อธิภัทร มุทิตาเจริญ เรื่อง
การคืนภาษี VAT ให้ผู้มีรายได้น้อย คือ มาตรการภาษีล่าสุดที่รัฐกำลังจะนำมาใช้ในช่วงปลายปีนี้ โดยวัตถุประสงค์ที่รัฐตั้งไว้คือการกระจายเม็ดเงินจากการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มรากหญ้า และจะมาแทนที่มาตรการ ‘ชอปช่วยชาติ’ ที่ใช้มาเป็นเวลา 3 ปี
กลไกหลักของมาตรการนี้ คือ การคืนเงินภาษี VAT 6% ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเงินที่คืนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 5% จะคืนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกเดือน เดือนละไม่เกิน 500 บาท และส่วนที่สอง 1% จะโอนเข้ากองทุนการออมแห่งชาติของผู้ถือบัตร
ผมมองว่ามาตรการนี้มีหลักการที่ดีกว่าชอปช่วยชาติ อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อเสนอแนะ 3 ข้อที่น่าจะช่วยทำให้นโยบายนี้ช่วยคนจน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างดียิ่งขึ้น
- ระวังการสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยใช้จ่ายอย่างเกินตัว
มาตรการนี้สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยเร่งซื้อของเพื่อให้ได้เงินภาษีคืนเดือนละ 500 บาท ด้วยสัดส่วนการคืนเงิน 5% นั่นหมายถึงการซื้อสินค้าที่มี VAT เดือนละ 10,000 บาท ตัวเลขนี้น่าเป็นห่วงนะครับว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการฯที่ตามเกณฑ์ต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 8,333 บาท จะมีการซื้อของที่จำเป็นอยู่แล้ว (และเป็นของที่มี VAT) ในแต่ละเดือนถึง 10,000 บาทหรือไม่ และอาจทำให้เกิดการเร่งใช้จ่ายอย่างเกินตัว (Impulsive purchase) เพื่อให้ครบยอดโปรโมชั่นภาษีที่รัฐบาลยื่นให้
เราเคยมีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้วจากมาตรการรถคันแรกเมื่อปี 2554-2555 งานวิจัย (อธิภัทร กฤษฎ์เลิศ และโสมรัศมิ์, 2018) ที่ใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ได้ชี้ให้เห็นว่าการให้แรงจูงใจผ่านภาษีเพื่อให้กลุ่มคนที่มีแนวโน้มเปราะบางทางการเงิน เร่งใช้จ่ายภายในช่วงเวลาที่กำหนด ได้ส่งผลร้ายต่อภาวะทางการเงินของคนเหล่านั้น และยังส่งผลทางลบต่อไปถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย แน่นอนว่ามาตรการคืน VAT นี้ มีขนาดของเม็ดเงินการคืนภาษีที่น้อยกว่า แต่การสร้างแรงจูงใจต่อการใช้จ่ายอย่างเกินตัวในลักษณะคล้ายกันนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าระวัง
- มองโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งระบบ
นักเศรษฐศาสตร์จัดว่าภาษี VAT เป็นภาษีถดถอย เพราะเก็บกับผู้บริโภคในอัตราเดียวกันหมด นั่นคือ ผู้ที่มีรายได้น้อยต้องแบกรับภาษีนี้เป็นสัดส่วนต่อรายได้ในอัตราที่สูงกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับรายได้ เพราะคนที่มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนส่วนในการบริโภค ต่อรายได้สูงกว่าคนรวย เช่น สมมติคนที่มีรายได้ 100,000 บาท ใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ 30,000 บาท ต้องรับภาระภาษี VAT เป็นมูลค่า 2,100 บาท ส่วนคนที่มีรายได้ 8,000 บาท (ตามเกณฑ์ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ) ใช้จ่ายในการบริโภค 6,000 บาท ต้องรับภาระภาษี VAT เป็นมูลค่า 420 บาท จะเห็นว่า แม้รายจ่ายเพื่อการบริโภคและภาระภาษีจะต่างกันถึง 5 เท่า แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้แล้ว ผู้มีรายได้น้อยกลับต้องรับภาระ 5.25 % ของรายได้ ส่วนคนรวยรับภาระภาษีเพียง 2.1% ของรายได้เท่านั้น
ดังนั้นการบรรเทาภาระภาษีส่วนนี้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยจึงเป็นมาตรการที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลจะทำโครงการนี้ในระยะยาวเกินกว่าช่วง Pilot 6 เดือนที่ได้ตั้งไว้ สิ่งเราต้องกลับมามองคือโครงสร้างภาษี VAT ทั้งระบบ ในปัจจุบันได้มีการยกเว้นสินค้าบางอย่างแล้ว เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ ไปจนถึงหนังสือ ตั๋วเครื่องบิน ดังนั้น เมื่อเราจะเลือกคืน VAT ให้คนรายได้น้อยอยู่แล้ว รัฐบาลควรต้องทบทวนเหตุผลของการยกเว้นภาษีสินค้าต่างๆในปัจจุบัน โดยต้องคำนึงถึงไม่เพียงแต่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังควรคิดเผื่อถึงคนชั้นกลางด้วย
- การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่แค่เปลือกนอก
หนึ่งในเหตุผลหลักของมาตรการนี้คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในภาวะที่ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่การเติบโตกระจุกอยู่ที่คนรวย ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของมาตรการคืน VAT นี้ยังเป็น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยการแจกเงินแบบให้เปล่า ซึ่งช่วยได้แค่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและฝึกอาชีพที่รัฐบาลได้ทำอยู่ควบคู่ไปกับการแจกเงินสวัสดิการ เป็นแนวทางที่น่าชื่นชมในการช่วยผู้มีรายได้น้อย แต่การจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำในระยะยาวต้องอาศัยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะต้องกระทบกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ เช่น กฎระเบียบที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมในหลายภาคธุรกิจ ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บภาษีแต่มนุษย์เงินเดือน โดยแทบไม่เก็บภาษีจากแหล่งรายได้อื่นของคนรวย (รายได้จากทรัพย์สิน) เป็นต้น โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้คือต้นตอสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เราหวังจะเห็นการแก้ปัญหาจากรัฐบาลในยุค ‘ปฏิรูป’ นี้ครับ
อ้างอิง
Muthitacharoen, Athiphat, Krislert Samphantharak, and Sommarat Chantarat. (2018). “Fiscal Stimulus and Debt Overhang: Evidence from Thailand’s First-Car-Buyer Tax Rebate Program.” PIER Discussion Paper No. 60.