fbpx
ย้อนมองการเมืองอเมริกันก่อนขึ้นทศวรรษใหม่ : ทรัมป์กับผีรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ย้อนมองการเมืองอเมริกันก่อนขึ้นทศวรรษใหม่ : ทรัมป์กับผีรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ผ่านปีใหม่มาชวนให้หันกลับไปมองปีเก่า คราวนี้หลายคนว่าต้องมองทบทวนการเมืองและโลกย้อนกลับไปไกลเป็นทศวรรษ ในโอกาสที่ 2020 เป็นปีขึ้นทศวรรษใหม่ของศตวรรษนี้

พูดแบบประวัติศาสตร์ ก็ต้องบอกว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เป็นทศวรรษที่เพิ่งก้าวพ้นเวลาเก่าและกำลังย่างเข้าสู่เวลาใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรที่เป็นคุณและเป็นโทษบ้าง ปัญหาและความก้าวหน้าในโลกจะดีขึ้น (ตามความเชื่อในความเจริญทางเทคโนโลยี) หรือเลวลง (ตามพฤติกรรมทางการเมืองของคนและประเทศทั่วโลก) กันแน่

แนวคิดทัศนะเรื่องการมองเวลาอย่างเป็นเส้นตรงที่เดินไปยังจุดหมายทางโลก ทำให้ผู้คนพากันตั้งวิธีคิดแบบใหม่นี้ไปทั่วโลก ควบคู่กับการแพร่ขยายของปฏิทินและอนุทินหรือไดอารี่บันทึกส่วนตัวของแต่ละคนในแต่ละวัน การมองเวลาแบบนี้เป็นผลิตผลของโลกตะวันตกแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายตะวันออกไม่มีวิวัฒนาการเรื่องเวลาทำนองนี้ ของเรามีเวลาแบบวัฏจักรหรือวงกลม ซึ่งไม่ใช่เรื่องเวลาของคนแต่ละคนที่เป็นปัจเจกบุคคล หากแต่มันเป็นเวลาของชีวิตโดยรวมทั้งแผ่นดินหรือประเทศ ที่ดำเนินไปบนความเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจเปลี่ยนได้ เช่นการเดินทางของดวงดาวตามตำราโหราศาสตร์ และสอดคล้องกับคติความเชื่อทางศาสนา เช่นพราหมณ์ พุทธ เป็นอย่างดี

ทางฝ่ายอัสดงคตหรือตะวันตก คติเรื่องช่วงเวลาของการเปลี่ยนศตวรรษ (turn-of-the-century) ได้ยกระดับไปสู่มโนทัศน์ทางสังคมและวัฒนธรรม จากพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างในทางความคิดและทฤษฎีในแทบทุกด้าน ยุโรปได้ปฏิวัติเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ที่ไม่เหมือนและไม่จำเป็นต้องเรียนรู้และลอกแบบจากของเก่าในอดีตอีกต่อไป ทำให้คำว่า “โมเดิร์น” ไม่ได้แปลว่าสมัยใหม่อย่างเดียว หากยังมีนัยความหมายถึงความเป็นอิสระจากอดีตอีกด้วย งานทางด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม จนถึงวรรณกรรม เป็นหัวหอกของการปฏิวัติที่โค่นล้มความคิดและการปฏิบัติแบบเก่าลงไป เช่นนั้นจึงจะสามารถจินตนาการและสร้างงานศิลปะสมัยใหม่เช่นอิมเพรสชั่นนิสม์ขึ้นมาได้ หนังสือเล่มสำคัญที่ผมเรียนสมัยปริญญาตรีในสหรัฐฯ แต่ก็ยังโดดเด่นและอธิบายยุโรประยะปลายศตวรรษที่ 19 เคลื่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ได้เป็นอย่างดีคือ Fin-de-siècle Vienna: Politics and Culture โดย Carl E. Schorske (1979) อ่านเล่มนี้แล้วจะเที่ยวเวียนนาอย่างเข้าถึงจิตวิญญาณของเมืองกระฎุมพีนี้ได้อย่างดี  หนังสือและการศึกษาทำนองนี้ไม่มีให้เห็นในโลกหนังสือตะวันออก

 

สังคมอเมริกันในช่วงทศวรรษต้นของศตวรรษที่ 21

 

เมื่อลองหันไปมองการเปลี่ยนแปลงของสังคมอเมริกันในทศวรรษที่แล้วๆ มา ไม่ค่อยเห็นความโดดเด่นโดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมมากนัก นวัตกรรมเด่นๆ มาจากด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมบริการประเภทที่ช่วยทำให้ชีวิตคนทั่วไปมีความสุขสะดวกสบายมากขึ้น เรียกได้ว่าสินค้าอุตสาหกรรมอเมริกันถนัดในการผลิตและสร้างข้าวของ ซึ่งช่วยทำให้ภารกิจการงานและการใช้ชีวิตของคนทั่วไป ที่แม้ไม่ใช่เศรษฐี ก็เข้าถึงและมีความสุขกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นได้ ในสมัยก่อนก็คือตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น โทรทัศน์ วิทยุ และลืมไม่ได้คือรถยนต์ฟอร์ดรุ่นแรก ที่เฮนรี่ ฟอร์ดบอกว่าจะผลิตให้กรรมกรของเขานั่งได้ด้วย มาในยุคโลกาภิวัตน์ก็ได้แก่ แอปเปิล เฟซบุ๊ก และอะแมซอน

ที่ถือว่าโดดเด่นในทศวรรษแรกได้แก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับโครงสร้างใหญ่ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีบารัก โอบามา ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกได้สำเร็จ แน่นอนความสำเร็จในทางการเมืองนั้น แยกไม่ออกจากความก้าวหน้าในการยกระดับและสร้างชีวิตทางเศรษฐกิจของคนผิวดำให้ดีขึ้นด้วย  คะแนนเสียงของคนผิวดำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้โอบามาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

อีกปรากฏการณ์ทางการเมืองที่โดดเด่นในทศวรรษต่อมาคือการชุมนุมประท้วงของคนหนุ่มสาว Occupy Wall Street ในช่วงฤดูร้อน ปี 2011 นี่เป็นการประท้วงใหญ่ของมวลชนคนหนุ่มสาวแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งแตกต่างและไม่เหมือนกับคนหนุ่มสาวแห่งยุคทศวรรษ 60 แม้การประท้วงใหญ่ครั้งนี้จบลงไม่โด่งดังและไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลและการเมืองอเมริกันมากเท่าในอดีต แต่มันก็เป็นประจักษ์พยานของความคิดคนหนุ่มสาวที่ต่อต้านรัฐและระบบทุนนิยมที่ยังคงดำเนินต่อมาอย่างไม่ขาดสาย (คงเทียบได้กับการก่อตัวและเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่และการชุมนุมแบบฉับพลัน Flash Mob)

แม้พลังของขบวนการจะเบาบางกว่าในอดีตก็ตาม ทว่ามันก็เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสรีชนอันเป็นพื้นฐานของระบบการเมืองประชาธิปไตยเสรีที่เอื้อต่อการเติบใหญ่และขยายบทบาทของปัจเจกบุคคลอิสระ ที่สังคมและระบบทุนโลกาภิวัตน์ยังไม่อาจขาดมันได้  ปัญหาคือการรวมกลุ่มและเคลื่อนไหวของพลังการเมืองคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะแสดงออกอย่างไรและไปถึงไหน ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมหลายอย่าง ที่ไม่อาจเอามากำหนดให้คนอื่นได้ เช่นการประท้วงของคนหนุ่มสาวฮ่องกง ที่ยกระดับจากการปฏิวัติร่มมาสู่การเผชิญหน้าอำนาจรัฐแต่ก็สลายตัวได้อย่างรวดเร็ว แน่ชัดว่าเป้าหมายของการยึดอำนาจรัฐโดยการประท้วงและเดินขบวนนั้นไม่อาจทำได้และไม่เป็นจริง มันจึงไม่ใช่จุดหมายของการเคลื่อนไหว ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของคนกับการเมืองที่เปลี่ยนไปแล้วจากยุคการปฏิวัติของนักศึกษาและพรรคปฏิวัติสมัยก่อน

 

โดนัลด์ ทรัมป์

 

ถ้าถามว่าในทางการเมือง สหรัฐฯ ในทศวรรษที่กำลังจะผ่านไป มีอะไรใหม่ที่น่าตื่นเต้น หรือไม่มีอะไรน่าสนใจเลย

คำตอบคือมีและมีมากด้วย  ที่โดดเด่นและดังระเบิดไปทั่วโลกไม่มีอะไรเกินการเลือกตั้งโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงคู่คี่กันมาก แต่ทรัมป์ชนะไปในที่สุดด้วยเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง ชัยชนะของทรัมป์ถือว่าเป็นจุดแบ่งสำคัญอันหนึ่งในการเมืองอเมริกันยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องด้วยชัยชนะของเขาเหนือความคาดหมายของผู้คนทั้งในและนอกวงการ เป็นการเข้าสู่วงการเมืองอย่างเหนือเมฆและเหนือกติกากฎเกณฑ์ต่างๆ ของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค แม้วันที่เขาชนะและสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว ผู้สังเกตการณ์ก็ยังเชื่อว่าทรัมป์ไม่น่าจะบริหารปกครองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯได้แน่ๆ ต้องเกิดอุบัติเหตุอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาต้องกระเด็นออกไป

ทว่าทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏเป็นจริง ตรงกันข้าม สิ่งที่ปรากฏให้ประจักษ์แก่ทุกคนคือความกระตือรือร้นและอยากทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์มีอย่างล้นเหลือ ที่เกินความคาดหมายคือเขาทำทุกอย่างตามความอยากและความต้องการของเขา โดยที่ไม่ยอมฟังเสียงและข้อความเห็นจากใครๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าในคณะรัฐบาลหรือในรัฐสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ในวุฒิสภา (และช่วงสองปีแรกในสภาผู้แทนราษฎรด้วย) อันเป็นหลักประกันได้ว่าหากทำเนียบขาวต้องการผ่านกฎหมายอะไรหรือไม่ผ่านอะไรก็ย่อมสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่ต้องทำงานร่วมกับพรรครีพับลิกันในรัฐสภาให้เดินเข้าขากันได้เท่านั้น

สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เหมือนประธานาธิบดีคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจากพรรคใดก็ตาม คือเขาไม่ให้น้ำหนักความสำคัญและความใส่ใจในการทำงานของพรรคการเมืองในรัฐสภาเลยแม้กระเบียดนิ้วเดียว ตรงนี้ที่ทำให้ผมแปลกใจมากๆ เพราะพฤติการณ์ของทรัมป์ที่ปฏิบัติต่อพรรคการเมืองและกลไกรัฐสภานั้น ช่างไม่แตกต่างจากพฤติการณ์และทรรศนะของบรรดาผู้นำรัฐบาลในประเทศโลกที่สามที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายกระทำกัน นั่นคือไม่แยแสและเคารพต่อกฎกติกาของระบบสภาผู้แทนและพรรคการเมือง หากแต่จะทำและสั่งตามความพอใจของท่านผู้นำเป็นสำคัญ  นี่คือหัวใจของระบบปกครองแบบอำนาจนิยมและเผด็จการในหลายประเทศทั่วโลก ที่สหรัฐฯเที่ยวไปวิจารณ์และโค่นล้มเขาลงไป

 

Authoritarian Democracy – ประชาธิปไตยอำนาจนิยม

 

ความแปลกประหลาดประการแรกของการเมืองอเมริกันยุคโดนัลด์ ทรัมป์เป็นใหญ่ในแผ่นดิน คือเขาสามารถทำให้ระบบการเมืองการปกครองที่มีประวัติของความเป็นประชาธิปไตยอันยาวนานกว่าสองศตวรรษ ตกต่ำลงมาอยู่ในระดับเดียวกับของผู้นำโลกที่สามที่ไร้ประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางประชาธิปไตยเลยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หรือประชาธิปไตยอเมริกากำลังแปรเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยม?  ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ใช้รัฐมนตรีและที่ปรึกษาความมั่นคงเปลืองมากที่สุด ภายในสามปี เขาไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการเอฟบีไอ และโฆษกทำเนียบขาว ทีมงานคนสุดท้ายที่ทรัมป์สั่งไล่ออกไม่ทัน เพราะชิงประกาศลาออกก่อนทวีตของทรัมป์ คือจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงคนที่สาม

เชื้อโรคอำนาจนิยมนี้ได้ระบาดไปทั่วระบบและสถาบันประชาธิปไตยอเมริกา วุฒิสภาที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามาสมัยที่สอง เรื่อยมาจนถึงสมัยทรัมป์ก็ร่วมมือกับประธานาธิบดีในการรับรองการแต่งตั้งผู้พิพากษาตั้งแต่ศาลสูงสุดมาถึงศาลสหพันธ์รวมทั้งหมดนับร้อยๆ คน โดยเลือกเฉพาะผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมหรือไม่สนับสนุนลัทธิเสรีนิยมให้เข้ามานั่งในศาลทั่วประเทศ ผู้พิพากษาเหล่านี้มีอายุทำงานชั่วชีวิต นั่นหมายความว่าระบบยุติธรรมอเมริกาก็กำลังเหมือนกับของไทยคือเอียงข้างอนุรักษนิยมและต่อต้านเสรีนิยมทุกประตู

สิ่งประหลาดประการที่สองที่อุบัติขึ้นในสมัยผีทรัมป์ครองเมือง คือการฟื้นคืนชีพและเติบใหญ่ของพลังและการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายขวา อนุรักษนิยมสุดขั้ว คลั่งชาติผิวขาวเป็นเจ้า (White Supremacy) ต่อต้านเป็นศัตรูกับคนกลุ่มน้อยทั้งปวง รวมถึงกลุ่มสตรีนิยม กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และกลุ่มเรียกร้องสิทธิในการทำแท้ง  สังคมอเมริกันในยุคทรัมป์จึงเห็นคนขาวออกมาไล่เข่นฆ่าคนผิวดำ คนต่างชาติต่างศาสนาและต่างสีผิวในเมืองต่างๆ เป็นว่าเล่น กฎหมายการควบคุมอาวุธปืนก็จะไม่มีวันผ่านได้สำเร็จในสหรัฐฯ ยุคนี้  ล่าสุดช่วงเทศกาลคริสต์มาสมีการทำร้ายคนนับถือศาสนายิวในบ้านพักส่วนตัวขณะจัดงานทางพิธีศาสนา (Hanukkah) ผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์กประกาศว่าการใช้ความรุนแรงดังกล่าวต้องเรียกว่าเป็นการ “ก่อการร้ายในประเทศ” (domestic terrorism) โดยที่หัวโจกใหญ่ของการเผยแพร่ความคิดและการกระทำดังกล่าวไม่ใช่ใครที่ไหน หากคือโดนัลด์ ทรัมป์นั่นเอง เพราะในการพูดปลุกระดมหาเสียงทุกอาทิตย์ของเขาก็มีท่วงทำนองของการยุยงให้คนขาวเกลียดและขับไล่คนอื่นๆ ออกไปอยู่เรื่อย

 

อนาคตและทางออกใหม่

 

สหรัฐฯ มีความได้เปรียบหลายประเทศโดยเฉพาะพวกโลกที่สาม ตรงที่มีประวัติศาสตร์และความต่อเนื่องของระบบรัฐธรรมนูญ และระบบการแบ่งและถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยทั้งสาม ในสภาพการณ์ที่อำนาจบริหารตกอยู่ในมือของผู้นำที่เอียงข้างไปแบบอำนาจนิยมและเผด็จการทางความคิด ยังมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเจตนารมณ์ของพวกตนออกมา แต่ก่อนที่สถาบันและการเลือกตั้งจะทำงานได้อย่างเต็มที่ จำต้องมีสื่อมวลชนและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งสนับสนุนและคัดค้าน กระทั่งต่อต้านรัฐบาลและประธานาธิบดีได้ ตรงนี้เองที่เห็นได้เลยว่า ประชาธิปไตยอเมริกาไม่ได้ตั้งมั่นเพราะทหารไม่มีน้ำยาในการทำรัฐประหาร หากแต่เพราะสื่อมวลชนที่มีสำนึกและสันหลังต่างหากที่ทำให้ทรัมป์และพรรครีพับลิกันไม่ถลำลงไปในหุบเหวมากกว่านี้ หากวอชิงตันโพสต์ และ นิวยอร์กไทมส์ ไม่ต่างไปจากสำนักข่าวปราฟดา และซิงหัว หรือ พีเพิลเดลี่ การเมืองอเมริกันในปัจจุบันคงไม่มีน้ำยาอะไรให้โลกดูและเรียนรู้กันต่อไป

ตลอดสามปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญในหลายเรื่องหลายวาระ แต่ไม่อาจจับและไล่ได้ทัน เพราะเมื่อมีการร้องเรียนไปถึงศาล ศาลสหพันธ์ก็ตัดสินให้ทรัมป์แพ้หลายเรี่อง เช่น กรณีประกาศแบนไม่ให้คนจากประเทศมุสลิมหัวรุนแรงจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ แต่ทรัมป์ก็หัวหมอตามสันดานนักธุรกิจเขี้ยวลากดิน ส่งเรื่องขึ้นไปยังศาลสูงสหรัฐฯ โดยเชื่อว่าเสียงข้างมากที่ทรัมป์เป็นคนแต่งตั้งจะตอบแทนเขาด้วยการแก้ต่างคดีละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ได้สำเร็จ

 

ผีรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ?

 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดพรรคเดโมแครตก็แก้สถานการณ์การเมืองที่กำลังดิ่งลงเหวด้วยการผนึกกำลังภายในพรรค กระทั่งนำไปสู่การประกาศดำเนินการสอบสวนเพื่อทำการฟ้องร้องถอดถอนประธานาธิบดีต่อไปตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการสอบสวนการกระทำของประธานาธิบดีได้ หากมีการละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ กระทำความผิดขั้นอุกฉกรรจ์และทรยศต่อประเทศรวมทั้งการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของรัฐสภาด้วย

ก่อนหน้านี้กระทรวงการยุติธรรมได้แต่งตั้งคณะอัยการพิเศษภายใต้ โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ (สำนักงานสอบสวนกลาง) ให้ทำการสอบสวนพฤติการณ์และการกระทำที่ร่วมมือกับรัสเซียในการเลือกตั้งปี 2016 แต่เมื่อรายงานการสอบสวนออกมา ก็ไม่สามารถระบุอย่างตรงๆ และชัดเจนว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำความผิดอะไรบ้าง เพียงแต่กล่าวว่ามีหลักฐานว่าเขามีส่วนรู้เห็นในการกระทำหลายอย่างที่ผิดกฎหมาย นำไปสู่การฟ้องร้องและตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่และทนายความส่วนตัวของทรัมป์ไปสองสามคน แต่ไม่สามารถดำเนินคดีกับตัวทรัมป์เองได้ สาเหตุเพราะมีเงื่อนไขที่ระบุว่าคณะกรรมการไต่สวนนี้ไม่สามารถกล่าวโทษประธานาธิบดีที่ยังอยู่ในตำแหน่งได้

เดือนมกราคมในปีใหม่นี้จึงต้องจับตาว่าการเมืองอเมริกันจะเดินไปสู่ทิศทางใด แนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นเสียงข้างมาก กำลังรอเวลาและจังหวะในการส่งคำสอบสวนเพื่อฟ้องร้องการละเมิดรัฐธรรมนูญของทรัมป์ไปยังวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนไต่สวนคำร้องให้ถอดถอน (articles of impeachment) ของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน  ทั้งนี้เนื่องจาก มิตช์ แมคคอนแนล หัวหน้าเสียงข้างมากในวุฒิสภา บอกก่อนแล้วว่าจะไม่เรียกพยานและหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีก โดยจะพิจารณาจากคำร้องของสภาผู้แทนฯ เท่านั้น คิดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการตัดสิน ใครๆ ก็รู้ว่าวุฒิสมาชิกรีพับลิกันจะออกเสียงไม่ถอดถอนนายทรัมป์อย่างแน่นอน นี่เองทำให้เดโมแครตไม่พอใจ และต้องการให้เรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดี

สุดท้ายในระหว่างการเขียนบทความนี้ ทรัมป์ได้อนุมัติให้เพนตากอนใช้อาวุธโดรนสังหารพลตรีโซไลมานีของกองกำลังพิเศษอิหร่าน สร้างความตึงเครียดไปทั้งภูมิภาคและทั่วโลก นี่คือฝันร้ายที่หลายคนบอกว่าจะต้องเกิดตราบใดที่ทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ เขาจะต้องดำเนินนโยบายที่ประหลาดเพี้ยนๆ ที่คนอื่นคิดไม่ถึงและไม่กล้าทำ แต่สำหรับทรัมป์แล้ว การทำอะไรที่ไม่อยู่ใต้กรอบและกฎเกณฑ์กฎหมายคือความถนัดและชำนาญ ความสำเร็จในชีวิตธุรกิจของเขาคือการโกหกหลอกลวงและละเมิดกฎหมายอย่างถูกต้อง และเอาตัวรอดมาได้จนถึงวันนี้

คำถามคืออะไรและใครในสหรัฐฯ หรือในโลก จะสามารถหยุดความบ้าคลั่งของทรัมป์ได้

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ?

หากพรรคเดโมแครตสามารถหยุดยั้งทรัมป์ แม้อาจจะไม่สามารถถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งได้ ก็จะเป็นเครื่องแสดงน้ำยาและความศักดิ์สิทธิ์ของผีรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนที่สุดในโลกฉบับนี้ได้ ซึ่งคงทำให้คนไทยครึ่งประเทศอิจฉาคนอเมริกันยิ่งนัก ว่าทำไมถึงโชคดีอย่างนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save