fbpx
การเมืองแบบลูกผสม (Hybrid Regime) ในเวเนซุเอลา

การเมืองแบบลูกผสม (Hybrid Regime) ในเวเนซุเอลา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ใกล้ถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้แล้ว หลังจากที่เราห่างหายจากการหย่อนบัตรมาเป็นเวลาหลายปี ผมได้ฟังดีเบตทางการเมืองอยู่หลายช่อง หลายสื่อ พูดถึงนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง บังเอิญไปได้ยินนักการเมืองบางท่านพูดถึง ‘การเมืองแบบลูกผสม’ (Hybrid Regime) หรือบางครั้งอาจเรียกว่าการเมืองแบบพันทาง ในท่วงทำนองว่าเหมาะสมกับการเมืองไทยในปัจจุบัน เลยอยากถือโอกาสนี้อธิบายว่าการเมืองแบบลูกผสมนั้นมีลักษณะเช่นไร โดยนำไปประยุกต์เข้ากับกรณีของเวเนซุเอลา

เมื่ออ่านจบแล้ว ถ้าท่านยังคิดว่าการเมืองแบบนี้จะเหมาะสมกับประเทศไทยของเรา ผมก็ยินดีที่จะร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านในโอกาสต่อไปครับ

การเมืองแบบลูกผสมนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ในช่วงสงครามเย็นนั้นการเมืองโลกแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือขั้วเสรีประชาธิปไตยและขั้วเผด็จการ ต่อมาในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เกิดกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในหลายประเทศ จนดูเหมือนว่าหนทางเสรีประชาธิปไตยคือคำตอบสุดท้ายของการเมืองโลก

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นว่าการเมืองโลกเกิดการผสมผสานระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ อาทิเวเนซุเอลา เดิมเคยมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือรัสเซียเดิมเคยมีลักษณะเป็นเผด็จการ ต่างก็เคลื่อนเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบ ‘สีเทา’ กล่าวคือมีความเป็นเผด็จการ ภายใต้ร่มธงของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการยังคงให้มีการเลือกตั้งอยู่ แต่จะเสรีและเป็นธรรมหรือไม่นั้น กลับไม่ใช่สาระสำคัญของการเมืองลูกผสมนี้

จากข้อมูลของ Freedom Houses พบว่าร้อยละ 32 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปี ค.ศ.2008 มีลักษณะการเมืองแบบลูกผสม และโดยส่วนมากสามารถครองตำแหน่งได้เป็นเวลานาน ในรายงานของ Freedom House อีก 2 ปีต่อมายังระบุต่อไปว่า การเมืองแบบลูกผสมกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ และมีอิทธิพลต่อการเมืองโลกในอนาคต นอกจากนี้ในท้ายของรายงานปี ค.ศ.2010 Freedom House ยังระบุว่าโลกเรากำลังเผชิญกับ ‘สถาวะถดถอยของเสรีภาพ’

การเมืองของเวเนซุเอลาสมัยอดีตประธานาธิบดีอูโก้ ซาเวช ถือได้ว่าเป็นการเมืองแบบลูกผสมที่ชัดเจนที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ลักษณะการเมืองลูกผสมที่สำคัญคือ การใช้กลไกทางการเมืองทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ในการบั่นทอนระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่มีต่อฝ่ายบริหาร มีความพยายามในการปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยที่ว่า ‘รัฐบาลต้องมีอำนาจอย่างจำกัด’ โดยรัฐบาลในระบอบการเมืองแบบลูกผสมมองว่า การมีอำนาจอย่างจำกัดเป็นปัญหาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นต้องเผชิญ ทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ต้องเสียเวลาในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มทางการเมืองต่างๆ ทำให้เป้าหมายการดำเนินงานของรัฐบาล เช่นในเรื่องความมั่นคงของประเทศ การกระจายรายได้ เกิดอุปสรรคและไม่ประสบความสำเร็จ

คำถามที่ตามมาคือ รัฐบาลแบบลูกผสมทำเช่นไรถึงได้ครองเสียงข้างมาก โดยไม่ทำลายกติกาประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้งจนไม่ได้รับการยอมรับ

กรณีของชาเวซเป็นตัวอย่างที่ดีของคำอธิบายดังกล่าว จากบทความที่แล้วที่ผมพูดถึงการรวบอำนาจของเขาระหว่างปี ค.ศ.1999 ถึงปี ค.ศ. 2013 จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้กติกาการเลือกตั้ง ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างอำนาจให้กับรัฐบาล ถึงแม้ว่าโดยแท้จริงแล้วนโยบายหลักๆ ของประเทศจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลก่อนหน้านั้นมากนัก คือยังพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นระหว่างปี ค.ศ.2003-2008 ช่วยให้รัฐบาลของชาเวซมีรายได้ในการอุดหนุนโครงการประชานิยมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก การสาธารณสุข การกดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อปากท้องของฐานเสียงของเขา อาจกล่าวได้ว่า การเมืองแบบลูกผสมในกรณีของเวเนซุเอลามีความเข้มแข็งอย่างมาก สาเหตุหลักที่สำคัญอย่างหนี่งคือมาจากรายได้ของการส่งออกน้ำมัน

นอกจากปัจจัยเรื่องการแก้กติกาการปกครองของประเทศ และเรื่องของราคาน้ำมันในกรณีของเวเนซุเอลาแล้ว การเมืองแบบลูกผสมในบริบทการเมืองโลก มีลักษณะที่ร่วมกันดังต่อไปนี้

– การตั้งพวกพ้องของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญในหน่วยงานรัฐบาล เช่น อัยการสูงสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

– กล่าวหาและโจมตีฝ่ายค้านว่าเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน ได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติให้เข้ามาเป็นหนอนบ่อนไส้ เป็นพวกนายทุน เป็นต้น

– กีดกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญต่างๆ

– ไม่ให้ความสำคัญกับองค์กรภาคประชาสังคม ในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือตรวจสอบใดๆ ก็ตาม แต่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มพวกพ้องของตนเองเท่านั้น ในกรณีของเวเนซุเอลานั้นชาเวซจะสนใจเฉพาะกลุ่ม Círculos Bolivarianos ที่เป็นฐานเสียงของเขาเท่านั้น

– แทรกแซงกิจการสื่อของเอกชน โดยเฉพาะที่ตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยการยกเลิกสัญญาสัมปทานคลื่นสื่อสาร หรือไม่ก็ไม่ต่อสัญญาขยายระยะเวลา รวมถึงการห้ามรัฐใช้สื่อโฆษณาของบริษัทเหล่านั้นอีกด้วย

– เพิ่มเติมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้เห็นต่าง ในทางกลับกันกลับเปิดช่องให้พวกพ้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ โดยใช้การเลี่ยงบาลีทางกฎหมาย

– ใช้กลไกต่างๆ เพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง อาทิ อาศัยโครงการสวัสดิการของรัฐเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ออกกฎหมายแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ใช้การข่มขู่ในการต่อสัญญาจ้างกับบุคลากรของรัฐที่หันไปฝักใฝ่ฝ่ายตรงข้าม จับกุมคุมขังฝ่ายค้าน บางครั้งถึงกระทั่งยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการละเมิดสิทธิ์ทางการเมืองของประชาชนทั้งสิ้น

– ไม่ให้เงินสนับสนุนในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม บางครั้งถึงกับตัดงบประมาณเพื่อเป็นการลงโทษประชาชนในพื้นที่นั้นที่ออกเสียงเลือกฝ่ายค้าน

– เพิ่มงบประมาณให้แก่กองทัพ รวมถึงขยายบทบาทหน้าที่ของกองทัพในกิจการต่างๆ ที่เดิมเป็นของพลเรือน เช่น จัดตั้งหน่วยทหารอาสาเพื่อการพัฒนา เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของเวเนซุเอลาสมัยชาเวซ ลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญของการเมืองแบบลูกผสมในสมัยของเขา คือการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลทั้งในประเทศและนอกประเทศโดยปราศจากการตรวจสอบ งบประมาณส่วนมากไปสู่คนยากจนโดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ. 2004-2008 ส่งผลต่อฐานคะแนนเสียงอย่างที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นไม่เคยได้รับ เงินงบประมาณดังกล่าวส่งผลในการลดระดับความยากจนของประชาชน และแน่นอนว่าย่อมได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ รวมทั้งการยอมรับจากนานาชาติ อย่างไรก็ดีเงินดังกล่าวถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าซักเท่าไรนักในเชิงการบริหารงบประมาณ เกิดการตกหล่นเบี้ยใบ้รายทาง โดยเฉพาะการไหลไปสู่มือของพวกพ้องของชาเวซ รวมถึงกองทัพที่เข้ามารับช่วงต่อจากรัฐบาลในการบริหารหรือจัดการโครงการสวัสดิการต่างๆ

นอกจากนี้ การเมืองแบบลูกผสมในสมัยของชาเวซ ยังมีลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ ส่งผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายของชาเวซ โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายหรือเนติบริกรในการตีความเข้าข้างเขา ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งขึ้นสูง อาทิ การฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้นจาก 4,550 เคสในปี ค.ศ.1999 เป็น 16,047 เคสในปี ค.ศ.2009 ส่งผลให้เวเนซุเอลาเป็นเขตเฝ้าระวังในระดับเดียวกับฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง

อัตราการฆาตรกรรมในกรุงการากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลาแตะระดับ 140 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นลำดับสองในลาตินอเมริการองจากเมือง Ciudad Juárez ของเม็กซิโก ยังมีรายงานถึงการไร้ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาความสงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมผู้กระทำความผิด ส่งผลให้ระดับความไม่ปลอดภัยในเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในสมัยของชาเวซ

ด้วยอุปสรรคทางการเมือง รวมถึงราคาน้ำมันที่เริ่มลดลง ประกอบกับความปลอดภัยในชีวิตในระดับต่ำ ส่งผลให้ในปี ค.ศ.2010 เมื่อธนาคารโลกประกาศดัชนีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (The Ease of Doing Business Index) ที่ครอบคลุมถึงสภาวะแวดล้อมทุกมิติในการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 183 ประเทศ เวเนซุเอลาได้ลำดับที่ 177 ซึ่งถือเป็นลำดับท้ายสุดของภูมิภาคลาตินอเมริกา และลำดับสุดท้ายของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ประเทศที่มีการเมืองแบบลูกผสมอื่น อาทิ อาร์เจนตินา จอร์เจีย คูเวต รัสเซีย สิงคโปร์ และตุรกี พยายามจะสร้างความชอบธรรมและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับระบอบของตัวเอง โดยการจัดระเบียบทางสังคมหรือสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการลงทุน แต่ในกรณีของเวเนซุเอลากลับไม่มีนโยบายหรือแผนการดำเนินงานดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย

ทำไมถึงเกิดการเมืองแบบลูกผสมในเวเนซุเอลา ถ้าดูจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นได้ว่า จากภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ล้มเหลวในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ส่งผลให้เวเนซุเอลาก่อนหน้าปี ค.ศ.1999 ซึ่งเป็นปีที่ชาเวซก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ มีความอ่อนแอมาก ในทางกลับกันภาคธุรกิจน้ำมันกำลังอยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโต รวมถึงบทบาทของกองทัพได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้น บรรยากาศทางการเมืองดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเมืองที่เน้นบทบาทของผู้นำที่เข้มแข็ง โดยได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ และมีรายได้จากน้ำมันในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะเดียวกันก็บดบังความสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมการเมืองระบอบผสมถึงยังดำรงสถานะของตัวเองเป็น ‘การเมืองสีเทา’ ในเมื่อสามารถรวบอำนาจอยู่ในมือฝ่ายบริหารได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำไมไม่เปลี่ยนไปเป็นการเมืองแบบเผด็จการเต็มตัวเลยเสียที หรือในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ทำไมไม่ใช้การเมืองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไม่ต้องไปขัดขวางฝ่ายค้านหรือผู้ที่เห็นต่าง

จากกรณีของชาเวซ เราจะพบคำตอบว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่สามารถอธิบายว่าทำไมเวเนซุเอลาจะต้องเป็นการเมืองสีเทา ไม่เปลี่ยนเป็นขาวหรือดำสีใดสีหนึ่งไปเลยดังนี้

ปัจจัยแรก มาจากแรงกดดันจากนานาชาติ จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น กระแสลมของการเมืองโลกพัดไปในทิศทางประชาธิปไตย นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังมีส่วนสำคัญในการกดดันให้การเมืองโลกต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย กลุ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ การที่รัฐจะเข้าไปจัดการปราบปรามภาคประชาสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจำนวนที่มากแล้ว ยังสร้างความเสื่อมเสียในภาพลักษณ์ของรัฐบาลอีกด้วย ถึงแม้ว่าผู้นำการเมืองแบบลูกผสมจะไม่ชอบภาคประชาสังคม แต่ก็ไม่สามารถจัดการปราบปรามให้หมดสิ้นได้

ปัจจัยต่อมา เนื่องมาจากชาเวซพบว่าการเมืองสีเทานั้น ทำให้เขาได้รับความชื่นชอบมากกว่าการเมืองแบบเผด็จการ หรือแบบประชาธิปไตยแต่เพียงลักษณะเดียว เพราะการเมืองแบบผสมก่อให้เกิดสภาวะความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งชาเวซพบว่าเป็นสภาวะทางการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ต่อตัวเขามากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อชาเวซเริ่มใช้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้ายจัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้ผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบกลางๆ ต้องเลือกข้างว่าจะไปซ้ายแบบชาเวซหรือไปขวาแบบฝ่ายค้านซึ่งมีอยู่น้อยมาก ใครที่ไม่เลือกก็จะค่อยๆ หายไปจากเวทีทางการเมือง สร้างความได้เปรียบให้กับชาเวซเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองหรือกติกาการเลือกตั้ง ยังส่งผลให้ฝ่ายค้านมีความแตกแยกกันเอง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลดีต่อชาเวซ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2006 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดตามที่ผมได้ให้รายละเอียดไว้ในบทความที่แล้ว การมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ชาเวซแสดงให้เห็นว่า เขานั้นไม่ได้เป็นเผด็จการดังที่หลายๆ ฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศกล่าวหาเขาอยู่เสมอ

กล่าวโดยสรุป ในกรณืระบอบการเมืองแบบผสมของเวเนซุเอลาสมัยอูโก้ ชาเวซ นั้น เป็นผลดีต่อตัวเขามากกว่าการเลือกใช้การเมืองในลักษณะใดลักษณะหนึ่งแต่เพียงลำพัง เพราะทำใช้เขาชนะการเลือกตั้งแม้ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ตาม

 


 

หมายเหตุ

1. กรณีศึกษาที่ใช้เป็นของประเทศเวเนซุเอลา แต่ถ้าจะบังเอิญคล้ายคลึงกับการเมืองปัจจุบันในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็เพราะ ‘ความจงใจ’ ของผู้เขียนเอง

2. สำหรับผู้ที่สนใจงานศึกษาเรื่องการเมืองแบบลูกผสม โปรดอ่าน Levitsky, Steven and Way, Lucan A. (2011). Competitive authoritarianism: hybrid regimes after the Cold War. Cambridge, England: Cambridge University Press.

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save