fbpx

‘อุปถัมภ์-ค้ำใคร’ ประชาธิปไตยไทยใต้ร่มเงาการเมืองอุปถัมภ์ กับ เวียงรัฐ เนติโพธิ์

‘เจ้าพ่อ’ ‘ผู้มีอิทธิพล’ ‘บ้านใหญ่’ ‘เครือข่าย’ – นี่คือภาพจำของการเมืองท้องถิ่นไทย

แม้ว่าระบบอุปถัมภ์จะผูกโยงอยู่กับการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน แต่เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ชี้ให้เห็นว่า ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของระบบการเมือง

101 สนทนากับ รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง ว่าด้วยพลวัตระบบอุปถัมภ์ในการเมืองและประชาธิปไตยท้องถิ่นไทย

ระบบอุปถัมภ์: ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียม

เพื่อทำความเข้าใจการเมืองภายใต้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (political clientelism) เวียงรัฐให้ภาพใหญ่ว่า ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ถือเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นระบบ เนื่องจากสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในแง่ขนาดหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์

ระบบอุปถัมภ์มีคุณลักษณะและเงื่อนไขเฉพาะหลายประการที่ต่างไปจากการเมืองรูปแบบอื่น ประการแรกคือ สองฝ่ายในความสัมพันธ์ต้องอยู่ในสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ประการที่สอง ต้องมีผู้ให้การอุปถัมภ์ (patron) และผู้รับการอุปถัมภ์ (client) ซึ่งผู้ให้คาดหวังว่าตนจะได้รับการตอบแทนจากผู้รับ ส่วนผู้รับก็คาดหวังว่าจะได้รับการคุ้มครองดูแลจากผู้ให้ ประการที่สาม ความสัมพันธ์ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเท่านั้น หากมีการต่างตอบแทนเพียงครั้งเดียวจะไม่นับว่าเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ประการที่สี่ ความต่อเนื่องและพลวัตความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ขึ้นอยู่กับคุณภาพของความสัมพันธ์  โดยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่มีคุณภาพจะต้องเป็นความสัมพันธ์ที่ผู้รับสิ่งตอบแทนมีอำนาจในการต่อรอง

“สิ่งตอบแทนจะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ว่าจะอยู่ยาวนานไหม เปลี่ยนแปลงเร็วมากน้อยแค่ไหน หรือมีคุณภาพหรือไม่” เวียงรัฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในอุดมคติ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ไม่ควรปรากฏอยู่ในสังคมสมัยใหม่ เพราะสังคมสมัยใหม่เป็นสังคมที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนต้องเท่าเทียมกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางสังคมหรือการรับบริการจากรัฐ ฯลฯ เช่นเดียวกัน ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันบนฐานของความสามารถและการพัฒนาเศรษฐกิจ

เวียงรัฐยังเสริมอีกว่า แม้ว่าการคอร์รัปชันจะไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ แต่บางครั้งการคอร์รัปชันก็อาจเกี่ยวข้องกับการสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ได้เช่นกัน

ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยยุครัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ในประเทศไทย การเมืองท้องถิ่นผูกโยงอยู่กับผู้มีอิทธิพลหรือเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เวียงรัฐอธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คือจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการกระจายอำนาจ ทำให้อำนาจและทรัพยากรไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในระบบราชการหรืออำนาจทางการเมืองจากรัฐส่วนกลาง นำไปสู่ประชาธิปไตยในทุกระดับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้อำนาจและอิทธิพลของผู้มีอิทธิพลหรือเครือข่ายในท้องถิ่นเริ่มสลายลง จากเดิมที่ต้องมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจและมีแหล่งทุน (ซึ่งส่วนมากมาจากธุรกิจสีเทา) พร้อมสำหรับการอุปถัมภ์ช่วยเหลือประชาชนและระดมคนในทางการเมือง เปลี่ยนไปสู่การที่ทุกคนสามารถเป็นผู้มีอิทธิพลได้ ซึ่งเวียงรัฐสรุปว่า หากทุกคนสามารถเป็นผู้มีอิทธิพลได้ ก็เท่ากับว่าไม่มีใครเป็นผู้มีอิทธิพลอีกต่อไป

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเมืองแบบอุปถัมภ์ อันเป็นผลพวงจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คือการใช้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เวียงรัฐกล่าวว่าระบบบริการดูแลสุขภาพคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ เนื่องจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากผู้มีอิทธิพลเพื่อนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาลอีกต่อไป และเมื่อไม่ต้องหยิบยืมเงินจากผู้มีอิทธิพล ก็จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณ อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ต่อไป

นอกจากนี้ นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่ให้แหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าก็ทำให้ประชาชนสามารถหยิบยืมเงินได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงอำนาจของผู้มีอิทธิพลเช่นกัน รวมทั้งการมีหวยบนดินก็ทำให้ธุรกิจหวยใต้ดินที่เป็นธุรกิจสีเทาของผู้มีอิทธิพลมีบทบาทลดลง และคลายล็อกการเมืองบนความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ลง

“นี่คือผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายและนำลงไปปฏิบัติได้”

“ในทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิงหรือทันทีที่มีการออกกฎหมาย แต่เราจะเห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และการเติบโตขึ้นของการเมืองเชิงนโยบายผ่านการเลือกตั้ง ถ้าการเมืองแบบนี้ดำเนินต่อไปอีกสัก 10-20 ปี ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์จะหายไปแน่นอน เพราะไม่มีใครจำเป็นต้องไปพึ่งพาผู้มีอิทธิพล”

“ถ้ามีการเลือกตั้ง มันเกิดการต่อรองทางการเมือง” เวียงรัฐกล่าว พร้อมเสริมว่า การเมืองการเลือกตั้งทำให้ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ หรือบ้านใหญ่ในท้องที่ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นต้องต่างตอบแทนภายใต้ระบบ ผ่านรูปแบบของโครงการ ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้งบประมาณรัฐที่มาจากภาษี และเมื่อการบริหารไม่เป็นไปตามสัญญาหรือความต้องการของประชาชนในท้องที่ คะแนนเสียงในการเลือกตั้งจะเป็นอำนาจต่อรองต่อนักการเมืองและทำให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบายในสนามการเลือกตั้ง

“การแข่งขันทางการเมืองไม่ได้อยู่ในสนามความรุนแรงหรือสนามของการหาเงินนอกระบบ แต่อยู่ในสนามการเลือกตั้ง”

ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยใต้ร่มเงา คสช.

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เมื่อการเมืองเปลี่ยนไปเป็นสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ก็ถอยหลังย้อนกลับไปสู่สภาวะก่อนการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 อีกครั้ง

ภายใต้ภาพการแช่แข็งการเมืองท้องถิ่นผ่านการแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เวียงรัฐอธิบายว่า รัฐบาลพยายามรวบอำนาจกลับเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีฐานะเสมือนแขนขาของรัฐบาลส่วนกลาง กล่าวคือ จากเดิมที่มีงบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลางอุดหนุนส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ กลับกลายเป็นว่างบประมาณจากรัฐบาล คสช. กระจายผ่านโครงการของรัฐบาลส่วนกลางแทน และทำผ่านองค์กรการปกครองส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่ภายใต้ระบบราชการ เช่น ไทยแลนด์ 4.0 โครงการประชารัฐ หรือโครงการธงฟ้า

ผลพวงที่ตามมาจากการหายไปของการเมืองการเลือกตั้งในส่วนท้องถิ่นคือ เมื่อผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการแต่งตั้ง หน่วยงานราชการก็ไม่ใช้งบประมาณลงทุนไปกับสิ่งตอบแทนที่ตรงต่อความต้องการของประชาชนพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาในส่วนท้องถิ่นก็ไม่เกิดขึ้น เพราะนักการเมืองไม่มีอำนาจและสิ่งต่างตอบแทนประชาชนในพื้นที่ผ่านโครงการและงบประมาณ การรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่จึงอยู่บนฐานของการกุศลและความสัมพันธ์ส่วนบุคคล อีกทั้งยังมีการกดดันพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองให้เคลื่อนไหวในพื้นที่ได้ลำบาก

เวียงรัฐยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากโครงการต่างๆ จะทำผ่านกลไกส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของรัฐบาลส่วนกลางแล้ว โครงการบางส่วนยังทำผ่าน กอ.รมน. ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือ มีการใช้งบประมาณจัดอบรม เช่น อบรมเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยมีค่าตอบแทนในการเข้าร่วมการอบรม ซึ่งโครงการในลักษณะนี้มักไม่ยืนยาวและไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากโครงการในช่วงที่มีการเลือกตั้งที่จะเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการตลาดสะอาด โครงการน้ำดื่มปลอดภัย โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

“มันกลับไปสู่ภาวะที่รัฐไม่ได้ทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในมีความอยู่ดีกินดี แต่ทำหน้าที่ทางอุดมการณ์เพื่อควบคุมให้คนมีความคิดแบบเดียวกับรัฐ และลงงบประมาณไปเพื่อการนั้น” เวียงรัฐกล่าว

แน่นอนว่ามักมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเมืองท้องถิ่นตามกลไกการเลือกตั้งปกติจะนำไปสู่การคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่นยุคคสช. แม้ว่ารัฐบาลจะคอยทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการ แต่การตรวจสอบก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง กล่าวคือ ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลคสช. จะไม่ถูกสอบสวน ส่วนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลจะถูกแขวนจากตำแหน่งเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เข้าร่วมและสนับสนุนพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจต่อจากคสช. อย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2663

เวียงรัฐกล่าวว่า ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เช่นนี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพต่ำที่สุด คือ เป็นความสัมพันธ์ที่ใช้การข่มขู่ให้กลัว อันเป็นยุทธวิธีที่รัฐบาล คสช. ใช้เพื่อดึงคนเข้าร่วมกับตน

ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยยุครัฐธรรมนูญ 2560

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็เริ่มมีการปลดล็อกการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โดยเริ่มจากการเลือกตั้งอบจ. และอบต. ในปี 2563 การเลือกตั้งเทศบาลในปี 2564 และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยาในปี 2565

ในส่วนของการเลือกตั้ง อบจ.เวียงรัฐกล่าวว่า ผลการเลือกตั้งมีแพทเทิร์นที่หลากหลาย กล่าวคือ มีทั้งนักการเมืองหน้าเก่าที่ประชาชนเคยสนับสนุนไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะจำต้องเปลี่ยนสังกัดพรรคเดิมไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหลังถูกข่มขู่หรือถูกแขวน และมีทั้งกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายก อบจ.กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งยังคงเป็นนักการเมืองบ้านใหญ่ ซึ่งมักมีท่าทีไม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ายอมรับรัฐประหารหรือไม่ หรืออาจมีการเจรจาต่อรองอำนาจ เนื่องจากการเมืองระดับ อบจ.สัมพันธ์กับอำนาจของ ส.ส.โดยธรรมชาติของโครงสร้างทางการเมือง

ส่วนการเลือกตั้งในระดับ อบต.เวียงรัฐอธิบายว่า มีใช้งบประมาณจำนวนมากไปในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก อบต. เป็นระดับการปกครองขนาดเล็ก นักการเมืองจึงไม่มีสิ่งตอบแทนประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากนัก อีกทั้งขอบเขตอำนาจของ อบต.มีอยู่จำกัด ดังนั้น นักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมักจะเป็นนักการเมืองที่มีพรรคพวกเยอะ หรือเป็นผู้อาวุโส และในบางกรณีก็อาจเป็นนักการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียงจากประชาชน

ส่วนในระดับเทศบาล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นเขตเมืองและมีการแข่งขัน สมาชิกสภาเทศบาลหลายพื้นที่สะท้อนว่า การเลือกตั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่น จากที่เดิมคะแนนเสียงกระจายตามความนิยมพรรคหรือตามการเมืองสีเสื้อ สามารถคาดเดาได้ว่าพื้นที่ใดนิยมพรรคใดบ้าง กลายเป็นว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดคะแนนเสียงกลับมีลักษณะแตกกระจาย เช่น มีการเลือกทั้งฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายที่กล่าวว่าตนไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ หรือฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร ซึ่งในฝ่ายนี้พรรคเพื่อไทยก็แข่งขันกับพรรคก้าวไกล

การเลือกตั้งที่มีลักษณะแตกกระจายเช่นนี้ปรากฏในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครครั้งล่าสุดเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอ เวียงรัฐกล่าวถึงการชนะการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ว่า แม้จะได้รับคะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ แต่หากพิจารณาคะแนนเลือกตั้งที่ชัชชาติได้รับแล้ว สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีฐานเสียงผู้สมัครเบอร์อื่นเปลี่ยนมาเลือกชัชชาติด้วยเช่นกัน ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกผู้สมัครมากนักหากผู้สมัครมีบุคลิกที่โดดเด่น แต่หากผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มีบุคลิกที่โดดเด่นมากนัก คะแนนเสียงการเลือกตั้งอาจกระจายยิ่งกว่านี้

นอกจากนี้ เวียงรัฐยังแสดงความเห็นอีกว่า หากมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนนี้ พรรคพลังประชารัฐจะไม่ได้เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดอีกต่อไป และกระแสไม่เอารัฐประหารอาจส่งผลให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร แม้ว่าการเลือกตั้งบนฐานของพรรคการเมืองจะอ่อนแอลงก็ตาม

ส่วนในแง่ของภาพรวมความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ (weak party system) ดังนั้น ผลคะแนนการเลือกตั้งจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัครแทน

ระบบอุปถัมภ์ผ่านสายตา ‘ราษฎรสามนิ้ว’

เวียงรัฐกล่าวว่า ราษฎรสามนิ้วไม่ต้องการระบบอุปถัมภ์ เนื่องจากความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์คือความสัมพันธ์ที่มองเห็นคนไม่เท่ากัน มีฝ่ายหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นไพร่ฟ้าและต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครอง โดยเปรียบเทียบบรรยากาศทางการเมืองในประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จากหนังสือ Political Order and Political Decay โดย Francis Fukuyama ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน

เวียงรัฐเล่าว่า ในขณะนั้นพรรคเดโมแครตได้ถือกำเนิดขึ้น เนื่องจากพรรคต้องการขยายฐานเสียงไปสู่ประชาชนวงกว้าง พัฒนาพรรคให้กลายเป็นพรรคการเมืองแบบมวลชน (mass party) จึงทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ที่ค่อนข้างเป็นระบบ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ดำเนินภายใต้ ‘machine politics’ กล่างคือ มีจักรกลที่ทำงานเป็นหัวคะแนน ดึงคะแนนให้พรรค

ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 20 ระบบอุปถัมภ์นี้อ่อนลง เนื่องจากชนชั้นกลางเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมือง เพราะไม่ต้องการการเมืองที่นักการเมืองที่มีอำนาจคอยดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบอุปถัมภ์อีกต่อไป เวียงรัฐชี้ให้เห็นว่า ข้อเรียกร้องข้างต้นคล้ายคลึงกับข้อเรียกร้องของขบวนการคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม จุดต่างอยู่ตรงที่ว่า ขบวนการคนรุ่นใหม่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปหลายประเด็นมากกว่า เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ไม่โปร่งใส

เวียงรัฐให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ไร้คุณภาพในการเมืองไทย คือระบอบการเมือง เนื่องจากระบอบอำนาจนิยมรวบรวมงบประมาณไว้ที่ระบบราชการส่วนกลาง อีกทั้งยังเป็นระบอบที่ผู้มีอำนาจสามารถข่มขู่ หรือใช้กำลังให้ประชาชนกลัวได้

“ระบอบประชาธิปไตยย่อมทำให้ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมีการต่อรองได้ เปลี่ยนแปลงได้” เวียงรัฐกล่าว

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการที่ให้ความเห็นว่าวัฒนธรรมในสังคมไทยเป็นปัจจัยที่กำหนดความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ กล่าวคือ วัฒนธรรมไพร่ฟ้า ที่คนมักจะรู้สึกเคารพนบนอบคนมีอำนาจมากกว่าตนและตามรับใช้อย่างต่อ เนื่องแม้ว่าจะอีกฝ่ายจะไม่ได้มีบุญคุณ ไม่ได้มอบสิ่งอุปถัมภ์ให้ แต่ก็ยังคงปรารถนาจะอยู่ในความสัมพันธ์เช่นนี้

เงื่อนไขโครงสร้างกลไกรัฐ (state apparatus) ก็มีส่วนทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์เช่นกัน ประการแรกคือ เงื่อนไขโครงสร้างรัฐครอบงำประชาชนและปกครองประชาชนโดยมองว่าเป็นไพร่ฟ้า ไม่ได้มองว่าเป็นคนที่มีสิทธิเท่าเทียม และเมื่อรัฐมีอำนาจเหนือประชาชน โครงสร้างกลไกรัฐจึงเปิดให้รัฐใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมได้ ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องไปพึ่งพิงผู้มีอำนาจที่สามารถคุ้มครองได้  สาเหตุอีกประการคือ กลไกรัฐอาจเปิดช่องให้รัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรกระทำได้ เช่น เมื่อรัฐไม่ออกเอกสารให้กับประชาชน ประชาชนก็จะจำเป็นต้องใช้เส้นสายของระบบอุปถัมภ์เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ

แม้ว่าในการใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 และการเลือกตั้งปี 2562 จะไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์หายไป และไม่ได้เปิดให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีทั้งหมด แต่เวียงรัฐมองว่า การเปิดให้มีการเลือกตั้งก็ถือเป็นหนึ่งก้าวที่มีความหวังมากกว่าไม่มีการเลือกตั้ง เพราะอย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองก็เปิดให้ประชาชนเลือกนักการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน มีการเปิดโปงในสภา เป็นบรรยากาศที่ดีกว่าช่วงก่อนปี 2562 อย่างแน่นอน เวียงรัฐยังกล่าวเสริมอีกว่า การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครครั้งนี้สร้างความหวังว่า เราสามารถมีผู้นำที่ดีได้ และเป็นการตั้งมาตรฐานว่าการเป็นผู้นำจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองประเทศเพื่อนบ้าน

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทางการเมืองถือว่าเป็นลักษณะร่วมในการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งล่าสุดที่บงบง มาร์กอส ทายาทของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนแลนด์สไลด์ แม้ว่าประเด็นและปัจจัยหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่โซเชียลมีเดียและการแพร่กระจายของข่าวปลอม อย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองภายใต้ชุดความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ก็ยังมีพลัง สะท้อนผ่านการที่บงบงจับมือกับซาร่า ดูเตอร์เต ซึ่งมาจากตระกูลการเมืองที่แข็งแกร่งตระกูลหนึ่ง ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี-รองประธานาธิบดีคู่กัน

ในภาพรวม เวียงรัฐอธิบายว่า ฟิลิปปินส์มีระบบราชการที่อ่อนแอ และเมื่อรัฐไม่เข้มแข็ง นักการเมืองจึงสร้างองค์กรหัวคะแนน และตอบแทนผ่านตำแหน่งงานในองค์การปกครองท้องถิ่นให้คนเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับระบบ Bossism ในสหรัฐอเมริกาสมัยก่อนปฏิรูปในทศวรรษที่ 20

เมื่อเปรียบเทียบการเมืองฟิลิปปินส์กับไทยแล้ว เวียงรัฐกล่าวว่า ไทยมีข้อดีคือหน่วยงานในระบบราชการของไทยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานดูแลด้านใด แต่ลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนายาก เพราะระบบราชการสามารถทำงานได้ดีกว่า ส่วนการเมืองฟิลิปปินส์มีระดับการกระจายอำนาจมากกว่าไทย แต่อำนาจตกอยู่ในมือของผู้มีอิทธิพลมาก กล่าวคือ เป็นระบบอุปถัมภ์ภายใต้โครงรัฐอ่อนแอ

ส่วนในอินโดนีเซีย เวียงรัฐอธิบายว่า ในช่วงก่อนที่ซูฮาร์โตจะปฏิรูป รัฐและพรรคการเมืองของรัฐเข้มแข็ง แต่หลังการปฏิรูป อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีระดับของการพัฒนาประชาธิปไตยที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ระบบพรรคการเมืองก็อ่อนแอลง ส่งผลให้ระบบหัวคะแนนเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเกิดการซื้อหัวคะแนนให้เปลี่ยนข้าง คล้ายกับไทยช่วงก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540

เวียงรัฐกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะทำให้ระบบอุปถัมภ์อ่อนแอลงคือประชาธิปไตย เพราะหากมีการกระจายอำนาจสู่รัฐบาลท้องถิ่นแล้ว ประชาชนจะมีสวัสดิการที่ดีขึ้น นำไปสู่การขยับเลื่อนชนชั้นทางสังคมให้สูงขึ้น และการตั้งเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งที่สามารถเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจก็มีส่วนทำให้ระบบอุปถัมภ์อ่อนแอลงเช่นกัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save