fbpx
จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

101 ถอดทัศนะบางส่วนของวรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เขียนหนังสือชุด Global Change สำรวจการเปลี่ยนแปลงรอบโลกในหลากมิติ และเทรนด์ใหม่ที่ทุกคนควรรู้เพื่อรับมือโลก 2020 จากรายการ 101 One-on-One Ep.101 “จับกระแสโลก 2020” กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อโลกเปลี่ยนไม่รู้จบอย่างรวดเร็วและรุนแรง เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

ติดตามรายการได้ที่ https://www.the101.world/101-one-on-one-ep101/

:: 5 เทรนด์ 2020 ::

จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

1. ปีหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างแน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นแบบไฮบริดหรือแบบปลั๊กอิน ใครจะซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียวต้องคิดให้ดี เพราะอีก 4-5 ปีจากนี้ราคาจะตกมาก

การเปลี่ยนจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปใช้ไฟฟ้าทันทีมี 2 ปัจจัยที่สู้กันอยู่ (1) การยอมรับการใช้แบตเตอรี่ ซึ่งมีราคาสูง แต่ถ้าใช้กันมากราคาจะถูกลง (2) การตัดสินใจของบริษัทผลิตรถว่าจะทำรถยนต์แบบใช้น้ำมัน แบบกึ่งไฟฟ้าหรือแบบไฟฟ้า เพราะยังมีการลงทุนในชิ้นส่วนรถยนต์แบบเก่าอยู่ หากจะเปลี่ยนไปทำชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีปริมาณน้อยกว่าสิบเท่าก็ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจ จึงต้องเปลี่ยนช้าๆ แต่แรงกดดันของเทคโนโลยี การแข่งขัน และความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นแรงบีบให้บริษัทรถยนต์ต้องทำรถยนต์กึ่งไฟฟ้า แล้วคนจะนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นว่าทำให้ค่าน้ำมันลดลงได้ครึ่งหนึ่ง

ปีหน้ารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลงและเป็นที่นิยมมากขึ้น ในที่สุดอีก 4-5 ปีข้างหน้าอาจมีรถยนต์ใช้น้ำมันลดลงมาก

2. เรื่องเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ ปีหน้าคงไม่มาทันที แต่จะมาในรูปแบบของการทำให้คนมีงานทำน้อยลง ซึ่งที่จริงมีใช้นานแล้วอย่างการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานรถยนต์ รวมถึงสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องดูดฝุ่น หรือเอไอในโทรศัพท์มือถือที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตเรามากขึ้น

3. Internet of Things (IoT) จะเข้ามาในชีวิตประจำวันโดยที่เรามองไม่เห็นโดยตรงมากยิ่งขึ้น เช่น เครือข่ายเซ็นเซอร์ วงจรไฟฟ้า หรือซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ฝังตัวอยู่ในวัสดุหรือสถานที่ต่างๆ แต่ละตัวจะมี IP Address เหมือนมือถือ จะมีการใช้มากขึ้นในการผลิตและควบคุมไฟฟ้า หรือใช้ในทางการแพทย์ เช่น ใส่ในเม็ดยาที่เรากลืนลงท้องแล้วส่งข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ว่าจะปล่อยยาแต่ละตัวยังไงให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด

IoT มาในไทยแล้วแต่มองไม่เห็นชัดเจนเพราะไม่ได้เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันโดยตรง แต่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม การควบคุมไฟฟ้า ควบคุมพลังงาน และในรถยนต์

4. เรื่อง 5G ซึ่ง IoT จะทำงานเต็มที่ต้องมี 5G ที่มีระบบเชื่อมต่อกับที่ต่างๆ และเซ็นเซอร์ทั้งหลายจะเข้ามาอยู่ในเครือข่ายเดียวกับโทรศัพท์มือถือของเราด้วย ซึ่งมือถือที่เราใช้กันอยู่จะใช้ไม่ได้เลย แต่ในปี 2020 เรื่อง 5G ยังมีแต่พูด เพราะกินเวลานานและราคาแพงมาก ต้องมีเสาถี่มาก จะเกิดในปีเดียวได้ยาก

ผมว่าฟังดูเก๋ดีที่เราจะมี 5G ด้วยการพูด การประมูลเร็วจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ จึงต้องดูให้รอบคอบ ปี 2020 จะยังเห็น 5G ในเมืองไทยได้ยาก

5. เรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ที่น่ากลัวที่สุดคือการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของจีนที่ทดลองมาแล้วหลายปีและมีความก้าวหน้าที่สุด อย่างฮ่องกงที่ม็อบต้องปิดหน้าเพื่อไม่ให้ถูกบันทึกข้อมูลว่าเป็นใคร อีกไม่นานจะถูกใช้เป็นเครื่องให้แต้มหรือหักแต้มคนจีน ผมกลัวว่าบางประเทศเห็นแล้วจะชอบใจเอาซอฟต์แวร์เหล่านี้มาใช้บ้าง อาจใช้ติดตามคนที่ไม่เห็นด้วยหรือใช้จับอาชญากร เรื่องนี้เป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เราคิดไม่ถึง

อย่างโซเชียลมีเดียก็ล่วงล้ำเรามาก เขารู้หมดว่าเราทำอะไรและบันทึกไว้ตลอดเวลา บางคนถ่ายรูปโชว์ตัวที่ต่างประเทศ โจรก็รู้ว่าบ้านไม่มีคน เราต้องพยายามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้น้อยที่สุดจะปลอดภัยขึ้น ยิ่งมีลูกหลานที่บ้าน เราไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรเราได้ เพราะเทคโนโลยีก้าวไกลมากแล้วอาจเป็นอันตรายต่อตัวเราและทรัพย์สิน

:: จับตาเศรษฐกิจโลก จากชะตา ‘ทรัมป์’ ::

จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องเศรษฐกิจโลก ช่วงอาทิตย์หน้าคนทั้งโลกจะจับตามองการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ากระบวนการตั้งข้อหาโดยรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (Impeachment) ในประวัติศาสตร์มีเพียง 2 คนจาก 45 คนที่เคยโดนคือ แอนดรูว์ จอห์นสัน และบิล คลินตัน ส่วนริชาร์ด นิกสันก็ลาออกก่อน

ข้อหาที่ตั้งกับทรัมป์ คือ 1. ติดสินบน ทรัมป์ใช้ความได้เปรียบจากการที่อเมริกาจัดงบประมาณการทหารให้ยูเครน แล้วโทรหาประธานาธิบดียูเครนขอให้ไปช่วยสอบสวนคู่แข่งขันทางการเมืองพรรคเดโมแครต คือ โจ ไบเดนกับลูกชาย เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของรัฐกับผลประโยชน์ส่วนตัว 2. กีดขวางการขอข้อมูล ปกติอเมริกาจะมีการถ่วงดุลอำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ แต่ทรัมป์ไม่ให้เอกสารใดๆ ทั้งสิ้นเลย

เมื่อถูกอิมพีชเมนท์จะมีการส่งข้อหานี้ไปยังวุฒิสภา ต้องมีการแก้ข้อกล่าวหา ถ้า 2 ใน 3 โหวตให้ออกก็จะหลุดพ้นจากตำแหน่ง แต่วุฒิสภาเป็นรีพับลิกันประมาณ 53 คน เดโมแครต 47 คน ต้องการเสียง 67 คน จึงโหวตให้ออกได้ ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะไม่ใช่แค่การสู้ในสภา แต่เป็นการสู้กันว่าประชาชนจะเชื่อถือไหมว่าทรัมป์สมควรออกจากตำแหน่ง และถึงแม้ทรัมป์ไม่ออกก็จะมีเรื่องต่อเนื่องไป เพราะทรัมป์ยังทำสิ่งที่เลวร้ายกว่านี้เยอะแต่เขายังไม่หยิบมา ความน่าเชื่อถือของทรัมป์ก็จะลดลง

ถ้าทรัมป์ออกไป เศรษฐกิจโลกจะพลิกผันทันที สิ่งที่ทรัมป์ทำไว้เรื่องสงครามการค้ากับจีนที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของทรัมป์นั้น ทรัมป์ต้องอ่อนลงเพราะต้องลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันปีหน้า

ทรัมป์มีฐานรีพับลิกันประมาณ 37% เขาต้องพยายามรักษาฐานฝ่ายขวาที่เกลียดชังคนต่างเชื้อชาติและต้องการให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ ซึ่งมันล้าสมัยไปแล้ว แต่คนตัดสินคือคนที่เป็นอิสระตรงกลาง

ทรัมป์เปลี่ยนใจได้ทั้งวัน วันนี้พูดอีกอย่าง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง แล้วไม่เป็นความจริงทั้งคู่ ที่น่ากังวลคือทำให้คนอเมริกันมีคุณค่าที่แตกต่างไป เมื่อก่อนประธานาธิบดี ถือเป็นคนที่เป็นตัวอย่างให้เด็กอเมริกัน จะต้องพูดความจริง ต้องซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อชาติ เทิดทูนรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ค่านิยมแล้ว มีการคำนวณว่าทรัมป์รับตำแหน่งพันกว่าวัน โกหกไปแล้ว 13,000 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 13 ครั้ง การโกหกกลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะประธานาธิบดีก็โกหก แล้วแฟนทรัมป์ก็หลับหูหลับตาเชื่อ การโกหกคำโตทุกวันคนก็จะเชื่อไปเอง แล้วตัวเองก็จะเชื่อว่าคำโกหกนั้นเป็นความจริงไปด้วย ตรงนี้จะทำให้โลกวิบัติ พวกเราจะเดือดร้อนด้วย

:: ถึงเวลาจัดการความเหลื่อมล้ำ ::

จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

ในโลกทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติ เพราะคนมีทุนก็มีกำไรและยิ่งขยายธุรกิจได้มากขึ้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าความเหลื่อมล้ำมันมากเกินไป คนมีเงินก็มีอิทธิพลต่อการเมือง ออกกติกาให้ตัวเองได้ประโยชน์ คนรวยก็รวยสุดกู่ ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งถ่างมากขึ้น ถ้าไม่มีภาครัฐมาถ่วง ดูแล กำกับ เก็บภาษี จะยิ่งไปไกล แล้วรัฐจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เมื่อคนรวยที่มีอิทธิพลเหล่านี้ก็บริจาคให้พรรคการเมือง

ทำไมจึงเหลื่อมล้ำมากเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะดอกเบี้ยต่ำ คนที่มีทุนน้อยไม่สามารถมีผลตอบแทนที่สูงได้ ฝากเงินก็มีผลตอบแทนต่ำ ต้องซื้อหวยเล่นแชร์ แต่คนมีเงินไม่เล่นอะไรแบบนี้ เขาลงทุนซื้อหุ้นเก็งกำไรที่ดิน ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้น แต่ถ้าดอกเบี้ยสูง การออมให้ผลตอบแทนสูง คนจะไม่ไปเสี่ยงลงทุนอะไรประหลาดๆ เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นตลาดหุ้นก็จะไม่คึกคักเท่านี้

ผมคิดว่าปีหน้า ในช่วงเวลาสั้นๆ ปีเดียว คนวิ่งมาเร็วๆ คงเบรกไม่ได้ มันคงเหลื่อมล้ำแบบนี้ แต่คนในโลกตระหนักว่าจะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีการออกกฎหมาย เปลี่ยนแปลงผลักดันเพื่อหยุดโมเมนตัมเหล่านี้ อย่างน้อยในสมัยบารัค โอบามา เขาพยายามทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลงแต่คนพรรครีพับลิกันไม่ให้ความร่วมมือในสภา และส่วนหนึ่งคือเขาเป็นคนดำทำให้คนเหล่านี้ไม่ยอมรับ

ผมคิดว่าอยู่ที่ความคิดของคนในสังคมที่จะต้องบอกว่าไม่ไหวแล้ว ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ต้องหยุด ผมยังไม่เห็นว่าในระยะสั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่อาจมีคนผลักดันกฎหมายเริ่มต้นเป็นกระบวนการระดับโลกในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่จะแก้ได้ทันทีเลยนั้นยาก

:: สิ่งท้าทายมนุษยชาติมากที่สุดในโลกสมัยใหม่ ::

จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องโลกร้อน ผมยังมองไม่เห็นว่าข้อตกลงปารีสจะทำอะไรได้ ประเทศที่ต้องเล่นด้วยที่สุดคือจีนและอเมริกา ข้อตกลงนี้ไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นการโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองทำอะไร เมื่ออเมริกาถอนตัว ทรัมป์ทำทุกอย่างที่ตรงข้ามกับการแก้ปัญหาโลกร้อน สิ่งที่โอบามาทำไว้ก็แก้ไขทุกอย่าง เพราะทรัมป์เกลียดโอบามาที่สุด ผู้นำในโลกก็ยังไม่ขยับเต็มที่

เกรตา ธันเบิร์ก ออกมาพูดในสหประชาชาติว่าโลกต้องแก้ไข ปล่อยอย่างนี้ไม่ได้ เขาเป็นแอสเพอร์เกอร์ที่ทำให้มุ่งมั่นเรื่องนี้มาก เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่พอใจ ทรัมป์ก็ทวีตว่าให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ ถ้าทรัมป์ถูกอิมพีชเมนท์จะมีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อเรื่องนี้ เพราะโลกจะบีบ คนก็เริ่มเห็นชัดว่าอากาศในอเมริกาก็สุดโต่ง แต่พวกนี้ไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์

สิ่งที่ท้าทายมนุษยชาติมากที่สุดในโลกสมัยใหม่คือความอยู่รอดของโลก จาก 4,500 ล้านปีที่โลกเราอยู่มา หนังสือ ‘เซเปียนส์’ บอกว่ามนุษย์เพิ่งมาอยู่บนโลกมีหน้าตาอย่างที่เราเป็นนี้ประมาณ 1.5-2 แสนปี เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มาท้ายสุด แต่เรากำลังจะทำลายโลก

เราไม่สามารถจะตกลงกันได้เรื่องภาวะที่ร้ายแรงที่สุดในโลกคือ Climate Change นี่คือสิ่งท้าทายมนุษยชาติมากที่สุด หลายคนอาจคิดว่าเรื่องใหญ่โตแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่มันไม่จริง ใหญ่โตเท่าไหร่ก็เกิดขึ้นได้ ตรงที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวเราก็ไม่รู้หรอกว่าต่อไปมันอาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้

สิ่งท้าทายที่สุดคือต่อจากนี้เราจะอยู่อย่างไร เขาบอกว่าตอนนี้โลกเรามาถึงครึ่งหนึ่งของอายุแล้ว เราจะอยู่ต่อไปอย่างไรถ้าไม่แก้ปัญหาในวันนี้ ผมหวาดกลัวและไม่เชื่อว่าอะไรที่ใหญ่โตเกินไปจะเกิดขึ้นไม่ได้

:: มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว ::

จับกระแสโลก 2020 กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยพยายามปรับตัว แต่ปรับแค่เรื่องหลักสูตร ตัวอาจารย์ยังไม่ได้เปลี่ยน

สิ่งที่มหาวิทยาลัยไทยมีปัญหาคือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและกรรมการมหาวิทยาลัย เพราะกรรมการมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนของประชาชนในการดูแลกำกับให้อธิการบดีซึ่งเป็นหัวหน้าของทีมบริหาร ทำงานให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงกรรมการมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยเป็นคนที่อธิการบดีเลือกมา เป็นการสืบทอดอำนาจและเกิดความบิดเบี้ยวเมื่อสภามหาวิทยาลัยไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำ

หลายมหาวิทยาลัยทำเรื่องหลักสูตรที่เพิ่มทักษะคนให้ตรงกับตลาด แต่หาคนเรียนไม่ได้ คนเรียนยังไม่ตระหนักว่าเป็นทักษะที่จำเป็น เพราะยังไม่เป็นทักษะที่จะทำให้คนไม่มีงานในวันนี้ ตอนนี้คนที่ต้องการทำงานยังพอหางานทำได้ ยังไม่ถึงกับต้องไปปรับทักษะ แต่คนเราไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา คนมีสติต้องรีบไปเรียนตั้งแต่ตอนนี้

ประเทศไทยมีตำแหน่งว่างเยอะมากที่หาคนเติมไม่ได้ ซึ่งต้องการทักษะไอทีและความคิดริเริ่มซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนได้ การคิดไม่ใช่สิ่งที่อยู่กับตัวแต่เป็นทักษะที่ต้องฝึกหัด นี่คือทักษะที่ต้องเรียนมากที่สุด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save