fbpx
อ่านประวัติศาสตร์การคิดค้นวัคซีน ก่อนที่โลกจะรู้จัก ‘เชื้อโรค’

อ่านประวัติศาสตร์การคิดค้นวัคซีน ก่อนที่โลกจะรู้จัก ‘เชื้อโรค’

ภาพปกจาก Wellcome Library, London


วันนี้เหล่าผู้นำประเทศต่างๆ ดูจะนิยมออกมาพูดถึงวัคซีนโควิดในมิติต่างๆ ไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุผลนานัปการ อย่างน้อยที่สุดก็คงต้องการแสดงให้ประชาชนรู้ว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างไรกับการจัดหาและการกระจายวัคซีน เช่น หาจากที่ไหน ในราคาเท่าไหร่ จะฉีดใครก่อนหลัง เก็บเงินหรือไม่เก็บเงิน เพราะถ้าไม่ออกมาพูดอะไรเลย ชาวบ้านคงมีคำถามในใจอยู่บ้าง เพราะเป็นที่รู้กันว่าวัคซีนน่าจะเป็น ‘ทางรอด’ ของประเทศ

มากไปกว่านั้น ผู้มีอำนาจก็คงต้องการแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ตนเองเป็นห่วงและพยายามสุดความสามารถที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดและหายากให้เกิดประโยชน์สูงสุด บ้างก็อาจจะออกมาเชียร์ให้ประชาชนเห็นว่าควรจะฉีดวัคซีนตัวนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเองปลอดภัยจากโรค แต่ช่วยทำให้โรคระบาดได้น้อยลงจนหมดความสามารถในการระบาด จนอาจนับเป็นวัคซีนตัวแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้ผู้นำในหลายประเทศมาเป็นผู้ตัดสินใจในการสร้างความต้องการวัคซีน หรือแม้กระทั่งมาเป็นพรีเซนเตอร์ด้วยการถลกแขนให้ฉีดวัคซีน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าไม่มีอันตราย

บางคนที่ไม่คุ้นเคยก็อาจจะมองและตีความไปต่างๆ นานา แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ก็มีวัคซีนอยู่หลายตัวที่ได้ผู้นำทางการเมือง หรือกระทั่งผู้มีเครดิตในสังคม เช่น นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มาเป็นผู้ทำการตลาดในลักษณะต่างๆ กัน บางตัวก็ได้รัฐบาลเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยด้วยซ้ำไป ประมาณว่าฉีดแล้วเป็นอะไรไป มีเงินจ่ายให้

ในบทความนี้จะพาไปรู้จักวัคซีนในประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ และการเมือง ก่อนที่โลกจะเจอกับโควิด-19 เรื่องราวมากมายสะท้อนว่าการสร้างวัคซีนป้องกันโรคล้วนเกาะเกี่ยวกับสังคมการเมืองอย่างแยกไม่ออก

วัคซีนป้องกันฝีดาษ (ไข้ทรพิษ)

เชื่อกันว่าฝีดาษเป็นโรคระบาดที่มีมาก่อนคริสตกาล อย่างน้อยก็ในลุ่มแม่น้ำไทกริสในตะวันออกกลาง ในช่วงที่กองทัพอันเกรียงไกรของอเล็กซานเดอร์มหาราชกรีธาทัพเข้าครอบครอง และเป็นเหตุให้เขาเองก็ป่วยจากโรคนี้ด้วย แม้จะไม่เสียชีวิตในคราวแรก แต่ต่อมาเมื่อเขาสิ้นชีวิตลงในวัย 32 ปี หลังจากเลิกล้มแผนจะบุกอินเดียและพยายามพัฒนากองทัพให้เข้มแข็ง ก็เป็นที่น่าเชื่อว่าเกิดจากร่างกายที่อ่อนแอลงมากหลังจากป่วยจากฝีดาษในครั้งแรก และนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่และเป็นที่หวาดกลัวกันทั่วในประวัติศาสตร์ก่อนคริสตกาล

แต่ฝีดาษในลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส ยังคงสร้างประวัติศาสตร์ในการทำลายมหาอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง เมื่อกองทัพโรมัน ภายใต้การนำของนายพล Gaius Cassius ถูกจักรพรรดิ Marcus Aurelius Antoninus ส่งให้มาปราบกบฏในแถบลุ่มน้ำนี้ ในช่วงปี 163 จนนำเชื้อโรคกลับไปแพร่ต่อถึงกรุงโรม และคร่าแม้กระทั่งชีวิตของจักรพรรดิที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน 5 จอมจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมัน อย่าง Marcus Aurelius และเชื่อว่าทำให้อาณาจักรโรมันเริ่มอ่อนแอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ที่น่าสนใจคือมีการบันทึกไว้โดย Marcus Aurelius ในหนังสือ Meditations ถึงโรคที่มีชื่อเรียกในภายหลังว่า Antonine Plague (ตามชื่อท้ายของจักรพรรดิในยุคนั้น) บอกว่าแม้โรคนี้จะน่ากลัว แต่ก็น่ากลัวน้อยกว่าคนที่ฉวยโอกาสสร้างผลประโยชน์จากการระบาดของโรคนี้ด้วยการหลอกลวงสารพัด ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับโรคนี้ 

คงเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นยุคโรมันหรือยุคดิจิทัล ที่ผู้คนพร้อมจะเชื่ออะไรก็ตามในช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะสิ้นหวัง หรือเต็มไปด้วยความกลัวในเรื่องที่เหนือการควบคุม แม้คนที่หยิบยื่นความหวังมาให้อาจไม่ได้ทำด้วยความหวังดี แถมยังทำโดยไม่มีความรู้แต่ดูน่าเชื่อถือก็ตาม

จากการศึกษาทางพันธุกรรมเชื่อว่าเชื้อไข้ทรพิษ (ที่เกิดจากไวรัสชื่อ variola) น่าจะมีมาตั้งแต่ราว 16,000-48,000 ปีที่แล้ว และกระโดดจากสัตว์กัดแทะมาที่มนุษย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิธีปกติที่มนุษย์ได้รับเชื้อโรคใหม่ๆ เข้ามาเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ และปัจจุบันก็เชื่อกันว่าการทำลายสิ่งแวดล้อม การบุกรุกป่า หรือแม้กระทั่งการทำให้โรคร้อน เป็นตัวเร่งให้มนุษย์ใกล้ชิดหรือได้รับเชื่อโรคที่เดิมเคยอยู่กับสัตว์เข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตมนุษย์มากขึ้น และบางตัวก็กลายเป็นเชื้อก่อโรคใหม่ๆ ที่แย่กว่านั้นคือเชื้อใหม่ๆ พวกนี้สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากคนสู่คน โดยไม่จำเป็นต้องไปสัมผัสหรืออยู่ใกล้กับสัตว์ที่เป็นต้นตอของเชื้อเหล่านี้เลย

เชื้อไวรัสตัวนี้ (ความจริงมี 2 ตัว) เริ่มจากชายฝั่งแอฟริกา แล้วค่อยๆ ขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไปในอียิปต์ แล้วต่อไปทางตะวันออกกลาง และเข้าสู่จีน) และยังเชื่อกันว่าไวรัสตัวนี้อาจจะเป็นหนึ่งในเชื้อโรคอีกหลายตัวที่ทำให้อาณาจักรกรีกโบราณใช้ยุทธศาสตร์สร้างกำแพงเมืองป้องกันการโจมตีจากสปาร์ตาที่รบทางบกเก่งแต่ไม่ชำนาญทางน้ำ ในขณะที่ใช้กองทัพเรือซึ่งเป็นจุดแข็งของกรีกออกไปค้าขาย สะสมเสบียงและความมั่งคั่งโดยไม่ต้องกลัวจะถูกสปาร์ตาโจมตี

ตามบันทึกของ Thucydides นักประวัติศาสตร์กรีก ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ บันทึกไว้ว่าเชื่อโรคที่เรียกกันว่า Athenian plague (ถ้าแปลเป็นไทยก็อาจเรียกว่า ห่าเอเธนส์) มาจากเอธิโอเปีย แล้วเข้ามาที่เมืองท่าในอียิปต์ ที่ได้รับอิทธิพลและติดต่อค้าขายกับกรีกโบราณ และยังอาจมาจากชาวนาที่อยู่นอกกำแพงเมือง แต่เข้ามาค้าขายกับชาวกรีกในเมือง เมื่อโรคมีการระบาดไปมาก ในที่สุดประชาชนก็ไม่ยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจ ก่อความวุ่นวาย ทำร้ายกันเอง จนกลายเป็นจุดแตกหัก ให้กองทัพสปาร์ตาบุกเข้าเมืองได้ แต่ถึงอย่างนั้นกองทัพสปาร์ตาเองก็ไม่กล้าอยู่ยึดเมือง

ตัวอย่างการระบาดที่มีการบันทึกไว้ตรงกันว่าการที่ประชาชนอยู่กันหนาแน่น มีการเดินทางติดต่อค้าขาย และมีโอกาสไปยังที่แปลกๆ แล้วกลับมายังเมืองที่อยู่อาศัย หรือมีคนแปลกถิ่นมาติดต่อค้าขาย ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ทำให้โรคระบาดได้

ไม่นับกรณีที่เป็นที่รับรู้ถึงความโหดร้ายของอาณาจักรสเปน ที่ไปบุกรุก ‘โลกใหม่’ ที่เริ่มจากการค้นพบเกาะในอเมริกากลาง ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ต่อไปถึงการบุกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่และสู้รบแย่งชิงอำนาจกับชาวพื้นเมือง โดยใช้ทั้งปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า (ตามชื่อหนังสือ Guns, Germs, and Steel ที่เขียนโดย Jared Diamond ผู้มีภูมิหลังเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เขียนเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ) และเชื้อที่ใช้ก็คือเชื้อฝีดาษ โดยการขนคนที่ติดเชื้อไปด้วย

แต่ความจริงมีอยู่ว่า มนุษย์รู้จักการ ‘ใช้วัคซีน’ ป้องกันไข้ทรพิษมาตั้งแต่เกือบ 500 ปีก่อนหน้านั้น โดยหมอจีนในลัทธิเต๋า ใช้วิธีเอาสะเก็ดจากคนป่วยมาป่นให้ละเอียดแล้วพ่นเข้าทางจมูก แม้มีอาการคล้ายจะเป็นโรค แต่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้ และเมื่อทำแล้วได้ผลดีก็กลายเป็นพิธีกรรมที่ทำกับเด็กที่กำลังโต (มักทำในช่วงอายุ 5 ขวบขึ้นไปแล้ว) ความรู้ชุดนี้ส่งต่อไปถึงอาณาจักรออตโตมานที่อยู่ทางตะวันตก และถูกปรับมาเป็นการจิ้มผิวหนังแทนการสูดเข้าทางจมูก (เรียกว่าการทำ variolation) แม้ว่าความรู้ชุดนี้ของชาวจีนและชาวออตโตมานจะเผยแพร่เป็นที่รับรู้ของราชวิทยาลัยในอังกฤษตั้งแต่ปี 1700 (หลังจากชาวจีนทำมาแล้วกว่า 700 ปี) แต่ก็ไม่มีใครสนใจเอาไปศึกษาหรือหาทางปรับใช้ จนกระทั่งภรรยาของทูตอังกฤษที่ไปประจำอยู่ในราชอาณาจักรออตโตมานนำเอาความรู้มาทดลองใช้ในอังกฤษ

Lady Mary Wortley Montagu มีน้องชายที่เสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษ ส่วนตัวเองก็ป่วยและเกิดแผลเป็นจากการป่วยในปี 1715 เธอไปพบว่าชาวออตโตมานทำ variolation โดยทำให้ผิวถลอก แล้วเอาเศษผิวหนังที่ป่นเป็นผงของคนไข้มาป้ายบนผิวหนัง ในที่สุดเธอเชื่อถึงขนาดให้หญิงชาวกรีกที่มีประสบการณ์มาทำให้กับลูกชายอายุ 4 ปีของเธอที่ชื่อว่าเอ็ดเวิร์ด (Edward) และยังไปบังคับให้หมอผ่าตัดที่ทำงานที่สถานทูตมาจดบันทึก และเป็นพยานในการทำ variolation ให้กับลูกชายเธอในครั้งนั้น แม้จะไม่ยินยอมแต่คุณหมอก็ต้องทำตาม

หลังกลับไปประเทศอังกฤษ เธอสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวและชักชวนให้ผู้คนรู้จักวิธีการนี้ และในปี 1721 เมื่อเกิดการระบาดในลอนดอน เธอก็ให้คุณหมอคนเดิมทำ variolation ให้กับลูกสาววัย 4 ขวบของเธอ แม้คุณหมอจะกลัว เพราะเทคนิคนี้ถือเป็นวิธีการทางตะวันออก ซึ่งต้องห้ามในอังกฤษ แต่เขาก็ยอมโดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีสมาชิกของราชวิทยาลัยแพทย์มาร่วมด้วย ปรากฏว่ามีคุณหมอเจมส์ คีธ (James Keith) สนใจมาก จนให้ช่วยทำ variolation กับลูกชายของตัวเองที่ยังรอดชีวิตอยู่ ในขณะที่ลูกคนอื่นๆ เสียชีวิตไปหมดแล้วจากโรคนี้

คราวนี้เรื่องกลายเป็นที่รู้กันไปทั่วในหมู่ผู้มีอันจะกิน และที่สำคัญคือ Prince of Wales ซึ่งก็เป็นคนสนใจวิทยาศาสตร์ และยังเป็นนัก advocate ตัวยง พระองค์ขอให้มีการทดลองอย่างเป็นระบบ โดยทำกับนักโทษในคุก ซึ่งประกอบด้วยชาย 6 คน หญิง 6 คน

นักโทษหญิงคนหนึ่งถูกมอบหมายให้ไปดูแลคนไข้ฝีดาษที่เมือง Hertford ที่เกิดโรคระบาดรุนแรงในขณะนั้น โดยเธอต้องนอนบนเตียงคนไข้เด็กและดูแลคนไข้ใกล้ชิด รวมแล้วเป็นเวลาถึง 6 อาทิตย์ ในที่สุดเธอก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่ติดโรค และได้รับอภัยโทษในฐานะยอมเป็นผู้ถูกวิจัย (แม้จะด้วยความไม่เต็มใจเพราะปฏิเสธไม่ได้ก็ตาม)


ตกลงใครคือผู้มีความรู้ที่ ‘ค้นพบ’ การปลูกฝี

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่สมัยประถมหรือมัธยม ว่านายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ชาวอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ และด้วยการค้นพบนี้ทำให้ปัจจุบันเราสามารถกวาดล้างไข้ทรพิษไปจากโลกนี้แล้ว (ข้อหลังนี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ และแบบเรียนในโรงเรียนของเราก็คงยังไม่ได้พูดถึง)

แต่เท่าที่เล่ามา ‘การปลูกฝี’ มีมาตั้งนานแล้ว ถ้าเรานับเรื่องการที่หมอจีนให้เด็กสูดผงที่เอามาจากผิวหนังคนไข้ แล้วทำให้เด็กๆ ปลอดภัยจากการเป็นฝีดาษ หรือถ้าจะพูดอย่างเข้มงวดหน่อยว่าการปลูกฝีคือการเอาเชื้อไวรัสมาใส่เข้าทางผิวหนัง (ไม่ใช่สูดเข้าทางจมูก) ผ่านการทำให้ผิวหนังเป็นแผลถลอก ซึ่งวิธีปลูกฝีที่ทำกันอย่างแพร่หลายคือการใช้เข็มจิ้มไปบริเวณแขนพร้อมกับวัคซีน ไม่ใช้วิธีฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อ ก็จะต้องบอกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในกรีกมานานแล้ว

ถ้าจะเข้มงวดยิ่งขึ้นว่าการปลูกฝีครั้งแรกที่ ‘ทดลอง’ อย่างเป็นระบบ ที่หมายถึงทำมากกว่า 1 คนในเวลาเดียวกัน และยังมีการ ‘ทดสอบ’ ว่าได้ผลหรือไม่ ก็อาจจะนับการทดลองกับผู้ต้องขังในคุก Newgate ที่เมืองลอนดอน ที่ทำตามบัญชาของ Prince of Wales (อันเนื่องมาจากได้รับรู้การทดลองในหมู่ลูกๆ ของ Lady Montagu) นั่นคือปี 1721 แต่คุณหมอเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ตีพิมพ์ผลการ ‘ทดลอง’ วัคซีนฝีดาษเป็นครั้งแรกในปี 1801 ซึ่งห่างกันเกือบ 100 ปี

แล้วทำไมคุณหมอเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ หรือว่าคุณหมอมีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับโรคนี้ สามารถอธิบายและออกแบบการพัฒนาและทดลองวัคซีนจนได้ผลพร้อมความรู้และคำอธิบายที่ชัดเจน จึงได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ ในขณะที่ Lady Montagu หรือแม้กระทั่ง Prince of Wales เอง ก็ได้เพียง ‘ทำการทดลอง’ โดยไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ลงลึก และแม้จะเผยแพร่วิธีการนี้ให้คนได้รับรู้ ก็ไม่ได้จัดให้มีบริการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และกลับไปขึ้นกับบรรดาคุณหมอในยุคนั้นว่าจะยอมทำให้หรือไม่ หากมีคนมาขอให้ทำ variolation ให้

ถ้าลองตามเรื่องราวการปลูกฝี เริ่มตั้งแต่หลังจากการทดลองในผู้ต้องขังที่ลอนดอนไปจนถึงการตีพิมพ์งานวิจัยของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ มีอะไรน่าสนใจ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เส้นทางการพัฒนาวัคซีน และการใช้วัคซีนมาป้องกันโรคอย่างจริงจัง

เรื่องราวที่น่าสนใจอาจแยกเป็น 2 กระแส ที่ตอนหลังก็มาบรรจบกันที่ตัวเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ แต่ก่อนจะไปติดตามเรื่องราวในรายละเอียด ต้องจำไว้ก่อนว่าช่วงศตวรรษที่ 18 แม้จะมีคนเห็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจากกล้องจุลทรรศน์ได้แล้วตั้งแต่เกือบ 50 ปีก่อนหน้านี้  (Leeuwenhoek ในปี 1670) ก็ยังไม่มีใครตั้งทฤษฎีว่าเจ้าตัวเล็กๆ เหล่านี้จะเป็นตัวก่อโรค

การค้นพบของหลุยส์ ปาสเตอร์ เกิดหลังการทดลองของ Lady Montagu กว่า 100 ปี และทฤษฎีเชื้อโรคของโรแบร์ท ค็อค (Robert Koch) ก็มาหลังจากการค้นพบของหลุยส์ ปาสเตอร์อีก ก่อนหน้านั้นในราวปี 1850 จอห์น สโนว์ (ที่ไม่ได้มาจากซีรีส์เกมออฟโธรนส์) ยุติการระบาดของอหิวาตกโรค เพราะเขาเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้คนท้องร่วง และมันแพร่ได้ทางน้ำ เขาก็ไม่ได้เรียกมันว่า ‘เชื้อโรค’

เรากลับมาคำถามว่าเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ค้นพบอะไร

เส้นทางแรก ต่อยอดมาจากการทดลองที่เริ่มจาก Lady Montagu จนทำให้การปลูกฝีกลายเป็นเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจ ของผู้มีอันจะกินในกรุงลอนดอน ทำให้นายโรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) เกิดความคิดทำเป็นธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจผลิตวัคซีน (เพราะสมัยนั้นยังห่างไกลมาก เพราะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรเป็นตัวก่อโรค นับว่าโลกเองก็เพิ่งรู้จักสิ่งที่เรียกว่าไวรัส หลังจากการทดลองของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ เกือบ 100 ปี) แต่เป็นธุรกิจบ้านพักสำหรับคนปลูกฝี (variolation home) โดยนายซัตตันออกแพ็กเกจการดูแลตัวเองสำหรับผู้ได้รับการปลูกฝี ซึ่งปกติจะมีอาการบวมบริเวณที่ปลูกฝีและมีไข้ร่วมด้วย เขาเลยจัดที่พัก พร้อมดูแลเรื่องอาหาร และจัดให้กินอยู่อย่างสบาย พร้อมคำแนะนำเรื่องการกินอาหารให้ถูกต้อง (โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน แต่ก็มีคนมีปัญญาจ่ายที่เชื่อและมาใช้บริการเป็นอันมาก)

มีคนเอามาขยายทำเป็นธุรกิจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ นายจอห์น ฟิวสเตอร์ (John Fewster) ที่ไปทำธุรกิจในอีกเมืองห่างไปเกือบ 100 กิโลเมตร ในปี 1763 เขาพบว่ามีพี่น้องคู่หนึ่งที่ไม่มีอาการหลังปลูกฝีไปแล้ว และก็ไม่มีประวัติว่าเคยป่วยด้วยฝีดาษ นายจอห์น ฟิวสเตอร์ถึงกับสั่งปลูกฝีซ้ำ เพราะคิดว่าคงมีอะไรผิดพลาดในการปลูกฝีครั้งแรก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทั้งสองคนมีอาการแต่อย่างใด ซักประวัติไปมาก็ได้ความว่าเคยเป็นฝีวัว (cow pox) ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดกับวัวแต่ติดคนได้ จะมีอาการคล้ายกันคือมีตุ่มบนผิวหนังแต่ไม่ไปทั่วตัว และอาการอื่นๆ ก็ไม่รุนแรงเท่าฝีดาษ

นายฟิวสเตอร์เอาเรื่องไปคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่มที่มีหมออยู่หลายคน ตอนนั้นเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์เริ่มเข้าเรียนแพทย์แล้ว ติดสอยห้อยตามอาจารย์ไปตามที่ต่างๆ  และได้ยินเรื่องราวที่น่าแปลกใจนี้ด้วย

ตามตำนานบอกว่า ประเด็นเรื่องคนเป็นฝีวัวมีอาการอ่อนกว่าและมักจะไม่เป็นฝีดาษ มาจากการสนทนาระหว่างเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์กับคนส่งนม ที่เล่าให้เขาฟังว่าบรรดาสาวๆ ที่รีดนมวัวมักไม่มีคนเป็นฝีดาษ แม้จะมีคนเป็นฝีวัวกันอยู่ไม่น้อย ทำให้เจนเนอร์เกิดความคิดที่จะไปเอาเชื้อฝีวัว (จากผิวหนังของคนหรือวัวที่เป็นฝี) มาปลูกแทนฝีดาษ (ที่เอาจากผิวหนังคนเป็นโรคฝีดาษ) แต่เชื่อกันว่าเขาคงได้ความคิดจากกรณีคนไข้ของนายฟิวสเตอร์มากกว่า

อีกเส้นทางหนึ่งมาจากชาวบ้านธรรมดาชื่อนายเบนจามิน เจสตี (Benjamin Jesty) ที่เป็นชาวนาอยู่เมือง Dorset ทางตอนใต้ของอังกฤษ ประมาณ 50 ไมล์จากเมือง Thornbury ของนายฟิวสเตอร์ แต่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวพันกัน

ในปี 1774 ซึ่งเป็นปีหนึ่งที่เกิดการระบาดของฝีดาษในอังกฤษ นายเบนจามินซึ่งเป็นเกษตรกร สังเกตว่าสาวรีดนมวัวที่ทำงานกับเขาสองคนต่างก็ต้องมีภาระดูแลคนที่ป่วยด้วยฝีดาษ แต่ทั้งสองคนกลับไม่มีอาการหรือล้มป่วยลงด้วยโรคฝีดาษ แต่อย่างใด

แทนที่จะวิ่งไปปลูกฝีซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายมาก แถมมีอาการข้างเคียง และยังต้องไปนอนแยกจากคนอื่นอยู่หลายวัน เขาน่าจะไปหาวัวที่ติดเชื้อจะดีกว่า แต่ตอนนั้นวัวของเขาเองไม่มีตัวไหนเป็นฝีวัว เขาเลยพาลูกเมียดั้นด้นไปที่ฟาร์มอื่นเพื่อหาวัวที่เป็นฝีวัว พอไปถึงเขาก็เอาฝีจากวัวที่เป็นโรคมา ‘ปลูก’ ให้กับลูกเมียและตัวเอง โดยจิ้มด้วยเข็มถักถุงเท้า ปรากฏว่าทุกคนปลอดภัยไม่มีใครเป็นฝีดาษ แม้เมียของเขาจะมีอาการอักเสบที่บริเวณแผลเพราะเข็มถักถุงเท้าที่ไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่

วีรกรรมของนายเจสตีลือกระฉ่อนไปทั่ว แต่แทนที่จะไปในทางที่ดี ชาวบ้านกลับต่อต้านและหาว่าเขากำลังทำให้ลูกเมียกลายเป็นสัตว์ประหลาด เพราะไปเอาเชื้อโรคจากสัตว์มาใส่ตัว เขาต้องอพยพครอบครัวไปอยู่สุดปลายแหลมใกล้หมู่บ้าน และมีชีวิตรอดปลอดภัยจากการระบาดของฝีดาษในครั้งถัดๆ มา

ผ่านไป 15 ปี เจสตีพาลูกมาปลูกฝีแบบที่ทำกันทั่วไปตอนนั้น (variolation) ปรากฏว่าลูกเขาไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นอาการบวมหรืออาการไข้ เป็นการยืนยันว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากฝีวัวน่าจะยังมีอยู่ แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครอธิบายว่าอะไร

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ตัดสินใจทำการทดลองปลูกฝีโดยใช้ฝีวัวในปี 1796 (32 ปีหลังจากที่เกษตรกรชื่อเจสตีทดลองกับตัวเองและลูกเมีย) โดยลองกับฟิลลิปส์ ลูกชายของคนทำสวนในบ้าน ด้วยการใช้ฝีวัวจากแผลที่มือของสาวรีดนม (ที่รีดนมจากวัวชื่อ Blossom ที่ต่อมามีคนเอาหนังวัวตัวนี้ไปแสดงที่โรงพยาบาลเซนต์จอร์จในลอนดอน แต่เชื่อว่าน่าจะไม่ใช่ของจริง) แค่นั้นยังไม่พอ วันต่อมาเจนเนอร์ทำการใช้ฝีดาษซ้ำเข้าไปอีก ปรากฏว่าเด็กชายฟิลลิปส์ไม่มีอาการเหมือนการใช้ฝีดาษ ไม่ว่าจะเป็นไข้หรือบวมแดงที่ปลูกฝี เขาจึงตัดสินใจทำเพิ่มในคนอีก 24 คน (อาสาสมัคร หรือจำยอมก็ไม่ปรากฏรายละเอียดแน่ชัด) จนนำไปสู่การเขียนรายงานเสนอราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) ซึ่งเป็นสมาคมเดียวกับที่เคยรับรู้การทดลองของ Lady Montagu เมื่อเกือบ 80 ปีก่อน และมีท่าทีลังเลที่จะสนับสนุนให้ทำอย่างกว้างขวาง (แม้จะมีการทดลองในผู้ต้องขังที่สั่งการโดย Prince of Wales ตามมาช่วยยืนยัน)

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์จะได้ความคิดมาจากไหน มาจากการสนทนากับคนส่งนม เช่นที่เล่ากันต่อๆ มา หรือไปได้ความคิดมาตั้งแต่ยังอายุไม่มากคราวตามอาจารย์ไปคุยกับเพื่อนๆ และได้ฟังกรณีเด็กสองคนที่ไม่มีอาการหลังปลูกฝี เพราะมีประวัติเคยเป็นฝีวัวมาก่อน (ตอนนั้นเขาอายุเพิ่ง 14 ปี) น่าจะไม่มีใครยืนยันได้ แต่ที่แน่ๆ คือเขาไม่ได้รู้เรื่องการทดลองกับครอบครัวตัวเองของเจสตีแน่ๆ และเขาเองก็ไม่ได้เป็นคนแรกที่ทดลองใช้ฝีวัวแทนฝีดาษ เพราะถูกเกษตรกรใจกล้าตัดหน้าไปเสียก่อน

มีการตามประวัติกันอีกว่า นอกเหนือจากเกษตรกรชื่อเจสตีในอังกฤษ ยังมีครูอีกคนชื่อเพลตต์ (Plett) อยู่ประเทศเยอรมัน เป็นคนใช้ฝีวัวช่วยป้องกันฝีดาษให้กับลูกสองคนของนายจ้างของเขา ในช่วงกลางทศวรรษ 1790 ก่อนที่เจนเนอร์จะทดลองใช้อย่างจริงจัง ครูเพลตต์ได้ความคิดจากแม่ที่เป็นสาวรีดนมวัวว่าตัวเองไม่เคยป่วยเป็นฝีดาษเลย พอคุณครูไปถามสาวรีดนมคนอื่นๆ ก็ได้ข้อมูลคล้ายกัน แต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งไปรับจ้างนายมาร์ตินสอนลูกๆ สองคน แล้วเกิดฝีดาษระบาด แล้วด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัด ลูกสองคนของนายมาร์ตินได้ความคิดมา (อาจจะเพราะครูเล่าเรื่องของแม่ตัวเองให้เด็กๆ ฟัง) ว่าถ้าเอาฝีวัวมาใส่ตัวจะป้องกันฝีดาษได้ เลยพากันไปเอาหนองจากฝีวัวที่บ้านมาให้คุณครูช่วยปลูกให้ คุณครูเองเคยมีประสบการณ์ทำมาก่อน เลยยอมทำให้กับเด็กๆ ทั้งสอง โดยคุณพ่อไม่รู้เรื่องแต่มารู้ทีหลัง และขอบคุณครูเพลตต์เมื่อพบกันในอีกไม่นานหลังจากนั้น

ว่ากันว่านายฟิวสเตอร์ที่เป็นคนทำธุรกิจบ้านพักสำหรับคนถูกปลูกฝี ที่เคยเจอกรณีเด็กสองคนที่ป่วยด้วยฝีวัวมาก่อน ก็เคยใช้ฝีวัวปลูกให้กับลูกของเพื่อนที่กำลังป่วยด้วยโรคฝีดาษ แถมทำในปีเดียวกับที่เจนเนอร์เริ่มปลูกฝีโดยใช้วัว แต่เขาไม่บอกใคร และปล่อยให้ความลับตายไปกับตัวเอง จนกระทั่งมีการเปิดเผยหลังจากที่เขาตายแล้ว 10 ปี

ผมบอกว่าสองเรื่องจะมาเจอกันที่เอดเวิร์ด เจนเนอร์ บางคนที่จำได้ดีอาจจะสงสัยว่าเจอกันตรงไหน เพราะดูเหมือนนายเจสตี เกษตรกรผู้คิดและทำนอกกรอบน่าจะกลายเป็นคนที่โลกลืม แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่พาให้เขามาเจอกับเจนเนอร์ซึ่งตอนนั้นดังมากแล้ว และกำลังถูกคาดหวังให้ช่วยกันหาทางทำให้มีการปลูกฝีได้ทีละมากๆ ก็คือเงิน

รัฐสภาอังกฤษตื่นเต้นกับความเห็นของราชสมาคมฯ ที่ยืนยันผลการศึกษาของเจนเนอร์ ทำให้งานเริ่มเข้า และเจนเนอร์เริ่มรับไม่ไหว จึงเรียกร้องให้รัฐสภาอังกฤษสนับสนุน ซึ่งทางรัฐสภาก็แต่งตั้งนายจอร์จ เพียร์สัน (George Pearson) ซึ่งเป็นคนที่สนับสนุนการทำ variolation มาเป็นคนช่วยพิจารณา แต่นายเพียร์สันพูดถึงเรื่องราวที่ได้ฟังมาจากทางตอนใต้ของอังกฤษว่ามีคนเคยทำมาก่อนแล้ว แต่ทางรัฐสภาก็ไม่ได้ใส่ใจมาก และที่สุดก็ให้ทุนก้อนใหญ่กับเจนเนอร์ (3 หมื่นปอนด์ใน 3 ปี)

เจสตีเองรู้ข่าวก็น้อยใจในโชคชะตาที่ตัวเองกลับถูกขับไล่เพราะทำแบบเดียวกัน แต่บังเอิญมีกัลยาณมิตรเป็นพระอธิการโบสถ์ในเมืองที่เขาอาศัยอยู่ ชื่อว่าแอนดรูว์ เบลล์ (Andrew bell) ท่านอธิการเสนอให้เขาไปเล่าเรื่องให้สังคมได้รับรู้ แต่เขาปฏิเสธ ท่านอธิการก็เลยลงมือเชื่อมต่อกับสมาชิกสภาที่ท่านรู้จัก จนที่สุดก็ได้พบกับนายเพียร์สัน และได้ร่วมกันจัดประชุม Vaccine Pock Institute (ตอนนั้นคำว่า ‘วัคซีน’ หมายถึง ฝีวัวที่เอามาใช้ฉีด ยังไม่ได้เป็นคำใช้เรียกวัคซีนแบบทั่วไปเหมือนในสมัยนี้ เพราะคำว่า vaccine มาจากคำละตินที่แปลว่าวัว) พร้อมกับเชิญให้นายเจสตีมาเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ตอนนั้นเป็นปี 1805 นับเป็น 4 ปีหลังจากเจนเนอร์ตีพิมพ์ผลงานวิชาการ

ตอนนั้นเจสตีอายุ 70 กว่าแล้ว แต่เขาก็เล่าเรื่องราวได้ครบถ้วน แถมยังพาลูกชายคนที่ถูกปลูกฝีดาษซ้ำมาแสดงตัวด้วย เพื่อยืนยันว่า แม้จะผ่านไป 31 ปี ภูมิคุ้มกันที่ได้เมื่อปี 1774 ก็ยังมีอยู่ (ซึ่งตามทฤษฎีอาจไม่สามารถสรุปได้ เพราะลูกชายของเขาไปปลูกฝีดาษใน 15 ปีต่อมา ภูมิคุ้มกันที่พบในปี 1805 อาจมาจากฝีดาษที่ปลูกไปในปี 1789 ก็ได้)

ผลจากการประชุมทำให้ที่ประชุมลงมติว่าเจสตีมีส่วนในการริเริ่มการปลูกฝีโดยใช้ฝีวัวก่อนหน้าเอดเวิร์ด เจนเนอร์ แม้จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนหรือชดเชย (ยกเว้นค่ารถเดินทางมาบรรยาย) ทางสมาคมก็ให้เกียรติด้วยการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การค้นพบวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษว่าเกษตรกรธรรมดาๆ อย่างนายเจสตีมีส่วนอย่างสำคัญ

หลังจากนั้นในปี 1840 การทำการปลูกฝีโดยใช้ฝีดาษ (variolation) ก็ถูกยกเลิก เริ่มจากในอังกฤษก่อน และหลังจากนั้นการปลูกฝีโดยใช้ฝีวัวก็กลายเป็นวิธีมาตรฐานของทั่วโลก


ประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ

อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่าเรื่องราวของวัคซีนตัวแรกของโลก เกิดขึ้นในขณะที่โลกยังไม่รู้จักทฤษฎีการก่อโรคโดยเชื้อโรค (Germ theory of Diseases) แปลว่ายังไม่มีใครคิดว่าโรคต่างๆ ที่พบเป็นผลจากการติดเชื้อ ไม่ต้องพูดถึงว่าเชื้อโรคมีกี่ประเภท ไวรัสต่างกับแบคทีเรียอย่างไร ถ้าจะทำวัคซีนจะต้องเอาส่วนไหนของเชื้อโรคมาทำจึงจะได้ผลดีที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘ความบังเอิญ’ ทำให้มนุษย์ค้นพบว่าเราสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในตัวเราทำให้ไม่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคบางโรคได้

ถ้าพูดถึงเฉพาะประเด็นที่ว่ามนุษย์สามารถมีภูมิคุ้มกันจากการป่วยเป็นโรค ต้องบอกว่าเรารู้กันมานานแล้ว แต่อาจจะไม่ได้ใช้คำว่าภูมิคุ้มกัน (เพราะคำนี้ก็เพิ่งเป็นที่รู้จักกันมาเมื่อไม่นานมานี้เอง และรู้จักหลังจากรู้จักเชื้อโรคด้วยซ้ำไป)

เชื่อกันว่า Thucydides ที่ยกย่องกันว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์มาแต่ยุคกรีกโบราณ เขาเคยบันทึกว่า คนที่เคยป่วยด้วยฝีดาษมักมีอาการไม่หนักเมื่อมีการระบาดในครั้งต่อๆ มา แปลว่าร่างกายน่าจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ช่วยต้านทานโรค (resist) แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มกันหรือป้องกันเชื้อโรค (prevent or protect)

แต่แม้คนจะไม่รู้จักเชื้อโรค ไม่รู้จักภูมิคุ้มกัน และไม่รู้จักวิธีการ ‘ดัดแปลง’ เชื้อโรคมาทำวัคซีน มนุษย์ก็สามารถ ‘เอา’ เชื้อโรคมาป้องกันตัวเองจากการป่วยได้ โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเอามาใช้คืออะไร ใช้แล้วไปทำอะไรในร่างกาย แล้วทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้เราไม่ป่วยได้

ประเด็นที่สองที่น่าสนใจ คือไม่ว่ามนุษย์จะมีความรู้ขนาดไหน แต่ทุกครั้งที่พบกับวิกฤต เช่น โรคระบาด เราก็จะดิ้นรนหาวิธีต่อสู้กับมัน บางทีวิธีการที่ได้ก็เกิดจากคนที่มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ (เช่นหมอลัทธิเต๋าในจีน หรือในอาณาจักรออตโตมาน) แต่บางครั้งก็มาจากคนธรรมดาที่มีศรัทธาหรือความสามารถในการคิดและทำนอกกรอบ นำเอาเรื่องที่ไม่เป็นที่ยอมรับไปลองทำดู (และยังช่วยโฆษณาเผยแพร่อย่างจริงจัง) แบบ Lady Montagu  แต่บางทีความคิดใหม่ๆ ก็มาจากคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ (ทางการแพทย์หรือสุขภาพ) แต่มาจากคนธรรมดาที่ช่างสังเกตอย่างสาวรีดนม หรือแม่ของคุณครูเพลตต์ หรือนายฟิวสเตอร์ที่ทำธุรกิจบ้านพักคนปลูกฝี แม้กระทั่งเกษตรกรที่ช่างสังเกตและคิดนอกกรอบแบบนายเจสตี ที่ทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการเอาฝีจากวัวมาใช้แทนฝีดาษคนมาใช้ประโยชน์ได้ 

ประเด็นที่สามที่น่าสังเกต คือวิธีการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะได้ผลหรือไม่ และควรเอามาใช้กันอย่างกว้างขวางหรือยัง เป็นเรื่องที่มีพัฒนาการไปตามสังคม ซึ่งก็แน่นอนว่าถูกกำหนดโดยความรู้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ถูกกำหนดโดยค่านิยม ความเชื่อ ความกลัว และความพร้อมที่จะเสี่ยงของแต่ละสังคมด้วย

ประเด็นนี้น่าจะชัดเจนมากจากกรณีวัคซีนโควิดที่มักมีการถามกันทั่วไปว่า ถ้าเป็นเธอจะฉีดไหม (ซึ่งคงจะมีเรื่องเล่าได้อีกหลายเรื่อง ทั้งวัคซีนเก่าที่คุ้นเคย กับวัคซีนใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา) แต่ถ้าจับเฉพาะกรณีการปลูกฝี ก็จะพบว่า ถ้าเป็นปัจจุบันคงมีคนน้อยมากที่จะกล้าปลูกฝี เพราะตอนนั้นผ่านการพิสูจน์ด้วยคนเพียงแค่ 24 คน (ตอนทดลองกับผู้ต้องขังก็มีเพียง 12 คน) แม้อาจจะอ้างได้ว่ามีลูกๆ ของหลายคนที่ถูกพูดถึงในเรื่องราวเหล่านี้ แต่ก็เป็นจำนวนที่นับนิ้วได้

แน่นอนว่านั่นเป็นเหตุการณ์ก่อนมีกติกาว่าด้วยมาตรฐานการวิจัยทางคลินิก (โดยเฉพาะการพัฒนายาใหม่) ที่เพิ่งมีมาไม่ถึง 100 ปี กติกาที่ออกมาดูเข้มงวด แต่ก็ถูกตั้งคำถามอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์การพัฒนายาหรือวัคซีนในการสู้กับวิกฤตโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งวิจัยยาต้านเอดส์ หรือการเตรียมพร้อมสู้ไข้หวัดใหญ่ ก่อนมาเจอกับโควิด

ที่อาจจะน่าสนใจยิ่งขึ้นคือความจริงที่ว่า ไม่ว่าผลการศึกษาจะมีมาตรฐานหรือเข้มงวดเพียงไร ถ้ามันพร้อมให้ใช้ได้ คนที่จะเข้าถึงหรือมีโอกาสเป็นคนแรกๆ ก็จะเป็นผู้มีอันจะกินหรือมีอำนาจ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าอิจฉา เพราะเอาเข้าจริงก็อาจเป็นเหยื่อรายแรกๆ ของการโฆษณาหลอกลวง โดยมีคนขี้กลัวที่มีปัญญาแก้ความกลัวด้วยเงินเป็นเหยื่อรายแรกๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save