fbpx

สหรัฐฯ กับจีนในสนาม AI: ใครจะเป็นมหาอำนาจโลก?

จีนที่พัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน AI อย่างก้าวกระโดดจะสามารถกลายเป็นผู้นำด้าน AI – หรือกระทั่งกลายเป็นมหาอำนาจโลกแซงหน้าสหรัฐในอนาคตอันใกล้ได้หรือไม่?[1]

นี่คือหนึ่งในคำถามสำคัญที่ทั้งสื่อ นักนโยบาย และนักวิชาการต่างพยายามหาคำตอบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อันที่จริง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของประเทศหนึ่งๆ เป็นประเด็นที่ถูกจับตามองและได้รับความสนใจเสมอมา โดยเฉพาะในการวิเคราะห์อนาคตการเปลี่ยนผ่านมหาอำนาจโลก เพราะรัฐผู้นำด้านเทคโนโลยีมักมีโอกาสสูงที่จะครองความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลกมักทำให้รัฐผู้นำทางเทคโนโลยีสามารถผูกขาดกำไรจากการคิดค้น ผลิต และส่งออกเทคโนโลยี ส่งผลให้มีความได้เปรียบทั้งทางเศรษฐกิจโดยตรงและในแง่การลงทุนด้านความมั่นคงทางทหาร

อย่างไรก็ดี คำตอบต่อคำถามดังกล่าวยังคงหลากหลาย Dan Garfield ประธานสภาอุตสาหกรรมข้อมูลเทคโนโลยีของสหรัฐ (Information Technology Industry Council) ให้สัมภาษณ์ว่า ความกังวลว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจด้าน AI เป็นความวิตกที่ค่อนข้างไร้เหตุผล (“grounded in hysteria”) ในขณะที่นักวิเคราะห์ชื่อดังหลายคนเห็นแย้งกับแนวคิดข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น Eric Schmidt อดีตซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่าง Alphabet ซึ่งคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2017 ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี AI ของจีนจะไล่ตามทันสหรัฐภายในปี 2020 จะแซงหน้าสหรัฐภายในปี 2025 และจะเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับโลกภายในปี 2030 หรือกระทั่ง Kai-Fu Lee หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ก็คิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน และเขียนไว้ในหนังสือชื่อดังอย่าง AI Superpowers ว่า ระดับการพัฒนาของ AI ของจีนจะทัดเทียมหรือกระทั่งแซงหน้าสหรัฐได้ในอีกไม่นาน

บทความขนาดสั้นชิ้นนี้จะลองร่วมตอบคำถามดังกล่าว ผ่านการสำรวจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าด้วยผลของการพัฒนาเทคโนโลยีต่อการเปลี่ยนผ่านของมหาอำนาจโลกอย่างคร่าวๆ ก่อนนำบทเรียนที่ได้มาวิเคราะห์สถานการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน เพื่อคาดคะเนการแข่งขันการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี AI ในอนาคตอันใกล้ และการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจโลกระหว่างสหรัฐและจีน[2]

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกับการก้าวสู่มหาอำนาจโลกในอดีต

นักวิชาการส่วนใหญ่ ทั้งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความรุ่งเรืองและร่วงโรยของมหาอำนาจโลกมักเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมักทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีทะยานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเปลี่ยนดุลอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเดิมของโลกต่อเนื่องกันไป อย่างไรก็ดี ในทางวิชาการ แม้ว่าเราจะรู้เลาๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสัมพันธ์กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าทั้งสองส่วนนี้สัมพันธ์กันอย่างไร  

ในบรรดาคำอธิบายที่พอจะมีอยู่ แนวคิดหลักมักมองว่า รัฐที่เป็นผู้นำในการผลิตนวัตกรรมสำคัญมักเป็นผู้ได้เปรียบในเกมการแข่งขันช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจโลก เนื่องจากผู้ริเริ่มการผลิตย่อมได้เปรียบในการผูกขาดกำไรจากการผลิตและส่งออกเทคโนโลยี การณ์ดังกล่าวจะเสริมสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้นๆ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตามทฤษฎีนี้แล้ว กำไรมหาศาลจากการผูกขาดจะเริ่มลดลงหลังจากที่เทคโนโลยีได้ถูกกระจายหรือขยับขยายจนรัฐอื่นๆ สามารถลอกเลียนหรือสร้างนวัตกรรมที่ใกล้เคียงได้ด้วยตัวเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจจะลดลงไปเมื่อเทคโนโลยีหมดความใหม่และถูกใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

นักนโยบายและนักวิชาการจำนวนมาก (รวมถึง Robert Gilpin นักทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชื่อดัง) มักวิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านหรือการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจผ่านกรอบแนวคิดนี้ ดังที่เห็นได้จากข้อคิดเห็นจำนวนมากที่มองว่าจีนกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจโลกในเร็ววัน โดยพิจารณาจากหลักฐานที่ว่า จีนส่งเสริมหรือมีศักยภาพสูงในการริเริ่มและผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI ใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี เริ่มมีการตั้งคำถามต่อแนวคิดดังกล่าวมากขึ้น นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรุ่นหลัง เช่น Jeffrey Ding มองว่า จริงอยู่ที่การเป็นผู้ริเริ่มผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ มักสร้างได้เปรียบในหลายด้าน แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่เพียงพอ หรือกระทั่งไม่จำเป็นสำหรับการก้าวสู่มหาอำนาจโลก สำหรับนักวิชาการกลุ่มนี้ สิ่งที่ประเทศที่จะก้าวเป็นมหาอำนาจโลกพึงมีคือ การมีกลไกหรือระบบสถาบันที่จะทำให้เทคโนโลยีได้รับการยอมรับ แพร่ขยาย และถูกใช้ในอุตสาหกรรมในหลายภาคส่วน การแพร่ขยายของเทคโนโลยีจะช่วยทั้งในแง่ (1) การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ และ (2) การพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้น โดยปัจจัยทั้งสองประการนี้จะช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถขยายตัวในวงกว้าง จนส่งผลให้ประเทศกลายเป็นตัวเต็งมหาอำนาจโลกในอนาคต

Ding (และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีกจำนวนไม่น้อย) เสนอว่า หากพิจารณาการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในโลกที่ผ่านมา ทฤษฎีการแพร่ขยายเทคโนโลยีสอดคล้องถูกต้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหญ่และรูปแบบการก้าวสู่มหาอำนาจโลกในประวัติศาสตร์มาก กว่าแนวคิดหลักที่เน้นพิจารณาการคิดค้นและริเริ่มการผลิต

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อันถือเป็นจุดริเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 หากมองผ่านมุมแนวคิดหลักที่เน้นพิจารณาการริเริ่มผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ประเทศเยอรมนีอาจถูกมองว่าเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสารเคมีสังเคราะห์ (ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญของโลกในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2) และเป็นตัวเต็งมหาอำนาจโลก เนื่องจากลงทุนมหาศาลในการวิจัยวิทยาศาสตร์ มีนักเคมีความสามารถสูงจำนวนมาก และยังสามารถผลิตสินค้าด้านเคมีภัณฑ์ อย่างเช่นสารเคมีสังเคราะห์ย้อมสีเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของโลก

อย่างไรก็ดี หากมองผ่านทฤษฎีที่เน้นพิจารณาการแพร่ขยายเทคโนโลยีในวงกว้าง ผู้นำด้านอุตสาหกรรมเคมีและตัวเต็งมหาอำนาจโลก ณ เวลานั้นกลับไม่ใช่เยอรมนี หากแต่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าเยอรมนีแทบจะผูกขาดการผลิตสีย้อมสังเคราะห์ และเหนือกว่าสหรัฐฯ ในแง่การการวิจัยด้านองค์ความรู้ด้านเคมี แต่ว่าสหรัฐฯ สามารถใช้เทคโนโลยีเคมีสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมหลายภาคส่วนนอกในอุตสาหกรรมสีย้อม ไม่ว่าจะใช้ในการผลิตอาหาร ผลิตโลหะ และการทอผ้า นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ซึ่งช่วยให้สหรัฐสามารถพัฒนาการศึกษาด้านการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และนำองค์ความรู้ใหม่ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าเยอรมนี และแซงหน้าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นมหาอำนาจโลกเดิมได้สำเร็จตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนที่สหรัฐฯ จะทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกในเวลาต่อมา

กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีที่เน้นพิจารณาการแพร่ขยายเทคโนโลยีถูกต้องสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของโลกมากกว่าแนวคิดหลัก หากมองผ่านทฤษฎีดังกล่าว ประเทศที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและเป็นตัวเต็งมหาอำนาจโลกอาจไม่ใช่ประเทศที่ค้นพบหรือริเริ่มการผลิตเทคโนโลยีใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นประเทศที่มีระบบโครงสร้างที่สนับสนุนรองรับการแพร่ขยายของเทคโนโลยี เช่น มีการสนับสนุนการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมที่พร้อมจะปรับตัวไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยี หรือมีการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันของเทคโนโลยี อันจะช่วยให้การพัฒนาข้ามอุตสาหกรรมเกิดได้ง่ายขึ้น ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจนไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงต้นของการค้นพบและผูกขาดการผลิต และสิ้นสุดลงหลังการกระจายเทคโนโลยี หากมักเกิดขึ้นหลังจากการกระจาย การพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีในวงกว้างและหลายภาคส่วน

ในส่วนต่อไป เราจะลองใช้กรอบคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยี AI (ที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เพื่อคาดคะเนการช่วงชิงการเป็นมหาอำนาจโลกในอนาคต

สหรัฐฯ VS จีน: ใครเป็นต่อในเทคโนโลยี AI

เทคโนโลยี AI ของจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่เน้นการลอกเลียนแบบทั้งเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจจากตะวันตก ในปัจจุบัน ประเทศจีนได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้คิดค้นและผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยตนเอง โดยเฉพาะด้านการค้าและบริการที่ดูจะก้าวหน้ายิ่งกว่าสหรัฐฯ เสียอีก ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของจีนอย่าง Taobao ก็กลายมาเป็นที่นิยม และเอาชนะแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงมายาวนานอย่าง e-Bay ได้ ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี AI และธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีน ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม AI อันจะส่งเสริมให้จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจในไม่ช้า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่สนับสนุนข้อคิดเห็นในแนวทางนี้มักพิจารณาจากตัวชี้วัดต่างๆ ที่บ่งบอกว่าจีนมีศักยภาพในการค้นพบนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ R&D จำนวนผลงานการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ และจำนวนสิทธิบัตรที่จีนครอบครอง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะหลัง[3]  

อย่างไรก็ดี หากเรามองผ่านแนวคิดว่าด้วยการแพร่ขยายเทคโนโลยี จะเห็นว่าปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงอยู่ตำแหน่งที่เหนือกว่าจีนค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2017 อันดับการยอมรับและใช้งานเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (ICT) ของจีนยังอยู่ที่อันดับ 83 ของโลก จริงอยู่ที่จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการแพร่ขยาย ICT ทั้งในด้านการใช้จ่ายซื้อขายผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ต (e-commerce) และในภาคส่วนแอปพลิเคชันที่ใช้ติดต่อกับลูกค้าอย่าง Taobao ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่จีนยังคงล่าช้าในการรองรับการเปลี่ยนแปลงระบบดิจิทัลในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สำคัญ อย่างเช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (industrial robotics)[4] การพัฒนาซอฟต์แวร์หลักๆ ในอุตสาหกรรม และ cloud computing

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สหรัฐฯ เองยังคงถือแต้มต่อในแง่ทักษะความสามารถของประชากร นอกจากจะพยายามดึงดูดผู้ที่มีความสามารถด้าน AI จำนวนมหาศาลแล้ว สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ สหรัฐฯ พยายามพัฒนาสาขาวิชาวิศวกรรม AI และเชื่อมองค์ความรู้สายวิชาการกับสายปฏิบัติ ดังที่เราจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศอันดับหนึ่งของโลกที่มีผลงานตีพิมพ์ด้าน AI ที่เขียนร่วมกันระหว่างนักวิชาการและนักปฏิบัติจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมากกว่าจีนถึงสองเท่าตัว โดยการเชื่อมระหว่างทรัพยากรมนุษย์จากภาคส่วนที่ต่างกันทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีถูกแพร่ขยายและพัฒนาได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในแง่ของการทำให้ AI เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น สหรัฐฯ ก็ยังคงถือแต้มต่อเช่นกัน จริงอยู่ที่ในเบื้องต้น เราอาจมองว่าระบบที่เน้นการจัดการแบบรวมศูนย์อย่างจีนน่าจะมีประสิทธิภาพในการสร้างมาตรฐานและบังคับใช้กฎเกณฑ์มากกว่า อย่างไรก็ดี ในเชิงเทคนิค การสร้างและควบคุมมาตรฐานด้านเทคโนโลยีโดยระบบรวมศูนย์จากรัฐเพียงอย่างเดียวมักไร้ประสิทธิภาพ เพราะแท้จริงแล้ว ภาครัฐมักไม่ได้ติดตามองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในเชิงเทคนิคใหม่ๆ มากนัก อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในจีน พบว่ามาตรฐานด้าน AI มักมีปัญหาในการปรับใช้กับความต้องการของตลาดและภาคอุตสาหกรรม ผลที่ตามมาคือ การสร้างและบังคับใช้มาตรฐานของ AI ในเชิงเทคนิคโดยรัฐบั่นทอนมากกว่าเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ต่างจากโมเดลการสร้างมาตรฐานในสหรัฐฯ และยุโรปที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนามาตรฐาน AI

แน่นอนว่าเทคโนโลยี AI ยังเกิดขึ้นได้ไม่นาน (เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีสำคัญอื่นๆ) และกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะคาดเดาได้อย่างแน่ชัดว่าจะมีทิศทางเช่นไร และส่งผลต่อดุลเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างไรในอนาคต อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผ่านบทเรียนการพัฒนาเทคโนโลยีและการก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจโลกในอดีต บทความนี้เห็นว่า ด้วยโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่ขยายเทคโนโลยีในวงกว้าง สหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าจีน ทั้งในแง่โอกาสการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี AI และโอกาสในการครองความเป็นมหาอำนาจในอนาคต


อ้างอิง

[1] ตัวอย่างเช่น Auslin 2018

[2] เนื่องจากอำนาจมีหลายมิติ การเป็นมหาอำนาจโลกจึงสามารถมีหลายมิติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Allan, Vucetic, and Hopf (2018) ที่สำรวจการเป็นมหาอำนาจโลกในแง่มุมอัตลักษณ์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีมักถูกเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง (ซึ่งความได้เปรียบทางเศรษฐกิจจะมีผลต่อด้านความมั่นคงทางทหารอย่างมีนัยสำคัญด้วยดังที่กล่าวไปแล้ว) บทความชิ้นนี้จึงเน้นความสัมพันธ์ระหว่างการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์โดยเฉพาะด้านความมั่นคงบางคนอาจมองว่า ความก้าวหน้าของ AI สามารถสร้างความได้เปรียบทางการทหารและความมั่นคงได้โดยตรงอันจะทำให้รัฐนั้นๆ สามารถกลายเป็นมหาอำนาจโลกได้ (โดยอาจไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ) บทความขนาดสั้นชิ้นนี้ยังไม่พิจารณาข้อคิดเห็นนี้โดยตรงนัก เนื่องด้วยพื้นที่จำกัดของบทความ นอกจากนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า AI (โดยเฉพาะศักยภาพปัจจุบัน) สามารถใช้ประโยชน์ทางการทหารจนทำให้เกิดการข้อได้เปรียบทางการทหารอย่างมีนัยสำคัญได้จริงหรือไม่ (ตัวอย่างข้อสนับสนุน Horowitz 2018; ตัวอย่างข้อกังขา Zwetsloot, Toner, Ding 2018)

[3] นอกจากนี้ นักวิชาการหลายคนอาจสนับสนุนว่าจีนจะเป็นผู้นำด้าน AI และกลายเป็นมหาอำนาจโลกได้ด้วยการครอบครองข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือ big data จริงอยู่ที่จีนมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก (มากกว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ และยุโรปรวมกันเสียอีก) ดังนั้นจีนจึงมีข้อมูลที่สามารถเก็บได้จำนวนมาก อย่างไรก็ดี บทความจะยังไม่พิจารณาประเด็นดังกล่าวในรายละเอียด เนื่องด้วยพื้นที่จำกัดของบทความ อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวมักไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าการครอบครองข้อมูลจำนวนมหาศาล จะทำให้ได้เปรียบในแง่ใดบ้าง (โดยเฉพาะเมื่อเซ็ตข้อมูลที่เก็บได้มักจะมีลักษณะเจาะจงเฉพาะด้าน) หรือทำให้ประเทศหนึ่งๆ กลายเป็นมหาอำนาจได้อย่างไร (ดู LeVine 2018 สำหรับภาพรวมเรื่องความสำคัญของข้อมูล) นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ชาวจีนเองก็ยอมรับว่า แม้ว่าจีนจะมีข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่จีนก็ประสบปัญหาหนักในการจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูล

[4] แม้ว่าจีนจะเป็นผู้นำในแง่จำนวนการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (ที่มีมากกว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นรวมกัน) แต่พบว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไม่ได้สร้างผลผลิตมากนัก นอกจากนี้ หากคำนวณในแง่อัตราความหนาแน่นในการรับและปรับใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมของจีนแล้ว ก็เรียกได้ว่ายังคงไม่สูงนัก โดยในปี 2018 จีนรั้งอยู่ในอันดับ 20 ของโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้อันดับที่ 4 และ 8 ตามลำดับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save