fbpx
“ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ บางทีเราต้องไต่เส้นลวดบ้าง” – วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ บางทีเราต้องไต่เส้นลวดบ้าง” – วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

หากนึกถึงคนในแวดวงสื่อมวลชนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รุ่นใหญ่’ ยืนระยะมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี และยังคงโลดแล่นอยู่ในสนามสื่อมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘นิตยสารสารคดี’ ในปี 2528 และกุมบังเหียนเป็นบรรณาธิการต่อเนื่องยาวนานถึง 20 ปี ก่อนเปลี่ยนสายงานไปสร้างสรรค์สื่อโทรทัศน์ในปี 2554 ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส

22 พฤษภาคม 2557 หลังรัฐประหารหมาดๆ วันชัยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว ในฐานะผู้ที่มีส่วนในการควบคุมดูแลการออกอากาศรายการ ‘ThaiPBS เกาะติดสถานการณ์ – ฝ่าวิกฤตการเมืองไทย’ ที่ออกอากาศผ่านทางยูทูบ โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้บุกไปถึงห้องควบคุมภายในสถานี เพื่อให้ยุติการออกอากาศรายการดังกล่าว ก่อนจะควบคุมตัววันชัยไปที่ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.1 รอ.) ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อ ‘สร้างความเข้าใจ’

ไม่แปลก เพราะก่อนหน้านั้นวันชัยเป็นหนึ่งในผู้ที่หมั่นวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมา ออกหน้าว่าเป็นปฏิปักษ์กับเผด็จการอย่างชัดเจน

หลังผ่านพ้นช่วงฝุ่นตลบ เขาว่างงานอยู่สักพัก ก่อนตัดสินใจรับภาระหน้าที่ใหม่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV

“ผมบอกน้องๆ ในทีมตั้งแต่แรกว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ บางทีเราต้องไต่เส้นลวดบ้าง ต้องกล้าเล่นข่าวอะไรที่คนอื่นเขาไม่กล้าบ้าง ก็คือการตรวจสอบผู้มีอำนาจ” นี่คือสิ่งที่เขายึดถือตลอดอาชีพการทำสื่อที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี

ช่วงเวลาราวๆ สองปีที่ PPTV วันชัยมีส่วนสำคัญในการปลุกปั้นสถานีข่าวน้องใหม่แห่งนี้ให้มีน้ำมีเนื้อ จนกลายเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือลำดับต้นๆ ในเวลาอันรวดเร็ว โดยผลงานมาสเตอร์พีซที่ทีมข่าว PPTV ช่วยจุดประเด็นในช่วงเวลานั้น คือข่าวการประมูลงานกองทัพของบริษัทลูกชายพลเอกปรีชา จันทร์โอชา ต่อเนื่องด้วยเรื่องนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนั่นเป็นผลให้เขาต้องว่างงานอีกครั้งในเวลาต่อมา ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2561

“ในเมื่อคุณมีอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งในสังคม คุณก็ควรที่จะใช้อภิสิทธิ์นั้นตรวจสอบผู้มีอำนาจด้วย คำถามคือสื่อที่บอกตัวเองว่าเป็นสื่ออาชีพทุกวันนี้ ได้ทำหน้าที่นี้หรือไม่”

ปัจจุบันในวัย 58 ปี วันชัยยังเดินทางอย่างสม่ำเสมอ มีเว็บไซต์ส่วนตัวชื่อว่า ‘Onetonion’ สำหรับเผยแพร่งานเขียนของตัวเอง ควบคู่ไปกับการเขียนคอลัมน์ประจำลงสื่อออนไลน์หลายแห่ง และกำลังปลุกปั้นโปรเจ็กต์ใหญ่อย่างการทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

เรานัดหมายกับเขาในวันสบายๆ ที่บ้านย่านสุขุมวิท ชวนสนทนาในฐานะคนที่คลุกคลีทั้งสนามสื่อและสิ่งแวดล้อม ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องการซื้อโฆษณาของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ, หลักการของวิชาชีพสื่อมวลชนที่เขายึดถือ, สิ่งที่เขาพบเห็นจากการลงพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ไปจนถึงเอกลักษณ์แบบไทยๆ ที่สะท้อนผ่านการทำงานของสื่อในปัจจุบัน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์หนึ่งในแวดวงสื่อที่น่าสนใจ จากการที่มีโฆษณาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับพร้อมกัน คุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไง

จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องแปลก อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าสื่อจำนวนมากในสังคมไทย ต้องพึ่งพาโฆษณา พึ่งพารายได้จากส่วนนี้เป็นหลัก ยิ่งระยะหลังรายได้จากการขายน้อยลงเยอะ ฉะนั้นรายได้หลักก็มาจากการลงโฆษณา พูดง่ายๆ ว่าผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณามีบทบาทสำคัญในการชี้นำทิศทางของการทำสื่อมาตลอด และมันไม่ได้เกิดเฉพาะยุคนี้ แต่เกิดมานานแล้ว และมีมาโดยตลอด เพียงแต่โฆษณาดังกล่าวอาจดูโจ่งแจ้งเกินไปหน่อย

ผมอยู่ในวงการมา 30 ปี เห็นว่าหลายครั้งเวลาบริษัทขนาดใหญ่ต้องการเปิดตัวสินค้าของตัวเอง ก็ซื้อหน้าปกหุ้มเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราเห็นอยู่ หรือถ้ามีกรณีที่บริษัทนั้นๆ ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคม เขาก็จะใช้วิธีการซื้อเนื้อที่โฆษณา เพื่ออธิบายหรือตอบโต้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนข่าว แต่ถ้าดูดีๆ จะรู้ว่าไม่ใช่เนื้อหาที่นักข่าวทำ แต่เป็นลักษณะของ Advertorial ที่เขียนจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรหรือบริษัทนั้นๆ

ผมเชื่อว่าหลายๆ ครั้งบรรณาธิการ หรือกองบ.ก. ก็ไม่ได้เห็นด้วยหรอก แต่แน่นอนว่าคนที่เป็นเจ้าของหรือผู้อำนวยการฝ่ายตลาดมีบทบาทสำคัญในการชี้นำ ก็คิดเรื่องการอยู่รอด ถ้าได้รับข้อเสนอมาในราคาที่สูง ก็ต้องเอาไว้ก่อน

อีกวิธีหนึ่งที่ทำกันมานานแล้วคือ เวลาบริษัทไหนมีปัญหาอะไรหรือต้องการประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเอง ก็พานักข่าวไปลงพื้นที่ ซึ่งมักจะมีการอำนวยความสะดวกมากมาย แล้วให้นักข่าวทำข่าวออกมา ถือว่าเป็นการลงทุนในแง่โฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่บางครั้งการพานักข่าวลงพื้นที่อาจยังไม่พอ ก็ใช้วิธีซื้อโฆษณาพร้อมกันไปด้วย ถ้าไม่พออีกก็ซื้อหน้าปกเลย

ส่วนเนื้อหาสาระที่สื่อออกมา จริงหรือไม่จริง อาจไม่สำคัญ สิ่งที่เขาต้องการคือทำให้คนอ่านเชื่อในสิ่งที่เขาอยากบอก สุดท้ายจริงหรือไม่จริงก็ต้องไปพิสูจน์กันอีกที

ถ้าเป็นสินค้าทั่วไป เสื้อผ้า กระเป๋า ก็อาจพอเข้าใจได้ แต่พอเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อคนวงกว้าง มันมีอะไรที่ต่างออกไปไหม หรือมีอะไรที่เราควรจับตากับโฆษณาประเภทนี้

ในมุมของสื่อที่รับโฆษณามา ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอะไรมาก อาจเหมือนเอเจนซี่ ที่แล้วแต่ลูกค้าว่าจะส่งหรือเขียนอะไรมา ลูกค้าคือพระเจ้า เมื่อซื้อสื่อแล้วอำนาจในการต่อรองก็อยู่ที่ลูกค้าเป็นหลัก ไม่ได้อยู่ที่เจ้าของสื่อ เพราะยังไงกูก็จะซื้อ ถ้าไม่ขายไม่เป็นไร เดี๋ยวไปซื้อเจ้าอื่นก็ได้

ถามว่ามีคนมาตรวจสอบไหมว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ในกรณีของหนังสือพิมพ์แบบนี้ ถามว่าผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มีความรู้พอไหม ก็คงมีอยู่ แต่สุดท้ายเขามีหน้าที่ในการหาเม็ดเงินโฆษณา หารายได้เข้าองค์กร การจะมาตรวจสอบว่าข้อเขียนนี้มันจริงหรือไม่จริง ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเขา ส่วนกองบ.ก. หรือนักข่าว ก็อยู่อีกส่วนนึง การซื้อหน้าปกแบบกรณีนี้มันอยู่ในโควตาของโฆษณา แยกส่วนกันทำงานชัดเจน นี่คือกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นข้างหลัง

ถามว่ามีข้อควรระวังไหม จริงๆ มันก็อยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละองค์กรว่าเขาจะชั่งตวงแบบไหน ถ้าเขาคิดว่ามูลค่าเม็ดเงินโฆษณามันมหาศาล ก็อาจปล่อยไป แล้วค่อยให้นักข่าวไปเขียนข่าวอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นวิธีที่ทำได้ อย่างที่บอกทุกคนต้องหารายได้ และคงไม่มีใครอยากปฏิเสธโฆษณาก้อนโตขนาดนั้น

ผมไม่แปลกใจที่วันนั้นหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับลงโฆษณานั้นพร้อมกัน สิ่งที่น่ายินดีอยู่บ้างคือมีบางฉบับที่ไม่ลง เพราะเขาอาจคิดอีกแบบ แต่สุดท้ายในเมื่อสื่อส่วนใหญ่ตัดสินใจลง ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่ามูลค่าของเม็ดเงินเหล่านี้มีค่ามากกว่าการสื่อข้อเท็จจริงจริงๆ ให้ประชาชนทราบ หนังสือพิมพ์น่าจะเป็นสื่อที่ผู้อ่านรับสารได้อย่างน่าเชื่อถือที่สุด แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า คนที่มีอำนาจในการชี้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร กลายเป็นเจ้าของสินค้าไปแล้ว แล้วมันลามมาถึงหน้าปก ซึ่งเป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุด ต่างจากสมัยก่อนที่อยู่ข้างใน ไม่ก็ปกหลัง

การที่สื่อเลือกรับโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งแบบนี้ จะส่งผลอย่างไรบ้างในแง่ขององค์กร

สุดท้ายการอยู่รอดของสื่อมันคือความน่าเชื่อถืออย่างเดียวเลย ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย ถ้าสื่อของคุณไม่น่าเชื่อถือ ข้อแรกคือคุณจะไม่มีลูกค้าที่จะมาขอลงสินค้า ขณะเดียวกันก็ไม่มีลูกค้าที่จะซื้อสื่อของคุณมาอ่าน ผู้บริหารสื่อที่คิดว่าความน่าเชื่อถือคือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เขาก็คงไม่กล้าจะเอาขึ้นหน้าปกหรอก

ถ้าคุณเป็นผู้บริหารสื่อ แล้วได้รับข้อเสนอแบบนี้ จะตัดสินใจยังไง

สมัยที่ผมเป็นอยู่บรรณาธิการนิตยสารสารคดี เป็นอยู่ประมาณ 25 ปี ถามว่ามีข้อเสนอแบบนี้ไหม มี ขอซื้อทั้งปกเลย เราก็ต้องเคลียร์กับฝ่ายโฆษณา ซึ่งเขาก็เข้าใจนะ ผมพูดตลอดเวลาว่าความยั่งยืนของสารคดีมันมาจากความน่าเชื่อถือ ไม่ได้มาจากการที่ฉบับนี้ได้เงินเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์

ถ้าพูดถึงความยั่งยืน ถ้าอยากทำสื่อในระยะยาว ความน่าเชื่อถือคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เม็ดเงิน

ถามว่ามีพื้นที่โฆษณาไหม ข้างในก็มี แต่เราจะบอกอันนี้เป็นพื้นที่โฆษณานะ อันนี้เป็นแอดเวอร์ฯ แต่สุดท้ายมันจะอยู่ได้แค่ข้างใน ผมไม่ยอมให้เอาขึ้นหน้าปกหรอก

ทุกวันนี้คุณยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ไหม

ไม่แล้ว อ่านออนไลน์เป็นหลัก ส่วนใหญ่จะอ่านในเว็บไซต์สื่อต่างๆ ไม่ได้อ่านในเฟซบุ๊ก ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์มันอาจไม่ทันกับจริตของคนยุคปัจจุบันแล้ว ขนาดผมยังไม่อ่าน แล้วนักข่าวรุ่นใหม่ๆ จะอ่านกันสักแค่ไหน ถามว่าคนจะกลับไปอ่านแบบนั้นกันไหม ผมว่านิตยสารกับหนังสือเล่มยังน่าสนใจมากกว่า แต่หนังสือพิมพ์น่าจะยากแล้ว

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวคุณเองก็เริ่มเขียนคอลัมน์ประจำในสื่อออนไลน์หลายแห่ง เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทั้งในแง่ของการเขียนงานส่วนตัว กับแพลตฟอร์มสื่อที่เปลี่ยนไป

ถ้าในแง่สไตล์การเขียน ผมอาจโชคดีตรงที่เคยมีประสบการณ์ในการเขียนมาทั้งแบบยาวและแบบสั้น

สมัยก่อนเวลาผมเขียนงานสารคดี ผมเขียนยาวมาก 20-30 หน้าในนิตยสาร ขณะเดียวกันเวลาเขียนบทบรรณาธิการ ผมก็เขียนสั้นๆ กระชับ แต่ได้ใจความ ภาษาอังกฤษคือ Clean and Clear แต่ละประโยคต้องสั้น กระชับ และพุ่งไปที่เป้า อันนี้ถูกฝึกมาตั้งนานแล้ว ซึ่งวิธีการเขียนแบบนี้มันสอดคล้องกับการเขียนในออนไลน์มากเลย ซึ่งไม่สามารถที่จะเขียนอะไรยาวๆ ได้เสมอไป นอกจากบางบทความที่มันน่าสนใจจริงๆ

การมีเว็บไซต์ส่วนตัวก็สนุกดีนะ ถือเป็น archive ของตัวเอง อันไหนเราเขียนแล้วรู้สึกว่าเข้าท่า ก็เอามาลง ไม่ได้ไปเร่งให้มันโตหรอก ปล่อยให้มันโตตามธรรมชาติ

มองไปในสนามสื่อออนไลน์ จะพบว่าช่วงหลังมีความเฟื่องฟูและหลากหลายมากขึ้น แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งคือความรวดเร็ว เน้นปริมาณ ซึ่งอาจมีข้อบกพร่องในเรื่องของความถูกต้องและน่าเชื่อถือ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับคนที่อยู่ในวงการสื่อจริงๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อมวลชน เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อมืออาชีพ และมีรายได้จากการทำสื่อ ผมคิดว่ามันต้องมีพื้นฐานจรรยาบรรณบางอย่างในการทำงานอยู่

อันดับแรกคือความน่าเชื่อถือของสิ่งที่คุณจะปล่อยออกไป ข่าวคุณมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า คุณได้ตรวจสอบสิ่งที่คุณนำเสนอออกไปหรือเปล่า ถ้าคุณบอกว่าตัวเองเป็นสื่อ แต่คุณไม่ตรวจสอบอะไรเลย ใครพูดมากูยัดใส่เลย แบบนั้นก็คงไม่ใช่ นี่คือสิ่งที่ต่างจากการส่งต่อข้อมูลข่าวสารกันในไลน์

อันที่สอง เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สื่อในอดีตได้รับการยกย่องมาก คือการตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไปตามดูว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำนั้นถูกต้องหรือเปล่า

สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่อภิสิทธิ์ ถามว่ามีอาชีพไหนที่เดินเข้าไปสัมภาษณ์นายกฯ ได้ สัมภาษณ์นางสาวไทยได้ สัมภาษณ์รัฐมนตรีได้ ถ้าคุณเป็นนายธนาคาร เป็นเจ้าหน้าที่บริษัทขายยา คุณสามารถเดินเข้าไปสัมภาษณ์นายกฯ ได้ไหม ไม่มีทาง อภิสิทธิ์ของความเป็นสื่อที่จะเดินไปไหนก็ได้ ตรวจสอบใครก็ได้ ก็ควรจะต้องทำหน้าที่เหล่านี้ จะให้บริษัทขายยามาตรวจสอบรัฐบาลคงไม่ใช่

ฉะนั้นในเมื่อคุณมีอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งในสังคม คุณก็ควรที่จะใช้อภิสิทธิ์นั้นตรวจสอบผู้มีอำนาจด้วย คำถามคือสื่อที่บอกตัวเองว่าเป็นสื่ออาชีพทุกวันนี้ ได้ทำหน้าที่นี้หรือไม่ หรือทำได้แค่การตรวจสอบคนที่คุณไม่ชอบ

ผู้มีอำนาจที่ว่ามา หมายถึงใครบ้าง

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่รัฐบาล ส.ส.ก็มีอำนาจ ฝ่ายค้านก็มีอำนาจ นายกอบต. ก็มีอำนาจ เจ้าพ่อที่ดินก็มีอำนาจแบบหนึ่ง เจ้าสัวก็มีอำนาจแบบหนึ่ง ตำรวจทหารก็มีอำนาจอีกแบบหนึ่ง คุณได้ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า หรือคุณตรวจสอบเฉพาะชาวบ้าน หรือคุณเลือกตรวจสอบแค่บางคนบางกลุ่ม นี่คือคำถาม

สุดท้ายถ้าคุณต้องการเป็นสื่อมืออาชีพจริงๆ คุณก็ควรจะยอมรับกฎเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็อย่าบอกว่าตัวเองเป็นสื่อ ก็เท่านั้นเอง อย่าบอกว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชน อันนี้คือนิยามของผม

ผมคิดว่ามืออาชีพมันควรจะมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยพูดไว้ประโยคหนึ่ง ผมจำคำพูดตรงๆ ไม่ได้ เขาบอกว่าเวลาที่เกิดฟ้ามืดมัวหมอง คลื่นลมแรง เรายืนอยู่ตรงนั้น พอคลื่นหายไป เมฆหมอกหายไป เราก็ยังยืนอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน เขาเปรียบว่านี่คือหน้าที่ของสื่อ ต้องยืนหยัดไว้ ยืนตรงๆ ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นยังไง

ถ้ายึดหลักตรวจสอบผู้มีอำนาจในแบบที่คุณบอกมา คำถามคือในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลเผด็จการ การตรวจสอบอาจทำได้ยากกว่าภาวะปกติ เราจะยืนตรงๆ ในช่วงเวลาและสถานการณ์แบบนี้ยังไง

ผมก็เข้าใจว่าเจ้าของสื่อเขาก็กลัวนะ เพราะสุดท้ายมันเป็นธุรกิจ แต่การเลี่ยงไม่เล่นข่าว คือเงียบไปเลย กับการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง มันก็ต่างกันนะ ถ้าคุณจงใจไม่เล่น ไม่พูด เพราะกลัวว่าจะเปลืองตัวหรือมีผลกระทบ ก็พอเข้าใจได้ แต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณต้องไปทำหน้าที่เป็นช่อง 11 หรือบางทีก็มากกว่าช่อง 11 ด้วยซ้ำ ถามว่ามันใช่การทำหน้าที่สื่ออย่างที่คุณประกาศตัวเองหรือเปล่า

พูดง่ายๆ ว่าถ้าดูแล้วเสี่ยง ก็ต้องประเมินอีกทีว่าเล่นยังไง

ผมว่าสื่อแต่ละสื่อก็ไม่เหมือนกัน บางช่องอาจมีศิลปะในการเล่นแบบเนียนๆ เราดูก็รู้ว่าเขาพยายามอยู่ แต่ไม่อยากให้กระทบกระเทือนมาก แต่บางช่องนี่ไม่เอาเลย ไม่ทำอะไรเลย กับอีกหลายสื่อที่พิทักษ์ปกป้องแบบชัดเจนเลย มันมีหลายระดับ

ช่วงหลังมีคำว่า fake news หรือข่าวปลอมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นคำที่สื่อแต่ละฟากฝั่งใช้โจมตีกันและกัน ถ้าถามในแง่ของผู้เสพสื่อหรือประชาชนทั่วไป เราจะตัดสินได้อย่างไรว่าของใครจริงของใครปลอม

โดยธรรมชาติของผม ผมจะไม่ค่อยอ่านอะไรแล้วเชื่อทันที อย่างน้อยๆ ถ้าเป็นเรื่องเดียวกัน มันก็มีหลายค่ายหลายสื่อให้เราเช็ค ข้อแรกคือเช็คเยอะๆ เพื่อให้เรารู้ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง ซึ่งสุดท้ายคนก็จะวิ่งไปหาสื่อที่มีความน่าเชื่อมากที่สุด อันนี้เรื่องสำคัญ เพราะแม้ทุกวันนี้จะมีสื่อเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าให้เชื่อ จะเชื่ออะไร มันก็ต้องเชื่อสื่อที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุด ถามว่าทุกวันนี้มีไหม ก็มีไม่กี่เจ้า

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

แล้วความน่าเชื่อถือมันวัดจากอะไรบ้าง

อย่างที่บอกไป ถ้ามีเวลาก็พยายาม cross-check แต่ถ้าไม่มีเวลา อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่ามันจริงหรือไม่จริง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีเวลาหรอก (หัวเราะ) ก็น่าเห็นใจ ตอนนี้เป็นภาวะที่ลำบาก ที่ผมสังเกตเห็นคือคนอ่านข่าวในไลน์กันเยอะ ใครส่งมาก็เชื่อแล้ว บางทีไม่ทันอ่านเนื้อหา เห็นแค่หัวข้อก็เชื่อไว้ก่อนแล้ว

ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้คนเราเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ ไม่ได้เชื่อจากข้อมูล แต่เชื่อเพราะคนนี้พูด ความแปลกแยกของคนสมัยนี้ทำให้คนไม่อดทนพอที่จะฟังในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากฟัง

แต่สิ่งที่สื่อพอจะทำได้ เวลาทำข่าวหรือนำเสนอเนื้อหาอะไร คือต้องมีเหตุและผลที่ชัดเจนมาสนับสนุน มันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มสำรวจว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่ออาจจะไม่ใช่แล้ว ในมุมของสื่อ ถ้าเราอดทนพอที่จะนำเสนอเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล บนฐานของข้อเท็จจริง ผมเชื่อว่าจะทำให้คนจำนวนมากเข้าใจหลายๆ เรื่องได้ชัดเจนขึ้น เพียงแต่เราต้องอดทนพอสมควร

มีเพื่อนผมจำนวนมากที่อาจคิดไม่เหมือนผมในทางการเมือง แต่ทุกวันนี้สังเกตว่าหลายคนเขาก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า สิ่งที่กูเชื่อมาหลายปีนั้นถูกไหม สุดท้ายมันว่ากันด้วยเหตุผล ซึ่งเหตุผลของเราชัดเจนกว่า สิ่งที่เรานำเสนอถึงมีความน่าเชื่อถือกว่า อยู่ที่เราอดทนพอหรือเปล่า

 

แต่กับความเชื่อบางอย่าง ถ้าลองได้เชื่อไปแล้วก็อาจเปลี่ยนกันยากพอสมควร

มันเป็นเรื่องของอีโก้ด้วย กูเชื่ออย่างนี้ไปแล้ว ถ้าให้กูเปลี่ยนมาเชื่อแบบนี้กูไม่ยอม กลัวเสียฟอร์ม แล้วก็พยายามหาเหตุผลอธิบายตลอดเวลาว่าสิ่งที่กูเชื่อมันถูก ซึ่งจริงๆ ก็หาไม่เจอหรอก แต่ก็ยังไม่อยากยอมรับ ยังดื้ออยู่

แล้วคุณคิดยังไงกับเรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ มองว่ามันยังเป็นหลักสำคัญของการทำสื่ออยู่ไหม กระทั่งว่าเห็นด้วยไหมกับแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นธรรม’ มากกว่า

ผมถามต่อว่าความเป็นกลางของใคร ความเป็นธรรมของใคร แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันเป็นกลางหรือเป็นธรรม

ข้อแรก ถามว่าสื่อมีความเป็นกลางไหม มันไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว เราไม่ใช่หุ่นยนต์ นักข่าวไม่ใช่หุ่นยนต์ บ.ก. ก็ไม่ใช่หุ่นยนต์ แน่นอนว่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองทุกวันนี้ ในฐานะคนทำสื่อ สื่อแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน แต่ในฐานะคนที่มีอาชีพสื่อข่าวออกไป อย่างน้อยๆ คุณต้องแฟร์กับทุกฝ่าย

ข้อต่อมา ข่าวของคุณมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า หรือว่าคุณมี bias ถามว่านักข่าวเป็นกลางไหม ในใจก็พอรู้อยู่ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาตัวตน เอาความเป็นส่วนตัวไปใส่ในงาน

อีกข้อที่สำคัญมากคือ เราต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีเสียงน้อย เช่นชาวบ้าน ประชาชน คนทั่วไปที่ไม่มีเสียง ไม่มีที่ยืน ควรเปิดโอกาสให้เขา นี่เป็นหลักทั่วไปของการทำสื่อเหมือนกัน

สุดท้ายเมื่อนำเสนอออกไปแล้ว คนอ่านเขาจะตัดสินเองว่าสื่อนี้น่าเชื่อถือหรือเปล่า แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าแม่งเอียงไปทางนี้ก็ตาม แต่เมื่อคุณเอาความจริง เอาข้อมูลที่มีออกมากางให้เขาเห็น ว่ากันไปตามเนื้อผ้าเลยว่ามันผิดตรงไหน มีอะไรให้โต้เถียงไหม ถึงเขาจะยังมองว่าคุณเอียง ก็ไม่เป็นไร

สื่อบางสื่ออาจแคร์ว่า เดี๋ยวจะถูกด่าว่าไม่เป็นกลาง แต่ผมว่าไม่จำเป็นต้องแคร์เท่าไหร่ สิ่งที่ต้องแคร์คือข่าวมึงน่าเชื่อถือหรือเปล่า ข่าวมึงจริงหรือเปล่า ส่วนใครจะบอกว่าไอ้นี่เอียงไปทางแดง ทางเหลือง แล้วไง เอาเรื่องง่ายๆ ก่อนว่าข่าวนี้มันใช่หรือเปล่า

ตอนผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของ PPTV ก็ทำให้ข่าว PPTV ช่วงนั้นค่อนข้างโดดเด่นขึ้นมา คนตามเยอะมาก เพราะเราสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วผมบอกน้องๆ ตั้งแต่แรกว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ บางทีเราก็ต้องไต่เส้นลวดบ้าง ต้องกล้าเล่นข่าวอะไรที่คนอื่นเขาไม่กล้าบ้าง ก็คือการตรวจสอบผู้มีอำนาจ แม้คนอื่นจะไม่กล้าเล่น แต่เราถือว่าได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนแล้ว ถ้ายังยึดอาชีพนี้อยู่ เราก็ควรเคารพในหลักเกณฑ์วิชาชีพนี้

แล้วน้องๆ ในทีมตอบรับยังไงบ้าง

ดีมากเลย โดยสัญชาตญาณนักข่าว เขาอยากทำกันอยู่แล้ว ผมก็ไฟเขียวให้ทำเลย ไม่เคยบอกว่าอันนี้ห้าม มีแต่บอกว่าเอาเลย ทำเลย เต็มที่ ส่วนผมก็ช่วยประคอง เป็น back ให้เขา เป็นกำแพงกั้นกับผู้บริหาร บางเรื่องผู้บริหารบอกมาว่า เฮ้ย อันนี้อย่าทำ เราก็เป็นกันชนให้ แล้วน้องๆ ก็แฮปปี้มากเลยที่เราเป็นกำแพงให้เขา สุดท้ายก็ต้องกระแทกลงมาที่ผมเลย เด็ดหัวเลย (หัวเราะ)

ใช้เกณฑ์อะไรในการประเมินว่าอันไหนยังไต่เส้นอยู่ หรืออันไหนเกินเส้นแล้ว

มันเป็นสัญชาตญาณของเราด้วย เวลาน้องๆ ทำงานออกมา เราจะประเมินว่าได้แค่ไหน เฮ้ย พี่ว่าอันนี้อาจจะเยอะไปหน่อย เอาแค่นี้พอ แต่ถ้าเรื่องนี้เราเห็นแล้วว่าต้องใส่ให้เต็มที่ ก็ต้องเต็มที่ไปเลย หลักๆ คือใช้ judgement ของผมเลย

มีชิ้นไหนที่โดดเด่น ภูมิใจ หรือทำออกมาแล้วเกินความคาดหมายไหม

ที่เด่นๆ ก็มีเรื่องน้องชายนายกฯ กับเรื่องนาฬิกา (ยิ้ม)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

หลังเกิดเหตุการณ์ถ้ำหลวง คุณเขียนบทความตั้งข้อสังเกตว่า ข่าววิทยาศาสตร์ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครทำอย่างเจาะลึกเท่าไหร่ อยากให้ขยายความหน่อยว่าข่าววิทยาศาสตร์สำคัญยังไง

เรื่องถ้ำหลวงนี่นะ จะถือเป็นข่าวการเมืองก็ได้ เป็นข่าวสีสันก็ได้ แต่สุดท้ายคนอยากรู้เรื่องอะไร น้ำท่วมได้ยังไง ทำไมระดับน้ำขึ้นมาเร็ว แล้วเวลาดำน้ำเข้าไป ระหว่างระยะทาง 2 กิโลเมตรจะเกิดอะไรขึ้น ลักษณะถ้ำข้างในเป็นยังไง ชั้นหินเป็นยังไง คนอยากรู้เรื่องพวกนี้มากกว่าข่าวสีสัน หรือความขัดแย้ง นี่คือหัวใจสำคัญของข่าวนี้ ซึ่งต้องทำเป็นข่าวเชิงวิทยาศาสตร์

ถามว่าทำไมเวลาเราดูอินโฟกราฟิกของ BBC ของ CNN หรืออะไรก็แล้วแต่ มันดูแล้วสบาย ลื่น ง่าย ชัดเจน ของไทยหลายสื่อก็พยายามทำนะ แต่ก็หนักไปทางกราฟิก แต่คอนเทนต์จะไม่ได้น้ำได้เนื้อเท่าไหร่ ปัจจัยหนึ่งที่สื่อต่างประเทศเขาทำได้ เพราะเขาสั่งสมสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว

แล้วถ้าถามว่า ข่าวของไทยทุกวันนี้ แบ่งเป็นหมวดอะไรบ้าง โต๊ะใหญ่ๆ ก็โต๊ะการเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง กีฬา อาชญากรรม และภูธร สมัยก่อนเคยมีโต๊ะสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวนี้โดนยุบไปหมดแล้ว

ทุกวันนี้ ถ้าคุณอยากรู้ประวัติของดาราหนังไทย อยากหาข้อมูลว่าโผน กิ่งเพชร เป็นใคร หรืออยากรู้ว่านักวิ่งร้อยเมตรที่ได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์เป็นใคร จอมพล ป. เป็นใคร สฤษดิ์เป็นใคร ปรีดีเป็นใคร เรามีข้อมูลให้อ่านกันเยอะแยะเลย

แต่ถ้าถามว่า ชั้นธรณีวิทยาของประเทศไทยเป็นยังไง งง คืออะไรวะ ถามว่าเรามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกี่ชนิด งง ถามว่าเนื้อสมันที่เป็นสัตว์ป่าสงวนเคยอยู่ในพื้นที่ไหนของประเทศไทย แทบไม่มีใครรู้ เพราะอะไร เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนทั่วไป แล้วถ้าพูดในมุมของสื่อ เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องที่ขายไม่ได้ ข่าวทุกวันนี้ขายอะไร อาชญากรรม การเมือง ความขัดแย้ง ตบตีกัน กีฬา บันเทิง นานๆ ทีจะมีข่าวสิ่งแวดล้อมโผล่ขึ้นมา เช่นข่าว PM 2.5 เพราะมันกระทบกับคน

ที่เมืองนอก ข่าววิทยาศาสตร์เขามีการสะสมข้อมูลตลอดเวลา ที่สำคัญคือเขาให้พื้นที่ พวกข่าวบันเทิง อาชญากรรม กีฬา เขาก็มี แต่ข่าววิทยาศาสตร์ ข่าวสิ่งแวดล้อม เขามีน้ำหนักเยอะ เพราะประชาชนให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อประชาชนให้ความสนใจ เขาก็ต้องมีโต๊ะข่าวสำหรับทำเรื่องพวกนี้

ในแง่นี้มันจึงสะท้อนวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยด้วยเหมือนกันว่าความสนใจต่อสิ่งเหล่านี้มีน้อยมาก เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าสื่อเป็นแบบไหน สังคมก็เป็นแบบนั้น

ข่าววิทยาศาสตร์ ข่าวสิ่งแวดล้อม ดูแล้วมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคือขายไม่ค่อยออก คนไม่ค่อยสนใจ ถ้าให้คุณวิเคราะห์ คิดว่าเป็นเพราะอะไร

มันเป็นเรื่องไกลตัวไงครับ มันซับซ้อน มันยาก เวลาคุณทำข่าวสิ่งแวดล้อมข่าวหนึ่ง คุณต้องใช้ความชำนาญเรื่องชีววิทยา คุณต้องใช้ความเข้าใจเรื่องธรณี คุณต้องใช้ความเข้าใจเรื่องนิติศาสตร์ด้วยนะบางที เพราะมันมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเยอะแยะเลย จะไปตรวจคุณภาพน้ำ ก็ต้องเข้าใจเคมี ทำเรื่อง PM 2.5 คุณก็ต้องเข้าใจเรื่องอากาศ กว่าจะประมวลออกมา กว่าจะเขียนข่าวมา มันต้องอาศัยหลายๆ วิทยารวมกัน

ทำข่าวดาราเหรอ ไม่ยาก ไปเดินตามเดี๋ยวก็ได้ ข่าวนักการเมืองหรอ ให้มันทะเลาะกันเดี๋ยวก็เป็นข่าวแล้ว มันยาก ยากกว่ากันเยอะ แล้วการทำข่าวประเภทนี้ มันต้องใช้คนที่รักจริงๆ ด้วยนะ อาจจะมีความเป็นเนิร์ดหน่อยๆ ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า มันก็เลยไม่ง่าย

ถ้าดูจากสถานการณ์ Climate Change ในระยะหลัง คนก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวขึ้น แต่สังเกตว่าสื่อที่นำเสนอเรื่องนี้จริงจัง ก็ยังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่

มันอยู่ยาก แต่ถามว่าคนสนใจไหม ผมว่าอยู่ที่จังหวะด้วย บางบทความของผมที่เผยแพร่ในออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นในกทม. คนแชร์จะเป็นล้านแล้ว ข้อดีอย่างหนึ่งของออนไลน์คือ ถ้ามันอยู่ในความสนใจของคน แล้วปล่อยมาถูกจังหวะเวลา มันจะไปเร็วมากเลย

เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำให้คนตระหนัก ไม่ใช่เขียนปุ๊บแล้วคนจะเก็ตเลย ล่าสุดผมบทความชิ้นนึง บอกว่าอีก 30 ปีข้างหน้า พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดรอบอ่าวไทยจะจมน้ำ คนก็ไม่ค่อยอ่านนะ ขนาดเอาแผนที่อัพเดทล่าสุดของฝรั่งมาลงให้ดู คนก็ยังเฉยๆ เลย เขาอาจรู้สึกว่ายังอีกไกล แต่จริงๆ แล้วไม่ไกลหรอก

ที่คุณบอกว่าสื่อเป็นแบบไหน ก็สะท้อนคนในสังคมนั้น มันสะท้อนว่าคนไทยไม่ค่อยสนใจอะไรที่ไม่มีผลกระทบกับตัวเองหรือเปล่า

ผมว่าคนไทยอยู่ในสังคมที่สบายๆ มาตลอด ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ตั้งแต่สมัยก่อน พื้นที่เราอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรปุ๊บก็งอกขึ้นมา ไม่ต้องดิ้นรนมากมาย ขณะที่หลายประเทศในโลกนี้ เอาแค่เรื่องภัยธรรรมชาติ ทำให้เขาต้องดิ้นรน ต้องเตรียมพร้อมรับปัญหา อย่างญี่ปุ่นนี่ชัดเจน ทั้งแผ่นดินไหว ทั้งหิมะตก เขาคิดตั้งแต่แรกว่าจะสร้างบ้านยังไงให้หลังคาแข็งแรง กันหิมะ จะสร้างบ้านยังไงให้แผ่นดินไหวแล้วบ้านไม่พัง

สังคมที่อยู่ท่ามกลางการดิ้นรน มันบีบให้คนต้องคิดตลอดเวลา ต่างจากบ้านเราที่อยู่กันมาแบบสบายๆ

ลักษณะนิสัยของคนไทยก็เลยสบายๆ ไปหมด เวลาคุยเรื่องหนักๆ เฮ้ย ซีเรียส ไม่เอา คุยเรื่องเบาๆ ดีกว่า สังเกตว่าคนไทยเป็นอย่างนี้ ไม่ชอบอะไรที่ซับซ้อน ไม่อดทน และไม่มีความจริงจังเท่าไหร่ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อันนี้ต้องพูดกันตรงๆ

ใช้คำว่ามักง่ายได้ไหม

(หัวเราะ) อันนี้แล้วแต่จะคิด แต่อย่างที่บอกไป ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของภูมิประเทศด้วย พวกพายุต่างๆ ประเทศเพื่อนบ้านเรารับไปก่อน เราไม่ค่อยโดนหนักๆ เท่าไหร่ แผ่นดินไหวก็น้อยมาก ถ้าไปดูประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน แผ่นดินไหวตลอดเวลา ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีวินัย ทุกอย่างต้องเป๊ะ รถไฟผิดไปครึ่งนาที ผู้จัดการต้องออกมาขอโทษ เพราะเขาถือว่าทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน การที่เราไม่มีวินัยคือการละเมิดสิทธิของคนอื่น

หรือตอนเกิดแผ่นดินไหว เขาเข้าคิวรับสิ่งของกันเป็นระเบียบ เพราะมีความคิดว่าทุกคนจะได้รับสิ่งของอย่างเท่าเทียมกัน แต่คนไทยเหรอ เราอาจไม่ได้เชื่อเรื่องความเท่าเทียมกันเท่าไหร่ ก็เลยแย่งกันฉิบหายเลย ไม่มีคิว กูต้องได้ก่อน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ทราบมาว่าช่วงหลายปีมานี้ คุณได้ไปลงพื้นที่ชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ เล่าให้ฟังหน่อยว่าไปเจอไปเห็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

การได้ไปลงพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ สืบเนื่องจากการที่ผมเป็นกรรมการของสถาบันแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งต้องไปตรวจดูว่าในประเทศไทยมีชุมชนไหนบ้างที่มีความก้าวหน้าในการที่จะดูแลรักษาป่ารอบๆ ชุมชน ทำให้ผมได้เดินทางเยอะ

ยกตัวอย่างเรื่องเกษตรอินทรีย์แล้วกัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องพาราควอตที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ผมไปคุยกับพื้นที่หนึ่งแถวอีสาน เขาเล่าให้ฟังว่าชุมชนของเขา ซึ่งมีชาวบ้านเป็นพัน เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมี 3-4 ครอบครัวเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองป่วย ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าน่าจะเพราะสารพิษ เขาไม่ได้เริ่มจากสนใจเกษตรอินทรีย์ แต่เริ่มจากความรู้สึกว่าร่างกายเขาไม่ไหวแล้ว ก็เลยไปอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์มา ทำกันเอง 2-3 ครอบครัว

พอทำไปสักระยะ เขารู้สึกว่าสุขภาพเขาดีขึ้น ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ยังใช้ยากันเข้มข้น ก็มาถามว่าทำไมไม่เป็นโรคไตแล้ววะ ทำไมไม่เจ็บๆ ออดๆ แล้ว เขาก็บอกว่าไม่ได้ใช้ยาแล้ว ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว แล้วเวลาฆ่าหญ้าทำยังไง เขาก็บอกต้องใช้ความอดทนหน่อย ใช้แรงถอนหน่อย ปล่อยน้ำเข้านาบ้าง มีหลายวิธี ต้องใช้ความพยายาม แต่มันคุ้มกับร่างกาย

สุดท้ายชาวบ้านเลยค่อยๆ ปรับ จาก 2-3 ครอบครัวก็เริ่มขยับขยายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนี้ 10 ปีผ่านไป ชาวบ้านครึ่งหนึ่งใช้เกษตรอินทรีย์กันหมดแล้ว

ประเด็นของผมคือ ผมเชื่อว่าในระยะยาวประเทศไทยควรเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องสำคัญ ต้องค่อยๆ ทำให้ชาวบ้านเขายอมรับ ให้ชาวบ้านมีทางเลือก จากความเคยชินที่ใช้ยาฆ่าแมลง เปลี่ยนมาใช้อินทรีย์ นี่เป็นเรื่องที่เราควรทำ และต้องให้เวลาเขาในการปรับตัว ที่สำคัญเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นกลาง และไม่เกี่ยวกับความโลกสวย แต่เป็นเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืนระยะยาว ทุกวันนี้มีชาวบ้านจำนวนมากสนใจในเกษตรอินทรีย์ แต่คุณต้องให้เวลาในการปรับเปลี่ยนชีวิตเขา

หรือเมื่อปีที่แล้ว ผมไปใต้ ไปดูหมู่บ้านแห่งหนึ่งในป่าแถวกระบี่ เข้าไปในป่า เป็นหมู่บ้านที่อยู่มาประมาณ 20 ปี เชื่อไหมว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีรายได้ต่อครอบครัว 5 แสนบาทต่อปี อยู่ในป่าลึก พื้นที่แค่ 15 ไร่

หมู่บ้านนี้ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนใต้ แต่ย้ายมาจากอีสานเพราะล้มละลายจากพวกพืชเชิงเดี่ยวทั้งหลาย ก็ชวนกันมาบุกเบิกตรงนี้ เจ้าหน้าที่บอกแค่ 15 ไร่นี้ อนุญาตให้อยู่ได้ แต่อย่าบุกรุกต่อนะ เขาก็เลยไปศึกษาดูงานทั่วประเทศ แล้วพบว่าพื้นที่นี้ปลูกได้หลายอย่าง ทั้งมังคุด ทุเรียน ปีไหนมังคุดแย่ก็ไปทุเรียน แต่ที่ได้ตลอดปีก็คือหมาก ทำแล้วส่งออก มีตลาดใหญ่อยู่ที่อินเดีย แล้วหมากนี่ไม่ได้ใช้กินอย่างเดียว แต่ยังใช้เป็น base ของสีทุกชนิด คล้ายๆ ตัวผสมสี ฉะนั้นหมากราคาไม่เคยตก ทุเรียนบางทีก็ได้มหาศาล มังคุดก็ได้มหาศาล ทำสลับกันไป แค่ 15 ไร่ ขำๆ ได้ปีละ 5 แสน

อันนี้คือตัวอย่าง ผมเห็นชุมชนจำนวนมากในสังคมไทยที่เขาพึ่งตัวเองได้จริงๆ เขาอยู่ได้เพราะเขาช่วยตัวเอง ปรึกษาหารือกัน รวมกลุ่มกันเพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ในสังคม ถามว่าคนเหล่านี้เป็นคนฉลาดไหม โคตรฉลาด ถามเรื่องการเมืองรู้หมด ทำไมถึงรู้ ก็เพราะการอยู่รอดของเขาเกิดจากการที่ต้องสู้กับปัญหาเศรษฐกิจด้วยเหตุและผล คนเหล่านี้มีรายได้ขึ้นมาจากการทำงาน ไม่ได้มาจากโชคลาง ไม่ใช่ว่าคนนี้พูดแล้วต้องเชื่อ ฉะนั้นเวลาเขามองปัญหาอะไร ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง เขาจะวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล

อีกเรื่องที่เห็นชัดมากคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องอยู่ที่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เรามีคนคุณภาพในสังคมไทยอยู่เยอะ โดยเฉพาะผู้นำระดับชุมชนเล็กๆ เพียงแต่ว่าคนเหล่านั้นไม่มีสื่อ ไม่มีช่องทางที่ทำให้ได้คนทั่วไปได้รู้จักเรื่องราวของเขา หรือสิ่งที่เขาทำ กระทั่งก่อนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เวลาผมคุยกับชาวบ้านเหล่านี้ รู้เลยว่าคนชนบท ชาวบ้านทั้งหลาย เขาไม่ได้โง่ ผมไปเหนือ อีสาน ใต้ ออก ตก จะเจอชุมชนเหล่านี้เยอะไปหมด แล้วเขาฉลาดล้ำลึก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขาต้องเป็นคนที่วิเคราะห์อะไรเป็นอย่างเป็นธรรมชาติ

เวลาได้ลงพื้นที่มันดีอย่าง คือเราได้วัตถุดิบจริงๆ ได้เห็นของจริง เวลาทำสื่อหรือหาข้อมูล ถ้าเป็นไปได้มันควรจะมาจาก source ที่เราลงไปเก็บข้อมูลเอง เป็นข้อมูลชั้นต้น ไม่ใช่อ่านจากอันนั้นอันนี้แล้วมาเรียบเรียง นั่นเป็นวิธีหนึ่ง แต่ถ้าสามารถลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้เองจะดีกว่า

ถัดจากนี้ มีอะไรที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำไหม

เยอะแยะเลย ผมอยากทำหนังสารคดีสักเรื่อง ซึ่งตอนนี้กำลังทำอยู่ เป็นโปรเจ็กต์ร่วมกันระหว่างไทยกับต่างประเทศ ผมเป็นโปรดิวเซอร์ เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม อันนี้จะใช้เวลาทำนานหน่อย เพราะออกฉายทั่วโลก นอกจากนี้ก็อยากมีข้าวที่เป็นแบรนด์ตัวเอง กำลังจะเริ่มทำเหมือนกัน

ถ้ามีคนมาทาบทามให้กลับไปเป็นผู้บริหารสื่ออีก จะกลับไปไหม วางเงื่อนไขกับตัวเองไว้ยังไงบ้าง

ต้องดูหลายปัจจัย สำนักข่าวไหน ทีมเป็นยังไง ต้องยอมรับว่าตอนอยู่ PPTV ผมได้ทีมที่ดีมากเลย

เวลาทำงานผมเชื่อใน 3 อย่าง หนึ่งคือความยุติธรรม สองคือการทำงานเป็นทีม สามคือเรื่องของครีเอทีฟ สามสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญในการทำข่าว

ความยุติธรรมเป็นเรื่องการบริหารองค์กร เราต้องมีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ยุติธรรมกับพนักงานของเรา ถ้าเราไม่มีความยุติธรรม เด็กมันก็ไม่อยากทำงานหรอก หรือไม่ก็ทำแบบเช้าชามเย็นชาม

ข้อต่อมาคือการทำงานเป็นทีม ทุกวันนี้ไม่มีใครเป็นพระเอกอยู่แล้ว มันต้องทำงานเป็นทีม โปรดิวเซอร์ นักข่าว ช่างภาพ ผู้กำกับ ต้องเป็นทีมเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคุณต้องเป็นพระเอกนางเอกตลอดเวลา ไม่ใช่

ข้อที่สามคือ ข่าวมันต้องมีครีเอทีฟตลอดเวลา คุณจะสร้างความแตกต่าง สร้างความโดดเด่นได้ยังไง ยิ่งสนามข่าวทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก ถ้าทำงานแล้วไม่มีความคิดสร้างสรรค์ จะไปสู้กับคนอื่นยังไง ตอนทำ PPTV ผมคิดอยู่ตลอดว่าในสัปดาห์หนึ่ง เราจะต้องมีข่าวใหญ่ที่เราทำเอง หมายถึงข่าวที่เราเป็นคน set agenda เอง ไม่ใช่หมายข่าวที่ส่งมา ต้องมานั่งประชุมกันว่า agenda คืออะไร จะ lead ข่าวอะไร อันนี้คือครีเอทีฟ คือความเป็น original ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ข่าวของ PPTV ค่อนข้างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา

จริงๆ ตั้งแต่ผมออกจาก PPTV ก็มีสื่อหลายเจ้ามาทาบทาม แต่พอจะตัดสินใจขั้นสุดท้าย เขาก็ไม่อยากเสี่ยง เราก็เข้าใจ เพราะตอนที่ผมต้องออกจาก PPTV ก็ค่อนข้างชัด ทำให้หลายๆ ช่องเริ่มขยาดเหมือนกัน นั่นคือการเชือดให้ดูเป็นตัวอย่าง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save