษฐศาสตร์การเงิน อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม เวือง ดิ่งห์ เหวะ
ที่มา : VIETNAM GOVERNMENT PORTAL
(http://news.chinhphu.vn/Home/New-Top-Legislator-Vows-To-Improve-Quality-Effectiveness-of-National-Assembly/20213/43353.vgp)

ก่อนที่จะมารับตำแหน่งนี้ เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการกรรมการพรรคกรุงฮานอย ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยปกติแล้ว ตำแหน่งประธานสภามักเป็นตำแหน่งที่สะท้อนสมดุลอำนาจทางการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์ การที่เวือง ดิ่งห์ เหวะ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาจึงไม่ได้แสดงถึง ‘ความไว้วางใจ’ ของสมาชิกรัฐสภาต่อฐานะใหม่ของเขาเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงสมดุลอำนาจและความเป็นเอกภาพของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามด้วย

ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเสาหลักสุดท้าย สมาชิกสภาลงคะแนนเสียงให้ฝาม มิงห์ ฉิงห์ (Pham Minh Chinh) โดยนักวิเคราะห์การเมืองเวียดนามมองว่า การขึ้นดำรงตำแหน่งครั้งนี้นับเป็นส่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเพณีทางการเมืองของเวียดนามที่น่าสนใจยิ่ง เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักจะเป็นของ ‘ชาวภาคใต้’ และจะต้องเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน การที่ ‘คนภาคเหนือ’ อย่างฝาม มิงห์ ฉิงห์ ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งนี้สะท้อนว่า กลุ่มผู้นำเวียดนามพยายามที่จะลดความสำคัญของปัจจัยเชิงภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองเวียดนามมาตลอด แล้วหันน้ำหนักกับไปให้กับความพร้อมและคุณสมบัติที่จะทำให้เวียดนามพร้อมสำหรับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้มากกว่า

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝาม มิงห์ ฉิงห์
ที่มา :  VIETNAM GOVERNMENT PORTAL
(http://primeminister.chinhphu.vn/news-and-events/new-prime-minister-vows-to-continue-reform-process-in-first-policy-speech-19830.html)

การเลือกฝาม มิงห์ ฉิงห์ ยังสะท้อนว่า เวียดนามจะยังคงเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดและยินดีต้อนรับการทุนจากต่างชาติ เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดกว๋างนิญ (Quang Ninh) และมีผลงานสำคัญคือ การวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองฮาลองให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว จนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก นอกจากนี้ คอการเมืองเวียดนามยังรู้กันดีว่า ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการบุคลากรส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ฝาม มิงห์ ฉิงห์ เป็นหนึ่งในคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบาย ‘เตาไฟระอุ’

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ให้ความสำคัญกับความชัดเจน ความต่อเนื่อง และเสถียรภาพภายในประเทศ นับเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุความฝันอันทะเยอทะยานของเวียดนาม ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2573 เวียดนามจะต้องกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่และมีรายได้ปานกลางสูง และจะต้องกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศ

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ระบบการเมืองและกลุ่มผู้นำประเทศของเวียดนามไม่ถูกตั้งคำถามเลย เหล่าบรรดาผู้บริหารประเทศต่างทราบดีถึงความคาดหวังอันสูงยิ่งของประชาชนคนเวียดนาม โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ที่เติบโตขึ้นมาในยุคใหม่และฝันถึงอนาคตอันรุ่งเรืองของตัวเอง นักวิเคราะห์การเมืองบางส่วนถึงกับบอกด้วยซ้ำว่า ทางเดียวที่รัฐบาลจะตอบโจทย์คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้คือ ต้องทำให้เห็นว่า เวียดนามจะยังไปต่อได้เหมือนที่เคยเป็นมา แม้จะต้องกับเผชิญการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมีความผันผวน ความตึงเครียด และความเข้มข้นสูงก็ตาม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save