fbpx

วัคซีน รัฐ ธุรกิจ สัมพันธ์แบบไหนให้พอดี

“ถ้าผมเสนอโครงการพัฒนายาใหม่ที่จะได้กำไรต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านเหรียญฯ (3,000 ล้านบาท) ผมคงถูกไล่ออกจากการเป็นซีอีโอของบริษัทไม่ช้าก็เร็ว” 

นี่คือประโยคทองที่ผมจำได้ไม่ลืม จากการมีโอกาสร่วมวงประชุมกับผู้บริหารบริษัทยาข้ามชาติที่มีชื่อเสียง จัดโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เมื่อราว 30 ปีก่อน เขาอธิบายต่อว่าเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนายาใหม่นั้นสูงมาก และเป็นที่รู้กันว่า วิจัยไป 100 ตัวจะได้ยาใหม่มาตัวเดียว ซึ่งถ้าได้ยามาแล้วก็ยังมีตลาดเล็กนิดเดียว แถมขายได้ราคาไม่สูงพอ จนดูเหมือนว่าวางแผนไม่เป็น กลายเป็นไม่แฟร์กับผู้ถือหุ้นบริษัทไปอีก (ฟังดูคุ้นๆ)

ตอนนั้นรายรับ (ไม่ใช่กำไร) ทั้งปีของบริษัทยาในอินเดียที่มีฐานะเป็นบริษัทยาข้ามชาติเหมือนกัน เคยลงทุนพัฒนายาใหม่เหมือนกัน (แต่ไม่เคยได้ตัวที่ประสบผลสำเร็จเลย) อยู่ที่ไม่ถึง 300 ล้านบาท

เป็นที่รู้กันดีว่าบริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ของยุโรปและอเมริกาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูงติด 3 อันดับแรก ธุรกิจช่วยชีวิตผู้คนที่คนไทยมักมองว่าเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อการกุศล กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ทีมบริหาร หรือแม้กระทั่งพนักงานทั่วไปของบริษัท

ซีอีโอคนเดียวกันบ่นน้อยใจในการประชุมเดียวกัน ในหัวข้อสนทนาสนทนาที่ว่าทำอย่างไรบริษัทยาขนาดใหญ่จึงจะมีส่วนช่วยพัฒนายาซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีปัญญาจ่ายสูง และมักอยู่กับปัญหาสุขภาพที่ไม่ค่อยมีใครสนใจพัฒนายาให้ (ตอนนั้นวัคซีนไข้เลือดออกเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกมาคุยกัน เพราะประเทศที่เผชิญปัญหาล้วนเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำอย่างไทยหรือฟิลิปปินส์) 

“ทำไมเวลารัฐบาลซื้อวัคซีนถึงต้องต่อราคาแล้วต่อราคาอีก ในขณะที่เวลาซื้ออาวุธไม่เห็นต่อราคามากเท่านี้” เขาว่า

เขาคงน้อยใจที่ของที่บริษัทผลิต ซึ่งยอมรับกันว่าช่วยชีวิตคนไม่สามารถทำให้ผู้ซื้อคนเดียวกัน (คือรัฐบาลของประเทศต่างๆ) ยอมจ่าย เหมือนเวลาซื้อของที่เอาไปทำลายชีวิตอย่างอาวุธ

เป็นคำถามที่น่าสนใจ แต่คงไม่น่าหาคำตอบ ควรเปลี่ยนคำถามมากกว่า

ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ได้ยกมาเพื่อชวนกันหาคำตอบ แต่อยากให้เห็นโลกอีกใบที่บริษัทยาขนาดใหญ่อาศัยอยู่

บริษัทที่ผลิตวัคซีนจำหน่ายไปทั่วโลกขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 10 บริษัท และว่าไปแล้ว ตลาดธุรกิจวัคซีนมีความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับยารักษาโรค แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ เพราะขณะที่ยารักษาโรคเริ่มเข้าสู่ทางตัน มียาที่ใหม่จริงๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ปรับไม่มาก (แต่ราคาสูงกว่ายาที่พอใช้ได้อยู่เดิม เพราะเป็นยาใหม่ และมีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อตกลงสากล) การพัฒนาวัคซีนกลายเป็นที่สนใจ และมีบริษัทยาลงทุนมากขึ้น

นี่ไม่นับว่าวัคซีนดูจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่างๆ สนใจลงทุน เมื่อเทียบกับการที่ต้องไปลงทุนกับการรักษาโรค ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่ามาก 

วัคซีนโควิดเปลี่ยนความคิดและความสัมพันธ์ของธุรกิจไปจากเดิม?

ว่าไปแล้ว วัคซีนโควิดไม่ใช่ตัวแรกที่ทำให้ฝ่ายต่างๆ ทั้งหน่วยส่งเสริมการวิจัย รัฐบาล และบริษัทยาต้องหันมาหาความสัมพันธ์ใหม่ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 น่าจะมี 3 สถานการณ์สำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้เห็นความพยายามที่จะหาความสัมพันธ์ใหม่ที่ว่า

เรื่องแรก คือความกลัวสงครามชีวภาพ กรณีจดหมายอาบเชื้อแอนแทรกซ์ในปี 2001 (ซึ่งมีวัคซีนสำหรับสัตว์) 

เรื่องที่สอง คือความกลัวการใช้เชื้อฝีดาษมาทำให้เกิดไข้ทรพิษระบาดใหญ่ จนนำไปสู่การผ่านกฎหมายในสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีบุช ให้บริษัทเอกชนผลิตวัคซีนสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน 

และเรื่องที่สาม คือการระบาดของโรคติดเชื้อใหม่ๆ อย่างซาร์สและไข้หวัดนก ที่นำไปสู่ความกลัวว่าจะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

และล่าสุดก่อนโควิดก็คือไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งไทยเราก็เริ่มสนใจลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนด้วย เพราะเวลานั้นแม้กระทั่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทุกปีก็ยังต้องไปรอเข้าคิวขอซื้อจากบริษัทยาหากเป็นประเทศที่เพิ่งเริ่มสนใจจะฉีดประชาชนจำนวนมาก เพราะบริษัทผู้ผลิตผลิตตามลูกค้าที่แสดงความจำนงล่วงหน้าอาจมีเหลือขายในระบบธุรกิจตามที่เหลือจากลูกค้าขาใหญ่ที่เป็นรัฐ

แล้วตลาดวัคซีนก็มาระเบิดเถิดเทิง เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาทำการปิดประเทศ ปิดเมือง จำกัดการเคลื่อนไหว เพื่อลดการระบาด จนเกิดความหวังว่าถ้าทุกคนมีภูมิคุ้มกัน ก็จะไม่มีใครต้องหยุดการเคลื่อนไหวและการทำมาหากิน

วัคซีนกลายเป็นความหวังใหม่ที่จะมาทดแทนความจำเป็นที่จะต้องปิดประเทศ จำกัดการเคลื่อนที่ และการติดต่อปฏิสัมพันธ์ ที่น่าสนใจกว่าคือครั้งนี้ความพยายามพัฒนาวัคซีนที่เห็นผลในระยะเวลาสั้นกว่าที่ผ่านๆ มา (และไม่ประสบความสำเร็จ เช่น วัคซีนไข้หวัดนกในคน วัคซีนในนกหรือไก่ และซาร์ส ) ตามมาด้วยความสนใจอยากซื้อวัคซีนของรัฐบาลทั่วโลก

กลายเป็นว่าในตลาดวัคซีน ตัวผู้ผลิตวัคซีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกถึงขนาดตอบสนองกันไม่ทัน แม้จะมีวัคซีนมาไม่กี่ตัว และพยายามช่วยกันหาโรงงานผลิตก็ตาม จนถึงตอนนี้ตลาดวัคซีนกลายเป็นของผู้ขาย ถึงขนาดไม่ขายทั่วไปแต่จะขายกับรัฐบาลเท่านั้น พร้อมกับขอให้รัฐบาลรับผิดชอบผลอันไม่พึงประสงค์กันเอาเอง บริษัทขอไม่รับผิดชอบ

ความรับผิดชอบของรัฐกับการใช้วัคซีนที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา

โดยหลักการ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะนำมาใช้หรือจำหน่ายในประเทศหนึ่งๆ ที่มีระบบการกำกับดูแลที่ดี (ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีระบบกำกับดูแลที่ดี) ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ตามมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนด ซึ่งโดยปกติก็ต้องมีผลการวิจัยในประชากรจำนวนมาก ที่เรียกว่าการศึกษาในระยะที่ 3 (จำนวนประชากรเท่าไหร่เรียกว่ามากพอ ขึ้นกับหลายปัจจัย) เมื่ออนุมัติแล้ว บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็จะสามารถจัดจำหน่ายให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

วัคซีนเป็นเทคโนโลยีที่มีธรรมชาติสำคัญอย่างหนึ่งคือสามารถเกิดประโยชน์ในการควบคุมโรค ถ้ามีประชากรจำนวนมากพอฉีดวัคซีน นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเทคโนโลยีที่มีผลในเชิงป้องกัน จะมีความต้องการไม่สูง (คนส่วนใหญ่ไม่อยากลงทุนกับสิ่งที่ใช้เวลานานกว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง) การให้คนได้ฉีดวัคซีนจำนวนมากๆ (เพิ่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่) จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องวางแผนและจัดการ ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็ต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนกับตัวไหนบ้าง

ในระดับสากล มีกลุ่มวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทุกประเทศฉีดให้ประชากรของตน แต่ธุรกิจวัคซีนก็มีการพัฒนาไปมาก จนเกิดวัคซีนที่มีราคาสูงและอาจไม่คุ้มค่าที่ประเทศหนึ่งๆ จะตัดสินใจลงทุนเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน (ไม่ว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้หรือไม่) บริษัทก็จะขายวัคซีนพวกนี้ให้โรงพยาบาลที่สนใจจะนำไปฉีดให้คนไข้ที่สนใจโดยคิดราคาเหมือนการให้บริการสุขภาพประเภทหนึ่ง

แต่ก็มีบางครั้งที่รัฐบาลอาจจะอนุญาตให้มีการนำเข้าเทคโนโลยีบางตัวเพื่อทำการวิจัยในประเทศของตนเองได้ แต่ต้องมีการขออนุญาต และควบคุมการใช้ตามแผนการวิจัยเท่านั้น

และก็มีบางครั้งอีกเช่นกันที่รัฐบาลอาจตัดสินใจนำเอาวัคซีนบางตัว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ในการควบคุมโรคให้ประชากรของตนเอง แต่กระบวนการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนอาจยังมีปัญหา รัฐบาลบางประเทศอาจตัดสินใจนำมาใช้โดยรับผิดชอบผลเสียที่จะตามมา (แม้จะมีน้อยมาก) แทนบริษัทยา กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายให้อำนาจแก่กลไกที่กำหนดขึ้น มีสิทธิคัดเลือกและตัดสินใจ เอาเทคโนโลยีที่คิดว่ามีประโยชน์แต่อาจยังไม่สิ้นสุดการวิจัยตามมาตรฐานเดิมที่กำหนดไว้มาใช้ได้โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

ในช่วงที่ทำงานส่งเสริมการวิจัย เคยมีองค์กรพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมาเสนอให้พิจารณานำวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ยังติดปัญหาว่าอาจได้ภูมิคุ้มกันไม่ครบเท่ากัน ทั้ง 4 สายพันธุ์ให้มาฉีดในประชาชนไทย โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบผลเสียที่อาจตามมา แม้ผลการวิจัยที่ผ่านมาจะพบว่าวัคซีนที่มีอยู่ปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี (3 ใน 4 สายพันธุ์) แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่วงการผู้เชี่ยวชาญไข้เลือดออกยังเห็นไม่ตรงกันถึงโอกาสที่จะเกิดผลเสีย (แทนที่จะมีแต่ผลดี) ในการฉีดวัคซีนนี้ ในประเทศที่เคยมีโรคนี้ระบาดเป็นประจำจึงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

หลายปีต่อมามีการพัฒนาและวิจัยทดลองวัคซีนไข้เลือดออกไปอีกมาก มีหลายผลิตภัณฑ์และมีบริษัทหนึ่งพัฒนาไปได้ไกลกว่าบริษัทอื่น แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปเอกฉันท์ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกว่าควรจะใช้อย่างไรจึงจะมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลเสียเกิดขึ้นในประเทศที่เคยมีการระบาดเป็นปกติ (ซึ่งในขณะนั้น ประเทศที่เข้าข่ายมีไข้เลือดออกระบาดบ่อยๆ มีเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 60 ปีก่อน ตอนเราเริ่มเจอโรคนี้ครั้งแรกในไทยและฟิลิปปินส์) แต่ดูเหมือนรัฐบาลฟิลิปปินส์จะอยากใช้วัคซีนไข้เลือดออก จึงตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกให้ประชาชนโดยถือเป็นนโยบาย ปรากฏว่าเกิดปัญหาคนป่วยและตายหลายคน  และรัฐบาลต้องออกมาประกาศรับผิดชอบทั้งหมด และสั่งยุติการฉีดวัคซีนทั้งที่ยังฉีดไปได้ไม่มาก

วัคซีนที่มีโอกาสเกิดผลร้ายแรงตามมาและหลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อฉีดจำนวนมากๆ ที่อาจไม่มีคำตอบได้ง่ายๆ จากการวิจัยในขนาดใหญ่เท่าที่บริษัทพอจะมีปัญญาลงทุนทำ (ตามเงื่อนไขก่อนส่งผลไปประกอบการขออนุมัติ) จึงกลายเป็นโจทย์ยากสำหรับทั้งบริษัทที่อยากขายวัคซีนและรัฐบาลที่อยากใช้วัคซีน 

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ยังไม่มีใครกล้าขายวัคซีนไข้เลือดออก และไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเสี่ยงออกมารับผิดชอบแทนบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เกิดเรื่องในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2018 ก่อนหน้าการระบาดของโควิดไม่นาน แต่ปฏิกิริยาและการตัดสินใจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในกรณีโควิด-19 แตกต่างจากกรณีวัคซีนไข้เลือดออกเป็นอย่างมาก เพราะทุกรัฐบาลกระโดดออกมารับผิดชอบแทนบริษัทพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยความเต็มใจ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลออกมา ‘รุก’ แทนที่จะ ‘รอ’ รัฐบาลอเมริกาผ่านกฎหมาย Project Bioshield Act เมื่อปี 2004 ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติงบประมาณจ้างบริษัทผลิตวัคซีน ชีววัตถุ และยา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดมาตั้งแต่เกิดกรณีจดหมายเปื้อนเชื้อแอนแทร็กซ์ นำไปสู่การทำแผนยุทธศาสตร์รับมือสงครามชีวภาพ และต่อไปถึงการรับมือโรคระบาดใหญ่ 

ส่วนวัคซีนและชีววัตถุที่มาจากการรุกของรัฐบาลอเมริกันในครั้งนั้นมีอยู่หลายรายการ ตั้งแต่วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ ไปถึง แอนตี้บอดี้รักษาผู้ป่วยด้วยโรคที่อยู่ในรายการ นอกจากการจ้างผลิตเพื่อนำมาสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ยังมีการออกระเบียบว่าด้วยการใช้กรณีฉุกเฉิน ว่าให้ทำได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนทั้งหมดแบบที่เคยทำ และระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการฟ้องร้องบริษัทหากเกิดผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนหรือใช้ยา เพราะรัฐบาลกลัวการใช้อาวุธเชื้อโรคในช่วงนั้น เมื่อได้วัคซีนไข้ทรพิษรัฐบาลก็ฉีดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจก่อน และเก็บวัคซีนที่เหลือสำรองไว้หากเกิดมีการใช้เชื้อไข้ทรพิษจริงๆ (โชคดีที่ไม่มีทำสงครามเชื้อโรคในตอนนั้น และการฉีดวัคซีนที่ผลิตมาก็ไม่เกิดอันตรายรุนแรง)

COVAX กับ ธุรกิจวัคซีน

แม้การผลิตและกระจายโควิดจะเป็นตัวอย่างแรกที่มีการประสานงาน เจรจา และวางแผนร่วมกัน โดยภาครัฐและบริษัทวัคซีน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะมีปัญญาทำแบบเดียวกันได้

สารคดีเรื่อง Jabbed! Inside Britain’s Vaccine Triumph เล่าถึงประสบการณ์ที่รัฐบาลอังกฤษตั้งคณะทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าหากมีวัคซีนโควิดที่ได้ผล ประเทศอังกฤษจะเป็นประเทศแรกๆ ที่มีโอกาสเอาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนของตนเอง

เชื่อว่าทุกประเทศในโลกคงอยากมีคณะทำงานแบบเดียวกัน แต่คงไม่ได้ตั้งขึ้นมาหรือทำงานอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลนานัปการ แต่ที่น่าสนใจคิด ประเทศไทยมีการพยายามหาคำตอบในคำถามเดียวกัน และได้วางแนวทางไว้ไม่ต่างจากที่คณะทำงานของอังกฤษได้สรุปไว้ คือต้องเดินหน้าเจรจากับ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพ และเสนอตัวร่วมวิจัยในระยะที่ 3 รวมถึงการร่วมผลิต เพราะรู้ดีว่า การวิจัยระยะที่ 3 ต้องการพื้นที่วิจัยที่พร้อมและมีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการดูแลได้จำนวนมากๆ (ทำในประเทศที่มีประสบการณ์และค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยระยะที่ 3 ที่มีคุณภาพ ต้นทุนไม่สูง) ซึ่งประเทศไทยก็มีศักยภาพไม่แพ้หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่า ส่วนเรื่องร่วมผลิตก็คงเป็นที่สนใจของบริษัทวัคซีน เพราะทุกคนรู้ดีว่า ถึงเวลาแล้ว ความต้องการจะมีสูงมาก เกินกว่ากำลังผลิตที่มีอยู่เดิม ใครช่วยผลิตได้ ก็เป็นที่สนใจหมด ถ้ามีศักยภาพดีพอ

แต่เอาเข้าจริง แผนก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่การลงมือทำตามแผน สำคัญกว่า ในกรณีอังกฤษ คณะทำงานลงมือกำหนดโรงงานร่วมผลิต  จัดซื้อขวดบรรจุวัคซีนล่วงหน้า แม้จะยังไม่รู้ว่า จะมีวัคซีนให้ผลิตหรือป่าว(เพราะรู้ว่าถึงเวลาแล้ว ขวดบรรจุวัคซีนจะเป็นข้อจำกัดสำคัญ เพราะมีไม่พอจากกำลังการผลิตที่เป็นอยู่ รวมถึงการทำระบบรับสมัครอาสาสมัครร่วมวิจัยแต่เนิ่นๆทั้งที่ยังไม่มีวัคซีนจะให้ทดลอง และที่สำคัญคือ เขาไม่ได้ทำกับ บริษัททที่เป็นอังกฤษเท่านั้น แต่ทำกับทุกบริษัท โดยที่ขณะเริ่มทำตามแผน วัคซีนของ มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ซึ่งต่อมาคือวัคซีนที่รู็จักกันในนาม แอสตรา เซนิกา ยังเป็นวุ้นอยู่เลย

พูดง่ายๆ คือเขาไม่ใช้วิธีแทงม้าตัวเดียว แม้จะเป็นม้าที่มีชื่อเสียง (อย่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด) และเป็นของประเทศตัวเองก็ตาม ในทางตรงกันข้าม บริษัทวัคซีนก็เกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะคนที่มาเจรจาเป็นกลไกที่รัฐบาลตั้งขึ้น ในทางปฎิบัติ คณะทำงานโดนข้อวิจารณ์ ซึ่งในฐานะคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดการเมืองอังกฤษคงไม่สามารถบอกได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือการทำงานของรัฐที่มีนโยบายชัดเจนและเป็นฝ่ายรุกนั้นสร้างความแตกต่างในความสัมพันธ์และความมั่นใจในส่วนของธุรกิจอยู่ไม่น้อย

ที่น่าสนใจกว่าคือการพูดถึงทีมบริหารบริษัทแอสตราเซเนกาซึ่งได้รับการอนุมัติจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ออกมาบอกว่า มีการคุยกันชัดเจนว่าคราวนี้อยากให้ช่วยกันตั้งราคาที่ไม่สูง และเป็นไปได้ที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือมีรายได้น้อย จะซื้อไปใช้ในจำนวนมากๆ ได้ไม่ยาก ถึงขนาดผู้บริหารบริษัทออกมาบอกว่าไม่กล้าตั้งราคาสูง เพราะกลัวลูกที่บ้านต่อว่าว่าทำไมบริษัทไม่เห็นใจคนอื่น ทำไมไม่ทำประโยชน์ส่วนรวมแทนการหากำไรสูงสุด

เท็จจริงเป็นอย่างไรคงไม่มีใครบอกได้ แต่ที่แน่ๆ สิ่งแวดล้อมและแรงกดดัน รวมทั้งแรงหนุนจากฝ่ายต่างๆ ที่เคยทำงานแบบ รอให้อีกฝ่ายทำให้ได้ตามที่กำหนดไว้ เปลี่ยนเป็นการหันมาทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความสำเร็จเร็วขึ้น และดูเหมือนรัฐบาลที่เป็นกลไกที่คอยใช้อำนาจ ตรวจสอบ และอนุมัติ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา โดยพยายามทำให้เกิดความโปร่งใส และเป็นการทำงานที่มีคุณภาพสูงสุดภายในเวลาที่สั้นที่สุด

ทั้งนี้ยังมาเป็นตัวสร้างตลาดด้วยตัวเอง (เชิญชวนและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนกันเยอะๆ) และสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจว่าหากเกิดปัญหาจากการฉีดวัคซีน รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ (ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วแต่แต่ละประเทศจะมีระบบ เช่น กรณีไทยก็เกิดนโยบาย ที่ สปสช. กำหนดขึ้น เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนโควิด เป็นต้น)

ปัญหาผลไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิดคงจะยังมีตามมาอีก จากปัญหาเลือดแข็งตัว ของวัคซีนแอสตราเซเนกา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มาถึงปัญหาแขนขาอ่อนแรงของวัคซีนซีโนแวค และล่าสุดคือปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีนโมเดอร์นา

ธุรกิจเอกชน กับนโยบายฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาล

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่พึงประสงค์กับธุรกิจวัคซีนเพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้อย่างรวดเร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปเป็นคู่ร่วมพัฒนา และ/หรือ รับผิดชอบแทนธุรกิจ อย่างที่กล่าวมายังมีอีกหลายอย่างที่รัฐบาลอย่างไทยซึ่งไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่พัฒนาต้องทำ เช่น การเจรจาขอซื้อวัคซีนในสภาพที่ตลาดเป็นของผู้ผลิต 

แต่ยังมีอีกมุมหนึ่งของความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจเอกชนที่ไม่ใช่ผู้ผลิตวัคซีน ที่ดูเหมือนรัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องเผชิญ คือคำถามที่ว่ารัฐควรมีความสัมพันธ์อย่างไรกับภาคธุรกิจและเอกชน (ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นธุรกิจ หากสามารถลดความเสี่ยงจากการระบาด) และภาคบริการสุขภาพเอกชน (โรงพยาบาลเอกชน) เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร เพื่อทำให้โรคสงบ และเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด

ประเด็นนี้ดูไปก็เหมือนไม่มีอะไรยาก เพราะหลักการสำคัญก็คือรัฐต้องหารือและวางแผน รวมทั้งระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด เร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือคุมโรคให้อยู่หมัดกับฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด

แต่เรื่องนี้กลับไม่ง่าย เพราะปัญหาอยู่ที่รายละเอียดไม่ใช่อยู่ที่หลักการ และรายละเอียดที่ว่าก็นำไปสู่ทางเลือกและทางออกที่มีให้เลือกหลายทาง และไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ทางเลือกไหนคือทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากความซับซ้อนของตัววัคซีนเอง ร่วมกับความเชื่อหรือค่านิยมของกลุ่มต่างๆในสังคม (ซึ่งยากที่จะทำให้เห็นตรงกันได้)

พูดอีกอย่างก็คือไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็มี(กลุ่ม)คนไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน 

เราลองมาดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในไทย เพื่อเพิ่มความเข้าใจในความซับซ้อนที่ว่ากันสักหน่อย

ตัวอย่างแรก คือตัวอย่างที่กลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่รวมตัวกันมายื่นข้อเสนอให้รัฐบาลจัดหาวัคซีน (เพราะเอกชนไปขอซื้อ หรือเอามาฉีด ก็ไม่อาจรับผิดชอบผลไม่พึงประสงค์แทนบริษัทวัคซีนได้) เพื่อมาฉีดให้กับพนักงานของตน โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีกว่าการรอฉีดไปตามลำดับ โดยเริ่มจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงทางสุขภาพ และคนที่ต้องให้บริการสาธารณะก่อน (ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ทุกประเทศกำหนดตรงกัน) 

คำถามที่มาพร้อมกับข้อเสนอนี้ก็คือ แล้วประชากรกลุ่มที่ไม่ใช่พนักงานของบริษัทจะรอไปถึงเมื่อไหร่ โดยเฉพาะในสภาพความเป็นจริงที่ว่าคนในวัยแรงงานส่วนใหญ่ในไทยเป็นกลุ่มที่ไม่มีนายจ้าง (ดูได้จากสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ไม่ถึงครึ่ง) และที่อาจจะยากสุดก็คือธุรกิจท่องเที่ยว ที่คนทำงานในภาคนี้มีคนอยู่ในระบบและมีนายจ้างชัดเจนอาจมีเพียงบางกลุ่ม เช่น ธุรกิจโรงแรม หรือบริษัททัวร์ เป็นต้น

ข้อเสนอที่ดูเหมือนจะเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐ (ออกเงินซื้อวัคซีนเอง และจะไปหาคนมาฉีดกันเอง ไม่ต้องเป็นภาระของรัฐ) จึงถูกมองจากอีกมุมว่าอาจเป็นการทำเพื่อประโยชน์คนบางกลุ่ม ภายใต้ความอ่อนแอของการจัดหาและการบริหารการฉีดวัคซีนที่เป็นอยู่

ถ้าเลือกได้ คนส่วนใหญ่คงอยากให้ไปแก้ปัญหาการจัดหาและการระดมฉีดวัคซีนมากกว่าการมาฉีดให้กับบางกลุ่มก่อน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ (ซึ่งมีข้อถกเถียงได้มากว่ากลุ่มไหนสำคัญกว่ากัน ไม่เหมือนการบอกว่ากลุ่มไหนคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพ และมีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่าหากติดเชื้อ) 

แต่ที่แน่ๆ ข้อเสนอแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่การครอบคลุมการฉีดวัคซีนยังไปได้ช้า และดูเหมือนรัฐบาลก็เห็นพ้องและยอมรับ จนเกิดการปฏิบัติตามข้อเสนอในลักษณะเช่นนี้ไปแล้ว 

ตัวอย่างที่สอง คือตัวอย่างการใช้ภาคเอกชนมาเป็นผู้ร่วมฉีดวัคซีน ตามเป้าหมายที่รัฐกำหนดขึ้น

คนทั่วไปมักคิดว่า วิธีการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด คือการแจกจ่ายวัคซีนที่ได้มาให้ทุกฝ่ายที่ช่วยกันฉีดวัคซีนได้ ให้ช่วยกันทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการให้โรงพยาบาลเอกชนมาช่วยกันฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด  

คำถามที่ดูจะยากสุดคือถ้าให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยกันฉีดวัคซีนให้ประชาชน โรงพยาบาลเอกชนจะมีสิทธิตัดสินใจฉีดให้ใครก็ได้ หรือต้องฉีดให้กลุ่มประชากรตามลำดับ ที่กำหนดไว้ในแผน (ที่ทำขึ้นตามหลักการควบคุมโรคระบาด) และถ้าฉีดให้กับใครก็แล้วแต่ มีสิทธิเก็บค่าบริการได้แค่ไหน รวมทั้งค่าวัคซีนด้วยหรือไม่ อย่างไร

ถ้าตอบตามแนวทางของโรงพยาบาลเอกชนก็น่าจะออกมาทำนองว่าควรให้โรงพยาบาลเอกชนฉีดให้ใครก็ได้แทนการไปฉีดตามลำดับของรัฐบาล เพราะอย่างไรโรงพยาบาลเอกชนก็มีฐานลูกค้าของตนเองอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันเพื่อให้เป็นธรรมกับรัฐบาล ก็ควรให้รัฐบาลขายวัคซีนให้โรงพยาบาลเอกชน และให้โรงพยาบาลเอกชนไปคิดค่าบริการเอง

แต่ก็คงมีข้อโต้แย้งว่าหากรัฐบาลทำเช่นนั้น กลุ่มที่จะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ก็คงหนีไม่พ้นคนที่มีกำลังซื้อ และต่อไปสักพัก ถ้ากลไกรัฐทำงานได้ช้า คนที่ไม่มีกำลังซื้อแต่อยากฉีดก็คงต้องไปขวนขวายเพิ่มกำลังซื้อ โดยเฉพาะถ้าเราเชื่อว่าภาคเอกชนมักจะทำงานมีประสิทธิภาพดีกว่าภาครัฐ กลายเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ต้องแลกมาด้วยเป้าหมายความเป็นธรรม แต่ที่อาจจะสำคัญกว่าคือเป้าหมายสัมฤทธิผลของการควบคุมโรค หรือแม้กระทั่งการฟื้นคืนเศรษฐกิจ 

พูดง่ายๆ คือ คนมีปัญญาจ่ายจะได้ฉีดก่อน แต่ผลกระทบต่อการควบคุมโรคหรือฟื้นเศรษฐกิจ อาจจะไม่เกิดเท่าที่ควร 

สิ่งที่สำคัญกว่าจึงต้องเป็นการที่รัฐระดมกำลังทุกฝ่ายให้มาฉีดตามแผนการที่กำหนดขึ้น แต่มีการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพ และสร้างแรงจูงใจที่ดีพอ (อย่างเหมาะสม) เพื่อให้ได้คนมาทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายร่วมของสังคม (ที่รัฐต้องกำหนดอย่างเหมาะสม) แทนที่จะแบ่งการบริหารออกเป็นสองส่วน โดยส่วนหนึ่งทำตามเป้าหมายใหญ่โดยใช้กลไกรัฐ (ที่อาจจะไม่มี งบประมาณเพิ่ม แม้จะต้องระดมกันมาทำงานหนักกว่าเดิม) แต่อีกส่วนหนึ่งทำตามกลไกตลาด (หรือความสามารถในการจ่าย) ที่สามารถกำหนดราคาและสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานได้ดีกว่า

เท่าที่ทราบ ในประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมฉีดวัคซีนตามเป้าหมายของรัฐ (ซึ่งที่ผ่านมาใช้การแจกจ่ายนัดหมายตามลำดับกลุ่มประชากรตามนโยบายที่กำหนดโดยเป้าหมายการควบคุมโรคให้ได้สมดุลกับการฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีใครทราบว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง โดยใช้แอปพลิเคชันหมอพร้อมที่ไม่ค่อยพร้อม) และกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนเก็บค่าบริการเพิ่มได้เพียงคนละ 20 บาท

มีคนมาถามหลายคนว่า เวลาเลือกโรงพยาบาลเอกชนในแอปฯ หมอพร้อม ต้องจ่ายเงินหรือไม่ ผมก็จะอธิบายตามที่ทราบมา ซึ่งก็ไม่ทราบว่ายังเป็นเช่นนั้นหรือไม่ และก็แปลกใจที่ไม่มีใครออกมาให้ข้อมูลหรือพูดถึงประเด็นนี้ ว่าถ้าเลือกไปโรงพยาบาลเอกชน (ซึ่งมีให้เลือกในแอปฯ หมอพร้อมสำหรับคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไมบางคนจึงมีให้เลือก ส่วนหลายคนไม่มีให้เลือก) จะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แค่ไหน

ตัวอย่างที่สาม คือกรณีการช่วยเจรจาซื้อวัคซีนให้โรงพยาบาลเอกชน เพื่อนำไปฉีดให้กับกลุ่มประชาชนที่มีกำลังจ่าย

กรณีนี้ คล้ายกับกรณีที่ 2  แต่ชัดเจนกว่า ว่าจะเป็นการให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถไปฉีดให้ใครก็ได้ในราคาที่ลูกค้าพร้อมจ่าย (ไม่ใช่ทำแบบ 2 ย่อหน้าสุดท้ายก่อนหน้านี้)

เท่าที่เห็นในข่าว น่าจะออกมาทำนองว่ารัฐจะเจรจาซื้อวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชนโดยผ่านองค์การเภสัช โดยมีค่าบริหารจัดการและภาษี (ในอัตราที่องค์การเภสัชกำหนด) ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็จะนำไปให้บริการประชาชน ในราคาที่ตกลงกับรัฐไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็คือราคาต้นทุนบวกกำไรตามระบบโรงพยาบาลเอกชน (ไม่ใช่ฉีดฟรีโดยมีค่าบริการ แต่ห้ามคิดค่าวัคซีน)

ข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นธรรมและสัมฤทธิผล ก็คงเป็นอย่างที่เขียนไว้ในกรณีที่ 2 แต่ที่น่าสนใจกว่าคงเป็นประเด็นว่ากรณีนี้ รัฐต้องเป็นผู้รับประกันผลเสียที่จะตามมาหรือไม่ หรือว่ารัฐแค่เจรจาซื้อหาให้โรงพยาบาลเอกชน ถ้ารัฐไม่ได้รับประกัน เชื่อแน่ว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนคงไม่กล้าขาย หากต้องรับภาระ (ถูกฟ้องได้หากเกิดปัญหาที่ไม่พึงประสงค์) ยกเว้นว่าตลาดวัคซีนเริ่มเปลี่ยนไป และผู้ผลิตไม่เป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ทราบจากข่าวว่าทางโรงพยาบาลเอกชนของไทยเตรียมทางแก้ไว้แล้ว คือซื้อประกันจากบริษัทประกันภัยเอกชน และรวมไปไว้ในราคาวัคซีนด้วยแล้ว (คล้ายการปฏิบัติเวลาบริษัทยาทำการทดลองยาในเฟสต่างๆ ที่อาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ ก็ใช้วิธีทำประกันกับบริษัทประกันภัยเอกชนไว้)

ที่น่าสนใจคือข้อเสนอให้รัฐเจรจาซื้อวัคซีนแล้วให้โรงพยาบาลเอกชนไปให้บริการประชาชน เกิดขึ้นภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนมีความต้องการวัคซีน แต่รัฐไม่สามารถจัดหาและฉีดให้ได้มากและเร็วอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ข้อเสนอนี้ดูเหมือนมีเหตุมีผล และรัฐบาลดูจะพูดไม่ออก และพยายามทำตามเพื่อแสดงว่ารัฐไม่ได้ดื้อหรือผูกขาดการกระจายวัคซีน

ปัญหาที่น่าคิดมากกว่าคือหากรัฐจำเป็นต้องเป็นผู้เจรจาขอซื้อให้กับโรงพยาบาลเอกชน ทำไมรัฐจึงไม่เจรจาซื้อมาฉีดให้ประชาชนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือรัฐมั่นใจว่าแหล่งผู้ผลิตวัคซีนที่ตกลงกันไว้จะสามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามที่ตกลงกัน

เป็นที่รู้กันว่าในสภาวะปัจจุบัน เงินสำหรับซื้อวัคซีนหรือแม้กระทั่งความสามารถในการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วๆ ไม่ใช่ปัญหาของประเทศอย่างไทย

มีเงินไม่สำคัญเท่ามีวัคซีน ถ้าเจรจาซื้อวัคซีนได้ ก็ควรนำเข้าสู่ระบบที่จะกระจายให้ประชาชนทั่วไปโดยเร็วที่สุด มากกว่าการใส่เข้าไปในระบบที่คนมีปัญญาจ่ายเท่านั้นจะมีโอกาสเข้าถึง

จะเปรียบกับอาวุธแบบที่ซีอีโอบริษัทยาพูดก็ได้ว่า ถ้าวัคซีนโควิดมีฐานะเป็นยุทโธปกรณ์ ถ้ารัฐบาลอยากให้ทุกฝ่ายมีบทบาทในการร่วมป้องกันประเทศ อาจจะใช้วิธีการกระจายยุทโธปกรณ์ไปในส่วนต่างๆ ที่มีความสามารถในการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และอยู่ในกำกับของรัฐ 

คงไม่มีรัฐบาลไหนจัดหามาให้เอกชนเอาไปขายต่อ เพื่อให้ผู้มีปัญญาจ่ายมาซื้อไปป้องกันตัวเอง แม้จะอ้างว่าก็มีส่วนช่วยป้องกันส่วนรวมได้ด้วย

ในสภาวะที่จำนวนวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้และจัดหา เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนตามแผนเริ่มปรากฏความไม่แน่นอน ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ (หรือแม้กระทั่งความไม่มั่นใจของประชาชน) หากรัฐสามารถเจรจากับบริษัทต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ย่อมถือเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี และหากมีจำนวนวัคซีนที่อาจเจรจาได้ในจำนวนจำกัด แทนที่จะเจรจาให้โรงพยาบาลเอกชนนำมาให้บริการ ควรจะเจรจามาใช้ในระบบหลัก

แต่ที่สำคัญ รัฐต้องบริหารระบบหลักให้ดี ให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆ ได้โดยเร็วที่สุด ก็จะไม่ต้องมามีนโยบายหรือมาตรการที่เข้าทำนองห่วงหน้าพะวงหลัง หรือกลายเป็นคำถามให้ต้องสงสัยว่าทำไมต้องมาใช้มาตรการทางเลือก แทนที่จะทำทางหลักให้ได้ผลดีที่สุด ด้วยการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาทำร่วมกันภายใต้เป้าหมายใหญ่ แทนการต้องไปตอบสนองต่อเป้าหมายย่อย ที่แม้จะดูมีเหตุมีผลในตัวของมันเอง แต่ก็เสี่ยงต่อการพลาดเป้าหมายใหญ่ที่ควรเป็น อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทำเพื่อคนทุกคน

บทส่งท้าย

กรณีตัวอย่างทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นถกเถียงและเรียกร้องให้รัฐบาลต้องทำแบบนี้แบบนั้น แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาระดมกำลังฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด-เร็วที่สุด (ซึ่งไทยเราทำได้ไม่ยาก) เพราะปัญหาพื้นฐานสำคัญสองประการ

ประการแรกคือ การไม่สามารถมีวัคซีนมาฉีดได้เพียงพออย่างที่ต้องการ กับประการที่สอง คือการไม่สามารถทำให้การฉีดวัคซีนโปร่งใส จนเห็นว่าเป็นไปตามลำดับของกลุ่มประชากรที่กำหนดขึ้นในแผน

เมื่อการฉีดวัคซีนต้องหยุดชะงักเป็นระยะๆ หรือเกิดความไม่แน่ใจว่าจะครอบคลุมได้มากในเวลาอันรวดเร็ว ย่อมทำให้เกิดคำถามว่าการกำหนดกลุ่มประชากรและไล่ฉีดตามลำดับจะเกิดผลปกป้องทุกคน (คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนได้จริงหรือ) และกลุ่มหลักที่กำหนดไว้นั้นใช่กลุ่มหลักจริงหรือไม่ (ภายใต้ความจริงที่การฉีดวัคซีนก็ไม่ไหลลื่น และโรคก็ยังระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ)

คงเป็นโจทย์ท้าทายว่ารัฐบาลที่ดีควรจะทำอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่จริง และความไม่แน่นอนของผลที่จะเกิดตามมา (ไม่ว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่งก็ตาม) 

แต่น่าจะชัดเจนว่ารัฐบาลที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนได้ คงมีโอกาสทำสิ่งที่ไม่เกิดผลได้น้อย แม้จะเป็นเรื่องที่คาดหมายล่วงหน้าได้ หรือแม้กระทั่งมีเหตุผลที่อธิบายได้ 

เพราะทุกคำอธิบายจะกลายเป็นข้อแก้ตัว ในสภาวะที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save