fbpx
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียในยุคไบเดน

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียในยุคไบเดน

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาไม่เพียงสำคัญแค่เฉพาะกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ

อินเดียถือเป็นประเทศหนึ่งที่จับตาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียพยายามอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทรัมป์ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ และขึ้นเวทีร่วมกับทรัมป์ที่เมืองฮิวสตัน มลรัฐเทกซัส ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการช่วยทรัมป์หาเสียงในหมู่คนอินเดียที่อาศัยในสหรัฐฯ

อย่างที่เราทราบกันว่า โจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมเครตสามารถล้มประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนเสียงกว่า 80 ล้านเสียงในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นำมาซึ่งคำถามมากมายเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการต่างประเทศภายใต้การนำของไบเดน โดยเฉพาะต่ออินเดีย ครั้งนี้เลยถือโอกาสวิเคราะห์ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-สหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดบ้าง รวมถึงอะไรคือโอกาสและความเสี่ยงที่อินเดียต้องแบกรับภายใต้การนำของไบเดน

 

ปัญหาสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางศาสนา และแคชเมียร์

 

หนึ่งในนโยบายการต่างประเทศสำคัญและค่อนข้างชัดเจนของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน คือประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเสมอมาสำหรับประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดโมเครต น่ากังวลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-สหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงหลายปีมา ตัวชี้วัดทางด้านสิทธิมนุษยชนของอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโมดีชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มไปในทางลบ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลตัวชี้วัดทางด้านเสรีภาพบ่งชี้ว่าในปี 2017 อินเดียจัดอยู่ในอันดับที่ 102 ของโลก ในขณะที่ปี 2018 อินเดียร่วงลงมาอยู่อันดับ 110 ของโลก เป็นต้น

หนึ่งในปัญหาด้านสิทธิมนุษยนชนของอินเดียเป็นผลสำคัญมาจากปัญหาการจัดการรับมือต่อการประท้วงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายสัญชาติและพลเมืองฉบับใหม่ ซึ่งถูกมองว่าสร้างความไม่เท่าเทียม และใช้ประเด็นทางด้านศาสนาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกกลุ่มคนภายในประเทศ การประท้วงดังกล่าวถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง บางชุมชนของชาวมุสลิมถูกเผาทำลาย จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่ยังใช้มาตรการสลายการชุมนุมโดยการเข้าไปปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งอีกด้วย และที่สำคัญ การดำเนินการสืบสวนหาผู้กระทำผิดก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอินเดียย่ำแย่อย่างมากในสายตาของนักสิทธิมนุษยชน จากกรณีดังกล่าว จึงตามมาด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้านก่อนบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และที่สำคัญคือ ต้องมีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ การผนวกรวมแคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างสมบูรณ์โดยยกเลิกข้อตกลงความเป็นอิสระที่มีอยู่แต่เดิมก็ถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ได้รับการจับตามองอย่างมากจากวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ เพราะนอกเหนือไปจากการที่อินเดียจะบังคับใช้เคอร์ฟิวรุนแรงในภูมิภาคดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปิดกั้นสื่อไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ การจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง ตลอดจนการกักบริเวณผู้นำทางการเมืองในแคชเมียร์จำนวนมาก

ประเด็นที่กล่าวมาอาจเป็นจุดสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดีย ก่อนหน้านี้ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลทรัมป์เท่าใดนัก เพราะทรัมป์มองแค่ว่า หากอินเดียยังคงเป็นคู่ค้าและพันธมิตรที่ดี การดำเนินการใดๆ ภายในอินเดียก็ถือเป็นเรื่องของอินเดีย ไม่เกี่ยวกับว่าอินเดียจะรักษาหรือไม่รักษาคุณค่าสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสมัยก่อนๆ เคยยึดถือหลักดังกล่าว และต้องการให้โลกยึดถือไว้เช่นกัน กล่าวให้ชัดคือ ผลประโยชน์ต่างหากที่อยู่ในความสนใจของทรัมป์

แน่นอนว่าสถานการณ์จะต่างออกไปเมื่อไบเดนขึ้นมานำสหรัฐฯ ต้องยอมรับว่าพรรคเดโมเครตเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับปทัสถานสากลอย่างเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ จะนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้อปฏิบัติเพื่อกดดันอินเดียให้ปรับเปลี่ยนนโยบายภายในของตนเอง เฉกเช่นที่ไบเดนหาเสียงว่าจะยกประเด็นชาวอุยกูร์และทิเบตมากดดันจีนเพื่อให้แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ

 

หุ้นส่วนยุทธศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง

 

ถึงแม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียภายหลังการขึ้นมาของไบเดน ไม่ว่าจะจากความใกล้ชิดเป็นพิเศษระหว่างนายกรัฐมนตรีโมดีกับประธานาธิบดีทรัมป์ หรือประเด็นสิทธิมนุษยชนที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการต่างประเทศและระบบความสัมพันธ์ของทั่งสองประเทศเท่านั้น เพราะหากเราพิจารณาให้รอบด้านมากขึ้น ก็จะเห็นสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างสองประเทศที่มีความใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลาย 10 ปี

โจ ไบเดนเองถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสมาชิกในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ในปี 2001 เขาเป็นหนึ่งในคนที่เคลื่อนไหวให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทำข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างสองชาติในปี 2008 อีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างไบเดนกับอินเดียยังแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามา ผ่านการกำหนดให้อินเดียเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงที่สำคัญของสหรัฐฯ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ มีการคาดกันว่าคณะทำงานด้านการต่างประเทศของไบเดนจำนวนมากที่กำลังจะเข้ามาจับงานในภูมิภาคเอเชียล้วนแต่เป็นคนเก่าคนแก่ที่เคยทำงานใกล้ชิดอินเดียตั้งแต่สมัยโอบามา อย่างนายแอนโทนี บลินเคน (Antony Blinken) ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ คนต่อไป เมื่อสมัยรัฐบาลโอบามา เขาก็ทำงานใกล้ชิดกับนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ณ เวลานั้น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ฉะนั้นความใกล้ชิดระหว่างสองรัฐมนตรีต่างประเทศถือเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์อินเดีย-สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลไบเดนด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น บลินเคนซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการจัดทำแคมเปญหาเสียงประเด็นการต่างประเทศให้กับไบเดน ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับอินเดีย เขาเคยบรรยายในงานสัมมนาวิชาการแห่งหนึ่งว่า นโยบายการต่างประเทศสำคัญภายใต้การนำของไบเดนคือ การให้ความสำคัญกับสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและแน่นแฟ้นกับอินเดียเป็นอันดับแรกๆ

ฉะนั้น การมุ่งความสนใจไปที่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างโมดีกับทรัมป์ และประเด็นสิทธิมนุษยชนว่าจะส่งผลให้ความสัมพันธ์สองชาติเดินหน้าไปได้อย่างไม่ราบรื่นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะอย่างไรเสีย อินเดียก็ยังถือเป็นหุ้นส่วนทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่สำคัญของสหรัฐฯ ยิ่งในช่วงที่จีนขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียด้วยแล้ว อินเดียยิ่งมีความสำคัญสำหรับสหรัฐฯ ในการลดทอนหรือล้อมกรอบไม่ให้จีนขยายอิทธิพลจนสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์ในภูมิภาคแห่งนี้

 

สหรัฐฯ ยังต้องการอินเดีย เช่นเดียวกับที่อินเดียต้องการสหรัฐฯ

 

เมื่อเราลองพิจารณาสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น อาจเห็นได้ชัดเจนว่า แม้การขึ้นมาของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อย่างโจ ไบเดน หรือการที่นายกรัฐมนตรีโมดีมีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีทรัมป์ ตลอดจนการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพของอินเดีย อาจมีส่วนสร้างผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่ออินเดีย แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวแปรไม่กี่ตัวในสมการการต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ แน่นอนว่ายังคงเหลืออีกหลากหลายปัจจัยให้ต้องพิจารณา ในเรื่องนี้ ทั้งผู้นำของอินเดียและสหรัฐฯ ต่างรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองต้องให้ความสำคัญที่สุดก็คือ ผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อย่างที่บอกไปว่าความสัมพันธ์ระหว่างโมดีและทรัมป์นั้นค่อนข้างใกล้ชิดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่หลังผลการเลือกตั้งออกมาว่าไบเดนได้รับชัยชนะ นายกรัฐมนตรีโมดีก็ไม่ได้ชักช้ารีรอที่จะส่งสัญญาณแสดงความยินดีกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งโมดีถือเป็นผู้นำชาติแรกๆ ที่แสดงความยินดีกับผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่ไบเดนเลือกยกหูคุยกับโมดีเป็นการส่วนตัวหลังจากได้รับเลือกตั้งไม่นาน ในขณะที่หลายประเทศยังคงสงวนท่าที รอดูความชัดเจนของผลการเลือกตั้งในครั้งนี้อยู่

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการกันและกันในบริบทการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลของจีนที่กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ทั้งสองผู้นำต้องหันหน้าเข้าหากันมากยิ่งขึ้น เพราะทั้งสหรัฐฯ และอินเดียต่างก็ได้รับผลกระทบจากจีนด้วยกันทั้งสิ้น ในขณะที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าจำนวนมากจากจีนจนนำมาซึ่งการทำสงครามการค้าที่ดูท่าว่าจะไม่ได้จบสิ้นแม้ไบเดนจะขึ้นสู่อำนาจ ในขณะที่อินเดียเองก็ต้องเผชิญปัญหาด้านพรมแดนกับจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้

หากย้อนอ่านคำปราชญ์สงครามและการวางกลยุทธ์ของอินเดียอย่างจาณักยะ ที่ว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร” ก็คงไม่ผิดนักที่เราจะทำความเข้าใจสภาพความสัมพันธ์ของอินเดีย-สหรัฐฯ ภายใต้การทะยานขึ้นมาของจีนในช่วงเวลานี้ผ่านคำปราชญ์สงครามดังกล่าว แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็ต้องยอมรับด้วยว่าการขึ้นมาของไบเดน ก็ช่วยให้อินเดียลดความกังวลในเรื่องสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ดำเนินการกับอินเดียในสมัยของทรัมป์เช่นกัน และยิ่งไปกว่านั้น การที่ไบเดนมีท่าทีเชิงบวกกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมเอง ก็ช่วยตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวและพลังงานสะอาดของอินเดียด้วย

โดยสรุป เราอาจมองได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-อินเดียภายใต้การนำของไบเดนมีแนวโน้มที่จะดีไม่ต่างไปจากสมัยของทรัมป์ แม้อาจมีประเด็นที่อินเดียต้องปรับปรุงอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรเสีย เมื่อมองภาพกว้างของความสัมพันธ์ เราเห็นปัจจัยบวกหลายเรื่อง ที่ทั้งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ และผู้นำของอินเดียต่างเห็นพ้องต้องกันในการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศร่วมกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save