fbpx

วิจักขณ์ พานิช: ว่าด้วยที่ทางของความศรัทธา ความรัก และความโกรธในยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง 

“เราเดินทางมาถึงจุดที่ภาวะสูญสิ้นศรัทธาทำให้ทุกคนป่วยกันหมด เราไม่ไว้วางใจกับอะไรเลย ความสัมพันธ์ ครอบครัว มิตรภาพ ครูบาอาจารย์ … ศาสนานี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง” คือถ้อยคำที่ วิจักขณ์ พานิช โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา เพื่อบรรยายสภาพสังคมและผู้คนที่เขาเห็นในปี 2565 ยุคสมัยที่เขามองว่ามนุษย์สูญสิ้น ‘ศรัทธา’ ทั้งต่อตนเองและคนรอบกาย

นอกจากหมวกของนักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนาแล้ว อีกหมวกหนึ่งของวิจักขณ์ที่หลายคนอาจรู้จักคือผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา (Vajrasiddha Institute of Comtemplative Learning) พื้นที่การภาวนาและใคร่ครวญด้วยใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความสนใจไม่น้อยจากคนรุ่นใหม่

ช่วงที่ผ่านมา มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมืองให้ความสนใจการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณเพิ่มขึ้น และสถาบันวัชรสิทธาก็กลายเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ เป็นที่ทางในการแสวงหาคุณค่าทางศาสนธรรมแบบโลกวิสัยที่คนรุ่นใหม่บางส่วนเข้ามาใช้พื้นที่ จนเป็นที่บอกกันปากต่อปากว่านี่คือพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งการเยียวยาในที่นี้ ‘ความศรัทธา’ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่อาจสร้างพลังให้เหล่านักเคลื่อนไหวทางการเมือง

แม้ในมุมมองของใครหลายคน ‘ศรัทธา’ อาจดูเป็นคำพูดเพ้อฝันล่องลอย แต่ในขณะเดียวกันหลายคนกลับพยายามกอดเก็บมันไว้สุดแรงกล้า และปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไม่สูญเสียศรัทธาไป แท้จริงแล้วความศรัทธาคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อมนุษย์ ถ้าคนเราไม่มีศรัทธาจะเป็นเช่นไร และยังมีที่ทางอยู่หรือไม่ในสังคมที่ผู้คนไร้ซึ่งความหวังเช่นนี้

101 พูดคุยกับ วิจักขณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา และคุณพ่อของลูกสาววัยทีนถึงมุมมองที่เขามีต่อคำคำนี้ การทำงานกับศรัทธาท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบบังคับให้มนุษย์หมดศรัทธา รวมถึงคำถามที่หลายคนสงสัยว่าความศรัทธานั้นมีความหมายอย่างไรในการต่อสู้ทางการเมือง

นิยามของคำว่า ศรัทธา สำหรับคุณคืออะไร และทำไมคนเราต้องมีศรัทธา

เรามองคำว่า ‘ศรัทธา’ เป็นคำเดียวกับคำว่า ‘ความรัก’ ศรัทธามีพลังเพราะเป็นสิ่งที่เหนือไปจากเงื่อนไขของตรรกะและเหตุผล จุดเริ่มต้นของการมีศรัทธาต้องเกิดขึ้นจากความรักที่เรามีต่อตัวเอง ศรัทธาในที่นี้หมายถึงศรัทธาในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ในตัวเรา ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว มีงานหรือไม่มีงาน มีเงินหรือไม่มีเงิน เราก็มีศรัทธาต่อตัวเองได้ 

เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักไม่ได้ถูกสอนมาแบบนี้ เรามักถูกสอนว่าเราจะศรัทธาในตัวเองได้ก็ต่อเมื่อประสบความสำเร็จ เก่ง หรือเป็นที่ยอมรับ ซึ่งความศรัทธาแบบนี้ล้วนมีเงื่อนไขและถูกผูกโยงอยู่กับค่านิยม ความเชื่อประเพณี หรือกระทั่ง ‘ความดี’ ที่คนอื่นเป็นคนกำหนด

แต่ในแง่มุมทางจิตวิญญาณ ศรัทธามีความหมายลึกไปกว่านั้น ศรัทธาหรือความรักในตัวเองเป็นประสบการณ์ที่พ้นไปจากเงื่อนไขต่างๆ ที่สังคมกำหนด ไม่ว่าเราจะไปเจออะไรมา ไม่ว่าเราจะถูกใครมองว่าเป็นคนอย่างไร ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานหรือคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร เราก็มีศรัทธาในตัวเองได้ 

เรื่องนี้เชื่อมโยงกับคุณค่าทางจิตวิญญาณที่มนุษย์พยายามตอบคำถามว่าฉันคือใคร ฉันเกิดมาทำไม ฉันมีคุณค่าอะไรต่อโลกใบนี้ คุณค่าทางจิตวิญญาณเหล่านี้ไม่ควรผูกโยงอยู่กับปัจจัยหรือเงื่อนไขภายนอก เราไม่ควรต้องมากังวลกับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับเรา เป็นอิสระจากการตัดสินหรือตีค่าพวกนั้น และมีพื้นที่ทางจิตวิญญาณให้เราได้เติบโตงอกงามในสภาวะของการไม่ถูกบีบคั้นหรือกดดันจากใคร ซึ่งถึงจุดหนึ่งความรักหรือศรัทธาในตัวเองแบบนี้ก็จะขยายไปสู่ศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ ที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วย

จากนิยามที่คุณว่ามา ความศรัทธากับความหวังเหมือนกันไหม

เราคิดว่าเป็นพลังงานแบบเดียวกัน ศรัทธาคือพลังงานของความรักและความหวัง เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีพลังบวก เหมือนตอนเราเป็นเด็ก แม้เราจะยังหาเงินเองไม่ได้ ไม่มีงานทำ แต่เด็กๆ ต่างก็มีศรัทธาต่อโลกใบนี้ รู้สึกว่าชีวิตสนุกสนาน โลกนี้เป็นไปได้ เราได้วิ่งเล่นกับเพื่อน จินตนาการถึงสิ่งใหม่ๆ ลองผิดลองถูก ออกไปสำรวจโลก ความรู้สึกที่ได้ปลดปล่อยพลังออกไปทำให้พวกเขาอยากเอาพลังที่ตัวเองมีไปเชื่อมโยงกับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และเราคิดว่าพลังงานแบบนี้แหละคือพลังงานแห่งความรักและศรัทธาในตัวเอง

ในทางกลับกัน แน่นอนว่าถ้าเราเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่รักหรือใช้ความรุนแรงกับเรา มันก็จะเป็นปมที่กดพลังงานเหล่านั้นและส่งผลต่อชีวิตของเขาในระยะยาว ทำให้สูญเสียศรัทธาต่อตัวเองและมนุษย์คนอื่นไป

คุณบอกว่าปี 2565 ที่ผ่านมาคือยุคสมัยที่ผู้คนตกอยู่ในภาวะสูญสิ้นศรัทธาและมีปัญหาต่อคำคำนี้กันมากที่สุด ภาวะสูญสิ้นศรัทธาที่คุณหมายถึงคืออะไร และอะไรทำให้คนคนหนึ่งสูญสิ้นศรัทธา

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ผู้คนไม่ได้รับการเคารพสิทธิเสรีภาพ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิทธิมีเสียง และไม่มีใครสนใจการแสดงออกทางความคิดของเรา สภาพการณ์ทางการเมืองเชื่อมโยงกับทุกเรื่องนะ การเมืองส่งผลต่อครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมถึงส่งผลต่อประเพณีวัฒนธรรม ยิ่งการเมืองมีความรุนแรงและแบ่งฝ่ายชัดเจนขนาดนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าค่านิยม วัฒนธรรมความดี หรือชุดคุณค่าเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตหรือพัฒนาไปพร้อมกับประสบการณ์ในชีวิตของเขาได้ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองถูกปิดกั้นจากทุกทาง

ยิ่งพอคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้เรียกร้องในประเด็นที่สำคัญอย่างมากในยุคสมัยของพวกเขา แต่นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจกลับกำราบ สลายการชุมนุม และใช้ความรุนแรงต่อพวกเขา พลังแห่งการตื่นรู้ที่ควรจะเกิดขึ้นก็ถูกกดลงไปกลายเป็นความอัดอั้น แทนที่เขาจะได้มีพลังงานที่สร้างสรรค์ แทนที่สังคมจะมีพื้นที่ให้คนลองผิดลองถูก ลองสร้างจินตนาการใหม่ๆ แต่เมื่อพลังงานเหล่านั้นไม่ถูกใช้ ก็กลับกลายเป็นพลังงานลบที่เก็บกักไว้ข้างใน กลายเป็นความโกรธหรือความรู้สึกลบๆ ต่อผู้มีอำนาจและต่อสังคมที่เขาอยู่ ซึ่งเข้าใจได้มากๆ 

พลังงานของการเรียนรู้และตื่นรู้ของคนหนุ่มสาวถูกกดกำราบจนหมดจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยิ่งสภาพแวดล้อมแบบนี้ ในสภาวะที่สังคมไม่มีอะไรดีขึ้นเลย โดนซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 รถติดเหมือนเดิม ขนส่งมวลชนยังเหมือนเดิม สวัสดิการแย่เหมือนเดิม ฝุ่น pm2.5 ก็ยังเหมือนเดิม หลายๆ อย่างทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีหวัง เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ไม่รู้ว่าการมีอยู่ของตัวเองในสังคมนี้จะช่วยให้อะไรดีขึ้น การใช้ชีวิตต่อไปจะทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร รู้สึกหมดพลัง สูญสิ้นความหมาย และกลายเป็นสภาวะที่คนไม่มีศรัทธาและไม่มีความรักให้กับสิ่งใดเลยแม้แต่กับตัวเอง

และอย่างที่บอกไปว่าศรัทธาเป็นพลังงานที่พวกเราทุกคนต่างเคยมี ในวัยเด็กเราเคยมองโลกอย่างมีความหวัง มองโลกด้วยความรัก มองว่าโลกนี้มีความเป็นไปได้มากมาย เพียงแต่พลังงานเหล่านั้นถูกทำให้ลดน้อยถอยลงเมื่อเราโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะสังคม ครอบครัว การศึกษาหรืองานที่เราทำ ยิ่งในช่วงเวลาที่ตกอยู่ในสภาพสังคมที่ถูกปิดกั้นจากทุกทาง ทำให้เรามองไม่เห็นความหวังหรือความเป็นไปได้มากนัก สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้คนกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องภายในของตัวเองกันมากขึ้น กลับมาสนใจเรื่องคุณค่าทางจิตวิญญาณจนเกิดเป็นคำถามว่าเราอยู่ไปทำไม เราเกิดมาทำไม คุณค่าของเราคืออะไร ซึ่งคำถามเหล่านี้จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจเรื่องการดำรงอยู่พื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก รวมถึงเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณ

ในฐานะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความศรัทธาโดยตรง คุณทำงานกับคนที่กำลังสูญสิ้นศรัทธาหรือตั้งคำถามต่อชีวิตอย่างไร

เราคิดว่าการสร้างพื้นที่ที่เปิดกว้างต่อคำถามต่างๆ หรือรับฟังความรู้สึกของผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเขาต้องการเข้ามาเยียวยาตัวเอง เขาควรรู้สึกว่าตัวเองได้รับการต้อนรับ คำถามและความรู้สึกเหล่านั้นในที่สุดก็ได้รับการได้ยิน และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน รวมถึงการสร้างชุมชนของผู้คนที่มีคำถามคล้ายกัน มีประสบการณ์คล้ายกัน และสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเรียนรู้กับคนอื่นๆ ได้ 

เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ขึ้น ประสบการณ์จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการตื่นรู้และการเข้าใจชีวิต ความทุกข์ในลักษณะนี้เป็นความทุกข์ร่วมสมัย และสังคมควรให้ความสนใจว่าคนหนุ่มสาวหรือผู้คนที่แสวงหาคุณค่าเหล่านี้เขากำลังเจอความทุกข์ในระดับใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นระดับส่วนบุคคล ระดับความสัมพันธ์ ระดับสังคม หรือระดับโลก

คิดว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังอย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง

มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความสิ้นหวังอย่างสมบูรณ์ ถ้าเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ในอดีตมีสังคมมนุษย์ที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่กว่าตอนนี้อีกเยอะ อย่างสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สภาวะสังคมตอนนั้นคงมีความรู้สึกที่ย่ำแย่มากๆ แต่มนุษย์เราก็ผ่านมาได้

หลายครั้งคำว่าศรัทธามักถูกผูกติดกับความเชื่อทางศาสนา ในความคิดของคุณสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันไหม 

ไม่เกี่ยวกันเลย หลายคนมีปัญหากับคำว่าศรัทธาเพราะมันเป็นคำที่ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการเมืองสังคม ครอบครัว การศึกษา หรือแม้แต่ถูกเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีมาในอดีต แต่ศรัทธาในความคิดของเราคือศรัทธาในความเป็นมนุษย์ ศรัทธาในธรรมชาติของตัวเราเอง

คุณมองว่าปัญหาของความเชื่อหรือความศรัทธาทางศาสนาในสังคมไทยคืออะไร

ศาสนาพุทธแบบเถรวาทในไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง โดยเฉพาะความเรียบง่ายและความธรรมดาสามัญที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เราชอบมิติความเป็นกันเองและเรียบง่ายของพุทธเถรวาทมาก และรู้สึกว่าจริงๆ แล้วแนวคิดนี้มีคุณูปการเยอะมากต่อวัฒนธรรมไทยในสมัยก่อน ทำให้พุทธศาสนาเชื่อมโยงกับชนบทหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น

แต่ปัญหาของพุทธเถรวาทในปัจจุบันคือการที่ศาสนาถูกเอาไปผูกกับสถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ ทำให้พุทธเถรวาทพลิกจากความเรียบง่ายและความเป็นกันเองมาสู่ความสูงส่งและความศักดิ์สิทธิ์ที่แยกขาดจากมนุษย์และสังคม ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองในไทยที่ครอบงำศาสนาพุทธทำให้พุทธเถรวาทไม่ใช่พุทธอีกต่อไป แต่กลายเป็นความเชื่อที่ค้ำยันโครงสร้างของความรุนแรง เรารู้สึกว่าพระทุกวันนี้ไม่ใช่พระด้วยซ้ำ แต่เป็นข้าราชการหรือเป็นผู้ปกป้องประเทศคนหนึ่งที่ไปเชื่อมโยงกับสถาบันที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบได้ สภาวะแบบนี้ทำให้ศาสนาพุทธเถรวาทไม่มีความเป็นกันเองกับผู้คนและกลายเป็นอำนาจที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบได้

นี่เป็นเหตุผลที่คนรุ่นใหม่หลายคนไม่นับถือศาสนาด้วยหรือเปล่า

ใช่ พวกเขารู้สึกว่าถ้าศาสนาหรือความเชื่อแบบนี้ทำให้เขาไม่สามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมา ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ สู้เขาเชื่อตัวเองดีกว่า แต่สุดท้ายการไม่นับถือศาสนาอาจยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความศรัทธาในตัวเองนะ อาจเป็นเหมือนการเชื่อในตัวเองก่อน นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่เราค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ คืออาจกลายเป็นว่าเขาไม่เชื่อในอะไรเลย และการไม่เชื่อในสิ่งใดเลยอาจเป็นอะไรที่เหมือนการต่อต้านหรือแอนตี้ศรัทธาด้วย ส่วนตัวเราไม่ค่อยส่งเสริมแนวคิดด้านนี้เท่าไหร่ แต่เราก็เห็นใจที่สังคมพาเขาไปสู่จุดนั้น

ที่ผ่านมามีนักเคลื่อนไหวหลายคนเข้าร่วมพื้นที่ทางจิตวิญญาณอย่างวัชรสิทธากันมากขึ้น คุณคิดว่าทำไมความศรัทธาของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่หลายคนถึงค่อยๆ มอดลง

เรื่องนี้น่าเห็นใจมากเลยนะ เพราะศรัทธาเป็นพลังงานที่สดใหม่มากของคนหนุ่มสาว ยิ่งเวลาที่เราได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ พื้นที่ทางการศึกษาเป็นพื้นที่การทดลองที่ดีมากของคนรุ่นใหม่ เป็นช่วงเวลาที่จะได้เรียนรู้และหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองบนโลกใบนี้ ได้ลองตั้งคำถามว่าเรามีคุณค่าอะไร เราจะมอบอะไรให้โลกใบนี้ได้บ้าง ยิ่งถ้าเราเจอกัลยาณมิตรหรือเจอครูบาอาจารย์ที่ให้พื้นที่หรืออิสรภาพในการพัฒนาตัวเอง สิ่งที่เขาสนใจหรือแพสชันที่มีอยู่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนได้ด้วย

แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่คนรุ่นใหม่เหล่านั้นกลับถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กหัวรุนแรง เป็นพวกก้าวร้าว ซ้ำร้ายมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ในการยอมรับกับประสบการณ์ของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว คนรุ่นใหม่เลยออกมาทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น และแน่นอนว่าปัญหาที่เราเจออยู่ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาในระดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นปัญหาในระดับประเทศ กลายเป็นว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่ในสังคมรู้สึกสูญสิ้นความหวังจนแทบจะไม่มีใครกล้าออกมามีส่วนร่วมหรือออกมาชุมนุมเรียกร้องอีกต่อไป น้องๆ ในวัยเรียนที่อยากออกมาต่อสู้เพราะพวกเขามองว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญมาก แต่กลายเป็นว่าพวกเขาได้รับแรงปะทะมากเกินกว่าจะรับไหว คิดดูว่าพวกเขายังเป็นเด็กกันอยู่เลย แต่ต้องแบกรับความกดดันมหาศาล

และไม่ใช่แค่ในระดับสังคมอย่างเดียว ยังมีคนรอบข้างที่อาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำและอาจไม่ได้มีการสนับสนุนมากพอ ซึ่งพอพวกเขาใช้พลังงานที่มีจนหมด ทั้งยังไม่มีพื้นฐานที่จะดูแลจิตใจตัวเองได้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงเหมือนเป็นบาดแผลในชีวิตของเขาและอาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิตใจ ที่ผ่านมาเราจะเห็นกระแสของนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ที่พอต่อสู้ไปสักระยะหนึ่งก็รู้สึกหมดไฟ บางคนก็บอบช้ำทางจิตใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงที่ผ่านมาจึงมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่หลายคนสนใจการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณกันมากขึ้น

คือพวกเขาต้องการมาเยียวยาตัวเองเพื่อที่จะมีแรงกลับออกไปสู้อีกครั้ง?

ใช่ เขาต้องการพื้นที่ในการเยียวยา ต้องการพื้นที่ในการชาร์จพลัง หรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เปิดกว้างและรับฟังเขา สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเขาอาจต้องการพื้นที่ทางศาสนธรรม เพราะคนรุ่นใหม่หลายคนรู้สึกกังขาอย่างมากกับพื้นที่ทางศาสนาหรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณดั้งเดิมที่มีในไทย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนาในสังคมไทยมักจะผูกโยงกับชุดความเชื่อทางการเมืองที่ล้าหลังมากๆ เวลาคนเข้ามาเพราะสนใจเรื่องเสรีภาพในประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เราควรสร้างพื้นที่ที่เขาสามารถแชร์ประสบการณ์ของเขาได้โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ไม่มีการตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด เราหวังว่าวันหนึ่งถ้าสังคมไทยไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่านี้แล้วพื้นที่แบบนี้จะได้รับการส่งเสริมมากขึ้น

หลายคนมีปัญหากับคำว่าศรัทธาเพราะมันเป็นคำที่ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการเมืองสังคม ครอบครัว การศึกษา หรือแม้แต่ถูกเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีมาในอดีต แต่ศรัทธาในความคิดของเราคือศรัทธาในความเป็นมนุษย์ ศรัทธาในธรรมชาติของตัวเราเอง

ศรัทธาและการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณมีความสำคัญต่อการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองอย่างไร

ช่วงหลังๆ เราเจอกระแสของคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณมากขึ้น คนเหล่านี้อาจมีบางเรื่องที่เขาสนใจอยู่แล้ว เช่น การดูไพ่ทาโรต์ มูเตลู โยคะ หรือศาสตร์แม่มด เครื่องมือเหล่านี้อาจตอบโจทย์ชีวิตเขาได้ในบางแง่มุม แต่เราคิดว่าถ้าเขายังไม่สามารถทำงานกับตัวเองในระดับลึกกว่านั้นได้ คือยังไม่สามารถทำงานกับความคิดลบที่เขามีต่อโลกต่อเพื่อนมนุษย์หรือต่อตัวเขาเอง ยังคงมีบาดแผลกับครอบครัว สังคม ข้างในจิตใจของเขายังมีความโกรธความเกลียดหรือมีความยึดมั่นในบางอย่างที่เขาไม่สามารถปล่อยได้ ศรัทธาหรือความสนใจทางจิตวิญญาณที่เขามีอยู่อาจยังไม่พาเขาไปไหนไกล เพราะเขาจะยังคงวนอยู่รอบๆ ปัญหาที่เก็บไว้ในใจ

เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงศรัทธาในตัวเองหรือศรัทธาในมนุษย์ ต้องอาศัยการทำงานกับตัวตนของตัวเองในระดับหนึ่งด้วย เพราะถ้าเราไม่ทำงานกับตัวตนเหล่านั้นก็อาจไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นศรัทธาของความเป็นมนุษย์ที่ไร้เงื่อนไขได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเจอคนที่คุณชอบหรือเจอเรื่องราวที่ทำให้คุณมีความสุข คุณจะรู้สึกว่าคุณเข้าใจประสบการณ์ในเรื่องของศรัทธาและความรักได้ แต่เมื่อคุณไปเจอสิ่งที่คุณไม่ชอบหรือเจอเรื่องราวที่ทำให้คุณเจ็บปวด คุณจะมีมิติด้านลบมากๆ ต่อสิ่งนั้นและจะนำมาสู่การเลือกปฏิบัติกับบางสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ

แต่หลายคนอาจคิดว่าเราจะไม่รู้สึกโกรธเกลียดได้อย่างไรในสถานการณ์บ้านเมืองที่กัดกินจิตใจและจิตวิญญาณของเราเช่นนี้

เราเข้าใจคนที่สะสมความโกรธเหล่านั้นไว้นะ เพราะสภาพสังคมทำให้เราต้องโกรธ ลองนึกดูว่าถ้าเราโตมาโดยมีพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจเรา ด่าว่าที่เราไปชุมนุมทางการเมือง พอเราออกไปชุมนุมก็โดนสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง พอกลับมาที่มหาวิทยาลัยก็โดนอาจารย์เขม่น โดนคนรอบข้างตัดสิน หรือพอเราต่อสู้มากขึ้นก็โดนจับเข้าคุก โดนเจ้าหน้าที่ติดตาม โดนไล่ออกจากบ้าน หรือแม้แต่ต้องต่อสู้เรื่องเศรษฐกิจอีก มันเป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีความมุ่งหวังที่ดีต่อสังคมที่เขาอยู่ต้องเก็บกักความโกรธเอาไว้เยอะมาก เพราะสังคมบีบให้พวกเขาเป็นแบบนั้นจริงๆ

ทีนี้เวลาที่คนเหล่านี้สนใจเข้ามาเรียนรู้หรือทำงานด้วยวิธีการทางจิตวิญญาณ สิ่งที่เราต้องทำคือค่อยๆ สื่อสารกับเขาว่าเราเข้าใจพวกเขา มาคุยกันในสภาพความเป็นจริงที่เขาต้องเจอ และหลังจากนั้นก็ต้องมีพื้นที่ให้เขาแบ่งปันหรือปลดปล่อยความอัดอั้นเหล่านั้นออกมา หลังจากนั้นก็จะมาสู่จุดที่เราค่อยๆ ทำงานกับตัวตนที่เต็มไปด้วยความโกรธเหล่านั้นทีละนิด และให้เขาค่อยๆ เข้าไปรู้จักธรรมชาติของจิตใจที่เปิดกว้างและมีความดีงามโดยพื้นฐาน และสามารถกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติพื้นฐานในตัวเองได้ บางคนอาจได้กลับมาเป็นเด็กที่ครั้งหนึ่งเคยมองโลกสดใส เคยมองโลกด้วยแววตาที่มีความหวัง และได้สัมผัสถึงความเปราะบางนั้นด้วยตัวเอง

เราคิดว่าอย่างน้อยในเวลาที่เราอยู่กับตัวเราเอง เวลาที่เราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เราไม่จำเป็นต้องโกรธตลอดเวลาก็ได้ แน่นอนว่าเวลาเราออกจากบ้านไปชุมนุมเราต้องโกรธแน่ๆ แต่อย่างน้อยเราก็มีพื้นที่ส่วนตัวให้เรารู้สึกว่าสามารถทำงานกับตัวตนของเราในระดับลึกได้และยังหล่อเลี้ยงธรรมชาติที่ดีงามบางอย่างในตัวเราได้ เราหวังว่าพื้นที่แบบนี้จะทำให้พวกเขามีพลังมากพอ และพอชาร์จพลังเต็มแล้ว เมื่อเขาออกไปชุมนุม ไปเจอความรุนแรง ไปเจอคนที่ไม่เข้าใจเขา เขาก็จะยังมีพลังงานเหลือเฟือที่จะแบ่งปันให้ตัวเองในสถานการณ์ที่ผิดปกติเหล่านั้นได้ หรืออย่างน้อยจะมีความรู้สึกว่าเราสามารถใช้พลังบางอย่างในการต่อสู้กับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้

ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้พลังจนหมดและอยู่ในสภาวะที่รู้สึกว่าตัวเองต้องเหนื่อยตลอดเวลา เหมือนเราเปิดโหมดต่อสู้ไว้ตลอดเวลา มันก็จะเข้ามากัดกินพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ของความสัมพันธ์ของเราด้วย กลายเป็นว่าจะนอนก็นอนไม่หลับ กินข้าวก็กินไม่อร่อย ทำให้เราไม่เหลือพลังงานมากพอที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจตัวเองให้ต่อสู้กับอะไรที่ใหญ่กว่านั้นได้

ในยุคนี้หลายคนมีปัญหากับอีโก้ในตัวเอง ในแง่ของจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับสังคมเราเรียกสิ่งนี้ว่าการปลูกฝังความคิดความเชื่อต่างๆ จนเข้าไปสู่เนื้อตัว (internalization) คือการที่เรารับเอาโครงสร้างที่รุนแรงเข้ามาในตัวเอง คือเรากำลังเจอกับศัตรูที่เป็นความรุนแรงหรืออำนาจที่กดทับเรา เราทุกข์ทรมานและเจ็บปวดกับมัน แล้วพอเราอยู่กับสถานการณ์นั้นนานๆ เราจะซึมซับผู้กดขี่เข้ามาในตัวเรา พอความรุนแรงเข้ามาในตัวเราแล้ว แม้ว่าเราจะมีความมุ่งหวังที่ดี แต่ถ้าเราไม่ทำงานกับอีโก้ที่ซึมซับผู้กดขี่เข้ามาในตัวเรา มันจะเกิดการเพ่งโทษคนอื่น และกลายเป็นว่าหลายครั้งทำให้เราเสียแนวร่วมหรือพันธมิตรไป

แต่เราเข้าใจความรู้สึกนี้ดีนะ เพราะเราเคยเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อปี 2553 ตอนนั้นเราก็โกรธ เราเกลียด เราด่ากราด แต่เราคิดว่าคงต้องอาศัยประสบการณ์ในการต่อสู้ในระดับหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจว่าการต่อสู้ด้วยความโกรธเกลียดที่มาจากการรับเอาโครงสร้างที่รุนแรงเข้ามาในตัวนั้นไม่ส่งผลดีต่อใครเลย เราอาจจะทำแบบนั้นได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายเราจะเหนื่อยเอง และประสบการณ์จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าเราต้องทำงานกับตัวตนของตัวเองอันนี้ รวมถึงตัวตนของเหยื่อและตัวตนของผู้ถูกกดขี่เหล่านั้นเพื่อคลี่คลายความเจ็บปวดไปสู่ความรักและศรัทธาในตัวเอง ปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมถึงในผู้ที่กดขี่เราด้วย ถ้าเราไม่สามารถคลี่คลายความเจ็บปวดนั้นด้วยตัวเองได้ เราจะไม่เข้าใจเลยว่าเราจะมีศรัทธาในมนุษย์จริงๆ ได้อย่างไร

เราพูดได้ไหมว่าสังคมนั่นแหละที่บีบให้คนรุ่นใหม่ต้องโกรธเกลียดและเสียศรัทธาในตัวเองไป

ใช่ และเราคิดว่าสังคมจะไปตัดสินพวกเขาโดยไม่ทำความเข้าใจไม่ได้ ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ที่ปรารถนาดีต่อคนรุ่นใหม่ เราต้องมองว่าเราจะสนับสนุนเขาอย่างไรได้บ้าง งานที่เราทำคือการพยายามเป็นพื้นที่ในการโอบรับคนเหล่านี้ เพื่อเวลาที่เขาเจอปัญหาเจออุปสรรคเขาจะสามารถมีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถมาแชร์เรื่องราวของเขาได้

เท่าที่คุยกันมา เหมือนว่าความศรัทธาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ ชุดความคิดในสังคม และเกี่ยวข้องกับมิติความเป็นมนุษย์ เราคิดว่าเรื่องเสรีภาพทางการเมืองสอดคล้องกับเรื่องเสรีภาพทางจิตวิญญาณด้วย ศาสนาพุทธก็ทำงานกับการยึดมั่นทางความคิด และการที่สังคมมีการยึดมั่นความคิดทางการเมืองแบบเดียวก็จะนำพาความทุกข์มาสู่ผู้คนจำนวนมาก

ที่ผ่านมาหลายคนก็พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการปล่อยวางชุดความคิดที่กดทับเขาอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้นี้คงใช้ระยะเวลานานและไม่รู้ว่าจะชนะเมื่อไร แต่เราคิดว่าอย่างน้อยการต่อสู้นี้มีความหมายอย่างมากในการพยายามปลดปล่อยผู้คนออกจากความทุกข์ แต่ข้างในจิตใจของผู้คนที่กำลังต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงก็ควรมีพื้นที่ที่เขาสามารถผ่อนคลายและมีคนเปิดกว้างรับฟัง เมื่อมีพื้นที่นั้นแล้ว ความรู้สึกของการเยียวยาความทุกข์ข้างในของตัวเองได้ก็จะเกิดขึ้น และในที่สุดพวกเขาจะมีแรงออกไปต่อสู้อีกครั้ง

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณที่มีนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ให้ความสนใจหรือเข้าร่วมเยอะหน่อย

หนึ่งในคอร์สการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณของวัชรสิทธาที่คนรุ่นใหม่สนใจเยอะคือ ‘Gender Awareness’ เป็นคอร์สที่มีการพูดถึงเรื่องของเพศวิถี สถานะและอำนาจ รวมถึงกรอบคิดความเป็นชายและความเป็นหญิง เป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์ประเด็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและชุดความเชื่อต่างๆ ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ทั้งในระดับตัวเอง ระดับครอบครัว ระดับสถาบัน หรือระดับที่เรามองกันและกัน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนสนใจประเด็นนี้เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นประตูเชื่อมโยงความสนใจเรื่องการเมืองเข้ากับเรื่องจิตวิญญาณที่ดีมาก

การศึกษาเรื่อง Gender Awareness จะทำให้เราเห็นว่าโครงสร้างปิตาธิปไตยมีผลต่อสุขภาวะข้างในตัวเราอย่างไร อย่างผู้ชายที่สมาทานกับโครงสร้างชายเป็นใหญ่ก็จะมีความคิดที่ส่งผลต่อวิธีการที่เขาปฏิบัติต่อตัวเองหรือต่อคนอื่น ทำให้เข้าใจว่าหลายๆ ครั้งเขาต้องแบกรับความกดดันของความเป็นชายโดยไม่จำเป็น และเขาก็เอาความกดดันนั้นไปใช้ในการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความก้าวร้าวและรุนแรง ทำให้เราย้อนกลับมาตระหนักว่าการที่เราเติบโตมากับโครงสร้างความรุนแรงของระบอบปิตาธิปไตยหรือระบอบอำนาจนิยมไม่เป็นผลดีกับใครเลย

หรือแม้แต่คอร์สจัดดอกไม้ที่สื่อสารเรื่องจิตวิญญาณผ่านสุนทรียะก็มีคนสนใจค่อนข้างมาก หลักการจัดดอกไม้มีหลายอย่างที่คล้ายกับการภาวนา คือการที่เราเชื่อมโยงกับคุณสมบัติของพื้นที่ว่างที่ช่วยเสริมพลังให้รายละเอียดของดอกไม้แต่ละดอกหรือแต่ละองค์ประกอบในการจัดดอกไม้ของเราโดดเด่นขึ้นมา เหมือนว่าพื้นที่ว่างเหล่านั้นทำให้ทุกองค์ประกอบได้เป็นตัวของตัวเอง มีพื้นที่ของเสรีภาพและเป็นภาพของความสวยงามที่เราไม่ได้เข้าไปบังคับหรือจัดการควบคุม ปล่อยให้ดอกไม้แต่ละดอกชูช่อและเปล่งประกายในความเป็นมันอย่างแท้จริง เหมือนการที่เราให้พื้นที่ของเสรีภาพ จะทำให้คนแต่ละคนได้ส่งเสียงของตัวเองออกมา เปล่งประกายความเป็นตัวของตัวเอง หลายคนจึงมองว่าการจัดดอกไม้หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะคือประตูที่ดีสู่เรื่องของการภาวนา การเรียนรู้ทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคม

ทั้งนี้ เรามองการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่บนพื้นฐานของการฝึกจิตใจให้ตื่นรู้กับสิ่งที่เราเป็นหรืออัตลักษณ์ที่เราถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ ทางสังคม การเรียนรู้เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่าเวลาที่เราพูดถึงคำว่า ‘ตัวตน’ เราไม่สามารถพูดถึงตัวตนที่แยกขาดจากสิ่งอื่นได้ เพราะตัวตนของเราต่างถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งภายนอก เมื่อเราเข้าใจตัวเองเราก็จะมีพลังมีศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และความศรัทธานี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณสนใจอยากหาความหมายของศรัทธา

เราสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยเรียน ตอนนั้นเราก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่พยายามค้นหาตัวเองและพยายามจะหาต้นแบบในชีวิต เราสับสนและไม่รู้ว่าตัวเองจะไปในทิศทางไหนดี ใช้เวลานานมากในการพยายามคิดว่าเราควรจะเป็นอะไร ควรจะทำอะไร และเคยคิดว่าถ้าเราคิดเรื่องเหล่านี้ออกมาได้ดี ความคิดนั้นจะพาเราไปได้ไกล แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้พาเราไปไกลเท่าไหร่ เราเรียนหนังสือมาตั้ง 20 กว่าปี แต่เรายังไม่รู้จักตัวเองเลยว่าจริงๆ เราอยากเป็นอะไร ต้องการอะไร หรือเรามีคุณค่าอะไรที่จะมอบให้โลกใบนี้

จนวันหนึ่งมีอุบัติเหตุบางอย่างที่ทำให้เราได้ลองฝึกปฏิบัติและได้ประสบการณ์ในการสัมผัสเชื่อมโยงกับธรรมชาติพื้นฐานทางจิตใจบางอย่าง ทำให้เราตระหนักว่าสิ่งที่มีพลังมากกว่าความคิดก็คือธรรมชาติพื้นฐานทางจิตใจของเรา สำหรับเรา ประสบการณ์นั้นเป็นความรู้สึกที่ตื่นรู้เปิดกว้างและมีพลังมาก

จากนั้นก็เริ่มสนใจว่าเราจะรู้สึกถึงธรรมชาติพื้นฐานของจิตใจนี้มากขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร เราจะฝึกฝนตัวเองเพื่อจะเชื่อมโยงธรรมชาตินี้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร เลยพาเราไปสู่ความสนใจในเรื่องจิตวิญญาณศาสนาและพัฒนาไปสู่ความสนใจในศาสนาพุทธที่พ้นไปจากศาสนาพุทธแบบที่มีอยู่ในบ้านเรา ขยับไปสู่การศึกษาพุทธมหายานในมิติของความเป็นมนุษย์ไปจนถึงพุทธศาสนาวัชรยานในมิติของความศักดิ์สิทธิ์ ความสนใจเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เราค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ และเป็นความพยายามจะเอากลับมาถ่ายทอดกับสังคมไทย

แล้วตัวคุณเองเคยตกอยู่ในภาวะสูญสิ้นศรัทธาบ้างไหม

แน่นอน ยิ่งเราทำงานด้วยความเป็นฆราวาส เราไม่ใช่พระและเราไม่ได้พยายามจะทำตัวเองเป็นพระด้วย เรามีแฟน มีลูก มีเพื่อนร่วมงาน เรามีอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญไม่ต่างจากคนทั่วไป แน่นอนว่าเวลาเราเจอเรื่องที่ไม่คาดคิด สิ่งที่จะเข้ามาในตัวเราคืออารมณ์และความคิดฟุ้งซ่านมากมาย ความรู้สึกเชิงลบจะเข้ามาเวลาที่เราไม่ต้องการอยู่ในสถานการณ์ที่ยากเกินไป ทุกคนเจอเรื่องแบบนี้ได้เหมือนกันหมด และเวลาเราอยู่กับสภาวะที่ฟุ้งซ่านมากๆ เรามักจะโทษตัวเอง โทษคนอื่น หรือมีความคิดตัดสินสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ว่าเราไม่อยากเจอเรื่องแบบนี้ เราไม่อยากให้มันเป็นแบบนี้ สุดท้ายความคิดและความรู้สึกนี้ก็จะพาเราดำดิ่งลงไปในความเป็นไปไม่ได้และข้อจำกัดของความคิดนั้น

พื้นฐานของการฝึกฝนจิตใจถือเป็นการทำงานกับความคิดเหล่านี้โดยตรง คือการที่เรารู้ถึงความคิดเหล่านั้นแล้วเราสร้างพื้นที่ของจิตใจภายในตัวเอง เข้าใจว่าความคิดเหล่านี้มันผ่านเข้ามาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และพอถึงจุดหนึ่งมันก็จะผ่านไป แต่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาจำนวนมากในการจมจ่อมตัวเองกับความคิดเหล่านั้น คิดซ้ำๆ ว่าฉันแย่ ฉันห่วย ฉันดีไม่พอ พอเราทำแบบนี้มากๆ มองว่าฉันเป็นแบบนี้ ฉันเป็นแบบนั้น แล้วมันจะไม่ลากเราไปสู่ความดำดิ่งได้อย่างไร

แต่ถ้าเรามีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณและหลักการภาวนาพื้นฐาน คือการที่เรารู้ความคิดเฉยๆ รู้อารมณ์เฉยๆ แล้วเราก็กลับมาที่ร่างกาย ลมหายใจ ความสงบภายใน และตระหนักถึง basic being ในตัวเราว่าความคิดบวกและความคิดลบเหล่านั้นผ่านเข้ามาแล้วก็จะผ่านไป คือเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและเราไม่ได้พยายามจะปฏิเสธมัน พอทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เราจะพบตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่งว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเรายังคงมีธรรมชาติพื้นฐานที่ดีงามในตัวเราเอง และจะทำให้เราอยู่กับสถานการณ์นั้นได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็คือศรัทธาในตัวเอง

คุณคิดว่าสังคมแบบไหนที่จะทำให้เราไม่สูญสิ้นศรัทธา

ต้องเป็นสังคมที่เปิดกว้างต่อเสรีภาพทางความคิดและความหลากหลาย มีการเคารพกันและกัน เป็นสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ส่งเสริมความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับมิติเรื่องสุขภาวะ และมีการนำความคิดเหล่านี้ไปปรับใช้สู่การสร้างพื้นที่สาธารณะที่ดี เรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกันนะ แยกขาดออกจากกันไม่ได้ เพราะการที่เรามีศรัทธาต่อมนุษย์และมีศรัทธาต่อความหลากหลายจะทำให้เราต้องการพื้นที่สาธารณะที่ดี ขนส่งมวลชนที่ดี รวมถึงพื้นที่การเรียนรู้ที่ดี

เราควรทำอย่างไรให้ยังคงมีศรัทธาในตัวเองและมีศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ท่ามกลางสภาพสังคมที่โหดร้ายเช่นนี้

(นิ่งคิด) อาจต้องมีอารมณ์ขันกับชีวิตกันมากขึ้น ตอนนี้เราอาจยังมองไม่เห็นทางออกของปัญหาต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มีสิทธิจะฝันว่าอยากให้สังคมที่เราอยู่เป็นอย่างไร และต้องมองไปในระยะยาวว่าสิ่งต่างๆ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน เราได้รับอิทธิพลจากระบอบเผด็จการกันเป็นระยะเวลานาน และการทำงานกับสิ่งเหล่านี้ในระยะยาวจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้ตัวเองผ่อนคลายและปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกได้

ที่สำคัญคือเราต้องมีพันธมิตร ต้องพยายามนำเสนอความแตกต่างและผสานในสิ่งที่เราจะไปด้วยกันได้ เราจะสังเกตเห็นในช่วงที่ผ่านมาว่าสังคมเราแม้จะเป็นคนที่ทำงานในฝั่งฟากเดียวกัน แต่ก็มีการเพ่งโทษกันง่ายมาก เหมือนเราพยายามจะบี้กันให้ตายราวกับว่าพวกเราเป็นขั้วตรงข้ามกัน ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เป็นผลดีกับใครเลย

เราต้องกลับมาทำงานกับพลังงานที่อยู่ข้างในตัวเรา สร้างพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง พื้นที่ปลอดภัยของชุมชน รวมถึงพื้นที่ปลอดภัยของกัลยาณมิตรและพันธมิตรที่จะหล่อเลี้ยงพลังงานด้านบวก ความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจกันและความหวังศรัทธาที่มีต่อสังคม สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคมในระดับใหญ่ได้เสียทีเดียว แต่เราจะสามารถสร้างพื้นที่ที่เปิดกว้างและเคารพกันได้ อย่างน้อยเราต้องทำให้คนอีกฝั่งฟากหนึ่งรู้สึกอิจฉาพวกเรา ให้ฝั่งที่สมาทานระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอิจฉาโลกของเรา ให้โลกของเราเป็นโลกที่เขาใฝ่ฝันจะมีส่วนร่วมด้วย และสุดท้ายทางเดียวที่เขาจะมีส่วนร่วมด้วยได้คือเขาต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของเขา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save