fbpx
Vaccine Covid-19-1

เจาะวัคซีนแก้วิกฤตโควิดระลอก 3 : ปัญหาอยู่ตรงไหน และควรเดินต่ออย่างไร

ประเทศไทยรำลึก 1 ปีวิกฤตโควิด-19 ด้วยการระบาดระลอกสามของวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเผชิญในวันนี้ ซึ่งเป็นรอบที่ดูหนักหนาสาหัสกันถ้วนทั่ว ทั้งประเด็นเรื่องการควบคุมโรคและประเด็นเศรษฐกิจ โดยมีจุดสนใจหลักอยู่ที่แสงสว่างปลายอุโมงค์อย่างวัคซีน ซึ่งแผนการจัดการก็ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม

โจทย์สำคัญคือเราจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ปัจจุบันและวางแผนสู้อนาคตกันกันอย่างไร แผนวัคซีนควรเดินอย่างไรต่อ นโยบายควบคุมโรคและนโยบายเศรษฐกิจควรวางจังหวะก้าวอย่างไร

101 สนทนากับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แกนนำคณะก้าวหน้า ผู้ออกมาเปิดประเด็นเรื่องการจัดการวัคซีน และแก้วิกฤตโควิดอย่างต่อเนื่อง ว่าด้วยประเด็นข้างต้น


อ่านการระบาดระลอกใหม่ กับแผนการกระจายวัคซีน


สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มองว่า ยังเร็วเกินกว่าจะบอกว่า สถานการณ์โควิดในไทยอยู่ในจุดที่ควบคุมได้แล้วหรือไม่ ซึ่งตัวตัดสินน่าจะเป็นในช่วงสัปดาห์หลังสงกรานต์ที่สถานการณ์อาจแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังดูจะไม่จบง่ายๆ ซึ่งอาจทำให้การแพร่ระบาดครั้งนี้กลายเป็นเรื่องยาวและเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเป็นแบบที่สองคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มทรงตัว ไม่ไปต่อ ก็จะคล้ายกับการระบาดระลอกแรกในปีที่แล้วที่เริ่มควบคุมได้

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวนวัคซีน Sinovac สองล้านโดสที่ไทยมีอยู่ในมือ ประกอบกับวัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ที่น่าจะมาในช่วงเดือนมิถุนายน ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่เขามองว่าน่ากังวล

อย่างไรก็ดี สุรพงษ์แสดงความเห็นว่า แม้วัคซีนมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวช่วยในการควบคุมโรค แต่ต้องไม่ลดความสำคัญของมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่าง หรืออาจจะไปถึงขั้นกำหนดเป้าหมายล็อกดาวน์เป็นกลุ่ม (targeted lockdown) เพื่อให้สามารถควบคุมคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อดูในหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปมากพอสมควร แต่ไม่ได้จริงจังเรื่องมาตรการส่วนบุคคลและการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

“บางคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นเพราะเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนหรือเปล่า ถ้าเราลองเปรียบเทียบสองประเทศที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างสวีเดนและเดนมาร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เราจะเห็นว่าทั้งสองประเทศฉีดวัคซีน Pfizer เหมือนกัน แต่มีการควบคุมโรคต่างกัน ฝั่งเดนมาร์กจริงจังกับการใส่หน้ากากและเว้นระยะห่าง ส่วนสวีเดนตอนแรกใช้การให้ความรู้และอาศัยความสมัครใจของประชาชน ปรากฏว่าแม้อัตราการฉีดวัคซีนจะใกล้เคียงกัน คือประมาณ 20% แต่เดนมาร์กควบคุมได้ดี ส่วนสวีเดนเริ่มมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น”

เมื่อถามถึงแผนการกระจายวัคซีนประมาณสองล้านกว่าโดสที่ไทยถืออยู่ในมือ สุรพงษ์มองว่าหลักๆ คงต้องกระจายไปให้บุคลากรที่อยู่ด่านหน้าในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุด และถ้าสถานการณ์ยังหนักหน่วงอยู่เช่นนี้ ก็จะต้องเน้นไปยังกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวด้วย

“ถามว่ามีโอกาสไหมที่เราจะไปหาวัคซีนตัวอื่นภายในระยะ 2 เดือนนี้ ผมว่าไม่ง่าย ยกเว้นแต่เราจะมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมาก อย่างคนพูดถึงวัคซีนของ Sputnik V ตัวนี้ใช้เทคโนโลยีที่คล้ายกับ AstraZeneca และ Johnson & Johnson ซึ่งถ้าใช้เทคโนโลยีใกล้กันก็น่าจะมีความเสี่ยงพอกัน แต่อาจประเมินว่าความเสี่ยงในการฉีดวัคซีนน้อยกว่าความเสี่ยงในการปล่อยให้เป็นโควิด

“เพราะฉะนั้น สำหรับกลุ่มเสี่ยงแล้ว การฉีดวัคซีนน่าจะดีกว่าไม่ฉีด ผมคิดว่าถ้าเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย วัคซีน Sputnik V ก็อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง เพราะเขายังมีคำสั่งซื้อไม่เยอะมากถ้าเทียบกับ AstraZeneca หรือ Johnson & Johnson”

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี


ประเด็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมองว่า การเริ่มเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่นเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะได้วัคซีนปริมาณมากจากผู้ผลิตที่เริ่มเจรจาภายใน 1-2 เดือนนี้เพื่อต่อสู้กับการระบาดระลอกที่สามแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับเขาแล้ว โอกาสที่จะได้วัคซีนเร็วที่สุดคือในไตรมาส 3 หรือถ้าเป็นไปได้คือในไตรมาส 4 ของปีนี้

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มองว่ายากที่จะหวังให้วัคซีนช่วยสกัดการแพร่เชื้อ แต่ถ้าใช้เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงน่าจะทำได้ ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีแบบไหนหรือเป็นวัคซีนของเจ้าใด

สมศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า ถ้าฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง อย่างน้อยก็จะช่วยป้องกันสภาวะที่ระบบสุขภาพรับมือไม่ไหว เพราะมีผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเยอะมาก โดยมีสถานพยาบาลอยู่อย่างจำกัด

อีกมุมหนึ่งคือ การที่วัคซีนจะเป็นความหวังฟื้นเศรษฐกิจ สมศักดิ์ชี้ว่า เราอาจต้องมีแผนยุทธศาสตร์หรือวิธีคิดในการฉีดวัคซีนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป แทนที่จะมุ่งลดแต่เรื่องการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว

“ถ้าฉีดวัคซีนได้เร็วจนเกิดการป้องกันคนจำนวนมากได้ เราอาจจะไม่ต้องเลือกว่าจะฟื้นเศรษฐกิจหรือป้องกันสุขภาพ แต่ถ้ากระบวนการสะดุด ก็ต้องมาหาว่ามีทางไหมที่จะฉีดวัคซีนเพื่อปกป้องกลุ่มเสี่ยงและฟื้นเศรษฐกิจไปในตัว อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องมีคนช่วยกันคิด”

นอกจากวัคซีนหลายเจ้าที่เราได้ยินชื่อกันจนคุ้นหูในท้องตลาดแล้ว สุรพงษ์พูดเสริมถึงวัคซีนอีกตัวหนึ่งคือ Novavax ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และได้ผลล่าสุดคือ 96% สูงกว่า Pfizer หรือ Moderna และมีกำลังการผลิตเป็นอันดับสองรองจาก AstraZeneca

“ถ้าไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย และถามว่าผมจะฉีดวัคซีนตัวไหน ผมคิดว่าน่าจะเป็น Novavax เพราะผลิตโดยเทคโนโลยีที่เราเคยใช้มาแล้ว แต่ถ้าเป็น Pfizer หรือ Moderna เป็นวัคซีนตัวแรกที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยพยายามจะใช้เทคโนโลยีแบบนี้ผลิตวัคซีนมาหลายชนิด แต่ไม่เคยสำเร็จเลย ผมก็ไม่แน่ใจว่าทำไมครั้งนี้สำเร็จ แต่มันใหม่มาก ไม่มีใครรู้ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบในระยะยาว”

สำหรับ Sinovac เป็นวัคซีนเชื้อตายที่เราคุ้นเคยกันมาเป็นหลายร้อยปี ในระยะสั้นมีผลกระทบน้อย แต่ถ้ามองในแง่ประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 50-60% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าตัวอื่น ดังนั้น สุรพงษ์จึงชี้ว่า Novavax คืออีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อดูจากหลายปัจจัยบวกกับกำลังการผลิตที่พร้อมมาก เพียงแต่ตอนนี้ Novavax ยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติเรื่องการอนุญาตให้ใช้อยู่


นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์


ส่วนฝั่ง ดร.สมชัย จิตสุชน ก็เห็นพ้องว่าต้องพยายามระดมวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด มากที่สุด และหลากหลายประเภทที่สุด

“ที่เราต้องพูดถึงความหลากหลาย เพราะตอนนี้มีเรื่องกลายพันธุ์เข้ามาด้วย ตัวที่น่ากลัวที่สุดคือตัวกลายพันธุ์ที่อินเดียซึ่งกลายพันธุ์ 2 จุด คือทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้นแบบสายพันธุ์อังกฤษ และทำให้ดื้อวัคซีนคล้ายสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ความน่ากลัวสำหรับไทยคือ สายพันธุ์นี้อยู่ที่อินเดีย ซึ่งอินเดียอยู่ติดพม่า และพม่าติดกับไทย เพราะฉะนั้นโอกาสเข้าไทยมีสูง”

นอกจากนี้ สุรพงษ์ยังชี้ให้เห็นอีกประเด็นน่าสนใจและหลายคนอาจจะคาดคิดไม่ถึงคือ ข้อมูลของวัคซีนเป็นเรื่องของชื่อเสียง ผลประโยชน์ และการเมืองด้วย เช่นข้อมูลของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ระบุว่า คนที่ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca มีโอกาสจะเกิดลิ่มเลือดในเส้นสมองประมาณ 10 จาก 100 คน แต่ถ้าเป็น Pfizer อาจจะประมาณ 8 จาก 100 คน ซึ่งเราไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า Pfizer ก็มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้เหมือนกัน

“เราจะเห็นว่าบางประเทศตัดสินใจเลิกฉีดวัคซีนบางตัว แต่บางประเทศก็ตัดสินใจดูก่อนหรือรอชั่วคราว ผมว่าตรงนี้อยู่ที่เงื่อนไขของแต่ละประเทศด้วย ถ้าเขามีทางเลือกเยอะก็ไม่แปลกที่จะเลิกฉีดวัคซีนบางเจ้าที่ยังไม่มั่นใจไป แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนสมบูรณ์แบบและไว้ใจได้ทั้งหมด เราไม่รู้ว่าข้อมูลที่ออกมาเปิดเผยทุกอย่างไหม ผมจึงคิดว่า วัคซีนไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ บางทีก็เป็นเรื่องชื่อเสียงที่บลัฟกันไปกันมา สังเกตสิว่า เวลามีข่าวร้ายเกี่ยวกับวัคซีนตัวไหน ก็จะมีผู้สนับสนุนออกมาแก้พร้อมกับบลัฟวัคซีนตัวอื่นไปในตัว ผมเลยว่าฟังหูไว้หูดีกว่า”

ส่วน นพ.สมศักดิ์เสริมว่า อาการข้างเคียงต่างๆ สามารถรักษาได้หากรีบรักษา ถ้าเรื่องผลข้างเคียงเป็นเรื่องที่ประชาชนกลัว รัฐบาลก็ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน ให้คนที่ได้รับวัคซีนคอยตรวจสอบตัวเอง และถ้ามีอาการใดๆ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจทันที เพื่อประชาชนจะได้มั่นใจมากขึ้น

ประเด็นที่สังคมพูดถึงกันเยอะมากอีกประเด็นหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนขนานใหญ่ให้กว้างขวางทั้งสังคม (mass vaccination) และให้เร็วที่สุด ดร.สมชัยเล่าว่า ก่อนจะเกิดการระบาดรอบใหม่นี้ ทางคณะทำงานด้านนี้โดยเฉพาะมีความมั่นใจค่อนข้างสูงว่า จะสามารถกระจายวัคซีนได้ในปริมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่เช่นนี้ ก็อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากถูกระดมไปรักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจจะกระทบกับการปันทรัพยากรมาฉีดวัคซีนได้

“ถ้าภาพรวมของเราคือไม่คิดอะไร เป้าหมายที่ดีที่สุดคือ ฉีดให้เร็วที่สุดให้ได้ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในปีนี้ แต่ถ้าไม่ได้ เราต้องมีแผนสองว่าจะทำอย่างไร อย่างที่มีการพูดถึงภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ก็เป็นอีกทางแก้ปัญหาหนึ่ง คือไม่ต้องฉีดให้ได้ 60-70% ของประชากรจนได้ภูมิคุ้มกันหมู่ แต่อย่างน้อยก็ฉีดในพื้นที่ที่ให้เศรษฐกิจกลับคืนมาได้ก่อน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่พอคุมอยู่ ก็อาจให้วัคซีนมาช้าลงได้”

นอกจากเรื่องวัคซีนและความร่วมมือจากภาคประชาชนแล้ว สมชัยยังชี้ว่า อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญคือความสามารถของระบบสาธารณสุขที่สามารถนำผู้ติดเชื้อเข้ากักตัวได้เพื่อตัดตอนการระบาดของโรค

“โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องมีหลายเครื่องมือ หลายแผนการ ถ้าเราปรับให้เหมาะสมก็อาจจะดึงเศรษฐกิจกลับมาได้เร็วกว่าที่หลายคนกังวลอยู่ตอนนี้”

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ฉายภาพสถิติที่น่าสนใจว่า ไทยมีคนมารับบริการในฐานะผู้ป่วยนอกปีละประมาณเกือบ 300 ล้านครั้ง จากประชากรประมาณ 70 ล้านคน ซึ่งการตรวจผู้ป่วยนอกคนหนึ่งน่าจะใช้เวลานานกว่าการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าต้องฉีดวัคซีนให้ประชากร 70 ล้านคน จำนวน 2 เข็ม ก็จะคิดเป็นการฉีด 140 ล้านเข็ม ซึ่งอาจจะใช้เวลา 1 ใน 3 ของการตรวจผู้ป่วยนอก เท่ากับจะใช้ความสามารถ (capacity) ในการให้บริการประมาณ 80% ของที่เคยทำมา

“พอมีโควิด บุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งต้องไปดูแลคนไข้หนัก อีกส่วนก็ต้องไปสอบสวนโรค แต่เราจะเห็นว่าในโรงพยาบาลเอกชนก็มีบุคลากรจำนวนหนึ่งต้องออกจากงานไปทำอย่างอื่น ขณะที่โรงพยาบาลรัฐจำนวนไม่น้อยก็ปิดเพื่อเตรียมรับโควิด คนไข้แผนกฉุกเฉินลดลง 1 ใน 3 ผมจึงคิดว่าเราน่าจะยังสามารถฉีดวัคซีนในอัตรา 70 ล้านคูณสองได้ ซึ่งถ้าคิดจริงๆ ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเราระดมความสามารถของระบบสุขภาพมาก็น่าจะทำได้อยู่”

ดร.สมชัย จิตสุชน


เอกชนกับการจัดการวัคซีน

เมื่อสังคมมองว่าภาครัฐนำเข้าและกระจายวัคซีนได้ช้าเกินไป จึงเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า ภาคเอกชนจะสามารถเข้ามามีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้ การให้เอกชนช่วยนำเข้าวัคซีนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่

นพ.สมศักดิ์มองว่า การที่เอกชนนำเข้าและนำวัคซีนไปใช้ได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลน่าจะเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะธุรกิจไม่อยากเสี่ยง กล่าวคือ ผู้ผลิตรู้ดีว่าวัคซีนของตนไม่ได้ทดสอบอย่างเต็มที่ (fully tested) ดังนั้น เมื่อนำวัคซีนมาใช้ในท้องตลาดแล้วเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจใช้วัคซีนเอง รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นเรื่องการกระจายวัคซีนอย่างเดียว เอกชนอาจจะเข้ามาช่วยได้ และต้องตกลงให้ชัดเจนว่าเอกชนจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร เช่น เข้ามาช่วยให้บริการฉีดวัคซีน

“ผมว่าที่ชัดเจนคือ รัฐบาลพยายามบอกว่ามาช่วยกันดีแล้ว แต่ห้ามช่วยแล้วคิดเงินแบบโรงพยาบาลเอกชน เพราะรัฐเป็นผู้จัดหาวัคซีน ก็คิดค่าบริการได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีน” ประเด็นสุดท้าย และเป็นประเด็นที่สมศักดิ์มองว่าผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะทำตรงนี้มาก คือความพยายามในการเจรจาเพื่อบอกว่าจะกระจายวัคซีนได้กี่ช่องทาง เช่น สหรัฐฯ ที่กระจายวัคซีนผ่านทางร้านขายยาที่มีเครือข่ายใหญ่โตมาก ซึ่งไทยจะทำอย่างไรก็ต้องมีการวางแผนจัดการต่อไป

สอดคล้องกับธนาธรที่ไม่ปฏิเสธกระบวนการที่จะให้เอกชนเข้ามาช่วยกระจายวัคซีนตามที่ นพ.สมศักดิ์พูดถึง แต่การให้เอกชนซื้อ ขาย และฉีดวัคซีน โดยคิดค่าใช้จ่ายในราคาตลาด เป็นสิ่งที่เขาไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเห็นด้วย

“สมมติว่าโรงพยาบาลเอกชนหาวัคซีนมาได้ 10 ล้านโดสจริงๆ คำถามคือ เราควรแจกจ่ายให้คนที่ฉีดไปแล้วสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของสังคมได้ดีกว่า หรือฉีดให้คนที่มีเงินจ่าย นี่คือโจทย์สำคัญนะครับ ใครควรจะได้วัคซีนไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด”

“สมมติฐานนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า คนรวยไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนเยอะอยู่แล้ว แต่คนที่ติดต่อสัมพันธ์กับคนเยอะคือคนหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นเรากำลังพูดถึงความเท่าเทียม ถ้าจะหยุดการแพร่ระบาดได้ต้องเอามาจัดสรรรวมหมู่ ไม่ใช่คนมีเงินเข้าไปซื้อ นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วย เรื่องวัคซีนไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่งในไทย ทุกคนจึงควรจะได้รับการฉีดฟรี แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนซื้อได้ แต่รัฐบาลซื้อไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลเราก็มีปัญหาแล้ว และถ้าเอกชนซื้อได้จริงๆ รัฐต้องอุดหนุน (subsidize) ให้ด้วย แต่เอกชนจะเอากำไรจากรัฐได้มากขนาดไหนก็ขึ้นกับการเจรจาต่อรองกัน” ธนาธรกล่าว

ส่วน นพ.สุรพงษ์มองว่า การที่เอกชนจะไปเจรจากับผู้ผลิตระดับโลกเป็นไปได้ยากมาก ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนยิ่งยาก ผู้ผลิตเองก็คงสนใจจะคุยกับรัฐมากกว่า เขาจึงเห็นด้วยกับ นพ.สมศักดิ์ว่า เอกชนน่าจะเข้ามามีบทบาทในแง่การช่วยฉีดวัคซีน เช่นที่เคยเข้ามาช่วยตรวจโควิดในตอนระบาดระลอกแรก และอาจต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ AI เข้ามาช่วยด้วย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ


ภาวะผู้นำกับการจัดการวิกฤต

เมื่อเกิดวิกฤตครั้งใดก็เป็นเหมือนการทดสอบศักยภาพของผู้นำเมื่อนั้น และสำหรับวิกฤตในครั้งนี้ ธนาธรมองว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฉีดวัคซีนและการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกสาม ต่างแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งที่มีเวลาเตรียมการประมาณ 6 เดือน (ครึ่งหลังของปี 2020) ในการสร้างมาตรการ (protocol) ต่างๆ ว่า ถ้าเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ต้องเตรียมโรงพยาบาลสนามอย่างไร นำทรัพยากรมาอย่างไร ถ้าสั่งแล้วต้องเกิดโรงพยาบาลสนามได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่เห็นการบริหารจัดการที่มีการวางแผนรับมือไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนที่ตอนนี้ไทยมีอยู่ในมือ 2 ล้านกว่าโดส แต่ตอนนี้ฉีดไปได้เพียง 6 แสนเข็ม หรือคิดเป็น 0.8% ของจำนวนประชากร ส่วนคนที่ได้รับแล้วสองเข็มมี 0.1% ของจำนวนประชากร

“ถ้าผมเป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำเพื่อรองรับการฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือนคือกลับมาตั้งสมมติฐานใหม่ ลองตีคร่าวๆ ถ้าเราตั้งว่าต้องฉีด 10 ล้านโดส หาร 30 วันจะตกวันละประมาณ 333,000 เข็มต่อวัน ถ้าหารจังหวัดละเท่าๆ กัน จังหวัดหนึ่งต้องฉีด 4,329 เข็มต่อวัน ถ้าหาร 8 ชั่วโมง คือจังหวัดหนึ่งต้องฉีด 541 เข็มต่อจังหวัดต่อชั่วโมง อันนี้ผมลองคิดเป็นตัวอย่างให้เห็น แต่ในความเป็นจริง เราอาจจะไม่ได้ฉีดเท่ากันในทุกจังหวัดขนาดนั้น แต่ต้องมีรายละเอียดการบริหารจัดการ”

“ถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมว่าได้ ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดีพอ แต่ถ้ายังทำงานกันแบบปัจจุบัน ผมว่าเป็นไปไม่ได้”

เพื่อจะไปให้ถึงตรงนั้น ธนาธรมองว่า นี่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และการจัดการโครงการ (project management) กล่าวคือ เราจำเป็นต้องคิดแล้วว่าแต่ละจังหวัดจะมีที่ฉีดวัคซีนกี่สถานี มีโต๊ะมาตรฐานกี่โต๊ะ แต่ละสถานีต้องมีบุคลากรเท่าไหร่ มีอุปกรณ์อะไรบ้าง มีคนทำหน้าที่ลงทะเบียน ฉีดวัคซีน และดูอาการหลังฉีดกี่คน ต้องประชาสัมพันธ์อย่างไร และถ้ามองไปไกลถึงระบบโลจิสติกส์ ต้องคิดว่าวัคซีน 10 ล้านโดสต้องใช้รถขนส่งกี่คัน ต้องทำการดัดแปลงรถรูปแบบพิเศษไหม ใครจะเป็นผู้ขับรถ และจะกระจายกันอย่างไร

“ถ้าเราตั้งคำถามแบบนี้อย่างละเอียด ผมเชื่อว่า 10 ล้านโดสต่อเดือนเป็นไปได้ และรัฐมีศักยภาพพอจะจัดการ แต่ปัญหาตอนนี้คือ เรายังไม่เห็นใครออกมาชี้แจงรายละเอียดว่าแบบนี้จะฉีดวัคซีนอย่างไร”

ธนาธรกล่าวว่า อย่างแรกที่อยากเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนในกระบวนการจัดการคือ การติดตาม (tracking) จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนต่อวัน ระบุจำนวนให้ชัดเจน เพราะถ้ามีการติดตามระยะยาวก็จะเอื้อให้ภาคประชาสังคมเข้าไปช่วยตรวจสอบและให้คำแนะนำได้

นอกจากเรื่องการจัดการวัคซีนแล้ว ธนาธรยังชี้ให้เห็นเรื่องมาตรการทางสังคมกับเศรษฐกิจที่ต้องไปด้วยกัน แต่ปัญหากลับเกิดขึ้นในการระบาดรอบแรกที่มีมาตรการทางสังคมเข้มงวด แต่ไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจมารองรับทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ชีวิตไม่มีความมั่นคงอยู่แล้ว แต่กลับถูกทิ้งให้ดูแลตัวเอง กว่าจะมีเงินเยียวยาเข้ามาก็สายเกินไป หลายครอบครัวต้องเป็นหนี้จากการระบาดรอบแรกยังไม่ทันใช้หนี้หมด ก็ต้องเจอรอบสอง และรอบสามเข้าไป อีกทั้งในรอบล่าสุดนี้ มาตรการของรัฐก็เป็นแบบกึ่งล็อกดาวน์แล้ว แต่กลับยังไม่มีมาตรทางเศรษฐกิจตามออกมา

“ใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้อนุมัติไปแล้วประมาณ 750,000 ล้าน เหลืออยู่ประมาณ 250,000 ล้านที่สามารถเอามาใช้ได้ มาตรการรองรับระลอกสามต้องเร็ว ไม่มีเหตุผลที่จะช้า เพราะถ้ายิ่งเยียวยาช้า ประชาชนจะยิ่งมีบาดแผลลึกและหนักจนอาจกลายเป็นแผลเป็น อาจมีคนล้มหรือฆ่าตัวตายอีกก็ได้”

ธนาธรเสนอมาตรการ 2 แบบหลักๆ  คือ การปกป้องลูกจ้าง (employee protection) ไม่ให้ตกงานเพิ่ม เขาชี้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้ประกันตนหายไปจากระบบแรงงานประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะถ้ายิ่งปล่อยไว้นาน โอกาสจะกลับเข้าสู่ระบบแรงงานก็จะยิ่งยาก เขาจึงเสนอให้มีการสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งเพื่อออกค่าแรงครึ่งหนึ่งให้กลุ่ม SMEs เพื่อให้ไม่เลิกจ้างพนักงาน อย่างน้อยสัก 3-6 เดือน

อีกข้อเสนอคือ ถ้าดูจำนวนผู้ลงทะเบียนโครงการเราชนะมี 33 ล้านคน ส่วนโครงการเรารักกัน (มาตรา 33) มีอีก 9 ล้านคน รวมกันเป็น 42 ล้านคน ถ้าให้เงินสนับสนุนคนจำนวนนี้เดือนละ 3 พันบาท ประมาณ 3 เดือน อาจจะยังพอไหวอยู่

สุดท้าย ธนาธรชี้ว่าปัญหามาจากทัศนคติของผู้บริหารหรือรัฐบาลปัจจุบัน ที่ไม่มีศักยภาพในการสื่อสารและทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าผู้นำจะพาประเทศไปรอด

“ผมคิดว่าผู้นำปัจจุบันมีทัศนคติแบบเจ้าขุนมูลนายมากๆ มองประชาชนเป็นภาระ ไม่ได้มองเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทั้งที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือมาตลอด แต่การระบาดแต่ละรอบมาจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ผมอยากเห็นทัศนคติของผู้บริหารที่ตระหนักว่าผู้มีอำนาจคือผู้รับผิดชอบ ต้องลงมือทำ สั่งการ ติดตาม ไม่เลือกปฏิบัติระหว่างคนรวยคนจน ไม่ว่าคนมีอำนาจหรือชาวบ้านต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และต้องเปิดเผยข้อมูลด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้ป่วยหรือข้อมูลการฉีดอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจ”

“ทุกอย่างเวลาเกิดวิกฤตจะกลับมาที่ผู้บริหาร ผู้ถือทรัพยากรและถืออำนาจ ถ้าเขาไม่ตัดสินใจโดยดูหน้างาน ไม่นั่งหัวโต๊ะสั่งงาน ไม่ไปคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มันแก้ปัญหาไม่ได้ วิกฤตครั้งนี้อาจจะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิด แต่ไม่ว่าวิกฤตครั้งไหนก็เหมือนกัน มันคือช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ภาวะผู้นำว่ามีความสามารถสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจและอุ่นใจได้หรือเปล่า จริงใจในการลงไปมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนผู้รับได้กระทบหรือเปล่า”

“ถ้าถามผม ภาวะผู้นำสำคัญที่สุดในการจัดการวิกฤต ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม”


สมดุลของนโยบายควบคุมโรคกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ไม่ใช่แค่เรื่องการกระจายวัคซีนเท่านั้นที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ แต่ประเด็นเรื่องนโยบายควบคุมโรคทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องสมดุลกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าหยิบมาพูดคุย

แน่นอนว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายและนวัตกรรมที่พยายามสร้างสมดุลในสองประเด็นนี้ แต่คำถามก็คือที่ผ่านมาเราทำได้ดีแล้วหรือยัง เราจะถอดบทเรียนที่ผ่านมาอย่างไร และหากมองไปข้างหน้า เราจะทำอะไรได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งเรื่องการรับมือหากมีการระบาดระลอกสี่และห้าตามมา แผนทั้งหมดที่วางไว้จะยังใช้การได้หรือไม่ และเราจะปรับแผนให้ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ได้อย่างไร

ต่อประเด็นนี้ สมชัยมองว่าสิ่งที่เรียนรู้ได้จากการระบาดระลอกแรกคือการล็อกดาวน์ที่ ‘แรง’ เกินไป แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจได้ว่า ในสถานการณ์ตอนนั้นประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อหลังจากจีนไม่นาน และเมื่อเห็นการล็อกดาวน์ที่อู่ฮั่นได้ผล จึงคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ทุกคนเห็นแล้วว่า การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดส่งผลเสียทางเศรษฐกิจมาก จึงทำให้การระบาดระลอกถัดมาไม่มีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเท่าครั้งแรก ทั้งนี้เราจำเป็นต้องวางแผนเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนในอนาคตอย่างระมัดระวัง

ในส่วนของมาตรการทางเศรษฐกิจ เรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐ สมชัยมองว่าเมื่อมีการระบาดระลอกสามและสี่ตามมา น้ำหนักของ พ.ร.ก.เงินกู้ อาจต้องให้กับเรื่องการเยียวยามากกว่าเรื่องการฟื้นฟู

“เงินสองแสนกว่าล้านที่เหลืออยู่ก็ต้องใช้ให้หมด และอาจมีประเด็นว่าต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตอนนี้มี พ.ร.ก. ฉบับใหม่ออกมา แนวคิดไม่ใช่เรื่องเยียวยา แต่เป็นเรื่องการฟื้นฟู ซึ่งถ้าถอยหลังไปสักเดือนที่แล้วก็เหมาะสมดี แต่ถ้ามีระลอกสามและสี่ น้ำหนักก็อาจจะต้องกลับมาเยียวยามากขึ้น ซึ่งไม่แน่ชัดว่าต้องมี พ.ร.ก. ที่สามอีกรึเปล่า”

นอกเหนือจากเรื่องเงินกู้แล้ว ยังมีประเด็นเรื่องนโยบายเยียวยาประชาชนเพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และตัวเลขการส่งออกที่ส่งผลสำคัญต่อเศรษฐกิจ สมชัยให้ความเห็นว่า

“การส่งออกมีแนวโน้มดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะหลายประเทศเริ่มมีวัคซีนและจัดการสถานการณ์ได้ ไม่มีการล็อกดาวน์แรง ดังนั้นถ้าแนวโน้มยังดีแบบนี้เรื่อยๆ ก็หมายความว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่ถูกกดลงไปมาก การส่งออกยังโอเคอยู่”

ส่วนประเด็นเรื่องนโยบายเยียวยาประชาชน สมชัยมองว่ารัฐยังสามารถทำ พ.ร.ก. เงินกู้อีกหนึ่งฉบับได้ แต่ทั้งนี้ต้องใช้เงินในการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ

“เราต้องมาดูว่าจะให้แบบเหวี่ยงแห หรือให้เฉพาะกลุ่ม การให้เฉพาะกลุ่มเป็นไอเดียที่ดูดี คำถามก็คือเรามีฐานข้อมูลพอที่จะเยียวยาเฉพาะกลุ่มได้ดีแค่ไหน รอบแรกที่ให้คนมารายงานว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่มีข้อมูลพอที่จะบอกได้ว่าใครได้รับหรือไม่ได้รับผลกระทบ จนตอนสุดท้ายก็เหมือนให้แบบเหวี่ยงแห

“จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าความสามารถของรัฐในการเลือกให้เงินเยียวยาเฉพาะกลุ่มจะดีขึ้น ดังนั้น เราอาจต้องไปให้แบบเหวี่ยงแหอีกรึเปล่า ตอนนี้ถ้าเทียบกับการแจกเงินในโครงการ ‘ชนะ’ ทั้งหลาย ที่ใส่เงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ให้คนไปซื้อของ มองในแง่การซื้อของก็น่าจะดีกว่า แล้วยิ่งดีขึ้นตรงที่จำกัดว่าห้างใหญ่ไม่มีสิทธิ ให้เฉพาะร้านหาบเร่แผงลอย ผมคิดว่าแบบนี้น่าจะไปต่อได้” สมชัยกล่าว

ด้านธนาธรเสริมเรื่องนโยบายการเยียวยาประชาชนของรัฐไว้ว่า ในระดับโลกมีการกลับมาพูดถึงรัฐสวัสดิการกันอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากเทคโนโลยีและวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องภาษีเงินได้แบบติดลบ (negative income tax) และรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income – UBI) ซึ่งอาจเป็นทางออกในวันที่โลกมีความเหลื่อมล้ำมากเช่นนี้

“ผมยกตัวอย่างเมืองสต็อกตันที่แคลิฟอร์เนีย นายกเทศมนตรีเริ่มให้ UBI แล้วในช่วงโควิดที่ผ่านมา คือให้เงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เฉียบคม ภาวะการแพร่ระบาดของโควิดซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นไปอีก ทำให้คนเปราะบางอยู่แล้วยิ่งเปราะบางมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ผมคิดว่านวัตกรรมของนโยบายคือนโยบายที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นทั่วโลก” ธนาธรกล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมามองที่ไทย ธนาธรตั้งข้อสังเกตว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2565 ลดลงจากปี 2564 กว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5.7 % (งบประมาณปี 2564 คือ 3.3 ล้านล้านบาท / งบประมาณปี 2565 คือ 3.1 ล้านล้านบาท)

“ไทยแทบจะเป็นประเทศเดียวที่ลดรายจ่าย ตอนนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวเรายังดีอยู่ การส่งออก และทุนสำรองระหว่างประเทศก็ยังดี แต่ที่น่าห่วงจริงๆ คือหนี้ครัวเรือน ที่วิ่งขึ้นไปถึง 92 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังดูแลคนไม่พอ จึงทำให้เกิดหนี้ครัวเรือน” ธนาธรกล่าว

ธนาธรชี้ว่า ตัวเลขงบประมาณที่ลดลงของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับวิธีการแก้ปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้ เขายกตัวอย่างว่า หลายประเทศเริ่มคุยกันถึงเรื่อง ‘Big G’ หรือการใช้จ่ายของรัฐที่ใหญ่มาก เพื่อดึงให้เศรษฐกิจไม่ดิ่งลงมากกว่านี้

“เราทุกคนรู้ว่ายิ่งเศรษฐกิจดิ่งลงมากเท่าไหร่ เงินที่ต้องใช้ไปกอบกู้ในวันที่เศรษฐกิจพังไปแล้วนั้นเยอะกว่าเงินที่อัดเข้ามาช่วยก่อนจะล่ม แต่ประเทศไทยกลับลดงบประมาณรายจ่ายลง ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร” ธนาธรทิ้งท้ายด้วยคำถาม

ด้าน นพ.สมศักดิ์ เสนอประเด็นเรื่องการสมดุลระหว่างนโยบายสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจไว้ 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง ต้องหาเครื่องมือที่เป็นระบบซึ่งทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีต่อการสร้างสมดุล

“รัฐบาลคงเห็นบทเรียนแล้วว่าต้องหาสมดุลให้เจอ ฝั่งสาธารณสุขเองก็พยายามทำให้พอเหมาะ เช่น แทนที่จะเป็น zero case ก็คงไม่ใช่แล้ว คำถามที่ว่าตัวเลขผู้ป่วยหนึ่งพันคนต่อวันน่ากลัวไหม เป็นคำถามใหญ่มาก เพราะเรากลัวว่าระบบจะแน่นจนรับไม่ไหว ซึ่งเราอยากได้เครื่องมือที่ช่วยบอกว่าเราใกล้ถึงจุดที่รับไม่ไหวแล้วรึเปล่า จะได้รีบใช้มาตรการที่เข้มขึ้น มีความพยายามในการคิดประเด็นนี้นะ แต่เราไม่มีการคิดและทำอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเครื่องมือในเชิงระบบข้อมูลมาสนับสนุนการทำงาน

“กระทรวงสาธารณสุขต้องยืนให้เป็นหลักมากกว่านี้ เราก็อ่อนแรงไปเหมือนกัน แต่ผมยังหวังว่าภาคสาธารณสุขจะช่วยหาสมดุลในระดับหนึ่ง ว่าด้วยมาตรการการควบคุมโรค”

ประเด็นที่สอง ใช้มาตรการ TTI (Trap-Test-Isolate) เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ

“มาตรการที่จะช่วยให้ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คือเราต้องเจอจุดเสี่ยงเร็ว ลงไปติดตาม คุมให้อยู่หมัด และจับแยกให้ปลอดภัยกันทุกฝ่าย เรายังทำเรื่องนี้ได้อีกเยอะมาก มีความพยายามในการหาระบบที่ลงตัว ในรอบล่าสุดก็มีการทำเรื่องนี้มากขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งก็น่าดีใจ”

และประเด็นที่สาม ควรมีการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อเห็นระดับความเสี่ยงของแต่ละมาตรการ เพื่อจะได้รับมือได้ทันการณ์

“ถ้ามาตรการเสี่ยงมาก เราควรทำอย่างไร จะสกัดไม่ให้เข้าไปสู่จุดเสี่ยงสูงอย่างไร เครื่องมือเหล่านี้อาจจะบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และเห็นร่วมกันได้มากขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นอกจากการวางแผนเพื่อหาสมดุลในประเด็นข้างต้นแล้ว หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้แผนทั้งหมดที่วางไว้ต้องเปลี่ยนแปลงคือการเจอไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น เจอไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ บราซิล หรืออินเดีย เป็นต้น ต่อประเด็นนี้ นพ.สุรพงษ์ เสนอวิธีคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ทักษะที่สำคัญมากในการรับมือคือ ‘ยืดหยุ่น’ และ ‘ฉับไว’ เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตเราจะเจอกับเรื่องคาดไม่ถึงอะไรอีกบ้าง

ส่วนประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่ามีหลายเรื่องน่ากังวล โดยปัญหาใจกลางทั้งหมดมีอยู่สามเรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง ภาวะผู้นำ

“ถ้าเรามีผู้นำที่มีภาวะผู้นำเข้มแข็ง มองปัญหาต่างๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง กล้าตัดสินใจ และพร้อมระดมพลังของทุกภาคส่วน ถึงในวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเจอคำถามอะไร แต่มั่นใจได้ว่าเราสามารถหาคำตอบที่ใช่ได้แน่ๆ”

เรื่องที่สอง ความรู้

“ความรู้สำคัญมาก ที่ผ่านมามีข่าวปลอมหรือข่าวลือเยอะมากเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพูดที่ไม่ได้อาศัยความรู้ ไม่ได้อ้างอิงความรู้เชิงระบาดวิทยา แต่เป็นการใช้ความรู้อื่นที่ตอบโจทย์นี้ ผมเชื่อว่าหากผู้นำไม่รู้จักกลั่นกรองเอาความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณ จะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้”

เรื่องที่สาม การจัดการ

“ผมเห็นด้วยที่อาจารย์สมศักดิ์พูดว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องยืนให้มั่น ระลอกแรกที่เราจัดการได้ดี เพราะเราอาศัยองคาพยพของสาธารณสุข ไม่ว่าเรื่องกลไกเครือข่ายการระบาดวิทยา อสม. ที่เป็นอาวุธลับ แต่ตอนนี้จุดเด่นถูกกลบด้วยจุดด้อย เพราะรูปแบบขององค์กรที่ใช้จัดการปัญหาโควิดตอนนี้ ไม่ได้ใช้สาธารณสุขเป็นหลักในการควบคุมโรค

“ระลอกแรก หลังจากเริ่มควบคุมการระบาดได้แล้ว สาธารณสุขคิดว่าจะต้องเริ่มเปิดเมืองผ่อนคลายเป็นระยะ แต่ก็มีการต่อสู้กันเยอะมาก กว่าจะยอมเปิดเมืองได้ แต่พอมาระลอกนี้ ผมเห็นว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น มีความพยายามไม่ใช้กลไกที่เร่งรัดจนเสียหายมากเกินไป แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเจอระลอกใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ กลไกแบบนี้ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีการเปลี่ยนการจัดการใหม่ทั้งหมด” นพ.สุรพงษ์ กล่าวสรุป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save