fbpx
ผ่าสมรภูมิการเมืองโลก 6 ภูมิภาค ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน

ผ่าสมรภูมิการเมืองโลก 6 ภูมิภาค ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

การทูตวัคซีน’ กำลังกลายเป็นเครื่องมือหลักบนสมรภูมิการเมืองโลกท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแต่ละขั้วอำนาจใหญ่ของโลกต่างใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกันอย่างเข้มข้น

ไม่ใช่แค่ฉากของการเมืองโลกตลอดทั้งปี 2564 แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ผลลัพธ์ของการทูตวัคซีนจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นิยามการเมืองโลกในอีกหลายปีข้างหน้า เมื่อประเทศที่ได้วัคซีนก่อนมีโอกาสที่จะ ‘ตั้งหลัก’ และ ‘เริ่มต้นใหม่’ ได้ก่อน

เกมการทูตวัคซีนได้กระจายไปเหยียบถึงเกือบทุกหย่อมหญ้าทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แต่ละภูมิภาคต่างก็มีปูมหลังและบริบททางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เหมือนกัน ทำให้สมรภูมิการทูตวัคซีนในแต่ละภูมิภาคของโลกมีสีสันที่ต่างกันออกไป บทความนี้จึงพาเจาะลึกลงไปอีกว่าเกมการเมืองระหว่างประเทศของ 6 ภูมิภาคของโลกกำลังเดินไปอย่างไร ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน และแต่ละขั้วมหาอำนาจเข้าไปเล่นเกมนี้ในแต่ละภูมิภาคกันอย่างไรบ้าง

ในนามของ ‘สุขภาพ’ นี่คือการเผยตัวของ ‘อำนาจ’ และ ‘ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือน ‘สวนหลังบ้าน’ ของจีน การมีที่ตั้งติดกับจีน สภาพภูมิประเทศที่สามารถเป็นช่องทางติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกให้กับจีนได้หลายช่องทาง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมากของจีน และกลายเป็นพื้นที่ทางผ่านสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล ผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์มหาศาลของภูมิภาคนี้ดึงดูดให้จีนเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ในภูมิภาคอยู่ตลอด และแน่นอนว่า จีนย่อมไม่พลาดที่จะใช้การทูตวัคซีนอย่างเข้มข้นในพื้นที่หลังบ้านของตัวเองนี้ ทั้งด้วยการเจรจาทวิภาคีกับแต่ละประเทศ และการใช้ช่องทางพหุภาคีผ่านเวทีต่างๆ ของอาเซียน

ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีดีลวัคซีนกับจีนไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง หลายชาติอาเซียนได้รับคำมั่นจากจีนว่าจะเป็นชาติแรกๆ ที่จะได้เข้าถึงวัคซีนจากจีน เช่น กลุ่มประเทศบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และฟิลิปปินส์ นอกจากรูปแบบของข้อตกลงซื้อขายวัคซีน บางประเทศยังได้รับวัคซีนฟรีจากจีนจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ขณะที่อินโดนีเซียได้ทำข้อตกลงเพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการผลิตและทดลองวัคซีนของบริษัท Sinovac แลกกับการที่อินโดนีเซียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการได้เข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ

อย่างไรก็ตาม การที่จีนเข้ามาเป็นพ่อบุญทุ่มให้บรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องวัคซีน ก็ถูกจับตามองอยู่ตลอดว่า คงไม่ใช่เป็นการเข้ามาแบบฟรีๆ หากแต่มีวาระซ่อนเร้นบางอย่าง นอกจากจะช่วยกรุยทางการเจรจาเกี่ยวกับโครงการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมแล้ว การทูตวัคซีนของจีนยังอาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางอ้อมให้กับจีนในกรณีพิพาทที่กำลังมีอยู่กับหลายชาติอาเซียน ได้แก่ กรณีพิพาทดินแดนบริเวณทะเลจีนใต้ และกรณีศึกชิงน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง

ในการจัดการกรณีพิพาทระหว่างประเทศ จีนมักใช้กลยุทธ์การเล่นไพ่สองหน้ามานานแล้ว ด้านหนึ่ง จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวในประเด็นพิพาท ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จีนก็จะเข้าไปให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางอย่างกับประเทศคู่พิพาทไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่างๆ หรือกระทั่งการใช้ความเป็นคู่ค้าเบอร์ต้นของหลายชาติ ซึ่งเป็นเสมือน ‘เงินฟาดหัว’ เพื่อให้คู่พิพาทยอมโอนอ่อนลง หรือไม่แสดงท่าทีแข็งขืนกับจีนมากเกินไปนัก เพราะหากแข็งกร้าวขึ้นมามากเกินไป ประเทศคู่พิพาทก็กลัวว่าจะไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนอย่างที่ต้องการ หู เทียงบูน นักวิชาการชาวสิงคโปร์เรียกกลยุทธ์ไพ่สองหน้าของจีนนี้ว่า ‘Hardening the Hard, Softening the Soft’

กลยุทธ์นี้ยังถูกหยิบมาใช้อย่างชัดเจนในช่วงโควิด ปีที่แล้ว จีนก็ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้นทั้งในประเด็นทะเลจีนใต้และแม่น้ำโขง ขณะที่บริจาคหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ให้หลายชาติอาเซียนไปพร้อมกัน และตอนนี้ วัคซีนก็ถูกคาดหมายว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเสริมของจีนในเกมไพ่สองหน้านี้

รัสเซียเป็นอีกประเทศที่เข้ามาทำการทูตวัคซีนในภูมิภาคนี้ รัสเซียมีความพยายามเข้าหาพื้นที่นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ่านนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่มุ่งกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับประเทศแถบนี้ และตอนนี้ รัสเซียก็สบโอกาสที่จะใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือการทูตรูปแบบใหม่ ความเร็วในการอนุมัติวัคซีนของรัสเซียทำให้ Sputnik V สามารถบุกตลาดอาเซียนได้เป็นตัวแรกๆ แม้จะยังมีข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพ รัสเซียได้ทำข้อตกลงซื้อขายวัคซีนกับหลายประเทศอาเซียน และได้ร่วมมือกับฟิลิปปินส์ที่จะใช้ประเทศเป็นแหล่งทดสอบวัคซีนประจำภูมิภาค โดยที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตร์เต อาสาใช้ตัวเองทดสอบวัคซีนเป็นคนแรก แสดงความมั่นใจในวัคซีนให้ด้วย

ฟิลิปปินส์ในยุคดูเตร์เตมีท่าทีตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ ไปซบจีนและรัสเซียมากขึ้นในหลายแง่ รวมถึงในเรื่องวัคซีน ดูเตร์เตประกาศกร้าวว่า รัฐบาลยินดีที่จะใช้วัคซีนจากจีนและรัสเซีย เพราะมีคุณภาพดีไม่แพ้วัคซีนจากชาติหรือบริษัทอื่นๆ และโจมตีชาติตะวันตกด้วยว่าคิดถึงแต่กำไร เพราะให้ฟิลิปปินส์ต้องจ่ายเงินค่าวัคซีนล่วงหน้าก่อนที่จะส่งวัคซีนให้ ขณะที่การดีลกับจีนเป็นไปโดยง่าย ฟิลิปปินส์แทบไม่ต้องร้องขออะไร แต่ถึงอย่างนั้น ฟิลิปปินส์ก็ยังคงดีลซื้อวัคซีนจากบริษัทฝั่งตะวันตกหลายเจ้าอยู่ดี เช่นเดียวกับบรรดาชาติอาเซียน ที่ถึงแม้จะมีดีลวัคซีนกับจีนและรัสเซียมากขนาดไหนก็ตาม ก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสั่งวัคซีนจากฝั่งโลกตะวันตกด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้พึ่งวัคซีนเพียงจากฝั่งจีนและรัสเซีย นี่จึงเป็นภาพแทนของแนวปฏิบัติทางการทูตของชาติอาเซียนที่มักเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจ แม้จะเอนเอียงไปฝั่งไหนมากหน่อยก็ตาม แต่ก็มักไม่ปล่อยให้เอนมากเกินไป

ชาติอาเซียนบางชาติยังทำข้อตกลงร่วมมือพัฒนาและทดสอบวัคซีนกับบริษัทของชาติตะวันตกด้วย เช่น สิงคโปร์ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Duke และบริษัท Arcturus ในการผลิตวัคซีน Lunar-Cov19 และไทยที่ร่วมมือผลิตวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca และมหาวิทยาลัย Oxford

ขณะที่จีนกับรัสเซียรุกภูมิภาคนี้อย่างหนัก คู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ที่กำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกปิดล้อมจีน กลับไม่ได้เข้ามาใช้การทูตวัคซีนที่ชัดเจนในพื้นที่นี้ ปล่อยให้อีก 3 ประเทศร่วมกลุ่มจตุรมิตร (Quad) ของอินโดแปซิฟิกอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ทำหน้าที่

ญี่ปุ่นตกลงให้เงินช่วยเหลือประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อจัดหาทรัพยากรสำหรับระบบสาธารณสุข ซึ่งบริเวณแม่น้ำโขงนี้ก็เป็นพื้นที่ที่ญี่ปุ่นแข่งอิทธิพลกับจีนอยู่ ส่วนออสเตรเลียก็อัดฉีดทั้งความช่วยเหลือทางการเงินและทางเทคนิค โดยมุ่งให้ประเทศในภูมิภาคนี้ได้เข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีคุณภาพได้เร็วที่สุด พร้อมทั้งสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนส่วนหนึ่งที่ออสเตรเลียสั่งซื้อมาให้บรรดาประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย การทูตวัคซีนของออสเตรเลียไม่ได้แผ่ขยายไปเพียงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังใช้กับกลุ่มประเทศหมู่เกาะของมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย เพื่อรักษาสถานะความเป็นพี่ใหญ่ในแถบโอเชียเนีย ทานอำนาจของจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปมากขึ้นทุกวันผ่านโครงการเส้นทางสายไหม

อินเดียก็ได้เข้ามาร่วมเล่นเกมการทูตวัคซีนในภูมิภาค โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งมีพรมแดนติดกับอินเดีย จึงนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมาก อินเดียได้ตัดสินใจบริจาควัคซีนจำนวนหนึ่งให้เมียนมา ซึ่งนอกจากจะถูกมองว่าเป็นการเข้าไปกระชับความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจในอนาคตแล้ว ยังเป็นการเข้าไปคานอำนาจของจีน ซึ่งก็เป็นอีกประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา และได้เข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลในเมียนมาสูงมาก อินเดียกับจีนแข่งอิทธิพลเหนือพื้นที่เมียนมากันมายาวนานเพื่อแก่งแย่งจุดยุทธศาสตร์ โดยมากมักจะเป็นการแข่งขันกันทำโครงการลงทุนขนาดยักษ์ นับจากนี้ การทูตวัคซีนก็กำลังจะถูกเพิ่มเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเวทีการขับเคี่ยวระหว่างสองชาตินี้ในเมียนมา

 

เอเชียใต้

 

การแข่งขันด้านการทูตวัคซีนระหว่างจีนกับอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นเสมือนแค่เวทีประลองเล็กๆ เท่านั้น แต่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เรียกได้ว่าเป็นสมรภูมิของจริงสำหรับพญามังกรและพญาคชสาร

ด้วยความเป็นพี่ใหญ่ในละแวกบ้านของตัวเองอย่างเอเชียใต้มายาวนาน อินเดียจึงใช้การทูตวัคซีนอย่างเข้มข้นที่สุดในภูมิภาคนี้ อินเดียบริจาควัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเกือบทุกประเทศ ทั้งเนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ ศรีลังกา อัฟกานิสถาน และมัลดีฟส์ เพื่อรักษาอำนาจบารมีของตัวเอง ยกเว้นก็แต่ปากีสถาน ประเทศที่เป็นคู่กัดกับอินเดียมายาวนานจากความขัดแย้งทางพรมแดน และที่สำคัญ คือเพื่อแข่งกับจีน ที่กำลังเข้ามารุกเกมการทูตวัคซีนในเอเชียใต้อย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน โดยได้เข้ามาเสนอบริจาควัคซีนให้หลายประเทศในภูมิภาคด้วย ซึ่งรวมไปถึงปากีสถาน ที่อินเดียเมินที่จะบริจาควัคซีนให้

แม้จะเป็นประเทศนอกภูมิภาค แต่จีนก็พยายามอย่างหนักที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะหลายประเทศในเอเชียใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ดึงดูดให้จีนเข้ามาทุ่มเงินลงทุนมหาศาลผ่านโครงการเส้นทางสายไหม แต่การเข้ามาของจีนก็จำเป็นต้องคานกับอินเดียที่ทรงอิทธิพลอยู่มาก่อนยาวนาน สองชาตินี้จึงแข่งขันกันช่วงชิงอิทธิพลเหนือประเทศในภูมิภาคนี้มาตลอด การเลือกฝั่งจีนหรืออินเดียได้กลายเป็นประเด็นการเมืองของหลายประเทศในเอเชียใต้ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้

เมื่อทั้งจีนและอินเดียต่างครอบครองวัคซีน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทั้งคู่จะต้องเล่นสงครามการทูตวัคซีนกันในภูมิภาคนี้ หากดูตามหน้าสื่อของทั้งสองชาติ เราจะเห็นว่าสื่อของแต่ละชาติต่างก็พยายามโจมตีวัคซีนของฝั่งตรงข้าม เช่น สื่อทางการจีนโจมตีอินเดียว่าไม่มีศักยภาพการผลิตมากพอที่จะแจกจ่ายวัคซีนไปประเทศต่างๆ ได้ ส่วนสื่ออินเดียก็จี้จุดข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีน

การเขม่นกันระหว่างจีนกับอินเดียนี้ ไม่ได้เป็นเพราะเรื่องการช่วงชิงอิทธิพลเหนือเอเชียใต้เท่านั้น แต่ยังมีรากมาจากปัญหาความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างกันในบริเวณแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ยืดเยื้อ และได้ยกระดับความตึงเครียดขึ้นอีกในปีที่แล้ว จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปี การแข่งขันการทูตวัคซีนระหว่างสองมหาอำนาจจึงมีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพันด้วย

เอเชียใต้จึงถือเป็นพื้นที่ที่สะท้อนภาพการแข่งขันด้านการทูตวัคซีนระหว่างมหาอำนาจได้ชัดเจนที่สุดพื้นที่หนึ่งของโลก

 

แอฟริกา

 

ในแอฟริกา จีนก็ยังคงเล่นเกมการทูตวัคซีนอย่างเข้มข้น หลายปีที่ผ่านมา จีนเข้ามาแผ่ขยายอิทธิพลและกระชับความสัมพันธ์กับชาติแอฟริกาหลายชาติ โดยได้ทุ่มเงินช่วยเหลือและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และพื้นที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ทำให้ภูมิภาคแอฟริกาเป็นพื้นที่สำคัญของโครงการเส้นทางสายไหม

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้ประกาศคำมั่นว่าชาติแอฟริกาจะเป็นชาติกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้าถึงวัคซีนจากจีน ขณะที่บริษัทวัคซีนของจีนก็ได้ตกลงกับโมร็อกโกเพื่อใช้เป็นแหล่งทดลองวัคซีน

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ หลายชาติในแอฟริกากลับยังไม่เห็นวี่แววที่จะได้รับวัคซีนจากจีน และยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จากจีนว่าชาติเหล่านั้นจะได้รับวัคซีนหรือความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องในรูปแบบใด ปฏิบัติการการทูตวัคซีนของจีนในภูมิภาคที่ดูเหมือนจะรุกหนักในตอนแรก กลับกำลังเป็นที่เคลือบแคลงสำหรับบรรดาชาติแอฟริกา

การทูตวัคซีนของรัสเซียในภูมิภาคกลับเห็นความชัดเจนได้มากกว่าจีนในเวลานี้ รัสเซียพยายามเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคงและการทหาร ชาติแอฟริกาถือเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของรัสเซีย โดยมีแอลจีเรียเป็นประเทศผู้ซื้อรายใหญ่สุด และยังเป็นชาติพันธมิตรเหนียวแน่นของรัสเซีย สอดคล้องกับการที่แอลจีเรียได้ถูกเลือกเป็นแหล่งผลิตวัคซีนของภูมิภาค และยังได้วัคซีนจากรัสเซียเป็นประเทศแรกๆ ของภูมิภาคด้วย

อินเดียเป็นอีกชาติที่ได้เข้ามามีบทบาทในเกมวัคซีน โดยเฉพาะประเทศบริเวณหมู่เกาะฝั่งตะวันออกของแอฟริกาอย่างเชเชลส์และมอริเชียส อินเดียได้บริจาควัคซีนให้กับสองประเทศนี้ ซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของโลกที่จีนกับอินเดียกำลังขับเคี่ยวเกมการทูตวัคซีนกันเพื่อช่วงชิงอิทธิพลบริเวณนี้ เพราะทั้งเกาะเชเชลส์และมอริเชียสต่างก็มีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญ จนทำให้ทั้งจีนและอินเดียเข้ามาแข่งกันลงทุนทำโครงการต่างๆ มาตลอดหลายปี

 

ตะวันออกกลาง

 

ความคุกรุ่นของความขัดแย้งและไฟสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ดึงเอาชาติมหาอำนาจหลักๆ อย่างสหรัฐฯ และรัสเซียเข้ามาข้องเกี่ยวร่วมหลายปี สองชาตินี้เข้ามาแทรกแซงการเมืองและความขัดแย้งอย่างเปิดเผยโดยถือหางกันคนละฝั่ง เพื่อช่วงชิงอิทธิพลเหนือภูมิภาค ขณะที่จีนก็ค่อยๆ แทรกตัวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นกันในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ ผ่านโครงการเส้นทางสายไหม

ท่ามกลางความขัดแย้งในภูมิภาคที่ดุเดือด การเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา ก็ได้เข้ามาเป็นอีกตัวแปรที่กระเทือนต่อดุลอำนาจ รัสเซียและจีนถือโอกาสนี้ขยับขยายอิทธิพลผ่านการทูตวัคซีน ขณะที่สหรัฐฯ และโลกตะวันตกแทบไม่ได้เข้ามาเล่นเกมอะไรมากนัก

จีนและรัสเซียเข้าไปทำดีลซื้อขายวัคซีนกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง และยังร่วมทำข้อตกลงกับบางประเทศเพื่อใช้เป็นแหล่งทดสอบ ผลิต และกระจายวัคซีนประจำภูมิภาค แลกกับการเข้าถึงวัคซีนเป็นประเทศแรกๆ เช่น อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฝั่งของจีน การทูตวัคซีนมักจะมุ่งเน้นไปยังประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมเป็นหลัก

หลายชาติตะวันออกกลางตัดสินใจใช้โอกาสนี้ตกลงซื้อวัคซีนของจีนหรือรัสเซีย หรือตกลงที่จะเข้าไปให้ความร่วมมือต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีน เพราะมีวาระซ่อนเร้นที่จะเข้าไปสานสัมพันธ์กับสองชาตินี้มากขึ้น เพื่อคานอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่อาจกำลังมีมากเกินไปในหลายประเทศ เช่น ตุรกี ที่เริ่มตีตัวออกห่างจากการเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ได้สั่งซื้อวัคซีนของจีน รวมถึงรัสเซียด้วย แม้ว่ารัสเซียจะอยู่ขั้วตรงข้ามกรณีขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเด็นสงครามซีเรียก็ตาม ส่วนซาอุดิอาระเบียที่แม้จะยังคงเป็นพันธมิตรเบอร์ต้นๆ ของสหรัฐฯ ก็เข้าไปสั่งซื้อและร่วมมือด้านต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีนกับจีนและรัสเซียเช่นกัน นี่ทำให้การทูตรัสเซียของจีนและรัสเซียสามารถเจาะไข่แดงชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้หลายชาติ

กลยุทธ์ในการขยับระยะห่างออกจากสหรัฐฯ ไปยังจีนและรัสเซียมากขึ้น ได้เกิดขึ้นมาแล้วพักใหญ่ตั้งแต่ช่วง 3-4 ปีให้หลัง บางชาติที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมิตรกับสหรัฐฯ ได้ตกลงซื้อขายอาวุธกับรัสเซียมากขึ้น รวมถึงได้ต้อนรับการมาเยือนของผู้นำทั้งจีนและรัสเซีย เกมดึงจีนกับรัสเซียมาถ่วงดุลจึงไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีขึ้นในเกมการทูตวัคซีน

ถึงแม้จะเข้าหาวัคซีนจากรัสเซียและจีนมาก แต่หลายชาติตะวันออกกลางก็เลือกที่จะซื้อวัคซีนจากบริษัทของฝั่งชาติตะวันตกด้วย ก็เพราะไม่อยากให้ดูเอนเอียงไปทางรัสเซียกับจีนมากเกินไป เกมการทูตวัคซีนจึงสะท้อนภาพกลยุทธ์การถ่วงดุลอำนาจของบรรดาชาติตะวันออกกลางได้อย่างดี

แต่ถึงอย่างนั้น บางชาติก็ดูเหมือนจะเลือกข้างชัดเจน เช่น อิสราเอล ชาติพันธมิตรเหนียวแน่นของโลกตะวันตกก็สั่งซื้อเพียงวัคซีนของฝั่งตะวันตกเท่านั้น ขณะที่ซีเรียก็เจรจาซื้อวัคซีนกับจีนและรัสเซีย ที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรียมาโดยตลอดในกรณีสงครามซีเรีย โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของซีเรียออกมาพูดว่า คนซีเรียเชื่อมั่นในวัคซีนของจีนกับรัสเซียมากกว่าวัคซีนจาก Pfizer หรือจากบริษัทอื่นๆ

อิหร่าน คู่กัดของโลกตะวันตก แสดงท่าทีแข็งกร้าวด้วยการสั่งแบนวัคซีนที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยเลือกพึ่งพาวัคซีนจากจีนและรัสเซีย ที่สนับสนุนอิหร่านในเวทีโลกอย่างเหนียวแน่น รวมไปถึงวัคซีนจากอินเดียอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ อิหร่านพยายามพัฒนาวัคซีนของตัวเอง เพราะกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงวัคซีนจากการโดนนานาชาติคว่ำบาตร โดยอาศัยความร่วมมือกับรัสเซีย และยังสร้างพันธมิตรผลิตวัคซีนร่วมกับคิวบา ชาติลาตินอเมริกาที่เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมโดนคว่ำบาตรเหมือนกัน

นอกจากชาติมหาอำนาจนอกภูมิภาค ชาติพี่ใหญ่ในภูมิภาคอย่างซาอุดิอาระเบีย ก็เริ่มขยับในเกมการทูตวัคซีนบ้างแล้วเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ แต่ซาอุดิอาระเบียได้ไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ เพื่อที่จะมอบวัคซีนให้กับกลุ่มประเทศยากจน โดยเฉพาะในแอฟริกา ส่วนในตะวันออกกลางนั้น มีเพียงประเทศเดียวในตอนนี้ ที่ซาอุดิอาระเบียเอ่ยชื่อชัดเจนก็คือเยเมน ที่ซาอุดิอาระเบียสอดมือเข้าไปข้องเกี่ยวในกรณีสงครามเยเมน ซึ่งเป็นเสมือนสมรภูมิตัวแทนระหว่างซาอุดิอาระเบียกับชาติคู่ปรับอย่างอิหร่าน การทูตวัคซีนของซาอุดิอาระเบียในเยเมนจึงอาจเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเข้าไปเสริมสร้างอิทธิพลแข่งกับอิหร่าน

 

ยุโรป

 

ชาติยุโรปหลายๆ ชาติสามารถผลิตวัคซีนได้เอง และโดยทั่วไป ก็มักจะใช้วัคซีนของบริษัทฝั่งตะวันตกด้วยกันเองผ่านทางการดีลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง และยังมีช่องทางหลักอีกช่องทางหนึ่งคือ การแจกจ่ายวัคซีนโดยสหภาพยุโรป (อียู)

พื้นที่ยุโรปฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอียู มักไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการแข่งขันการทูตวัคซีนมากเท่าไหร่นัก ต่างจากชาติฝั่งยุโรปตะวันออกในส่วนนอกเขตอียู ที่มีชาติมหาอำนาจขั้วอื่นๆ เข้ามาอยู่ในสมการด้วย

ถึงแม้ชาติในฝั่งยุโรปตะวันออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเก่า จะไม่ได้เป็นสมาชิกของอียู แต่อียูก็มีกลไกความร่วมมือและการสานความสัมพันธ์ต่างๆ กับประเทศกลุ่มนี้แนบแน่นมาตลอด อียูยังสัญญาที่จะกระจายวัคซีนไปให้ประเทศเหล่านี้ และยังให้เงินช่วยเหลือกับบางกลุ่มประเทศเพื่อช่วยให้จัดหาวัคซีนได้สะดวกขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มประเทศเหล่านั้นกลับยังไม่ได้คืบหน้ามากเท่าที่ควร ความไร้วี่แววที่จะได้รับวัคซีนจากอียู ขณะที่หลายชาติสมาชิกอียูเริ่มฉีดวัคซีนประชากรไปได้จำนวนหนึ่งแล้ว ทำให้ประเทศยุโรปตะวันออกนอกเขตอียูรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งจากอียู ส่งผลให้ชาติเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมองหาวัคซีนจากจีนและรัสเซีย ทั้งที่ในใจก็กลัวว่าจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียที่จ้องจะแผ่ขยายอิทธิพลในกลุ่มประเทศโซเวียตเก่ามานานแล้ว สบโอกาสนี้ที่จะดำเนินการ ชาติยุโรปตะวันออกจึงมักออกมาเร่งรัดอียูให้รีบดำเนินการเรื่องวัคซีนอยู่เป็นระยะ เพื่อที่จะไม่ต้องพึ่งวัคซีนจากที่อื่น

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มอียูเอง ก็มีประเทศที่หันไปพึ่งวัคซีนจากจีนและรัสเซียด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็คือฮังการี ประเทศที่ผู้นำกำลังโน้มเอียงไปในแนวทางอำนาจนิยม ท้าทายกับการยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่นของอียู ฮังการีได้ขยับไปสานสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อคานอิทธิพลของอียู นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฮังการีเลือกที่จะอนุมัติให้ใช้วัคซีนรัสเซียในประเทศเป็นชาติแรกและชาติเดียวของอียู

 

ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

 

ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมักถูกเรียกว่าเป็นสวนหลังบ้านของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ กลับไม่ได้เข้ามาเล่มเกมการทูตวัคซีน รักษาอิทธิพลของตัวเองในภูมิภาคนี้ จึงเปิดโอกาสให้ชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจีน เข้ามาทำคะแนนอย่างเต็มที่

จีนเข้ามาสานสัมพันธ์กับประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม จีนถือโอกาสใช้การทูตวัคซีนเข้ามากระชับสัมพันธ์กับประเทศแถบนี้แน่นขึ้นอีก ด้วยรูปแบบที่ดูแตกต่างออกไปจากประเทศในภูมิภาคอื่นๆ คือการเสนอให้เงินกู้กับหลายประเทศเพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีน แต่ก็เป็นที่เคลือบแคลงว่าอาจเป็นการสร้างกับดักหนี้ นอกจากนี้ จีนยังทำข้อตกลงทดสอบและผลิตวัคซีนร่วมกับอีกหลายประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา เปรู และชิลี

นอกจากจีน ประเทศหลักๆ ที่เข้ามาในแถบนี้ก็คือรัสเซียและอินเดีย ซึ่งได้มาทำข้อตกลงเสนอขายวัคซีนกับหลายประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับบางประเทศในการทดสอบและผลิตวัคซีน เช่น บราซิล

ประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียนโดยส่วนมาก ก็ยังคงเลือกสั่งซื้อวัคซีนจากโลกตะวันตกจำนวนหนึ่งด้วย เพื่อเติมเต็มให้เพียงพอกับคนในประเทศ และไม่ให้พึ่งจีนกับรัสเซียมากเกินไป แต่บางประเทศก็พึ่งวัคซีนและให้ความร่วมมือเพียงกับฝั่งจีนและรัสเซีย เช่น เวเนซุเอลา ที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มายาวนาน ส่วนคิวบาที่โดนคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก็ให้ความร่วมมือกับในการผลิตวัคซีนให้กับรัสเซีย และยังจับมือกับอิหร่านพัฒนาวัคซีนร่วมกันอีกด้วย

 

ตลอดทั้งปี 2564 วัคซีนโควิด-19 จะเป็นตัวละครหลักที่ทั่วโลกต้องจับตามอง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องชี้ชะตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมดุลอำนาจบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศในทุกพื้นที่ทั่วโลก เรายังคงต้องจับตามองสมรภูมิการทูตวัคซีนในแต่ละภูมิภาคกันไปยาวๆ เพราะตอนนี้เพิ่งจะเป็นเพียงช่วงโหมโรงเท่านั้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save