fbpx

“การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพควรเป็นสวัสดิการจากภาครัฐ” วิชิตพล ผลโภค กับบทบาท Teach For Thailand

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

หากถามถึงเป้าหมายการทำงานของเด็กจบใหม่หมาด หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน หลายเสียงที่เราได้ยินคือ พวกเขาอยากทำงานกับ ‘Teach For Thailand’

คำตอบนี้อาจทำให้หลายคนประหลาดใจไม่น้อย – Teach For Thailand คืออะไร ทำไมเด็กรุ่นใหม่อยาก ‘สอน’

นั่นคือคำถามเดียวกับที่ วิชิตพล ผลโภค ถามตัวเองเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เขาได้ยินชื่อ Teach For America เป็นครั้งแรก สมัยยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แต่เดิมที่ไม่เคยรู้จักชื่อดังกล่าวมาก่อน วิชิตพลเริ่มค้นหาข้อมูลและศึกษาอย่างจริงจัง ประกอบกับช่วงชีวิตที่ผ่านมาที่เขานิยามว่า ตนเองเป็นคนที่มีโอกาสทางการศึกษาดีในระดับหนึ่ง เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้วิชิตพลอยากจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในสังคม จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากงานที่ดูมั่นคงในต่างประเทศ และกลับมาก่อตั้งมูลนิธิ Teach For Thailand ขึ้นในประเทศไทย

เวลาผ่านไปราว 7 ปี จากชื่อที่อาจจะยังไม่มีใครในไทยรู้จักนัก Teach For Thailand สร้างชื่อและสั่งสมประสบการณ์ ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เด็กรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยหลังเรียนจบ แต่แน่นอน เส้นทางของ Teach For Thailand ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์บางประการ  – “เด็กไทยไม่สนใจโครงการแบบนี้หรอก” “ใครจะเสียเวลาเป็นปีมาทำอะไรแบบนี้” “ไม่ได้จบครูแล้วจะมาสอนเด็กได้ยังไง” ฯลฯ

101 นัดสนทนากับ วิชิตพล ผลโภค CEO และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Teach For Thailand ทั้งในบทบาทของผู้นำ Teach For Thailand เข้ามาในประเทศไทย และในบทบาทของคนทำงานเรื่องการศึกษาที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

โลกการศึกษาแบบไหนที่เราสามารถวาดฝันได้ในอนาคต บรรทัดถัดจากนี้คือคำตอบ

 

 

อะไรทำให้คุณหันมาสนใจและอยากทำงานในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษา

ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีโอกาสทางการศึกษาดีคนหนึ่ง ตอนมัธยมผมเรียนที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ได้เกรด 2 กว่าบ้าง 3 บ้าง แต่ก็ยังเรียนมาได้อยู่ จุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งผมได้มีโอกาสไปสอนน้องคนหนึ่งช่วงหลังเลิกเรียน และเห็นถึงความพยายามและความตั้งใจของเด็กคนนั้น ตรงนี้ก็ทำให้ผมคิดอย่างหนึ่งว่า ในโลกนี้ไม่มีใครไม่ฉลาดหรอก มีแต่คนที่ยังไม่ได้รับการปลดล็อกศักยภาพในตัวเองมากกว่า

พอมาถึงช่วงปริญญาตรี ผมมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมนิยามว่าเป็นช่วงเวลาของการส่องสะท้อนตัวเอง คือเริ่มคิดมากขึ้นว่า ถ้าคนอื่นมีโอกาสทางการศึกษาและคว้ามันไว้ เขาจะไปได้ไกลกว่าเรามากแค่ไหน ประกอบกับตอนนั้น อาจารย์ถามว่าจบปริญญาตรีแล้วอยากทำงานอะไร เพื่อนประมาณ 3 ใน 4 ของห้องบอกว่า อยากทำ Teach For America ตอนนั้นผมได้ยินชื่อนี้เป็นครั้งแรก ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ก็ได้แต่นั่งงงว่ามันคืออะไร ทำไมถึงอยากเป็นครูกัน

พอตอนเรียนชั้นปี 4 ผมบอกคุณพ่อว่ายังไม่อยากกลับเมืองไทยหลังเรียนจบ คุณพ่อก็ให้หางานอะไรทำ และพูดถึง Teach For America ขึ้นมา ตอนนั้นผมนึกได้ว่าตัวเองเคยได้ยินชื่อนี้มาแล้ว เลยลองไปหาข้อมูลดู เห็นว่าเป็นงานแรกที่ให้นักศึกษาจบใหม่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้จริงๆ ผมมองว่านี่เป็นการสร้างผลบางอย่างที่จับต้องได้ก็เลยสนใจและอยากลองสมัครดู แต่หนึ่งในข้อกำหนดของเขาคือ ผู้สมัครต้องเป็นคนสัญชาติอเมริกันเท่านั้น พอเป็นแบบนี้ผมก็สมัครไม่ได้ เลยลองกลับมาหาดูว่ามีของไทยไหม แต่ก็ไม่มีอีก เราเลยคิดจะตั้ง Teach For Thailand ขึ้นมา

 

คุณให้นิยามที่เป็นรูปธรรมได้ไหมว่า Teach For Thailand คืออะไร ทำงานอย่างไร และมีกระบวนการอะไรบ้างในการนำโมเดลนี้เข้ามาในไทย

ต้องอธิบายก่อนว่า ก่อนหน้าเรามี Teach For America ซึ่งเป็นของสหรัฐฯ และมี Teach First ในฝั่งอังกฤษ ซึ่ง 2 องค์กรนี้มีแนวคิดคล้ายกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย จนประมาณช่วงปี 2006-2007 มีหลายคนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกติดต่อ Wendy Kopp ผู้ก่อตั้ง Teach For America และ Brett Wigdortz OBE ผู้ก่อตั้ง Teach First ไปว่า อยากทำโครงการดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูงมาเปลี่ยนแปลงสังคมบ้าง ทั้งสองคนจึงจับมือกันก่อตั้ง Teach For All ขึ้นมา ซึ่งตอนที่ผมติดต่อไปที่ Teach For All เขามีพันธมิตรอยู่ประมาณ 7 ประเทศทั่วโลก และตอนนี้เพิ่มเป็น 58 ประเทศแล้ว

โมเดลของเขาคือการนำคนที่มีศักยภาพสูงและจบสาขาวิชาต่างๆ มาทำงานเป็นครูก่อน 2 ปี จากนั้นจึงผลักดันให้คนกลุ่มนี้ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบต่อ ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมขึ้นและให้เชื่อมกับบริบทของประเทศไทย การทำงานของ Teach For Thailand ก็ใช้โมเดลเดียวกัน คือรับสมัครคนที่จบจากสาขาวิชาใดก็ได้มาเข้ากระบวนการคัดเลือกของมูลนิธิ ถ้าผ่านการคัดเลือกแล้วจะได้เซ็นสัญญาและได้ไปสอนในโรงเรียนรัฐบาล ทำงานร่วมกับคุณครูในโรงเรียนและได้สอนนักเรียนจริงๆ เราถือว่าพวกเขาเป็น ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ ที่จะทำงานร่วมกับชุมชน และช่วยให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อครบ 2 ปีแล้ว พวกเขาจะกลายเป็น ‘ศิษย์เก่า’ ที่กระจายตัวไปทำงานในทุกภาคส่วนของสังคม และนำประสบการณ์ที่ได้มาผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เพื่อจะได้เกิดประโยชน์กับเด็กและเยาวชนต่อไป

สำหรับการนำโมเดลนี้เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากโมเดลนี้ไม่ใช่โมเดลแบบ fast food chains ที่ใครอยากเปิดก็เปิดได้เลย จึงต้องนำมาปรับให้เข้ากับบริบทต่างๆ ของบ้านเราด้วย

 

คุณมีวิธีปรับโมเดลจากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทยอย่างไร เคยเจอปัญหาการเข้ากันไม่ได้เพราะความต่างทางวัฒนธรรมบ้างไหม

ผมเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility) ก่อนว่า การศึกษาไทยมีปัญหาอะไรบ้าง แนวคิดการทำงานแบบนี้จะแก้ปัญหาได้ไหม และจะนำคนที่ไม่ได้จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เข้ามาในระบบอย่างไรให้ยั่งยืน โดยเริ่มทำตั้งแต่ช่วงปี 2009 และหยุดไปชั่วคราวในปี 2010 ประกอบกับตอนนั้นผมต้องย้ายไปทำงานที่สิงคโปร์ด้วย แต่ทำอยู่ได้ประมาณ 1 ปี ก็ได้รับคำชวนให้ไปดูงานที่ Teach For America ได้เจอเพื่อนจากหลากหลายชาติ ทำให้ผมเริ่มกลับมาสนใจตรงนี้อีกครั้ง เลยตัดสินใจลาออกจากงานที่สิงคโปร์เพื่อกลับมาทำ Teach For Thailand

ตอนนั้น ผมมองว่าถ้าทำได้ก็คือได้ แต่ถ้าไม่สำเร็จจริงๆ ก็ยังมีอีกทั้งชีวิตเพื่อเรียนรู้จากบทเรียนตรงนี้ พอมาทำงานจริงๆ ผมไม่เจอการเข้ากันไม่ได้ของวัฒนธรรมเลยนะ เพราะองค์กรบริหารงานโดยคนไทย แต่เจอปัญหาอื่นเยอะแยะเลย (หัวเราะ)

 

ปัญหาที่ว่าเช่นอะไรบ้าง

เอาง่ายๆ เลย เวลาคุณจะตั้งองค์กรอะไรต้องมีหุ้นส่วนมาร่วมมือใช่ไหม แต่เวลาผมไปหาผู้ใหญ่เพื่อขอทุนสนับสนุน ผู้ใหญ่มักจะบอกว่า ไม่มีใครทำแบบนี้หรอก เพราะเยาวชนไทยไม่น่าจะสนใจอะไรแบบนี้ มันอาจจะเวิร์กที่สหรัฐฯ แต่ไม่ใช่ที่ไทย พูดง่ายๆ คือหลายคนตั้งคำถามกับบทบาทและศักยภาพของโครงการ เพราะเขาไม่เชื่อว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่จะลงทุนกับเวลา 2 ปีมาทำอะไรแบบนี้

อีกเรื่องคือ ความซับซ้อนของการทำงานกับภาครัฐ เพราะในตอนแรก โจทย์ของผมคือการทำให้รัฐมาจ่ายเงินเดือนครูในโครงการ จริงอยู่ที่เอกชนทำโครงการแบบนี้ได้ แต่ผมรู้สึกว่านั่นคือหน้าที่ของรัฐ เพราะประเทศนี้ไม่ควรถูกบริหารด้วยเอกชน แต่ควรเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมากกว่า แต่นี่ก็เป็นเรื่องท้าทายจนถึงทุกวันนี้แหละ เพราะต้องบอกว่า เรายังไม่สามารถทำงานกับภาครัฐได้อย่างที่เราตั้งเป้าไว้ แต่ก็เป็นที่องค์กรเราด้วยที่ตัดสินใจว่า การทำงานกับภาครัฐต้องมีความพร้อมทางการเงินมากกว่านี้ระดับหนึ่ง แต่ตอนนั้นหรือแม้แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่มีความพร้อมขนาดนั้น (หัวเราะ) เลยกลายเป็นว่าเราส่งครูไปทำงานในโรงเรียนรัฐ โดยส่วนใหญ่มีเอกชนสนับสนุนเงินเดือนให้พวกเขาในแต่ละเดือน

เวลาครูของเราเข้าไปทำงานในโรงเรียนรัฐ โดยรัฐเป็นผู้จ่ายเงินเดือน เราเคยเจอปัญหาที่เงินเดือนของพวกเขาตกเบิก 2-3 เดือน แต่พูดตรงๆ คือ เราก็ไม่สามารถจ่ายเงินให้พวกเขาล่วงหน้าได้เหมือนกัน เราเลยเห็นว่านี่แหละคือระบบของรัฐ ซึ่งมันก็ไม่ผิดนะ แต่ทำให้เห็นและเข้าใจถึงประสิทธิภาพของการบริหาร มันคือโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า ผมจึงจะถามคนของเรากลับตลอดว่า พอเห็นปัญหาแบบนี้แล้ว คุณจะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำยังไงให้มันดีขึ้น เพราะถ้าไม่มีคนเข้าไปพัฒนาในทุกๆ ระดับ ไม่ว่าอีกกี่ปีก็ยังจะเป็นแบบนี้อยู่

นอกจากปัญหานอกโครงการแล้ว เราก็เจอปัญหาในโครงการเช่นกัน อย่างการส่งครูเข้าไปทำงานในโรงเรียน สิ่งที่เราเจอคือ คนที่เราคัดเลือกมามีไฟแรงมาก แต่บางครั้งไฟของเขากลับเผาทุกอย่างระหว่างทาง เราเลยต้องปรับเปลี่ยนวิธีคัดสรรบุคลากร รวมถึงพัฒนาคนของเราด้วยการทำงานร่วมกับอาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาและทักษะ ซึ่งตอนนี้เรายังคงเรียนรู้และปรับจูนแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

 

 

คุณบอกว่า Teach For Thailand จะคัดเลือกคนที่มีศักยภาพสูงและอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงมาเป็นครู แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า คุณสมบัติเหล่านี้ฟังดูเป็นนามธรรมพอสมควร แล้วทางมูลนิธิมีขั้นตอนการคัดเลือกอย่างไร เราจะทำคุณสมบัติที่ว่าให้เป็นรูปธรรมอย่างไร

เราดูจาก 3 ปัจจัยหลัก อย่างแรกคือเรื่องทักษะ ซึ่งเราเน้นไปที่ทักษะการสื่อสารและการโน้มน้าวใจ เพราะเขาต้องทำงานร่วมกับคนอื่นมากมาย ทั้งกับเด็กและคุณครูด้วยกันเอง รวมไปถึงทักษะในการวางแผน คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และที่สำคัญคือ ทักษะที่เขาจะสามารถสะท้อนมองและพัฒนาตนเองได้อยู่ตลอดเวลา

อย่างที่สองคือเรื่องความสำเร็จ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธนะว่าดูเรื่องเกรดเฉลี่ยประกอบด้วย แต่นั่นก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญทั้งหมด เพราะเราจะดูประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาร่วมด้วย และสุดท้ายคือเรื่องแรงผลักดันในตนเอง เราหาคนที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน เชื่ออะไรคล้ายๆ กัน ที่สำคัญคือต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย

เวลาเราพิจารณาคุณสมบัติเหล่านี้ เราจะเริ่มดูตั้งแต่ใบสมัครเลย คนที่จะสมัครเข้ามาต้องกรอกใบสมัครออนไลน์ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง คำถามในใบสมัครจะสอดคล้องกับคุณสมบัติที่เราต้องการ ถ้าเขาผ่านการกรอกใบสมัครออนไลน์แล้ว จะมีการทดสอบการคิดเชิงวิพากษ์ก่อน ถ้าผ่านก็จะเชิญมาทำกิจกรรมร่วมกับเรา 1 วันเต็มๆ มีทั้งการทำกิจกรรมทดลองและทดสอบความรู้ในวิชาที่เขาจะสอน (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ) การสัมภาษณ์ และการทำกิจกรรมกลุ่ม ถ้าเขาผ่านทั้งหมดนี้ก็จะได้เซ็นสัญญาเข้าโครงการ เป็น fellow ของเรา และเข้ารับการอบรมก่อนไปสอนจริงต่อไป

 

ทางมูลนิธิมีวิธีคัดเลือกโรงเรียนให้กับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างไร

ในช่วงแรกเริ่ม เราทำงานกับทางกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเกณฑ์และให้ทาง กทม. เลือกโรงเรียนกลับมา แต่ในการทำงานจริงพบว่ายังประสบปัญหาในการทำงานระหว่างครูจากโครงการฯ กับโรงเรียน เราจึงกลับมาเปลี่ยนวิธีการคัดเลือก ด้วยการเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนมารับฟังคำอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดโครงการ แล้วจึงสอบถามว่าท่านสนใจให้โรงเรียนเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าครูจากโครงการฯ จะได้ทำงานจริงๆ เกณฑ์คือต้องได้สอนวิชาหลักอย่างน้อย 9 ชั่วโมง และอาทิตย์หนึ่งต้องได้สอนไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง

 

เข้าใจว่า คนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ไม่ได้จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มาโดยตรง แล้วเราเจอความท้าทายอะไรบ้างกับการที่คนซึ่งไม่ได้จบครูโดยตรงเข้าไปสอนในโรงเรียน

มีแน่นอนครับ ทุกงานต้องเจออุปสรรคหรือความท้าทายอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า fellow ที่เราคัดเลือกเข้ามาปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน ความท้าทายหนึ่งที่เรามักเจอคือ การเผชิญกับทัศนคติที่ว่า ผู้ที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรงจะสอนอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องใช้เวลา รวมถึงใช้ทักษะและความทุ่มเทของครูในโครงการเป็นเครื่องพิสูจน์ และอย่างที่ผมบอกไปว่า ครูของเราบางคนไฟแรงมาก แต่ไฟเผาทุกอย่างระหว่างทาง คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เหมือนกัน

สำหรับผม การที่คนอยากเข้ามาพัฒนาระบบการศึกษา ไม่ว่าจะจบสาขาใดล้วนเป็นเรื่องดี ผมเชื่อว่าครูที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มาโดยตรงและทำงานอยู่ในระบบก็มีคุณภาพเยอะ แต่ก็ยังมีอีกหลายวิชาที่ยังขาดแคลนคุณครูอยู่ ผมเลยมองว่า การที่ให้คนที่มีศักยภาพสูงเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจและสอนสิ่งต่างๆ ให้กับเด็กได้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันมากกว่า และถ้าพูดตามตรง คำถามไม่น่าจะอยู่ที่ว่า “คุณเรียนจบคณะอะไรมา” แต่น่าจะอยู่ที่ว่า “สอนนักเรียนได้หรือเปล่า” คือต้องถามก่อนว่า เรามองที่อะไรกันแน่ มองคณะที่เรียนจบมาหรือมองผลที่เกิดกับเด็ก ซึ่งผมคิดว่าการวัดผลการศึกษาควรดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กมากกว่า

เพราะฉะนั้น การจบครูสำคัญ แต่การเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาก็สำคัญเหมือนกัน เพราะสองสิ่งนี้ช่วยเสริมเติมควบคู่กันไปได้ ไม่จำเป็นต้องสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งโดยสิ้นเชิง

 

ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวและตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราแทบจะไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อนในระบบการศึกษาไทย คุณมองเรื่องนี้อย่างไร และในเมื่อเด็กออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ ผู้ใหญ่ควรจะตอบสนองอย่างไร

ผมมองว่า เด็กกล้าอยู่แล้ว และรู้สึกดีใจนะที่คนรุ่นใหม่อยากออกเสียงตัวเองให้มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้แหละที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต เหมือนที่เขาบอกกันว่า “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” นี่จึงเป็นสิ่งที่ดีมากๆ โดยเฉพาะถ้าทุกคนมาด้วยเหตุผล และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

ถ้าให้มองในมุมของผู้ใหญ่ ผมคิดว่าผู้ใหญ่ควรใช้ความเป็นผู้ใหญ่ที่จะรับฟัง ขณะที่เด็กและเยาวชนก็ใช้สิทธิที่ตัวเองมีในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง แบบนี้ผมว่าแฟร์เกม แต่ทั้งนี้ ผมว่าผู้ใหญ่ก็ต้องถามตัวเองเหมือนกันว่า เราสร้างพื้นที่ให้เด็กได้พูดจริงๆ หรือเปล่า อาจจะเริ่มต้นจากโรงเรียนก็ได้ และเมื่อเด็กพูดออกมาแล้ว ผู้ใหญ่ได้รับฟังหรือพยายามเข้าใจเขาจริงๆ ไหม อย่าลืมว่า บางครั้ง ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รู้ดีที่สุด แต่เด็กก็ไม่ได้รู้ดีที่สุดเช่นกัน จะเห็นว่าไม่มีใครรู้ดีที่สุดหรอก เราจึงต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น ถ้าอยากให้คนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมหรือสร้างประเทศของเราให้ดีขึ้น ต้องเริ่มจากตอนเด็กและบ่มเพาะเขาขึ้นมา

 

 

ในฐานะคนที่ทำงานด้านการศึกษา คุณรู้สึกยังไงกับปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของเด็กที่เกิดขึ้น

การที่เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการทำและพูดสิ่งที่เขาคิดจริงๆ เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่สำหรับผม นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะเท่าที่ทำงานตรงนี้มา ผมเห็นแล้วว่าเด็กไทยมีศักยภาพ อยากจะพูดและมีสิทธิมีเสียง ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องสังคม แต่ทุกเรื่องเลย เพราะทุกคนอยากให้ประเทศและสังคมดีหมด ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและมีพลังแบบนี้อยู่ข้างใน แต่คำถามคือ อะไรจะเป็นตัวจุดประกายให้เขาออกมาเท่านั้นเอง ซึ่งตอนนี้อาจจะเพราะปัจจัยต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีด้วย ที่ทำให้เด็กและเยาวชนกล้าออกมามากขึ้น อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเปิดกว้างมากทำให้สื่อสารอะไรก็ได้ ถามว่าคนรุ่นก่อนหน้าคิดแบบนี้บ้างไหม ผมเชื่อว่าเขากล้านะ แต่อาจจะยังไม่มีจังหวะเวลาที่จะออกมาเท่านั้นเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องความแตกต่างของเจเนอเรชันมากกว่า

 

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิจนถึงปัจจุบัน คุณเห็นประเด็นอะไรที่น่าสนใจในการศึกษาไทยบ้าง และจะถอดบทเรียนจากการทำงานตรงนี้ออกมาได้อย่างไร

ข้อแรก ผมเห็นคนรุ่นใหม่อยากมาทำงานด้านการศึกษามากขึ้น ปีแรกที่เราเริ่มดำเนินการคัดเลือกคน มีคนส่งใบสมัครมาประมาณ 500 คน ซึ่งตอนนั้นไม่เคยมีใครได้ยินชื่อ Teach For Thailand มาก่อนเลย และยังมีคนส่งใบสมัครมาเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย

ปัจจุบัน เรามี fellow อยู่ประมาณ 90 กว่าคน และศิษย์เก่าอีกร้อยกว่าคนที่ทำงานในทุกภาคส่วนของประเทศ คนส่วนใหญ่ไม่ได้จบครูโดยตรง บางคนทำงานด้านอื่นมาก่อน แล้วจึงผันตัวเองเข้ามาทำงานด้านการศึกษา นี่แสดงให้ผมเห็นว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพสูง และสนใจอยากเข้ามาทำงานด้านการศึกษาจริงๆ

ข้อที่สอง สิ่งหนึ่งที่ผมถอดบทเรียนได้คือ มูลนิธิของเราไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ แต่เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมในการศึกษากับคนที่อยู่ในระบบนิเวศรอบข้างของเด็ก ตั้งแต่พ่อแม่ไปจนถึงโรงเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงมองว่าบทบาทของครูคือการดึงคนรอบตัวเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาด้วย เพราะครูทำทุกอย่างคนเดียวไม่ได้ หรือถึงทำได้ก็เกือบตายแน่ ไม่มีใครอยู่ได้หรอก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น การมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 

มีความท้าทายอะไรที่ Teach for Thailand อยากก้าวข้ามไปอีกไหม

หลายอย่างเลยครับ (หัวเราะ) หนึ่งในความท้าทายที่เรายังคงพยายามผลักดันอยู่อย่างต่อเนื่องคือการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการมากขึ้น  เช่น ช่วยสนับสนุนเงินเดือนครูในโครงการ และเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนควบคู่ไปกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

อีกความท้าทายหนึ่งคือ การชักนำคนที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นครู ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่ความท้าทายของมูลนิธิ แต่เป็นความท้าทายของทั้งระบบเลย จริงๆ ผมบอกทีมตลอดนะว่า ประเทศไทยไม่ควรมี Teach For Thailand เรากำลังพยายามทำทุกอย่างให้มูลนิธิของเราปิดตัวลงไปได้ เพราะระบบควรอยู่ได้ด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อมองย้อนกลับไป เราต้องดูตั้งแต่การพัฒนาระบบการผลิตบุคลากรครูในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และเมื่อครูเข้าไปทำงานในระบบการศึกษาแล้ว เขาจะได้รับการผลักดันศักยภาพอย่างไร เพื่อให้ครูที่ดีซึ่งแท้จริงแล้วยังมีอยู่มากมายในระบบการศึกษาไทยได้ทำงานและทำหน้าที่ของครูอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสอนและพัฒนาเด็กนักเรียน โดยไม่ถูกบั่นทอนเวลาไปกับสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญรองลงมา

 

เท่าที่ทำงานตรงนี้มา อะไรคือหัวใจสำคัญที่เป็นปัญหาของการศึกษาไทย

ไม่มีหัวใจสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา ผมว่าคำถามนี้อันตรายอย่างหนึ่ง เพราะการถามถึงหัวใจสำคัญจะทำให้คนคิดว่า คำตอบต้องเป็นอันใดอันหนึ่ง แต่ผมมองว่ามันไม่ได้มีปัจจัยใดที่เป็นหัวใจสำคัญแบบนั้น แต่เป็นหลายๆ อย่างรวมกัน ทำงานเป็นวัฏจักรทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ทั้งวิธีคิด ฐานะทางเศรษฐกิจ และฐานะทางสังคมของคน

ถ้าถามว่า แล้วเราควรจะแก้ไขอย่างไร ในมุมของ Teach For Thailand เราพยายามผลักดันผู้ที่มีศักยภาพให้ไปทำงานในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน สมมติว่าคนปรับเปลี่ยนวิธีคิดได้ แต่ระบบ เศรษฐกิจ และสังคมไม่เปลี่ยน ปัญหาการศึกษาไทยก็คงจะยังอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น เราจึงใช้คำว่าการสร้าง ‘ผู้นำ’ ทั้งผู้นำในตัวนักเรียน ครูในโครงการ คนที่เราร่วมมือด้วย และสร้างการเป็นผู้นำที่ยั่งยืนให้ชุมชนที่ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการศึกษาเช่นกัน

 

 

แน่นอนว่า คนที่เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกัน หลายคนอาจมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า การรวมตัวกันเช่นนี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มชนชั้นนำหรือชนชั้นกลางในสังคม คุณคิดอย่างไรกับข้อวิจารณ์เหล่านี้ และถ้ามองให้ไกลกว่านั้น เราจะทำให้คนที่อยู่บนหอคอยงาช้างมีโอกาสสัมผัสและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการศึกษาและสังคมไทยได้อย่างไร

ไม่ผิดนะถ้าใครจะมองแบบนี้ แต่ผมบอกได้เลยว่า คนที่เข้ามาในโครงการของเราหลากหลายมาก มีทั้งคนที่มีโอกาสในชีวิตมากมาย กับคนที่ต้องกู้เงินมาเรียน และความหลากหลายนี่แหละที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของโครงการ

ในกรณีที่เราเจอคนจากหอคอยงาช้าง คิดว่าตัวเองจะมาเข้าโครงการเพื่อช่วยกู้โลกอะไรประมาณนั้น ผมบอกเลยว่าคนที่มีวิธีคิดแบบนั้นแทบจะเข้ามาในโครงการเราไม่ได้เลย แต่ถามว่ามีหลุดเข้ามาไหม มีครับ แต่ในช่วงอบรมของเรา เราจะหาทางให้เขารู้จักตัวเองเลยว่า พอคุณเข้าไปในโรงเรียน คุณจะไม่ได้ทำสิ่งที่คุณอยากทำทั้งหมดนะ เราดูว่าเขาอยากทำอะไร เราต้องการอะไร และสิ่งเหล่านั้นจะยั่งยืนไหม ตรงนี้ต้องมาดูกัน

สมมติว่าคุณครูบอกว่า อยากให้เด็กทุกคนที่ตัวเองไปสอนพูดภาษาอังกฤษได้ ถามว่าเขาหวังดีไหม แน่นอนว่าเขาหวังดีครับ แต่คำถามคือ เด็กต้องการแบบนั้นจริงไหม เราต้องดูหลายๆ อย่างประกอบกันด้วย เพราะฉะนั้น เราเลยพยายามดีลให้ทุกคนเข้ามามีสิทธิมีเสียง มาบอกว่าเขาต้องการให้เกิดอะไรขึ้นในการศึกษา มาประเมินและหาสมดุลระหว่างความฝันของเขา ความฝันของชุมชน และความเป็นจริง จากนั้นจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านทางการสอน ผมบอกเสมอว่า นี่เป็นความพยายามระยะยาว เราสอนตอนนี้จะไม่เห็นผลทันทีหรอก แต่จะไปเห็นผลในอีก 10-15 ปีข้างหน้านั่นแหละ

 

คุณเจอคุณครูหรือศิษย์เก่าคนไหนที่น่าประทับใจมากๆ บ้างไหม

จริงๆ ผมประทับใจหลายคนมากเลย ถ้าพูดถึงคุณครู 90 คนที่สอนอยู่ใน 36 โรงเรียนตอนนี้ ผมนึกถึงคุณเจษฎา (ครูเจษ) ที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ที่โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม ในจังหวัดเชียงใหม่ ครูเจษเล่าให้ฟังว่า ม.3 ถือเป็นรุ่นที่ดื้อที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ครูเจษก็เล็งเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในพฤติกรรมสุดเฮี้ยว และได้ลองพาเด็กๆ ที่อยู่ในระดับกลางของห้องไปแข่งตอบคำถามวิทยาศาสตร์จนได้ที่ 4 จาก 80 โรงเรียน ซึ่งตรงนี้ทำให้ครูเจษเข้าใจว่า หากมีใครสักคนทุ่มเทถ่ายทอดและผลักดันศักยภาพของเด็กออกมาจริงๆ เด็กทุกคนย่อมฉายแววออกมาได้

แต่แน่นอนว่า ถ้าครูทุ่มเทฝ่ายเดียวก็คงยาก ครูเจษจึงใช้วิธีการให้เด็กๆ ตั้งเป้าหมายช่วยกันดึงคะแนน O-NET ขึ้นมาให้ได้ที่หนึ่ง เพราะสำหรับครูเจษแล้ว นี่คือการฝึกฝนและการวัดผลที่มากกว่าความรู้ แต่เป็นการขัดเกลาให้พวกเขารู้จักการใช้เป้าหมายนำทาง พอผลคะแนนออกมาปรากฏว่าเด็กๆ ทำคะแนนสูงกว่าระดับเขต ซึ่งแม้ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ช่วยกันตั้งไว้ แต่ก็ทำให้คะแนนรวมของโรงเรียนไต่ขึ้นมาจากอันดับ 5 เมื่อปีก่อน กลายเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มโรงเรียนขนาดกลางในเชียงใหม่

สิ่งที่สำคัญคือ นี่เป็นบทพิสูจน์ว่าไม่ว่าจะเป็นเด็กสะเมิงหรือที่ไหน ถ้าครูให้ความเชื่อมั่นในตัวเด็กแล้ว พวกเขาสามารถพัฒนาได้จริงๆ นี่คือตัวอย่างการพัฒนาที่เราเห็นผลได้อย่างชัดเจนในตัวนักเรียน จากการร่วมมือระหว่างครูเจษ นักเรียน ผู้บริหาร และคุณครูพี่เลี้ยงในโรงเรียน

นอกจากครูที่กำลังสอนอยู่แล้ว เรายังมีศิษย์เก่าทั้งหมด 137 คน ซึ่งมากกว่า 50% ยังทำงานเพื่อการศึกษา ส่วนคนที่เหลือก็ยังช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของมูลนิธิในการร่วมสร้างความเสมอภาคในสังคมต่อไป ซึ่งถ้าจะให้ผมยกตัวอย่าง ผมขอเล่าเรื่องของศิษย์เก่าสองคนนี้

คนแรกคือคุณกอล์ฟ เดิมจบด้านสาธารณสุข (อนามัยชุมชน) แต่คุณกอล์ฟสนใจด้านการจัดการเรียนรู้จึงมาเข้าร่วมโครงการ หลังจากผ่านโครงการ 2 ปี คุณกอล์ฟยังมี passion ที่จะทำงานในด้านการศึกษาต่อ ทำให้ปัจจุบัน คุณกอล์ฟเลือกทำงานเป็นผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนและครู ภายใต้มูลนิธิสยามกัมมาจล ทำงานกับครูจำนวน 600 กว่าคน ส่งผลต่อนักเรียนมากกว่า 10,000 คน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ

คนที่สองคือคุณมิว จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จากมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง คุณมิวเคยทำงานได้เงินเดือนหลายหมื่นมาก่อน แต่ตัดสินใจลาออกมาเข้าร่วมโครงการกับเรา

พอสอนปีแรก ผมถามเขาว่า จบโครงการไปแล้วอยากทำอะไรต่อ เขาตอบว่าอยากเรียน MBA และทำงานสายธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเลย ผมมองว่า ดีด้วยซ้ำที่เราจะมีผู้บริหารในภาคเอกชนที่รู้บริบทของสังคมด้วย แต่พอมาปีที่สอง ซึ่งเป็นปีที่จะสิ้นสุดโครงการแล้ว ผมถามเขาซ้ำด้วยคำถามเดิม แต่คราวนี้มิวตอบผมว่า เขาอยากเปิดโรงเรียนต้นแบบที่จะบอกเด็กว่า เด็กๆ สามารถเป็นอะไรได้มากกว่าที่เขาคิด  และการเข้าร่วมโครงการ Teach For Thailand ทำให้เขาได้เครือข่ายและคอนเนกชัน เพื่อที่อีก 15-20 ปี เขาจะสามารถเปิดโรงเรียนได้

สำหรับผม นี่คือการสร้างความเข้าใจ (empathy) ของคนในสังคมให้รู้ซึ้งถึงปัญหาและความเป็นไปได้ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด และเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่งไป มันน่าทึ่งนะ จากคนที่จบสาขาหนึ่งซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการศึกษาเลย แต่มาบ่มเพาะประสบการณ์ 2 ปี จนพัฒนาต่อยอดความคิดและอยากทำงานด้านการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเรามีคนแบบนี้อีกเป็นร้อยคนในโครงการ ผมถึงภูมิใจกับ Teach For Thailand มากๆ

 

คุณวาดภาพ Teach For Thailand ในอนาคตไว้อย่างไร

ตอนนี้เราทำงานใน 13 จังหวัด มีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 40-50 โรงเรียน เบื้องต้น เราอยากทำงานใน 13 จังหวัดให้ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงอยากดึงพันธมิตรในจังหวัดเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษาด้วย และในอนาคต ถ้าทุกอย่างเริ่มลงตัว พันธมิตรเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นแล้ว เราก็เริ่มคิดถึงการถอนตัวออกจากชุมชนต่างๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปีแรก

ถ้ามองในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ผมหวังว่าจะเห็นศิษย์เก่าของเราไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ โดยอยู่ในจุดที่เขาสามารถจะออกนโยบายหรือขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ ตอนนี้ก็เริ่มเป็นแบบนั้นแล้วแหละ แต่ผมอยากให้มันไปไกลกว่านี้อีก

 

 

หลายคนมักยกฟินแลนด์เป็นโมเดลการศึกษาที่สำคัญ คุณมองว่า ไทยเรียนรู้อะไรจากฟินแลนด์ได้บ้าง

เราต้องเริ่มจากการดูว่าไทยอยากเป็นอะไร เรามีอะไรดี จะให้เป็นฟินแลนด์เลยคงไม่ใช่ เพราะบริบทหลายอย่างต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากฟินแลนด์คือ เขาดึงคนศักยภาพสูงมาเป็นครู คนเก่งๆ ที่ฟินแลนด์ทุกคนอยากเป็นครู และครูที่ฟินแลนด์ออกแบบการศึกษาเองตามบริบทความต้องการของชุมชน ผมว่าเราเริ่มจากการเปลี่ยนตรงนี้ได้นะ แต่เราต้องถามตัวเองด้วยว่า เราพร้อมจะเปลี่ยนจริงๆ ไหม เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ผมคิดว่าเราฝันได้ และต้องมีวินัยที่จะลงมือทำให้ไปถึงความฝันนั้น โดยเฉพาะถ้าจะเปลี่ยนสิ่งที่เราคุ้นชินมาตลอด ตรงนี้เราก็ต้องเลือกด้วย

ที่สำคัญคือ ตัวคนวางระบบเองต้องตอบให้ได้ว่า เราต้องการสร้างคนแบบไหน เพราะเรากำลังจะวางแผนให้ประเทศ แล้วประเทศในอีก 5-10 ปีข้างหน้าอยากเป็นแบบไหน เราต้องตอบให้ได้ และออกแบบระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย

 

คุณฝันอยากจะเห็นโลกการศึกษาแบบไหนในอนาคต

ผมฝันถึงโลกที่ถ้าผมมีลูก ผมอยากส่งลูกเรียนใกล้บ้านได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเป็นแสนหรือเป็นล้านต่อปีเพื่อซื้อโอกาสทางการศึกษาให้กับลูก โลกที่ลูกของผมสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่ดีในชีวิตได้ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่ดีเท่าเทียมหรือดีกว่าที่ผมเคยได้รับมา นี่คือความฝันของผม และควรจะเป็นความฝันของคนอื่นด้วย

ไม่ควรมีพ่อแม่คนไหนใช้เงินเป็นแสนเป็นล้านเพื่อซื้อการศึกษาที่ดี เพราะการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพควรเป็นสวัสดิการจากภาครัฐที่มอบให้กับสังคม และผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าศิษย์เก่าในโครงการเริ่มไปทำงานในระดับผู้บริหาร เปิดโรงเรียนเอง เป็นผู้บริหารภาคเอกชน เป็นรัฐมนตรี หรือไปทำงานเพื่อสังคมที่คอยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ผมว่านี่ไม่ใช่ความคิดที่สวยหรูเลย แต่มันเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเราพร้อมจะอดทนและทำงานหนักเพื่อมัน

ทุกวันนี้ผมยังเห็นความหวังอยู่เสมอ เพราะถ้าไม่เห็นคงไม่ทำหรอก (หัวเราะ) เราทำตรงนี้มา 7 ปี เห็นว่าประสบการณ์ในปัจจุบันกำหนดทิศทางชีวิตในอนาคตได้ทั้งตัวคุณครูและตัวเด็กเอง แต่แน่นอน ระยะเวลาการเป็นครูในโครงการแค่ 2 ปีคงไม่เพียงพอกับการพลิกทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และทำให้หลายคนเข้ามาร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save