fbpx

กระสุนลั่นกลางโรงบรรเลงดุริยางค์: ลัทธิปัจเจกชนสุดขั้วกับการขยายตัวเองของระบบทุนนิยม

ผมคงเหมือนกับคนติดตามข่าวสารบ้านเมืองในอเมริกาที่อดไม่ได้ที่จะระทึกใจและคับข้องใจในวิกฤตการกราดยิงในสหรัฐฯ ที่ฆ่าคนบริสุทธิ์ไปอย่างมากมาย ในรูปแบบที่ธรรมดาไม่สลับซับซ้อน อันมาจากการเลือกเป้าที่เป็นเหยื่อของการปลดปล่อยความรุนแรงขั้นสูงสุด คือเลือกทำในสถานที่ที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เพราะเป็นที่ซึ่งไม่มีใครคิดว่าความรุนแรงถึงขั้นทำลายชีวิตจะเกิดขึ้นได้ นั่นคือสถานที่ซึ่งคนจำนวนมากไปทำธุระหรือมีกิจกรรมในนั้น เช่น ห้างขายสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น โบสถ์ วัด กระทั่งท้ายสุดที่คนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้นั่นคือโรงเรียนเด็กเล็กและระดับประถมและมัธยม อันเป็นที่ของเด็กๆ และครู อาจรวมพนักงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่คิดว่าจะดึงดูดความรุนแรงเข้ามาในนั้นได้ 

การก่อความรุนแรงขั้นหฤโหดทั้งหมดที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นนั้น ก็ได้เกิดขึ้นหมดทุกอย่างในทุกสถานที่และทุกเวลาในสหรัฐฯ การกราดยิงล่าสุดในเมืองยูวัลดี มลรัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งคนส่วนมากเชื่อว่าจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เหตุการณ์นี้เป็นการสังหารที่กระทำต่อเด็กเล็กๆ ในห้องเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น ตัวเลขขณะนี้ระบุว่าเสียชีวิต 21 คนเป็นเด็กนักเรียน 19 และครู 2 คน เป็นการกราดสังหารที่ฆ่านักเรียนมากที่สุดเป็นครั้งที่สองรองจากการกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดีฮุก เมืองนิวทาวน์ มลรัฐคอนเน็กติกัต ที่เสียชีวิตรวม 26 คนเป็นเด็กนักเรียนเล็ก 20 และผู้ใหญ่ 6 คน ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2555 นั่นคือเมื่อสิบปีก่อนโน้น

เมื่อไปค้นดูสถิติและรวมเหตุการณ์กราดยิงเฉพาะในโรงเรียนประถมและมัธยม พบว่าครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2535 ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เสียชีวิต 4 คน จากนั้นมีเหตุการณ์ยิงอีก 2 ครั้งใน 7 ปีแต่คนตายไม่มาก กระทั่งปี 2543 ที่การกราดยิงในโคลัมไบน์ มลรัฐโคโลราโด ยกระดับความรุนแรงในโรงเรียนเด็กด้วยจำนวนคนเสียชีวิตถึง 13 (ไม่รวมมือปืนอีก 2 คนที่ฆ่าตัวตาย) จากนั้นเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำอีก ที่หนักหน่วงได้แก่ในปี 2555 และในปี 2561 เกิดอีกในมลรัฐเท็กซัส ที่นักเรียนตาย 10 คน และในเมืองปาร์กแลนด์ มลรัฐฟลอริดา นักเรียนตายไป 17 คน สรุปการกราดยิงเด็กนักเรียนจากปี 2535 ถึงปัจจุบันมีจำนวนรวม 12 ครั้ง

มีคนศึกษาและวิเคราะห์มูลเหตุที่มาและปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและที่เป็นมานานที่ทำให้คนหนุ่ม (ยังไม่มีผู้หญิงและผิวสีกระทำการ) วัยยังรุ่น (ยังเป็นนักเรียน) ตัดสินใจกระทำการอันอุกอาจและทำลายกฎหมายและกฎธรรมชาติในสังคมมนุษย์ได้อย่างไม่ปราณีปราศรัย การค้นคว้าศึกษายังเสนอทางแก้และขจัดปัญหาการใช้ปืนสังหารคนบริสุทธิ์ด้วยอีกไม่น้อย

ข้อเสนอทางการเมืองที่คนอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยและต้องการให้ทำโดยทันทีคือการควบคุมและจำกัดการใช้ปืน ที่ง่ายสุดและนักการเมืองทุกพรรคอาจเข้าร่วมได้คือการออกกฎหมายการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อก่อน แต่เพียงเท่านี้ขณะนี้สองพรรคใหญ่คือเดโมแครตกับรีพับลิกันก็ยังตกลงกันไม่ได้ ด้วยเหตุว่าปัญหาการครองครองปืนโดยพลเมืองนั้นเป็นสิทธิที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมานับแต่วันแรกถึงวันนี้ มันกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่ความเป็นอเมริกันไปแล้ว ทำให้การแตะต้องมันต้องทำพิธีคลายมนต์ขลังในบทบัญญัติเพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 2 (Second Amendment) ลงไปเสียก่อน การเมืองเรื่องปืนก็เป็นลักษณะเฉพาะของประชาธิปไตยในอเมริกาที่ไม่เหมือนใครอีกเช่นกัน

จากระบบการเมือง ผมหันไปอ่านงานศึกษาปัญหาการกราดยิงคนหมู่มากที่มีคนทำไว้อย่างยอดเยี่ยม สรุปได้ประมาณนี้ กล่าวทางด้านแรงจูงใจในการก่อการร้ายดังกล่าว ประการแรกมาจากความสัมพันธ์ในบ้านและทั่วไป (domestic/relationship) 30% การทำงาน 23% ความขัดแย้งส่วนตัวกับคนอี่น 20% ความเกลียดชัง 19% ปัญหาทางจิต 19% ทางกฎหมาย 13% และแสวงหาการมีชื่อที่คนรู้จัก 7% [1]

น่าสนใจว่าปัจจัยแรกที่งานวิจัยค้นพบว่ามีส่วนเป็นสาเหตุของแรงจูงใจให้กระทำการคือการขาดสัมพันธภาพที่ดีในบ้านและที่อื่นๆ ข้อนี้ตรงกับสมมติฐานที่ผมคิดอยู่เหมือนกันเมื่อเริ่มลงมือค้นคว้าปัญหาเรื่องการกราดยิงในอเมริกาว่า ปมเงื่อนนอกจากเรื่องปัจจัยแวดล้อมหลายสิบประการแล้ว ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นมุมมองของนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์รวมพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งมุ่งค้นหาปัจจัยหลักที่มีผลหรืออิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้กระทำการได้มากและดีที่สุด วิธีการศึกษาดังกล่าวก็สะท้อนจุดยืนและความเชื่อหรือศรัทธาในทฤษฎีหรือมโนทัศน์ต่อปัญหานั้นๆ ของผู้ศึกษา แต่คราวนี้วิธีการที่ผมจะใช้ในการค้นคว้าหาคำตอบให้แก่ปัญหานี้ ต่างออกไปจากของนักสังคมศาสตร์และอื่นๆ เพราะผมจะกลับไปพิจารณาจากพัฒนาการทางสังคมทั้งหมดของอเมริกาว่ามีผลหรือคำตอบต่อพฤติกรรมรุนแรงนี้ได้หรือไม่

แนวคิดและทฤษฎีที่ผมใช้มาจากสมมติฐานว่า คนเป็นผลิตผลของความสัมพันธ์ทางการผลิต หมายรวมถึงการได้รับการศึกษา เลี้ยงดูจากครอบครัวหรือองค์กรอื่นๆ การมีอาชีพทำงานเมื่อโต การสร้างครอบครัว การมีฐานะบทบาทในชุมชนและสังคมผ่านสถาบันหรือองค์กรสังคมรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเพาะปลูกคุณค่าและความเชื่อต่างๆ ในสังคม ทั้งหมดได้รับผลกระทบจากการที่ปัจเจกบุคคลมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการทำมาหากินและเครื่องมือในการผลิตเหล่านั้น รวมถึงการแบ่งปันจัดสรรความมั่งคั่งในสังคมอย่างไรด้วย

ประการต่อมา สังคมอเมริกันเป็นตัวแบบที่น่าสนใจของการเกิด ‘ปัจเจกบุคคล’ ที่เป็นมนุษย์สมัยใหม่ที่เป็นอิสรเสรีจากพันธนาการของรัฐและสังคม เป็นคนที่สร้างขึ้นมาโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตระบบทุนเท่านั้น ไม่มีในระบบอื่น เพราะเงื่อนไขอยู่ที่การทำลายแบบแผนสัมพันธภาพของคนในแบบจารีตประเพณีเก่าทั้งหลายลงไปจนหมดเสียก่อน นี่เป็นความคิดในทางทฤษฎีหรือนามธรรม ส่วนสังคมใดจะสามารถปฏิบัติได้ตามทฤษฎีก็ขึ้นกับความเป็นมาของสังคมนั้นๆ ประเทศที่มีกำเนิดความเป็นมาจากอาณาจักรก่อนระบบทุนเช่นระบบฟิวดัล ศักดินามักจะรักษาระเบียบเก่าไว้ได้มากหน่อย แม้ระบบทุนจะแทรกซึมและเข้ายึดอำนาจรัฐได้แล้วก็ตาม แต่สังคมประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา มีโอกาสมากที่การเก็บรับระบบจารีตประเพณีจะไม่มีพลังมากนัก ยิ่งเป็นของคนพื้นเมืองเช่นอินเดียนด้วยยิ่งถูกลบล้างง่ายดายที่สุด กระนั้นก็ตาม อาณานิคมอเมริกาก่อนปฏิวัติและหลัง ชุมชนก็เป็นแบบก่อนสมัยใหม่ที่มีความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ ผู้คนติดต่อเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกันผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่ละชุมชนและหมู่บ้านไปถึงอำเภออยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ยังไม่รวมศูนย์แบบสมัยใหม่ การติดต่อสื่อสารยังอาศัยเครื่องมือโบราณ ข้อมูลยังน้อยและได้รับช้า นักสังคมวิทยาเรียกว่า ‘ชุมชนที่เป็นเกาะ’ (island communities)

ในทางประวัติศาสตร์ สภาพของชุมชนอเมริกาแบบโบราณดำรงอยู่ตั้งแต่ยุคแรกที่ชาวยุโรปเดินทางมาค้นพบดินแดนนี้ที่พวกเขาเรียกว่า ‘โลกใหม่’ มีการสร้างอาณานิคมของอาณาจักรยุโรปทั้งหลายขึ้นในอเมริกา ซึ่งยังมีคนพื้นเมืองชาวอินเดียนดำรงชีพอยู่มาก่อนแล้วนานหลายปี เมื่อคนผิวขาวชาวยุโรปอพยพมาตั้งรกรากกันมากขึ้นก็มีการสร้างระบบการผลิตและบริโภคอีกอย่างขึ้น ที่แตกต่างไปจากของคนอินเดียน ที่สำคัญคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยการทำให้ปัจจัยการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จากนั้นทำการผลิตเพื่อตลาดและตอบสนองต่อการขยายตัวของอาณาจักรยุโรปที่กำลังกลายเป็นมหาอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจ

น่าสังเกตว่า ลักษณะเด่นของความเป็น ‘ชุมชนแบบเกาะ’ นั้นลากยาวมากระทั่งถึงสมัยสงครามกลางเมือง จากนั้นสหรัฐฯ เริ่มปรับเปลี่ยนสภาพของระบบบริหารและรัฐบาลที่เป็นแบบรวมศูนย์มากขึ้น มีประสิทธิภาพแบบระบบราชการมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือแปรเปลี่ยนระบบการผลิตที่เป็นลูกผสมแบบเก่าคือระบบทาสกับระบบทุนบนแรงงานครอบครัว ไปสู่การเป็นระบบทุนนิยมที่สมบูรณ์พร้อมกับระบบอุตสาหกรรมที่กลายเป็นพื้นฐานระบบเศรษฐกิจของอเมริกาเป็นต้นไป นี่คือช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์ขนานนามว่ายุคปฏิรูปฟื้นฟูประเทศ (reconstruction) หรือคือระยะขยายตัวอย่างเต็มที่ของทุนพาณิชย์ที่จะแปรไปเป็นทุนอุตสาหกรรม

ผมจำได้ว่าในระหว่างที่ศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกานั้น เราอ่านหนังสือจำนวนหนึ่งที่อธิบายพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในสหรัฐฯ เล่มหนึ่งที่ผมประทับใจและชอบคำอธิบายหรือพรรณนาของผู้เขียนอย่างมาก นั่นคือเรื่องThe Search for Order: 1877-1920 (1967) โดยผู้เขียนคือ Richard H. Wiebe เขาเสนอข้อคิดว่าสังคมอเมริกันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณในยุคหลังสงครามกลางเมืองตั้งแต่ช่วงการปฏิรูปฟื้นฟูประเทศถึงยุคการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วต่อไปถึงยุคก้าวหน้าในคริสต์ทศวรรษ 1920 ผู้เขียนเริ่มอรรถาธิบายอย่างน่าฟังกะทัดรัดแต่ได้ใจความเต็มที่ “ในระหว่างศตวรรษที่ 19 อเมริกาเป็นสังคมของชุมชนที่เป็นเกาะทั้งหลาย (island communities)” นั่นคือชุมชนแบบก่อนสมัยใหม่ทั่วไปในแทบทุกประเทศหรืออาณาจักรที่มีลักษณะของการอยู่อย่างแยกตัวจากกัน แต่ละชุมชนหมู่บ้านทำตัวเป็นเกาะที่มีแต่ตัวเอง คนอื่นคือคนนอกเกาะที่ต้องเดินทางไปหาหรือไปทำความรู้จัก ดังนั้นทุกอย่างในตอนนั้นล้วนเป็นเรื่องของแต่ละชุมชน แม้ประชาธิปไตยก็ยังเป็นความเป็นอิสระของชุมชน การดำเนินการในเรื่องชุมชนยังเป็นการจัดการที่ไม่เป็นทางการ ในขณะที่ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนมาใช้ระบบบริหารแบบรวมศูนย์ที่ส่วนกลางที่มีประสิทธิภาพ แต่อเมริกาก็ยังเป็นบ้านนอก

นักประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ว่าเป็นเรื่องของการจัดการกับดินแดนที่เหลือในตะวันตก เป็นการปิดพรมแดนอเมริกากับต่างชาติที่เคยทะเลาะขัดแย้งกันมานานหลายสิบปีแล้วนำไปสู่การเปิดรับรัฐใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ บ้างก็บอกว่าเป็นการย้ายฐานอำนาจจากชนบทและฟาร์มเพาะปลูกมาสู่เมือง บ้างก็ให้น้ำหนักไปที่การเสื่อมสลายลงของพวกผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ ต่อหน้าการทะยานขึ้นมาของนายทุนใหญ่และการผูกขาด นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความสำคัญไปที่การเกิดขบวนการปฏิรูปใหญ่ จากลัทธิประชานิยม (populism) ถึงลัทธิก้าวหน้า (progressivism) ส่วนคนที่ให้ความสำคัญไปทางด้านต่างประเทศ ก็ตอกย้ำว่าช่วงนี้คือการขยับออกจากนโยบายการรักษาตนเอง (self-containment) ไปสู่การเข้าไปมีบทบาทในเวทีการเมืองโลก สหรัฐฯ กำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลก

หนังสือเรื่อง ‘การค้นหาระเบียบสังคม‘ พยายามมองให้ลึกลงไปจากบรรดาเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วว่า ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มีกระแสน้ำที่ไหลอย่างแรงอยู่เบื้องลึกที่ให้ความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและรวมถึงความหมายแก่ยุคสมัยทั้งหมด หนังสือเสนอว่าการขยับเปลี่ยนโดยมูลฐานในคุณค่าของอเมริกันเกิดขึ้นในยุคนี้ นั่นคือจากคุณค่าของเมืองเล็กในปลายศตวรรษที่ 19 มาสู่คุณค่าของชนชั้นกลางใหม่ในเมืองและผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพใหม่ในทศวรรษ 1920 ไปถึงการเกิดระบบบริหารราชการแบบใหม่ที่วางอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล และขับเคลื่อนโดยชนชั้นนำที่มีนายทุนอุตสาหกรรมเป็นพลังหลัก มีนักการเมืองมากหน้าหลายตาจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมในระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกา

ชุมชนอเมริกาก่อนสมัยใหม่รักษาตัวเองด้วยการดูแลในสองเรื่องสำคัญ ประการแรกคือความสามารถในการจัดการในชีวิตของสมาชิกชุมชน และในความเชื่อศรัทธาท่ามกลางสมาชิกว่าชุมชนมีอำนาจดังกล่าว ประเด็นสำคัญคือการแตกสลายของสังคมชุมชนเก่านี้และการก่อเกิดของระบบสังคมใหม่แทนที่ การเข้ามาของสิ่งใหม่ เริ่มกัดเซาะความเป็นอิสระของชุมชนลงไป ความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นรากฐานสุดท้ายของระบบเก่า มลายหายไปในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ท่ามกลางการพยายามปกป้องความเป็นอิสระของชุมชนเอาไว้ ผ่านการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวไร่เกษตรกร ซึ่งน่าสนใจว่าตอนนั้นเรียกว่า ‘ประชาชน’ (people) และต่อมากรรมกรโรงงาน ซึ่งคนเหล่านี้พ่ายแพ้ต่อทุน ซึ่งกลับสร้างความรุ่งโรจน์ให้ระบบทุนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับรัฐบาลกลางที่มีอำนาจและสิทธิธรรมมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 มา ระบบที่เป็นทางเลือกใหม่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แทนที่ระบบไม่เป็นทางการ บัดนี้ระบบใหม่กำกับบนความความต้องการของชีวิตอุตสาหกรรมในเมือง ผ่านกฎระเบียบที่ไม่ใช่ส่วนตัว มุ่งทำให้เกิดความต่อเนื่องและคาดการณ์ได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่สิ้นสุด ระบบใหม่ให้อำนาจมากมหาศาลแก่รัฐบาลกลาง โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นอันหลากหลายเรื่อง และแน่นอนสนับสนุนการรวมศูนย์อำนาจอันชอบธรรม ผู้คนแบ่งแยกกันบนความชำนาญงานและอาชีพมากกว่าตามชุมชน พวกเขาระบุถึงตัวเองจากภารกิจในอาชีพในสังคมอุตสาหกรรมเมืองมากกว่าจากชื่อเสียงในเมืองหรือในย่านชานเมือง ระบบใหม่ยังมีการปฏิบัติที่รวมไปถึงกิจการต่างประเทศพอๆ กับในประเทศ ทั้งหมดนี้คือการทดลองครั้งแรกของอเมริกาในระบบบริหารปกครองใหม่ที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘ระเบียบแบบแผนราชการ’ (bureaucratic order) อันเป็นทฤษฎีของแมกซ์ เวเบอร์ที่อธิบายลักษณะเด่นของความเป็นสมัยใหม่ ที่ยังดำเนินต่อมาแม้ประเทศชาติผ่านเข้าสู่สงครามโลกคร้งที่ 1 แล้วก็ตาม

ประเด็นที่ผมสังเคราะห์จากการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันคือ ระเบียบสังคมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในอเมริกาดังกล่าวนี้ ได้สร้างคนอเมริกันใหม่ที่เป็น ‘ปัจเจกบุคคล’ ที่หล่อหลอมเติบโตด้วยค่านิยมและความเชื่ออีกชุดหนึ่งที่ต่างไปจากของเดิม แน่นอนคนที่เกิดปัจจุบันนี้คงไม่มีทางทราบหรอกว่าสังคมอเมริกานั้นเคยมีคุณค่าและความเชื่ออีกชุดหนึ่งที่แตกต่างกระทั่งตรงข้ามกับของปัจจุบัน คติคุณค่าแบบปัจเจกเป็นสิ่งที่คนทั่วไปให้ความสำคัญและถือเสมือนเป็นหลักการอันละเมิดไม่ได้ของความเป็นอเมริกัน เพราะในนั้นประกอบไปด้วยคติเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาพเท่าเทียม ความมีศักดิ์ศรีและเกียรติในตัวเอง ในทางปฏิบัติก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ค่านิยมโดยเฉพาะเรื่องอุดมการณ์และความคิดแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นคุณค่าสำคัญของความเป็นอเมริกัน แต่ปัญหาคือในความเป็นจริง คนอเมริกันส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติหลักการดังกล่าวเพื่อไปบรรลุชีวิตที่ดีและมีความหมายตามที่พวกเขาถูกสั่งสอนอบรมมาได้ไหม คนจึงเรียกว่าอุดมการณ์ใหม่นี้ว่า ‘ปัจเจกนิยมโหด’ (rugged individualism) ที่มากับอีกความเชื่อว่า “ต้องสำเร็จให้ได้ไม่ว่าจะต้องทำอะไรก็ตาม” (success at all cost)

ผมคิดว่าการปะทุขึ้นของการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้อาวุธปืนเพื่อเป็นเครื่องมือยุติการมีชีวิตของปัจเจกโดยมุ่งไปที่ชุมชนใกล้ตัวเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนนั้น เป็นคำตอบว่าคนอเมริกันจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหน พร้อมจะทำลายสังคมอเมริกันแบบทุนสมัยใหม่ลงไปในทุกเวลาที่พวกเขามีโอกาส หากประเมินจากผลสะเทือนและการลดทอนความเชื่อมั่นในสายใยทางสังคมที่ผูกมัดพวกเขาไว้ด้วยกัน ก็ต้องกล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้กำลังบอกว่าสังคมอเมริกันที่บรรลุความสำเร็จในการผลิต การประดิษฐ์ และสร้างสรรพสิ่งนานัปการนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ทุกคนให้เป็นปัจเจกชนที่สมบูรณ์ในตัวเองได้ คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถวิ่งตามบันไดดาราและระบบบริหารจัดการอันทรงประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยเครื่องมือล้ำยุคร้อยแปดอย่าง พวกเขาตกบันไดและพลาดขบวนรถเที่ยวต่างๆ ที่บอกว่าจะพาพวกเขาไปยังจุดหมายที่ดีกว่า ที่มีความสุข ความมั่งคั่งและปรารถนาอะไรในโลกก็ได้

แต่เมื่อกลับมายังบ้านและชุมชนพื้นฐานที่สุดพวกเขาก็ไม่อาจค้นหากำลังใจและความเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งธรรมดารอบตัวที่เป็นของชาวบ้านได้ เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมได้ทำลายความศรัทธายั้งคิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อโบราณลงไปจนหมดสิ้น โลกเก่าที่เป็นสีเทาระหว่างความจริงกับความลวงไม่อาจดำรงอยู่ได้วิทยาศาสตร์กลายเป็นสัจธรรมเดียวที่แตะต้องไม่ได้ ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาเหลือเพียงแค่โลกสีขาวกับสีดำเท่านั้น

ผมไม่ปฏิเสธความเหนือกว่า ความมีอารยธรรมและกระทั่งความเป็นมนุษย์ในทางนามธรรมของลัทธิสมัยใหม่และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่อย่างใด เพียงแต่จะตั้งข้อสังเกตว่า ในความเป็นสมัยใหม่ที่ดูล้ำเลิศไปเสียแทบทุกอย่างนั้น หลายสิบปีที่ผ่านมามันได้พยายามบอกเราว่า ความสมัยใหม่ไม่ใช่ยาวิเศษแทนที่ทุกอย่างในสังคมได้ บางครั้งและในหลายกรณี ความก่อนสมัยใหม่หรือจารีตประเพณีและความเชื่อในอำนาจที่มองไม่เห็นก็อาจทำหน้าที่และช่วยอุดช่องว่างและช่องโหว่ของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสรรพวัตถุรอบตัวเราได้เหมือนกัน แม้มันจะไม่อาจแก้ปัญหาหรือตอบคำถามที่สลับซับซ้อนได้ก็ตาม

การกราดยิงผู้บริสุทธิ์จำนวนมากในกรงขังที่เป็นทองคำของสิ่งสมัยใหม่จึงเป็นเสมือนการยิงปืนในโรงละครคอนเสิร์ต มันไม่ได้บอกว่าปัญหาของคอนเสิร์ตคืออะไร ไม่บอกว่าปัญหาของผู้ชมคอนเสิร์ตคืออะไร หากแต่มันสะกดให้ทุกคนหยุดอย่างน้อยหนึ่งวินาที เพื่อมองดูว่ามีอะไรที่ผิดปกติ ผิดวิสัยของความเป็นมนุษย์และความเป็นสังคมแบบสมัยใหม่นี้หรือไม่  

References
1 Jillian Peterson and James Densley, The Violence Project: How to Stop a Mass Shooting Epidemic.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save