จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ใครที่คุ้นกับซีรีส์ Designated Survivor (เริ่มฉายปี 2016) คงจำฉากแรกของซีรีส์ได้ดี เมื่ออาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (Capitol) ถูกระเบิดโดยกลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งที่ชื่อว่า True Believers ในวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ผลคือผู้นำประเทศ สมาชิกรัฐสภาและวุฒิสภา รวมถึงศาลสูงสุดเกือบทุกคนเสียชีวิตหมด เหลือเพียงแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเมืองและที่พักอาศัย (Tom Kirkman) ที่รอดชีวิต และถูกเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสำรองในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้
กลุ่ม True Believers มีสมาชิกจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน สมาชิกจากภาครัฐมีทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและสมาชิกรัฐสภา (อย่าง Peter Macleish ที่วางแผนให้ตัวเองรอดจากเหตุระเบิด) ส่วนสมาชิกภาคประชาชน นอกจากกลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวาทั่วไปแล้ว ยังมีอดีตนายทหารซึ่งถูกเปลี่ยนให้มีแนวคิดสุดโต่งระหว่างร่วมรบในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติอีกด้วย
ขณะที่ตามข่าวการบุกรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์วันที่ 6 มกราคม เราอดนึกฉากนี้จากซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากองค์ประกอบหลายอย่างคล้ายกัน แม้เหตุการณ์จริง ‘ยัง’ ไม่รุนแรงเท่าซีรีส์ แต่ซีรีส์มิได้คาดการณ์สิ่งใดเกินเลยไปจากความเป็นจริง
เมื่อปีที่แล้ว สถาบันวิจัยที่จับตา ‘การก่อการร้าย’ ในโลกตะวันตกให้สัญญาณว่า ภัยก่อการร้ายจากฝ่ายขวาสุดโต่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากดูสถิติในปีก่อนๆ อย่างในปี 2019 พบว่าการก่อการร้ายของฝ่ายขวาเพิ่มขึ้นจากเดิมคิดเป็นร้อยละ 320 และเมื่อเทียบสถิติระหว่างปี 2015-2019 กับปีก่อนหน้านี้ จำนวนเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยฝ่ายขวาเพิ่มขึ้นร้อยละ 250 ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในบรรดาประเทศเหล่านี้ สหรัฐฯ เผชิญภัยก่อการร้ายฝ่ายขวามากที่สุด คิดเป็น 167 เหตุการณ์จากเหตุการณ์โจมตีทั้งหมด 332 เหตุการณ์ช่วงปี 2002-2019

แนวโน้มเช่นนี้ทวีความเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ตั้งแต่เหตุการณ์สังหารประชาชน 77 คนในประเทศนอร์เวย์โดยนักกิจกรรมฝ่ายขวาสุดโต่งชาตินิยมชาวนอร์เวย์ เหตุการณ์โจมตีโบสถ์ชาวแอฟริกันอเมริกันแห่งเมืองชาร์ลส์ตัน รัฐเซาต์แคโรไลนาประเทศสหรัฐฯ ในปี 2015 เหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดาในปี 2017 เหตุการณ์กราดยิงโบสถ์ชาวยิวที่เมืองพิตต์สเบิร์ก ประเทศสหรัฐฯ ในปี 2018 ไปจนถึงเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิรช์ ประเทศนิวซีแลนด์โดยชายผิวขาวชาวออสเตรเลียเมื่อปี 2019
ส่วนกรณีการยึดสถานที่ทำการรัฐ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ก็มิใช่เหตุการณ์แรกในสหรัฐฯ เพราะเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มติดอาวุธฝ่ายขวาเข้ายึดอาคารที่ทำการรัฐมิชิแกน ท่ามกลางประกาศของผู้ว่ามลรัฐให้ทุกคน ‘อยู่บ้าน ต้านเชื้อโควิด’ ราวกับว่าเหตุการณ์อุกอาจนี้เป็นการซักซ้อมก่อนวันจริงเมื่อ 6 มกราคมที่ผ่านมา
กลุ่มจัดตั้งภาคประชาชนอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายฝ่ายขวาทั้งทางอ้อมและทางตรง ในทางอ้อม กลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวาอย่างกลุ่ม Proud Boys และ QAnon ในสหรัฐฯ กลุ่ม Soldiers of Odin ในแคนาดา ฟินแลนด์ และสวีเดน กลุ่ม PEGIDA ในเยอรมนี กลุ่ม Golden Dawn ในกรีซ กลุ่ม English Defence League ในอังกฤษ หรือกลุ่ม Generation Identity ในฝรั่งเศส ฯลฯ ทำงานอย่างหนักเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์และข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย
แม้กลุ่มเหล่านี้มีอุดมการณ์ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็มีส่วนคาบเกี่ยวกัน จะพบว่ากลุ่มเหล่านี้มีสำนึกในความเหนือกว่าทางเชื้อชาติสีผิว มองว่าชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมเป็นภัยคุกคามการอยู่รอดทางอารยธรรมของคนขาว ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมทางวัฒนธรรมทั้งเรื่องการเปิดรับผู้อพยพลี้ภัย การให้สิทธิเสียงกับเพศทางเลือกและชนกลุ่มน้อย การให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนต่อต้านพรรคการเมืองเก่าแก่ สถาบันหลักของรัฐ และระบอบประชาธิปไตย เพราะเข้าใจว่าถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ (เราได้อธิบายเงื่อนไขทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านี้ไว้บ้างในบทความเมื่อปี 2017)
อุดมการณ์เหล่านี้บางครั้งถูกห่อหุ้มในรูปแบบทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ซึ่งผลักให้ปัจเจกบุคคลหรือ ‘lone wolf’ ก่อความรุนแรงเพียงลำพังได้ อย่างเช่นเหตุการณ์โจมตีในประเทศนอร์เวย์เมื่อปี 2011 นายอันเดอร์ส เบรวิก ผู้ก่อเหตุเชื่อว่ายุโรปกำลังจะถูกผู้อพยพลี้ภัยชาวมุสลิมกลืนกิน และอารยธรรมยุโรปจะล่มสลายในที่สุด ก่อนลงมือ เขาเขียนความเชื่อนี้ไว้ในบันทึกหนาหลายร้อยหน้า ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเหตุโจมตีมัสยิดที่นิวซีแลนด์เช่นเดียวกัน
ทฤษฎีสมคบคิดส่งผลระดับกลุ่ม ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกลุ่ม QAnon ซึ่งร่วมบุกยึดรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม กลุ่มเหล่านี้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ ‘รัฐพันลึก’ (Deep State) หรือเครือข่ายลับชนชั้นนำว่าเป็นเหตุแห่งความชั่วร้ายทั้งหลายในโลก (ใครที่ดูซีรีส์ The Blacklist คงจำเครือข่าย Cabal – รัฐพันลึกที่อยู่เบื้องความหายนะหลายเรื่องกันได้) นักวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ว่า QAnon นอกจากจะเป็นกลุ่มจัดตั้งแล้ว ยังเป็นเสมือนลัทธิแบบ ‘hyper real religion‘ อีกด้วย
QAnon เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีที่แล้วช่วงวิกฤตโควิด-19 เพราะเผยแพร่ความเชื่อที่ว่าโรคระบาดนี้ไม่มีจริง แต่เป็นเรื่องโกหกที่ชนชั้นนำแห่งรัฐพันลึกอย่างเช่นเจ้าพ่อไมโครซอฟต์ บิล เกต ปั้นแต่งขึ้นเพื่อหวังครองโลก ความเชื่อเช่นนี้ขับเคลื่อนการประท้วงต้านมาตรการคุมโรคระบาดในสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิก QAnon ยังเชื่อว่ารัฐพันลึกยังพยายามขโมยชัยชนะการเลือกตั้งไปจากประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะทรัมป์พยายามถอนรากถอนโคนชนชั้นนำ อย่างชายที่ปรากฏตัวในชุดประหลาด รอยสักเต็มตัว ไร้เสื้อ ใส่หมวกมีเขา และทาสีแดง-น้ำเงินที่หน้าในวันบุกรัฐสภา แท้จริงแล้วเป็นสมาชิกหลักของกลุ่ม QAnon โดยเรียกตนเองว่า QAnon Shaman หรือคนทรงคิวอานอนนั่นเอง

กลุ่มจัดตั้งภาคประชาชนฝ่ายขวามีส่วนร่วมโดยตรงในเหตุโจมตีหลายระลอก ปฏิบัติการเหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยการวางแผน ระดมทุน และความสัมพันธ์กับ ‘คนในระบบ’ เพื่ออำนวยให้ปฏิบัติลุล่วงไปได้ คล้ายกับเครือข่ายก่อการร้ายมุสลิมสุดโต่ง (Islamist extremism)
การจัดตั้งและหาสมาชิกส่วนมากเกิดขึ้นในสื่อโซเชียลหรือ ‘dark web’ ความสำคัญของการหาสมาชิกที่เป็นคนในระบบมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอยู่ตรงที่การได้ข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยอำนวยปฏิบัติการ หรือได้รับการ ‘ขยิบตา’ จากกลไกรัฐ ในประเด็นนี้ รัฐบาลเยอรมันออกรายงานเมื่อปีที่แล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางส่วนเป็นสมาชิกและร่วมกิจกรรมของกลุ่มขวาสุดโต่งที่เรียกว่า ‘Sovereign Citizen’ ซึ่งมีแนวคิดต้านชาวยิว ต้านชาวมุสลิมและผู้ลี้ภัย รวมถึงนักการเมืองที่เชื่อว่าสนับสนุนชนกลุ่มน้อยเหล่านี้
ในสหรัฐฯ คำถามสำคัญต่อเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม คืออาคารรัฐสภาซึ่งโดยทั่วไปถูกคุมเข้ม มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเรือนพันประจำการ ถูกผู้ชุมนุมบุกยึดได้อย่างง่ายดายได้อย่างไร เป็นไปได้หรือมาที่เจ้าหน้าที่บางส่วน ‘ปล่อยเกียร์ว่าง’?
คำถามนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก FBI ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอดีตนายทหารจำนวนไม่น้อยถูกโน้มน้าวให้เป็นสมาชิกกลุ่มฝ่ายขวา หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตั้งใจใช้ความรุนแรงในการจับกุมชาวแอฟริกันอเมริกัน หรือใช้กำลังระหว่างรับมือการประท้วง Black Lives Matter ยิ่งไปกว่านั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธประชาชนฝ่ายขวาในการปะทะกับผู้ชุมนุมกลุ่ม Black Lives Matter และสังหารผู้ชุมนุมไปสองรายโดยอ้างว่าการกระทำของตนเป็นการแสดงความรักชาติ รายงานจาก ProPublica ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเห็นโน้มไปทางฝ่ายขวาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการติดตามเพจเฟสบุ๊กของกลุ่มขวาสุดโต่งกลุ่มหนึ่ง และพบว่าตำรวจตระเวนชายแดนสหรัฐฯ เกือบ 10,000 นายเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ โดยมักแลกเปลี่ยนโพสต์และมีมเหยียดเชื้อสีผิวและเพศ
ในเหตุการณ์วันที่ 6 มกรา ยังพบว่ามีเจ้าหน้ารัฐจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มประชาชนที่บุกยึดรัฐสภา จากภาพถ่ายหนึ่งของผู้ชุมนุม จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งโพสท่าถ่ายภาพร่วมกับผู้ชุมนุมอย่างเริงร่า หรือจากฟุตเทจวิดีโอ ก็จะเห็นภาพที่เจ้าหน้าที่ทหารออกไปร่วมกับพลเรือนเข้าบุกสภาทั้งที่ยังประจำการอยู่ ส่วนผู้ชุมนุมหญิงหนึ่งคนที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ก็เป็นอดีตนายทหารจากกองทัพอากาศเช่นกัน
นอกจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายรักษากฎหมายแล้ว ยังพบว่าผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกัน 97 นายแสดงความสนับสนุนกลุ่ม QAnon และเห็นด้วยกับทฤษฎีสมคบคิดของกลุ่มอย่างออกนอกหน้า รวมทั้งในการบุกรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ยังมีสมาชิกกลุ่มขวา ‘Stop the Steal’ ประกาศว่าสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันอย่างน้อยสามคน (สองคนจากรัฐแอริโซนา และอีกคนจากรัฐอลาบามา) เข้าร่วมการยึดทำเนียบรัฐสภากับพวกตน
ขณะนี้การตรวจสอบการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐในปฏิบัติฝ่ายขวาเมื่อวันที่ 6 มกราคมกำลังดำเนินอยู่ ไม่แน่ว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะเจอ ‘ตอ’ หรือไม่ เพราะอาจมิใช่เพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างเท่านั้นที่มีส่วนร่วม แต่อาจมีระดับนโยบายด้วยก็เป็นได้