fbpx
วิเคราะห์สหรัฐอเมริกาในยุค COVID-19 กับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

วิเคราะห์สหรัฐอเมริกาในยุค COVID-19 กับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

 

ในวิกฤตโควิด-19 หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้

ด้วยสถานะมหาอำนาจ ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการจัดการกับวิกฤตก่อให้เกิดผลกระทบกับการเมืองภายในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ รวมไปถึงระบบระเบียบโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

ทำไมมหาอำนาจของโลกจึงล้มเหลวในการจัดการกับวิกฤตโควิด-19?

โควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงการเมืองภายใน และกระทบกับภูมิทัศน์การเมืองโลกอย่างไร?

ระบบทุนนิยมโลกในยุคหลังโควิด-19 จะหาทางออกอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน?

ใน 101 One-On-One Ep.123 ปกป้อง จันวิทย์ สนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของสหรัฐอเมริกา และคอลัมนิสต์เรื่องการเมืองอเมริกันประจำ The101.world เกี่ยวกับความท้าทายที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญในสมรภูมิโรคเปลี่ยนโลกครั้งนี้

 

บทบาทผู้นำที่ล้มเหลวของโดนัลด์ ทรัมป์

 

ถ้าถามว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงล้มเหลวในการจัดการโควิด-19 ผมว่าปัญหามาจากโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งบุคลิก ความโอหัง และความต้องการเอาชนะทางการเมืองของเขา ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯ ไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด เพราะถ้าย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่เริ่มมีการระบาด ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงที่ทำเนียบขาวก็เริ่มคุยถึงเรื่องนี้แล้ว แต่ทรัมป์ไม่สนใจ ตอนนั้นเราคิดว่า ทรัมป์อาจกำลังโฟกัสไปที่เรื่องการถูกถอดถอน (Impeachment) แต่มีคนแย้งว่าไม่ใช่

ผมเห็นด้วยกับที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเดโมแครตที่ทำเรื่องการถอดถอนทรัมป์ ตอนเขาแถลงเปิดการถอดถอน เขาบอกว่า ถ้าทรัมป์รอดจากการถอดถอนครั้งนี้ เราจะต้องเจอกับอะไรที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ ตอนนั้นหลายคนไม่เชื่อนะ พวกเขามองว่านี่จะเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของทรัมป์ ถ้ารอดไปได้เขาน่าจะทำตัวให้ดีขึ้น แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่า ทรัมป์มองแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ทางการเมือง และผลประโยชน์ของพรรคพวกที่ต้องมาก่อน ส่วนคนอเมริกันและประเทศมาทีหลัง

สาเหตุที่ทรัมป์แสดงออกแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะเขาคิดว่า เขาเอาตัวรอดได้เหมือนที่เคยเอาตัวรอดในกรณียูเครนมาแล้ว มีคนคาดการณ์ตัวเลขว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นแสนคน แต่ทรัมป์ยังเย็นอยู่ คุณดูสิที่เขาเคยพูดว่า ปีหนึ่งมีคนอเมริกันตายด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 7-8 หมื่นคน ทรัมป์เลยมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องความสูญเสียหรือเรื่องใหญ่อะไร ผมคิดว่า ทรัมป์คิดแบบนี้ เขาจึงแสดงออกมาในลักษณะที่มองว่า โควิด-19 ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่พอที่จะทำให้เขาหยุดทุกอย่างเพื่อมาแก้ปัญหาเรื่องนี้เรื่องเดียว

 

ปัญหาคลาสสิกของระบบบริการสาธารณสุข

 

ปัญหาเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณสุขของสหรัฐฯ ที่เป็นปัญหาคลาสสิกคือ การที่สหรัฐฯ จัดให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า หรือเป็นแบบ 30 บาทรักษาทุกโรคในไทยไม่ได้ สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) มีแนวคิดเรื่องโอบามาแคร์ (Obamacare) ที่แม้จะยังมีปัญหาและการถกเถียงกันบ้าง แต่โอบามาแคร์ก็ทำให้คนชนชั้นล่างจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า พวกเขาสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ แต่ในทางปฏิบัติโอบามาแคร์ก็ถูกกีดกันอยู่เหมือนกัน

จริงๆ แล้วสหรัฐฯ เริ่มมีสวัสดิการด้านสุขภาพก่อนประเทศในยุโรปอีก คือตั้งแต่ช่วงหลังสงครามกลางเมือง เขาเริ่มมีสวัสดิการให้พวกนักรบ คนผิวขาวและคนชนชั้นกลางที่ตายในสนามรบจะได้สวัสดิการตรงนี้ คนกลุ่มนี้รักษาผลประโยชน์ตัวเองมาตลอด พอหลังสงครามโลก สวัสดิการตรงนี้ก็ขยายไปให้ทหารผ่านศึก คือเขามีสวัสดิการ แต่เป็นสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อเราพูดถึงระบบสวัสดิการถ้วนหน้า นั่นแปลว่าต้องรวมคนจำนวนมากในสหรัฐฯ เข้าไปด้วย ซึ่งคนจำนวนมากมาจากประเทศอื่น ทั้งกลุ่มคนผิวสีที่อยู่มาก่อน และผู้ที่อพยพมาจากแถบลาตินอเมริกาในช่วงหลัง ถ้าสหรัฐฯ ออกนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าแบบยุโรป คนกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ด้วย

เมื่อเกิดโควิด-19 สถานการณ์เลยฟ้องว่าคนที่ต้องดิ้นรนมากที่สุดคือคนกลุ่มน้อย คนผิวสี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตายเยอะที่สุดในสหรัฐฯ ด้วย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัติ โผล่ออกมาหมด คนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน หัวใจ หรือโรคอ้วน ก็ได้รับผลกระทบก่อน

แต่ถ้าเราพูดถึงคุณภาพของระบบบริการสุขภาพในสหรัฐฯ คุณภาพของเขาไม่เลวเลย โดยเฉพาะในมาตรฐานของชนชั้นกลาง หรือระบบเมดิแคร์ (Medicare) ที่มีให้ผู้สูงอายุ คนที่มีประกันอะไรก็พออยู่ได้ แต่คนยากจน คนอพยพที่ไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย (undocumented immigrant) และคนที่ไม่มีสิทธิพลเมือง จะเข้าถึงได้ลำบาก จะจ่ายเองก็แพง

ผมว่าถ้าเขาเตรียมระบบบริการต่างๆ ให้พร้อมก่อน เหมือนที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือเยอรมนีทำ จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะไม่ขึ้นสูงน่ากลัวแบบนี้ก็ได้ ดูอย่างสวีเดน เขาไม่ได้ lockdown แต่พยายามควบคุมแทน คนก็ยังทำมาหากินได้อยู่ ตรงนี้ผมคิดว่าสหรัฐฯ ปิดฉากเลย ปิดแบบที่ตัวเองไม่ได้เตรียมตัว ทรัมป์น่าจะเสียคะแนนเพราะเรื่องนี้แหละ

 

วิกฤตโควิดสะท้อนวิกฤตการเมืองภายใน

 

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมาถึง ถ้าก่อนหน้าโควิด-19 จะระบาด ผมว่าฝ่ายเดโมแครตเริ่มหนักใจ คือจะถอดถอนทรัมป์ก็ยังไม่ลง แถมคะแนนตอบรับของเขายังคงที่ ถึงจะไม่สูงเกินครึ่ง แต่ก็ไม่ได้ลดลงไปมาก เศรษฐกิจก็ยังดี ตลาดหุ้นยังขึ้นอยู่

แต่พอโควิด-19 ระบาด แล้วทรัมป์ทำพลาดที่ไม่จัดการแต่แรก แต่มา lockdown ทีหลังเพราะคนเสียชีวิตมาก ผมว่าเรื่องนี้ก็สั่นสะเทือนเขาอยู่พอสมควร ตลาดหุ้นร่วงลงไปแบบมหาศาล แต่พอธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศมาตรการช่วยเหลือ คนก็เริ่มกลับมาบ้าง ประกอบกับสถานการณ์ที่อื่นเริ่มดีขึ้น เขาเลยว่า เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ และเริ่มใช้เงินระดับล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังไม่ลงตัว รัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็ยังไม่ยอมเพราะยังมีคนเสียชีวิตอยู่

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทรัมป์เริ่มเข้าโหมดหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว จะเห็นว่าในช่วงหลัง เวลาแถลงข่าวเกี่ยวกับไวรัส เขาจะไม่แถลงว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ เพราะแถลงแล้วจะเสียคะแนน ทรัมป์ก็หาเสียงพูดนอกเรื่องจนสำนักข่าวต่างๆ บอกว่าจะไม่ออกอากาศแล้ว นอกจากนั้น เขายังพยายามงัดกับเดโมแครต โดยปลุกเร้าให้ฐานเสียงเขาออกมาต่อต้านมาตรการ lockdown ของผู้ว่าการรัฐที่เป็นเดโมแครต

ตอนที่ทรัมป์ทวีต (tweet) ว่า Liberate Michigan. Liberate Virginia ฐานเสียงของเขาออกมารับเลย เพราะคนกลุ่มนี้เป็นพวก white supremacist บอกว่าไม่ต้อง lockdown เขามีเสรีภาพที่จะออกจากบ้าน นี่แสดงว่าทรัมป์มีฐานเสียงของเขาอยู่ เราอาจจะมองว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าใจการเมือง แต่เขามีอุดมการณ์ และคิดว่าทรัมป์ตอบโจทย์เขาได้

ยกตัวอย่างเช่นรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) จากการเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมา ทั้งผู้ว่าการรัฐ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากพรรคเดโมแครตหมดเลย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พรรครีพับลิกันเสียท่า สิ่งที่พรรคเดโมแครตทำคือ เขาผลักดันนโยบายควบคุมอาวุธปืน พรรคฝ่ายขวาเลยโกรธมากและพยายามหาทางเล่นงานเดโมแครตกลับ คราวนี้แหละเลยได้โอกาส ตัวทรัมป์เองก็ถือโอกาสชูเรื่องบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ของสหรัฐฯ (Second Amendment) ว่าด้วยเสรีภาพในการครอบครองปืนทันที ผสมโรงกับการปลุกให้คนออกไปประท้วงเรื่องมาตรการสู้โควิด

มาถึงตรงนี้ เราคงนึกไม่ถึงว่า ผู้นำในประเทศใหญ่โตที่ได้รับความเชื่อถือ และมีระบบที่ยอมรับกันไปทั่วโลก จะใช้ความต้องการส่วนตัวที่ฝืนทั้งกฎหมาย และจารีตประเพณีที่ดีงามของการเมืองอเมริกัน คือฝืนทุกอย่างเพื่อเอาจะชนะ นี่เป็นบุคลิกส่วนตัวของทรัมป์ที่มีคนบอกว่า เขาเป็นแบบนี้มาห้าสิบกว่าปีแล้ว แก้ไม่ได้ ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ สู้ธุรกิจด้วยการถล่ม คือด่า เขียนข่าวลวง หรือป้ายสีบุคคลที่สาม ถ้าเขาถูกจับได้ว่าทำอะไรผิดขึ้นมา เขาจะต้องหาแพะมารับให้ได้ ทรัมป์ทำแบบนี้มาตลอด โดยไม่ได้รู้สึกมียางอายเลย

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยออกมาพูดว่า ยาต้านมาลาเรียสามารถช่วยรักษาโควิด-19 ได้ แต่พอแพทย์ออกมาแย้ง ทรัมป์ก็บอกว่า เขาไม่ใช่แพทย์ เขาพูดไปตามความเข้าใจ คือไม่ได้รับผิดชอบคำพูดของตัวเอง คุณพูดได้ยังไง คุณเป็นผู้นำประเทศนะ แล้ววิกฤตใหญ่ระดับโลกแบบนี้ไม่มีผู้นำคนไหนกล้าออกมาพูดส่งเดชหรอก ผมถึงได้ประหลาดใจที่ทรัมป์นำวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งโลกมาเป็นเครื่องทดลองความปรารถนาส่วนตัวในการเป็นผู้นำ และเชื่อว่าเขาจะเอาชนะได้ มันน่าทึ่งมากเลยนะ เกิดอะไรกับระบบการเมืองประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ที่เอื้อและยอมให้ประธานาธิบดีหลอกประชาชนทุกวัน คนทั้งโลกก็ส่ายหัวเลย ไม่มีใครที่มีสติปัญญาและรู้ความจริงจะรับได้กับพฤติกรรมแบบนี้

 

วิกฤตโควิดสะท้อนวิกฤตรัฐธรรมนูญ

 

เราจะเห็นว่า ทรัมป์ท้าทายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หลายเรื่องแบบที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน ทีนี้ ในสถานการณ์ปกติ ถ้าจะจัดการกับทรัมป์ผ่านทางระบบการเมือง ผมคิดว่าทางที่เป็นไปได้คือ รัฐสภาต้องหาทางเข้ามาควบคุมทรัมป์ อาจจะถอดถอน หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำงานก็ได้ ยิ่งตอนนี้มีเรื่องการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก ก็อาจจะมีการคอร์รัปชันแหลกเลย พรรคเดโมแครตก็เตรียมรอแล้ว

อีกทางคือระบบตุลาการ แต่ตอนนี้ พรรครีพับลิกันสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่เป็นพวกอนุรักษนิยมและต่อต้านเสรีนิยมเข้ามาจนกลายเป็นเสียงข้างมาก นี่เลยแทบจะปิดหนทางทางตุลาการที่จะสยบอำนาจของทรัมป์

อย่างไรก็ดี ผมว่าโควิด-19 น่าจะทำให้กระบวนการประชานิยมฟื้นคืนชีพได้ ถ้าย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 จะเห็นว่ารัฐบาลช่วยแต่กลุ่มทุนการเงินวอลสตรีท แต่ปัจจุบันนี้ มีเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) อดีตแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ที่ออกมาต่อสู้ว่า เราจะต้องไม่สนับสนุนนโยบายช่วยเหลือกลุ่มวอลสตรีทอีกแล้ว แต่ตอนนี้แซนเดอร์สก็หลีกทางให้โจ ไบเดน (Joe Biden) แล้ว คนเลยตั้งข้อสังเกตว่า ประชาธิปไตยอเมริกาเหมือนจะตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง ทั้งช่วง ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ ทรัมป์ และโควิด-19 ก็อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้ฝ่ายบริหารทำเนียบขาวใช้อำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่อีก ความกังวลตอนนี้จึงอยู่ที่ว่า ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ อาจจะกลายเป็นพวกอำนาจนิยม (authoritarian) ได้

 

มองแนวโน้มการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020

 

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ผมคิดว่าพรรคคู่แข่งอย่างเดโมแครตน่าจะดึงจุดอ่อนของทรัมป์เรื่องการจัดการกับวิกฤต ทั้งการไม่ยอมจัดการกับไวรัสอย่างเป็นทางการ หรือจะเป็นการ lockdown แล้วไม่ทำจริงจัง รวมถึงปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย ยา หรือการทดสอบต่างๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากเกินที่ระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ จะทำได้ แต่กลายเป็นว่าสหรัฐฯ กลับตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้ดีไปกว่าประเทศโลกที่สามสักเท่าไหร่

นอกจากนี้ ไบเดนยังเคยมีประสบการณ์ทำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (bailout) ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผมเลยมองว่า แกน่าจะมีประสบการณ์ รู้จุดอ่อนในเรื่องต่างๆ พูดตอนหาเสียงได้ว่าทรัมป์ทำอะไรไม่บรรลุผลบ้าง ตอนนี้พรรคเดโมแครตมีกระสุนอยู่ในตัวที่จะใช้โจมตีทรัมป์ได้มากกว่าก่อนเกิดโควิด-19 อีก ถ้าไม่มีโควิด-19 ผมว่าเดโมแครตหืดขึ้นคอ

จริงๆ ผมพยายามเอาใจช่วยโจ ไบเดน นะ แต่บอกตามตรง ผมดูบุคลิกของแกที่เป็นทั้งรองประธานาธิบดีและสมาชิกวุฒิสภามายาวนาน เขาไม่มีอะไรเด่นหรือมีผลงานที่ชัดเจนเลย ถ้าเทียบกับผู้นำคนอื่นๆ เช่น โอบามา อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี หรือเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ทุกคนล้วนมีจุดขายของตัวเอง แต่ผมว่าไบเดนนี่จืด ถ้าไม่มีวิกฤตก็ยากจะเอาชนะทรัมป์ได้

วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนเห็นว่า การไม่มีนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้า และไม่มีนโยบายช่วยเหลือคนจนอย่างเป็นรูปธรรมสร้างผลกระทบอย่างไร เราต้องเริ่มคิดเรื่องการนำรัฐสวัสดิการ (welfare state) แบบยุโรปเข้ามาใช้ได้แล้ว ผมคิดว่า เป็นไปได้ที่พรรคเดโมแครตจะเริ่มพูดถึงนโยบายเอียงซ้าย พูดเรื่องนโยบายสวัสดิการสังคมเพื่อคนข้างล่างให้มากขึ้นอย่างจริงจัง ตอนนี้ทั้งแซนเดอร์สและเอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) ก็ยอมถอนตัวออกจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ซึ่งทั้งสองคนเป็นฝ่ายซ้ายของเดโมแครตที่สู้เรื่องสวัสดิการสังคมถ้วนหน้ามา การที่ทั้งคู่ยอมยกคะแนนเสียงให้ไบเดน หมายความว่านโยบายของไบเดนอาจจะต้องรวมนโยบายของแซนเดอร์สและวอร์เรนเข้าไปด้วย ก็ต้องดูว่าไบเดนจะทำยังไงต่อไป

ถ้าให้ผมมองการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ดูจากน้ำหนักของวิกฤตต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ ทรัมป์ไม่น่าชนะได้ แล้วพอถึงเดือนพฤศจิกายนที่จะมีการเลือกตั้ง ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกเท่าไหร่ จะออกมาลงคะแนนทั่วไปแบบเปิดเหมือนเมื่อก่อนได้ไหม สถานการณ์จะนิ่งขนาดไหน รวมๆ แล้วผมคิดว่า ทรัมป์ไม่สามารถพูดได้ว่าเขาจัดการทุกอย่างได้เรียบร้อย แต่ถ้าพูดแล้วคนเชื่อ คนฟังก็ไม่รู้เอาอะไรมาคิด

 

จากวิกฤตโควิด-19 สู่วิกฤตทุนนิยมในศตวรรษที่ 21

 

ผมเขียนบทความตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตโควิด-19 คือวิกฤตทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 คือพอแต่ละประเทศเริ่มมีมาตรการ lockdown และรณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจหยุดชะงัก คนไม่ทำงาน ประชากรส่วนใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ทวีปใด ก็เคว้งเลย เพราะคนจำนวนมากไม่มีงานประจำที่แน่นอน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ยอมรับว่า คนมากกว่าครึ่งอยู่ในภาคธุรกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) เลยนำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อการพัฒนาประเทศตามระบบทุนนิยมที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 คือเราจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง มี social media หรือมีการตั้ง Startup มากมาย ซึ่งก็ดูสวยหรูดี แต่ตัวเลขจริงๆ ที่ออกมา คนส่วนใหญ่ไม่ได้อานิสงส์อะไรจากการพัฒนาเลย

ผมลองกลับไปเปิดหนังสือ Capital ที่เขียนโดยคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) บทที่หนึ่งบอกว่า หัวใจของระบบทุนนิยมคือการสร้างการผลิตสินค้า (commodity) สินค้ามีความสำคัญเพราะจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน มีการหมุนเวียนสินค้า กระบวนการสะสมทุนทำให้กำไรของนายทุนเติบโตเป็นกอบเป็นกำ ขยายไปสู่การผลิตและยกระดับการผลิต มีการแข่งขันปรับปรุงให้ดีขึ้น นี่เป็นด้านดีของระบบทุนนิยม

แต่ด้านที่เป็นปัญหาคือ แรงงานได้ค่าแรงไม่เท่ากับมูลค่าที่เขาสร้างขึ้นและพึงได้ นายทุนเป็นคนเก็บมูลค่าส่วนเกินไว้เพื่อสะสมทุนต่อ นี่คือแรงงานในระบบนะ ถ้านอกระบบ ส่วนเกินก็ยิ่งเยอะไปอีก รวมๆ แล้วผมคิดว่า ถ้าเราไม่ตั้งโจทย์หรือไม่มีทฤษฎีว่า ระบบทุนนิยมคืออะไร เราจะมองแค่ว่า นี่เป็นปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั่วไป ทำอย่างไรให้คนตกงานหายไปจากระบบ ก็ใส่เงินเข้าไป แค่นั้นจบ แต่ถ้าเราคิดแค่นั้นแล้วมาแก้ มันก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม คิดตามกรอบเดิมที่เอาเปรียบคนใช้แรงงานทั่วโลก ผมว่าอนาคตควรเปลี่ยนได้แล้ว คือทำให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น

เศรษฐีทั่วโลกไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเท่าที่เขามีหรอกครับ มันไม่ได้มีประโยชน์หรือมีความหมาย ถ้าเป็นแบบนี้ ทำไมเราไม่ลองคิดระบบที่ให้ผู้ประกอบการและแรงงานแชร์กรรมสิทธิ์กันได้ อย่าให้มีช่องว่างแบบในตอนนี้ ถ้าเราทำได้ ระบบสวัสดิการจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย ตอนนี้เราพูดเรื่องระบบสวัสดิการในสหรัฐฯ ยาก เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ในการกระจายผลประโยชน์ส่วนใหญ่ให้คนข้างล่าง เขาให้แต่คนชั้นกลางๆ แต่ตอนนี้เริ่มมีผู้อพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกากับยุโรปมากขึ้น คนกลุ่มนี้จะเป็นแรงงานรุ่นต่อไป เป็นทาสรุ่นใหม่ (modern slavery) เหมือนยุคแรกที่ทุนเริ่มต้นขึ้น ซึ่งอาศัยทาสจากแอฟริกามาสะสมทุนขั้นต้นให้อุตสาหกรรม ตอนนี้ทุนทางด้านเทคโนโลยีก็จะไปเอาเปรียบ (exploit) พวกแรงงานทั่วโลกอีกระลอกหนึ่ง

จะเห็นอีกอย่างว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ภัยธรรมชาติหลายอย่างหยุดไป ไม่ว่าจะโลกร้อน อากาศเสีย หรือไฟไหม้ หายไปหมดเลย เพราะไม่มีการผลิตแบบเป็นบ้าเป็นหลังอีกแล้ว ผมถึงบอกว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตทุนนิยม ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจย่อยๆ ของแต่ละประเทศ

 

คำตอบของระบบทุนนิยมในยุคหลังโควิด-19

 

สำหรับคำตอบของวิกฤตทุนนิยมในรอบนี้ ผมว่าเราเลิกคิดเรื่องสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ไปเลย เพราะเจ้าระบบทุนนิยมใหญ่คือจีน (หัวเราะ) ซึ่งเป็นตัวสร้างมลพิษของโลก ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ใหญ่ๆ ก็อยู่ที่จีนหมด

มีคนเสนอทฤษฎี decommodification ลดระดับการใช้ตลาดที่แปลงทุกสิ่งเป็นสินค้าลง และใช้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับแรงงาน เป็นระบบที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ลดช่องว่างของความเป็นเจ้าของกับแรงงานลงไป และกระจายการผลิตและการบริโภคต่างๆ เกื้อกูลกันในชุมชนเล็ก ใหญ่ ไปจนถึงระดับโลก

ตอนนี้การผลิตต่างๆ อยู่ในระดับโลกหมดแล้ว เป็นตลาดโลก (global market) และอุปสงค์ระดับโลก (global demand) ลองดูสิว่าทำไม Amazon, Lazada หรือ Alibaba ถึงได้เติบโตมาก เพราะเขาขายให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้ได้ไง เราเลยต้องกลับมาคิดถึงความจริงว่า การบริโภคการผลิตต้องตอบสนองต่อความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการแบบตลาด ในสมัยมาร์กซ์ แรงงานกลายเป็นสินค้า แต่ตอนหลัง สินค้ากลายเป็นความต้องการของมนุษย์ (human wants) ความต้องการและความสามารถในการบริโภคเยอะมาก นี่ไม่ใช่ความต้องการตามธรรมชาติ แต่เป็นสินค้าที่หมุนเวียนในตลาด ผู้ผลิตนำความต้องการของมนุษย์มาผลิตเป็นสินค้าให้พวกเรา โดยที่เราไม่ได้คิดเลยว่าเราต้องการอะไร

ถ้าทางออกของระบบทุนนิยมอยู่ที่การสร้างระบบให้เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ให้อำนาจต่อรองของนายทุนกับแรงงานดีขึ้น รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเห็นหัวคนธรรมดาสามัญมากกว่านี้ ผมคิดว่าการจะไปต่อได้ต้องมาจากการสู้กันภายในระบบทุนนิยม ไม่ใช่ปฏิเสธระบบ คือตอนมาร์กซ์ เขาวิพากษ์และปฏิเสธเลย บอกว่าเป็นระบบสามานย์ แต่ตอนนี้ทุนนิยมไม่ใช่ระบบสามานย์ แต่เป็นระบบที่มีปัญหาบางส่วน เพราะจริงๆ แล้ว ทุนนิยมก็มีส่วนทำให้ชีวิตคนดีขึ้นด้วย

ความคิดพื้นฐานที่มาร์กซ์พูดเรื่องความเป็นเจ้าของ (ownership) ของทุนนิยมคือ หลักๆ ทุกอย่างต้องเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของปัจเจกบุคคล นี่เลยทำให้ทุนกระจายลงไปข้างล่างไม่ได้ เพราะกฎหมายรองรับอำนาจรัฐ รัฐบาลต้องออกกฎหมายโดยคำนึงและรักษาสิทธิความเป็นเจ้าของ อย่างที่สหรัฐฯ คุณไปแตะเรื่องการครอบครองอาวุธปืนแทบไม่ได้เลย นี่เป็นสิทธิโดยทรัพย์สินของเขาแบบเป็นธรรมชาติไปแล้ว ตรงนี้ต้องคิดใหม่ เปลี่ยนใหม่ มองว่าปัจจัยการผลิตควรเป็นของส่วนรวมมากขึ้น

พูดตรงๆ เลย ระดับการผลิตและเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้ทำให้มนุษย์มีความสุขชนิดที่คนในร้อยปีที่แล้วคิดไม่ถึง คุณจะเอาอะไรมากไปกว่านี้ล่ะ ถึงเวลาต้องลดแล้ว ไม่งั้นโลกจะร้อนขึ้น การใช้แก๊สและพลังงานแบบทำลายโลกก็จะเพิ่มขึ้น ถึงเวลายุติมันได้แล้ว ถ้าเราใช้ระบบกรรมสิทธิ์และการแบ่งปันกัน ให้หลายประเทศมาร่วมมือกัน เราอาจจะค้นพบนวัตกรรมไวและดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ตอนนี้ แม้จะมีบางประเทศแถบสแกนดิเนเวียและยุโรปเริ่มใช้แนวคิดคล้ายกับที่พูดมาข้างต้นแล้ว แต่กระแสหลักก็ยังเป็นเรื่องการแข่งขันและการยึดครองตลาดเพราะค่าตอบแทนสูง ตอนนี้ต่างคนต่างเก็บความลับไม่ยอมให้คนอื่นรู้เพื่อจะขายลิขสิทธิ์ แต่ถ้าต่อไป เราไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องลิขสิทธิ์เพราะมันเป็นของส่วนรวมได้ ผมว่าคนจะมีความสุขมากขึ้น

 

การปรับตัวของระบอบประชาธิปไตยบนทางแพร่ง

 

ในทางประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยเป็นชื่อรวมที่ใช้เรียกระบอบการเมืองการปกครอง ที่เกิดเป็นรูปร่างและประสบความสำเร็จเพราะระบบทุนนิยม สมัยศตวรรษที่ 19 ยุโรปประสบความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ สร้างพลังอำนาจ และทำให้อำนาจของรัฐมั่นคง นำรายได้จากอาณานิคมมาปรนเปรอให้ประชากรมีคุณภาพมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้คนคิดและมองเห็นลึกลงไปกว่ารัฐบาลของตัวเอง ถ้าเราทำให้คนไม่ยอมรับและเสนอทางออก และถ้าบางประเทศมีพลังทางการเมืองที่ก้าวหน้า หาแนวร่วมได้ และทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันเสนอทฤษฎีที่เป็นประโยชน์ เราอาจจะเลิกเรียกว่าขบวนการประชาธิปไตยไปเลยก็ได้ แต่เรียกว่าขบวนการฟื้นฟูชีวิต สามัคคีธรรม ข้าวยากหมากดี อะไรก็ว่าไป เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่อำนาจในการเลือก ผลักดัน และร่วมกันสร้างนโยบายที่เป็นของประชาชน ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ

ถ้าเราจะไปถึงขั้นแก้รื้อระบบการปกครอง มันช้า แถมยังจะถูกต่อต้านเยอะ แต่ถ้าเริ่มจากพื้นฐานใหม่ว่า เราต้องโยกย้ายการผลิตและไม่ใช้ระบบตลาดแบบเดิม แล้วจะถ่ายเททรัพยากรให้ลื่นไหลไปยังไง ผมพูดรวมๆ เพื่อให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาทางการเมือง แต่เป็นปัญหาปากท้อง ถ้าเราตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ระบบการเมืองก็จะลงตัว และยังจะเปลี่ยนวิธีมองและเข้าสู่ปัญหา คือเราไม่ต้องอาศัยวิธีการปฏิวัติ ยึดอำนาจ โค่นล้มชนชั้นปกครองแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาพูดเรื่องนั้นเลย เพราะถ้าเราพูดเรื่องนี้เมื่อไหร่มันก็จะกลับไปสู่โมเดลเดิมคือ ผู้มีอำนาจไม่ยอมออกไป และระบบอำนาจนิยมจะกลับมา

 

ก้าวต่อไปของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจนำโลก

 

จากใจเลยนะ สิ่งที่ผมอยากเห็นในวิกฤตครั้งนี้คือ ถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนสถานะบทบาทนำของตนเองสักที ต้องยอมรับว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี มาจนถึงการทำสงครามในอิรักหรืออัฟกานิสถานเป็นนโยบายที่ไม่รับผิดชอบ ไม่มีความชอบธรรม และไม่มีมนุษยธรรมเลย

ผมคิดว่า ถ้าเราทำให้ทั่วโลกมีความมั่นคงขึ้นมา สหรัฐฯ ก็ไม่มีช่องที่จะอ้างความชอบธรรมในการส่งกำลังทหารไปอย่างที่เขาทำในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา นี่จะเป็นการสั่งสอนและให้บทเรียนแก่สหรัฐฯ พวกเขามีทั้งทรัพยากร ยุทธศาสตร์ และยุทธภูมิที่ดีกว่าคนอื่นในโลก แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ผมว่านโยบายในโลกของเขาไม่น่าพึงประสงค์เท่าไหร่ มันน่าจะได้ดีกว่านี้ ถ้าต้องตัดเกรด ผมก็ให้เขาแค่ 30% คือสอบตกนั่นแหละ

ปัญหาคือ หลังวิกฤตครั้งนี้ สหรัฐฯ จะกลับมาแน่นอน เศรษฐกิจของเขาก็จะฟื้นเพราะเขามีทั้งทรัพยากร มีพลัง ความสามารถ และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่า สหรัฐฯ จะทำอย่างไรต่อไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save