fbpx
เมื่อประมงไทยไม่ยั่งยืน : คุยกับวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

เมื่อประมงไทยไม่ยั่งยืน : คุยกับวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

“ขอให้เป็นปลาป่นแบบไหนก็ได้หมด ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาอินทรีย์ ปลาทู ปูม้า ทุกชนิด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าถูกจับไปบดเป็นอาหารสัตว์มาแล้วได้หมด นี่เป็นปัญหาที่เราไม่ค่อยพูดกัน”

“แทนที่จะเอาปูตัวใหญ่ไปนึ่งขายได้จานละ 500 กลับเอาไปขายกิโลฯ ละ 3 บาทเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ราคาหลายร้อยที่หายไปเกิดกับอาหารทะเลทุกชนิดที่เรารู้จัก”

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย อธิบายกับ 101 ถึงตัวอย่างของต้นตอวิกฤตอาหารทะเลไทยที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ทะเลลึก

“ผมเป็นเด็กครึ่งบกครึ่งน้ำ บ้านอยู่ไม่ไกลจากป่าชายเลน วิถีชีวิตของผมสมัยก่อนคือไปทะเล” หนุ่มสตูลสรุปความผูกพันของตัวเองกับทะเลไทยอย่างสั้นที่สุด ก่อนที่เขาจะเข้ามาคลุกคลีกับการต่อสู้ของวิถีประมงพื้นบ้านเต็มตัวในตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่เขาจะเบือนหน้าหนี เมื่อความห่วงใยถึงอนาคตของทะเลไทยใหญ่เกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะแบกรับไหว

จากความสงสัยเบื้องต้นว่าทำไมปลาทะเลถึงแพงขึ้น อะไรทำให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง ถูกขยายผลไปถึงว่ามูลค่าที่ไทยสูญเสียไปจากการจับปลาโดย “ไม่ใช้สมอง” (คำเปรยของวิโชคศักดิ์) มหาศาลเกินกว่าจะทำใจรับได้อย่างไร

และทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ ควรเริ่มที่บันไดขั้นแรกตรงไหน 

ลองพิจารณาบทสัมภาษณ์แบบคำต่อคำต่อไปนี้…

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ถ้ามองจากสายตาผู้ประกอบการ คือกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น แรงงานขาดแคลน ต้นทุนสูงขึ้น แต่มองจากสายตาคนทำประมงพื้นบ้าน คุณเห็นอะไร

ปัญหาหลักๆ คือเรื่องการบริหารการจับปลา ทะเลบ้านเราอยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร มีอากาศร้อนชื้น ลักษณะแบบนี้ทำให้มีความโดดเด่นที่ต่างจากโซนยุโรปหรืออเมริกาในเรื่องความหลากหลายของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิต 

พอทะเลย่านนี้ถูกมองเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ บวกกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เทคโนโลยีอุตสาหกรรมมันเติบโต มีการผลิตอวนไนลอนขึ้นมาทดลองใช้กับธุรกิจประมง มันพิสูจน์ว่าจับทีนึงได้เยอะจนน่าตกใจ

แต่เดิมทีเราจับอะไรไม่ได้เยอะหรอก เพราะเรือเราเล็ก เครื่องยนต์ก็ไม่แรง อวนเราก็ไม่มี ก็ใช้พวกไม้หรืออวนจากเชือกธรรมชาติ ถักจากเปลือกไม้ แต่ช่วงราวๆ 60 ปีมานี้ คนรุ่นพ่อเราเอาอวนไนลอนมา พบจับได้มาก มันเหมือนเป็นการเสพติด ติดใจเพราะได้เยอะ แต่วิธีการจับแบบนี้มันส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน 

การประมงมันไม่ยั่งยืนอีกต่อไป เราเคยคิดว่าปลาไม่มีวันหมดไปจากทะเล แต่ยิ่งจับเราก็ยิ่งได้ปลาน้อยลง ถ้าเทียบเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงทุกวันก็ได้ปลาตัวเล็กลง พอได้น้อยลงและเล็กลง เรากลับยิ่งลงทุนมากขึ้น ใช้น้ำมันมากขึ้น เพิ่มเครื่องยนต์มากขึ้น ใช้แรงงานมากขึ้น เพื่อให้ได้ปลามากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงมันสวนทางหมด เพราะปลาโตไม่ทัน

ฟังดูก็เข้าใจไม่ยาก แต่ทำไม

(ตอบทันที) คนอย่างเรา เต็มที่ก็คลอดแค่ลูกแฝด สองถึงสามคนอย่างมาก แต่สัตว์น้ำมันเกิดได้ครั้งนึงเป็นแสนเป็นล้านตัว ไม่ว่าจะเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล นี่คือความมหัศจรรย์ที่โลกให้ไว้ แต่เนื่องจากเราใช้ประโยชน์จากมันจนเพลิน และผิดวิธี แม้ว่ามันยังเกิดเท่าเดิมและไม่กลายพันธุ์ แต่เราก็จับได้ตัวเล็กลง ไม่ทันได้ตัวเต็มวัย

สำคัญกว่านั้นคือ เวลานี้การจับของเราไม่ได้มุ่งเน้นการจับเพื่อให้คนกินอย่างเดียวแล้ว ช่วงหลังอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และนายทุนก็ต้องการสัตว์น้ำที่ราคาถูกเพื่อเอาไปผลิตโปรตีนให้สัตว์ในฟาร์ม

ภาษาเขาเรียกว่าอัตราแลกเนื้อ เอาไปเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงปลาในกระชัง สิ่งเหล่านี้มีส่วนผสมของอาหารทะเลทั้งสิ้นอยู่ในรูปของปลาป่น 

เท่ากับว่าเรากำลังผลิตโดยการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ เอามาเข้าคอกที่ตัวเองควบคุมไว้ แล้วเอาโปรตีนจากธรรมชาติมาขุนโปรตีนในกำกับของตัวเองอีกที พอมันเกิดเป็นอุตสาหกรรม คือผลิตเพื่อให้เป็นอาหารสัตว์ เราก็ไม่สนใจแล้วว่าปลาที่จับได้จะมีหน้าตาแบบไหน จะเป็นปลาเละเทะหรือปลาเศรษฐกิจอย่างไรไม่เกี่ยง

เพราะอะไรถึงไม่เกี่ยง ไม่แบ่งประเภทในการจับ มันยากอย่างไร

ถ้าพูดหยาบๆ ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความละโมบชนิดหนึ่ง เนื่องจากมันง่าย เราแค่ลงทุนไปกวาดต้อนมาจากทะเล ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ของใครคนเดียว ผมว่าฐานคิดประมงปัจจุบันอยู่ตรงนี้ คือไปกวาดมาเถอะ ถ้าเราไม่กวาด คนอื่นก็กวาด บวกกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดในเรื่องการเติบโตทางธุรกิจ แต่บังเอิญเราฉลาดไปในทางตอบสนองความละโมบของตัวเองเป็นหลัก

ที่ผ่านมาหลายปี เราพบว่าการบริหารจัดการของรัฐกลับตอบสนองแนวคิดแบบนี้ คือจับให้เยอะ โดยไม่สนใจต้นทุนว่าสักวันหนึ่งมันอาจจะหมดไปได้

เครื่องมือประมงแบบไหนที่ทำลายสัตว์น้ำทะเล โดยเฉพาะกรณ๊ของสัตว์เล็กๆ อย่างที่ว่ามา

การจับสัตว์น้ำในทะเลมีสองพวกใหญ่ๆ พวกแรกคือพวกที่อยากจับตามชนิด ตามขนาดปลาที่อยากได้ เช่นอวนหมึก อวนปลาทู ลักษณะการจับเป็นการเลือกจับ ทั่วโลกก็มีแบบนี้ ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่ที่มันโดดเด่นในประเทศเราเพราะสัตว์น้ำมีความหลากหลายสูง ภูมิปัญญาในการจับสัตว์น้ำในประเทศเรามันจึงฉลาดกว่าโซนทะเลที่มีความหลากหลายน้อยกว่า ถ้าในพื้นที่หนึ่งมีทั้งกุ้งหอยปูปลา แต่เราต้องการแค่กุ้ง เราจะทำยังไงให้ได้แค่กุ้งโดยไม่ต้องเอามาทั้งหมด นี่เป็นภูมิปัญญาที่เรามี

พวกที่สองคือพวกที่ไม่สนใจว่าสัตว์น้ำจะอยู่กันยังไง แต่จะพยายามใช้เครื่องมือจับให้ได้ทีเดียวทั้งหมดทุกชนิด กวาดมาให้ได้มากที่สุด พวกนี้ต้องการอวนที่มีคุณภาพสูง และยิ่งตาอวนถี่มากยิ่งดี เพราะจะได้ทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ เหลืออย่างเดียวคือให้น้ำผ่านได้พอ ในกลุ่มพวกนี้ส่วนมากเป็นพวกเรือปั่นไฟที่ล่อปลากะตัก ใช้ตาอวนขนาดเล็ก แต่เวลาจับจริงฝูงปลาอื่นมันก็ติดไปด้วย เพราะอวนมันไม่ใช่คนที่จะคัดแยกเป็น เวลาไปเจอฝูงปลาแล้วพบว่าไม่ใช่ปลากะตัก ซึ่งควรปล่อยไป แต่มันทำไม่ได้ 

ปัจจุบันพวกการใช้ยาเบื่อหรือระเบิดและอวนรุนถูกยกเลิกไปตามกฎหมาย เหลือแค่อวนลากกับอวนปั่นไฟ

ทำไมยังไม่ยกเลิกที่เหลือ

รัฐบาลก็จะบอกว่ามันทำลายไม่มาก แล้วมันตอบสนองการผลิตทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างสูง อวนลากมีอวนอยู่ข้างหลังเรา ส่วนอวนรุน ตัวอวนอยู่ข้างหน้าเรา เหมือนเป็นรถแทรกเตอร์ และมีแนวโซ่สลิงที่ซ่อนอยู่ข้างล่าง มีหน้าที่ปั่นเอาพวกสัตว์น้ำที่อยู่ระดับผิวดินขึ้นมา อวนลากก็มีแบบนี้เหมือนกันแต่ว่าอยู่ข้างหลัง

ผมมองว่าอวนรุนอาจจะมีต้นทุนน้อยกว่า และปริมาณการจับได้ก็สู้อวนลากไม่ได้ คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีกำลังในการต่อรองมากพอ

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ตั้งแต่เด็กๆ ได้ยินมาตลอดว่าอวนตาถี่ผลาญทรัพยากรทางทะเล แต่ทำไมยังใช้กันอยู่

ก็กฎหมายบ้านเรายังอนุญาตให้ใช้ได้ ที่จริงตัวกฎหมายเขาอนุญาตให้ใช้ตามชนิด อย่างอวนลาก เขาให้ใช้อวนไม่ต่ำกว่า 4 เซนติเมตร ถึงจะลากได้ แต่ถึงจะเป็น 4 เซนติเมตร ผลก็ยังเหมือนเดิม เพราะเวลาลาก อวนมันจะถี่ลงจากแรงดึง ทำให้ตาอวนมันลีบลงจาก 4 เซนติเมตรเหลือสองหรือสามมิลลิเมตร ปลาตัวเล็กตัวน้อยก็ได้หมด ที่พูดนี้มีหลักฐานรองรับ ทั้งที่เห็นด้วยตาเปล่าและงานวิจัยทั้งจากภาครัฐและเอกชนเอง

แปลว่ารัฐก็รู้ว่าอวนลาก อวนตาถี่ 4 เซนติเมตร สร้างปัญหาจริงๆ

รู้สิ แต่เขาเห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ต้องการโปรตีนจากสัตว์น้ำเหล่านี้ สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ก็เลยปล่อยให้ใช้กันอยู่ แต่ในความเห็นของผม ถ้าเราคิดต่ออีกหน่อย อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อยู่ได้เพราะการจับสัตว์น้ำ ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียวคือรอให้ลูกปลามันโตหน่อย คุณจะจับได้อย่างมหาศาล 

ระยะเวลาในทะเลของปลาที่ใช้เวลาโตเต็มวัย มันไม่เหมือนคนนะ คนนี่กว่าจะโตก็หลายปี ปีเดียวยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่เลย แต่สัตว์น้ำไม่ใช่ หนึ่งปีนี่ขายได้ราคาแล้ว เหมือนกับไก่ที่ใช้เวลาโต 45 วัน ปลาแค่ปีเดียวก็โตเต็มวัย 10-12 ตัวต่อกิโลฯ

เพราะฉะนั้น ประเด็นว่าจะทำยังไงให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อยู่ได้ ทะเลอยู่ได้ ผมว่าต้องหยุดเครื่องมือประเภทอวนตาถี่ แล้วหันมาใช้อวนใหญ่ขึ้น ให้เวลาลูปปลาได้โตพอ แล้วจับมันตอนโตเต็มวัย ถึงตอนนั้นถ้ามันมากพอ คุณจะเอาไปทำอาหารสัตว์ก็ไม่มีใครว่า สมมติปลาทูโตเต็มวัย คนได้กินทั้งประเทศแล้ว ยังเหลือจะเอาไปป่นเป็นอาหารสัตว์ก็ทำไปเลย

ตัวเลขต่างๆ จากงานวิจัยจากหลายสถาบัน รวมถึงกรมประมง ชี้ออกมาใกล้เคียงกันว่า สัดส่วนการจับของอวนลากเกินครึ่งหนึ่ง เป็นส่วนที่ป้อนปลาเข้าไปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเครื่องมือการจับ ให้ในการจับครั้งหนึ่งสัก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาที่คนและสัตว์กินได้ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือให้มันมีโอกาสได้โตก่อน ก็น่าจะช่วยได้

สังเกตไหมว่าตอนนี้อาหารทะเลโคตรแพงเลย คนกรุงเทพฯ กินอาหารทะเลส่วนใหญ่ในวาระพิเศษ กุ้งแชบ๊วยเบอร์หนึ่ง ถ้าขายในกรุงเทพฯ ราคากิโลฯ ละ 900 บาท คุณจะกินได้ยังไงทุกมื้อ 

ถ้าเราปรับวิธีคิด คือให้ช่วยกันจับแบบรับผิดชอบ ปรับปรุงเครื่องมือใหม่ ไม่ว่าคุณจะเป็นเถ้าแก่ใหญ่หรือชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน ธุรกิจใหญ่อาจจะจับได้เยอะหน่อย เพื่อไปบริหารจัดการกิจการของเขา คนรายย่อยอาจได้น้อยกว่าหน่อยแต่ไม่เป็นไร เพราะทุกคนจับด้วยความรับผิดชอบ ปล่อยให้ลูกปลาได้โตก่อน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นธรรมกับอนาคต

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความพยายามคัดสรรวัตถุดิบที่เข้ามาบ้างไหม ว่าปลาแบบไหนเป็นปลาที่คนไม่กิน ปลาแบบไหนที่ถ้าปล่อยให้โตจะมีมูลค่ามหาศาล

ขอให้เป็นปลาป่น แบบไหนก็ได้หมดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาอินทรีย์ ปลาทู ปูม้า ทุกชนิดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าถูกจับไปบดเป็นอาหารสัตว์มาแล้วถือว่าได้หมด นี่เป็นปัญหาที่เราไม่ค่อยพูดกัน

แทนที่จะเอาปูตัวใหญ่ไปนึ่งขายได้จานละ 500 กลับเอาไปขายกิโลฯ ละ 3 บาทเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ราคาหลายร้อยที่หายไปเกิดกับอาหารทะเลทุกชนิดที่เรารู้จัก

อาหารทะเลในตลาดครึ่งหนึ่งที่ถูกจับได้ เป็นอาหารของ หมู เป็ด ไก่ รวมถึงปลากระชัง รู้ไหมว่าปลากะพงหนึ่งกิโลฯ ที่เลี้ยงในกระชัง เราต้องใช้เนื้อปลาในทะเลถึง 7 กิโลฯ นี่เป็นสัดส่วนที่งานวิจัยค้นพบ ปลาทะเลเหล่านี้ถ้าเป็นปลาราคาสูงทั้งนั้น และถ้าเราปล่อยให้มันโตเต็มวัย มูลค่าของมันจะเป็นเท่าไหร่ ยังไม่นับว่ามันอาจไปไข่เพิ่มจำนวนได้อีก 700 กว่ากิโลฯ 

วงจรล้างผลาญแบบนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

เราเคยมีกฎหมายห้ามใช้อวนลากอวนรุนในทะเลบางพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2515 แสดงว่าเราเห็นมานานแล้วว่าการประมงแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่ดี เมื่อปี 2523 เราออกกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อควบคุมจำนวนอวนลากไม่ให้มีมากเกินไป คนที่มีอวนลากและไม่ต่อใบอนุญาตทุกๆ หนึ่งปี ต้องเลิกทำอวนลาก 

แต่ในความเป็นจริง ไม่นานมานี้มีบางกลุ่มที่มาต่อทะเบียนไม่ทัน ก็ไม่ได้ใบอนุญาต กลายเป็นเรือเถื่อน พอถูกกวดขันจับกุมก็พยายามใช้เส้นสายรัฐบาล ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนนโยบาย ผ่อนผันให้พวกเรือเถื่อนมาลงทะเบียน สุดท้ายก็ถูกกฎหมาย แล้วก็วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ตอนอินโดนีเซียประกาศยกเลิกอวนลากทั้งประเทศ กลายเป็นว่าเรือไทยที่ไปอยู่ที่นั่นก็หนีกันกระเจิดกระเจิง แต่กลับมาสุขสบายที่ไทยเหมือนเดิม

เรือประมงไทยที่ใช้อวนแบบล้างผลาญ มีทั้งในระบบและนอกระบบตอนนี้กี่ลำ

ก่อนหน้านี้จากข้อมูลที่รับรู้ มี 10,000 กว่าลำ แต่หลังจากสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองแก่ไทย ไทยก็พยายามเคลียร์บรรดาเรือที่ผิดกฎหมาย เหลือเรือที่ใช้อวนลากตอนนี้ 3,000 กว่าลำทั้งประเทศ พวกนี้คือได้ทำประมงแบบเดิม ใช้อวน 4 เซนติเมตร หาปลาต่อไป ในทางนโยบายเรายอมให้เรือเหล่านี้ทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งตามตัวเลข เพราะเรือเหล่านี้สามารถจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นตัวอ่อนก็ดี หรือตัวเต็มวัยก็ดี ให้มาเลี้ยงอุตสาหกรรมสัตว์

ในทัศนะของผม นี่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูก คุณจะมีเรือ 10,000 ลำก็ได้ มันไม่ใช่ประเด็น แต่คุณต้องเปลี่ยนวิธีการทำประมง ใช้อวนขนาดที่ใหญ่กว่านี้ ใหญ่พอสำหรับปลาที่โตเต็มวัยแก่การจับได้

แต่วิธีที่ใช้อยู่นี้เป็นวิธีที่เอาเปรียบ ผมรู้สึกว่าประมงเราตอนนี้ไม่ใช้สมองเลย สักเอาแต่ได้อย่างเดียว ตรงไหนมีฝูงปลาก็ลากเอามาหมด ทั้งที่เราเก่งกว่านั้น แต่ดันไปใช้วิธีการที่ไม่ใช้สมองได้อย่างไร

ถ้าปล่อยให้ปลาโตก่อน โอกาสได้เงินมีมากกว่า ทำไมภาคประมงถึงไม่รอ 

คนที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้มีสองคนอย่างต่ำ หนึ่งคือเถ้าแก่ที่ทำประมง สองคือเถ้าแก่ที่ต้องการวัตถุดิบเข้าโรงงานอาหารสัตว์ ในเมื่อเถ้าแก่คนที่สองยังต้องการอยู่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบค่อนข้างชัดเจน และไม่ว่าจะเป็นปริมาณเท่าไหร่ก็รับหมด จะเละอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องดูแลไม่ต้องสนใจการเน่าเปื่อย คนที่เป็นเถ้าแก่ประมงก็คิดแค่ว่า ป้อนโรงงานไปให้ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิดเรื่องแปรรูปหรือคัดแยก จับปลามาได้ใช้เท้าใช้พลั่วกวาดๆ เอาใส่ตะกร้าได้เลย 

สิ่งที่ตลาดอาหารสัตว์ต้องการ ขอแค่เป็นสัตว์ทะเล จะสภาพไหนก็ได้ มันทำโปรตีนได้หมด มีประมงหลายเจ้าออกไปเที่ยวหนึ่ง คิดแค่ว่ายังไงก็ได้ปลาเป็ดกลับบ้าน ก็เพียงพอสำหรับการจัดการต้นทุนในการออกหนึ่งรอบ เพราะเขารู้ว่ายังไงก็ได้เงินชัวร์ๆ สิ่งที่เขาต้องการคือปริมาณที่มากที่สุด เพราะมันขายต่อกิโลฯ แค่ 3 บาท ยิ่งจับมากเท่าไหร่ก็เหมือนเป็นดอกเบี้ยทบต้น คือจับทุกอย่างทุกชนิดที่ขึ้นมาได้ 

จากที่เราไปตามเก็บข้อมูลเรือประมง 9 ลำ เป็นเรืออวนลากทั้งหมด พบว่าปลา 87 ชนิดที่คนกินปกติ ถูกนำไปทำเป็นปลาป่น ในทุก 1 ตันจะมีทารกปลาถึง 9 กิโลฯ พอมาดูเรื่องมูลค่า คนที่พูดได้ดีที่สุดในเรื่องนี้คือกรมประมงเอง

นักวิชาการกรมประมงคือหัวกะทิของประเทศนี้ ต้องให้เครดิตเขา เขาบอกว่าอวนลากคู่โดยเฉพาะในฝั่งอ่าวไทย จับสัตว์น้ำได้ 84 กิโลฯ ต่อชั่วโมง คิดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 35 กิโลฯ เป็นปลาเป็ดสำหรับอาหารสัตว์ 49 กิโลฯ ในส่วนนี้กลับพบลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจถึงร้อยละ 81 พูดแบบบ้านๆ ก็คือเกือบทั้งกองเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ มีอยู่นิดเดียวที่เป็นปลาในกลุ่มที่คนไม่กิน กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราได้ปลาเป็ดแท้แค่ร้อยละ 19 นอกนั้นเราจับปลาเศรษฐกิจมาหมดเลย นี่คือตัวเลขของกรมประมงที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ 3 ไมล์ทะเลออกไป

อีกข้อมูลคือพวกเรืออวนลากแผ่นตะเข้ เรือเล็กลงมาหน่อยขนาด 10 ถึง 20 ตันกรอส ในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 14 กิโลฯ จะมีปลาเป็ด 8 กิโลฯ แต่พอเรามาดูสถิติของลูกสัตว์น้ำที่ถูกจับมา พบว่าร้อยละ 51 เป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ข้อมูลเหล่านี้กำลังบอกว่าเกินครึ่งของปลาที่ถูกจับทุกวัน เป็นปลาเศรษฐกิจที่คนกิน มีมูลค่าสูงถ้ามันโตเต็มวัย แต่มันถูกจับเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์แทน

เป็นมูลค่าราคาประมาณเท่าไหร่ คนทั่วไปที่ไม่ได้เห็นทะเลบ่อยๆ อาจนึกไม่ออก

กรมประมงก็มีตัวเลขอยู่เหมือนกัน เขาบอกว่าเฉพาะอวนลากแผ่นตะเข้ จะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 298,000 บาท ต่ออวนลาก ต่อปี 

ปลาป่นมีวัตถุดิบมาจากสองส่วน หนึ่งคือส่วนที่เป็น by-product คือหัวปลา ก้าง หรือหางปลา เอามาสับๆ  อีกส่วนคือพวก by catch คือพวกปลาป่นที่จับมาได้ ตัวเลขแต่ละปีรายงานว่ามีการจับปลาป่นปีละ 300,000 – 500,000 ตันต่อปี เราคิดประมาณได้เลยว่าครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เท่ากับว่ามีสัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 150,000 ตัน

ลองคิดเล่นๆ ว่าทั้งหมดเป็นปลาทูเต็มวัยที่คนทุกคนรู้จัก เทียบกับราคาตลาดที่กรุงเทพฯ 15 ล้านกิโลฯ คูณราคา 100 บาทต่อกิโลฯ เป็นราคาเฉลี่ยปลาทูในกรุงเทพฯ คือ 1,500 ล้านบาทต่อปี ที่เราเอาไปให้ไก่กิน แทนที่คนจะได้กิน เราเอา 15 ล้านกิโลฯ ไปขายในราคากิโลฯ ละ 3 บาท

คำถามคือทำไมเราไม่บริหารจัดการตัวเลขนี้ให้มันเหมาะสมกับราคาตลาด ทำไมเราไม่ปล่อยให้มันโตก่อน แต่กลับให้มันถูกจับแบบไม่เหลือคุณค่าเลย

เราเคยมีประเด็นเรื่องอาหารกลางวันเด็กเป็นขนมจีนกับน้ำปลา ถ้าเราบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ เด็กไทยก็มีโอกาสได้กินอาหารทะเลดีๆ อย่างเพียงพอทุกโรงเรียน 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ตัวเลขเหล่านี้ภาครัฐรู้มาตลอด ?

รู้ (ลากเสียงยาว)

ถ้าอย่างนั้นอะไรทำให้วงจรมันบิดเบี้ยวขนาดนี้

ผมเห็นว่ามีอยู่สองเรื่องที่เป็นมายาคติ หนึ่งคือเขาอยากจะสร้างสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมปลาป่นฃให้เป็นธุรกิจที่ต้องเติบโตต่อไป กับชาวประมงที่ทำการหาปลา 3,000 กว่าลำ แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่า 3,000 ลำนี้จะทำลายทรัพยากรเท่าไหร่ เพราะตอนนี้เราใช้วิธีการอนุญาตตามจำนวนโควตา เป็นจำนวนวัน 200 วันต่อปี แทนที่จะกำหนดโควตาเรือแต่ละลำว่าจับได้จำนวนเท่าไหร่ต่อวันต่อปี 

มันคือระยะเวลาทำงานปกติของมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ที่หักลบจากวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็ประมาณ 200 กว่าวัน เท่ากับว่าเราอนุญาตให้อวนลากทำงานได้เกือบทุกวัน ขอแค่ดินฟ้าอากาศดีเท่านั้น แต่จะลากเท่าไหร่ก็ได้

ในประสบการณ์ชีวิตผมที่ทำงานมา 20 กว่าปีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราเห็นชาวประมงที่ไม่มีใบอนุญาตมีเรือเถื่อน เราเห็นมาเป็นหมื่นๆ ลำ ใครจะมาการันตีได้ว่าเรือเหล่านี้จะไม่ทำอวนลากหรือใช้อวนตาถี่ 

ส่วนพวกเรือที่ลงทะเบียนในระบบรัฐ ก็บอกว่าจะใช้วิธีการติด GPS แต่ทุกวันนี้มีการจ้างเรือให้สวมสัญญาณ GPS แทน ส่วนเรือที่ลงทะเบียนก็สามารถไปจับสัตว์น้ำที่อื่นได้อีก นี่เป็นประสบการณ์ที่ผมทราบมาจากคำบอกเล่า 

มันไม่มีอะไรที่บอกได้ว่าใครเป็นคนดี เราไม่ได้ใช้ระบบเขียนไว้บนหน้าผาก เพราะฉะนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครชั่วหรือไม่ชั่ว แต่ระบบที่เป็นอยู่มันเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายโดยถูกกฎหมาย

วิธีตรวจสอบที่ดีที่สุดคืออะไร 

ทุกวันนี้พอเรือขึ้นท่ามา ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจแรงงานว่าถูกต้องไหม สมมติว่าเจ้าหน้าที่ขยันหน่อย ก็ไปวัดดูว่าอวนที่ใช้มีความถี่ 4 เซนติเมตรขึ้นไปจริงหรือเปล่า จบแค่นั้น

ส่วนตัวปลาที่กองอยู่ ไม่มีข้อกำหนด ขอแค่ขนาดอวนผ่านตามมาตรฐานพอ ไม่ต้องมาดูปลาที่กองอยู่ เพราะไม่มีข้อกำหนดตามกฎหมายว่าห้ามคุณจับสัตว์น้ำในปริมาณเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่ ผมคิดว่าตรงนี้คือหัวใจ เหมือนออกกฎหมายประเภทปืนล่าสัตว์ แต่ปรากฏว่าพอนายพรานที่ไปยิงเสือดำและลากออกมาจากป่า โดนตรวจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่าปืนแบบนี้ไม่น่าใช้ยิงเสือดำได้ เพราะกฎหมายบอกว่าปืนเหล่านี้ถูกต้องส่วนเสือที่นอนกองอยู่ท้ายกระบะ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องตรวจดู ดูแค่ว่าอุปกรณ์ได้รับการอนุญาตหรือเปล่าก็พอ 

ประเทศเราออกกฎหมายเรื่องวิธีการจับไว้ที่อวน 4 เซนติเมตร คือให้ดูว่าใช้เครื่องมือถูกไหม กระสุนถูกต้องหรือเปล่า ไม่ได้ดูว่าสัตว์ที่จับมาได้มันส่งผลเสียอย่างไร ผมเลยบอกว่าวิธีการแก้ปัญหาประมงไทยวันนี้ มันยังไปไม่ถึงหัวใจ 

เฉพาะเรืออวนลากแผ่นตะเข้ กับอวนลากปกติ ตอนนี้มีอยู่กี่ลำ

อวนลากคู่ในอ่าวไทยเรามี 936 ลำ ฝั่งอันดามันมีอยู่ 190 ลำ นี่เป็นอันตรายมากกว่าการมีเรือแบบลากแผ่นตะเข้ ซึ่งทั้งสองฝั่งของทะเลไทยมีรวมกันเกือบ 2,000 ลำ อวนลากคู่ที่ผมเคยเห็นกับตา ยาวเป็นกิโลเมตร ลองนึกภาพเวลามันกวาดต้องท้องทะเลดู 

ในทัศนะผม เราควรจัดการอวนลากคู่ก่อน แต่เราก็กลัวจะกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องใช่ไหม คำถามคือใครได้รับผลกระทบบ้าง ข้อเท็จจริงคือมีแต่นักลงทุนใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีปัญญาสร้างเรืออวนลากคู่ ไม่มีชาวประมงตัวเล็กๆ คนไหนที่ออกเงินลงทุนทำเรืออวนลากคู่ด้วยตัวเอง มูลค่าเป็น 10 ล้านบาทต่อลำ เฉพาะมูลค่าราคาเรือนะ 2 ลำก็ 20 ล้าน ไม่นับอวนที่ยาวเป็นกิโลฯ ก็อีกหลายแสนบาท

คุณเคยเสนอว่าต้องมี EHIA สำหรับการประมง ทำไมถึงจำเป็น

เพราะทุกวันนี้งานวิจัยมันมองที่ผลกระทบต่อสัตว์น้ำอย่างเดียว แต่เราไม่มองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจที่เกิดกับชาวบ้าน ซึ่งต้องเดือดร้อนจากมูลค่าที่ถูกทำลายไป

เราควรจะมองทั้งระบบว่าการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีคนอื่นที่อาจจะเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นได้ สิ่งที่เราเรียกร้องคือประเทศนี้ควรมีการศึกษาผลกระทบทางสังคมด้วย

ผมคิดว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่เสียโอกาสจากระบบแบบนี้ ถ้าจะให้ดีเราควรมีการศึกษาค่าความเสียโอกาสจากการทำประมงว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ เช่น เด็กที่อยู่ในภูมิภาคที่ไม่ติดทะเลของประเทศ ต้องขาดไอโอดีนหรือไม่ได้เข้าถึงอาหารทะเล มีแต่ข้าวกับขนมจีนกิน ทำไมเราไม่เอาปลาทู 15 ล้านกิโลฯ ที่จับมาเพื่อจะไปให้เป็ดกับไก่ เอามาให้พวกเขาได้กินก่อน นี่คือมูลค่าของประเทศนี้ที่เสียไป

ผมเชื่อว่าถ้าเราปล่อยให้ปลาโต เราจะสบาย ถึงเวลานั้นจะเอาปลาเต็มวัยไปทำปลาป่นก็ไม่มีใครว่า ในทัศนะผม ปลากะพงเลี้ยงไม่อร่อยเท่าปลากะพงธรรมชาติ ถ้าเรามีปลากะพงธรรมชาติเหลือเฟือแล้วจะไปเลี้ยงทำไม ถ้าเราปล่อยให้ปลา 7 กิโลฯ นั้นได้โต สุดท้ายแล้วมันจะเหลือเฟือ นี่คือแนวทางที่ควรจะเป็น

เหมือนแทนที่จะใช้กุญแจไขเข้าบ้าน แต่ไปเอาชะแลงงัดเข้าไป

ใช่ ทุกวันนี้ยิ่งเราออกแบบ ยิ่งซับซ้อน เราอยากแก้ปัญหาแต่ไปออกเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมมองว่ามันตลก 

คุณเคยบอกว่าเวลานี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ประมงพาณิชย์หรือประมงพื้นบ้านว่าใครดีกว่ากัน เพราะทั้งคู่ต่างก็ใช้วิธีจับปลาที่ผิดพอกัน และไม่อยากเรียกประมงยั่งยืนว่าเป็นแค่ภูมิปัญญา อยากให้ขยายความตรงนี้หน่อย 

สิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาก็คือการค้นหาหรือการรู้ว่าสัตว์น้ำอยู่ตรงไหน ใช้ชีวิตอย่างไร วัยอ่อนของเขาอยู่ตรงไหน แล้วพอโตเขาน่าจะไปอยู่ตรงไหน มันเกิดจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของชาวบ้านที่เรียนรู้มัน เขาเห็นน้ำวิ่งแบบนี้ แล้วรู้ว่าปลาหรือกุ้งจะว่ายน้ำไปทางไหน คนที่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะไม่มีทางรู้เรื่องภูมิปัญญาเหล่านี้

แต่ที่ผมบอกว่าอยากให้มองเป็นวิทยาศาสตร์ คือการออกแบบการจับและเครื่องมือในการจับสัตว์เหล่านั้น การที่ชาวบ้านรู้ว่าในขณะที่ปลามันตัวเต็มวัยพอดี แล้วมันอยู่ที่ไหน การจะจับมันต้องใช้เครื่องมืออะไร หรือการจับหมึกที่ว่ายน้ำถอยหลัง ถ้าเราไม่มีภูมิปัญญาก็ไม่สามารถออกแบบเครื่องมือการจับหมึกได้

การออกแบบเครื่องมือเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการรู้จักสัตว์น้ำก็คือภูมิปัญญา ทีนี้มาดูฝั่งนักธุรกิจประมง ถ้าพูดก็เหมือนหยามนิดหน่อยนะ เพราะเขาใช้เทคโนโลยีค้นหาฝูงปลา ซึ่งถ้าชาวบ้านมีเงินหน่อยก็อาจซื้อเรดาร์มาได้ เราก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถ้าคนทำธุรกิจต้องมานั่งฟังเสียงปลาเพื่อจะจับ เขาก็คงเจ๊งหมด 

แต่สิ่งที่รับไม่ได้คือ คุณไม่ได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ของโลกใบนี้ ออกแบบเครื่องมือที่จะจับฝูงปลาเต็มวัยที่คุณรู้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แม้กระทั่งขนาดปลา คุณรู้เสียขนาดนั้น แต่คุณยังไม่มีปัญญาออกแบบเครื่องมือที่จะจับปลาโดยเหลือลูกของมันไว้บางส่วน แบบนี้คือไม่ใช้สมอง

เทคโนโลยีทุกวันนี้มันฉลาดถึงขั้นที่รู้ว่าปลาตรงนั้นมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ด้วยซ้ำ คุณดูจากหน้าจอได้เลย ไต๋เรือดูในจอก็เดาได้ว่าน่าจะเป็นปลาลักษณะไหน แต่เมื่อนักลงทุนต้องการเก็บให้เรียบ ไต๋เรือก็ทำอะไรไม่ได้ แม้เขาอยากจะแยกปลา แต่ตัวเครื่องมือที่ใช้มันแยกไม่ได้ ถึงไต๋เรืออยากได้แค่ปลาอินทรีย์ก็ทำไม่ได้ เพราะอวนลากมันไม่ได้ออกแบบมาให้แยกอะไรเลย 

ถ้าประมงพาณิชย์เคารพการหาปลาอย่างยั่งยืน ก็ไม่ต้องมาพูดถึงคุณค่าของประมงพื้นบ้านแล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายก็จะมีคุณค่าเท่ากัน ชาวบ้านทั่วไปถึงเป็นเกษตรกรรายย่อย ก็ไม่ได้มีคุณค่าหรือเกียรติมากกว่านักธุรกิจ เพราะถ้าระบบเอื้อให้ทำผิด ทั้งชาวบ้านหรือนักธุรกิจก็ไม่ต่างกัน

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

นอกจากเรื่องภาครัฐไม่จริงจัง นักลงทุนรวมถึงชาวประมงก็ไม่จริงจัง ความท้าทายในการทำประมงยั่งยืนอยู่ตรงไหน

ที่เป็นความท้าทายใหม่และมีโอกาสอยู่บ้าง ก็คือความกดดันจากคนกินหรือผู้บริโภค ที่น่าจะสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราใช้ตรงนี้เป็นแรงกระตุ้นตลาดว่า ถ้าคุณอยากกินของดีโดยประมงที่ใช้เครื่องมือรับผิดชอบ ไม่ใส่ฟอร์มาลีน คุณก็ซื้อจากร้านที่ร่วมโครงการ ได้รายได้หล่อเลี้ยงการประมงยั่งยืน ปลายทางคือลดการเอาเปรียบกัน

ผู้บริโภคทุกคนอยากกินของดีหมด ไม่ว่าเป็นยาจกหรือเศรษฐี ทุกคนอยากกินกุ้งแชบ๊วยที่เพิ่งจับมา ไม่มีคนรวยหรือคนจนคนไหนอยากกินกุ้งแชบ๊วยที่จับมาตั้งแต่สองเดือนก่อน นี่คือพลังที่ผู้บริโภคสามารถเป็นความหวังได้ ถ้าช่วยกันคิดช่วยกันขยายผล 

ยิ่งถ้าบอกว่าธุรกิจประมงดูแลแรงงานดี เช่น แรงงานพม่ามีบัตรทำงานถูกต้องตามกฎหมาย มีสวัสดิการให้ คนกินปลาก็ยิ่งถูกใจ มันเป็นไปได้ คุณใช้แรงงานต่างด้าวได้ แต่คุณอย่าไปค้าทาส ผมว่าถ้าตลาดตระหนักเรื่องนี้จริงๆ มันก็ดีกับทุกฝ่าย

ผมเห็นหลายแพปลาโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กว่า ตัวเองจับปลาด้วยเรือที่มีการตรวจตามมาตรฐานกฎหมาย เรียบร้อย ไม่ใส่สารฟอร์มาลีน ถ้าทำกันได้ทั้งประเทศมันจะเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง 

อีกประเด็นที่คุณเคยบอก ทำไมการผลักดันเรื่องประมงยั่งยืน ไม่ควร romanticize ชาวบ้านอีกต่อไป

เพราะมันเป็นเรื่องจริง จะไปสู้ว่าชาวประมงพื้นบ้านน่าสงสาร เรียกร้องให้มาช่วยประมงพื้นบ้านเถอะ มันสู้ไม่ได้ สังคมไม่รับ ไม่มีใครสน  ถ้าเราสู้ไปในแนวทางนี้ มีแต่แพ้กับแพ้ อย่างมากก็เหมือนอินเดียนแดงที่ถูกสงวนเป็นพิพิธภัณฑ์ 

คนต้องสู้แบบมีศักดิ์ศรี ให้เขาเห็นว่าประมงพื้นบ้านไม่ใช่ส่วนที่น่าสงสาร แต่เป็นคนที่เก่ง เป็นคนที่สามารถจับปลามาเลี้ยงคนได้ด้วย  เราต้องสร้างชุดความคิดแบบนี้ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม

……
ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save