fbpx
หนีเสือปะจระเข้: สถานการณ์COVID-19 ของผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบีย

หนีเสือปะจระเข้: สถานการณ์COVID-19 ของผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบีย

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ถึงแม้ว่าการระบาดของ COVID-19 ในลาตินอเมริกาจะอุบัติขึ้นช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ในปัจจุบันตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในบราซิล เปรู และเอกวาดอร์ ขณะเดียวกันแต่ละประเทศก็พยายามหาทางป้องกันการขยายตัวของการระบาดไปพร้อมๆ กับการพยุงไม่ให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมถึงการจัดระเบียบของสังคมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้

ประเทศส่วนมากในลาตินอเมริกาดำเนินนโยบายปิดพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางอากาศ รวมทั้งนโยบายการเพิ่มระยะห่างทางสังคม มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตรวจสอบและจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการของรัฐ

สำหรับเวเนซุเอลาซึ่งเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจมาก่อนหน้านั้น นับแต่การแย่งชิงความชอบธรรมในการเป็นผู้นำประเทศระหว่าง นิโกลัส มาดูโร ที่มีจีนและรัสเซียหนุนหลัง กับ ฮวน กวยโด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศโลกตะวันตก จนส่งผลให้ประชาชนต้องหนีภัยความอดอยากไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างบราซิลและโคลอมเบีย ปัจจุบันมีคนอพยพหนีออกมาแล้วเกือบห้าล้านคน แต่เมื่อมีการปิดพรมแดนได้ส่งผลกระทบอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปิดพรมแดนระหว่างโคลอมเบียกับเวเนซุเอลา ทำให้ผู้ลี้ภัยจากเวเนซุเอลาไม่สามารถอพยพมายังโคลอมเบียได้ด้วยช่องทางปกติ การช่วยเหลือผู้อพยพจากองค์กรระหว่างประเทศก็พลอยหยุดชะงักไปด้วย ส่งผลให้สถานการณ์ที่พรมแดนของทั้งสองประเทศตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือผู้ลี้ภัยจากเวเนซุเอลา และเป็นกลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดในการติดเชื้อ COVID-19 อันเนื่องมาจากการอยู่กันอย่างแออัดในแคมป์ผู้ลี้ภัยและระบบสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ในขณะนี้ผู้ลี้ภัยนับหมื่นคนพยายามหลบหนีข้ามพรมแดนกลับเข้าไปในเวเนซุเอลา

ปัจจุบันโคลอมเบียรับผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาไว้ประมาณ 1.8 ล้านคน อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีคนบางส่วนอพยพกลับ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่ายังจะมีผู้อพยพหนีออกจากเวเนซุเอลาอีกเป็นจำนวนไม่น้อยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการย่างเข้าสู่ฤดูหนาวในซีกโลกใต้และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาที่ไม่มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้นเลย

รัฐบาลโคลอมเบียพยายามที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาได้รับอนุญาตให้อยู่ในโคลอมเบียเพื่อที่จะได้เข้าถึงการบริการสาธารณะต่างๆ แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมายถึงกว่าหนึ่งล้านคน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องมีระยะห่างทางสังคมและการประกาศให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย ทำให้ความช่วยเหลือในช่วงนี้ดูจะเป็นไปด้วยความยากยิ่ง ขณะเดียวกันโคลอมเบียเองก็เผชิญปัญหาในประเทศอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเรื่องการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ในหมู่ประชาชนของตัวเองอย่างไรให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการประท้วงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วอันเนื่องมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระบบการบริการสาธารณะที่ย่ำแย่ รวมถึงปัญหาการคอร์รัปชันในรัฐบาล การล็อกดาวน์ประเทศย่อมทำให้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก รัฐบาลโคลอมเบียยังมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือกลุ่มผู้สุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าคนที่แออัดอยู่ในสลัม หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชนพื้นเมือง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของโคลอมเบียต่างออกมาขอรับการช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่พอมีกำลังทรัพย์ทดแทนเงินที่ไม่เพียงพอจากรัฐบาลกลาง

โคลอมเบียเป็นประเทศแรกๆ ในลาตินอเมริกาที่ประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องกักตัวเองอยู่ในสถานที่ที่รัฐกำหนด ต่อมาก็ได้ประกาศปิดน่านฟ้า โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่ายในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำว่าจะเกิดโรคระบาด เนื่องจากโคลอมเบียมีผู้ต้องขังเกินกว่ากำลังความสามารถของคุก ทำให้ง่ายต่อการเสี่ยงติดเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าในช่วงเวลาที่รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เนื่องมาจากโคลอมเบียนั้นเคยตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองซึ่งเพิ่งจะสิ้นสุดไปได้ไม่นาน

ผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบียได้ออกมาประท้วง พวกเขากลัวความอดอยากมากกว่าการระบาดของเชื้อโรค รัฐบาลโคลอมเบียให้ความสำคัญกับเรื่องผู้อพยพเหล่านี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากพวกเขามีจำนวนมาก และพรมแดนของทั้งสองประเทศก็มีร่วมกันกว่า 2,000 กิโลเมตร ประธานาธิบดีอีวาน ดูเก สั่งปิดจุดข้ามแดนระหว่างสองประเทศทั้งหมด โดยส่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกว่า 5,000 คนทำหน้าทำที่ตรวจตราไม่ให้เกิดการลักลอบข้ามพรมแดน ขณะเดียวกันรัฐบาลเวเนซุเอลาก็ได้ออกมาประกาศว่าจะจับกุมผู้ที่ลักลอบหนีกลับเข้ามาจากโคลอมเบีย

แต่อย่างไรก็ดีแม้ช่องข้ามพรมแดนอย่างเป็นทางการจะถูกปิด แต่ก็มีการลักลอบข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศเกิดขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ทำหน้าที่เป็นนายหน้าพาคนข้ามแดน โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่สูงนัก ทำให้ยังมีการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก

การจัดการปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในเวเนซุเอลานั้น เริ่มทำมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม หลังจากที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายแรก มีการสั่งปิดสถานศึกษา สั่งปิดสถานประกอบการต่างๆ ทั้งหมด รวมถึงการขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ต่อมาได้มีการประกาศปิดน่านฟ้าซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโรมอบหมายให้รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในช่วงเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามาดูโรให้ความสำคัญกับกองทัพซึ่งยังคงเป็นฐานเสียงที่สนับสนุนเขาในการแก้ไขวิกฤตของประเทศ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือความมั่นคงก็ตาม ขณะที่ฝ่ายค้านภายใต้การนำของกวยโดเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนฝ่ายตน ทำตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างสองฝ่ายที่กินเวลาเกินกว่าห้าปีสงบลงชั่วคราว

อย่างไรก็ดีต้องทำความเข้าใจว่า ถึงแม้ในปัจจุบันตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ในเวเนซุเอลาจะมีแค่ 300 กว่าคน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเวเนซุเอลาประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาด เพราะการตรวจหาโรคในเชิงรุกนั้นเป็นไปไม่ได้ในเวเนซุเอลาประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างทางสาธารณสุขล่มสลายมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาทิ โรงพยาบาลไม่มีเงินจ้างบุคลากรทางสาธารณสุข ไม่มีเงินซื้อเวชภัณฑ์ ไม่มีเงินซื้อแม้กระทั่งน้ำเกลือที่ใช้ในโรงพยาบาล รัฐบาลยกเลิกการรายงานสถิติตัวเลขผู้ป่วยในประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเวเนซุเอลาน่าจะมีมากกว่านั้นหลายเท่า แต่เพราะรัฐบาลของมาดูโรไม่มีศักยภาพการตรวจ รวมถึงการจงใจปกปิดข้อมูลที่แท้จริงของรัฐบาล

ย้อนกลับมาดูปัญหาเรื่องของผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบีย นอกจากจะมีเกือบสองล้านคนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังมีผู้ที่ข้ามพรมแดนเพื่อมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในโคลอมเบียราววันละ 50,000 คน มีการประมาณการว่าประชากรเวเนซุเอลากว่า 1,300,000 คนที่อาศัยอยู่ติดพรมแดนโคลอมเบีย ต้องพึ่งพาสินค้าและการบริการ เช่น การบริการสาธาณสุขจากฝั่งโคลอมเบีย ดังนั้นการสั่งปิดพรมแดนระหว่างสองประเทศได้สร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่อคนเวเนซุเอลาจำนวนดังกล่าว

การที่ผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลาในโคลอมเบียต้องขอเดินทางกลับประเทศตัวเอง ถ้ามองในภาพกว้างๆ แล้วก็น่าจะเป็นการดี เพราะอย่างไรก็ตามเวเนซุเอลาก็ยังเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา พวกเขายังมีที่พักอาศัย ไม่ต้องมาอยู่อย่างแออัดในแคมป์ผู้อพยพ แต่รัฐบาลเวเนซุเอลากลับมองในเชิงตรงกันข้าม มาดูโรกล่าวหาว่าผู้ที่ขอกลับบ้านนั้นเป็นพวกที่โคลอมเบียส่งเข้ามาเพื่อให้การสนับสนุนกวยโด และจะเข้ามาก่อความไม่สงบหลังจากที่สถานการณ์การระบาด COVID-19 สงบลง ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกก็เป็นห่วงว่าพวกที่ขอกลับไปนั้น ถ้าเกิดการระบาดของ COVID-19 ขึ้นมาจะเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเวเนซุเอลา ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น

สำหรับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในบริเวณพรมแดนของทั้งสองประเทศนั้น ภายหลังจากการเกิดการระบาดของ COVID-19 ปรากฏว่าเกิดความขาดแคลนในเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมากในโรงพยาบาล จากเดิมโรงพยาบาลฝั่งโคลอมเบียที่สามารถรับรักษาผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันโคลอมเบียมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 คน ทำให้โรงพยาบาลต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยชาวโคลอมเบียเป็นอันดับแรก ส่งผลให้เกิดการตกค้างไม่ได้รับการรักษาของผู้ป่วยชาวเวเนซุเอลาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในโคลอมเบียเอง หรือผู้ที่ลักลอบข้ามพรมแดนเพื่อเข้ามารักษาโรคต่างๆ

ถึงกับมีการกล่าวกันในหมู่ผู้ป่วยด้วยกันเองว่า “ปัจจุบันผู้ที่จะทำการรักษาเราได้นั้นก็มีแต่พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น” ดังนั้นสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในปัจจุบันจึงถือว่าวิกฤตมาก แคมป์รับผู้อพยพจำนวนมากปฏิเสธที่จะรับผู้เข้ามาใหม่ และจากนโยบายเคอร์ฟิวทำให้ความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการขนส่งที่หาได้ลำบาก และจะต้องทำก่อนระยะเวลาปิดเคอร์ฟิว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ที่กำลังเพิ่มขึ้นในลาตินอเมริกา ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบีย ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศที่ไม่สู้ดีนัก หลังจากที่เวเนซุเอลาสั่งปิดสถานทูตและขับไล่นักการทูตโคลอมเบียทั้งหมดออกนอกประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค มีความพยายามในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ก็ยังติดปัญหาสำคัญคือการที่รัฐบาลโคลอมเบีย รวมทั้งสหรัฐเมริกาและประเทศโลกตะวันตกส่วนมากยังไม่ยอมรับมาดูโรว่าเป็นประธานาธิบดีที่ชอบธรรมของเวเนซุเอลา แต่กลับหันไปสนับสนุนกวยโดแทน ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากโลกตะวันตกดูจะติดขัดไปหมด ที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกากลับเห็นว่านี่คือจังหวะโอกาสที่ดีในการที่จะโค่นล้มรัฐบาลของมาดูโรที่ดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนักในการจัดการ COVID-19 ครั้งนี้

ใช่ว่า มาดูโร จะไม่มีทางรอด เขาได้รับความช่วยเหลือจากคิวบาและจีนในการส่งผู้เชี่ยวชาญและเวชภัณฑ์ในการรับมือการระบาดของ COVID-19 โดยคิวบามีข้อตกลงกับเวเนซุเอลามามากกว่า 20 ปี ในการที่จะส่งบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมาช่วยเหลือดูแลสุขภาพของชาวเวเนซุเอลา โดยคิวบาได้รับผลตอบแทนคือการที่เวเนซุเอลาขายน้ำมันราคาถูกให้

เมื่อเห็นว่ารัฐบาลของมาดูโรยังสามารถเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ได้ สหรัฐอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอใหม่ต่อรัฐบาลของมาดูโรว่าจะยกเลิกการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อเวเนซุเอลา แลกกับการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ถ้าวิเคราะห์กันตามความเป็นจริงแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะสถานการณ์ COVID-19 ของลาตินอเมริกากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น การจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย จึงถือเป็นข้อเสนอแก้เกี้ยวของสหรัฐอเมริกาเสียมากกว่าว่าได้เปิดโอกาสให้มาดูโรแล้ว ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของมาดูโรจึงได้ตอบปฎิเสธข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้ออ้างของสหรัฐอเมริกาในการประกาศออกหมายจับมาดูโรและพวกพ้องของเขาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดข้ามชาติโดยเฉพาะโคเคน การกระทำดังกล่าวยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแย่ลง การแซงก์ชันจากสหรัฐอเมริกายิ่งเข้มข้นขึ้น และแน่นอนว่าคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงย่อมเป็นประชาชนชาวเวเนซุเอลานั่นเอง

ปัจจุบันได้เกิดความพยายามในการเจรจาทางการเมืองระหว่างสองขั้วในเวเนซุเอลาเพื่อจัดการกับปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่ติดขัดอยู่ที่ว่า กวยโดเสนอว่ารัฐบาลแห่งชาตินั้นจะต้องไม่มีมาดูโรร่วมอยู่ด้วย ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากมาดูโร

สำหรับปัญหาผู้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบียในสถานการณ์ COVID-19 นี้ รัฐบาลของทั้งสองประเทศควรจะเร่งหาทางออกที่เหมาะสมในสภาวการณ์เช่นนี้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีต่อผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบีย มาดูโรได้กล่าวว่าเขาพยายามติดต่อกับรัฐบาลโคลอมเบียแล้วแต่ไม่มีเสียงตอบรับในเชิงบวกสักเท่าไรนัก มีเพียงการประชุมร่วมกันโดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่ยังไม่มีการติดต่อกันโดยตรง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบียในช่วงนี้ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการดำรงชีวิตอยู่ ถึงแม้เขาจะหนีความอดอยากออกมาจากเวเนซุเอลาได้แล้วก็ตาม แต่อาจจะต้องมาตายด้วยผลกระทบของปัญหา COVID-19 ที่เกิดขึ้น เปรียบเหมือนหนีเสือปะจระเข้ดังหัวเรื่องของบทความชิ้นนี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save