fbpx

วัคซีนที่ล่าช้า คือต้นทุนและความทุกข์ยากของพี่น้องคนไทย

ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ณ วันจันทร์ที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ขณะนี้โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในทั่วโลก สามารถดำเนินการได้แล้ว 241 ล้านโดส ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 36 ล้านโดส (เปรียบเทียบจำนวนฉีดแล้ว 205 ล้านโดส ณ วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์) ข้อมูลชุดนี้อาจทำให้หลายคนมีความหวังว่า เศรษฐกิจกำลังจะกลับมาฟื้นฟูได้ในเร็ววัน

ข้อมูลการฉีดจากประเทศอิสราเอลยิ่งจุดประกายความหวัง เมื่อผลเบื้องต้นชี้ว่า วัคซีนมีผลชัดเจนในการสร้างภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ สามารถลดการติดเชื้อที่แสดงอาการ (symptomatic) ได้ถึง 94% จากกลุ่มตัวอย่าง 600,000 คนที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 โดส ขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อที่อาการป่วยรุนแรงก็ลดลงถึง 92%

โดยส่วนใหญ่ ในประเทศร่ำรวยและประเทศ ‘ใหญ่’ (ซึ่งมักเป็นประเทศในโลกตะวันตก) ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากกว่าประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศสามอันดับแรกที่ฉีดวัคซีนได้มากสุดคือ สหรัฐอเมริกา 75 ล้านโดส จีน 40 ล้านโดส และอังกฤษ 20 ล้านโดส ในขณะที่บางประเทศเอเชียได้เริ่มต้นบ้างแล้ว เช่น บังกลาเทศ 3 ล้านโดส อินโดนีเซีย 2.5 ล้านโดส ศรีลังกา 2 แสนโดส เนปาล 4 แสนโดส พม่า 1 แสนโดส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว มี 100 กว่าประเทศที่สามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้

นอกจากนี้ นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ประเมินว่า ต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 70-90% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่เพียงพอในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งข้อมูลสำนักข่าว บลูมเบิร์กระบุว่า ด้วยอัตราปริมาณการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาจะบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเวลา 8 เดือน กล่าวคือประมาณ 75% ของประชากรได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ส่วนในระดับโลกจะต้องใช้เวลาอีกประมาณเกือบ 5 ปี

ข้อมูลข้างต้นช่วยชี้ให้เห็นว่า การมีวัคซีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการทำให้วิถีชีวิตและเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ หากแต่อยู่ที่ศักยภาพการกระจายวัคซีนด้วย

น่าสนใจว่าประเทศไทยจะใช้เวลานานเพียงใดสำหรับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่เพียงพอสำหรับคนไทย

ถ้าประเทศไทยกำหนดจำนวนการฉีดที่ 92 ล้านโดส คิดจาก 70% ของคนไทย 66 ล้านคน หรือเท่ากับ 46 ล้านคน โดยได้รับการฉีดคนละ 2 โดส

หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 4 แสนโดส จะใช้เวลาประมาณ 7 เดือน

หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 2 แสนโดส จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี 3 เดือน

หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 1 แสนโดส จะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง

หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 5 หมื่นโดส จะใช้เวลาประมาณ 5 ปี

เปรียบเทียบกับศักยภาพการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันในปัจจุบันของบางประเทศที่น่าสนใจ เช่น สหรัฐอเมริกา 1.7 ล้านโดสต่อวัน  จีน 1.5 ล้านโดสต่อวัน อินเดีย 5 แสนโดสต่อวัน อังกฤษ 4 แสนโดสต่อวัน เยอรมัน 1.6 แสนโดสต่อวัน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อิสราเอล และฝรั่งเศส 1 แสนโดสต่อวัน  ขณะที่สิงคโปร์ ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน เบลเยียม และฟินแลนด์อยู่ที่ 1-2 หมื่นโดสต่อวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2564)

ทั้งนี้ เราคาดหวังว่า ศักยภาพการฉีดวัคซีนของมนุษยชาติจะเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้น ด้วยธรรมชาติกลไกตลาดที่วัคซีนเป็นสินค้ามีความต้องการสูง ด้วยนโยบายและมาตรการของรัฐบาลแต่ละประเทศในการเร่งศักยภาพการฉีดวัคซีนให้ประชาชน และด้วยโครงการเข้าถึงวัคซีนขององค์กรระหว่างประเทศด้านสาธารณสุข

คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยควรจะพัฒนาศักยภาพในการฉีดวัคซีนเพียงใดและอย่างไร จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เพียงพอ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถประกอบกิจกรรมได้เป็นปกติ และฟื้นฟูธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สายการบิน โรงแรม ตลอดจนถึงภาคบริการอย่าง ร้านอาหาร สถานศึกษา โรงเรียนกวดวิชา ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ คำสั่งปิดธุรกิจชั่วคราว และการหดตัวลงของกำลังซื้อภายในประเทศ

วิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบัน นับเป็นวิกฤตระดับเศรษฐกิจติดลบ ครั้งที่ 3 ภายในรอบ 60 ปี

วิกฤตครั้งแรกคือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 2.7% ในปี 2540 และ 7.6% ในปี 2541 

ครั้งที่สองคือผลจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบ 0.7% ในปี 2552 

และครั้งนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเติบโตในปี 2563 ลดลง 6.1% ในปี 2563 ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัสมาก และยังไม่ทราบว่าจะฟื้นตัวมาเป็นปกติก่อนโควิด-19 แพร่ระบาดได้เมื่อใด ตราบที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่

คำกล่าวข้างต้นไม่ใช่เพียงแค่ การกล่าวตามตำราหรือทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ‘วัคซีน’ สำคัญกับเรามากเป็นพิเศษ เพราะภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็น 11%-12% ของ GDP และส่งผลต่อการจ้างงาน 20% ของตำแหน่งการจ้างงานทั้งหมด หากไม่มีวัคซีน เราจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนในอดีตที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปีได้

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าภาคการท่องเที่ยวกลับมาไม่ได้ เศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ และเน้นย้ำว่า วัคซีนคือตัวเอกของจริง ในขณะที่มาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นหรือการเยียวยาเศรษฐกิจ เป็นเพียงการซื้อเวลาเพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศ จนกว่าการท่องเที่ยวของประเทศจะสามารถกลับมาได้

ภาครัฐดูจะเข้าใจเงื่อนไขนี้เป็นอย่างดี สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ ได้ระบุเป็นลำดับแรกสำหรับประเด็นของการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2564 คือ การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ ประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายชัดเจนในนโยบายการฉีดวัคซีน จำนวน 63 ล้านโดส โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ

1. การกระจายวัคซีนระยะแรก คือระยะเร่งด่วนสำหรับพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 2 ล้านโดส ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่มีการควบคุมเฝ้าระวังและมีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคและเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ เป้าหมายวัคซีนเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงสูง เป็นต้น

2. การกระจายวัคซีนระยะสอง จำนวน 61 ล้านโดส ช่วงเดือนมิถุนายน กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 เฉลี่ยวันละ 5 แสนโดส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หากดูจากแผนข้างต้น นับว่าศักยภาพในการกระจายวัคซีนของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า ภาครัฐจะสามารถดำเนินตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ จึงควรที่จะระดมสรรพกำลังทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยกันเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชากรไทยโดยเร็วที่สุด

ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดของระบบระเบียบราชการหรืออุปสรรคความท้าทายประการใดก็ตาม ทั้งเรื่องการผลิต การขนส่ง การจัดเก็บรักษา และการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน เราก็ต้องร่วมมือร่วมใจฟันฝ่าก้าวข้ามไปสู่เป้าหมายการฉีดวัคซีนของประเทศตามแผนการกระจายวัคซีนให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วที่สุด

เพราะทุกวันที่ล่าช้าออกไปคือต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจขนาดมหาศาล ซึ่งภายในตัวเลขนั้นคือความทุกข์ยากในชีวิตของพี่น้องคนไทย


อ้างอิง

More Than 205 Million Shots Given: Covid-19 Tracker (Updated: March 1, 2021, 3:44 AM GMT+7)

Israeli study finds 94% drop in symptomatic COVID-19 cases with Pfizer vaccine

เปิดแผนกระจายวัคซีนโควิด19 ระยะเร่งด่วน 2 ล้านโดส 10 จังหวัด

ธปท. ฟันธงเศรษฐกิจฟื้นช้า-ไม่สมดุล ต้องมีมาตรการ “ซื้อเวลา” | เศรษฐกิจInsight 17 ก.พ.64

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save