fbpx
“การเติบโตเป็นเรื่องเจ็บปวด” - วีรพร นิติประภา

“การเติบโตเป็นเรื่องเจ็บปวด” – วีรพร นิติประภา

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″] [et_pb_text admin_label=”Text”]

ก่อนเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียน ‘วีรพร นิติประภา’ เธอเคยเป็นมาแล้วหลายอย่าง ทั้งครีเอทีฟโฆษณา บรรณาธิการนิตยสารชายรักชาย แม่ค้าขายเครื่องประดับ รวมถึงบทบาทของ ‘แม่’ ที่มีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอยู่ในวัยยี่สิบกลางๆ

 

หากมองความหมายของ Coming of age ในมุมที่กว้างกว่าการเปลี่ยนจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ นี่อาจเป็นภาวะที่มนุษย์ต้องเผชิญซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงต่างๆ ของชีวิต และการผ่านพ้นวิกฤตแต่ละครั้ง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับวีรพร เธอออกตัวว่าเคยผ่านปัญหามามากมายในชีวิต มิหนำซ้ำหลายปัญหา เธอก็ ‘รนหาที่’ เองด้วยซ้ำ

ต่อไปนี้คือคำบอกเล่าบางส่วนที่เธอแลกเปลี่ยนในวงเสวนา 101 Minutes at Starbucks ครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง ‘Coming of Age’

หลายคำ หลายประโยค ร้าวรานไม่ต่างจากนิยายที่เธอเขียน และเธอย้ำหลายครั้งว่า “การเติบโตเป็นเรื่องเจ็บปวดเสมอ”

 

ภาวะ coming of age ในแบบของคุณคืออะไร

เป็นสภาวการณ์ที่แปลกแยกกับตัวเอง แปลกแยกกับคนผู้คน และเรารู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการระยะยาว เช่น ตอนมีลูก ซึ่งเราใช้เวลาหลายปี กว่าที่จะรู้ว่า ฉันไม่ได้เป็นฉันคนก่อนหน้านั้นแล้ว

 

ช่วงที่ชีวิตพังสุดๆ คือตอนไหน

ส่วนตัวเรา เรารู้สึกว่าชีวิตมันพังไม่ได้ นั่งสูดลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวทุกอย่างก็ผ่านไปเอง

แต่ที่เรารู้สึกว่าพัง มันเป็นการพังในแง่ของความรู้สึกมากกว่า ก็คือครั้งแรกที่ได้เห็นว่า มีคนที่มองคนอื่นไม่เป็นมนุษย์ด้วย เพราะถ้าเขามองเราเป็นมนุษย์ เขาคงไม่ทำสิ่งนี้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แรงนะ แรงขนาดที่ว่า ต่อจากนี้กูจะเป็นบ้ามั้ยวะเนี่ย

ภาวะ coming of age ของคนรุ่นใหม่ กับคนรุ่นวีรพร แตกต่างกันไหม

สังเกตว่าคนรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีหลักไมล์ในชีวิตที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน คนรุ่นวีรพรนี่หลักไมล์จะเป๊ะมาก 25 แต่งงาน 30 มีลูก 50 ก็เริ่มเข้าวัด แต่กับคนสมัยนี้ หลักไมล์จะถี่ขึ้น ตั้งแต่ปริญญาตรี โท เอก ทำงานได้ 2-3 ปีก็ต้องย้ายทีนึง ต่างจากคนรุ่นวีรพรที่ทำงานที่เดียวเป็นสิบๆ ปีเพื่อรอกินบำนาญ

ฉะนั้น ด้วยโครงสร้างแบบนี้ ด้วยหลักไมล์ที่ถี่ขึ้น เมื่อคุณไปไม่ถึงเป้า คุณก็จะเบลอ แต่ขณะเดียวกัน ในความเบลอมันก็มีความยืดหยุ่นสูงด้วย

คนรุ่นฮิปสเตอร์นี่เป็นเจเนอเรชั่นที่คลุมเครือมาก ซึ่งวีรพรชอบมาก คุณไม่ต้องเป็นหญิงแท้ชายแท้ คุณไม่ต้องทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง คุณทำงานได้ทุกที่เพราะคุณอยู่บน cloud อยู่บนมือถือ คุณไม่ต้องแต่งงานก็ได้ เพราะคุณมี tinder (หัวเราะ)

การที่คนรุ่นใหม่มีหลักไมล์ถี่ขึ้น เป็นเพราะเทคโนโลยีด้วยรึเปล่า ที่ทำให้เราเห็นชีวิตคนอื่นและเกิดการเปรียบเทียบ

เรามองว่ามันคือ marketing มากกว่า เพราะในสังคมสมัยก่อน มันไม่มีการกำหนดว่าคุณจะต้องเรียนจบอายุเท่านี้ มีบ้านตอนอายุ 30 แต่งงานไม่เกิน 35 มีลูกไม่เกิน 40 แต่เส้นเหล่านี้มันถูกขีดขึ้นมา ก็เพื่อที่จะขายของ กระตุ้นคนให้ซื้อสินค้า

สมัยก่อน คุณจะซื้อบ้านก็ต่อเมื่อคุณมีเงินเก็บพอที่จะซื้อบ้าน แต่เดี๋ยวนี้เรามีระบบเงินผ่อน เพราะฉะนั้นก่อน 30 คุณก็มีบ้านได้ หมายความว่าคุณก็จะเริ่มมีหนี้ตั้งแต่อายุ 30 แล้วคุณก็ผ่อนไปเรื่อยๆ โดยที่คุณยังไม่มีเงินเก็บด้วยซ้ำ

พอคุณผ่อนบ้าน คุณก็คิดว่าคุณมีบ้าน แต่จริงๆ แล้วบ้านเป็นของธนาคารอีกที มันจะเป็นของคุณก็ต่อเมื่อคุณผ่อนหมด กว่าจะถึงตอนนั้นคุณก็เริ่มแก่แล้ว

การเปลี่ยนผ่านบ่อยๆ สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องที่ดีรึเปล่า เพราะมันส่งผลให้ตัวเราเปลี่ยนไปด้วย เช่น ตอนอายุ 20 ยังเป็นคนโลกสวย แต่พออายุเยอะขึ้น ความโลกสวยบางอย่างก็หายไป ซึ่งทำให้คนอื่นมองว่าเราเปลี่ยนไปด้วย

เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ คนที่พยายามทำตัวให้เหมือนตอนอายุ 20 ตลอดเวลาต่างหากที่จะมีปัญหา เพราะยิ่งแก่ โลกมันก็ยิ่งโหดนะคะ คุณก็แค่อยู่แบบที่คุณอยู่ เป็นอย่างที่คุณเป็น ดีกับคนที่ควรดี และก็ร้ายให้มากๆ กับคนที่ร้ายกับคุณ (หัวเราะ)

 

แล้วเวลาเจอคนที่อคติกับเรา ควรทำยังไง

ง่ายๆ เลยค่ะ ‘ช่างแม่ง’ คือใครจะคิดยังไงกับเรา หรืออคติกับเรา มันเป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา คนประเภทนี้ที่มีนิสัยอคติ หรือชอบตัดสิน เขาก็จะตัดสินทุกอย่างแหละค่ะ หมาแมวก็ไม่เว้น ซึ่งเป็นปัญหาของเขาค่ะ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปเดือดร้อน

 

เคยมีช่วง Mid-life crisis ไหม

สำหรับเราอาจไม่เท่ากับคนอื่น ก็คือช่วงประมาณ 45 ถือว่าอลหม่านใช้ได้ ผัวมีเมียน้อย ลูกเข้ามหาลัย เหลือตัวคนเดียว นี่ฉันกำลังจะแก่ วู้ว หายนะชัดๆ นั่นคือช่วงที่ทุกอย่างประดังเข้ามา ซึ่งมันไม่ใช่ประสบการณ์ปัจเจกแล้ว แต่เป็นประสบการณ์ร่วมของครอบครัวด้วย คนรอบข้างด้วย

อีกอย่างก็คือปัญหาทางศีลธรรม เมื่อถึงอายุช่วงหนึ่ง คุณจะเริ่มตระหนักว่าไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้แล้ว เพราะมันค้านกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคุณ

คุณจะเริ่มรู้สึกว่า ฉันจะไม่ take advantage จากผู้คน ไม่ว่าในแง่ financially หรือ sexuality ซึ่งคุณไม่เคยเผชิญหน้ากับความรู้สึกนี้มาก่อน จากที่คุณเคย take adventage มาก่อนหน้านี้ พอถึงอายุช่วงหนึ่ง คุณก็จะรู้สึกว่าคุณทำไม่ได้แล้ว

 

แล้วผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ยังไง

ชีวิตก็เหมือนเช้า สาย บ่าย เย็น แต่ละช่วงก็มีความสวยงามของมันอยู่ ซึ่งคุณอาจจะชอบบางช่วง ไม่ชอบบางช่วง แต่ประเด็นคือช่วงที่คุณไม่ชอบ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป

ตอนกลางคืนอาจจะมืดหน่อย ถ้าไม่ระวังคุณอาจเดินตกท่อได้ แต่ขณะเดียวกัน ดาวมันก็สวยนะ หรือบางวันก็มีพระจันทร์โผล่ขึ้นมาให้คุณเห็น ขณะเดียวกัน ตอนเช้ามันอาจจะสดใสซาบซ่าน แต่บางทีก็ขมุกขมัว – ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น

ในฐานะคนที่ประสบปัญหาในชีวิตมาตลอด เราจะชอบคิดว่าชีวิตก็เหมือนกับช่วงเวลาในแต่ละวัน ฝนตก เดี๋ยวมันก็หยุดตก ฟ้าผ่า เดี๋ยวมันก็หยุดผ่า มันไม่ผ่าไปตลอดกาลหรอก ชีวิตก็เหมือนกัน การจะผ่านแต่ละช่วงไปไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่าย

คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด เพราะเราใช้ได้แค่ชีวิตเดียว และทุกๆ อย่างก็มีราคาที่ต้องจ่าย สิ่งที่เราพอจะทำได้ ก็คือการบาลานซ์ตัวเรากับสิ่งรอบข้าง ถ้าตรงไหนมันหาย มันแหว่ง ก็หามาเติม

ในฐานะของพ่อแม่ เราจะช่วยประคับประคองเด็กวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับภาวะเปลี่ยนผ่านอย่างไร

ในฐานะแม่ เราก็แค่บอกเขาว่า การเติบโตเป็นเรื่องเจ็บปวด นี่คือสิ่งที่เขาควรจะรู้ เด็กๆ ควรเข้าใจว่าการเติบโตเป็นเรื่องเจ็บปวด และยังไงมันก็ต้องเกิดขึ้น

การเข้าสังคม การถูกเพื่อนทิ้ง หรือความรู้สึกแปลกแยกต่างๆ นานา เป็นสิ่งที่เขาต้องเจอ ปัญหาคือเด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้มองเห็นคุณค่าตัวเอง ทั้งจากในโรงเรียน หรือจากครอบครัวก็ตาม

‘ถ้าหนูไม่ทำอย่างนี้ แม่ไม่รักนะ’ เคยได้ยินกันใช่มั้ยคะ หลายบ้านสอนลูกแบบนี้

รักก็บอกว่ารักสิ รักเพราะรัก ไม่ใช่รักเพราะหนูไม่ดื้อ หรืออีกคำที่เจอบ่อยคือ ‘ดูอย่างลูกบ้านโน้นสิ’

ปัญหาหลักๆ ของเด็กน่าจะอยู่ตรงนี้ การไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หรือคุณค่าของตัวเองคืออะไร หน้าที่ของพ่อแม่ และครู คือการช่วยเขาค้นหาศักยภาพของตัวเอง ไม่ใช่สอนให้เขาท็อปเลข

โลกทุกวันนี้ไม่ได้วัดกันที่เกรดอีกต่อไปแล้ว เขาไม่ได้สนใจว่าคุณเก่งหรือท็อปวิชาอะไร เวลาคุณไปสมัครงาน เขาจะถามว่าคุณมีความสามารถอะไร เก่งด้านไหน เคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง

คุณตกเลข แต่คุณอาจเก่งด้านภาษาก็ได้ วีรพรสอบตกเลขมาก่อน แต่ได้ซีไรต์นะคะ

 

เคยฝันว่าอยากกลับไปเป็นเด็กบ้างไหม

ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่นะคะ (หัวเราะ)

ถ้าในแง่รูปลักษณ์ หรือสิ่งของ เราไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ คุณจะซื้อเฟอร์รารี่ตอนอายุ 80 คุณก็ซื้อไป หรือคุณจะทำผมแบบฮิปสเตอร์กระชากวัยตอนอายุ 50 ก็เรื่องของคุณ เราไม่ค่อยสนใจประเด็นเหล่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องภายนอก ไม่ใช่ภาวะ coming of age ที่มาจากภายใน

การทำโบท็อกซ์ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนความคิดแก่ๆ ของคุณให้อ่อนวัยขึ้น หรือทำให้สติปัญญาของคุณแจ่มใสขึ้น จะดีกว่าไหมถ้าคุณกลับไปเป็นเด็กด้วยการมีความคิดสดใหม่ เข้าใจวิถีของคนรุ่นใหม่ เช่น เวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่บน cloud เขาอยู่กันยังไง หรือติดตามว่าโลกมันไปถึงไหนแล้ว แบบนี้สิคือการกระชากวัยที่แท้จริง.
[/et_pb_text] [/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save