fbpx
‘เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ’ การเมืองในละคร และ ‘คณะราษฎร’ ผู้รับบทตัวร้ายตลอดกาล

‘เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ’ การเมืองในละคร และ ‘คณะราษฎร’ ผู้รับบทตัวร้ายตลอดกาล

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะผ่านมา 87 ปีแล้ว แต่ชื่อของ ‘คณะราษฎร’ ยังถูกยกขึ้นมาถกเถียงในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ด้วยว่าเป็นจุดเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยของไทย

“ชิงสุกก่อนห่าม ใจร้อน รุนแรง หัวนอก ไม่เข้าใจเมืองไทย”

ชุดคำพูดที่ใช้โต้แย้งการกระทำและวิธีคิดของคณะราษฎร จนถึงการบอกว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่เหมาะกับสังคมไทย ยังเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้กับผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในปัจจุบัน

วาทกรรมเหล่านี้ยังแทรกซึมอยู่ในสื่อต่างๆ รวมถึงละครโทรทัศน์และละครเวทีที่ฉายภาพคณะราษฎรในรูปแบบของ ‘ตัวร้าย’ และสะท้อนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแง่ลบ

เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยศึกษาเรื่องการนำเสนอภาพเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ปรากฏผ่านละครโทรทัศน์ โดยนำเสนอผ่านบทความ ‘มองการปฏิวัติสยาม 2475 ผ่านเรื่องเล่า และผู้หญิงในละครโทรทัศน์’

เวฬุรีย์ศึกษาเรื่องนี้เมื่อปี 2560 ผ่านละครเรื่อง สี่แผ่นดิน (2546), มาลัยสามชาย (2553), แต่ปางก่อน (2560) และวิเคราะห์ละครที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวคือเรื่อง เพชรกลางไฟ (2560) ที่กล่าวถึงกบฏ ร.ศ. 130 และเรื่อง ขมิ้นกับปูน (2559) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์หลังการปฏิวัติสยาม

นอกจากนี้เธอยังมองถึงบทบาทของตัวละครหญิงที่ปรากฏผ่านละครเหล่านี้ อันสะท้อนถึงผลกระทบที่ผู้หญิงได้รับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและความขัดแย้งเชิงคุณค่าในสังคมที่เปลี่ยนไป

เวฬุรีย์ศึกษาปริญญาเอกสาขาภาพยนตร์ศึกษาที่ SOAS University of London สนใจการเมืองวัฒนธรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ละครหลังข่าวที่มีการสร้างพระเอก นางเอก และตัวร้าย ทำให้เกิดอำนาจนำที่นำไปสู่การกำหนดคุณค่าของสังคมหรือการสร้างแบบอย่างพลเมืองที่ดีให้คนในสังคมทำตาม

101 คุยกับเวฬุรีย์ถึงภาพของคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านละครในฐานะ ‘ตัวร้าย’ การเมืองในละครหลังข่าว และทิศทางความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมละครไทยที่อาจนำไปสู่พื้นที่ของเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น

เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

ทำไมถึงสนใจศึกษาเรื่อง 2475 ผ่านละครโทรทัศน์

เรื่องนี้ศึกษาเมื่อปี 2560 ช่วงกลางปีนั้นเกิดเรื่องหมุดคณะราษฎรหาย จึงเขียนบทความวิชาการนี้เพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 11 ‘เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์’ ตอนไปนำเสนอก็จำได้ว่ายังมีอีกหลายงานวิจัยในงานนั้นที่พูดถึง 2475 เพราะเป็นกระแสสังคมช่วงนั้นจากการที่หมุดคณะราษฎรหาย คนที่ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎรเลยก็หันมาสนใจ คนที่สนใจอยู่แล้วก็มีคำถามว่ามันหายไปได้อย่างไร ทำไมมันหายไป หรือการไม่มีอยู่ของมันบ่งบอกอะไร

เราไม่ได้สนใจการเมืองกระแสหลักเท่าไหร่ แต่สนใจสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรม ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้ดูละครหลายเรื่อง ปกตินักวิชาการจะไม่ค่อยดูละครกัน (หัวเราะ) มีหลายฉากที่คิดว่าทำไมเขานำเสนอออกมาอย่างนี้ ชาวบ้านหรือคนดูทั่วไปเขาไม่ได้ติดตามงานวิชาการหรอก แต่จะดูจากสิ่งเหล่านี้ บางทีการเมืองวัฒนธรรมมันหล่อหลอมความคิดของเรามากกว่าเสียอีก ก็เลยหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด

มีคนที่ไม่รู้เรื่องคณะราษฎรหรือเรื่อง 2475 เลยเหรอ

คิดว่ามีคนที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลยจนกระทั่งเป็นข่าวขึ้นมา หลายคนอาจจะรู้บ้างแต่รู้ไม่ลึก ส่วนตัวเองก็ยอมรับว่าไม่ได้ลึกซึ้งเท่าคนที่ทำงานด้านรัฐศาสตร์หรือด้านประวัติศาสตร์ แต่จุดประสงค์ของงานนี้ต้องการพูดว่าภาพของคณะราษฎรในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมองว่ามีการตีความที่ยึดโยงกับบริบทของการเมืองร่วมสมัย ยิ่งการเมืองทวีความขัดแย้งมากขึ้น การพูดถึงคณะราษฎรก็ไม่ได้หมายถึงคณะราษฎรเมื่อปี 2475 แล้ว มันอาจจะหมายถึงคนบางกลุ่มบางพวกที่อยู่ในการเมืองปัจจุบัน ออกจะเป็นสัญลักษณ์มากกว่า

การศึกษาผ่านละครโทรทัศน์แตกต่างจากการศึกษาผ่านสื่ออื่นๆ อย่างไร มีอะไรต้องระวังหรือพิจารณาเป็นพิเศษไหม

ละครมักทำมาจากนวนิยาย โดยเฉพาะละครไทย ร้อยละ 80-90 ทำมาจากนิยาย เพราะฉะนั้นจึงพยายามไม่ตัดสินจากแค่ละคร แต่กลับไปดูนิยายก่อนว่าเขานำเสนอภาพอย่างไรแล้วค่อยมาเปรียบเทียบกับละคร มันเป็นการศึกษาการดัดแปลง (adaptation) ด้วย ตัวนิยายอาจพูดไว้แค่นี้ แต่ละครพูดเพิ่มเข้าไปอีก อาจทำให้สามารถมองได้ว่ามีการดัดแปลงที่เชื่อมโยงกับสังคมร่วมสมัยหรือแสดงอุดมการณ์บางอย่างของผู้ผลิตหรือเปล่า แต่เราก็ไม่ได้ฟันธงขนาดนั้น เพราะไม่ได้สัมภาษณ์ผู้ผลิตละคร พูดได้แค่ว่าอาจเป็นกระแสสังคมช่วงนั้นที่ทำให้ละครมีการพูดถึงคณะราษฎรเพิ่มขึ้นในแง่มุมต่างๆ

โจทย์ที่สนใจเจาะจงไปที่บทบาทของผู้หญิงในละคร เป็นสิ่งที่ตั้งไว้แต่ต้นหรือเมื่อมาวิเคราะห์เรื่องเล่าแล้วจึงเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจ

เป็นเรื่องที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ถ้าใครศึกษาเรื่องละครโทรทัศน์ก็จะบอกว่าละครโทรทัศน์ยึดโยงกับความเป็นผู้หญิงเยอะมาก เพราะมันคือโลกของผู้หญิง คนดูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ตัวละครหลักก็จะเป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับนวนิยายที่เอามาทำเป็นละครก็มักจะมาจากผู้ประพันธ์ที่เป็นนักเขียนหญิง แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวนางเอกหรือตัวนางร้ายจะแสดงถึง role model ของผู้หญิงดีและผู้หญิงไม่ดีในสังคมไทย

เมื่อมาเชื่อมโยงกับเรื่อง 2475 สุดท้ายผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรกลับเป็นฝั่งตรงข้ามหมด คือฝั่งอนุรักษนิยมที่ถูกพรากสามีในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แทบจะไม่มีผู้หญิงในอีกฝั่งหนึ่งเลย จึงสามารถพูดได้ว่า ละครทำให้เกิดการมองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปทำลายสถาบันครอบครัว ทำลายความรัก ความผูกพันบางอย่างที่ผู้หญิงยึดถือ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ชัดเจนว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วผู้หญิงมีเสรีภาพมากขึ้นหรือเปล่า อย่างที่เขียนไว้ในบทความว่า แม้กระทั่งผู้หญิงชั้นสูงก็ยังต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเกียรติยศของตัวเอง โดยที่ไม่ทำตามหัวใจของตัวเองอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าละครส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษาจะมองการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือคณะราษฎรในแง่ลบมากกว่า ในเชิงที่ไปสร้างผลกระทบกับสถาบันครอบครัว

เหมือนเป็นการฉายภาพผลกระทบจาก 2475 ที่รุนแรงและต่อเนื่องไปถึงผู้หญิงที่ไม่ใช่ตัวละครหลักในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นคนอยู่วงนอกแต่ได้รับผลกระทบด้านลบ

ใช่ ตัวละครผู้หญิงจะเป็นคนอยู่วงนอก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเลย อาจจะเป็นแม่หรือเมียของคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ในเรื่องสี่แผ่นดินจะมีตัวละครหญิงที่เป็นแม่ของทั้งคนในกลุ่มคณะราษฎรและฝ่ายตรงข้ามคือฝั่งอนุรักษนิยม แล้วได้รับผลกระทบคือความแตกแยกในครอบครัว หรือมีตัวละครที่เป็นภรรยาที่ถูกพรากสามีไป ได้รับผลกระทบเป็นแง่ลบเกือบทั้งหมด

เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

ในละครหลายเรื่องที่หยิบมาศึกษา นอกจากคณะราษฎรและกบฏ ร.ศ.130 แล้วมีการพูดถึงกลุ่มอื่นบ้างไหม เช่น กบฏบวรเดช แล้วน้ำเสียงในการพูดถึงแตกต่างจากสองกลุ่มแรกไหม

ที่หยิบยกมาศึกษาจะมีแค่สองกลุ่มคือคณะราษฎรกับกลุ่มร.ศ.130 แม้ระยะเวลาจะห่างกัน บริบททางสังคมไม่เหมือนกัน แต่กลายเป็นว่าทั้งสองกลุ่มถูกพูดถึงด้วยภาพเดียวกันเป๊ะเลย คือ ชิงสุกก่อนห่าม หัวนอก ไม่เข้าใจสังคมไทย ใจร้อนเกินไป และต้องการใช้ความรุนแรง

ส่วนกบฏบวรเดชมีการพูดถึงอยู่นิดหน่อยในนิยายเรื่อง ‘มาลัยสามชาย’ ตอนที่เป็นละครไม่แน่ใจว่าเน้นเรื่องนี้แค่ไหน แต่ไม่ใช่เรื่องที่พูดถึงเป็นหลัก จากในนิยายจะมีตัวร้ายในกลุ่มตำรวจที่ไปเข้ากับคณะราษฎร แล้วไปช่วยปราบกบฏบวรเดช สุดท้ายกลับมาเจอว่าเมียน้อยของตัวเองเป็นชู้กับลูกชาย แล้วก็ฆ่าลูกชาย ก่อนจะฆ่าตัวตาย

ในละครที่เลือกมาศึกษามีเรื่องไหนพูดถึง 2475 ได้เด่นชัดที่สุด

‘สี่แผ่นดิน’ เป็นการพูดถึงตรงๆ เลย เพราะเป็นปมหลักที่ผูกไว้กับนิยายดั้งเดิมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คือปมเรื่องความแตกแยกของครอบครัวแม่พลอยที่เกิดจาก 2475  รองลงมาน่าจะเป็นเรื่อง ‘มาลัยสามชาย’ มีหลายฉากที่พูดถึง 2475 ในแง่ลบ แต่เรื่อง ‘เพชรกลางไฟ’ คิดว่าสุดท้ายเขาไม่อยากแตะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับ ร.ศ.130 มาก มีเพียงการพูดผ่านๆ ว่า อย่าไปทำอะไรนะ ใจร้อนเกินไป ความรุนแรงนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง พูดแค่นี้ แต่ไม่ให้บริบทของสังคมและสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงนั้น คิดว่าคนทำละครไม่ได้อยากแตะเรื่อง ร.ศ.130 มาก ไปเน้นเรื่องความรัก เรื่องชนชั้นมากกว่า

มองในภาพรวมทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ที่คนทำละคร คนเขียนบท หรือกระทั่งคนเขียนนิยายที่ถูกนำมาสร้างเป็นละคร มีมุมมองในทิศทางเดียวกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อาจจะต้องแยกกันระหว่างนิยายกับละคร ถ้าในส่วนนิยายก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนสี่แผ่นดิน หรือ ว.วินิจฉัยกุล ที่เขียนมาลัยสามชายและเพชรกลางไฟ ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจนเหมือนกันจากแต่ละเรื่องที่ท่านเขียน พอดัดแปลงมาเป็นละครคิดว่าเป็นกระแสร่วมสมัยของคนในปัจจุบัน เมื่อคนพูดถึงคณะราษฎรในฐานะที่ไม่ได้เป็นแค่คณะราษฎรในประวัติศาสตร์ แต่เป็นตัวแทนของคนบางกลุ่มที่อาจจะรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบถอนรากถอนโคน เลยทำให้คณะราษฎรถูกนำเสนอในด้านลบ

นอกจากนี้ในเนื้อหานิยายเมื่อกลุ่มของคณะราษฎรไม่ใช่ตัวละครหลัก จึงยิ่งถูกนำเสนอในด้านลบ เพราะละครมีขนบในการพรีเซนต์แบบขาวชัด-ดำชัด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้เหตุผลว่าทำไมตัวละครถึงจะต้องทำแบบนี้

แต่ในปัจจุบันสื่อกระแสหลักมีอำนาจน้อยลงในการกำหนดความคิดของคน ตอนนี้เรื่องคณะราษฎรอาจจะถูกนำเสนอผ่านอย่างอื่น เช่นมีคนทำเพจเป็น internet meme เป็นรูปแบบใหม่ของการพูดถึงคณะราษฎรที่อาจไม่ได้เป็นเชิงลบเหมือนเดิม พอมีสื่อออนไลน์ที่คนธรรมดาสามารถสร้างคอนเทนต์ได้เองแล้ว การเล่าเรื่องเหล่านี้จะเปลี่ยนไปในอนาคต แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นชัดว่าภาพมันเปลี่ยนขนาดไหน

อาจพูดได้ว่าการที่คนทำละครเสนอภาพคณะราษฎรในแง่ลบเพราะบทนิยายดั้งเดิมเป็นแบบนั้นอยู่แล้วหรือเปล่า เมื่อตัวเอกเป็นฝ่ายเจ้าเลยอาจพูดถึงในแง่อื่นไม่ได้ หรือว่าคนทำละครเองก็พร้อมตอกย้ำภาพนั้นให้ชัดเจนขึ้น

ก็มีหลายอย่าง พูดในฐานะที่ตัวเองเคยอยู่ในอุตสาหกรรมละคร ปกติคนทำละครไม่ได้ทำเพื่อตั้งหน้าตั้งตาเผยแพร่อุดมการณ์อะไรนะ เรื่องเดียวที่สนใจคือเรทติ้งและโฆษณาว่าจะเข้าหรือเปล่า เขาจะทำละครให้แซ่บ ให้ดูสนุก ในแบบละครไทยยิ่งสนุก ความขัดแย้งก็ต้องยิ่งรุนแรง เมื่อในบทเดิมตัวละครอยู่ในฝ่ายเจ้าอยู่แล้ว พอยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็ยิ่ง overacting มีการทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายชัดว่าไอ้นี่เลว ไอ้นี่ดี

แต่ถามว่าคนทำมีอุดมการณ์แบบเดียวกันนั้นไหม ก็ไม่กล้าฟันธง แต่จะมีละครหลายค่ายที่เราพอจะรู้อยู่แล้วว่าเขาจะผลิตละครซัพพอร์ตอุดมการณ์เหล่านี้ ก็พอจะอนุมานได้ว่าคงเป็นอุดมการณ์ของคนทำด้วย จริงๆ เป้าหมายของละครส่วนใหญ่คือเพื่อธุรกิจ เขาจะทำให้มันเข้มข้นขึ้นเพื่อให้คนดูสนุก แต่ความสนุกนั้นมาด้วยการทำให้เกิดตัวร้ายที่เห็นชัด บทบาทสำคัญกลายไปตกอยู่ที่คณะราษฎร กระแสการเมืองและกระแสสังคมในช่วงหลังมีคนส่วนหนึ่งมองว่าคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายที่ทำให้ตกหลุมอยู่ในประชาธิปไตยจอมปลอมอยู่นาน สิ่งเหล่านี้ผสมรวมกันจนทำให้ภาพของคณะราษฎรเป็นแบบนี้

แล้วในกรณีละครรีเมคที่มีการเพิ่มบทพูดถึง 2475 ทั้งที่บทดั้งเดิมไม่มีล่ะ

คิดว่าเขาอยากใส่บริบทร่วมสมัยหรือทำให้มันเป็นปัจจุบันมากขึ้น เมื่อกระแสสังคมช่วงนั้นมองว่าคณะราษฎรเป็นฝ่ายร้าย สิ่งนี้เลยไปปรากฏในละครสองเรื่องที่ศึกษาคือ ‘แต่ปางก่อน’ กับ ‘ขมิ้นกับปูน’

เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

การนำเรื่องที่พูดถึง 2475 มาทำละครทีวีหรือละครเวทีซ้ำบ่อยช่วงความขัดแย้งทางการเมืองกำลังเข้มข้น มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า

เราต้องเข้าใจว่าบางครั้งการเมืองวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลมาสั่งให้ทำละครหรือหนังแบบนี้หรอก แต่ผู้ผลิตเขาก็อยู่ในสังคม และอำนาจนำจะทำให้เรามีความเชื่อ ทัศนคติ และอุดมการณ์ไปตามสังคมส่วนใหญ่ เมื่อสังคมส่วนใหญ่เชื่อแบบนั้น เขาก็มองว่าการผลิตของเขาสอดคล้องกับอุดมการณ์สังคมช่วงนั้นและสอดคล้องกับคนดู ก็น่าจะทำการตลาดได้ เรื่องจะน่าสนใจ นี่คือสาเหตุของการรีเมคซ้ำๆ ของละครโทรทัศน์และละครเวที

สุดท้ายมันก็คือการ reproduction อุดมการณ์ในรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลสั่งให้คุณทำแบบนี้ คุณก็เลยทำ แต่มันอาจจะฝังเข้าไปอยู่ในวงจรของการผลิตแล้วก็เลยเกิดการผลิตซ้ำเรื่อยๆ

จากที่อาจารย์เคยเขียนบทละคร ทางค่ายหรือผู้จัดมีความกังวลในการใส่เรื่องการเมืองเข้ามาในละครแค่ไหน

ช่วงที่อาจารย์เคยเขียนประมาณสิบปีก่อนที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง เป้าหมายของละครคือเรื่องธุรกิจ ถ้าไปแตะการเมืองแล้วทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่นอาจถูกเซ็นเซอร์ ถูกแบน หรือโฆษณาไม่เข้า เป็นสิ่งที่ผู้จัดหรือเจ้าของละครไม่มีทางยอมอยู่แล้ว เขาจะระมัดระวังโดยไม่ใช้ชื่อจริงหรือขึ้นข้อความว่าเป็นเหตุการณ์สมมติ

ตอบไม่ได้ว่าปัจจุบันเขามีความระมัดระวังขนาดไหน คาดว่ายิ่งสถานการณ์การเมืองแรง คนน่าจะยิ่งระวังมากขึ้น อย่างเคส ‘เหนือเมฆ’ เป็นเคสที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อยู่ๆ ก็ตัดไปเลยโดยไม่บอกกล่าว ผลกระทบไปตกกับทางสถานี ทางผู้ผลิต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาระมัดระวังมากขึ้น

ละครไทยที่นำเสนอภาพตัวละครแบบขาว-ดำ มีตัวดี-ตัวร้าย ปัจจุบันมีการพัฒนาตัวละครให้กลมขึ้นไหม หรือก็ยังต้องใช้เทคนิคนี้เพื่อทำให้ละครเข้มข้น ถูกจริตคนดู

มีที่คงไว้แบบเดิมบ้างและเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง ถ้าเป็นผู้ผลิตที่เน้นกลุ่มคนดูอายุมากหรือวัยทำงานขึ้นไป เขายังค่อนข้างเน้นขาวชัด-ดำชัดอยู่ แต่ช่องที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเห็นคาแรคเตอร์ที่กลมมากขึ้น เริ่มมีละครที่นางเอกไม่ยอมให้ตัวร้ายข่มแหงรังแก นางเอกก็มีความร้ายของนางเอก เห็นได้ชัดจากละครที่เจาะคนเมืองอย่างช่อง 3 หรือช่องสำหรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น อย่างช่อง ONE ช่อง GMM ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นถ้าเป็นบทที่ผลิตเองจะมีช่องว่างให้ใส่อะไรที่กลมมากขึ้น อย่างเรื่อง ‘รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ เป็นมิติใหม่ที่นางเอกเลือกคนที่ไม่ใช่พระเอกตามบท หรือในหลายเรื่องที่นางเอกไม่ใช่คนดีอย่างเดียวแล้ว

มันเป็นกระบวนการมา ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนใน 1-2 ปี แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนไปพร้อมกับการพัฒนาของสังคม พร้อมกับรสนิยมคนดู เช่นคนดูละครเกาหลีมากขึ้น แล้วก็พูดว่าชอบละครเกาหลีเพราะมีความกลม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครไทยมีการปรับตัวเหมือนกัน

แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะมีคนทำละครโทรทัศน์พูดถึง 2475 ในมุมมองอื่นบ้าง

ตอนนี้ความเป็นไปได้ยังน้อยอยู่ เพราะนิยายที่พูดถึงมุมดีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเป็นนิยายของนักเขียนรุ่นสุภาพบุรุษ อะไรแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่จะมาทำเป็นละคร นอกนั้นจะเป็นกลุ่มนักเขียนเรื่องสั้นเพื่อสังคม ถ้าไม่มีนิยายที่จะหยิบมาทำมันก็จะยาก แล้วยังมีเรื่องการเซ็นเซอร์ การแบน

สำหรับละครกระแสหลักยังไม่คาดหวังเท่าไหร่ อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่สื่ออื่นที่เริ่มเกิดมากขึ้นจะมีเนื้อหาต่างไปจากเดิม เช่น เพจเฟซบุ๊ค การเขียนบล็อก นิยายออนไลน์ ล่าสุดมีคนเอานิยายแชทในจอยลดาเรื่องหนึ่งมาให้ดู เป็นนิยายที่พูดถึงความขัดแย้งของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง พูดถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เป็นเรื่องที่สื่อไม่พูด และคิดว่าคนเขียนนิยายออนไลน์พวกนี้น่าจะอายุยี่สิบต้นๆ เขาเกิดมาพร้อมกับความขัดแย้งและอาจมองว่าไม่ได้มีอะไรที่เป็นขาวดำ

ที่ผ่านมาไม่มีละครสักเรื่องที่พูดถึงคณะราษฎรในมุมบวกเลยเหรอ

ตอนที่ทำเรื่องนี้ก็ถามตัวเองอยู่ตลอด พยายามไปหาเรื่องอื่นก็ยังไม่เจอ อย่างที่บอกว่างานที่พูดถึง 2475 ในแง่ดี ไปอยู่ในนักเขียนกลุ่มที่ผลงานเขียนของเขาไม่ได้เหมาะสมสำหรับการมาทำเป็นละครเท่าไหร่ แต่ในอนาคตก็หวังกับความคิดของคนรุ่นใหม่และสื่อใหม่ ถ้ามีช่องทางเปิดมากขึ้นก็เป็นไปได้ที่มันจะเกิดขึ้น

เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

มองยังไงที่ยิ่งเกิดความขัดแย้งทางการเมือง คณะราษฎรยิ่งถูกพูดถึงในทิศทางเดียวกันกับนักเคลื่อนไหวหรือนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้า จนแทบจะเป็นภาพแทนกัน

เอาจริงฝ่ายก้าวหน้าก็หยิบยกคณะราษฎรขึ้นมาก่อน มีการไปทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร สุดท้ายเขาก็ถูกยึดโยงภาพกับคณะราษฎรโดยอัตโนมัติ ฝั่งอนุรักษนิยมที่ครองกระแสในสื่อหลักเลยพรีเซนต์ภาพเชิงลบเกี่ยวกับคณะราษฎรออกมา

เป็นการโต้ตอบซึ่งกันและกัน ไม่ใช่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ ฝ่ายก้าวหน้าหยิบสิ่งนี้ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ก่อน อีกฝ่ายหนึ่งจึงโต้ตอบด้วยวาทกรรม เช่นที่บอกว่าจะให้คนเท่ากัน แต่คณะราษฎรก็ไม่เห็นทำอย่างนั้นเลย เป็นการโต้ตอบที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยึดกุมคณะราษฎรเป็นเครื่องมือเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝั่งต่างใช้เป็นเครื่องมือในต่างรูปแบบกัน ฝ่ายก้าวหน้าอาจใช้เป็นเครื่องมือในการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมมีสื่อหลักอยู่ในมือ เขาก็ใช้ผ่านสื่อหลัก

คิดยังไงที่ 2475 ผ่านมาตั้งนานแล้ว แต่คำพูดที่ใช้โต้แย้งแนวคิดคณะราษฎรยังถูกนำมาใช้กับฝ่ายก้าวหน้าในปัจจุบัน เช่นบอกว่าตอน 2475 คนไทยยังไม่พร้อม ตอนนี้ก็ยังบอกว่าคนไทยยังไม่พร้อมอยู่

สิ่งนี้ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ เพราะพอฝ่ายหนึ่งเอาตัวเองไปผูกติดกับคณะราษฎร อีกฝ่ายหนึ่งจึงหยิบอะไรที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรขึ้นมาโต้ตอบเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่ค้นคลิกเดียวก็ได้รู้อะไรหลายอย่างหลายมุม จนไม่น่าจะมีใครเป็นอำนาจนำที่ครองการเล่าเรื่องด้านเดียวผ่านสื่ออีกต่อไป จึงจะมีอีกหลายมุมมองไปปรากฏอยู่ที่อื่น

ที่ศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะโทษว่าละครที่พูดเรื่องนี้เป็นมุมมองประวัติศาสตร์ที่ผิด เพราะถามว่าฝ่ายเจ้ารู้สึกคับแค้นกับสิ่งที่คณะราษฎรทำหรือเปล่า เขาก็คงคิดอย่างนั้น อยู่มาวันหนึ่งมีคนลิดรอนอำนาจหรือฐานันดรศักดิ์ที่เคยมี บางคนก็ไปตายต่างประเทศ เป็นมุมมองหนึ่งของคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกกระทำในช่วงนั้น แต่มันก็มีมุมมองอื่น มีเรื่องเล่าแบบอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสื่อกระแสหลัก อาจต้องรอเวลาเหมาะสมที่จะเกิดสื่อที่บอกเรื่องเล่าใหม่ๆ ขึ้นมา

ปัจจุบันเราก็ยังเห็นเรื่องการเมืองในละครโทรทัศน์ไม่มากนัก

มีบ้างที่เอาเรื่องการเมืองมาใส่ ล่าสุดเห็นเรื่อง ‘ฤกษ์สังหาร’ ออกอากาศช่อง ONE อันนี้ก็มาจากนิยาย เป็นเรื่องนักการเมืองคนหนึ่งต้องการหาคนมาเป็นเหยื่อที่ถูกฆ่าในพิธีตามฤกษ์ต่างๆ เชื่อว่าจะทำให้ตนเองมีอำนาจ มันน่าสนใจเพราะการเมืองไทยผูกกับไสยศาสตร์อย่างมาก เน้นความเข้มข้นของพระเอกที่พยายามช่วยเหลือเหยื่อไม่ให้โดนทำพิธี

เมื่อก่อนก็มีละครเรื่อง ‘จินตปาตี’ พูดถึงพระเอกที่เป็นนักการเมืองและนางเอกเป็นนักข่าว แต่แน่นอนว่าถ้าละครไทยพูดถึงการเมืองจะเป็นแค่กลิ่นหรือบริบทแวดล้อมที่ใส่เป็นกิมมิคเข้ามา แต่เรื่องหลักจะเป็นเรื่องความรัก ความสยองขวัญ หรือเรื่องผี

ละครที่แตะเรื่องการเมือง น้ำเสียงหรือทิศทางจะคล้ายๆ กันไหม

เท่าที่เคยดู น้ำเสียงหรือทิศทางคล้ายกันในมุมมองว่านักการเมืองคือคนเลว คนที่ต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์ แล้วคนก็จะมีทัศนคติด้านลบต่อความเป็นการเมือง เราไม่คาดหวังกับระบบ แต่คาดหวังกับตัวบุคคลที่เป็นคนดีมาช่วยทำให้ประเทศดีขึ้น เป็นจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาอีกลูปหนึ่งของประเทศไทย

เราไม่สามารถพูดได้ว่าคนในอุตสาหกรรมนี้คิดแบบเดียวกันหมด แต่ผู้กำกับหรือผู้จัดที่มีความคิดก้าวหน้ามีพื้นที่ในแวดวงนี้แค่ไหน

คนในอุตสาหกรรมนี้ก็มีคนที่เป็นหัวก้าวหน้าหลายคน แต่เขาอาจเลือกกดความเป็นตัวเอง เลือกทำหนังแมสๆ บางคนทำกับบริษัทใหญ่ก็เป็นเนื้อหาแบบหนึ่ง พอไปทำของตัวเองก็เป็นเนื้อหาอีกแบบหนึ่ง เป็นวิธีในการ survive ในอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องโชว์อุดมการณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

หลักๆ เป็นเรื่องโฆษณาและสปอนเซอร์ ถ้าวันนี้มีคนลุกขึ้นมาบอกว่าฉันจะทำ 2475 ในมุมมองที่คณะราษฎรเป็นพระเอกจะเกิดอะไรขึ้น จะมีคนดูกลุ่มหนึ่งโพสต์ด่า มีแคมเปญว่าจะไม่ซื้อข้าวของของคนที่สนับสนุนละครเรื่องนี้ สปอนเซอร์ก็ลังเลที่จะซัพพอร์ต หรือดาราอาจโดนคอมเมนต์ด่า เพราะบางทีเรื่องส่วนตัวของดารายังลามไปถึงการแบนไม่ดูผลงานเลย

แม้จะมีคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทำไมฉันจะพูดถึง 2475 เป็นเรื่องบวกไม่ได้ ในเมื่อโครงสร้างสังคมปัจจุบันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่แน่นอนว่าจะมีกลุ่มคนที่พิทักษ์ความถูกต้องให้กับสังคมไทยที่เขาไม่ยอม ซึ่งเขามีกระบอกเสียงที่ดังมากกว่า

แต่หากไม่ใช่ละครกระแสหลัก อย่าง YouTube ที่ช่องทางการซัพพอร์ตเกิดจากการ subscribe หรือการไลก์ ก็จะหลุดออกจากกรอบของการที่จะต้องแคร์สิ่งเหล่านี้ อีกสัก 5-10 ปี สิ่งนี้อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะทุกวันนี้ YouTuber มีอิทธิพลมากกว่าสื่อหลักบางสื่อด้วยซ้ำ

อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้นักแสดง ผู้จัด หรือคนเขียนบทในต่างประเทศ สามารถแสดงจุดยืนฝั่งก้าวหน้า หรือการต่อต้านชนชั้นได้อย่างเปิดเผย แต่พอเป็นประเทศไทยพูดปุ๊บจะโดนถล่ม ขยับไม่ได้เลย

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ซึ่งเป็นหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง เขาพูดว่าที่ดาราไทยหรือคนที่มีชื่อเสียงในไทยพูดไม่ได้เต็มปากว่ามีความคิดเห็นแตกต่าง เพราะวงการบันเทิงก็เป็นวงการหนึ่งที่มีระบบอุปถัมภ์ ดาราก็เกรงใจผู้จัด เกรงใจช่อง เกรงใจคนอื่นๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ

แม้จะมีดาราบางคนที่พูดตรงๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ตัวพระเอกนางเอกหรือซูเปอร์สตาร์ที่มีอะไรต้องระวังเยอะ แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนา สมัยก่อนมีดาราที่พูดเต็มปากเต็มคำว่าตัวเองสนับสนุนรัฐประหารเยอะ แต่ปัจจุบันค่อนข้างน้อย อย่างกรณีปั้นจั่นไปพูดอะไรซึ่งคน พ.ศ. นี้ไม่รับแล้ว เขาก็ได้รับผลกระทบ แล้วยังส่งผลไปถึงผู้กำกับและค่ายด้วย อย่างน้อยทำให้คนในวงการรู้ว่าจะพูดอะไรที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยได้ยากแล้ว หรือกรณีทาทา ยัง ที่พูดว่าจะดักตบช่อ แล้วก็โดนผลกระทบ เป็นพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่อนาคตจะพัฒนาไปเหมือนฮอลลีวูดที่คนกล่าวสปีชรับรางวัลกล้าพูดค้านกับทรัมป์ไหม ก็อาจจะต้องรอเวลาสักพัก

เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

ความเปลี่ยนแปลงของสื่อทำให้ละครโทรทัศน์มีบทบาทหรืออิทธิพลต่างจากเดิมไหม แล้วความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลโดยตรงถึงการสร้างละครหรือเปล่า

ละครก็มีหน้าที่ถ่ายทอดอุดมการณ์บางอย่างอยู่ แต่แพลตฟอร์มหรือรูปแบบเปลี่ยนไป เช่นเมื่อก่อนแทบจะไม่มีใครนึกถึงละครช่องอื่นนอกจากช่อง 3 และช่อง 7 แต่ตอนนี้เรตติ้งพอๆ กัน บางทีช่อง ONE ได้มากกว่าด้วยซ้ำ อันนี้คือการเบรกภาวะกึ่งผูกขาดในอุตสาหกรรม และปัจจุบันสื่อกระแสหลักอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือกแรกของสปอนเซอร์หรือเจ้าของสินค้า แต่ไปเลือก YouTuber โฆษณาให้แทน

ในอนาคตแพล็ตฟอร์มอาจเปลี่ยนจากช่องโทรทัศน์เป็น YouTube Line หรือแพลตฟอร์มที่มีการ subscribe อย่าง Netflix หรือ Viu มากขึ้น อาจทำให้คนทำละครไม่ต้องแคร์สปอนเซอร์ที่เป็นเจ้าของสินค้า เพราะได้เงินจากการโหวตหรือขอการสนับสนุนจากคนดู เราจะได้เห็นละครรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น แพตเทิร์นการเป็นพระเอกนางเอกจะเปลี่ยนไป ละครจะมีคาแรคเตอร์กลมมากขึ้น อย่าง Gay OK Bangkok ที่เน้นออนไลน์เป็นหลัก เนื้อหาพูดถึงเกย์หรือเลสเบี้ยนที่ไม่สามารถพูดได้เต็มที่บนสื่อกระแสหลัก ตอนนี้ลิเบอรัลเรื่องเพศแล้ว ต่อไปก็อาจมีเรื่องการเมืองมากขึ้น

การทำละครการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงคณะราษฎรหรือเรื่องรัฐประหารตรงๆ บางทีออกมาในรูปแบบอื่นอย่างหนังเรื่อง ‘แสงกระสือ’ ที่ใช้สัญลักษณ์ของความเป็นอื่นที่ถูกขับไล่ในสังคม แล้วพยายามจะเรียกร้องความยุติธรรมที่ต้องถูกขับไล่ ถูกมองว่าไม่เป็นมนุษย์เพราะสิ่งที่เป็น นี่ก็คือเรื่องการเมือง อย่าไปคาดว่าพอแพลตฟอร์มเปลี่ยนแล้วจะต้องเห็นอะไรที่ชัดเจน ถ้าพูดชัดเกินไปก็ขาดความเป็นศิลปะ

เวลาคนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมละครมักมองแง่ลบว่า คนดูทีวีน้อยลง โฆษณาน้อยลง แต่ฟังดูแล้วน่าจะมีส่วนดีที่ทำให้คนทำละครที่ไม่ใช่สายแมสมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์มากขึ้น

แง่ลบทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมอยู่ในขาลง สื่อปิดไปเยอะ แต่ก็เกิดสื่อใหม่มากขึ้น ทุกวันนี้เราเองดู YouTube มากกว่าทีวีด้วยซ้ำ เมื่อก่อนจะมี gatekeeper ไม่มีเนื้อหาอะไรจะออกมาได้ถ้าช่องไม่เห็นด้วย แต่ตอนนี้ gatekeeper หายไปแล้ว คนธรรมดาที่มีกล้องก็หยิบมาถ่ายทำได้ ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นรายการ อาจจะมีละครได้ในอนาคต

เรายังมีความหวังกับชีวิต ละครหรือวรรณกรรมที่เขาบอกว่าวงการหนังสือจะแย่แน่ๆ ในยุคที่คนไม่อ่านจากกระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่ทุกวันนี้คนหันไปอ่านอย่างอื่น นักเขียนที่ปรับตัวมาเขียนออนไลน์ ปล่อยให้อ่านฟรี 3-4 ตอนแล้วค่อยขายเป็นเล่มก็ยังขายได้อยู่ นิยายวายก็เป็นปรากฏการณ์ที่ขายได้เยอะมากๆ

คนยังมีความต้องการเสพงานด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ หรือวรรณกรรม เพียงแต่วิถีชีวิตเราอยู่ในยุคดิจิทัล อินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ อำนาจในการควบคุมสื่อจะน้อยลง ผลดีคือมีคอนเทนต์หลากหลายมากขึ้น มีทั้งดีและไม่ดีไม่ต่างจากยุคที่มีหนังสือพิมพ์แรกๆ ไม่ต่างจากสมัยที่มีทีวีหรือภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ที่เมื่อก่อนเขามองว่าสื่อทีวีสื่อภาพยนตร์จะมาฆ่า performing art เหมือนกัน สุดท้ายสังคมจะเรียนรู้เองว่าจะอยู่กับสื่อที่เปลี่ยนไปยังไง

การที่มีละครสายทางเลือกเกิดขึ้นได้ เพราะแพลตฟอร์มใหม่สอดรับผู้ชมบางกลุ่มได้ หรือเพราะรสนิยมผู้ชมในภาพรวมเปลี่ยนไปด้วย เพราะเมื่อก่อนคนจะพูดว่าละครไทยมีแต่น้ำเน่า เพราะถ้าทำละครแบบต่างประเทศก็ไม่มีคนดู

มันเปลี่ยนไปพร้อมกัน ถ้าคนดูเรียกร้องให้มีละครที่ลึกซึ้งมากขึ้น ตัวละครมีสีเทาๆ แต่อุตสาหกรรมไม่เปลี่ยนก็เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนนี้ทีวีที่เป็นสื่อดั้งเดิมถูก disrupt กลายเป็นสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้ช่องทางในการผลิตมีมากขึ้น ทั้งผู้ผลิตและคนดูต้องเปลี่ยนไปพร้อมกัน ถึงเกิดความเปลี่ยนแปลง

เมื่อก่อนอุตสาหกรรมละครจะวัดด้วยเรตติ้งเสมอ ทำยังไงช่อง 7 ก็ชนะ ซึ่งก็มีคำถามกันว่าไปวัดเรตติ้งกันที่ไหน เพราะเราไม่เคยเจอกลุ่มตัวอย่างมาก่อน แต่ตอนนี้เรตติ้งสูสีกันมากขึ้น และมีความพยายามจะวัดความนิยมของคนดูผ่านสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมากขึ้น เช่น ยอดไลก์ ยอดวิว กรณี ‘เลือดข้น คนจาง’ ที่คนพูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่เรตติ้งกลับอยู่ที่ 0 กว่าๆ ถึง 1 แล้วการประเมินละครแบบเดิมมันยังวัดได้จริงเหรอ

เมื่อผู้ผลิตเปลี่ยน คนดูเปลี่ยน คนที่เกี่ยวข้องอย่างผู้ประเมินเรตติ้งก็น่าจะเปลี่ยนด้วย และทำให้วิธีซัพพอร์ตละครหรือสื่ออื่นก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน ไม่ได้บอกว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่มันก็มีทั้งบวกและลบอยู่ในความเปลี่ยนแปลงนี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save