fbpx

การเมืองเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐ

ถ้าสภาพการเมืองอเมริกันในปัจจุบันไม่มีการแบ่งแยกและแตกร้าวฉานลงไปถึงฐานเสียงของสองพรรคการเมืองหลักคือเดโมแครตและรีพับลิกันแล้ว ปัญหาการเมืองเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่กำลังจะมีขึ้นในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าจะมีบ้างก็เป็นไปตามสภาพของการกดดันจากกลุ่มนักกฎหมาย นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางประเด็นสังคมเช่นเรื่องสิทธิการทำแท้ง สิทธิผู้อพยพ ไปจนถึงเรื่องการรับมือปัญหาโลกร้อนและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

แน่นอนว่า การที่ใครจะได้เข้ามานั่งในตำแหน่งอำนาจอธิปไตยที่สำคัญยิ่งนี้ ย่อมบ่งบอกถึงแนวทางที่ปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายในอเมริกาจะได้รับการแก้ไขหรือปัดเป่าด้วย เพราะคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดถือเป็นข้อยุติที่ทุกมลรัฐต้องปฏิบัติตาม  แม้ไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะนี่เป็นแกนกลางของระบบการปกครองโดยกฎหมาย มิใช่ด้วยผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น ที่ผ่านมาทั้งฝ่ายขวาและซ้าย ทั้งหญิง ชาย และหลากหลายเพศสภาวะ ต่างพากันกดดันและเรียกร้องต้องการผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่คิดทำนองเดียวกับพวกตนด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคือประธานาธิบดีนั่นเอง เพราะตามกฎหมายเป็นคนทำหน้าที่ในการเสนอชื่อ จากนั้นวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติ ความสามารถ และความเหมาะสมอื่นๆ ก่อนจะลงมติให้การรับรอง การได้โอกาสในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดจึงถือว่าเป็นผลงานอันสำคัญยิ่งและมีความหมายถึงอนาคตของนโยบายรัฐบาลต่อไปด้วยว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด สมัยที่แล้ว อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถือว่าโชคเข้าข้างที่สุด เพราะสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้ถึงสามคน จนทำให้ศาลสูงสุดกลายเป็นศาลอนุรักษนิยม ด้วยเสียงข้างมาก 6:3 เสียง

แล้วข่าวใหญ่มาแรงในช่วงปลายเดือนมกราคมก็เกิดขึ้น นั่นคือการแสดงเจตจำนงในการลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสตีเฟน จี. ไบรเออร์ (Stephen G. Breyer) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อปี 1994 เขามีทรรศนะทางเสรีนิยม แต่ไม่เข้มข้นและสุดขั้วนัก โดยมักพยายามเข้าใจความเห็นที่แตกต่างและรักษาความหลากหลายไว้ ผู้พิพากษาไบรเออร์สะท้อนจุดยืนในการทำงานของเขาว่า “ต้องการรักษารัฐธรรมนูญและระบบการปกครองโดยกฎหมายไว้”

ตามรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต หากไม่ก่อความผิดพลาดขึ้นมาก่อน ไบรเออร์ วัย 83 ปี อยู่ในตำแหน่งนี้มาได้ 28 ปีแล้ว หากเลือกที่จะอยู่ต่อก็อาจทำงานได้อีกเกือบสิบปีถ้าสุขภาพไม่บอกลาไปเสียก่อน ที่ผ่านมามีคนในพรรคเดโมแครตพยายามเสนอให้ไบรเออร์ลาออกเสีย เพราะอาวุโสมากกว่าคนอี่นๆ แต่ก็ไม่มีการกดดันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

สาเหตุที่ไบรเออร์ตัดสินใจลาออก มาจากการสรุปบทเรียนล่าสุด กรณีผู้พิพากษารูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg หรือ RBG) หัวหอกผู้พิพากษาสายเสรีนิยม เสียชีวิตในยุคทรัมป์ จนเปิดช่องให้ทรัมป์ตั้งผู้พิพากษาอนุรักษนิยมเข้าไปแทน RBG มีอายุมากและยังมีสุขภาพไม่ดีด้วย แต่เธอเป็นคนมีพลังกัมมันต์ (active) ผู้คนฝ่ายก้าวหน้าพากันเสียดายถ้าเธอต้องลาออกไปก่อน ตัวเธอเองก็ยังเชื่อว่าจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนครบเทอมของโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วหลังเลือกตั้ง มีประธานาธิบดีพรรคเดโมแครต จึงค่อยลาออก แผนการดังกล่าวพลาดไปอย่างคาดไม่ถึง เพราะเธอเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวอย่างรวดเร็ว จึงเป็นการเตะอาหารเข้าปากทรัมป์อย่างคิดไม่ถึงเช่นกัน ดังนั้นผู้พิพากษาไบรเออร์จึงรีบยกตำแหน่งคืนให้ไบเดนรีบดำเนินการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในปลายปีนี้ เพราะเกรงว่าเสียงข้างมากในวุฒิสภาอาจพลิกกลับไปเป็นของรีพับลิกันก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น หากเกิดอุบัติเหตุในอนาคต ก็จะยิ่งเป็นการปิดประตูการแต่งตั้งผู้พิพากษาสายเสรีนิยมไปอีก

ทันทีที่ได้รับโอกาสทองนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่รีรอและไม่ลังเลใจในการประกาศอย่างเปิดเผยว่า เขาจะเสนอชื่อสตรีผิวดำคนแรกเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ นับจากปี 1789 ที่เริ่มมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ถึงปัจจุบันรวม 115 คน ในจำนวนนั้นมีผู้พิพากษาศาลสูงสุดรวม 108 คนหรือร้อยละ 94 เป็นคนผิวขาว ซึ่งส่วนมากเป็นสุภาพบุรุษ มีสตรีผิวขาวเข้าไปได้ไม่นานมานี้เพียงไม่กี่คน ทว่าไม่เคยมีสตรีผิวดำเลย แสดงถึงสัจธรรมในอำนาจการเมืองอเมริกันว่า ต้องคิดและรู้สึกแบบคนขาวและบุรุษเท่านั้น ถึงชอบธรรมและถูกต้อง อะไรที่ต่างไปจากนี้คือ ความเบี่ยงเบนหรือผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติของรัฐอเมริกัน คำประกาศของไบเดนจึงเป็นการออกมาท้าทายและเสนอแนวทางใหม่ที่เป็นการปฏิวัติ ไม่ใช่แค่การปฏิรูป ว่าถึงเวลาแล้วที่สตรีผิวดำต้องขึ้นมานั่งในตำแหน่งอันทรงเกียรติและสูงส่งยิ่งใน ‘สมาคมของชนชั้นนำหยิบมือเดียว’

การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ผ่านมาไม่ค่อยเป็นปัญหาการเมืองมากนัก ส่วนใหญ่เป็นอภิสิทธิ์ของฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลของฝ่ายการเมืองเอง คนอื่นๆ หรือกลุ่มการเมืองอื่นใดไม่มีฐานะและความชอบธรรมในการเข้ามาพัวพันกับการแต่งตั้งดังกล่าว จนกระทั่งสมัยแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ที่มีการใช้อำนาจประธานาธิบดีมากเกินไปในการแต่งตั้งผู้พิพากษาเพื่อตอบสนองนโยบายของเขา จนทำให้เกิดแรงต้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงขึ้นมา แต่สมัยนั้นก็ยังเป็นการเมืองที่จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจและพลังต่อรองทางเศรษฐกิจ คำถามถึงความเหมาะสมและชอบธรรมของการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดจึงยังเป็นเรื่องที่อยู่เหนือขอบเขตของคนทั่วไป แม้แต่ทางวิชาการก็ตาม 

การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินและวินิจฉัยของผู้พิพากษาศาลสูงสุดแทบไม่เคยถูกนำเสนอต่อสาธารณชนเลย หากถูกปล่อยให้เป็นอภิสิทธิ์ของผู้นำการเมืองต่อมาอีกหลายทศวรรษ กระทั่งถึงยุคโลกาภิวัตน์ ที่ระบบทุนนิยมเติบโตไปอีกก้าวใหญ่ คราวนี้การปฏิวัติเครื่องมือการผลิตอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จากการผลิตในโรงงานที่เดินด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ มาสู่ห้องทำงานขนาดเล็กที่เดินด้วยระบบสมองกลเบาบางเล็กๆ ทำให้ฐานการผลิตและศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจไม่ต้องจำกัดอยู่แต่ในศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองดังแต่ก่อนอีกต่อไป การผลิตยุคใหม่ ‘บ่อนทำลาย’ การผลิตแบบเก่าในทุกทาง และทำให้ลักษณะกระจัดกระจายกลายเป็นด้านบวกของระบบผลิตใหม่ไป ทั้งหมดนี้นำไปสู่การปะทุขึ้นของความเป็นเสรีและอิสระของปัจเจกชนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

มีศัพท์ทางรัฐศาสตร์เรียกการเคลื่อนไหวทำนองนี้ว่า ‘การเมืองของอัตลักษณ์’ (identity politics) ไม่ว่าจะนิยามและอธิบายมันอย่างไร ความจริงที่รองรับมันก็คือการออกมาต่อสู้ ขับเคลื่อน ประท้วงในหลายรูปแบบและวิธีการ ล่าสุดคือในขบวนการ ‘ชีวิตคนดำก็มีความหมาย’ (Black Lives Matter, BLM) ขบวนการดังกล่าวดึงดูดผู้คนหลายเชื้อชาติสีผิว ทั้งในและนอกอเมริกาให้ออกมาเดินขบวนต่อต้านการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจผิวขาวต่อคนดำ ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นมานานแล้ว อาจยาวกลับไปถึงยุคทาสด้วยก็ได้ แต่คราวนี้ฝ่ายการเมืองและขบวนการประชาสังคม สิทธิมนุษยชน สิทธิความเสมอภาคทางเพศสภาวะและอื่นๆ ร่วมใจกันออกมากดดัน พร้อมกับนำเสนอข้อมูลที่เป็นวิดีโอแสดงถึงปฏิบัติการจริงของการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ศาลชั้นต้นไม่อาจเลี่ยงบาลีเหมือนแต่ก่อนได้อีกต่อไป การรับลูกของพรรคเดโมแครตครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญอีกก้าว ว่าการเมืองประชาธิปไตยในอเมริกาจะสามารถยกระดับเอาชนะเหนือการเมืองของฝ่ายปฏิกิริยาล้าหลังและคลั่งชาติที่ยกให้คนผิวขาวเป็นเจ้าใหญ่แต่ผู้เดียวได้ไหม

ไม่รอช้า โจ ไบเดน เตรียมเสนอรายชื่อในโผการเมืองอัตลักษณ์ของเขา โดยมีผู้พิพากษาสตรีผิวดำระดับประเทศและมลรัฐ 3 คน อยู่ในข่ายที่อาจได้รับการเสนอชื่อ คนแรกคือผู้พิพากษาคิตานจี บราวน์ แจ็กสัน (Ketanji Brown Jackson) อายุ 57 ปี เธอเป็นผู้พิพากษาศาลสหพันธ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเพิ่งได้ตำแหน่งไม่นานนี้ ทั้งยังได้รับการรับรองจากวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน 3 คนด้วย นอกจากเดโมแครตทั้งพรรค เธอมีสายสัมพันธ์ทางการแต่งงานที่น้องชายสามีไปแต่งกับญาติของพอล ไรอัน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทำให้ได้รับการยอมรับจากวุฒิสมาชิกรีพับลิกันอีกหลายคน

ผู้พิพากษาคนที่สองคือ ลีออนดรา อาร์. ครูเกอร์ (Leondra R. Kruger) อายุแค่ 45 ปี เป็นผู้พิพากษาศาลสูงในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือว่าเป็นดาวกำลังเด่นในวงการ ส่วนคนสุดท้ายคือผู้พิพากษา เจ.มิเชลล์ ไชลส์ (J.Michell Childs) อายุ 55 ปี เป็นผู้พิพากษาระดับจังหวัดแห่งรัฐเซาธ์แคโรไลน่า เมื่อเทียบประสบการณ์อาจไม่ครอบคลุมมากเท่าสองคนแรก แต่คนหลังมีผู้สนับสนุนที่สำคัญยิ่งคือ ส.ส. เจมส์ อี. ไคลเบิร์น (James E. Clayburn) หัวหน้าวิปของพรรคเดโมแครตและเป็น ส.ส.อาวุโสของกลุ่ม ส.ส.ผิวดำในพรรคฯ เขายังบอกอีกด้วยว่า ผู้พิพากษาไชลส์เป็นที่รู้จักและยอมรับของสมาชิกวุฒิสภาสองคนจากรีพับลิกัน ซึ่งจะทำให้เธอได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคอย่างแท้จริง ข้อเสนอของ ส.ส.ไคลเบิร์นมีน้ำหนักต่อไบเดนมาก เพราะเขาเป็นคนที่ช่วยทำให้ไบเดนชนะการเลือกตั้งขั้นต้นในเซาธ์แคโรไลน่า ซึ่งเป็นจุดพลิกสำคัญจนส่งไบเดนชนะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ส่วนที่เหลือคงไม่ต้องพูดถึง

ถ้าให้ผมประเมิน ดูจากคุณสมบัติและประสบการณ์รวมถึงบทบาททางการเมืองของผู้มีโอกาสทั้งสามคน ผมให้คะแนนสูงสุดแก่คนแรกคือแจ็กสัน เพราะแสดงฝีมือในสมัยทรัมป์มาแล้ว ด้วยการยกคำร้องของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่ยอมให้ที่ปรึกษาทำเนียบขาวของเขามาให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการรัฐสภา โดยเธออ้างว่า “ประธานาธิบดีไม่ใช่กษัตริย์ จึงไม่อาจอ้างอภิสิทธิ์ในการถูกตรวจสอบจากรัฐสภา” ผมเชื่อว่าถ้าเธอได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด จะทำหน้าที่ได้อย่างเฉียบแหลมยิ่ง แม้จะไม่อาจเปลี่ยนเสียงข้างมากในศาลสูงสุดได้ในตอนนี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการวางพื้นฐานให้แก่ผู้พิพากษาคนต่อไปที่จะก้าวตามมา

การเมืองเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดจึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ของระบบประชาธิปไตยในอเมริกา เมื่อประชาชนคนข้างล่างลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างกว้างขวาง แรงสะเทือนนี้มีผลต่อการคัดเลือก ตลอดถึงการสร้างคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดผ่านผู้พิพากษาแต่ละคน ว่าจะแสดงถึงความรับรู้และความเข้าใจของศาลสูงสุดที่มีต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีอำนาจอย่างไร

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save