fbpx
การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐ : จับตาประกายไฟที่พร้อมไหม้ลามทุ่งของเดโมแครต

การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐ : จับตาประกายไฟที่พร้อมไหม้ลามทุ่งของเดโมแครต

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

การเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี ในปีนี้เริ่มมาแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นการเลือกตั้งบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เลือกทั้งหมดทุก 2 ปี) และสมาชิกวุฒิสภา (เลือก 1 ใน 3 ทุก 2 ปี วาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี) เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงกลางวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี (2 ปี หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี) เลยเรียกว่า “การเลือกตั้งกลางเทอม”

การเลือกตั้งกลางเทอมเป็นตัววัดคะแนนเสียงและความนิยมที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดีและพรรคการเมืองของเขา ในจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่จะต้องรับการเลือกตั้งใหม่ มีเก้าอี้ที่พรรครีพับลิกันครองอยู่ 238 คนในสภาผู้แทนราษฎร และ 9 คนในวุฒิสภา ซึ่งมากพอที่จะทำให้การกุมเสียงข้างมากในสภาคองเกรสทั้งสองเปลี่ยนไปได้

ในปีนี้บรรยากาศและการรณรงค์เลือกตั้งกลางเทอมดำเนินไปอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจังอย่างมาก โดยเฉพาะจากฝ่ายพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยทั้งในสภาคองเกรสทั้งสอง และในทำเนียบขาว การตีตื้นและชัยชนะในการเลือกตั้งกลางเทอมจึงเป็นปรอทวัดไข้ของพรรคเดโมแครตว่าอาการป่วยและโรคภัยต่างๆ ในร่างกายค่อยทุเลาลงไปบ้างหรือยัง

ถึงตอนนี้ผลการเลือกตั้งขั้นต้นในหลายรัฐประกาศออกมาแล้ว สิ่งที่สร้างความฮือฮาและประหลาดใจอย่างมากให้แก่ผู้สังเกตการณ์การเมืองอเมริกัน นั่นคือ ปรากฏการณ์ของคลื่นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ส่วนใหญ่เป็นสตรี วัยหนุ่มสาว และไม่(ผิว)ขาว นี่คือคลื่นลูกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนหรือปฏิวัติพรรคเดโมแครต

กล่าวได้ว่าเป็นครั้งที่สองที่มีผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งระดับชาติมากเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับครั้งแรกในปี 1992 แล้ว ครั้งนี้มีจำนวนมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ติดเลย คำถามย่อมตามมาแน่นอนว่าอะไรคือมูลเหตุของการทำให้ผู้หญิงอเมริกันจำนวนมากลุกขึ้นแล้วตัดสินใจเข้าสู่เวทีการเมืองระดับใหญ่

คนแรกที่จุดประกายระเบิดน้อยๆ ให้แก่การเลือกตั้งไพรมารีของพรรคเดโมแครตคือ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ เธอชนะคู่แข่ง โจ โครว์ลีย์ ส.ส.นิวยอร์ก 10 สมัย แกนนำเบอร์สี่ของพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎร ว่ากันว่าถ้าโครว์ลีย์ชนะการเลือกตั้งใหญ่ในคราวนี้จะเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะเข้าไปแทนที่ ส.ส. แคลิฟอร์เนีย แนนซี เพโลซี ในฐานะแกนนำเบอร์หนึ่งของพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้น โครว์ลีย์ยังได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำพรรคเดโมแครต ตั้งแต่ แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก คูโอโม จนถึง ชัค ชูเมอร์ หัวหน้าเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา

ชัยชนะของม้ามืดอย่างโอคาซิโอ-คอร์เตซ จึงเป็นการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในพรรคเดโมแครต เธอมีอายุเพียง 28 ปีและประกาศตัวเองเป็นสังคมนิยม ถ้าเธอชนะการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอายุน้อยที่สุด (ขณะนี้ ส.ส.ในคองเกรสที่อายุน้อยที่สุดคือ 30 ปี จากพรรครีพับลิกัน) เธอไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้แทนหรือดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งใดๆ ในรัฐมาก่อนเลย เรียกได้ว่าเป็นมือใหม่หัดขับจริงๆ

ล่าสุด อยานนา เพรสลีย์ ก็ได้รับชัยชนะในไพรมารีรัฐแมสซาชูเซตส์เหนือคู่แข่งที่เป็น ส.ส.มาแล้ว 10 สมัย ก่อนหน้านี้ แอนดรู กิลลัม นายกเทศมนตรีเมืองทัลลาฮัสซี ฟลอริดา ก็ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นในสนามผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เขาจะเป็นผู้สมัครผิวดำคนแรกของรัฐ เช่นเดียวกับ สเตซีย์ แอแบรมส์ ที่จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย น่าสนใจว่าฟลอริดาและจอร์เจียเป็นสองรัฐเก่าของสหพันธรัฐอเมริกาสมัยสงครามกลางเมืองที่เลือกผู้สมัครพรรคเดโมแครตที่เป็นคนผิวดำเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ รายชื่อของคลื่นลูกใหม่ยังมีอีกมาก ทำให้การเลือกตั้งกลางเทอมปีนี้น่าตื่นเต้นสุดๆ

ถ้าเช่นนั้นอะไรคือมูลเหตุและปัจจัยที่หนุนช่วยให้โอคาซิโอ-คอร์เตซและอีกหลายคนได้รับชัยชนะ ไม่ใช่โชคช่วยหรือฟ้าบันดาลอย่างแน่นอน หากแต่เป็นเรื่องของการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองของคนที่มีความหวังและอุดมการณ์ในระบบนี้

จุดเริ่มต้นของโอคาซิโอ-คอร์เตซ มาจากการเข้าร่วมรณรงค์หาเสียงให้อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี เบอร์นี่ แซนเดอร์ส เธอได้มีโอกาสนั่งรถตระเวนไปทั่วประเทศ จนทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงก็ต้องออกไปหาประชาชน และทำให้พวกเขาหันมาสนับสนุนนโยบายและแนวทางของเธอ

ต่อมา กลุ่มจัดตั้งของพวกเดโมแครตหัวก้าวหน้าในนาม Brand New Congress ซึ่งเป็นพวกคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เชื่อว่านโยบายแบบเดิมๆ ที่พรรคเดโมแครตใช้มา เช่น การหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ซึ่งก็คือแนวทางที่เป็นกลาง ร่วมได้กับทุกฝ่ายและอุดมการณ์ นั้นไม่ประสบความสำเร็จ พวกนี้ต้องการเอียงไปทางสังคมนิยม หลังจากเบอร์นี แซนเดอร์ส พ่ายแพ้ ก็พากันออกควานหานักการเมืองหน้าใหม่ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาคองเกรสหน้าใหม่จริงๆ

โอคาซิโอ-คอร์เตซ เป็นหนึ่งในคนหน้าใหม่ที่กลุ่มนี้เชื่อว่ามีอนาคต (ยังไม่ใหม่) จึงช่วยเธอวางแผน ร่างนโยบายและคำขวัญในการหาเสียง นโยบายหลักคือ การประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยรัฐ ยกเลิกสำนักงานควบคุมผู้อพยพและศุลกากร (Immigration and Customs Enforcement – ICE) และบางคนที่แรงมากก็เสนอให้ดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย

เห็นได้ชัดว่า แนวนโยบายของกลุ่มเอียงซ้ายหรือก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตมุ่งไปที่พวกผู้อพยพและคนกลุ่มน้อยที่กำลังถูกนโยบายของทรัมป์และรีพับลิกันโจมตีและจับตัวส่งกลับภูมิลำเนา นี่เป็นการหาเสียงที่ฝ่ายกลางๆ ไม่ค่อยกล้าพูดออกมาเต็มปาก เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงจากพวกคนผิวขาวและอนุรักษนิยมทั้งหลาย

หนทางและแนวนโยบายของกลุ่มซ้ายในพรรคเดโมแครตว่าไปแล้วก็ไม่ใช่อะไรที่ใหม่และแปลกประหลาดกว่าที่เคยทำกันมา  นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมการเมืองที่ไหนๆ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการจัดตั้ง ผ่านการปลุกระดม ปรับทุกข์ ผูกมิตรในหมู่บ้านและเมืองทั้งหลาย ที่แปลกคือคราวนี้ผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะอิทธิฤทธิ์ด้านลบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นี่เอง

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มีประวัติและความประพฤติด่างพร้อยในเรื่องเพศ การมีสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงอื่น ไปจนถึงการลวนลาม การประณามผู้อพยพที่ไม่ถูกกฎหมายว่าเป็นอาชญากรและนักข่มขืน การกีดกันผู้อพยพจากประเทศมุสลิม จนถึงการชูลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ในนามของความเป็นอเมริกัน ซึ่งเป็นยี่ห้อและเครื่องมือที่เขาใช้ในการปลุกระดมคนขาวให้ลุกขึ้นมาสนับสนุนนโยบาย ‘อเมริกาเป็นใหญ่’ ของเขาอย่างได้ผลไม่น้อย จนนำไปสู่การตื่นตัวและออกมาประท้วงคัดค้านนโยบายและพฤติกรรมเหยียดผิวเชื้อชาติและเพศสภาวะของทรัมป์เป็นการใหญ่

ทั้งหมดนี้ทำให้การหาเสียงและลงคะแนนเสียงมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนมาก แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญว่าระบบการเมืองต้องเป็นระบบที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าสู่อำนาจรัฐได้ โดยกระทำผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผ่านการเดินขบวนปิดเมืองหรือด้วยกำลังอาวุธ  ประชาชนแสดงออกในการต่อต้านอำนาจและนโยบายของรัฐบาล และเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านพรรคการเมืองอย่างสันติไม่ใช้ความรุนแรง

ทำไมพรรคการเมืองถึงสำคัญและจำเป็นสำหรับระบบประชาธิปไตยเสรี คำตอบต้องไปอ่านและเข้าใจประวัติศาสตร์

ข้อที่น่าสนใจคือ พรรคการเมืองอเมริกันเกิดและพัฒนาไปด้วยตัวของมันเอง ท่ามกลางปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจการเมือง จนยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงและพัฒนาต่อไป ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก (กฎหมายาการเลือกตั้ง) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาควบคุมหรือช่วยพัฒนาให้พรรคการเมืองเดินไปอย่างไร

กำเนิดของพรรคการเมืองแบบนี้เรียกว่าเป็นการเกิดภายในสถาบันรัฐสภา ส่วนแบบไทยเรียกว่าเกิดจากภายนอกรัฐสภา คือเป็นความต้องการหรือเป็นความฝันของคนนอกทั้งหลาย ที่ช่วยกันเขียนกฎระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ให้แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองนำไปปฏิบัติ  ส่วนคนที่ต้องปฏิบัติคือนักการเมืองนั้น ไม่เคยได้มีโอกาสอย่างจริงจังในการสร้างและพัฒนา ทั้งภายในพรรคและในสถาบันการเมืองการปกครอง จึงมิอาจสรุปประสบการณ์และความรู้จากการปฏิบัติขึ้นมาเป็นกฎกติกาที่พวกนักการเมืองใช้กำกับการทำงานของพวกเขากันเอง ดังที่นักการเมืองอเมริกันได้กระทำมานับศตวรรษ

ระบบพรรคการเมืองอเมริกามี 3 ยุค ยุคแรกหลังการปฏิวัติ เกิดกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายหนึ่งเรียก ‘เฟดเดอรัลลิสต์’ สนับสนุนให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมาก อีกฝ่ายเรียก ‘แอนตี้เฟดเดอรัลลิสต์’ หนุนให้แต่ละรัฐมีอำนาจรัฐของตนเองและให้กำกับควบคุมอำนาจของรัฐบาลกลาง

การพัฒนาพรรคการเมืองระยะที่สองในช่วงปี ค.ศ. 1828-1860 นำไปสู่การเกิดระบบสองพรรคที่เป็นตัวแทนของการเมืองระดับชาติ สองพรรคแรกคือพรรคเดโมแครตกับพรรควิก นโยบายสำคัญที่แตกต่างกันในขณะนั้นคือ ปัญหาเรื่องทาสผิวดำในภาคใต้ ซึ่งกำลังขยายไปทางตะวันตก ความหนักหน่วงและรุนแรงของปัญหาทาสทำให้พรรควิกต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ นำไปสู่การตั้งพรรคใหม่คือพรรครีพับลิกัน และเปิดหนทางให้แก่ ส.ส.หน้าใหม่นาม ลิงคอล์น ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของพรรคได้ในการเลือกตั้งที่แตกแยกและไม่เรียบร้อยที่สุดในปี 1860

พัฒนาการของพรรคการเมืองยุคที่สาม ในช่วงปี ค.ศ. 1865-1967 เริ่มหลังจากสงครามกลางเมืองยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของภาคใต้และความบอบช้ำของทั้งประเทศ  ระยะสงครามกลางเมืองจึงเป็นระยะเดียวในระบบการเมืองอเมริกันที่ระบบพรรคการเมืองไม่ได้ดำรงอยู่ (ตรงข้ามกับระบบการเมืองไทย ซึ่งเวลาส่วนใหญ่ระบบพรรคไม่ได้ดำรงอยู่ มีเพียงแต่เวลาสั้นๆ เท่านั้นที่ระบบพรรคทำงานอย่างเป็นปกติ)

ลักษณะเด่นของระบบพรรคการเมืองนับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอีกแล้ว ทั้งหมดเป็นการปรับตัวและแก้ไขจากระเบียบกฎเกณฑ์และธรรมเนียมการปฏิบัติที่เคยทำกันมาในยุคแรกและยุคที่สองทั้งสิ้น  พัฒนาการของพรรคการเมืองอเมริกันในยุคที่สามจึงยาวนานมากกว่ายุคใดๆ และคิดว่าคงจะดำเนินไปในอนาคตทำนองนี้  จึงน่าจะไม่มีประวัติพรรคการเมืองยุคที่สี่เกิดขึ้นมาอีก

ประวัติการปรับและเปลี่ยนแปลงพรรคและระบบพรรคการเมืองอเมริกันในระยะที่สามนี้ แบ่งออกได้ 3 ช่วง คือระยะของการมีระบบสองพรรคครั้งที่ 3 ในระหว่างทศวรรษปี ค.ศ. 1890  ช่วงที่สองคือระยะของการมีระบบพรรคครั้งที่สี่ จากปี ค.ศ. 1890-1932  และช่วงสุดท้ายคือการมีระบบพรรคครั้งที่ห้าจากปี ค.ศ. 1932-1960 แต่ละช่วงก็มีลักษณะเด่น มีจุดอ่อนจุดแข็งอันเป็นธรรมดาของโลกการเมือง

หลังจากผ่านสงครามกลางเมืองมา สังคมอเมริกันก็ค่อยๆ พัฒนาเข้าสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น เมืองเติบใหญ่และขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการเปิดเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ากับภาคตะวันตกได้สำเร็จ เป็นอันว่าสหรัฐฯรวมประเทศเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวได้อย่างแท้จริงทั้งทางกายภาพภูมิศาสตร์และทางจิตใจ ตอกย้ำอุดมการณ์การปฏิวัติอเมริกาในหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มาจากประชาชน และเพื่อประชาชน

สภาพเศรษฐกิจการเมืองใหม่ที่มีผลต่อระบบพรรคการเมืองและการเมืองทั้งประเทศด้วย นั่นคือ การเติบใหญ่และทรงอิทธิพลของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและชนชั้นนายทุนใหญ่  ผลอันหนึ่งคือเมื่อทุนใหม่เจอกับอำนาจการเมืองที่เพิ่งฟื้นตัว ความอ่อนแอของระบบการเมืองปรากฏออกมาผ่านการเกิดคอร์รัปชันอย่างขนานใหญ่โดยเฉพาะในการเมืองระดับชาติ

สภาพของระบบการเมืองและพรรคการเมืองระยะนี้ละม้ายคล้ายกับสภาวะของการเมืองและพรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน หัวคะแนนในเมืองใหญ่ๆ มีบทบาทสำคัญมากต่อการเลือกตั้ง มีการใช้อิทธิพลทั้งลับและเปิดในทุกรูปแบบเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้และผลักดันนโยบายของตน

การเมืองอเมริกันโชคดีกว่าที่อื่นๆ ตรงที่ไม่มีอภิสิทธิชนและเจ้าพ่อขุนศึกอย่างแท้จริง เมื่อระบบคอร์รัปชันเกิดมากขึ้น ในที่สุดบรรดาคนชั้นกลาง พวกมีการศึกษา มีอาชีพและความรู้มากก็รวมตัวกันเข้าผลักดันให้ทำการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ เกิดกระบวนการก้าวหน้าขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (Progressive Era, 1900-1917) อันนำไปสู่การชำระและแก้ไขกฎระเบียบไปถึงการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการปฏิรูปและให้ความเสมอหน้าแก่คนทั่วไปมากขึ้น  ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิเสมอภาคทางการเมือง คนงานเรียกร้องสวัสดิการ โดยสรุปคนชั้นกลางลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขามากขึ้น  ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีได้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเป็นคนแรก นั่นคือ วูดโร วิลสัน

ระยะที่สองนี้พรรคการเมืองจึงได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางให้ต้องปรับปรุงและดำเนินนโยบายปฏิรูปมากขึ้น ที่น่าสนใจคือเมื่อพรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนมากขึ้น ก็มีผลทำให้โครงสร้างและองค์กรของพรรคเองอ่อนลง การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญอันหนึ่งคือการเกิดระบบการเลือกตั้งขั้นต้น (primary election) นั่นคือ การให้สมาชิกพรรคในแต่ละเมืองคัดเลือกผู้สมัครว่าจะเสนอใคร ไม่ใช่หัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้คัดเลือก

นับจากนั้นมาระบบการเลือกตั้งขั้นต้นกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมพรรคการเมืองโดยประชาชน  แต่อย่าเพิ่งฝันหวานไป สมาชิกพรรคที่จะมีโอกาสได้รับการเสนอชื่อ ต้องมาจากคนที่มีประสบการณ์และมีคุณสมบัติที่ยอมรับก่อนแล้ว ดังนั้น คนที่จะได้รับเสนอชื่อในการเข้าแข่งตำแหน่งประธานาธิบดี  อย่างน้อยก็ต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาคองเกรสอาวุโส หรือผู้ว่าการรัฐมาก่อน  ดังนั้นอิทธิพลของบรรดาแกนนำระดับสูงในพรรคก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ใช้ในทุกเรื่องเท่านั้น

ระยะสุดท้ายหลังจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำมาถึงยุคการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ  สภาพแวดล้อมทางการเมืองในประเทศมีผลต่อการปรับปรุงและทำงานของพรรคการเมืองเหมือนยุคก่อนหน้านี้  วิกฤตระดับชาติและระดับโลกคือเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประธานาธิบดีโรสเวลต์ประกาศใช้นโยบายนิวดีลหรือข้อตกลงใหม่ สาระสำคัญคือการที่รัฐเข้าไปดำเนินการในทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเริ่มใช้นโยบายสวัสดิการสังคม เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจทุนที่รัฐอุปถัมภ์ (corporate capitalism) ทำให้พรรคการเมืองทั้งระดับมลรัฐและระดับชาติมีผลประโยชน์ร่วมกัน การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ลดลงไปในระยะก่อนหน้านี้  การรณรงค์หาเสียง การสร้างนโยบายพรรคเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพรรคการเมืองและนักการเมือง

จากนั้นมาพรรคการเมืองอเมริกันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในทางพื้นฐานอีกเลย  มีแต่การปรับตัวและทำโฉมหน้าให้ดูดีขึ้น แต่การบริหารพรรค การทำงาน การหาสมาชิกและการเตรียมนักการเมืองรุ่นต่อไปก็ดำเนินไปตามปกติ  กล่าวได้ว่าทุกอย่างลงตัวแล้ว จากนั้นมา ระบบพรรคการเมืองก็สามารถทำงานไปได้ด้วยตัวมันเอง และขึ้นลงตามกระแสการเมืองระดับชาติและในโลก

ข้อสรุปจากการศึกษาระบบพรรคการเมืองเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐฯ กับไทย

ประการแรก คือ ระบบพรรคการเมืองอเมริกาเกิดภายในระบบรัฐสภาคองเกรส ไม่ได้เกิดนอกรัฐสภาและนอกรัฐธรรมนูญ ไม่มีมือที่มองไม่เห็นและอำนาจที่เหนือการเมืองมาบงการและกำกับเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและการปฏิบัติของพรรคการเมือง ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคการเมืองและบงการพรรคการเมืองได้ พรรคอิสระเกิดได้แต่เป็นได้แค่พรรคชั่วคราว

ระบบสองพรรคหยั่งรากลึกและเป็นประสบการณ์ร่วมของคนทั้งชาติทุกกลุ่มสีผิวและเพศสถานะ มันจึงเป็นระบบที่มีชีวิตและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวมันเองได้เมื่อเกิดอาการป่วยไข้หรือติดเชื้อโรค

ประการที่สอง ระบบพรรคการเมืองอเมริกาต้องดำรงอยู่ภายในรัฐที่เป็นเสรีนิยมและมีอุดมการณ์เสรีนิยม ถึงจะเอียงซ้ายอยากเป็นสังคมนิยมแค่ไหน ก็จะเป็นได้แค่สังคมนิยมเสรีแบบนิวดีลของประธานาธิบดีโรสเวลต์ หรือโอบามาแคร์

ประการสุดท้าย อำนาจรัฐอยู่ภายใต้การปกครองของพลเรือนหรือผู้นำการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง ต่อให้กองทัพสหรัฐฯ มีอำนาจทางทหารมากสุดในโลก ก็จะไม่อาจทำให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นสร้างและรักษาพัฒนาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมให้เติบใหญ่และแข็งแกร่งยากจะถูกบ่อนทำลายและทรุดล้มอย่างหลายประเทศในโลก

แถมท้ายอีกนิดสำหรับบ้านเมืองที่อยากได้ระบบไพรมารีในการเลือกตั้งของตน การที่อเมริกาและคนชั้นกลางประสบความสำเร็จในการสร้างระบบไพรมารีและดำเนินต่อมาอย่างได้ผลดี ไม่ใช่เพราะรัฐบาลหรือนักกฎหมายเนติบริกรเก่งกล้าสามารถช่วยเขียนกฎหมายเลือกตั้งให้

ตรงกันข้าม ระบบไพรมารีเกิดเพราะระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองได้ดำเนินมาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว ราษฎรผู้ใช้สิทธิการเมืองในการเลือกตั้งร่วมกันสรุปบทเรียนและจุดอ่อนของระบบสองพรรคและอิทธิพลของแกนนำและหัวคะแนน จนร่วมกันลงประชามติว่าให้เปลี่ยนมาเป็นระบบที่ผู้เลือกตั้งเป็นคนช่วยกันเลือกเองว่าจะเอาใครมาเป็นผู้สมัครในนามผู้แทนของพรรคต่อไป

ระบบไพรมารีในแต่ละรัฐจึงไม่เหมือนกัน มีกฎระเบียบอันเป็นของตนเอง และออกโดยราษฎรด้วยกันเอง ไม่ใช่นักกฎหมายและรัฐบาลกลาง บางรัฐที่ก้าวหน้า เช่น แคลิฟอร์เนีย ไปไกลถึงขนาดว่าในวันเลือกตั้งไพรมารีให้ผู้สมัครทั้งสองพรรคและอิสระลงรับสมัครพร้อมกันในที่เดียวกัน ไม่ต้องแยกไปตามพรรค แล้วนับคะแนนรวมว่าใครได้ชนะและแพ้

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่พรรคเดโมแครตอาจชนะไพรมารีทั้งสองคนในเขตหนึ่ง หากคะแนนนำผู้สมัครพรรครีพับลิกัน  แล้วเข้าไปแข่งขันกันเองอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนต่อไป.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save