fbpx
ศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนขั้ว?

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนขั้ว?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

ข่าวใหญ่สะเทือนวงการกฎหมายสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็คือ การประกาศแสดงความจำนงขอเกษียณอายุของผู้พิพากษาแอนโทนี เคนเนดี แห่งศาลสูงสุด ในวัย 81 ปี

ความสำคัญอยู่ที่เคนเนดีได้ชื่อว่าเป็น “เสียงชี้ขาด” ในหลายคดีสำคัญของศาลสูงสุดสหรัฐฯ เนื่องจากศาลสูงสุดมีจำนวนผู้พิพากษา 9 คน โดยมีผู้พิพากษาที่ออกเสียงไปในแนวทางอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน 4 คน และมีผู้พิพากษาที่ออกเสียงไปในแนวทางเสรีนิยมอย่างชัดเจนอีก 4 คน เหลือเคนเนดีที่มักเป็นเสียงตัดสิน เพราะแม้ท่านจะออกเสียงตามฝ่ายอนุรักษนิยมในหลายเรื่อง แต่ก็ได้ออกเสียงตามฝ่ายเสรีนิยมในเรื่องสำคัญๆ ส่งผลให้ฝ่ายเสรีนิยมชนะในเรื่องสิทธิในการทำแท้ง สิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ และนโยบายการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยโดยช่วยเหลือกลุ่มคนที่เสียเปรียบในสังคม

ถ้าประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยม เสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาท่านใหม่ซึ่งมีความคิดอนุรักษนิยมสุดขั้ว ก็จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมมีเสียงเด็ดขาดในศาลสูงสุด ที่น่าวิตกกว่านั้น ก็คือ ยังมีผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมอีก 2 ท่าน ที่มีอายุมาก คือ ผู้พิพากษารูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก อายุ 85 ปี และผู้พิพากษาสตีเฟน ไบรเออร์ อายุ 80 ปี (ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ ไม่มีกำหนดอายุเกษียณ แต่จะเกษียณเมื่อแสดงความจำนงขอเกษียณเองหรือเสียชีวิต) เมื่อดูแนวโน้มแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์จึงมีโอกาสที่จะเสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาอนุรักษนิยมเพิ่มอีกในอนาคตอันใกล้

หากฝ่ายอนุรักษนิยมกุมเสียงข้างมากในศาลสูงสุด ประเด็นร้อนแรงที่สุด คือ อาจมีการกลับแนวคำพิพากษา Roe v. Wade ซึ่งศาลสูงสุดในปี ค.ศ. 1973 ได้วินิจฉัยว่า ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกที่จะทำแท้งในระหว่างช่วงแรกของระยะเวลาการตั้งครรภ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 ในคดี Planned Parenthood v. Casey ฝ่ายอนุรักษนิยมได้ต่อสู้ เพื่อขอให้ศาลสูงสุดกลับแนวคำพิพากษาเดิมและสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพื่ออนุญาตให้แต่ละมลรัฐสามารถออกกฎเกณฑ์ห้ามการทำแท้งได้หากต้องการ ในครั้งนั้น เคนเนดีนี่แหละที่เป็นเสียงชี้ขาดว่ามลรัฐไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ห้ามการทำแท้งได้ ส่งผลให้ฝ่ายเสรีนิยมยังคงชนะในประเด็นนี้ ผู้หญิงทั่วประเทศยังคงมีสิทธิเลือกทำแท้งได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

อีกเรื่องที่หลายคนวิตกว่า ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะกลับลำหรือไม่ คือ เรื่องสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ เพราะในคดี Obergefell v. Hodges ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้รับรองสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ ก็เพราะเคนเนดีอีกเช่นกันที่ลงคะแนนชี้ขาดทำให้ฝ่ายเสรีนิยมชนะเสียง 5-4

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า แม้จะมีโอกาสอยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริง ศาลสูงสุดในอนาคตคงไม่กล้ากลับแนวคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าว เพราะจะเท่ากับสวนกระแสสังคม เนื่องจากในปัจจุบัน ผลการสำรวจชี้ว่า มีผู้สนับสนุนสิทธิการแต่งงานของคนรักร่วมเพศสูงถึง 64% ของประชากรทั้งหมด แตกต่างจากเรื่องสิทธิในการทำแท้ง ที่เป็นประเด็นที่เสียงสนับสนุนและคัดค้านยังก้ำกึ่งมาก

กระแสสังคมที่สนับสนุนสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ ยังทำให้พรรครีพับลิกันที่กุมเสียงนิติบัญญัติในบางมลรัฐต้องคิดหนัก เพราะหากเลือกออกกฎหมายห้ามการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ โดยหวังว่า ศาลสูงสุดที่มีผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นเสียงข้างมากจะเห็นคล้อยตามเมื่อเรื่องถึงศาล แต่การเลือกทำเช่นนั้นจะมีต้นทุนทางการเมืองสูงมาก เพราะย่อมจะส่งผลกระทบต่อความนิยมของผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน รวมทั้งบริษัทใหญ่ๆ อาจเพิกถอนการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรค เพราะกลัวสังคมและพนักงานประณาม

เรื่องสุดท้ายที่วิตกกัน คือ นโยบายการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยโดยช่วยเหลือกลุ่มคนที่เสียเปรียบในสังคม ในปัจจุบัน ศาลสูงสุดยังคงยอมรับนโยบายของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่มีนโยบายรับคนผิวสีโดยใช้เกณฑ์ที่แตกต่างจากเกณฑ์ปกติ เพื่อให้ได้สัดส่วนนักศึกษาที่มีความหลากหลาย ในปี ค.ศ. 2016 เคนเนดีเป็นเสียงชี้ขาดในคดี Fisher v. University of Texas ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยของรัฐในสหรัฐฯ ยังสามารถใช้เกณฑ์พิเศษในการรับคนผิวสีได้ แต่หากในอนาคต มีผู้พิพากษาที่อนุรักษนิยมมาแทนเคนเนดี ก็น่าจะมีการกลับแนวคำพิพากษาในเรื่องนี้

ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมา ล้วนเป็นการต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายเสรีนิยมในสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายเสรีนิยมจึงหวาดวิตกมากกับข่าวเคนเนดีประกาศขอเกษียณอายุ พรรคเดโมแครตเองเตรียมระดมกำลังหาเสียงอย่างเต็มที่เพื่อจะได้ชนะการเลือกตั้งมิดเทอมที่กำลังมาถึงในเดือนพฤศจิกายน โดยหวังว่าจะกลับมากุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สามารถปฏิเสธที่จะรับรองรายชื่อผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอได้

ขอปิดท้ายด้วยข้อสังเกตที่น่าคิด 2 ข้อ ข้อแรก คือ ในความเป็นจริงแล้ว ผู้พิพากษาซึ่งได้รับการเสนอชื่อที่หลายคนคิดว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม เมื่อเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ไประยะหนึ่งแล้ว ก็อาจไม่ได้มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดขั้วก็ได้ เพราะตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ เป็นตำแหน่งตลอดชีพ ทำให้ผู้พิพากษามีอิสระเต็มที่ ตัวอย่างเช่นในอดีต ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จากพรรครีพับลิกัน ได้แต่งตั้งซานดรา โอคอนเนอร์ และแอนโทนี เคนเนดี ซึ่งแต่เดิม โอคอนเนอร์ได้ทำหน้าที่เป็น “เสียงชี้ขาด” ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยมอยู่หลายปี จนภายหลังจากที่โอคอนเนอร์ประกาศขอเกษียณอายุ ตัวเคนเนดีก็ขึ้นมารับบทเป็น “เสียงชี้ขาด” แทน ทั้งคู่แม้จะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ด้วยความคาดหมายในตอนแรกว่าทั้งคู่เชื่อมั่นในแนวคิดอนุรักษนิยม แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าทั้งคู่ล้วนมีจุดยืนที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่าจะเป็นอนุรักษนิยมสุดขั้ว

ข้อสังเกตอีกอย่าง ก็คือ หากสุดท้ายประธานาธิบดีทรัมป์ประสบความสำเร็จในการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดขั้วจริง และส่งผลให้ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ กลายเป็นศาลอนุรักษนิยมเต็มตัว ผลโดยตรงคือ ธรรมชาติในการต่อสู้ทางการเมืองในสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบัน แนวทางสำคัญในการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม คือเน้นไปที่การต่อสู้คดีในศาลสูงสุด เพื่อสร้างบรรทัดฐานคุ้มครองสิทธิ และป้องกันการที่เสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายละเมิดสิทธิคนกลุ่มน้อยในสังคม แต่ในอนาคต ถ้าศาลสูงสุดเป็นศาลอนุรักษนิยมที่พึ่งพิงไม่ได้อีกต่อไป แนวทางการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมจะต้องหันมาเน้นการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและความเชื่อของคนหมู่มากมากขึ้น เพื่อหวังให้ได้ผู้แทนที่มีแนวคิดเสรีนิยม หรือกดดันให้ผู้แทนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมไม่ล้ำเส้นหรือท้าทายบรรทัดฐานเดิมที่ศาลสูงสุดได้เคยสร้างไว้

การเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ (ตัวอย่างเช่น เรื่องสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ ที่เมื่อปี ค.ศ. 1996 มีคนสหรัฐฯ เพียง 27% ที่เห็นด้วย แต่ในปัจจุบันเสียงสนับสนุนมีสูงถึง 64%) ในที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะสำเร็จยืนยาว ต้องอาศัยการรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคม จะหวังพึ่งพาผู้พิพากษาที่เห็นด้วยกับแนวคิดเสรีนิยมอย่างเดียวไม่ได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save