fbpx
ทรัมป์(รัฐ)ประหารประชาธิปไตยในอเมริกา

ทรัมป์(รัฐ)ประหารประชาธิปไตยในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

อะไรที่ไม่คิดว่าจะเห็นก็ได้เห็น อะไรที่คิดว่าไม่อาจเกิดได้ ก็ได้เกิดแล้ว ทรัมป์กับคณะก่อการจลาจลในเมืองหลวงอเมริกา หวังจะล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เขาเพิ่งแพ้ไป ความไม่สงบและการใช้กำลังของบรรดาพลังขวาจัดที่ชูอุดมการณ์คนขาวเป็นเจ้ารวมถึงเหยียดเชื้อชาติและเพศสภาพอื่นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกิดขึ้นระหว่างการประชุมร่วมของสภาคองเกรสที่มีวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการรับรองคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งว่าใครสมควรได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ต่อไป ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์(อยู่ในตำแหน่ง)กับโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต

รายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายในกระบวนการเลือกตั้งในอเมริกาเป็นเรื่องที่คนคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะได้เคยกระทำและสืบทอดต่อเนื่องมานับศตวรรษจนแทบเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของคนอเมริกันไป ไม่มีอะไรในนั้นที่คนทั่วไปอยากรู้ เพราะเมื่อเสียงข้างมากออกมาแล้ว ในปริมาณเป็นตัวเลขที่แน่นอนตายตัว มันก็ได้ตัดสินผลของการแข่งขันไปแล้วว่าใครชนะและใครแพ้ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยากจะโต้เถียงและคัดค้านได้ นอกจากจะมีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์พอๆ กันมาประจันหน้าและหักล้างผลนั้นได้ และก็ไม่ค่อยมีความขัดแย้งถึงขนาดต้องมาพิสูจน์กันบ่อยนัก

ทว่าในการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ผู้แพ้กลับไม่ยอมรับผลการพ่ายแพ้ พยายามหาทางทุกอย่างที่ทำได้ ตั้งแต่การฟ้องร้องศาลมลรัฐถึงศาลสูง ร้องให้นับคะแนนใหม่ในบางรัฐที่คะแนนสูสีกันมาก แต่ผลที่ออกมาคือทรัมป์ก็ยังแพ้ไบเดนอีก ทั้งคะแนนประชาชนและคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง โดยสามัญสำนึก เราก็คิดว่าในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 6 มกราคม อันเป็นวันที่รัฐสภาคองเกรสนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง ปัญหาและความขัดแย้งทั้งหลายก็คงจะถึงจุดจบที่ทั้งสองพรรคและสองมวลชน ต่างเดินหน้าเข้าสู่วิถีของการเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ยอมให้ระบบดำเนินต่อไป ซึ่งนั่นคือจารีตประเพณีของการเมืองอเมริกันที่ตำราประวัตศาสตร์อเมริกาทุกสำนักระบุไว้เหมือนกันหมด

วันที่ 6 ม.ค. กระบวนการนับคะแนนของที่ประชุมสภาคองเกรสจะเป็นพิธีกรรมสุดท้ายของการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและมีผลในทางปฏิบัติอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การต่อต้าน คัดค้าน ประท้วงและไม่เห็นด้วยทั้งหลายทั้งปวงก็จะต้องยุติและอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองต่อไปได้ แต่แล้วเหตุอันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อทรัมป์และกองเชียร์ระดมกำลังและหาทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งการนับคะแนน เพื่อจะไม่ให้เกิดการรับรองผลคะแนนการเลือกตั้งที่โจ ไบเดนได้ชัยชนะเหนือทรัมป์ผ่านออกมาได้

ทั้งๆ ที่ตัวบทในรัฐธรรมนูญระบุเพียงว่า รองประธานาธิบดีผู้เป็นประธานการประชุมนี้ มีหน้าที่ในการนับคะแนนและพิสูจน์ให้ที่ประชุมรับว่าคะแนนที่นับอยู่นั้นเป็นของจริงและถูกต้อง ทำได้เท่านี้เอง ไม่มีอะไรให้ต้องมาพิจารณา ตัดสินและใช้วินิจฉัยว่าควรจะทำอะไรอย่างอื่นอีก มันไม่มีอะไรให้ทำ แต่ทรัมป์บอก ไมค์ เพนซ์ว่าทำอย่างอื่นได้ เพื่อให้การประชุมไม่อาจยุติลงด้วยผลที่รู้กันก่อนแล้ว นี่คือการจงใจกระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญ

ทำไมเขาถึงเชื่อมั่นในความคิดดังกล่าวนี้?

พูดแบบประชดประชัน นายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นคนแรกที่สามารถสร้างคำถามมากมายให้แก่การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งคนทั่วโลกนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญด้วยกัน เขาทำให้เกิดความงุนงงสงสัยว่าทำไมจึงมีกติกาให้มีคณะผู้เลือกตั้งประหลาดพิสดารไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยของประชาชนสักเท่าไรมามีบทบาทสำคัญยิ่งในการตัดสินผลการเลือกตั้งในปี 2020 เป็นครั้งแรก (มีคนอ้างว่าการเลือกตั้งปี 1876 ก็มีการคัดค้านแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกัน) ที่สำคัญคือคนที่ออกมาคัดค้านการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งคือประธานาธิบดีทรัมป์ผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้งเอง

ตรงนี้เองที่ทำให้วิกฤตการเลือกตั้งครั้งนี้นับได้ว่าเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยมีการคัดค้าน ต่อต้าน ประท้วง กระทั่งหนุนให้ผู้สนับสนุนของตนออกมาใช้กำลังและทำทุกหนทาง ทั้งถูกและผิดกฎหมายทุกระดับจากมลรัฐถึงรัฐสภาคองเกรสแห่งชาติ เพียงเพื่อจะล้มผลการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประธานาธิบดีอย่างสันติและตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะเป็นการรักษาอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์อีกต่อไป ด้วยหนทางที่ไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญและไม่สงบสันติอย่างที่เคยพูดกันมา

ฉากนี้จะเป็นประวัติศาสตร์น่าอัปยศ เป็นวันอัปยศของประชาธิปไตยในอเมริกาไปอีกนานแสนนาน

หลังจากดูรายงานข่าวถึงการออกมาปลุกระดมของทรัมป์หน้าการชุมนุมในกรุงวอชิงตันดีซี ทั้งคำพูดและเนื้อหาที่หนักและแรงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเขาเป็นผู้บอกให้กลุ่มมวลชนของเขาเข้ายึดตึกคองเกรสด้วยกำลัง เพื่อเปลี่ยนผลคะแนนดังกล่าวนี้ให้ได้ จนเกิดการปะทะและใช้กำลังบุกเข้ายึดตึก ห้องทำงานและประชุมนานหลายชั่วโมงก่อนที่กองกำลังรักษาประเทศและหน่วยความมั่นคงอื่นๆ เข้ามาขับไล่ผู้ประท้วงออกไปได้ในที่สุด

มีการบันทึกภาพความชุลมุน เมื่อบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกหาทางหลบหนีซุกซ่อนตัวในห้องต่างๆ เจ้าหน้าที่ต้องพานายไมค์ เพนซ์หนีไปยังห้องลับเพื่อซ่อนตัว เพราะมีการประกาศให้จับนายเพนซ์ด้วย มีการเตรียมเชือกผูกคอ กุญแจมือ ไปถึงระเบิดขวดและปืน สรุปคือการบุกรุกยึดคองเกรสครั้งนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญหรือเพราะคุมม็อบไม่อยู่อย่างมือสมัครเล่น หากดูจากแหล่งข่าวแล้วเชื่อได้ว่ามีการวางแผนมาก่อนอย่างละเอียด ทั้งการปลุกระดมมวลชนทั่วประเทศให้มาร่วมประท้วง มีการจองห้องพักในโรงแรมไว้ มีที่พักและที่หลบหนีออกไปครบถ้วน ดังนั้นเหตุการณ์จลาจลครั้งนี้จึงเข้าข่ายการวางแผนก่อการกบฏ (insurrection) ที่มุ่งกระทำต่อรัฐบาลอเมริกันด้วยความรุนแรง และอย่างมีขั้นตอน

นอกจากการประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1860 นำโดยรัฐเซาท์แคโรไลนา ที่รัฐสภาแห่งมลรัฐผ่านมติเป็นกฎหมายออกมา ทำให้มลรัฐทางใต้อื่นๆ ดำเนินตาม การปะทะกันด้วยกำลังยังไม่เกิดจนถึงวันที่ 12 เมษายน 1861 อันเป็นวัน ‘เสียงปืนแตก’ นัดแรกที่อ่าวเมืองชาร์ลสตัน เซาท์แคโรไลนา ต่อจากนั้นก็เป็นประวัติศาสตร์สงครามกลางเมือง นับจากนั้นมาไม่เคยเกิดการจลาจลใช้กำลังยึดตึกคองเกรสอีกเลย กระทั่งวันที่ 6 มกราคม 2021

ที่ยกกำเนิดความรุนแรงระหว่างรัฐภาคเหนือกับภาคใต้มา ไม่ได้ต้องการจะบอกว่ากำลังจะเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกาอีกรอบหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องคงไม่หลุดลอยและวิ่งเข้าสู่วัฏจักรแห่งความขัดแย้งเก่าอีก เพียงแต่สะกิดใจว่าการเกิดและเติบใหญ่ของมวลชนคนรักและหลงโดนัลด์ ทรัมป์อาจอธิบายได้ด้วยมิติทางประวัติศาสตร์ อย่างน้อยในทางอุดมการณ์ ความเชื่อ และความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลางและพรรคการเมืองที่เสรีนิยมอย่างเดโมแครตนั้นมีที่มาและที่ไปอันรับรู้ได้ในภาคใต้เก่า (Old South) อันเป็นคำเรียกบรรดารัฐภาคใต้ก่อนสงครามกลางเมือง ที่คนใต้เชื่อว่ามีประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันเทียบได้กับอาณาจักรเก่าแก่ของโลกเช่นกรีกโรมัน (เรื่องนี้คนภาคเหนือไม่ค่อยเชื่อตามสักเท่าใด)

คำถามที่มีจากทั่วทุกสารทิศ คือ ประชาธิปไตยในอเมริกาตายแล้วหรือ? อำนาจนิยมเกิดขึ้นในอเมริกาแล้วหรือ? เกิดรัฐประหารในอเมริกา? ทำไมพลังอนุรักษนิยมขวาจัดชาตินิยมถึงยกระดับได้ปานนี้ ดูจากการเคลื่อนกำลังเข้ายึดและทำลายห้องทำงานของประธานสภาผู้แทนและสิ่งของในรัฐสภา รวมถึงการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาด้วยกำลัง ที่น่าตกใจคือแหล่งข่าวเชื่อว่ามีหนอนบ่อนใส้อยู่ในกลุ่มตำรวจรัฐสภา และกองกำลังอื่นๆ ทำให้การขัดขวางและป้องปรามจับกุมผู้ประท้วงไร้ประสิทธิภาพ ถึงกับว่าไปช่วยบอกทางภายในตึกคองเกรสให้ฝ่ายผู้ประท้วงเสียอีก ยังไม่หมด บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนและวุฒิสภาที่เป็นรีพับลิกันและมาจากภาคใต้และตะวันตกนับร้อยกว่าคนยังให้กำลังใจและหนุนท้ายผู้ประท้วงที่เข้ามาก่อความไม่สงบในตึกเสียอีก

ทั้งหมดกล่าวได้ว่า นี่คือการทำลายอำนาจรัฐ (ส่วนหนึ่ง) โดยผู้แทนที่ใช้อำนาจรัฐเอง ถูกต้องว่าผู้คนที่ใช้กำลังและความรุนแรงทำลายข้าวของและผู้คนในรัฐสภานั้นเป็นประชาชนคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ แต่การที่ผู้แทนทั้งสภาล่างและสูงที่ใช้อำนาจอธิปไตยด้วย กลับลงมือทางอ้อมในการหนุนช่วยให้เกิดการทำลายดังกล่าว จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าอย่างไร

มองจากแง่มุมของนักวิจารณ์สายเสรีนิยม นี่คือความเสื่อมโทรมของระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่มักมีจุดอ่อน เปิดช่องให้กับพวกบ่อนทำลายจากข้างใน โดยเฉพาะพวกหัวอนุรักษนิยม เชื้อชาตินิยมและคลั่งลัทธิลึกลับทั้งหลายที่ออกมาตอบโต้และสู้แบบนอกตำรา ขบวนการล่าสุดนี้มีหัวหน้าที่โดดเด่นแถมมีอำนาจรัฐอเมริกาอันยิ่งใหญ่อยู่ในมือด้วย นับเป็นโอกาสทองที่หาไม่ได้ง่ายนัก จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสอันงดงามยิ่งนี้หลุดมือไป ตลอดเวลา 4 ปีที่ทรัมป์ครองอำนาจ ขบวนการลัทธิทรัมป์มีแต่เติบใหญ่และขยายตัวอย่างไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วหรืออ่อนตัวลง ไม่ว่าฝ่ายเดโมแครต สื่อเสรีนิยมและปัญญาชนทั้งหลายจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำและการพูดของทรัมป์อย่างไรก็ตาม คะแนนของสำนักโพลต่างๆ ก็ยืนยันเหมือนกันว่าคะแนนเสียงที่ให้การยอมรับและสนับสนุนทรัมป์นั้นคงที่เสมอมาไม่กระเทือน แม้ว่าเมื่อนับคะแนนรวมคนทั้งประเทศแล้ว คะแนนยอมรับการทำงานของทรัมป์ก็ไม่เคยได้เกินร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งเลยและมีแต่ลดลง

มองจากแง่มุมของประวัติศาสตร์อเมริกา โดยเฉพาะจากประวัติศาสตร์ของภาคใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาบนความคิดทางการเมืองเดียวกัน คือ เสรีภาพ ทรัพย์สินส่วนตัวและความเชื่อในศาสนาคริสเตียนโปรเตสแตนต์ หลังจากภาคใต้นำเอาระบบทาสมาเป็นแรงงานหลักในการผลิต ทำให้อุดมการณ์ภาคใต้ก้าวไปสู่การเป็นอนุรักษนิยม เน้นหนักที่ความเป็นชุมชนที่สมาชิกให้ความร่วมมือกันมากกว่าการเป็นสังคมที่เป็นปัจเจกชน เมื่อปัญหาระบบทาสก้าวขึ้นมาเป็นใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติในทศวรรษก่อนสงครามกลางเมือง ภาคใต้สร้างอุดมการณ์ความเป็นเจ้าของคนผิวขาว (white supremacy) ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การมีระบบทาสผิวดำที่อยู่ในก้นบึ้งของชุมชนคนขาว ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การวิจารณ์และคัดค้านระบบแรงงานเสรีในภาคเหนือ กระทั่งพัฒนามาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านระบบเสรีนิยม (liberalism) ของภาคเหนือมาโดยตลอดกระทั่งถึงทุกวันนี้

จากมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบบทุนนิยมในภาคใต้ก็พัฒนามาแตกต่างจากในภาคเหนือ บรรดาคนอเมริกันในภาคใต้และตะวันตก ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในระบบทุนนิยมที่มีมิติของการค้ามากกว่าอุตสาหกรรม เป็นทุนแบบธรรมดาในระยะแรกของการเกิดระบบทุนนิยมสมัยใหม่ คือมาจากทุนการค้าหรือพาณิชย์ อันได้แก่ทุนที่มาจากการซื้อเพื่อขาย ใช้แรงงานครอบครัวและถ้ามีไร่ขนาดใหญ่ก็อาศัยแรงงานทาสในยุคทาส และใช้แรงงานจ้างในยุคต่อมา กระทั่งใช้เครื่องจักรกลทำการผลิต ทางการเมืองก็สร้างระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้รัฐเข้ามาแบกรับหนุนช่วยการผลิตและการตลาดของชาวบ้านมาก พูดอย่างเปรียบเทียบระบบการเมืองของภาคใต้และตะวันตกตอนกลาง (มิดเวสต์) ละม้ายคล้ายกับระบบการเมืองในประเทศโลกที่สามไม่น้อย ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทาสทำให้ชนชั้นนายทาสภาคใต้เกือบเป็นเจ้าที่ดินและขุนนางไป คติเรื่องความภักดี เกียรติยศและอุปถัมภ์ร้อยรัดอยู่ในลัทธิปิตาธิปไตย (paternalism) ที่มีอยู่แต่ในภาคใต้สมัยก่อนสงครามกลางเมืองเท่านั้น ไม่มีในภาคเหนือ คนใต้แท้จึงมักพูดว่า “คนต้องรู้ว่าตำแหน่งฐานะของตนอยู่ตรงไหน” ผมคิดว่าแยงกี้นิวยอร์กทั่วไปไม่เข้าใจ แต่คนไทยและนักเรียนไทยในอเมริกาทั้งหมดซาบซึ้งคติดังกล่าวเป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้ผมพยายามวิเคราะห์การเกิดและระเบิดของการจลาจลของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาสุดขั้วและสาวกทรัมป์ว่า ไม่ใช่เป็นผลงานและความสำเร็จของโดนัลด์ ทรัมป์คนเดียวเท่านั้น แม้เขาจะมีบทบาทที่สำคัญมากในการทำให้การลุกฮือจลาจลนี้เกิดได้ แต่คลื่นและขบวนการต่อต้านคัดค้านรัฐบาลกลางและนโยบายเสรีนิยมของพรรคเดโมแครตนั้นมีมานานแล้ว นี่เองที่เป็นฐานหล่อเลี้ยงผู้ลงคะแนนเสียงภาคใต้และตะวันตกกลางของพรรครีพับลิกัน

คำถามต่อมาคือ ทำไมถึงมาระเบิดในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัมป์และครอบครัวต้องการอำนาจรัฐที่สามารถบันดาลความมั่งคั่งให้แก่พวกเขาได้ดีกว่าทุนธรรมดา นี่เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ขับเคลื่อนทุนได้ตามความปรารถนาของผู้ยึดครองมัน เขาจะเป็นเสมือนพระเจ้าในโลกนี้ แต่จุดอ่อนและกลายมาเป็นความผิดพลาดใหญ่คือเขาไม่มีทักษะและความสามารถในการเล่นการเมืองในระบบรัฐสภาและระบบสองพรรคใหญ่แบบอเมริกา ทรัมป์สามารถปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวาและไม่เอาเสรีนิยมได้ดีอย่างไม่มีใครเทียบ จากนั้นเขาก็ล็อบบี้สมาชิกสภาผู้แทนและวุฒิสภาให้ดำเนินนโยบายตามที่เขาต้องการ ผลก็คือแทบไม่มีกฎหมายที่มีนัยความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศและในระหว่างประเทศผ่านออกมาเลย เขาใช้แต่ประกาศของฝ่ายบริหารในการออกคำสั่งห้ามคนมุสลิม 6 ประเทศเข้าอเมริกา ห้ามผู้อพยพจากละตินอเมริกาเข้าประเทศ สร้างกำแพงขวางกั้นระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกโดยขู่ว่าจะบังคับให้เม็กซิโกจ่ายค่าสร้างกำแพง (แต่จนบัดนี้เม็กซิโกก็ไม่ทำตาม) แม้การจะทำลายกฎหมายโอบามาแคร์หรือการรักษาพยาบาลทั่วไป ทรัมป์ก็ไม่สามารถผลักดันให้ผ่านรัฐสภาได้ ที่อ้างได้มากหน่อยคือการลดภาษี แต่คนที่ได้เต็มๆ ก็คือบรรดาเศรษฐีและบรรษัทยักษ์ใหญ่ ชาวบ้านก็ได้เศษเนื้อไป แต่คนที่สนับสนุนทรัมป์ก็ยังยินดีอยู่กับเขาต่อไป เพราะสบอารมณ์ที่ทรัมป์วิจารณ์อุตสาหกรรมใหญ่ บิ๊กเทค และโจมตีระบบราชการที่ทำตัวเป็นชนชั้นปกครอง ทรัมป์เรียกว่าพวก ‘รัฐพันลึก’ (deep state) จึงเห็นได้ว่าบรรดาคนที่เข้าร่วมการโจมตีเมืองหลวงครั้งนี้มีหลายคนเป็นคนชั้นกลางระดับสูง มีอาชีพดี มีตำแหน่งทั้งในรัฐและเอกชน เป็นนักว่ายน้ำโอลิมปิก ไม่ใช่มวลชนกระจอกที่คนคิดกัน

นายทุนใหญ่ ระบบราชการส่วนกลาง นักการเมืองเสรีนิยม ล้วนเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์โจมตีจากบรรดาอนุรักษนิยมฝ่ายขวาสุดขั้วภาคใต้มาตลอด ทรัมป์เพียงมาจุดประกายทำให้ความเชื่อดั้งเดิมของคนใต้และตะวันตกกลางที่พ่ายแพ้ต่อระบบโลกาภิวัตน์ ได้มีความหวังและต่อชีวิตในโลกเก่าของพวกเขาให้ยาวไปอีก กระทั่งถึงวันที่พวกเขาคิดว่าจะลงมือเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งเพื่อให้ทรัมป์ชนะ เป็นประธานาธิบดีของพวกเขาต่อไปอีกสมัยหนึ่ง

พรรคเดโมแครตและทุนอุตสาหกรรมใหม่กำลังเคลื่อนไหวหาทางกำจัดทรัมป์ออกไปจากระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมนี้ เพราะเขาก้าวข้ามเส้นแบ่งสำคัญที่อาจทำให้ดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับทุนนิยมไม่อาจก้าวเดินอย่างเป็นเอกภาพกันได้ รวมถึงบั่นทอนฐานะและการนำของอเมริกาในสากลโลก ซึ่งเป็นตลาดอันขาดไม่ได้ของการมีชีวิตของระบบทุน

กลุ่มคนสุดท้ายที่จะให้คำตอบถึงอนาคตของทรัมป์และลัทธิทรัมป์ว่าจะอยู่หรือจะไปในพรรครีพับลิกันและการเมืองอเมริกัน คือบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ และวุฒิสมาชิกรีพับลิกันทั้งหลายว่า พวกเขาจะเลือกทรัมป์กับจินตภาพของอเมริกาเก่าต่อไปหรือจะเลือกหนทางใหม่ให้แก่พรรครีพับลิกันและอเมริกาในศตวรรษที่ 21

ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของพรรคเดโมแครตสามารถผ่านญัตติให้ดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อีกเป็นครั้งที่สองด้วยข้อกล่าวหาเดียวคือ นำการปลุกปั่นยุยงให้เกิดการกบฏล้มรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ญัตตินี้จะถึงวุฒิสภาหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายไบเดนในวันที่ 20 ม.ค. นี้ และการพิจารณาไต่สวนข้อกล่าวหาก็จะเริ่มต้นและจบลงด้วยการลงคะแนนเสียง คงไม่นานเหมือนครั้งก่อนนี้แน่ๆ

หากวุฒิสภาสายรีพับลิกันกลับใจไม่รักษาทรัมป์อีกต่อไป นอกจากจะเป็นการปรับปรุงและเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการเมืองในประเทศแล้ว ที่มีความหมายใหญ่หลวงแก่ขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลก คือการตอกย้ำและแสดงให้เป็นอย่างประจักษ์แจ้งว่า การยึดอำนาจด้วยกำลังนอกระบบและนอกรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีอนาคตและไม่ควรปล่อยให้ลอยนวลอยู่ต่อไปได้ ก็จะทำให้ ‘ประชาธิปไตยในอเมริกา’ ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ในความใฝ่ฝันของคนทั่วโลกต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save